บันทึกการเดินทางสำรวจสีธรรมชาติอายุพันปีในอุทยานแห่งชาติผาแต้มของ ‘แซนด์ สุวัลญา’

เรื่องราวความเป๋อของหมาตัวหนึ่งชื่อ Robot ที่ดันเซ่อพลัดตกหลุมลึก เดือดร้อนหนุ่มๆ เจ้าของโรบอตที่ต้องปีนลงไปช่วย เป็นเหตุให้เกิดการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของโลก

ภาพจาก: arkanimalcentre.wordpress.com/

ก็ไอ้หลุมลึกที่ว่าลึกกว่า 15 เมตรนั้นเป็นทางไปสู่ถ้ำยาวที่บรรจุภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์ กาลเวลาซ่อนตัวศิลปะถ้ำล้ำค่าชิ้นนี้ไว้หมื่นกว่าปี เผยให้เห็นภาพเขียนกว่า 600 ภาพ เกือบทั้งหมดเป็นภาพสัตว์ ทั้งควายไบซัน แพะภูเขา ม้า กวาง และอื่นๆ ต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อถ้ำ Lascaux ของประเทศฝรั่งเศส

ภาพจาก: khanacademy.org

ภาพจาก: archeologie.culture.fr

ฉันดำดิ่งสู่เรื่องราว สีสัน ฝีมือการวาดของคนหมื่นกว่าปีที่แล้วด้วยตาเป็นประกาย ภาพสัตว์ขนาดเท่าของจริงถ่ายทอดผ่านทางลายเส้น สี เป็นกายวิภาค (Anatomy) และสรีระการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีดิน หิน ทั้งผนังด้านข้างและเพดานถ้ำด้านบนอย่างอลังการ สีสันจากดินหินตระกูล Ocher ที่คนบ้าสีอย่างฉันกำลังสนใจเพราะมันคือชุดสีโบราณกาลที่การันตีแล้วว่าเป็นสีที่อยู่มาได้นานนมกว่าหมื่นปี

ตัดภาพกลับมาในช่วงโควิด-19 ฉันนั่งโง่ๆ อยู่หน้าแลปท็อป ริมคลองมหาสวัสดิ์ และฝันไปไกลถึงฝรั่งเศส ฝันให้ตายก็ยังไปไม่ได้

หลังจากหยุดฝันก็กลับมาสู่ความจริง นั่งไล่หาข้อมูลทั้งในหนังสือและอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ในไทย จนมาสะดุดที่ภาพเขียนสีที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ความพิเศษคือโดยปกติศิลปะถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์จะถูกเขียนอยู่ในถ้ำแต่ที่นี่ถูกเขียนอยู่บนหน้าผา ริมแม่น้ำโขง ทำให้ฉันงุนงงว่ามันอยู่มากว่าสี่พันปีได้ยังไงนะ

 

จักรวาลจัดสรร

ฉันเริ่มฝันถึงการไปผาแต้ม โทรหาเพื่อนที่เคยไป ดูตามอินเทอร์เน็ตก็จินตนาการผนังถ้ำริมผาไม่ออก และดูไม่ง่ายเลยที่จะเดินทางไปด้วยรถสาธารณะ

หลายอาทิตย์ต่อมาเมื่อถึงเวลาที่จักรวาลจัดสรร มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นจากอุบลราชธานี

“สนใจมาเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไหม เป็นทริปเล็กๆ ให้กับนักศึกษาปี 2-3 ไปทำกิจกรรมที่ผาแต้ม นอนหนึ่งคืนริมแม่น้ำโขง” เสียงจากอาจารย์จากมหาวิทยาลับอุบลราชธานี

ไม่ต้องใช้สมองตัดสินใจเลย รีบตกปากรับคำทันที

 

ดิน ดิน ดิน

เที่ยวบินที่ FD 3374 กำลังมุ่งสู่อุบลราชธานี ได้บินกลางวันทั้งทีฉันเลือกนั่งริมหน้าต่าง นั่งชิลล์มองเมฆตลอดทางร่วม 1 ชั่วโมงก็เริ่มเข้าเขตอุบลราชธานี สายตาไปสะดุดที่บ่อน้ำสีฟ้า เทอคอยส์ (Turquoise) พาสเทลหลากเฉด เหมือนสีตอนที่เราเคยทดลองใช้ลวดทองแดงจากสายไฟมาแช่น้ำเกลือ ทำให้เราสันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะมีแร่ทองแดงที่ว่ากระจายอยู่

“เห็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เวลาขุดบ่อใหม่ๆ ย่าจะบอกว่าน้ำออกมาสีนี้เราจะยังไม่ปล่อยปลาเดี๋ยวปลาจะตายหมด ต้องรอจนกว่าน้ำจะหมดสีนี้” เพื่อนที่เป็นคนอุบลฯ แต่กำเนิดเล่าให้ฟัง หลังจากไปรับฉันที่สนามบินและนั่งกินอาหารแขกหลบฝนรำลึกความหลังสมัยตอนเรียนที่อินเดียกันอย่างออกรส (มาซาล่า)

“ฝนจะหยุดแล้ว อยากไปร้านไหนต่อไหม” เธอถาม

“เอาจริงๆ ไหม อยากไปหาดิน ”

เพื่อนสตันท์ไปสามวินาที แต่ก็เดินไปสตาร์ทเวสป้ารุ่นเก๋าพาลัดเลาะผ่านย่านเมืองเก่าที่เริ่มมีร้านเก๋ๆ แทรกซึมอยู่ สู่เส้นทางลับๆ ไปจนถึงร้านเครื่องปั้นดินเผาเพิงไม้หน้าตาเป็นมิตร มีป้ายเล็กๆ เขียนด้วยลายมือ สมหมายดินทอง หน้าร้านมีกลุ่มคุณลุง 4-5 คนตั้งวงคุยภาษาอีสานใต้ร่มไม้ของต้นมะขาม

“ลุงใช้ดินบ้านเรานี่แหละ ปั้นด้วยมือและเครื่องแรงถีบอย่างนี้ ตากไว้ให้แห้งที่ชั้นตรงโน้น แล้วเผาที่เตาอิฐก่อเองตรงนั้น” ชั้นลักษณะโปร่งหน้าร้านลุงหมายวางเรียงรายไปด้วยถ้วยหลายแบบหลายขนาด แต่ที่เห็นจะมีมากก็กระถางต้นไม้ที่กำลังฮิต

“หนูขอเศษดินที่ตกๆ อยู่นี่นะคะลุงหมาย” เศษดินพื้นบ้านของลุงเป็นสีเนื้อพาสเทลน่ารัก ดินของลุงเมื่อเผาแล้วจะได้สีเนื้ออ่อนๆ น่ารักแปลกตา

ระหว่างที่กำลังจะเดินออกมาขึ้นเวสป้าเพื่อน สายตาก็ปะทะกับดินข้างร้านลุง ดินที่เขาเพิ่งขุดเพื่อจะวางท่อน้ำ ดินสีเหลืองสด สีเหลืองแบบ raw sienna ที่เรากำลังตามหา (Sienna เป็นชื่อเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของดินสีนี้ นิยมใช้มากในยุคเรอเนซองซ์ที่ชื่อ raw sienna เพราะเมื่อเผาดินชนิดนี้แล้วจะได้สีน้ำตาลอีกเฉดเรียก burnt sienna)

“ดินมันจะปนทรายนิดๆ อย่างเส้นรอบเมืองอุบลราชธานีเป็นแหล่งดูดทรายขายกันเลยนะ ห่างจากห้วยวังนองตรงนี้ 7-8 กิโลเมตร ทรายสีเหลืองที่ไว้สำหรับก่อสร้างนี่แหละ” เพื่อนกล่าว

จริงด้วย เพราะสี raw sienna ที่ว่ามีสีคล้ายทรายก่อสร้างจริงๆ

คืนนั้นเรานอนไม่หลับเลย ลุกขึ้นมาทดลองเฉดสีลงบนสมุดกระดาษคราฟต์สีน้ำตาลที่พกมาอย่างลิงโลด และร้องวี้ดว้ายอยู่คนเดียวกลางดึก

 

ปลอมตัวเป็นมนุษย์หิน

ฉัน นักศึกษา และอาจารย์ ออกเดินทางไปสู่อุทยานแห่งชาติผาแต้มกันแต่เช้า พวกเราได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่อุทยานให้เข้าไปสำรวจสีกันแล้ว ดังนั้นเราจึงช่วยกันมองหาดินระหว่างทาง จอดรถแวะเก็บตัวอย่างดินหลายเฉด ที่พิเศษสำหรับเราคือเฉดดินสีม่วงที่เป็นสีดินที่หาได้ยาก พบเห็นได้เฉพาะบางพื้นที่

เราแวะกันที่ลานเสาเฉลียงเป็นที่แรกตามโปรแกรม เสาเฉลียงเป็นเสาหินทรายรูปทรงคล้ายเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

“สงสัยไหมว่าสีที่เขาใช้เขียนผนังถ้ำมาจากอะไร”

“จากเลือดเปล่าครับ”

“ศิลปะถ้ำเป็นงานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยนั้นมนุษย์ใช้หินเป็น pigment สำหรับเขียนผนังถ้ำ โดยผสมกาวธรรมชาติเพื่อการยึดติดสี โดยมากใช้ไขกระดูกสัตว์ ไขมันสัตว์ที่ถูกล่า ยางไม้ธรรมชาติ แม้กระทั่งน้ำลายมนุษย์” ฉันอธิบาย

พวกเราติ๊งต่างตัวเองย้อนยุคหลายพันปีเป็นมนุษย์ถ้ำ ออกค้นหาเฉดสีกันจ้าละหวั่น

“หินบางก้อนก็ไม่มีสีค่ะ”

“ใช่ค่ะ หินก้อนใหญ่ๆ เมื่อถูกลมฟ้าอากาศ น้ำ หรือการกระแทก จะค่อยๆ กร่อนลง เศษหินเล็กๆ เหล่านี้จะถูกพัดพาไปรวมตัวกันไปเกิดใหม่อีกครั้ง ประหนึ่งว่าเป็นหินเด็กที่ยังไม่มีความแกร่งมาก เพราะฉะนั้นเวลาเราทดลองขูดหินประเภทนี้จะมีสีออกมาด้วย เมื่อเรานำไปผสมกับกาวธรรมชาติก็จะกลายเป็นสีไว้สำหรับแต้มบนผนังหินของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์”

“การกร่อนและการรวมตัวของหินแต่ละก้อนจะทำให้เกิดสีที่ต่างกัน เป็นการผสมสีของหินตามธรรมชาติ เราทดลองกันเยอะพอสมควรยังไม่เห็นมีก้อนไหนมีเฉดสีซ้ำกันเลย”

เราทดลองเฉดสีกันครู่ใหญ่และพบว่าสีดำหายากมากที่สุด จริงๆ แทบหาไม่ได้เลย เราเจอหินที่ได้สีเทาแค่ก้อนเดียว

“อย่างภาพเขียนในถ้ำ Lascaux ที่มีสีดำจากหินสีดำ (Manganese Oxide) นักโบราณคดีพยายามสำรวจสีหินในบริเวณใกล้เคียง กลับไม่พบเฉดหินสีดำเลย สถานที่ใกล้ที่สุดที่พบว่ามีแมงกานีส ออกไซด์ ห่างจากถ้ำกว่า 250 กิโลเมตร ซึ่งแถบเป็นไปไม่ได้เลยว่ามนุษย์ยุคนั้นจะสามารถเดินทางไกลได้ถึงขนาดนั้น และถ้าทำได้ แสดงว่าการได้เขียนภาพในถ้ำเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากๆ อาจเชื่อมโยงถึงอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่เพียงวาดตกแต่งเพื่อความสวยงามแน่ๆ”

ก่อนออกจากพื้นที่เรานำก้อนหินทุกก้อนไปคืนบริเวณที่นำมา (เป็นข้อตกลงกับอุทยานฯ ผาแต้ม) หลงเหลือไว้เพียงตัวอย่างเฉดสีบนกระดาษเป็นที่ระลึก

ไปเจอของจริง

เราเดินทางต่ออีกไม่นานก็พบกับศูนย์อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ฉันและเดอะแก๊งจำนวนหนึ่งค่อยๆ เดิน โดยมีนักศึกษาที่เป็นคนพื้นที่ทำหน้าที่เป็นไกด์จำเป็น เราเดินลัดเลาะแนบไปตามหน้าผา ด้านซ้ายเป็นผาขนาดใหญ่ โดยลักษณะของผาที่ว่าไม่ตรงแต่เฉียง ด้านบนจะกว้างกว่าทำหน้าที่เป็นหลังคาคอยป้องกันภาพเขียน ด้านขวามือคือวิวแม่น้ำโขงที่กั้นฝั่งลาวไว้ เดินสักพักก็เจอกับภาพเขียนแรกที่ลบเลือนไปมากแล้ว เป็นภาพก้างปลา และลายเส้นทึบหยักไปมาคล้ายคลื่นน้ำ เดินต่อไปไม่ถึง 300 เมตร ก็พบกับภาพที่มีขนาดยาวที่สุด

“อันนี้ตุ้มครับ ตุ้มคือเครื่องดักสัตว์น้ำ ตรงด้านบนนั่นเป็นรูปปลาบึกครับ”

“ข้างๆ มีเต่าด้วย น่ารักจังแก๊งสัตว์น้ำ”

รูปภาพทั้งผาถูกแต้มด้วยสีแดงเพียงสีเดียว พวกเรานึกสงสัยว่า เฉดสีในบริเวณใกล้เคียงมีหลายสีมากๆ แต่ทำไมมนุษย์ยุคนั้นถึงเลือกใช้เพียงสีแดง

“อาจเป็นไปได้ว่าสีแดงมีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่ เพราะตามแหล่งโบราณคดีหลายแห่งจะขุดพบสิ่งของสีแดง ผงดินสีแดงอยู่ในหลุมฝังศพด้วย อดีตชาวบ้านจะนับถือบริเวณนี้มากว่าศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้ามาจะมีอันตราย”

ภาพโดย: ปิยะนันท์ กรินรักษ์

มือใคร

“กรี๊ดดดดด” ผู้สาวคนหนึ่งร้อง เสียงผู้บ่าวเริ่มหัวเราะ

“นั่นมันต๊กโตครับพี่”

“ฮะ อะไรนะ?” เราถาม

“จั๊กกิ้มก็คือจิ้งจกส่วนต๊กโตก็คือตุ๊กแก” เสียงร้องเพลงเริ่มดังขึ้นปนเสียงหัวเราะเป็นคำตอบอย่างสนุกสนาน ร้องเพลงยังไม่ทันจบเราก็มาหยุดกันที่ภาพเขียนอีกชุด ภาพชุดนี้มีรอยมือประทับอยู่ มีทั้งรอยมือแบบสีแดงทึบ รอยมือแบบทาบกับผนังแล้วพ่นสี แต่ที่แปลกสำหรับฉันคือ รอยมือที่เป็นลักษณะเส้นอยู่ทั้งฝ่ามือ แบบที่ไม่ค่อยเคยเห็นที่ไหน

“มือใหญ่เนอะ ใหญ่กว่าของพวกเราเยอะเลย” อันนี้เห็นจะจริงว่าคนสมัยก่อนเขาน่าจะตัวใหญ่กว่าพวกเราๆ

เราค่อยๆ เดินกันต่อ แบบอับๆ เพราะอากาศตรงนี้เป็นป่าอับลม เหงื่อเริ่มออกหนักขึ้นและการเดินแต่ละก้าวเริ่มลำบาก (อาจเป็นไปได้ว่าบริเวณที่มีภาพเขียนเป็นพื้นที่อับลม ปัจจัยการถูกกร่อนด้วยลมจึงไม่มี และช่วยรักษาภาพเขียนกว่าสี่พันปีไว้ได้)

พวกเราหลายคนเริ่มถอดใจ ทยอยเดินกลับทางเข้ากันไปบ้าง ทำไปทำมาจากที่มากันร่วม 30 คน ตอนนี้เหลือผู้รอดจากความเหนื่อยล้ากันแค่ 10 คน เราก็ค่อยๆ ปีนขึ้นมาจนถึงลานหินขนาดใหญ่ เห็นวิวกว้างๆ ของแม่น้ำโขงและฝั่งลาวสักที ที่ลานหินนี้มีดอกไม้ ใบหญ้าเล็กๆ แปลกตาเยอะเลย เป็นรูปร่างที่พิเศษมาก มีต้นหญ้ารูปกงจักรดูพลิ้วมาก มารู้ทีหลังว่าชื่อ กกกันดาร หญ้าอีกชนิดที่เกาะตามโขดหินมีสีแดงเป็นตะปุ่มๆ มีน้ำหวานใสๆ คอยล่อดักจับแมลง ชื่อ หญ้าน้ำค้าง ด้วยความที่เอาแต่ก้มหน้าชื่นชมความจุ๋มจิ๋มนั้น ความร้อนและความเหนื่อยอยู่ๆ ก็อันตรธานหายไปได้เองเสียอย่างนั้น

แล้วเสียงโทรศัพท์ของนักศึกษาคนหนึ่งดังขึ้น “ค่ะ อาจารย์ น่าจะใกล้ถึงแล้วค่ะ มีป้ายบอกทางแล้ว”

ทีมที่ไม่ได้มาด้วยเริ่มเป็นห่วงว่าเดินกันไปถึงไหนแล้ว ทำไมนานขนาดนี้ พวกเรารีบเดินฝ่าความร้อนแรงของแดดไปยังรถที่จอดรอตรงทางออก

เริ่มลงมือทำสีธรรมชาติ

พวกเรา 10 คนหน้าแดงเหงื่อชุ่ม เดินเข้าห้องกิจกรรมกันตาลีตาลาน เพราะเวลาล่วงเลยมาสักพักแล้วตามโปรแกรม นักศึกษานั่งแยกเป็นกลุ่มๆ รอพวกเราได้สักพักแล้ว ฉันเริ่มเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของสี ขั้นตอน และวัตถุดิบที่สำคัญอย่างออกรส และเริ่มต้นทดลองทำสีน้ำจากดินที่นักศึกษาและฉันหามาจากพื้นที่รอบๆ อุบลราชธานี

นักศึกษาหาเฉดดินมาได้หลากหลายมาก บางเฉดฉันเองก็ยังไม่เคยเห็น แถมยังมีถาดสีหลุมปั้นดินเผาที่ปั้นมือกันเอง พกมาคนละถาดด้วย

ภาพโดย: Sujittra B.

“โดยมากดินจะมีเศษหิน เศษทรายที่มีอนุภาคใหญ่ จริงๆ ใช้ได้นะ แต่พอเราวาดไปแล้วจะเห็นเป็นเม็ดๆ ไม่เรียบเนียน กระบวนการนี้จึงสำคัญคือบดและกรองให้ละเอียด ผงที่ได้ก็เป็นเหมือนกับ pigment ดีๆ นี่แหละ” ฉันอธิบาย

“จากนั้นผสม pigment กับยางไม้และน้ำผึ้งธรรมชาติจนกว่าจะเข้ากันดีเป็นเนื้อเดียว พอเริ่มหนืดคล้ายยาสีฟันแบบที่เราบีบจากหลอด ก็หยอดลงหลุมที่เตรียมมา”

ภาพโดย: ปิยะนันท์ กรินรักษ์

เหมือนเป็นการละลายพฤติกรรม ทั้งฉันและนักศึกษาเริ่มสนิทกันขึ้น ฉันเริ่มสนุก นักศึกษาก็เริ่มสนุก ทุกคนช่วยกันกรอง บด ผสมสีจนลืมเหนื่อย ฉันเองก็เซอร์ไพรส์กับเฉดสีหลากหลายของดินจากหลายพื้นที่ในอุบลราชธานี

ภาพโดย: Khanitta Khankham​

ค่ำแล้วแต่เหมือนว่าเรื่องสนุกๆ ยังค้างอยู่ในหัว ฉันหยิบดินสอมาร้อยเรียงด้วยภาษาและบันทึกภาพความประทับใจจนดึก แล้วเผลอหลับด้วยความเหนื่อยไปตอนไหนก็ไม่รู้

AUTHOR