The Goose House Ubon โลคอลคาเฟ่ที่อยากส่งเสริมความเป็นท้องถิ่นให้ทุกคนรู้จัก

Highlights

  • The Goose House Ubon คือคาเฟ่และโฮสเทลแห่งแรกๆ ที่นำวัฒนธรรมสมัยใหม่มาสู่ชุมชนเมืองในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเกิดจากสถาปนิก บิ๊ก–อภิศักดิ์ ชิณกะธรรม และหุ้นส่วน ฟาง–สุจินันท์ ใจแก้ว หนุ่มสาวชาวเขมราฐ
  • ทั้งสองตั้งใจทำที่นี่เป็นคอนเซปต์ local provider หยิบเอาวัตถุดิบ วิถีชีวิต และความเป็นอีสานที่พวกเขาเติบโตมานำเสนอผ่านองค์ประกอบต่างๆ ที่ไม่ได้ยึดติกกับการแตกแต่งเพียงอย่างเดียว
  • กาแฟดริปหวดจึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับช่วงที่ร้านเปิด จากความต้องการนำผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมาผสมผสานกับวัฒนธรรมดื่มกาแฟ เพื่อสร้างความแตกต่างและนำเสนอความเป็นอีสาน

กาแฟดริป คาเฟ่ และโฮสเทล ถือเป็นวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ที่ไทยรับเข้ามาและไหลบ่าไปทั่วประเทศ ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปที่ภูมิภาคไหนย่อมมีสถานที่เหล่านี้ให้เลือกไปเยือนมากมายหลายแห่ง

The Goose House Ubon ของสถาปนิก บิ๊ก–อภิศักดิ์ ชิณกะธรรม และหุ้นส่วน ฟาง–สุจินันท์ ใจแก้ว หนุ่มสาวชาวเขมราฐ ถือเป็นคาเฟ่และโฮสเทลแห่งแรกๆ ที่นำวัฒนธรรมสมัยใหม่มาสู่ชุมชนเมืองในจังหวัดอุบลราชธานี โดยทั้งสองตั้งใจทำเป็นคอนเซปต์ local provider หยิบเอาวัตถุดิบ วิถีชีวิต และความเป็นอีสานที่พวกเขาเติบโตมานำเสนอ

ในระยะเวลากว่า 6 ปีที่ทั้งคู่กลับบ้านมาเปิดร้าน อภิศักดิ์กับสุจินันท์พยายามสื่อสารความเป็นอีสานในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ยึดติดกับการตกแต่งร้านอย่างเดียว “เราจะหาอะไรที่เป็นท้องถิ่นมาพัฒนาใหม่ คีย์ในหัวคือโปรดักต์ต้องเกิดจากการใช้งานจริง มาจากท้องถิ่น และนำมาเปลี่ยนฟังก์ชั่นให้เกิดการใช้งานใหม่ มองแล้วต้องรู้ว่านี่คือโปรดักต์จากอีสาน คนเห็นแล้วนึกถึงวัฒนธรรมของเราโดยที่ไม่รู้ตัว รวมถึงทำให้คนอีสานคิดถึงรากเหง้าของตัวเอง”

จากจุดมุ่งหมายนี้เองทำให้เกิดการเสิร์ฟอาหารอีสานที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาเป็นส่วนประกอบ การต่อยอดทำฟาร์มสเตย์เพื่อให้คนเรียนรู้ความเป็นท้องถิ่นอีสาน รวมถึงการร่วมมือกับชาวบ้านทำโปรดักต์พิเศษภายในร้าน เช่น แก้วและจานเซรามิกที่มาจากแหล่งทำครกดิน จังหวัดอุบลราชธานี, กระเป๋าสานจากฝีมือชาวบ้านของโครงการโอทอปที่ทั้งสองคนอยู่ในทีมพัฒนา รวมไปถึงกาแฟดริปหวดที่คิดค้นตั้งแต่ช่วงเปิดร้านใหม่ๆ และพัฒนามาเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถใช้งานได้จริง

การเจอกันของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกับวัฒนธรรมดื่มกาแฟ

จุดเริ่มต้นของดริปหวดมาจากตอนที่ทั้งสองคนเริ่มเปิดคาเฟ่และต้องการนำผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมาผสมผสานกับวัฒนธรรมดื่มกาแฟ เพื่อสร้างความแตกต่างและนำเสนอความเป็นอีสาน “ความจริงแล้วไอเดียมันเกิดจากที่กรองปลาร้าก่อน แต่ด้วยข้อจำกัดของรูปทรง เราเลยหาสิ่งที่ใกล้เคียงจนมาได้หวดนึ่งข้าวเหนียวที่มีรูปทรงใกล้เคียงกับดริปเปอร์ของต่างประเทศ เราเลยลองพัฒนาดู”

หลังจากใช้ดริปหวดขายกาแฟมาพักใหญ่ อภิศักดิ์กับสุจินันท์ก็ได้รับฟีดแบ็กมากมายทั้งจากที่ร้านและโซเชียลมีเดีย จนสุดท้ายพวกเขาตัดสินใจหยุดพักเพื่อไปคิดค้นพัฒนาให้ดริปหวดใช้ได้จริงทั้งแง่ฟังก์ชั่นและความสวยงาม จนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา อภิศักดิ์ออกแบบเซตดริปหวดใหม่ที่ประกอบด้วยหวดขนาดเล็ก เซรามิกดริป ขาตั้งเหล็ก ไม้รอง และแก้วเซรามิก แก้ปัญหาที่ได้รับฟังมา ซึ่งสุจินันท์ผู้รับหน้าที่หาคนสานหวดบอกกับเราว่าคนที่สานหวดได้จริงๆ มีน้อยมาก เหลือแค่คุณตาไม่กี่คนเท่านั้น

“สิ่งที่เราทำเป็นเหมือนกำลังใจให้เขากลับมาสานหวดอีกครั้ง เพราะหวดเป็นภาชนะที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งสำหรับคนอีสาน มันเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชน เด็กๆ เห็นก็อยากลองสานหวดบ้าง กลายเป็นการส่งต่อภูมิปัญญาให้กัน”

ต้องไปได้ทั้งความเป็นอีสานและการทำธุรกิจ

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ทั้งสองคนผ่านอะไรมาไม่น้อย ไม่ว่าจะด้านธุรกิจหรือการนำเสนอความเป็นอีสาน ช่วงแรกที่อภิศักดิ์กับสุจินันท์เริ่มทำดริปหวดก็ได้รับทั้งเสียงชื่นชมและคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านคุณภาพและกิมมิกความเป็นอีสาน

“เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับเรา จะทำยังไงให้มันกลายเป็นแก่นจริงๆ ไม่ใช่แค่กระแสหรือแฟชั่น ต้องมองลึกไปกว่านั้นว่าการออกโปรดักต์หนึ่งต้องเริ่มจากกระบวนการข้างในก่อน กลั่นกรองผ่านวิถีชีวิตและความคิดแบบอีสานถึงจะออกมาได้ ไม่ใช่แค่เปลือก บางคนมองว่าเป็นโปรดักต์ที่ฉาบฉวย แต่เราอยากให้เขามองย้อนกลับไปถึงตัวตนของดีไซเนอร์ หรือวิธีการคิดตัวโปรดักต์ว่าเป็นมายังไง เพราะเรามองโจทย์เรื่องการต่อยอดหวดให้เกิดฟังก์ชั่นใหม่เพื่อให้คงอยู่ได้ในสมัยนี้”

ส่วนในการทำธุรกิจ ทั้งสองคนเล่าว่าต้องพยายามปรับตัวไปเรื่อยๆ เช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้ว The Goose House Ubon ต้องบาลานซ์จุดยืนตัวเองให้ได้เพื่อลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่และนักท่องเที่ยวด้วย

“การที่เราจะเปลี่ยนความคิดคนรุ่นใหม่ให้มาใส่ใจวัฒนธรรมอีสานและไม่ลืมรากเหง้าเป็นเรื่องค่อนข้างยากมาก อย่างเรื่องอาหารท้องถิ่น เด็กในเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครกินอย่างที่เรากินกันแล้ว สิ่งที่คนไม่กินก็ขายไม่ได้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาวัฒนธรรมอย่างเดียว เราภูมิใจในความเป็นอีสานนะแต่คนในพื้นที่บางส่วนเขาไม่ได้คิดแบบนั้น ซึ่งขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวเขาว้าวไง มันก็ย้อนแย้งกัน จะทำยังไงให้คนทั้งหมดอินกับสิ่งนี้ นี่เป็นโจทย์สำหรับเราที่ต้องการขับเคลื่อนทั้งวัฒนธรรมและธุรกิจให้ไปด้วยกัน แต่เราก็ยังอยากทำต่อไปแหละเพราะมันเป็นสิ่งที่เรารัก”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก