ทำไมบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยาก disrupt ตัวเองในยุคที่ใครๆ ก็กลัวการ disrupt

ทำไมบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยาก disrupt ตัวเองในยุคที่ใครๆ ก็กลัวการ disrupt

ตามความหมายในเชิงภาษา disruption แปลว่า ‘การหยุดชะงัก’ แต่ถ้าพูดถึงความหมายในเชิงธุรกิจในปัจจุบัน disruption คงหมายถึงธุรกิจหรือเทคโนโลยีเก่าที่ถูกธุรกิจใหม่หรือนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นเข้ามาเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดถึงประโยคที่มักจะเอาไว้เตือนผู้ประกอบการว่า ‘เลือกเอาว่าจะ disrupt หรือถูก disrupt’ แปลความหมายง่ายๆ คือการกระตุกความคิดให้เจ้าของธุรกิจไม่นิ่งเฉยอยู่กับที่และตื่นตัวกับอะไรใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแล้วทำให้ธุรกิจเดิมของเราต้องเปลี่ยนแปลง นั่นเองจึงเป็นเหตุผลที่เราเห็นทั้ง ‘ผู้รอดชีวิต’ และ ‘คนที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง’ จำนวนมากในหลายแวดวงธุรกิจ ตั้งแต่เคสตัวอย่างที่เป็นตำนานอย่างการ disrupt ตลาดสมาร์ตโฟนหรือกล้องฟิล์มจนไม่เหลือเค้าเดิม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหลักฐานที่ทำให้ใครหลายคนเริ่มหันมาสนใจ disruption มากขึ้นทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเอง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเราชาว a team ได้มีโอกาสไปร่วมงานแถลงข่าว ‘3 นวัตกรรมบริการ’ ใหม่ถอดด้ามจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง AP (Thailand) ซึ่งเพียงแค่ประโยคแรกจาก วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ก็เรียกความสนใจจากคนในงานได้มากตั้งแต่ต้น

“เอพี (ไทยแลนด์) อยากจะ disrupt ตัวเองในปัจจุบัน เพื่อสร้างนวัตกรรมให้ผู้อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตสังคมไทยที่ดีขึ้นในอนาคต”

วิทการอธิบายต่อหลังจากนั้นว่า ในความเป็นจริงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นแกนหลักของเอพี (ไทยแลนด์) ที่พวกเขาเน้นถึงความสำคัญ เพียงแต่ในภาพรวมที่ใหญ่กว่านั้น เอพี (ไทยแลนด์) ไม่ได้มีเป้าหมายจำกัดอยู่แค่ที่อยู่อาศัย ในท้ายที่สุดสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นคือ ‘ผู้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น’ และการที่จะทำอย่างนั้นได้ พวกเขาต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างนวัตกรรม เพื่อต่อยอดสิ่งที่ตัวเองมี รวมถึงสร้างข้อได้เปรียบใหม่ให้กับโลกธุรกิจ ขยายฐานจากสิ่งที่ทำอยู่เดิมไปสู่การเติบโตที่มากขึ้นท่ามกลางโลกที่หมุนไปไว นั่นเองจึงเป็นที่มาของ 3 นวัตกรรมในวันนี้

นวัตกรรมชิ้นแรก ความน่าสนใจอยู่ที่การกระโดดเข้าสู่ธุรกิจการศึกษาของเอพี (ไทยแลนด์) ด้วยการร่วมมือกับศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC) ในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกกับ YourNextU ด้วยจุดต่างในการเป็น World-Class Education Service กับโมเดลการเรียนรู้แบบ Learning Buffet Model เรียนแบบไม่สิ้นสุด เรียนซ้ำได้อย่างไม่จำกัดกับคลาสและโปรแกรมระดับโลกกว่า 300 หลักสูตร ผสมผสานรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย

“คนเราทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นใครก็ได้ที่เราอยากเป็น” นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Executive Director ของ SEAC อธิบายกับเราถึงความตั้งใจและเป้าหมายของโปรเจกต์นี้

“เราเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ได้จบอยู่แค่ใบปริญญา ในอนาคตข้างหน้าเราจำเป็นต้องมี future skill ใหม่ๆ ที่เข้ามาเติมเต็ม เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้และการศึกษาจึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง พวกเราเลยมาตั้งคำถามว่าทำอย่างไรที่จะให้ผู้เรียนสามารถ ‘เรียน’ ได้ตลอดเวลา นั่นเลยเป็นที่มาที่เราคิดค้นนวัตกรรมการศึกษาที่เรียกว่า YourNextU”

อธิบายแบบเข้าใจง่าย YourNextU คือนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบ ‘Buffet Model’ คือมีการเรียนรู้ให้เราเลือกสรรทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพียบพร้อมตั้งแต่วิชาที่มีการสอน สถานที่เรียนที่มีทั้งห้องเรียนจริงๆ และห้องเรียนออนไลน์ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งข้อมูลอย่างครบครัน และ Learning Community ที่สะดวกสบาย ทั้งหมดนี้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้แบบไร้ข้อจำกัดโดยการจ่ายเงินเพียงครั้งเดียวต่อปี

นวัตกรรมที่สองที่พูดถึงในงานคือ KATSAN นวัตกรรมที่มีเป้าหมายในการยกระดับการบริการให้แก่ผู้อยู่อาศัยและเจ้าของโครงการ

จากการสอบถามลูกบ้านหลายๆ ท่าน วิทการเล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่เขาค้นพบคือความต้องการเกี่ยวกับความปลอดภัย ในยุคปัจจุบันนั้นไม่ได้อยู่แค่กล้อง CCTV และพนักงานรักษาความปลอดภัยอีกแล้ว ผู้อยู่อาศัยหลายคนเริ่มให้ความสนใจและใส่ใจความเป็นส่วนตัวของตัวเองมากขึ้น นั่นเองจึงเป็นที่มาของ KATSAN ระบบรักษาความปลอดภัยที่เชื่อมโยงผู้อยู่อาศัย พนักงานรักษาความปลอดภัย และผู้จัดการโครงการเข้าด้วยกันด้วยระบบดิจิทัล

ยกตัวอย่างการทำงานของ KATSAN แบบเข้าใจง่ายคือ แพลตฟอร์มนี้จะทำให้เจ้าของโครงการและลูกบ้านดูความปลอดภัยของตัวเองได้แบบเรียลไทม์ อย่างการที่เราสามารถเช็กรถทุกคันที่เข้ามาในโครงการได้ว่าเป็นรถของบ้านหลังไหน และสำหรับผู้อยู่อาศัยเองก็มีระบบแจ้งเตือนว่ากำลังมีรถเดินทางเข้ามาในบ้านผ่านระบบตรวจสอบตั้งแต่หน้าโครงการ ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือแพลตฟอร์มให้สิทธิเราในการปฏิเสธไม่ให้รถเข้ามาในโครงการได้ หรือสามารถเช็กได้ว่าก่อนหน้านี้มีรถเข้ามาที่บ้านเราหรือเปล่า ถือเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวโดยที่ลูกบ้านไม่จำเป็นต้องเหนื่อยเพิ่มเลยแม้แต่น้อย และยังตัดปัญหาการมีรถยนต์ภายนอกเข้ามาในโครงการได้อีกด้วย

นวัตกรรมสุดท้ายที่ถูกพูดถึงในงานคือ HOMEWISER นวัตกรรมที่จับเอาผู้เชี่ยวชาญในการดูแลบ้านและลูกบ้านมาเจอกัน

วิทการเล่าให้เราฟังว่า HOMEWISER เกิดขึ้นจากปัญหาการบำรุงรักษาบ้านที่เอพี (ไทยแลนด์) ทราบเป็นอย่างดี ผู้อยู่อาศัยอาจจะไม่สะดวกในการบำรุงรักษาบ้าน ทั้งปัจจัยเรื่องเวลา ความชำนาญ หรือความสะดวกในการหาคนที่เหมาะสม HOMEWISER เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้ผ่านแพลตฟอร์มที่ให้บริการโดยช่างผู้ชำนาญในการดูแลบ้าน และจุดเด่นที่ทำให้ HOMEWISER เหนือกว่าเจ้าอื่นๆ คือ การคัดเลือกคุณภาพของช่างและระบบคำสั่งในการบริการที่มีให้เลือกสรรตั้งแต่ระบบไฟฟ้า ประปา ไปจนถึงการสร้างซ่อมขนาดย่อม ที่สำคัญคือบริการนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ลูกบ้านของเอพี (ไทยแลนด์) เท่านั้น ผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการ HOMEWISER ได้เช่นกัน

ถ้าลองย้อนมองดู เราจะพบว่า 3 นวัตกรรมที่เอพี (ไทยแลนด์) แนะนำให้เรารู้จักในวันนี้มีทั้งแบบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯ โดยตรง และแบบที่อยู่คนละขั้ว แต่ก่อนจะจบงาน วิทการสรุปให้เราฟังว่าทั้งหมดที่เอพี (ไทยแลนด์) กำลังทำนี้ พวกเขามองว่ายังคงอยู่ในร่มของการทำให้คนมี ‘คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น’ และถึงแม้นั่นจะเป็นการ disrupt ตัวเองในหลายๆ จุด แต่พวกเขาก็น้อมรับความเปลี่ยนแปลงและเลือกจะพัฒนาตามความเป็นไปของโลกโดยไม่ได้มองว่านั่นคือฝันร้ายแม้แต่น้อย

จากการได้ไปร่วมงานในวันนั้น เราพบว่าท้ายที่สุดแล้ว การ disrupt ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด จริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแบรนด์นั้นๆ ในการเตรียมตัวรับมือ แต่เหนืออื่นใดคือคำถามที่สำคัญกว่านั้นที่เราอาจจะลืมตอบท่ามกลางโลกที่หมุนไปไวขนาดนี้

‘เราจะก้าวต่อไปหรือก้าวอยู่กับที่เพราะอะไร?’

เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะตัวเลือกไหน ถ้าเจ้าของธุรกิจและแม้แต่ตัวเราเองตอบได้ว่าทุกอย่างที่เราเลือก เราทำเพื่ออะไร อย่างน้อยสิ่งเหล่านั้นก็น่าจะหนักแน่นพอให้เราดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต

เหมือนอย่างที่เอพี (ไทยแลนด์) แสดงให้เราเห็นว่า ‘จะ disrupt หรือถูก disrupt’ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าวันนี้เราทำให้ใครมีชีวิตที่ดีขึ้นแล้วหรือยัง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด

ILLUSTRATOR

22mm.t

Illustrator with fun and colorful style.