ระบบ eBook ห้องสมุดมีปัญหาจะทำยังไง? คำตอบที่ได้จากหัวหน้าบรรณารักษ์คือ “จงพิมพ์มันออกมา”

Highlights

  • เหล่าบรรณารักษ์ในอเมริกาสงสัยว่าถ้าระบบหนังสือ eBook เกิดปัญหาทางเทคนิค พวกเขาควรมีแนวทางในการทำงานอย่างไรดี chief librarian แห่ง Library of Congress ตอบกลับมาว่า PRINT IT OUT หรือ “จงพิมพ์มันออกมา”
  • จากคำตอบแสนจะธรรมดาที่ว่า จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเคลื่อนภูเขาได้ทีเดียว เพราะไปเขย่าความเชื่อเรื่องการครอบครองเทคโนโลยีในปัจจุบัน

เมื่อเหล่าบรรณารักษ์ในอเมริกามีความกังวลและข้อสงสัยว่าถ้าเกิดปัญหาทางเทคนิคหรือระบบหนังสือ eBook ทั้งหลายที่ตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด พวกเขาควรมีแนวทางในการทำงานอย่างไรดีถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ คนที่พวกเขาส่งข้อสอบถาม และรอฟังแนวทางมากที่สุดคือ chief librarian แห่ง Library of Congress และเช้าวันหนึ่งพวกเขาก็ได้รับคำตอบจาก chief librarian กลับมาว่า PRINT IT OUT หรือ “จงพิมพ์มันออกมา”

คำตอบสั้นๆ แต่เขย่าความเชื่อที่สวนทางกับสภาพปัจจุบันเรื่องการครอบครองในโลกเทคโนโลยี ท่ามกลางบทสนทนาหนึ่งใน The Stack โดย Monocle 24 มีคำถามว่า เราเก็บข้อมูลบน Cloud ในความเป็นจริง สิ่งที่ดูเหมือนไม่มีตัวตน ง่าย และปลอดภัยที่สุด กลับเป็นขั้นตอนที่กินทรัพยากรด้านการเงินมากที่สุด และยังเป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องอาศัยความรู้ทางด้านเทคนิค หรืออาจมีคำตอบว่าเก็บข้อมูลไว้บนฮาร์ดดิสก์ ซึ่งใครกันที่จะเก็บ ข้อมูลเหล่านั้นนานเกินกว่าอายุของเครื่องคอมพิวเตอร์ การที่ต้องอัพเดต และเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ตามอายุขัย จะแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อมูลอันมีค่าจะยังคงใช้งานได้อยู่ หลายคำตอบมาพร้อมกับหลากหลายวิธีในการจัดเก็บข้อมูลผ่านตัวกลางอย่างเทคโนโลยี แต่จากคำตอบแสนจะธรรมดาที่ว่า “จงพิมพ์มันออกมา” จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเคลื่อนภูเขาได้ทีเดียว เพราะสิ่งพิมพ์เป็นรูปแบบ หรือ form เดียวของขั้นตอนการเก็บข้อมูลที่ผ่านการพิสูจน์ว่าเหมาะสมในการจัดเก็บหนังสือ และสิ่งสำคัญต่างๆ ที่บันทึกลงบนสิ่งประดิษฐ์แสนวิเศษของมนุษย์อย่างกระดาษก็สามารถส่งต่อความสำคัญมาได้นับพันปี

ช่วงเวลาสิบปีที่แล้ว เราเข้าสู่ยุคแห่งการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว ความคิดในการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด อัตลักษณ์ของกระดาษกลายเป็นเรื่องที่ไม่ช้าก็อาจทดแทนได้ การอ่านหนังสือถูกพยากรณ์ว่าจะเปลี่ยน วิธีที่อ่าน และอะไรๆ อีกมากมายที่เป็นหนึ่งในกระบวนการของการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์จะกลายเป็นอดีต บริบทนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูด มาทำนายทุกปี และไม่เคยเปลี่ยน เหมือนดวงไฟบนเวทีที่ค่อยๆ ดับไปทีละดวง หากเราเคยพิจารณาความเป็นจริงนั้นไหมว่าสิ่งที่คาดการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นจริงแม้เพียงครึ่งเดียว

สี่ปีหลังสุดยิ่งต้องกลับมาพิจารณา กับข่าวสารที่ตีฆ้องว่าตัวเลขหนังสือเล่มกลับมาโต จากตัวเลขจำหน่ายหนังสือในอังกฤษสำหรับปี 2018 นั้นมีหนังสือกว่า 190.8 ล้านเล่มถูกจำหน่ายไป หรือคิดเป็นเงินที่ 1,630 ล้านปอนด์ โดยเพิ่มขึ้น 2.14% หรือ 0.33% สำหรับจำนวนเล่มที่เพิ่มขึ้น แถมท้ายว่าราคาหนังสือเฉลี่ยต่อเล่มยังสามารถเพิ่มขึ้นด้วยที่ 8.53 ปอนด์ต่อเล่ม ตัวเลขจำนวนเล่มที่จำหน่ายไป ตัวเลขมูลค่า และราคาเฉลี่ยมักเป็นส่วนประสมที่ยากจะเห็นว่ามีอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาก่อนหน้าพร้อมๆ กัน ปกติจะเป็นเพียง 2 ใน 3 หรือ 1 ใน 3 แล้วอยู่ที่ว่าเราจะหยิบข้อมูลตัวไหนมาตีความ แต่คราวนี้ตัวเลขทั้งสามสะท้อนมาในอัตราที่เพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มขึ้นที่ต่อเนื่องเป็นปีที่สี่ด้วย

ในอดีตหนังสือแนว celebrity memoir อย่างหนังสือของ Sir Alex Ferguson หรือ celebrity chef อย่าง Jamie Oliver ในช่วงปี 2012-2013 กระทั่ง Harry Potter ตอนพิเศษเมื่อปี 2017 (แต่แทบจะไม่เกิดผลสาระสำคัญด้านยอดขายต่อเล่มใหม่ในปี 2018) เคยเป็นสัดส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของตลาด แต่ปี 2018 เป็นปีที่เกิดหนังสือดีมากมาย และเป็นการกระจายมาจากหลายๆ สำนักพิมพ์ไม่ว่าขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ร้านหนังสือมีความชัดเจนว่าร้านแบบ chain ขายอะไร ร้านอินดี้ขายอะไร กระทั่งนิตยสารอย่าง The Bookseller ยังต้องเพิ่มส่วน Bestseller แยกตามลักษณะของตลาดแทนการรวมรายงานเป็นชาร์ตเดียว เพราะนั่นหมายความว่า Top Ten Bestselling หรือหนังสือขายดี จำนวนสิบอันดับจะมีเพียง 10 เล่มเท่านั้น ในขณะที่ถ้าแยกตามลักษณะช่องทางการจัดจำหน่าย เราอาจได้รายการ Top Ten Bestselling มากกว่าสิบแต่อาจจะถึง 20 ปกเลยทีเดียว นี่คือความชาญฉลาดอันเกิดจากพลังสมอง ที่ร่วมคิดว่าจะช่วยกันทำอย่างไรให้ตลาดหนังสือกลับมาเติบโตอีกครั้ง

เราอาจเห็นหนังสือใหม่ๆ มากมาย และหนังสือที่เกิดเป็นเทรนด์คล้ายกันทั่วโลก นั่นคือการเติบโตของหมวด non-fiction ที่มีเรื่องดีๆ ออกมามากมาย ไล่มาตั้งแต่ภาคต่อของ Sapiens หนังสือที่สะท้อน self-improvement, หนังสือที่สร้าง simplicity ให้แก่จิตวิญญาณ อย่าง Joyful, Kindness หรือ Sisu ต่างได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนอาจบอกได้ว่าปี 2018 เป็นปีที่เหมือนว่ามนุษย์อยู่กับความจริง และเริ่มค้นหาความรู้โดยออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์กลับมาสู่สิ่งธรรมดาอย่างหนังสือเล่ม, การเสียชีวิตของ Stephen Hawking ยิ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กลับไปสู่ศาสตร์ที่พิสูจน์ได้มากขึ้น หนังสืออย่าง Briefs Answers to the Big Questions จึงแทบจะบินออกจากชั้นวางเลยทีเดียว

ส่วนหนังสือหมวดอื่นๆ อย่างเจ้าของแชมป์หลายสมัยอย่างหนังสือเด็กและเยาวชนก็ยังคงมียอดขายที่เพิ่มขึ้น ตลาดส่วนนี้แบ่งชัดเจนระหว่างหนังสือเพื่อพัฒนาความรู้ที่เติบโตต่อเนื่อง หนังสือพัฒนาทักษะของเด็กปฐมวัยยังคงเป็นที่ต้องการ และผลิตเท่าไหร่ก็ดูไม่เพียงพอสักที ส่วนหนังสือระดับโตขึ้นมาอย่าง young adult fiction อาจดูหงอยไปบ้างเพราะไม่ค่อยมีเรื่องเด่นมาหลายปี เรื่องสุดท้ายที่เป็นปรากฏการณ์ก็คือ The Fault in Our Stars ของ John Green ไปสู่หนังสือหมวด fiction ที่ดูจะแบ่งออกเป็นสองส่วนเช่นกัน ส่วนแรกคือการเอาหนังสือคลาสสิกกลับมาทำปกใหม่ กลุ่มนี้ดูว่าทำมาเท่าไหร่ก็ขายได้ ในปี 2019 ถ้าสำรวจดีๆ อาจพบว่ามีหนังสือที่หมดลิขสิทธิ์พร้อมให้ทำแข่งขันกันมากกว่าเดิมก็ได้ และ The Chronicles of Narnia ก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่ปลอดลิขสิทธิ์ อีกส่วนหนึ่งคือหนังสือ fiction ที่มีความลึก มีโครงสร้างที่ซับซ้อน แต่ง่ายต่อการเอาไปขยายผลเป็นบทภาพยนตร์ หลังจาก Gone Girl สร้างปรากฏการณ์รายได้อย่างมหาศาล ปี 2018 จึงได้เริ่มเห็นกลุ่มบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์เข้ามาหาคอนเทนต์ในวงการหนังสือมากขึ้น และหลายเล่มก็ถูกซื้อไปพร้อมๆ ความคาดหวังว่าจะเป็น another Gone Girl

หนังสืออาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดของมนุษย์ เมื่อสิ่งที่เยี่ยมยอดผนวกเข้ากับความสามารถของมนุษย์ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งที่เชื่อว่าดีที่สุด ทำให้หนังสือเล่มและสื่อสิ่งพิมพ์ยิ่งยากต่อการสูญพันธุ์ กระนั้นก็ยังมีคำถามอยู่ว่า จริงหรือเปล่าที่หนังสือจะหายไป คนจะเลิกอ่าน อย่างที่บอกว่าหนังสือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่พิเศษของมนุษย์ ดังนั้นหากจะมีอะไรสักอย่างที่ทดแทนได้ สิ่งนั้นต้องยอดเยี่ยมยิ่งกว่า เมื่อมองย้อนกลับมายังสิ่งที่เราเคยหวังว่าจะโค่นหนังสือเล่มลงได้ ปัจจุบันพบว่านิยามของ disruption อาจเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีเหล่านั้นมากกว่าส่งออกไปยังหนังสือเล่ม

มนุษย์อาจซับซ้อนเกินกว่าจะใช้เครื่องมือที่ซับซ้อนมาทดแทนทุกอย่าง แต่ความธรรมดาของหนังสือสักเล่มอาจเหมาะกับความซับซ้อนและสามารถเชื่อมช่องว่างได้ดีกว่า คำตอบที่บอกว่า “จงพิมพ์มันออกมา” อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในตอนนี้จนกว่าเราจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ก็เป็นได้

AUTHOR

ILLUSTRATOR

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer/ Illustrator สิ่งที่ชอบคือ ของต๊อง /หมา /Gin /Sample Sales และด้วง