อังศุญาณ์ กุญแจทอง กราฟิกดีไซเนอร์ไทยคนแรกและคนเดียวในออฟฟิศของ Kenya Hara

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้คุณได้ซื้อสินค้าจาก Muji บ้างไหม?

ถ้าตอบว่าซื้อ มีความเป็นไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่คุณจะเคยเห็นและสัมผัสงานออกแบบของ อัง–อังศุญาณ์ กุญแจทอง เพราะเธอนี่แหละคือผู้ออกแบบป้ายติดสินค้าทุกชิ้นของ Muji ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

งานนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ โปรเจกต์ระดับประเทศและระดับโลกที่อังศุญาณ์ได้เป็นส่วนหนึ่ง ในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์คนไทยคนแรกและคนเดียวในทีมของ Kenya Hara ดีไซเนอร์ระดับตำนานแห่ง Nippon Design Center ผู้สร้างชื่อจากการเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้กับ Muji และการออกแบบอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ชื่อดังอีกจำนวนมาก

  เธอไปทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ญี่ปุ่นได้ยังไง ประสบการณ์การทำงานในญี่ปุ่นสอนอะไร เธอได้มีส่วนร่วมออกแบบโปรเจกต์ไหนบ้าง ตามไปฟังเรื่องเล่าจากปากของเจ้าตัวกัน

อังศุญาณ์ กุญแจทอง

ขอย้อนกลับไปจุดแรกสุด ความฝันที่อยากเป็นดีไซเนอร์มาจากไหน 

คุณพ่อเราเป็นอาจารย์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราเลยโตมาพร้อมกับศิลปะ ตอนเด็กๆ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าศิลปะและดีไซน์ต่างกันยังไง แต่เรารู้สึกว่าเราชอบอะไรที่ได้คิด ได้ครีเอต จนเราโตขึ้นถึงเริ่มเข้าใจว่าเราไม่ได้อยากผลิตงานแบบพ่อที่มีโจทย์จากตัวเอง แต่เราอยากได้โจทย์จากข้างนอก ถ้าสังคมมีปัญหาแบบนี้ ลูกค้ามีปัญหาแบบนี้ เราก็อยากเสนอทางแก้ปัญหาที่เรียกว่าดีไซน์ให้เขา เราเลยรู้ว่าสิ่งที่เราอยากเป็นคือดีไซเนอร์ โดยเฉพาะด้านกราฟิกซึ่งเราชอบที่สุดในตอนนั้น

แล้วทำไมต้องเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในประเทศญี่ปุ่นด้วย

เราเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น คุณพ่อเป็นคนไทย คุณแม่เป็นคนญี่ปุ่น เราพูดภาษาญี่ปุ่นได้ แต่ว่าอยู่ที่ไทยมาตลอด ก็เลยอยากไปสัมผัสวัฒนธรรมฝั่งของคุณแม่บ้าง แล้วญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นประเทศที่ท็อปด้านดีไซน์ในเอเชีย โดยเฉพาะกราฟิกดีไซน์ อีกอย่าง จากการที่เราไปฝึกงานมา หรือตอนที่เราเห็นเพื่อนทำงาน เรารู้ว่าตลาดงานดีไซน์ที่ไทยไม่ได้ใหญ่เท่าที่ญี่ปุ่น เราเลยอยากไปลองลีกที่ใหญ่กว่าก่อน ลองลีกท็อปๆ เลย แล้วค่อยสะสมประสบการณ์ตรงนี้กลับไปทำที่ไทย

คุณหาหนทางไปญี่ปุ่นได้ยังไง

หลังเรียนจบมัธยมปลายเราสอบได้ทุนของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ด้วยเงื่อนไขของทุนปริญญาตรี เราต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐที่ประเทศสร้างให้ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยด้านศิลปะมันมีแค่ที่เดียว คือ Tokyo University of the Arts (Geidai) แล้วเราไม่เคยเรียนดรออิ้งมาก่อนเลย เพราะตอนเตรียมสอบทุน เราก็เน้นวิชาการ เราเพิ่งไปเริ่มเรียนดรออิ้งที่ญี่ปุ่นช่วงที่ทุนให้ไปเรียนภาษาก่อน แล้วเราก็สอบไม่ติดเกได ซึ่งไม่แปลกใจเลย แต่มันก็เคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำยังไงดี จริงๆ ตอนนั้นเราสอบติดมหาวิทยาลัยอื่นที่ไม่ใช่สายดีไซน์โดยตรงด้วย แต่เราไม่อยากเรียน เพราะเรายังอยากเป็นดีไซเนอร์อยู่ เราเลยกลับไทยมาเรียนที่มัณฑนศิลป์ ศิลปากร 

พอเรียนถึงปีสาม เราลองสอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้ง คราวนี้ทุนปริญญาโทมีเงื่อนไขว่า เราต้องได้รับการตอบรับจากอาจารย์ที่จะเป็นที่ปรึกษาทีสิสของเราก่อนด้วย คือต้องเจาะจงเลือกเลยว่าจะเรียนกับอาจารย์คนไหน คณะไหน มหาวิทยาลัยไหน

อังศุญาณ์ กุญแจทอง

ซึ่งคุณเลือกเคนยะ ฮาระ หัวหน้าภาค Science of Design ของ Musashino Art University

ตอนที่เราเลือก คือที่ห้องสมุดศิลปากรมีหนังสือชื่อ Designing Design เขียนโดย Kenya Hara เราอ่านหนังสือไปแค่สองหน้าแรก ก็ตัดสินใจว่าต้องเรียนกับคนนี้ให้ได้ เพราะสิ่งที่เขาเขียนมันค่อนข้างเป็นปรัชญาและมันเปิดกว้าง ต่างจากตอนเรียนที่คณะที่เรามักถูกสอนว่า กราฟิกดีไซน์ต้องเป็นแบบนี้นะ ต้องมีกริดแบบนี้ ต้องใช้ทฤษฎีสีนี้ ซึ่งเราเองไม่เชื่อแบบนั้น ถ้าทุกคน play by the same rules งานก็ไม่สนุกสิ เราว่าดีไซน์มันมีอะไรมากกว่านั้น มันต้องมีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น

เราจำคำเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่เคนยะ ฮาระ พูดไว้ประมาณว่า เวลาคุณออกแบบแก้ว คุณจะรู้สึกถึงลักษณะของมัน ความสูง ความต่ำ ความกว้างของปากแก้ว แล้วถ้าคุณออกแบบจาน คุณก็จะรู้สึกถึงลักษณะของมันเช่นกัน ซึ่งจานเป็นสิ่งที่ปากกว้างมากๆ ความสูงต่ำมากๆ ถ้าคุณออกแบบแก้วที่เตี้ยลงเรื่อยๆ ปากกว้างขึ้นเรื่อยๆ และออกแบบจานที่ปากแคบขึ้นเรื่อยๆ แล้วสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งคุณจะไม่รู้ว่าความแตกต่างของจานกับแก้วอยู่ตรงไหน มันจะค่อยๆ เข้ามาใกล้กันจนคุณเริ่มไม่รู้แล้วว่าจานคืออะไร แก้วคืออะไร แต่ความจริงคุณจะเข้าใจมากขึ้นว่าจานคืออะไร แก้วคืออะไร 

มีความเป็นปรัชญาจริงด้วย

ใช่ เราจะงงไปช่วงหนึ่งว่าจานคืออะไร แก้วคืออะไร แต่ความจริงแล้วการที่เราศึกษาและคิดกับมันมากขึ้น เราจะเข้าใจมากขึ้น เขาบอกว่านั่นแหละคือดีไซน์ ซึ่งเรารู้สึกว่าอยากเรียนอะไรแบบนี้ มันมากกว่าการกำหนดมาแล้วว่าแก้วต้องเป็นแบบนี้ จานต้องเป็นแบบนี้ เรารู้สึกว่าเราต้องเรียนกับดีไซเนอร์คนนี้ให้ได้

พอเราสมัครทุนได้ปั๊บเราจองตั๋วบุกไปญี่ปุ่นเลย เรารู้ว่าวันนั้นที่มหาวิทยาลัยจะมี open campus รู้ว่าอาจารย์จะอยู่ เราก็ตุเลงๆ ไปหาเขาพร้อมกับพอร์ตโฟลิโอและเอกสาร ไปถึงก็แนะนำตัว หนูเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นนะคะ หนูจะได้ทุนมาตอนนี้ๆๆ แล้วก็ให้ดูพอร์ต พอเขาเห็นพอร์ตเขาบอก โอเค ได้ แล้วเซ็นเอกสารทันที แล้วเขาถามอีกว่า มาทำงานพิเศษที่บริษัทผมไหม ตอนนั้นเราก็ตื่นเต้นมาก ตอบไปว่า “ทำค่ะ ให้เสิร์ฟชาหนูก็ทำ”​ เขาก็แบบว่า “เฮ้ย ไม่ต้องเสิร์ฟชา มาทำไหม” (หัวเราะ)

ขนลุกมากที่เขาตอบรับทันที

ตอนนั้นเราก็ “จริงเหรอคะ” มีความเจอไอดอล

แล้วจริงๆ ทางทุนให้เราส่งชื่ออาจารย์สามคน สามอันดับ แต่เรายื่นเคนยะ ฮาระ เป็นอันดับแรก แล้วเขารับทันทีเลย เรื่องมันก็เป็นประมาณนี้ 

อังศุญาณ์ กุญแจทอง

แล้วคุณได้เรียนเนื้อหาเชิงปรัชญาสมใจไหม

เราเรียนภาคที่ชื่อว่า Science of Design ที่ Musashino Art University ซึ่งใช้แนวคิดแบบ Bauhaus คือเขาไม่ได้มานั่งแบ่งว่าใครเป็นอาร์ทิสต์ ใครเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ใครเป็นโปรดักต์ดีไซเนอร์ ดังนั้นเราจะได้เรียนทุกอย่างเลย เป็น integrated design ซึ่งโดยพื้นฐานก็จะได้เรียนเรื่องความคิดทางด้านปรัชญาด้วย แล้วเราค่อยเอาความคิดนั้นซึ่งเรียกว่า Design Thinking มาคิดดีไซน์ใหม่ๆ ซึ่งจะทำเป็นมีเดีย เป็นโปรดักต์ หรือเป็นกราฟิก ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากทำอะไร อย่างฮาระก็จะเน้นด้านกราฟิกซะเยอะ แล้วที่ภาคก็จะมีอาจารย์คนอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวท็อปเหมือนกัน เช่น Fumie Shibata ซึ่งเป็น Product Designer ที่ดังมากๆ ทำโปรดักต์ให้มูจิ ทำแก้วให้ Kinto หรือเมื่อก่อน Fukasawa Naoto คนที่ทำนาฬิกา Issey Twelve ก็เคยสอนอยู่ภาคเรา 

ตอนเรียนเราเลยแฮปปี้มาก แม้เราจะทำงานที่ค่อนข้างเป็นวิชวลมากๆ เป็นกราฟิกมากๆ แต่เราได้ยินคอมเมนต์จาก Product Designer หรือจากคนที่เรียนดีไซน์ที่เป็นปรัชญามากๆ แล้วเขาก็จะมีฟีดแบ็กมาในอีกมุมหนึ่งให้เรา มันทำให้เราได้ทำงานที่กว้างและมีความคิดที่กว้างขึ้นเยอะมาก 

ในฐานะคนที่ผ่านการเรียนด้านศิลปะทั้งในไทยและญี่ปุ่น คุณเห็นความแตกต่างอะไรบ้าง

จุดที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเลยคือเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ ที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเรา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ค่าเทอมจะแพงกว่ามหาวิทยาลัยรัฐบาลอยู่แล้ว สถานที่และอุปกรณ์เขาจะพร้อมมาก ในมหาวิทยาลัยคือมี 3D printer แล้วไม่ได้มีแค่เครื่องเดียวด้วย มีหลายเครื่อง แล้วแต่ละภาคก็จะมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในภาคนั้นๆ ไว้ให้นักศึกษายืมใช้ มี Adobe แท้ให้ใช้ฟรี มีฟอนต์ให้ใช้ฟรี หรือต่อให้ไม่ฟรี ก็จะมีการประสานงานกับบริษัททำฟอนต์เพื่อดีลราคานักศึกษามาให้ หรือภาคที่ต้องมีห้องเฉพาะ เช่น เป่าแก้ว ก็มีห้องให้พร้อม นอกจากนี้ก็มีร้านขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยซึ่งขายในราคานักศึกษาด้วย

และอีกมุมที่ต่างกันคืออาจารย์ คือพ่อเราเป็นอาจารย์ที่ไทย เราเลยพอจะรู้บ้างว่า การเป็นอาจารย์ที่ไทยจะมีกฎว่าต้องจบปริญญาโท ปริญญาเอก ถึงจะมาเป็นอาจารย์ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วในสายดีไซน์หรือศิลปะ การจบปริญญาโท ปริญญาเอกมันไม่ได้สำคัญเลย มันเป็นแค่การวิจัยน่ะ สิ่งสำคัญคือ practice คือการออกไปทำงานจริงๆ เป็นดีไซเนอร์ที่สร้างผลงานจริงในสนามจริง ซึ่งที่ญี่ปุ่นส่วนมากเขาจะเชิญอาจารย์มาเมื่อตำแหน่งว่างเท่านั้น 

เช่นว่า เราต้องการอาจารย์สายนี้ แล้วคนนี้เป็นดีไซเนอร์ในสายนี้ อย่างฮาระก็ได้รับเชิญมาเป็นหัวหน้าภาค เขาจะอยู่ที่มหาวิทยาลัย 1 วันเต็มๆ แล้วอีก 4 วันเขาทำงานเป็นดีไซเนอร์จริงๆ ซึ่งเขาสามารถเอาเรื่องตรงนี้กลับไปเล่าให้นักเรียนได้ มี input ใหม่ๆ ให้นักเรียนตลอดเพราะเขาทำงานอยู่ในวงการจริงๆ ไม่ใช่ว่าเอาความรู้ที่เรียนจบไปเมื่อกี่ปีที่แล้วมาสอนซ้ำเรื่อยๆ 

เราเลยตื่นเต้นมากๆ ที่เราสามารถเรียนกับคนระดับนี้ได้ คือถ้าเป็นที่ไทย โอกาสในการจะเรียนกับคนเก่งๆ มันน้อยมาก อย่างมากเขาอาจเป็นอาจารย์พิเศษที่มาแค่เดือนละครั้ง หรือเราต้องหาทางไปฝึกงานหรือทำงานที่นั่น แต่ที่ญี่ปุ่นเราสามารถเลือกได้เลยว่าเราอยากเรียนกับตัวท็อปคนไหน เราว่ามันทำให้นักเรียนรู้สึกฮึกเหิม รู้สึกอยากเรียน 

อังศุญาณ์ กุญแจทอง

แล้วการได้เรียนและทำงานกับฮาระเป็นยังไงบ้าง 

เราได้เห็นเขาใน 2 โหมด ตอนเขาเป็นอาจารย์เขาจะรับฟังว่านักศึกษาคิดยังไง แม้เราจะหวั่นมากว่า จะให้เคนยะ ฮาระ ดูงานเราเหรอวะ เขาจะเข้าใจเราไหมวะ มันมีความเขินๆ หน่อย แต่เขาก็เข้าใจ

ส่วนตอนทำงานที่ออฟฟิศ เขาจะมีเซนส์ว่า นี่งานผม ผมจะต้องไดเรกต์แบบนี้ เป็นคนละแบบกับตอนเป็นอาจารย์เลย

ตอนทำงานพิเศษเราเริ่มจากอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น ช่วยพี่ดีไซเนอร์หาข้อมูล ช่วยแก้นู่นแก้นี่ หรือบางทีก็ตัดกระดาษ แต่เราก็ตื่นเต้นที่ได้เห็นการทำงานใกล้ๆ อย่างตอนที่เข้าไปใหม่ๆ ออฟฟิศกำลังทำโปรเจกต์ของสนามบินฮาเนดะอยู่ เราก็ เฮ้ย ฮาเนดะเปลี่ยนโลโก้เหรอ ทำอย่างนี้เหรอ แล้วเขาก็มีลูกค้าประจำคือ Muji อยู่แล้ว เราก็ได้เห็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นเวลาที่เขาจะเปิดร้านใหม่หรือมีโปรเจกต์ใหม่

นอกจากโอกาสในการได้ทำงานกับแบรนด์ใหญ่แล้ว ข้อดีของการได้ทำงานในออฟฟิศของดีไซเนอร์ชื่อดังคืออะไร

เราไม่แน่ใจว่าที่อื่นเป็นยังไง แต่ที่ฮาระจะค่อนข้างเป็นเหมือนคอนซัลต์ เขาจะไม่ทำตามลูกค้า แต่เขาจะทำเกินความคาดหวังของลูกค้า เราไม่เคยทำงานที่แค่ส่งโลโก้แล้วจบ เราจะต้องดูภาพรวมทั้งหมดว่า ปรัชญาของสิ่งที่ลูกค้าต้องการคืออะไร แล้วเราก็จะเสนอไปมากกว่านั้น เป็นข้อดีที่อยู่ที่นี่

มีสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำงานกับฮาระโดยตรงไหม

คล้ายๆ ที่เราบอกเมื่อกี้ คือเราต้องทำงานเกินความคาดหวังของลูกค้า ฮาระเขาเชื่อว่าดีไซเนอร์ไม่ได้ทำแค่ออกแบบวิชวล แต่ต้องคิดเลยไปมากกว่านั้น ดีไซเนอร์ที่ถูกต้องต้องคิดว่าลูกค้าจะเอาไปใช้ยังไงต่อ หรือว่าธุรกิจของลูกค้ามีแบบนี้ ผมสามารถทำตรงนี้ด้วยได้ไหม เขาจะไม่ทำงานแบบว่า ทำโลโก้ร้อยแบบแล้วส่งไป บางทีเขาส่งสองแบบ แบบเดียว แต่ผมว่าอันนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะอะไร ก็อธิบายไป 

แล้วเราก็มีโอกาสได้เห็นการพรีเซนต์ของคนระดับฮาระ คือเขาเคยพูดว่าดีไซน์คืองานขาย งานพรีเซนต์ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันจริง เราไม่ใช่แค่ไปถามว่า “ดูแล้วลูกค้าชอบสีไหนคะ” แต่เราต้องมี storytelling ไอเดียเราต้องสามารถอธิบายได้ เรารู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรตรงนั้นมากๆ โดยที่ไม่ได้อธิบายด้วยทฤษฎีนะ เราไม่ได้มานั่งแบบว่า อ้อ อันนี้ใช้สีนี้เพราะมันคอนทราสต์ดีค่ะ มันมากกว่านั้นมากๆ มันคือภาพรวม ภาพที่กว้างกว่านั้น สมมติวงกลมนี้อะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่าเราต้องพูดยังไง หรือสามารถผูกเรื่องผูกคอนเซปต์กับสิ่งนี้จนรู้สึกว่าไอ้วงกลมธรรมดานี่มันมีความหมาย สีที่เลือกมามีความหมาย 

โดยสิ่งที่เราเรียนรู้จากการที่มาทำงานที่นี่มันไม่เหมือนที่ไทย ไม่ได้คิดว่าตอนที่เราทำโลโก้สีเขียวออกมามีความรักธรรมชาติค่ะ มันจะไม่ใช่ฟีลอย่างนั้น มันจะมีความที่บางอย่างมันคือ subjective ของดีไซเนอร์ล้วนๆ แต่ว่ามันสามารถผูกหรือสามารถพรีเซนต์จนมันรู้สึกว่า เฮ้ยมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นี่ มันมี value อย่างนั้นจริงๆ คือมัน subjective มากๆ จริงๆ 

อังศุญาณ์ กุญแจทอง

แสดงว่าคนเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ไม่ใช่แค่ต้องออกแบบได้ แต่ต้องมีทักษะการเล่าเรื่องที่ดี 

ใช่ เราว่ามันจำเป็นมาก ยิ่งงานกราฟิกมัน subjective ความสวยงามแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขนาดอาหารอร่อย-ไม่อร่อยของแต่ละคนยังไม่เหมือนกันเลย กราฟิกมันยิ่งกว่านั้นอีก การจะมาบอกว่าเลือกสีนี้เพราะอะไร มันเป็นสิ่งที่อธิบายยาก มันไม่เหมือนเก้าอี้ที่นั่งสบาย-ไม่สบายซึ่งชัดเจนกว่า กราฟิกเลยแทบจะเป็นเรื่อง storytelling ล้วนๆ เลย 

นอกจากทักษะการเล่าเรื่องและพรีเซนต์งานแล้ว มีทักษะไหนอีกที่กราฟิกดีไซเนอร์จำเป็นต้องมี

เราว่าการที่จะ storytelling ได้ดีต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจบรีฟได้ดีก่อน เหมือนต้องเข้าใจลูกค้าหรือเข้าใจวงการนั้นๆ ก่อนแล้วถึงจะสามารถมาวิเคราะห์ได้ว่า เราจะเอาประเด็นไหนมาตอบว่าเขาต้องการสิ่งนี้

ส่วนใหญ่เราคงเห็นงานของคุณได้ที่ญี่ปุ่น คุณเคยทำโปรเจกต์ที่เห็นได้ในไทยบ้างไหม เล่าให้ฟังหน่อย

เราทำแท็กของ Muji ทั่วโลกเลย เราทำโปรเจกต์นี้มาขึ้นปีที่ 4 แล้ว ปริมาณแท็กมันเยอะมาก แล้วก็มีแพตเทิร์นแยกตามโซนประเทศและภาษา เช่น อันที่ใช้ที่ยุโรปมีสิบภาษา อันที่ใช้ที่ไทยมีภาษาเดียว อันที่เป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียวใช้ในประมาณสิบประเทศ หรือว่าอันที่ใช้ที่อเมริกากับแคนาดาก็จะมีภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศส 

แท็กอาจดูเป็นอะไรเล็กๆ แต่สำหรับมูจิมันสำคัญมาก สมมติคุณไปซื้อของที่อื่นเขาอาจจะมีกล่องแพ็กเกจ มีโลโก้ มีรูปประกอบ มีคำอธิบาย แต่สำหรับมูจิก็จะมีแค่สินค้าแล้วแปะสติกเกอร์ซึ่งก็คือแท็ก ดังนั้นแท็กจึงทำหน้าที่ทั้งบอกตัวตนของแบรนด์ ทั้งอธิบายข้อมูลสินค้า มันแพ็กหน้าที่หลายอย่างมากในพื้นที่เล็กแค่นั้น

ทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์เต็มตัวมาประมาณ 5 ปีแล้ว โปรเจกต์ไหนทำแล้วชอบที่สุด

เลือกยากมาก โปรเจกต์ใหญ่ๆ เราก็ชอบหมดเลย มันมีความลำบาก ความสำเร็จที่แตกต่างกัน แต่โปรเจกต์แรกที่เราทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองโตแบบก้าวกระโดดมากๆ คือโปรเจกต์ที่ทำให้กับบริษัทประกันชีวิตที่เกาหลี ชื่อ Hanwha ตอนนั้นเขาออกแบรนด์ย่อยชื่อ Lifeplus เป็นแบรนด์ที่ให้คนที่ซื้อประกันชีวิตของฮันวามาใช้บริการได้ 

โปรเจกต์นี้เป็นงานแบรนดิ้งงานแรกที่เราทำเต็มตัวด้วย คือตอนเพิ่งเข้ามาใหม่ๆ ช่วงเดือนสองเดือนแรกจะยังไม่ได้ถืองานโปรเจกต์ใหญ่ ส่วนใหญ่จะได้ไปช่วยคนนู้นคนนี้ แต่พอทำไปสักพักเราก็รู้สึกอยากทำงานที่ได้เริ่มพัฒนาความคิดจากศูนย์ พอมีงานนี้เข้ามา บวกกับเราพออ่านภาษาเกาหลีได้นิดหนึ่ง เราก็เลยยกมือขอเข้าร่วมโปรเจกต์ แต่ปรากฏว่าคนที่อยู่ในโปรเจกต์นี้อีกสองคนลาออก คนหนึ่งเดือนหนึ่งลาออก อีกคนสามเดือนลาออก ในที่สุดเราเลยกลายเป็นดีไซเนอร์คนเดียวในโปรเจกต์นี้

ตอนแรกเราเครียดมาก เพราะเราเพิ่งมาทำงานได้สักเดือนที่สี่เอง แต่ตอนพรีเซนต์งานครั้งที่สามเราก็ต้องไปพรีเซนต์แทนฮาระเป็นภาษาอังกฤษที่เกาหลีแล้ว จริงๆ ตอนแรกเราไม่แน่ใจ ก็ขอให้พี่รองหัวหน้าไปด้วย แต่พอไปถึงเราถามเขาว่า ใครจะพรีเซนต์ดีคะ ในใจเราก็คิดว่า ต้องพี่เขาดิ ไม่ใช่เราอยู่แล้วปะ แต่เขาคือ “เออ พี่ว่าอังซังก็ได้อยู่นะ” เราก็ “ได้เหรอ ได้ก็ได้วะ” (หัวเราะ) เหมือนโดนสถานการณ์บังคับ เหมือนโดนผลักตกน้ำไปก็ต้องว่าย 

แต่ว่าตั้งแต่ครั้งนั้นมันบูสต์ความมั่นใจให้เรามากๆ ว่า เฮ้ย เราทำได้ ซึ่งเราก็เป็นดีไซเนอร์คนเดียวจนจบโปรเจกต์เลย ทำอยู่ประมาณสิบเดือน ซึ่งพอทำเสร็จแล้วลูกค้าเข้าใจดีไซน์มาก เอาไปใช้ต่อได้ดี แล้วเขาใส่ใจงานดีไซน์มาก จนส่งงานไปประกวดรางวัล Red Dot Design Awards กับ iF DESIGN AWARD ซึ่งได้รางวัลทั้งคู่ เรารู้สึกว่าเราโชคดีมาก ทำงานปีแรกได้รางวัลระดับโลกขนาดนี้ได้ยังไงเนี่ย 

แล้วที่ญี่ปุ่นจะมี Japan Graphic Designer Association ที่จะออกหนังสือรวมผลงานของดีไซเนอร์เป็นประจำทุกปี ปีนั้นงานเราได้ลงในหนังสือเล่มนั้นด้วย ซึ่งหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือที่มีในห้องสมุดที่ศิลปากร เราเคยเปิดหนังสือมาดูเรฟฯ งานต่างๆ แล้วพอเรามีชื่อตัวเองอยู่ในหนังสือเล่มนั้นเราก็ภูมิใจมากๆ เป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกว่า โอเค เราเป็นดีไซเนอร์แล้วนะ 

แล้วโปรเจกต์ไหนที่รู้สึกว่าท้าทายสุดๆ

เราว่าทุกงานมีความท้าทายต่างกัน ส่วนใหญ่ที่เจอก็มีทั้งเรื่องไทม์ไลน์​ที่เคี่ยวมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคุมบัดเจ็ต หรือเรื่องการสื่อสาร เคยเจอประเภทที่คนดูแลงานฝั่งลูกค้าบอกว่า แบบนี้แหละครับที่ต้องการ แต่พอไปถึงท่านประธานตีกลับลงมา เราก็จะแบบขอคุยโดยตรงได้ไหมคะ กลัวเขาไปสื่อสารเมสเซจกับท่านประธานไม่ครบถ้วนหรือสื่อสารผิดไป หรือเวลาคุยงานกับซัพพลายเออร์ บางทีสิ่งที่เราต้องการไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือมันต้นทุนสูงมากจนไม่มีใครทำ ก็ต้องพยายามหาโซลูชั่นในเงื่อนไขต่างๆ ทำให้สิ่งที่มัน impossible มัน possible ให้ได้ 

แต่ข้อดีของออฟฟิศเราคือเพื่อนที่ทำงานดี เวลาเจอความท้าทาย ทุกคนจะเป็นแบบเกาะไหล่แล้ว เฮ้ย ไปด้วยกัน ไม่มีดราม่า

ฟังดูก็เป็นความท้าทายที่ universal ประมาณหนึ่ง เข้าใจว่ากราฟิกดีไซเนอร์ในไทยก็เจอเรื่องแบบนี้เหมือนกัน

universal จริง ปัญหามันก็ปัญหาเดิมๆ แค่เปลี่ยนภาษาหรือเปลี่ยนสเกล

มีปัญหาเบสิกอย่างลูกค้าเปลี่ยนบรีฟกลางคัน หรือต้องใช้สี CI ที่แย่มากๆ ไหม

บรีฟแย่เหมือนพูดไม่ตรงบรีฟก็มีบ้างนะ แต่ CI แย่ไม่ค่อยเจอ เพราะส่วนใหญ่เขาจะให้เราทำแบรนดิ้งให้ 

อ๋อ แต่มีโปรเจกต์หนึ่งที่ช็อก ไม่เคยเจอมาก่อน คือส่วนใหญ่ลูกค้าจะค่อนข้างให้ความเคารพงานออฟฟิศเราด้วยความที่เป็นฮาระ ถ้าส่งงานแล้วลูกค้าเอาไปใช้แล้วมีปัญหา เขาก็จะฟีดแบ็กมาให้เราช่วยแก้ แต่มีเคสหนึ่งที่ลูกค้าฟีดแบ็กมาว่า เจอปัญหาแบบนี้ค่ะ ก็เลยแก้เป็นแบบนี้นะคะ แล้วส่งมาให้ดู เราก็ ฮะ มาแก้งานเราได้ยังไง (หัวเราะ) ก็ต้องบอกเขาว่า ไม่ได้นะคะ มันเป็นหน้าที่ฉันนะ ช่วยบอกมาว่ามีปัญหาอะไร เดี๋ยวแก้ให้ เราก็เข้าใจนะว่าบางทีเขาอาจจะผลิตไปแล้ว หรืองานเร่งมากๆ แต่เราก็อยากที่จะหาโซลูชั่นที่ดีที่สุดในเงื่อนไขนั้นๆ ให้

ข้อย้อนกลับมาที่เรื่องโปรเจกต์งาน ตอนนี้ทำอะไรอยู่ พอเล่าให้ฟังได้ไหม

ปีนี้เราอยู่ในทีมของโปรเจกต์หนึ่งที่เพิ่งปล่อยไป คือการทำรีแบรนดิ้งให้ Kuroneko Yamato ที่ญี่ปุ่นเขาเรียกว่าขนส่งแมวดำ มันเป็นสเกลงานที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยทำ และน่าจะถือว่าเป็นงานใหญ่ในประวัติศาสตร์ของฮาระเหมือนกัน เพราะบริษัทเขาใหญ่มาก และอยู่มานานโดยไม่เคยเปลี่ยนโลโก้มาก่อน 

ตอนที่จะพรีเซนต์รอบแรก เรามีคุยกันในทีม ฮาระพูดขึ้นมาประมาณว่า “โลโก้แมวดำน่ะ เป็นโลโก้ที่สร้างทัศนียภาพเมืองญี่ปุ่นเลยนะ” ซ่ึงตอนนั้นพวกเรารู้สึกขนลุกเลย เพราะเวลาอยู่ที่ญี่ปุ่น จะมีรถแมวดำมาจอดส่งของหน้าบ้านทุกวัน คือเราจะต้องเห็นทุกวัน มันสร้างความสบายใจ และมันเป็นส่วนหนึ่งของภาพเมืองญี่ปุ่นจริงๆ เหมือนเวลาเราเห็นตู้กดน้ำแล้วรู้สึกว่ามันดูญี่ปุ่นเนอะ แมวดำก็เป็นแบบนั้น

พอฮาระพูดอย่างนี้เราเลยรู้สึกว่า เชี่ย ความรับผิดชอบสูงมาก 

แล้วทำอะไรให้กับขนส่งแมวดำบ้าง

 นอกจากเปลี่ยนโลโก้ก็มีการเปลี่ยนสีหลักของบริษัท และมีการออกแบบพวกกล่อง รถขนของ แล้วก็ป้ายหน้าร้าน ช่วงนี้เราเลยได้ทำงานที่เจอกับเรื่องวัสดุเยอะมากและต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก อย่างเช่น ในการทำรถแมวดำ พวกรถบรรทุกมันต้องติดแผ่นสะท้อนแสงข้างหลังรถ เราก็ต้องมาเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานว่า แผ่นสะท้อนแสงเป็นยังไง สีดำก็มีนะแต่ไม่ค่อยสะท้อน ไม่มีประโยชน์ ส่วนสีขาวมันสะท้อนมากเกินไป ทำให้รถข้างหลังแสบตา เดี๋ยวจะเกิดอุบัติเหตุได้ แล้วถ้าเราอยากได้สีเหลืองให้เข้ากับตาแมวที่ออกแบบไว้ เขามีสีเหลืองเฉดเดียวกับเราไหม ซึ่งปรากฏว่าไม่มีนะ คือแผ่นสะท้อนแสงเป็นวงการที่เขาไม่ค่อยใช้สีกันเท่าไหร่ เลยมีอยู่ไม่กี่สี ถ้าจะให้ทำใหม่ก็คือต้องผสมสีใหม่ ล้างสีเก่าออกจากเครื่อง แล้วผลิตครั้งหนึ่งก็ต้องผลิตหลายกิโลเมตร ถ้าจะให้ทำใหม่แมวดำต้องเหมาทั้งหมด เราก็ต้องหาโซลูชั่นกันไป 

ฟังดูงานละเอียดเหมือนกัน แอบเซอร์ไพรส์ที่กราฟิกดีไซเนอร์ต้องรู้ลึกถึงขั้นนี้ แล้วคุณโดนเข้าใจผิดบ่อยไหมว่ากราฟิกดีไซเนอร์ก็แค่นั่งออกแบบหน้าคอมฯ จบ

ออฟฟิศเราอาจจะแปลกนิดหนึ่งด้วยแหละ ด้วยความที่ปรัชญาของฮาระคือดีไซเนอร์ต้องทำได้ทุกอย่าง คือในนามบัตรเราจะไม่ได้เขียนว่ากราฟิกดีไซเนอร์ จะเขียนแค่ว่าดีไซเนอร์ ซึ่งอ่านสัญญาเราก็เคยทำมาแล้วนะ (หัวเราะ) หรือช่วยคิดเงินแบบ เออ พี่ หนูว่างานนี้มันน่าจะต้องเยอะกว่านี้นะ ก็เคยทำ 

ข้อดีของการทำแทบทุกอย่างคือมันสนุก แต่บางทีมันก็เครียดนะ คือบางทีไปคุยกับซัพพลายเออร์ เรารู้ว่าอยากได้แบบไหน แต่ไม่รู้วิธีการทำว่ามันยากขนาดไหน แต่ไปขอเขาว่า พี่ หนูอยากให้สีตรงขอบนี้มันเหลือมิลฯ เดียวได้ไหม คือเราก็ค่อนข้างเป็นลูกค้าที่แย่เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ก็คุยจนประธานบริษัทเขาบอกว่า “เออ ได้ แต่รู้ใช่ไหมว่าแค่นี้ตอนนี้พี่ก็ทำให้ดีกว่าเจ้าอื่นมากๆ แล้วนะ” (หัวเราะ) เราก็แบบ รู้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ทำงานที่ญี่ปุ่นมาหลายปี มีจุดที่ชอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นไหม

เราทำงานแค่ที่นี่ที่เดียว เลยไม่แน่ใจว่าเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นได้ไหม คือที่ออฟฟิศเราทุกคนมีความรักในการทำงานดีไซน์มากและรักงานที่ทำมาก ไม่มีการทำงานส่งๆ ไม่มีการทิ้งงาน ทุกคนจะรู้ว่าเราต้องทำงานระดับนี้นะ ต่ำกว่าเกรดนี้เราไม่ทำนะ ทุกคนตั้งใจมาก ใส่ใจมากๆ ในทุกรายละเอียด แล้วจุดที่ต้องไฟต์ก็ต้องไฟต์ ไม่ว่าจะไฟต์กับซัพพลายเออร์ ไฟต์กับลูกค้า (หัวเราะ) ชีวิตคือการไฟต์มากๆ เรารู้สึกประทับใจตรงนั้นมาก 

อีกอย่างที่เราชอบคือการได้เห็นงานของดีไซเนอร์เก่งๆ ยิ่งออฟฟิศเราไม่ได้มีแค่ฮาระคนเดียวที่ดัง ออฟฟิศเรามีทั้งพี่ Irobe Yoshiaki หรือพี่ Misawa Haruka ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ระดับท็อปของญี่ปุ่นทั้งนั้น การได้เห็นงานโหดๆ ของพวกเขาใกล้ๆ มันดีกับเรามาก

แล้วจุดที่ไม่ชอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นล่ะ

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องชั่วโมงการทำงานที่เยอะอยู่แล้ว เคยได้ยินข่าวที่คนบริษัท Dentsu ฆ่าตัวตายไหม เป็นข่าวดังมาก ซึ่งนอกจากเหตุการณ์นั้นก็มีเคสอื่นๆ ที่คนฆ่าตัวตายเพราะงานหนักอีกนะ ในภาษาญี่ปุ่นถึงกับมีคำเฉพาะว่า คาโรชิ (過労死, Karōshi) ที่แปลว่า ‘ทำงานจนไหลตาย’ แต่ปัจจุบันทางรัฐก็ออกกฎหมายมาป้องกันมากขึ้น และตรวจสอบบริษัทต่างๆ มากขึ้น

ในญี่ปุ่นจะเรียกบริษัทที่ทำงานหนักว่า black company ซึ่งบริษัทของเราก็ไม่ถึงขนาด black แต่อาจเป็นเทาแบบ K 90% เทาเข้มๆ (หัวเราะ) อย่างตอนนี้ (เวลาที่สัมภาษณ์) เกือบสามทุ่มแล้ว คนยังอยู่กันประมาณ ⅓ ของออฟฟิศ แล้วยิ่งออฟฟิศเราไม่มีการส่งงานครึ่งๆ กลางๆ ไม่มีใครยอมปล่อยงานต่ำกว่าเกรด 4 ออกไป ก็จะมีบ้างที่อยู่แก้งานกันจนวินาทีสุดท้าย 

แต่เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นะ บริษัทเรามีการพยายามปรับวิธีการทำงาน ปรับวิธีการคิดโอที อย่างปีที่แล้วก็เริ่มมีการบังคับให้ใช้วันลาให้ครบขั้นต่ำปีละ 5 วันตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเมื่อก่อนคนไม่ค่อยใช้วันลากันเลย เรางงมาก ต้องมาบังคับหยุดกันเลยเหรอ ทำไมไม่หยุดอะ หยุดดิ (หัวเราะ)

คุณเคยมีโมเมนต์ที่ทำงานหนักมากๆ จนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วไหม

มี มีตลอด วันก่อนก็เพิ่งมี (หัวเราะ) เราร้องไห้ที่ออฟฟิศก็เคย ร้องไห้ในห้องน้ำออฟฟิศก็เคย ร้องไห้ต่อหน้าฮาระก็เคย โมเมนต์ที่รู้สึกว่า เฮ้อ ลาออกไหม ก็มีมาบ้าง จริงๆ ก็มีมาตลอดแหละ แต่เรารู้ตัวว่าเราโชคดีมากที่ได้ทำงานที่ใหญ่ และเวลางานออกมาเราก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน มันคุ้มนะ แม้โปรเซสระหว่างนั้นจะต้องนับศพทหารกี่ร้อยก็ไม่รู้ แต่เราก็ไม่รู้จะออกไปทำอะไร หรือถ้าจะไปที่อื่นจะไปที่ไหน เพราะถ้าจะหนีการทำงานที่เหนื่อย การไปทำงานกับดีไซเนอร์ระดับท็อปคนอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันหรอก เพราะทุกคนที่อยู่ระดับท็อปเขาคือคนที่เคี่ยวกันทั้งนั้น เขาคือคนที่ต่อสู้จนมาถึงจุดจุดนี้ได้ อีกอย่างเราก็ยังสนุกกับงาน โปรเจกต์ที่เราถืออยู่เราก็อยากดูแลลูกเราจนถึงคลอด โปรเจกต์ใหม่ๆ ที่เข้ามาก็ยังน่าสนุก เราก็เลยอยู่ต่อมาเรื่อยๆ

ในภาพรวมคุณได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานและการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นบ้าง

เรารู้สึกว่าเราได้เข้าใจแบ็กกราวนด์ของตัวเองมากขึ้น และได้เห็นอัตลักษณ์ของตัวเองชัดเจนขึ้น

ตอนที่อยู่ในหมู่คนไทยด้วยกัน บางเรื่องเราอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องนี้ก็ได้นี่ แต่เมื่อออกมาข้างนอก เราเหมือนเป็นตัวแทนประเทศเลย ยิ่งสำหรับคนญี่ปุ่นที่ไม่เคยเจอคนไทย แล้วเราเป็นคนไทยคนเดียวที่เขารู้จัก การที่เราสามารถอธิบายประเทศตัวเองได้คร่าวๆ ในขั้นพื้นฐานมันสำคัญมาก

หรือเวลาทำงาน เราว่ามันก็สำคัญที่เราสามารถตอบคำถามคนอื่นได้ว่า ถ้าเทียบกับที่ไทยอันนี้คืออะไร หรือในมุมคนไทยเรามองสิ่งนี้ว่ายังไง บางครั้งฮาระก็ถามเราเหมือนกันว่าที่ไทยเป็นยังไง คนไทยคิดยังไง เดี๋ยวนี้เราก็สามารถตอบได้มากขึ้นว่า เราคิดอย่างนี้นะ คนไทยน่าจะเป็นแบบนี้นะ ถ้าที่ไทยในกรณีนี้เป็นอย่างนี้นะ

เราไม่ได้บอกว่าเราอยากขายประเทศนะ แต่เราว่าคุณควรเข้าใจวัฒนธรรมและมรดกของตัวเอง เพื่อที่จะเคารพตัวเองด้วย และเพื่อเป็นฐานในการทำความเข้าใจวัฒนธรรมและมรดกของคนอื่นด้วย

ส่วนในแง่การใช้ชีวิต แม้ญี่ปุ่นจะไม่ใช่ต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับเรา เพราะเราเป็นลูกครึ่ง แต่มันก็ไม่ใช่เมืองที่เราโตมาเหมือนกัน เรารู้สึกว่าที่ไทยก็ยังคงเป็นบ้านของเราเสมอ การอยู่ต่างประเทศมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แล้วก็ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน แต่ละประเทศก็เหมาะกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราว่าถ้าไม่ไหวจริงๆ การกลับไทยก็ไม่ใช่เรื่องแย่ ถึงที่ไทยมันจะแย่มากๆ ก็ตามในตอนนี้ เรารู้สึกว่ามันก็ยังเป็นเซฟโซน และยังมีครอบครัวของตัวเองอยู่ 

เราเจอคนชาติอื่นๆ หลายคนมากๆ ที่พยายามอยู่ญี่ปุ่นแล้ว แต่ไม่ชอบ เครียด ทนไม่ได้ จนสุขภาพจิตเสีย เป็นซึมเศร้า เรารู้สึกว่าตรงนั้นไม่คุ้มเลย อย่างเราเองก็คิดไว้ว่า ถ้าเริ่มรู้สึกว่าตัวเองจะซึมเศร้า จะไม่ไหว เราจะกลับ ไม่ว่ายังไงสิ่งที่ได้ก็ไม่คุ้มกับสุขภาพจิตที่เราเสียไปหรอก เราอยากให้คนที่อยู่ต่างประเทศระวังตัวเองมากๆ เหมือนกัน ยิ่งช่วงโควิดแบบนี้ด้วย

เคยรู้สึกเสียดายที่มาญี่ปุ่นไหม

ไม่เคยนะ เรารู้สึกว่าถ้าเรากลับไปตอนที่เราอยู่ศิลปากร แล้วเรารู้ว่าในอนาคตเราจะได้มาทำงานกับฮาระ เคนยะ เขาจะรู้จักชื่อเรา แล้วชื่อเราจะอยู่ต่อจากชื่อเขาเลยในหนังสือเล่มที่เราอ่าน เราจะภูมิใจในตัวเองมากๆ เลย

ในแง่หน้าที่การงาน ตอนนี้คุณมีเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงไหม

ตอนเด็กๆ เราเคยคิดว่าจะต้องเป็นเหมือนใครก็ได้ที่ดังมากๆ แบบฉันจะไปถึง Chanel อะไรแบบนั้น แต่พอโตขึ้นเรารู้สึกว่า การจะไปถึงจุดนั้นมันต้องเสียสละหลายๆ อย่าง ทั้งชีวิตส่วนตัว ทั้งงาน เราเลยอาจไม่ได้คาดหวังถึงขั้นนั้นแล้ว ซึ่งไม่ใช่ว่าเรารักงานของเราน้อยลงนะ แต่เรารู้สึกว่าเรารักส่วนอื่นของชีวิตมากขึ้น เราอยากทำงานดีไซน์ที่ดีด้วย ยิ่งถ้างานดีไซน์ของเราถูกนำไปช่วยเหลือคนหรือทำให้อะไรบางอย่างดีขึ้นก็ยิ่งดี แต่ในขณะเดียวกันเราก็อยากมีชีวิตส่วนตัวที่มีบาลานซ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังเล็งอยู่ ตอนนี้ยังขาดบาลานซ์ไปนิดหนึ่ง (หัวเราะ)

ถ้าไม่ได้คาดหวังว่าต้องไปให้ถึงระดับไหนเป็นพิเศษ แล้วคุณคิดว่าจะวัดความสำเร็จในอาชีพการงานนี้จากอะไร

เราว่าแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะวัดจากที่ลูกค้าแฮปปี้ขนาดไหนกับสิ่งที่เราทำไปให้ ถ้าลูกค้าชอบมากแล้วลูกค้าของลูกค้าชอบอีกทีหนึ่ง ได้รับฟีดแบกที่ดีก็คงดีใจ หรืออย่างบางคนอาจจะชอบที่ได้ทำโปรเจกต์สเกลใหญ่ๆ แล้วได้เห็นงานตัวเอง 

ที่เราเลือกมาทำงานตรงนี้หรือมาอยู่ออฟฟิศนี้ เราคงเป็นคนฝั่งที่อยากทำงานสเกลใหญ่ๆ แหละ อย่างตอนที่เรา launch โลโก้งาน Lifeplus ครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจ เหมือนได้เห็นมันเป็นรูปร่างจริงๆ ไม่ได้เป็นแค่ไฟล์ หรือตอนนี้ที่เราทำแท็กให้มูจิทุกสาขาทั่วโลกใช้ เวลากลับไทยไปเดินร้านมูจิเราก็ยังรู้สึกดีใจ พร้อมกับตรวจงานว่าเขาเอาไปใช้ผิดหรือเปล่า (หัวเราะ)

หรือวันก่อนคุยกับเพื่อนที่ทำแมวดำด้วยกัน แล้วแมวดำไปคอลแล็บกับเกมญี่ปุ่น แล้วในเกมก็มีตัวละครที่ใส่ชุดแมวดำ เรากับเพื่อนก็ เอ้ยยยย ตายแล้ว อะไรอย่างนั้น หรือเพื่อนเราที่ชอบฟังพ็อดแคสต์ญี่ปุ่น บอกว่าเห็นแมวดำไปคอลแล็บกับพ็อดแคสต์นี้ มีโลโก้แปะอยู่ตรงพ็อดแคสต์ ก็รู้สึกว่าฟิน

 เราว่าความสำเร็จของเราคงเป็นการได้เห็นงานเราในหลายๆ ที่ แค่นั้นก็ดีใจแล้ว

AUTHOR