การติดตามสัตว์ด้วยจีพีเอสสำคัญอย่างไร? ว่าด้วยปริศนาสังคมสัตว์และเทคโนโลยีการแกะรอย

Highlights

  • ในขณะที่คนบางกลุ่มแกะรอยสัตว์ป่าเพื่อล่า นักอนุรักษ์ รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ ก็พยายามตามหาสัตว์ป่าที่สนใจเพื่อศึกษาพฤติกรรมและถิ่นที่อยู่
  • มนุษย์เรารู้จักการแกะรอยสัตว์ป่ามาแต่โบราณ โดยใช้วิธีหลากหลาย ตั้งแต่การตามรอยเท้า มองหาขนที่หลุดร่วง ร่องรอยตามต้นไม้ ไปจนถึงสังเกตมูลของสัตว์ กระทั่งปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และวิธีติดตามสัตว์ก็กลายเป็นการใช้ระบบจีพีเอสแทน
  • หากเราสามารถติดตามสัตว์ต่างๆ ได้อย่างละเอียดขึ้น ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของพวกมันมากขึ้นด้วย และช่วยในการอนุรักษ์ แต่ก็ยังมีข้อกังวลอยู่ว่า หากเราระบุตำแหน่งสัตว์ได้แม่นยำมากขึ้น ก็อาจนำมาซึ่งก็กวาดล้างเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็วได้เหมือนกัน

มนุษย์เรารู้จักการแกะรอยสัตว์ป่ามาตั้งแต่สมัยโบราณด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกันออกไป

นายพรานตามรอยสัตว์ป่าเพื่อการล่า ส่วนนักอนุรักษ์ รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ พยายามตามหาสัตว์ป่าที่สนใจเพื่อศึกษาพฤติกรรมและถิ่นที่อยู่

วิธีการแกะรอยก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การตามรอยเท้า มองหาขนที่หลุดร่วง ร่องรอยตามต้นไม้ ไปจนถึงมูลของสัตว์

ใน ค.ศ. 1803 John James Audubon นักปักษีวิทยาผู้มีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือ The Birds of America รวมทั้งวาดภาพประกอบที่มีรายละเอียดระดับเหนือมนุษย์ พยายามพิสูจน์ว่าฝูงนกที่บินมายังฟาร์มของเขาในช่วงฤดูใบไม้ผลิเป็นนกฝูงเดิมด้วยการจับนกเหล่านั้นมาผูกข้อเท้าของพวกมันด้วยเส้นด้าย

หลังจากนั้นนับร้อยปี นักวิทยาศาสตร์เริ่มใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นในการติดตามสัตว์ป่า ทั้งการทดลองใช้กล้องขนาดเล็กเพื่อถ่ายทำการเดินทางของพวกมัน รวมทั้งเครื่องส่งสัญญาณวิทยุเพื่อติดตามตำแหน่ง

ในยุคปัจจุบัน นักวิจัยด้านสัตว์ป่าเริ่มทำงานกับวิศวกรมากขึ้นเพื่อพัฒนาการติดตามสัตว์ด้วยระบบดาวเทียม จีพีเอส เรดาร์ โดรน เครื่องวัดความเร่ง จนถึง การถอดรหัสดีเอ็นเอ เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้มนุษย์เรามองเห็นสัตว์ป่า สัตว์ปีก รวมทั้งสัตว์ทะเลอย่างฉลาม เต่า ไปจนถึงวาฬ ได้ในระดับทะลุปรุโปร่งกว่าสมัยก่อนมาก

คำถามคือ การติดตามสัตว์ด้วยจีพีเอสมีความสำคัญอย่างไร?

คำตอบคือ มันสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์สัตว์เหล่านั้น

นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษากายวิภาครวมทั้งพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิดได้ด้วยการสังเกตพวกมันในสวนสัตว์หรือห้องทดลอง แต่พฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อพวกมันรวมกลุ่ม การสื่อสารติดต่อกันในฝูง จนถึงถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาในสภาวะธรรมชาติเท่านั้น

ยกตัวอย่าง เช่น ยีราฟ

Dr.Julian Fennessy ผู้คร่ำหวอดและหัวหอกด้านการอนุรักษ์ยีราฟ พบว่าสัตว์อย่างยีราฟที่เห็นได้ทั่วไปในแอฟริกานั้นกำลังค่อยๆ สูญพันธ์ุอย่างเงียบๆ เขาพบว่ามันลดจำนวนลงเรื่อยๆ โดย ค.ศ. 1986 ถึงปัจจุบัน พวกมันลดจำนวนลงจาก 153,000 ตัว เป็น 100,000 ตัว และยีราฟใน 7 ประเทศหายไปอย่างไร้ร่องรอย

แน่นอนว่า ดร.จูเลียนเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตามสัตว์ด้วยระบบจีพีเอส ได้ทำการศึกษายีราฟร่วมกับทีมงานจนใน ค.ศ. 2016 พวกเขาพบว่ายีราฟบนโลกแบ่งเป็นชนิดหลักๆ ได้ 4 ชนิด (จากเดิมที่เคยเชื่อกันว่ายีราฟบนโลกหลงเหลือเพียงชนิดเดียว) งานวิจัยนี้เริ่มต้นจากการศึกษากระจายตัวของยีราฟ แล้วนำกลุ่มตัวอย่างมาศึกษาดีเอ็นเอเพื่อแยกแยะ

อย่างไรก็ตาม หลังจากงานวิจัยของดร.จูเลียนได้รบการตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ได้เพียง 1 ปีก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเคลือบแคลงออกมาผ่านงานวิจัยในวารสารเดียวกัน โดยนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่างานวิจัยของเขามีช่องโหว่

แม้ว่าความจริงเรื่องยีราฟจะยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เทคนิคการติดตามรอยสัตว์ด้วยดาวเทียมนั้นทรงพลังมาก แต่วิธีนี้ก็มีความท้าทายหลายอย่าง เช่น การออกแบบวิธีการนำเครื่องติดตามไปติดบนตัวสัตว์ที่สนใจ

นักวิทยาศาสตร์พบว่าวาฬเป็นสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เสียงของสังคมมนุษย์ ทั้งเสียงจากเมืองและการประมง แต่มันส่งผลต่อการอพยพและพฤติกรรมแค่ไหนยังเป็นคำถามปลายเปิด นักวิจัยจึงใช้ฉมวกยิงเพื่อฝังเครื่องติดตามไว้ใต้ผิวหนังของพวกมันเพื่อศึกษารูปแบบการเดินทางของพวกมัน ซึ่งอาจแสดงให้เห็นการตอบสนองต่อการใช้เสียงของมนุษย์

สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วอย่างแพลงก์ตอนสัตว์นั้นมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรอย่างยิ่ง แต่การจะนำเครื่องติดตามไปติดพวกมันเป็นโจทย์ที่โหดหิน ใน ค.ศ. 2013 ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยลันด์ ประเทศสวีเดน ได้ออกแบบการทดลองติดตามแพลก์ตอน daphnia magna ที่มีขนาดเล็กในระดับมิลลิเมตร (ตัวโตมากๆ ยังยาวแค่ 5 มม.เท่านั้น) ซึ่งเล็กเกินกว่าจะติดเซนเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ลงไป พวกเขาจึงเคลือบมันด้วยอนุภาคนาโนเรืองแสง (ที่แพทย์ใช้อาจมันระบุตำแหน่งเซลล์มะเร็ง) เมื่อนักวิจัยส่องแสงบางอย่างใส่ สารดังกล่าวจะเรืองแสงออกมาทำให้พวกเขาใช้กล้องติดตามการเคลื่อนที่ของมันได้ โดยเบื้องต้นการทดลองนี้ยังเกิดขึ้นในระบบปิดอยู่

ในอนาคต หากเราสามารถติดตามสัตว์ต่างๆ ได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น ย่อมนำมาซึ่งความเข้าใจธรรมชาติของพวกมันยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งน่าจะช่วยให้มนุษย์เรารักษาพวกมันได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปเช่นกัน

ทว่าทุกสิ่งอย่างย่อมเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ในทางกลับกัน ความรู้เรื่องตำแหน่งสัตว์อาจนำมาซึ่งการล่าและกวาดล้างเผ่าพันธุ์สัตว์ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

มนุษย์เราไม่ใช่เหรียญ เราอยากให้เทคโนโลยีสร้างอนาคตแบบไหนให้กับเรา

เราเท่านั้นที่ให้คำตอบได้

 

อ้างอิง

cell.com/current-biology/fulltex

cell.com/current-biology

giraffeconservation.org/our-team

หนังสือ Where the animal go

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา