ผมคิดว่าวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า เป็นวงที่มีส่วนผสมครบเครื่องที่สุดวงหนึ่งของบ้านเรา
วงดนตรีวงนี้เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มนักดนตรีฝีมือเยี่ยมที่เคยเล่นในผับชั้นนำของเมืองกรุง อย่าง จ้า-ทรรศน์ฤกษ์ ลิ่มศิลา, ใหม่-ภู่กัน สันสุริยะ และ บอล-กันต์ รุจิณรงค์ มารวมกับอดีตศิลปินที่คลุกคลีในแวดวงอินดี้มาไม่น้อยอีกสองคนคือ ปั๊ม-ปิย์นาท โชติกเสถียร (อดีตวง Siam Secret Service และ อะไรจ๊ะ) และ ตุล ไวฑูรเกียรติ (อดีตนักร้องนำวง อะไรจ๊ะ)
ความโดดเด่นเรื่องฝีไม้ลายมือทางดนตรีของสามคนแรกนั้นถือว่าน่าจับตาเอามากๆ เพราะเล่นได้จัดจ้านและหลายแนวทาง เมื่อมาประกบเข้ากับปั๊มและตุลก็ยิ่งได้ส่วนผสมที่น่าสนใจ เพลงแรกๆ ที่สร้างชื่อให้วงดนตรีวงนี้คือ ‘กำแพง’ จากอัลบั้มชุดแรก Bangkok Love Story (2003) ที่เป็นเพลงสนุกๆ ซึ่งยากจำกัดแนว คือมีหมดทั้งร็อก แร็ป แจ๊ซ ฟังก์ อยู่ในเพลงเดียว! แถมเนื้อเพลงก็เป็นการประกาศอิสรภาพทางดนตรีในวันที่วงการดนตรีไทยยังถูกแบ่งแยกด้วยสังกัดค่ายเพลงต่างๆ …เนื้อเพลงที่มีลีลาดั่งกวีกบฏของตุลอาจจะดึงความสนใจผู้ฟังเมื่อแรกได้ยิน แต่ยิ่งฟังจะยิ่งพบว่ารายละเอียดทางดนตรีของอพาร์ตเมนต์คุณป้านั้นสุดยอดเอามากๆ
และตั้งแต่อพาร์ตเมนต์คุณป้าแจ้งเกิด คนฟังเพลงไทยที่โตมาในยุค Fat Radio และงาน Fat Fest จะพบว่าวงดนตรีวงนี้อยู่คู่กับแวดวงดนตรีนอกกระแสหลักมาตลอด พวกเขาเติบโตผ่านวันเวลา จากอัลบั้มชุดแรกที่ดูร้อนแรง กล้าทดลอง มาสู่อัลบั้มชุดที่สอง Romantic Comedy (2006) ที่เริ่มกลมกล่อมมากขึ้น มีเพลงดังคือ ‘ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ’ (ที่ภายหลังถูกเอาไปคัฟเวอร์โดย ดา แอนโดรฟิน และ ป๊อบ แคลอรี่ บลา บลา จนกลายเป็นเพลงระดับแมส) และยังมีเพลงที่วิพากษ์สังคมได้อย่างคมคายและสนุกสนานอย่าง ‘โทรธิปไตย’ กับ ‘ทรัพย์สินออกไป’ รวมทั้งสองแทร็กที่เป็นเพลงโปรดตลอดกาลของผมคือ ‘เสือร้องไห้’ ที่ว่าด้วยชีวิตชาวอีสานในสายตาของกวีร็อกแอนด์โรลล์ กับ ‘นกเพลง’ ที่น่าจะแทนใจหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยหลายๆ คนได้
มาถึงอัลบั้มชุดที่สาม สมรสและภาระ (2008) คราวนี้งานของอพาร์ตเมนต์คุณป้ายิ่งลงตัวมากขึ้นไปอีก พวกเขาทำทั้งเพลงบลูส์เสียดสีสังคมอย่างไตเติลแทร็ก เพลงร็อกสนุกๆ เซอร์ๆ อย่าง ‘เป็นไปได้ไง’ เพลงที่พูดถึงความแหลกเละเฮฮาวงการดนตรีอย่าง ‘Backstage Love’ และเพลงที่พูดถึงตัวตนด้านในอย่าง ‘สิ่งที่อยู่นอกใจ’ ได้อย่างยอดเยี่ยม
กราฟที่แสดงคุณภาพ ความลงตัว และชื่อเสียงความสำเร็จของวงอพาร์ตเมนต์คุณป้าดูจะพุ่งขึ้นเรื่อยๆ จากสามอัลบั้มแรก แต่ในอัลบั้มที่สี่ ปรากฏว่าแฟนเพลงต้องรอเวลานานมากๆ กว่าจะได้ฟังเพลงใหม่ๆ จากพวกเขา จนเมื่อผ่านไปอีก 8 ปีแล้วนั่นแหละ อัลบั้มชื่อ รักสนิยม (2016) จึงได้ออกมาให้แฟนเพลงได้สัมผัสกันอย่างเต็มๆ
ผมได้ข้อมูลเบื้องหลังมาว่าจริงๆ อัลบั้มชุดนี้ทำเสร็จมานานก่อนที่จะได้ออกสู่สาธารณชน ส่วนหนึ่งทางวงเจอกับปัญหาตอนที่กรุงเทพฯ เจอน้ำท่วมใหญ่ปี 2011 ทำให้การทำงานเพลงชะงักไปช่วงใหญ่ (และเกือบจะต้องเริ่มทำใหม่ทั้งหมด) และอีกส่วนหนึ่งคือการที่ทางวงมีแผนจะลองปล่อยอัลบั้มนี้กับค่ายใหญ่ดูบ้าง หลังจากที่ทำทั้งการขายและการโปรโมตผ่านค่าย Here ที่เป็นค่ายเล็กๆ มาตลอดจนค่ายปิดตัวไป และกว่าจะเอามาสเตอร์ไปเจรจากับหลายๆ ค่าย เวลาก็ล่วงเลย จนได้มาสังกัดค่ายสนามหลวงในเครือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในที่สุด แต่เพราะทางค่ายใหญ่ย่านอโศกมีนโยบายว่าให้ค่อยๆ ปล่อยเพลงไปบ้างก่อนที่จะปล่อยอัลบั้มเต็ม ทางวงก็เลยต้องค่อยๆ ปล่อยเพลงออกมาก่อนอีกพักใหญ่
แค่ชื่ออัลบั้ม รักสนิยม ก็ดูจะเป็นคำแปลกๆ ที่น่าชวนคิดแล้ว แต่เมื่อได้ฟังเพลงที่ปล่อยออกมาเรื่อยๆ ก็ยิ่งชวนให้ตื่นเต้นมากขึ้นๆ ตั้งแต่เพลงอย่าง ‘โลกระยำ’ ซึ่งเป็นเพลงร็อกเก๋าๆ ที่เท่เอามากๆ, เพลง ‘เปลือก’ ที่มาพร้อมจังหวะโจ๊ะๆ และเสียงร้องประสานชวนร้องตาม เนื้อหาของทั้งสองเพลงนี้ยิ่งมายิ่งคมคายลุ่มลึก เพลงแรกพูดถึงการมองโลกด้วยสายตายิ้มเยาะแต่ก็เข้าอกเข้าใจ เพลงหลังพูดถึงตัวตนข้างในที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงและความลุ่มหลงในเสียงดนตรี พอมาถึงเพลงต่อมาที่พวกเขาปล่อยซึ่งชื่อแทร็กว่า ‘สถานีต่อไป’ เราก็ได้พบกับเพลงที่ติดหูที่สุดเพลงหนึ่งของอพาร์ตเมนต์คุณป้า ท่อนฮุกที่ ร้องว่า “เพราะฉันเปลี่ยนใจเธอไม่ได้ จะให้เปลี่ยนตัวเองก็ไม่ง่าย” นั้นทั้งชวนร้องตามด้วยความสะใจ และชวนให้ขมขื่นในขณะร้องไปด้วยจริงๆ
เมื่อได้ฟังกันแบบเต็มๆ ผมพบว่าแม้อัลบั้ม รักสนิยม จะมีเรื่องราวที่พวกเขาเคยพูดมาแล้วอยู่บ้าง แต่อัลบั้มนี้ดูจะมีประเด็นที่ชัดเจนมากๆ อยู่สองสามประเด็น
ประเด็นแรกคือเรื่องการตกตะกอนและพิจารณาในตัวตน ซึ่งดูจะชัดขึ้นกว่าสามอัลบั้มที่ผ่านมา ตั้งแต่แทร็กแรก ‘โลกระยำ’ ที่ถูกวางต่อด้วยเพลง ‘เปลือก’ ก็ชวนคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังกันแล้ว ยังมีแทร็กที่เป็นคันทรีร็อกสนุกๆ อย่าง ‘บวรวิทย์’ อีกเพลงที่ชวนคิดเรื่องชีวิตในแบบน่ารักน่าชังเอามากๆ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะชวนแฟนเพลงเสวนาเรื่องชีวิต ตัวตน และการมองโลกอย่างเปิดกว้าง ทั้งด้วยท่าทีที่เคร่งขรึม จริงจัง เป็นกันเอง ไปจนถึงเฮฮาบ้าบอ เชื่อมต่อกับมุมมองความรักอันหลากหลายที่มาจากตัวตนของผู้คนในสังคม
ประเด็นที่สองก็คือเรื่องความรักนี่แหละ เพลงอย่าง ‘สถานีต่อไป’ นั้นชัดเจนว่าพูดถึงความรักแบบหนุ่มสาวร่วมสมัยที่ดูจะไม่มีวันลงตัวลงใจกันได้ง่ายๆ , เพลง ‘วันสุดท้าย’ ที่พูดถึงการจากลาเช่นกัน แต่ด้วยลีลาท่าทางที่เสียดายและอาลัยอาวรณ์ ถูกวางต่อเนื่องกับ ‘นาฬิกาทราย’ ที่คล้ายจะเป็นเพลงแห่งการสำนึกไถ่โทษของคนรักผู้ทำผิดพลาด ยังมีเพลงร็อกอื้ออึงที่มีเนื้อเพลงภาษาอังกฤษชื่อ ‘Love Blind’ ที่พูดเรื่องความรักและตัวตนของคนรัก หรือเพลงอย่าง ‘รักในมหานคร’ ที่ชื่อเพลงบอกว่าเป็นเพลงรัก แต่เนื้อเพลงก็ให้ความรู้สึกเหงา และเปิดให้ตีความได้กว้างไกลจนแทบจะไปถึงเรื่องการเมืองเลยทีเดียว
(ขอใส่วงเล็บไว้หน่อยว่ามี Hidden Track อีกเพลงที่พูดถึงความรักด้วย แต่ขอให้ไปค้นหาฟังกันเอาเองก็แล้วกันว่าเป็นอย่างไร)
และประเด็นสุดท้ายก็คือประเด็นที่ผมอยากเรียกว่าเรื่อง ‘ร็อกแอนด์โรลล์ไลฟ์สไตล์’ ตามประโยคสุดท้ายของท่อนฮุกในเพลง ‘สถานีต่อไป’
ดูเหมือนว่าชีวิตแบบร็อกสตาร์จะเป็นประเด็นหนึ่งที่ตุลชอบหยิบมาเขียนเพลงเสมอๆ แต่คราวนี้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบเข้ามาอยู่ในเพลงรักอย่าง ‘สถานีต่อไป’ และในเพลงร็อกอย่าง ‘ระเบิดเวลา’ ที่พูดถึงการเพ่งมองชีวิตของเยาวชน (ที่มีเนื้อร้องว่า “ไม่มีเอกราช อนาคตของชาติ ร็อกแอนด์โรลล์นั้นทำให้คุณกลายเป็นทาส ติดกับบทกวี ติดกับเสียงดนตรี ติดกับชีวิตโลดแล่นยามราตรี”) และกระทั่งในการพูดเรื่องความแตกแยกของค่ายน้ำเมาในเพลง ‘ดื่ม’ ก็ชวนให้นึกถึงวิถีของกบฏที่ชาวร็อกชอบทำและถือเป็นความ ‘ชอบธรรม’ ของชาวร็อกที่จะพูดเรื่องแบบนี้ด้วยท่าทีแบบนี้ (ตุลร้องว่า “ยกมาเลยครับ ผมจะดื่มแม่งทุกขวด ดื่มเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ใช่ให้หัวมันปวด ดื่มให้กับความแตกแยกในประเทศของเรา ทั้งสงครามกีฬาสีและสงครามน้ำเมา”) เพียงแต่อพาร์ตเมนต์คุณป้าดันเลือกพูดด้วยเพลงร็อก…ที่แร็ปเป็นไฟ!
ในเรื่อง ‘ร็อกแอนด์โรลล์ไลฟ์สไตล์’ นั้นผมคิดว่ามันน่าสนใจดีที่ตุลมักจะพูดถึงเรื่องนี้ด้วยท่าทีจิกกัดนิดๆ ซึ่งจะว่าไปก็ดูเหมือนเขากำลังจิกกัดตัวเองไปด้วย คล้ายกับเป็นการเปิดเปลือยจิตใจในรูปแบบหนึ่ง จนมันเชื่อมร้อยกลับไปสู่ประเด็นแรก คือการตกตะกอนและพิจารณาตัวตนนั่นเอง
อัลบั้ม รักสนิยม ดูจะเป็นอัลบั้มที่คุ้มค่าการรอคอยของแฟนเพลงเอามากๆ ในแง่หนึ่งคือมันมีความหลากหลายในแนวทาง (ฮาร์ดร็อก, ป๊อปร็อก, คันทรีร็อก, อัลเทอร์เนทีฟ, แร็ปร็อก) แต่ทั้งอัลบั้มก็ไม่ได้แตกแยกแตกต่างจนห่างไกล มาถึงตอนนี้พวกเขาไม่ได้แจมดนตรีกันแบบยุคแรกๆ แล้ว แต่ทุกเพลงผ่านการคิดใคร่ครวญและวางแผนมาเป็นอย่างดี กระทั่งเมื่อเอามาวางต่อกันแล้ว เพลงที่อยู่ก่อนหน้าจะส่งเสริมเพลงที่ตามต่อมาทุกครั้งไป ทุกเพลงจึงดูโดดเด่น เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ เมื่อฟังโดยรวมให้บรรยากาศคล้ายการได้พบปะสังสรรค์กับกลุ่มคนที่เก่งกาจ แต่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายๆ และก็ไม่ทิ้งการเซอร์ไพรส์ให้เราได้ทึ่งเป็นระยะๆ
ในตอนแรก รักสนิยม ออกจำหน่ายเป็นซีดีก่อน จนทิ้งช่วงมาอีกหลายปี เมื่อกระแสแผ่นเสียงเริ่มกลับมา ทางค่ายสนามหลวงจึงหยิบอัลบั้มนี้มาทำเป็นแผ่นเสียง
และจนทุกวันนี้ มันก็ยังเป็นอัลบั้มชุดเดียวของอพาร์ตเมนต์คุณป้าที่ถูกผลิตออกมาในรูปแบบแผ่นเสียง
หลังจากนั้น พวกเขามีอัลบั้มออกมาอีกชุดซึ่งตั้งชื่อเดียวกับชื่อวงคือ อพาร์ตเมนต์คุณป้า (2018) แล้วโลกก็ผ่านมาถึงช่วง โควิด 19, ผ่านมาถึงช่วงที่ยากลำบากของคนดนตรี, ผ่านมาถึงยุคที่วงการดนตรีเปลี่ยนแปลงไปไกลสุดกู่จากวันที่พวกเขาเริ่มต้น กำแพงค่ายเพลงถูกทุบทำลายไปแล้ว การปล่อยซิงเกิลกลายเป็นเรื่องง่ายดาย วงหน้าใหม่แจ้งเกิดทุกวันและจางหายไปทุกวันเช่นกัน คนฟังเพลงมีอิสระสุดกู่แต่ก็จำชื่อเพลงและชื่อวงไม่ค่อยได้ ยอดวิวสำคัญกว่ายอดขาย และซีดีอัลบั้มถูกผลิตเพียงน้อยนิด หรืออาจไม่มีการผลิตเลยก็เป็นได้
แต่อพาร์ตเมนต์คุณป้าก็ยังทำเพลงอยู่เรื่อยๆ
จนถึงวันนี้ ผมคิดว่าวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า ยังเป็นวงที่มีส่วนผสมครบเครื่องที่สุดวงหนึ่งของบ้านเรา
——-
แผ่นเสียงอัลบั้ม รักสนิยม ยังพอมีจำหน่ายในเว็บไซต์ happeningandfriends.com ที่ลิงก์นี้
——-