ทำไมม้าลายถึงมีลาย? 3 ทฤษฎีว่าด้วยความสำคัญของลายทางขาว-ดำบนตัวม้าลาย

Highlights

  • ทั้งที่ชื่อขึ้นต้นด้วยม้าเหมือนกัน แต่ม้าลายกลับไม่เหมือนม้าอื่นๆ ตรงที่มีลายทางสีขาวสลับดำตลอดทั้งลำตัว นักชีววิทยาจำนวนมากพยายามค้นหาคำตอบว่าลวดลายเหล่านี้สำคัญอย่างไร อย่างเช่น 3 ทฤษฎีที่ว่าด้วยการพรางตัว การป้องกันแมลงดูดเลือด และการลดอุณหภูมิของร่างกาย

สิ่งมีชีวิตในธรรมชาตินั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งในแง่ของรูปร่าง ลักษณะ และพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป 

ความแตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์สร้างความพิศวงงงงวยและตื่นตะลึงให้กับมนุษย์มาทุกยุคสมัย จึงไม่แปลกที่นักวิทยาศาสตร์จะพยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดพวกมันจึงมีลักษณะเช่นนี้

และหนึ่งในสัตว์ที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุดชนิดหนึ่งคือ ม้าลาย  

ลวดลายขาวสลับดำบนตัวของม้าลายนั้นแสนโดดเด่นและแตกต่างจากม้าและลาทั่วไปอย่างยิ่ง ส่งผลให้นักชีววิทยาฉงนมานานแล้วว่า ทำไมม้าลายถึงมีลาย?  

นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่

1. ลายของม้าลายมีไว้พรางตัว

ถ้าเราใส่ชุดที่มีลายเหมือนม้าลายไปเดินห้างหรือตลาด เราคงจะเด่นมาก แต่สำหรับสัตว์ผู้ล่าของมันอย่างสิงโตที่ตาบอดสีแล้ว ลายของม้าลายช่วยให้มันดูกลมกลืนไปกับต้นหญ้ารอบๆ ที่ใบเรียงเป็นเส้นๆ ตั้งตรงคล้ายกับลายม้าลาย

ยิ่งไปกว่านั้น ม้าลายมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ลวดลายบนตัวจะช่วยให้พวกมันดูกลมกลืนกันไปหมดจนผู้ล่ามองแล้วแยกไม่ออกว่าตัวไหนเป็นตัวไหน ยิ่งเมื่อพวกมันเคลื่อนไหว สัตว์ผู้ล่าก็ยิ่งมึน ซึ่งการแยกม้าลายแต่ละตัวไม่ออกนั้นยากต่อการวางแผนเคลื่อนไหวและไล่ล่า หรือแม้แต่การพยายามมองหาม้าลายที่ดูอ่อนแอ

2. ลายของม้าลายมีไว้กันแมลง

Tim Caro นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ทำการทดลองกับพื้นผิวที่มีลายอย่างม้าลายด้วยความกว้างของลายที่แตกต่างกันจนพบว่าแมลงที่มาดูดเลือดสัตว์มักจะไม่ชอบพื้นผิวที่เป็นแถบสีสลับกัน แต่พวกมันจะชอบเกาะตามพื้นผิวสีเข้มหรือสีอ่อนเพียงอย่างเดียวมากกว่า

แมลงดูดเลือดหลายชนิดมีโรคที่ทำให้ถึงตายแถมมาด้วย ลวดลายที่ช่วยลดโอกาสในการถูกดูดเลือดย่อมช่วยให้ม้าลายมีโอกาสรอดเพิ่มขึ้นอย่างมาก

คำถามที่ยังค้างคาอยู่คือ แล้วทำไมแมลงจึงไม่ชอบพื้นผิวลายบาร์โค้ดของม้าลาย 

งานวิจัยบางชิ้นอธิบายว่า สีขาวและสีดำส่งผลต่อสภาพการโพลาไรซ์ของแสงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการมองเห็นของแมลง ส่งผลให้แมลงไม่ชอบร่อนลงมาเกาะนั่นเอง

3. ลายของม้าลายมีไว้เพื่อปรับอุณหภูมิร่างกาย

นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าบริเวณลายสีดำจะมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณสีขาวเล็กน้อย ส่งผลให้เกิดกระแสอากาศไหลเล็กๆ ทำให้ร่างกายของม้าลายเย็นลง 

นักวิทยาศาสตร์ทำการเก็บข้อมูลอุณหภูมิร่างกายของม้าลายในธรรมชาติด้วย thermometer gun จึงไม่ต้องไปสัมผัสกับร่างกายของม้าลายโดยตรง จนพบว่าร่างกายของมันมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าสัตว์กินพืชที่มีขนาดใกล้เคียงกันในบริเวณนั้น (แต่ลายตรงอวัยวะอย่างขาที่ไม่ได้โดนแสงแดดโดยตรงอาจไม่ได้ช่วยในการปรับอุณหภูมิร่างกาย แต่อาจมีหน้าที่หรือประโยชน์อย่างอื่น)

แล้วทฤษฎีไหนถูกต้อง?

ปัจจุบันโลกของวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ฟันธงลงไปอย่างชัดเจน คำตอบที่ถูกต้องอาจมีมากกว่าหนึ่ง และที่น่าสนใจคือ ทุกทฤษฎีที่กล่าวมานี้ล้วนมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ปฏิเสธคัดง้าง

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าลายของม้าลายมีประโยชน์จริงๆ อย่างที่ทฤษฎีต่างๆ ว่ามา (หรืออาจจะด้วยเหตุผลอื่น) แล้วทำไมม้าทุกตัวถึงไม่มีลายอย่างม้าลาย? คำตอบอาจเป็นเพราะม้าลายนั้นดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและแตกต่างไปจากม้าพันธ์ุอื่นๆ

เกร็ดแถมท้าย

แม้ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีความชัดเจนว่าลายของม้าลายเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร แต่สิ่งที่มนุษย์เรารู้แน่ๆ คือ ม้าลายนั้นไม่เหมาะต่อการนำมาขี่

การพยายามฝึกม้าลายให้เชื่องนั้นยากมาก มันเป็นสัตว์ที่อารมณ์แปรปรวน ถิ่นกำเนิดและที่อยู่อาศัยของมันคือแอฟริกาซึ่งศัตรูโดยธรรมชาติคือสิงโต เสือชีตาร์ และพวกหมาไน ม้าลายจึงมีสัญชาติญาณสัตว์ป่าที่พยายามเอาตัวรอดสูง ส่งผลให้มันมีความระแวดระวัง จนถึงโต้ตอบด้วยการถีบหรือกัดอย่างรุนแรงหากใครพยายามจะไปจับมันเข้า 

เราจึงไม่เห็นใครขี่ม้าลายกันเป็นเรื่องปกติเหมือนการขี่ม้านั่นเอง

อ้างอิง

businessinsider.com
animals.howstuffworks.com
theconservation.com
nature.com
nature.com
theguardian.com
theguardian.com
rsos.royalsocietypublishing.org
news.nationalgeographic.com
news.nationalgeographic.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา