Anna Coffee Micro Roasters ร้านกาแฟที่เกิดจากความรักของผู้บ่าวเชียงใหม่และผู้สาวอุบลฯ

Highlights

  • Anna Coffee Micro Roasters คือร้านกาแฟในเมืองอุบลฯ ที่เกิดจากความรักของผู้บ่าวเชียงใหม่อย่าง อาเทน–อุเทน สมบูรณ์ค้ำชู และผู้สาวอุบลฯ อย่าง แอน–มานิตา จารุกขมูล
  • เพราะเทนมีสวนกาแฟที่บ้านเกิดและเป็นนักแปรรูปกาแฟอยู่แล้ว เขาจึงพัฒนากาแฟของตัวเองส่งขายให้กับโรงคั่วอย่าง Roots และ School Coffee ที่สำคัญคือเป็นวัตถุดิบหลักในร้านที่อุบลฯ ด้วย
  • แม้ 3 ปีที่แล้วคนอุบลฯ จะยังไม่ค่อยคุ้นชินกับกาแฟแบบ specialty มากนัก แอนและเทนจึงค่อยๆ เปิดพื้นที่ให้คนอุบลได้รู้จักการดื่มกาแฟแบบใหม่ๆ โดยเปิดเวิร์กช็อปเพื่อพูดถึงกาแฟ specialty และกระบวนการผลิตที่เทนลงมือเองทุกครั้งจนทำให้ Anna Coffee Micro Roasters เป็นที่สนใจมากขึ้น 

Anna Coffeeสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่อุบลฯ มา 20 ปีอย่างเรา การกลับบ้านในช่วง 2-3 ปีมานี้มีหลายอย่างที่ทำให้เห็นการเติบโตของเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือร้านกาแฟที่มีอยู่ทุกซอย

แม้ไม่ได้ศึกษาอย่างลงลึก แต่เพียงแค่สังเกตจากการที่เพื่อนๆ ในแก๊งนัดเจอที่ร้านกาแฟไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน สนทนาเรื่องกาแฟทุกครั้งที่เจอกัน เราพบว่าวัฒนธรรมการกินกาแฟของคนอุบลฯ นั้นเติบโตและลงลึกกับกระบวนการผลิตมากขึ้น

หนึ่งในร้านที่เป็นคล้ายหลักฐานที่ว่ามาคือ Anna Coffee Micro Roasters ร้านกาแฟที่มีผู้สาวชาวอุบลฯ อย่าง แอน–มานิตา จารุกขมูล และผู้บ่าวเชียงใหม่อย่าง อาเทน–อุเทน สมบูรณ์ค้ำชู ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาด้วยความรักของหนุ่มสาว ความหลงใหลในกาแฟ และความสุขที่ได้ทำกาแฟที่ดีให้คนดื่ม

Anna Coffee

เทนคือเจ้าของสวนกาแฟ Lica coffee estate ที่บ้านแม่แดดน้อย อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนแอนคือเจ้าของร้านกาแฟเล็กๆ ในจังหวัดอุบลฯ นั่นเป็นเหตุผลให้กาแฟที่จะได้ดื่มใน Anna Coffee Micro Roasters มีกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ

และนี่อาจเป็นเหตุผลให้เราเห็นผู้คนเดินเข้า-ออกร้านสีขาวของ Anna Coffee Micro Roasters ไม่ขาดสาย แต่ใครจะรู้ว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แอนและเทนเริ่มต้นเปิดร้านกาแฟ specialty โดยใช้ moka pot ชงกาแฟให้ลูกค้าเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ากลายเป็นคัลเจอร์ช็อกให้บางคนที่เดินเข้าร้านของพวกเขาไม่น้อย

แอนและเทนจึงค่อยๆ เปิดพื้นที่ให้คนอุบลได้รู้จักการดื่มกาแฟแบบใหม่ๆ โดยเปิดเวิร์กช็อปเพื่อพูดถึงกาแฟ specialty และกระบวนการผลิตที่เทนลงมือเองทุกครั้งจนทำให้กาแฟจากคาเฟ่ที่นี่เป็นที่สนใจมากขึ้น 

ช่วงนี้อากาศยามเช้าในอุบลฯ กำลังดี เราจึงอยากชวนทุกคนไปสูดอากาศดีๆ พร้อมชิมกาแฟอร่อยๆ เริ่มต้นเช้าวันใหม่กันที่ร้านกาแฟของผู้บ่าวเชียงใหม่และผู้สาวอุบลฯ กัน

Anna Coffee

ร้านกาแฟที่เกิดจากความรักของผู้บ่าวผู้สาว

6 ปีที่แล้วเทนเคยประกอบอาชีพเป็นฟรีแลนซ์กราฟิกดีไซน์ ทำงานด้านการออกแบบและสร้าง 3D โมเดล แต่เพราะรู้ว่าอาชีพนี้ทำให้สุขภาพถดถอยลงเรื่อยๆ เขาจึงหันมาสนใจต้นทุนของที่บ้านนั่นคือ กาแฟ

เทนพยายามศึกษาและพัฒนาการแปรรูปกาแฟด้วยการไปร่วมคัปปิ้งกับคนในวงการกาแฟเพื่อรับฟีดแบ็กผลผลิตการแปรรูปกาแฟของตัวเองเสมอ

ส่วนแอนทำงานในร้านกาแฟแบบสปีดบาร์มานานกว่า 8 ปีตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ทำให้เธอเก็บแต้มประสบการณ์มาเปิดร้านของตัวเอง หลังจากนั้นก็พยายามไปเรียนรู้การเป็น basic beginner barista เรียนรู้กาแฟ specialty และเรียนการคัปปิ้งจนได้เจอกับเทน

“กลายเป็นว่าคุยกันถูกคอ เราเลยให้เทนมาช่วยเป็นที่ปรึกษาร้านกาแฟ” แอนพูดพร้อมรอยยิ้ม

“คุยไปคุยมาชอบๆ เลยมาเป็นผู้บ่าวผู้สาวกัน” คำตอบของเทนสร้างเสียงหัวเราะให้วงสนทนาของเรา

หลังจากนั้นเทนย้ายมาอยู่อุบลฯ กับแอน และช่วยปรับปรุงร้านกาแฟเล็กๆ บนถนนอุปลีสาน แต่แล้วไม่นานพวกเขาก็มาเจอทำเลทองบนถนนพิชิตรังสรรค์ จึงตัดสินใจเช่าหน้าร้านใหม่ทันที

Anna Coffee

“ตอนนั้นมีคอมประกอบอยู่ตัวหนึ่งก็เอาไปจำนำมาตกแต่งร้าน เปิดร้านวันแรก เราจำได้ว่ามีเงินในลิ้นชักอยู่ 70 บาท เพราะคุณแม่แอนให้เงินมา เราเอาไปซื้อวัตถุดิบแล้วเหลือเท่านั้นเลย” เทนเล่าย้อนถึงวันแรก

ไม่มีเครื่องชงกาแฟตัวใหญ่ มีแต่ moka pot เครื่องบดอันเก่า และเครื่องชงแบบ syphon พร้อมเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วจากเพื่อนๆ พี่ๆ ในวงการกาแฟที่เทนส่งสารกาแฟให้

“ลูกค้าเข้ามาที่ร้านตกใจมาก เขาถามว่าเราจะอยู่กันได้จริงๆ เหรอ เพราะเส้นนี้ร้านกาแฟเยอะ แล้วเรามีแค่ moka pot ตัวเดียว ลูกค้ามาก็ต้องรอ ยิ่งถ้าเราไปทำออร์เดอร์อย่างอื่นด้วย แล้ว moka pot มันเดือดเราก็ต้องทำใหม่ ลูกค้าต้องเสียเวลาไปอีก” เทนย้อนนึกถึงช่วงนั้น

แอนช่วยเสริมว่าตอนแรกเธอและเทนอยากให้ร้านเป็นสโลว์บาร์ และเลือกใช้กาแฟ specialty ทำให้ชื่อร้านในตอนนั้นคือ Anna Coffee Specialty Ubon Ratchathani

Anna Coffee

“แต่ก่อนเราจะมีภาพเมนูให้คนเลือกว่าอยากให้ชงแบบไหน แบบ moka pot, trinity one, drip หรือ syphon พาร์ตต่อมาคือการเลือกเมล็ด เวลาลูกค้าที่ไม่เคยสั่งเข้ามา เราก็ต้องบอกทีละขั้นตอนเลย”

การเปิดร้านกาแฟแบบ specialty ในอุบลราชธานีเมื่อ 3 ปีที่แล้วใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย จริงอยู่ที่คาเฟ่เล็กๆ ไปจนถึงร้านใหญ่ก็เริ่มเติบโตมากขึ้นแล้ว แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้ลงลึกเรื่องกาแฟจริงๆ

“มีคนเข้ามาถามเยอะ ถึงแม้กาแฟ specialty ในอุบลฯ ยังมีคนรู้จักเฉพาะกลุ่มเล็กๆ เราเลยทำกิจกรรมคัปปิ้งฟรีให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อให้คนรู้จักร้านเรามากขึ้น และสอนให้เขากินกาแฟเป็น เลือกเมล็ดที่ชอบ ให้เขารู้จักกาแฟเก่า กาแฟใหม่ เอาเรื่องคุณภาพมาพูดกันเลย สอนเขาทำกาแฟที่บ้าน จะทำให้อร่อยได้ยังไง ทำให้คนมาสนใจร้านเรามากขึ้น” 

Anna Coffee

ส่วนเมนูซิกเนเจอร์ที่แอนภูมิใจนำเสนอเพราะเริ่มต้นคิดมาตั้งแต่ตอนเปิดร้านแรกๆ จนมีถึงตอนนี้คือ cold brew ที่ผสมผสานกับผลไม้ตามฤดูกาล รวมถึงน้ำผึ้งป่าหมักพิเศษจากไร่ และดูเหมือนว่าจะเป็นเมนูถูกใจของใครหลายคน อย่างเช่น ในฤดูที่มังคุดออกผลเต็มที่ แอนก็หยิบเอามาผสมกับ cold brew ทำให้หลายคนติดใจรสชาติสดชื่นๆ จากกาแฟแม่แดดน้อยผสมกับผลไม้สดๆ

Anna Coffee

จากกาแฟต้นน้ำที่เชียงใหม่สู่ร้านกาแฟปลายน้ำที่อุบลฯ

ถ้าจะบอกว่าสวนกาแฟของเทนเป็นจุดแข็งให้คนสนใจร้านกาแฟแห่งนี้คงไม่เกินจริงนัก ด้วยความรู้ความสามารถในการแปรรูปกาแฟของหนุ่มเชียงใหม่นานกว่า 6 ปี ทำให้เขาทุ่มเททุกกระบวนการผลิตกว่าที่กาแฟจะมาถึงหน้าร้าน แม้ว่าสภาพแวดล้อมที่บ้านแม่แดดน้อยจะเป็นข้อจำกัดการทำงานของเขาไม่น้อย

“เราทำกาแฟด้วยวิธี natural เป็นหลัก เพราะเราค่อนข้างคุมสภาพแวดล้อมยาก ที่บ้านแม่แดดน้อยขาดแคลนน้ำและมีแดดน้อย”

แต่ถึงอย่างนั้นเทนก็ยังเป็นนักแปรรูปกาแฟที่มักทดลองกับข้อจำกัด เขาพยายามหาวิธีการแปรรูปกาแฟที่เข้ากับพื้นที่และทำงานได้ไว อย่างเช่น wet-hulling ซึ่งช่วยลดปริมาณการทำงานให้สั้นลง และลดต้นทุนแรงงานได้

“wet-hulling ทำเหมือน natural ทุกอย่าง แต่จะตากกาแฟจนความชื้นเหลือ 30 แล้วค่อยไปสี จากนั้นเอาไปตากอีกครั้งในเขตที่ไม่โดนแดดร้อยเปอร์เซ็นต์ มันทำให้กาแฟแห้งไว้ขึ้น จาก 30 วันเหลือ 20 วัน แล้วรสชาติที่ออกมาก็ไม่แย่”

Anna Coffee

ความสามารถของเขาทำให้โรงคั่วกาแฟอย่าง Roots และ School Coffee ยังคงเลือกซื้อผลผลิตจากสวน Lica coffee estate อยู่เสมอ ทั้งยังสนับสนุนการทำงานของเทนและแอนให้พวกเขาได้แปรรูปกาแฟดีๆ ออกมา

“ทุกครั้งที่เราส่งสารกาแฟให้โรงคั่ว เขาจะมีฟีดแบ็กกลับมา นี่เป็นข้อดีเพราะมันทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง รู้ว่าคุณภาพกาแฟเราเป็นยังไงและควรทดลองทำอะไรอีกบ้าง”

Anna Coffee

“มีครั้งหนึ่งที่ Roots บอกว่าอยากให้เราทำ wash process แต่เราบอกไปว่ามีปัญหาเรื่องน้ำ ทางนั้นเลยเข้ามาช่วยสนับสนุนแทงก์น้ำเพื่อให้เราทำงานได้ เพราะ Roots จะมีงบส่วนหนึ่งที่ขายผลิตภัณฑ์หน้าร้านมาช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ด้วย กลายเป็นว่าไม่ใช่แค่สวนกาแฟเรา แต่ชาวบ้านก็ได้ใช้แทงก์น้ำด้วย”

แน่นอนว่ากาแฟที่ขายอยู่หน้าร้านของเทนและแอนย่อมมีคุณภาพที่ดีตามการสนับสนุนของโรงคั่วใหญ่ๆ ด้วย ยิ่งตอนหลังเมื่อเทนเริ่มคั่วเมล็ดกาแฟด้วยตัวเอง พวกเขาก็อยากสื่อสารบอกลูกค้าทุกคนว่ากาแฟร้านเล็กๆ สีขาวนี้มีกาแฟที่ผลิตเองทุกกระบวนการ

“เราเลยเปลี่ยนชื่อร้านเป็น Anna Coffee Micro Roasters เพราะเราอยากให้คนรู้ว่าเรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำเราทำทั้งหมด อีกอย่างคือคำว่า specialty มันทำให้เราอยู่กับเซฟโซนบางอย่าง เราอยากขายเมนูอื่นๆ บ้าง ไม่ใช่แค่กาแฟเมล็ดคัดพิเศษอย่างเดียว” 

แต่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้มาแวะเวียนได้ลองชิมกาแฟจากการชงแบบสโลว์บาร์ แอนบอกว่าลูกค้ายังสามารถเลือกได้เหมือนเดิม เพียงแต่อาจจะต้องแบ่งช่วงเวลาที่คนไม่แน่นมากนักเพื่อให้ตอบโจทย์กับลูกค้าทุกคน

Anna Coffee

ความสุขที่ได้ทำกาแฟที่ดีให้คนดื่ม

ข้อความหนึ่งที่ร้าน Anna Coffee Micro Roasters มักลงท้ายในโพสต์เฟซบุ๊กประจำคือ ‘หวังว่าทางร้านยังคงมีพื้นที่กาแฟเล็กๆ ที่มอบความสุขและสบายใจให้กับลูกค้าได้อยู่เช่นเคย’ เพราะเป็นคอนเซปต์หลักที่เทนและแอนอยากทำงานด้วยความจริงใจต่อลูกค้ามากที่สุด

“ความเชื่อมั่นของลูกค้าคือสิ่งที่สำคัญมาก” เทนบอกกับเรา

“เราอยากให้คนที่กินกาแฟได้ดื่มกาแฟที่มาจากต้นน้ำที่มีคุณภาพจริงๆ เราส่งผ่านทุกๆ ขั้นตอนตั้งแต่การคั่ว การเก็บ การปลูก การคัด การ process จนถึงหน้าร้าน เราคุมคุณภาพเองทั้งหมด ทำให้มั่นใจได้ว่ากาแฟที่ลูกค้าได้กินมาจากความตั้งใจของเรา” หนุ่มเชียงใหม่อธิบายในสิ่งที่เขาทำให้ฟัง

Anna Coffee

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าถึงแม้เขาจะต้องมาเป็นเขยอุบลฯ แต่เทนจะต้องขึ้นดอยไปควบคุมการผลิตกาแฟด้วยตัวเองทุกปี ลงแรงพัฒนาเมล็ดกาแฟของตัวเอง รวมไปถึงมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในธุรกิจที่จะสร้างกาแฟให้ตอบโจทย์ลูกค้า

“คุณภาพที่ลูกค้าไว้วางใจคือเราต้องกลับไปดู ถามว่าที่บ้านทำได้ไหม ทำได้ แต่ถึงยังไงก็ต้องตรวจคุณภาพจากเราอีกที ดังนั้นทุก 6 เดือนเราจะกลับบ้านไปพร้อมๆ กับแอนและลูก ไปอยู่ดูแลกระบวนการตลอด 6 เดือนนั้น ถือโอกาสว่าพาลูกกลับไปหาปู่กับย่าด้วย” เทนต่อท้ายคำตอบด้วยเสียงหัวเราะอย่างมีความสุข

Anna Coffee

ส่วนพาร์ตหน้าร้าน แอนบอกกับเราว่าพวกเขาพยายามเล่าเรื่องกาแฟให้กับลูกค้ามากที่สุด และคอยสนับสนุนให้ทีมทุกคนช่วยดูแลผู้แวะเข้ามาชิมกาแฟได้สิ่งที่ดีกลับไปด้วย

“ถ้ากาแฟล็อตของปีนี้หมด เราจะบอกลูกค้าว่า กาแฟล็อตใหม่จะออกแล้วนะ รสชาติอาจจะมีการปรับเปลี่ยน เราบอกเขาเพราะวัตถุดิบล็อตใหม่ที่จะออกมามีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามีอะไรผิดเพี้ยนไปจากที่คุณเคยดื่ม คุณสามารถแจ้งบาริสต้าได้เลย” 

Anna Coffee

ในอนาคตพวกเขายังวางแผนที่จะสร้างโรงคั่วที่อุบลฯ แอนบอกว่าคล้ายๆ เป็นแล็บรวมกระบวนการทำกาแฟที่จะให้ผู้มาเยือนได้เห็นทุกขั้นตอนที่พวกเขาทำงาน และเป็นการยืนยันว่าพวกเขาใส่ใจกาแฟเพื่อลูกค้าทุกคน

“เทนกับแอนทำร้านกาแฟนี้ขึ้นมาเพราะเรามีความฝันกันแบบนี้ แล้วเราอยากทำตรงนี้เพื่อดูแลคนที่เรารักได้ นั่นรวมถึงลูกค้าที่รักและชื่นชอบในกาแฟของเรา เวลาที่เราได้เห็นเขาแฮปปี้เมื่อได้ดื่มกาแฟ สำหรับแอนและเทนถือว่าประสบความสำเร็จในการได้ทำสิ่งที่รักแล้ว” แอนทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม 

Anna Coffee


ภาพ: Anna Coffee Micro Roasters

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ภูรินทร์ จำศรี

ช่างภาพไทบ้านที่มีสายโลหิตเป็นแอลกอฮอล์ ผู้ชื่นชอบความอิสระและกำลังค้นหาความหมายของคำว่า 'รัก'