ทำไมสัตว์ถึงไม่มีล้อ?

ฟังเผินๆ คำถามนี้อาจดูแปลก ไม่ค่อยน่าถาม หรือพูดตรงๆ ก็คือดูปัญญาอ่อนจนไม่น่าถามออกมา

ถ้าสัตว์ป่าอย่างลิง ค่าง กวาง เสือ ไม่ได้ใช้ขาเดิน แต่ใช้ล้อหมุนแทนที่ขาสี่ข้างอย่างรถยนต์คงเป็นภาพพิลึกพิลั่นและขัดธรรมชาติน่าดู

แต่คำถามนี้เอ่ยขึ้นมาโดย ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) สุดยอดนักชีววิทยาเชิงทฤษฎีชาวอังกฤษที่ทรงอิทธิพลทางความคิดที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้

เชื่อเถิดว่า ถ้าลองคิดใคร่ครวญให้ดีแล้วจะพบว่าเหตุผลที่ถามคำถามนี้นั้นน่าฟัง

ล้อ (Wheel) เป็นสิ่งประดิษฐ์กลมๆ เรียบง่ายที่ช่วยสร้างอารยธรรมให้มนุษย์เรามาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงทุกวันนี้ จากล้อเกวียนจนถึงล้อรถยนต์และรถแข่ง รายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างในล้อแต่ละแบบถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ล้อรถยนต์ที่เราขับกันตามท้องถนนถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้กว้างๆ ทุกสภาพอากาศ ในวันที่ฝนตกถนนเปียก น้ำจะแทรกไปตามร่องดอกยางที่ถูกออกแบบไว้ และเมื่อล้อหมุน จะเกิดการวิดน้ำให้กระเด็นออก ส่งผลให้ล้อสัมผัสกับพื้นถนนได้ดีขึ้น

ส่วนล้อรถแข่งนั้นมักจะราบเรียบ ไม่มีดอกยาง เพราะถูกออกแบบให้วิ่งบนพื้นสนามแข่งที่แห้ง ล้อที่ไม่มีดอกยางจะมีพื้นที่สัมผัสกับถนนมากจึงช่วยเพิ่มแรงฉุดให้รถวิ่งได้เร็วขึ้น

คำถามคือ ทำไมเราไม่พบอวัยวะของสัตว์ที่มีลักษณะเหมือนล้อเลย? ทั้งที่จริงๆ แล้ว ธรรมชาติมักจะนำหน้าเทคโนโลยีที่คิดค้นโดยมนุษย์เราเสมอ

โลมาและค้างคาวสามารถใช้เสียงสะท้อนระบุตำแหน่งของอาหารและสิ่งกีดขวางได้ก่อนที่มนุษย์เราจะประดิษฐ์ระบบโซนาร์ได้ งูสามารถตรวจจับคลื่นอินฟาเรดจากเหยื่อของมันก่อนมนุษย์จะสร้างกล้องตรวจจับอินฟาเรดได้ ปลาไหลไฟฟ้าสามารถปล่อยไฟฟ้าออกมาทำให้ศัตรูของมันช็อกก่อนที่มนุษย์จะประดิษฐ์แบตเตอรี่ได้ ฯลฯ

แต่ไม่มีสัตว์ตัวไหนที่มีล้อ ทั้งที่ล้อเป็นเทคโนโลยีเรียบง่ายและดูตรงไปตรงมากว่าสิ่งประดิษฐ์ใดๆ (ไม่นับการกลิ้งของสัตว์อย่างตัวนิ่มที่กลิ้งไปทั้งตัว แต่ไม่ได้มีอวัยวะที่มีลักษณะเหมือนล้อรถยนต์)

คำตอบอ้อมๆ อย่างหนึ่งอยู่ที่การวิ่งของมนุษย์เรา สัตว์สี่ขาจำนวนมากอย่างม้า กวาง หรือเสือ วิ่งได้เร็วมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับมนุษย์ แล้วมันจะมีล้อไปทำไม ในเมื่อสาเหตุหนึ่งที่มนุษย์เราประดิษฐ์ล้อขึ้นมาก็เพื่อติดมันเข้ากับรถ แล้วนำมาผูกกับม้าอีกที เพื่อให้เราเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น (และไม่เหนื่อย)

สาเหตุสำคัญคือล้อจะทำงานได้ดีมากก็ต่อเมื่อมีการประดิษฐ์สิ่งหนึ่งมาใช้ร่วมกัน นั่นคือถนนที่ราบเรียบพอ การเอารถยนต์ไปวิ่งแข่งกับกวางหรือแม้แต่กระต่ายในท้องทุ่ง ป่าเขา หรือดินที่ขรุขระเต็มไปด้วยหลุมบ่อนั้น รถยนต์แทบไม่มีโอกาสชนะเลย

บางทีเราควรจะถามคำถามใหม่ว่า ทำไมสัตว์ถึงไม่สร้างถนนหาทางขึ้นมา? ทั้งที่จริงๆ แล้วถนนอย่างง่ายๆ นั้นไม่ได้สร้างยากอะไร แค่ถางพื้นที่แล้วปรับดินให้เรียบหน่อยซึ่งสัตว์ใหญ่ๆ อย่างช้างน่าจะทำถนนได้สบาย

ปัญหาของถนนไม่ได้อยู่ที่การสร้าง แต่อยู่ที่ว่าใครได้ผลประโยชน์?

ถ้ามีสัตว์สักตัวลงทุนลงแรงสร้างถนนจากป่าหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่ง ผลลัพธ์คือไม่ใช่แค่มันที่จะได้ประโยชน์จากการเดินทางสบายๆ บนถนนนั้น แต่รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ได้ออกแรงทำอะไรเลยก็จะพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย นั่นหมายความสัตว์ตัวนั้นเสียแรงไปฟรีๆ เพื่อตัวอื่น กระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการจะทำให้สัตว์ตัวนั้นมีแนวโน้มสูญพันธุ์ไป และสัตว์ที่เหลืออยู่คือพวกรักสบายที่ไม่ยอมลงทุนสร้างถนนเองแน่ๆ

ถนนยาวๆ ก็เลยไม่เกิดขึ้นในธรรมชาติ

ส่วนมนุษย์เราสร้างถนนเพราะกระบวนการทางสังคม การก่อตั้งรัฐบาล และระบบการจ่ายภาษีเพื่อสร้างถนนส่วนกลางขึ้นมาใช้งาน

จริงๆ แล้ว มีสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งที่มีอวัยวะเหมือนล้อ แต่อาจไม่ได้ปรากฏต่อสายตามนุษย์เราชัดเจนนัก นั่นคือแบคทีเรียบางชนิดที่มีแฟลกเจลลา (Flagella) ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเหมือนหางยาวๆ ไว้โบกสะบัดเพื่อเคลื่อนที่ บริเวณโคนหางนั้นจะติดกับโมเลกุลเล็กๆ บนผิวเซลล์ที่สามารถหมุนได้อย่างอิสระเหมือนกับล้อ

เหตุผลที่สัตว์ใหญ่ไม่สามารถมีอวัยวะที่มีลักษณะเหมือนล้อได้ อาจเป็นเพราะหลอดเลือดหรือเส้นประสาทที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นต้องไม่พันกันยุ่งหรือเกิดเป็นปมในขณะที่ล้อกำลังหมุน ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก

หลายคนอาจแย้งว่า ถ้าอย่างนั้นสัตว์ก็น่าจะสร้างอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อเหมือนเพลา เสียบเข้าไปที่กลางล้อ แล้วมีเส้นเลือดไหลผ่านภายในท่อเพื่อไปหล่อเลี้ยงใจกลางล้อ เท่านี้เส้นเลือดก็ไม่พันกันแล้ว แม้จะฟังดูดี แต่ปัญหาคือวิวัฒนาการสิ่งที่ซับซ้อนขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกึ่งกลางของการวิวัฒนาการเพลาขึ้นมาดูเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับสัตว์

สุดท้าย ล้อ แม้จะเป็นสิ่งที่ดูเรียบง่าย จึงไม่เกิดขึ้นกับสัตว์

เรียบเรียงจากบทความ Why don’t animals have wheels? โดย Richard Dawkins ใน The Sunday Times (24 พฤศจิกายน 1996)

AUTHOR