ดูชีวิตตั้งแต่ต้นจนอวสานของ Andy Warhol ในนิทรรศการที่ Tate London แบบไม่เสียค่าเครื่องบิน

Highlights

  • Andy Warhol Exhibition คือนิทรรศการของ Tate Modern ที่จัดขึ้นในปี 2020 เล่าเรื่องราวชีวประวัติของแอนดี้ วอร์ฮอล ศิลปินป๊อปอาร์ตผู้โด่งดังไปทั่วโลก และยังมีอิทธิพลต่อแวดวงศิลปะถึงปัจจุบัน
  • นิทรรศการเล่าชีวิตของวอร์ฮอลเรียงตามลำดับเวลาและเน้นถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในชีวิตของเขา เช่น ครั้งที่วอร์ฮอลโดนหญิงสาวชื่อ Valerie ยิงอาการสาหัส หรือการเคลื่อนไหวเพื่อ LGBTQ+
  • เมื่อ Tate Modern ต้องปิดชั่วคราวเพราะไวรัส COVID-19 หอศิลป์ Tate Modern จึงนำส่วนหนึ่งของนิทรรศการมาให้ชมแบบออนไลน์ ซึ่งเราจะพาทุกคนชมไปพร้อมๆ กัน

เมื่อได้ประจันหน้ากับผลงานของ Andy Warhol คนดูมักจะมีปฏิกิริยาที่ถ้าไม่รักก็เกลียดไปเลย บ้างก็ถกว่ามัน ‘เป็นศิลปะ’ หรือไม่ บ้างก็มองว่ามันคือภาพสะท้อนของสังคมบริโภคนิยมที่ทั้งน่าเกลียดและน่าชม ซึ่งเป็นโชคดีที่เรากำลังจะได้ถกกันต่อหน้าผลงานของวอร์ฮอลจริงๆ กว่าร้อยชิ้นที่บินตรงจากอเมริกาในนิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art ที่จะจัดขึ้น ณ River City Bangkok ในเดือนกรกฎาคม

ระหว่างที่รอดูผลงานจริง ช่วงนี้หอศิลป์ Tate Modern จัดนิทรรศการครั้งใหญ่ของวอร์ฮอลเหมือนกันโดยใช้ผลงานของวอร์ฮอลเล่าประวัติของเขาเองตั้งแต่ต้นจนอวสาน แถมยังอัพโหลดผลงานบางส่วนและบทนำชมขึ้นบนโลกออนไลน์ให้เราดูกันสบายๆ จากหน้าจอคอมฯ ของตัวเอง ว่าแล้วเราเลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับชีวิตของศิลปินป๊อปอาร์ตตัวพ่อให้มากขึ้น ระหว่างรอไปดูงาน ‘ของจริง’ ของเขาในอนาคตอันใกล้

ส่วนงานของวอร์ฮอลจะเป็นศิลปะหรือไม่ ผลงานในนิทรรศการนี้อาจทำให้คุณมีคำตอบ

 

เด็กชาย Andrew Warhola

ในบทสนทนากึ่งบทนำชมระหว่าง Fiontán Moran ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ และ Gregor Muir ผู้อำนวยการฝ่ายคอลเลกชั่นศิลปะสากล เล่าคอนเซปต์ของงานนี้ไว้คร่าวๆ ว่า

“แอนดี้ วอร์ฮอล เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินป๊อปอาร์ต แต่ในนิทรรศการนี้เราอยากย้อนกลับไปหาตัวตนของเขาในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง ย้อนมองความปรารถนาอีกทั้งความกลัวซึ่งอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้เขาทำงานศิลปะ เราอยากพาเขาออกจากกระแสความโด่งดังแล้วพินิจพิเคราะห์เขาผ่านมุมมองสามประการ คือ ความเป็นผู้อพยพ อัตลักษณ์ความเป็นเควียร์ และความคิดเรื่องความตายกับศาสนา”  

ความเป็นมนุษย์ที่ว่านี้ถูกนำเสนอตั้งแต่ห้องแรกที่มีชื่อว่า ‘Andrew Warhola’ ซึ่งเป็นชื่อตามสูติบัตรของวอร์ฮอล ห้องนี้เล่าประวัติในวัยเยาว์ของเขาเป็นหลัก ตั้งแต่โมเมนต์แรกของชีวิตในปี 1928 และการเติบโตในเมืองอุตสาหกรรมพิตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย

The Andy Warhol Museum, Pittsburgh; Founding Collection, Contribution The Andy Warhol Foundation for the Visual Arts, Inc.

ครอบครัวของวอร์ฮอลอพยพจากหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศสโลวะเกียมาอยู่ในย่านยากจนที่เขาเรียกเองว่า ‘สลัมชาวเช็ก’ ในตอนเปิดของนิทรรศการ ภัณฑารักษ์จึงแสดงเอกสารคนเข้าเมืองซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมาชิกครอบครัวของวอร์ฮอลแต่ละคนอพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อไหร่ วัตถุชิ้นนี้เชื่อมโยงได้ดีกับผลงานในช่วงหลังคือภาพพิมพ์เทพีเสรีภาพ (Fabis) จากปี 1986

ที่จริงวอร์ฮอลใช้รูปเทพีเสรีภาพในผลงานของเขาหลายชิ้นตั้งแต่ยุค 60s แต่ชิ้นที่จัดแสดงในโชว์ของ Tate Modern นั้นมีความพิเศษเพราะเป็นชิ้นที่เอาแบบมาจากรูปโปสต์การ์ดแสดงให้เห็นความชื่นชมของศิลปินที่มีต่ออนุสาวรีย์ในฐานะไอคอนของ ‘ความเป็นอเมริกัน’ อีกทั้งปี 1986 ยังเป็นวาระครบรอบ 100 ปีการส่งมอบอนุสาวรีย์นี้จากฝรั่งเศสมาสหรัฐฯ ด้วย บนรูปของเธอ วอร์ฮอลยังเพนต์ลายพรางทหารไปทั่วและใส่โลโก้คุกกี้ยี่ห้อ ‘Fabis’ ที่มีธงชาติของฝรั่งเศสและอเมริกาตรงมุมซ้ายล่างของภาพ สื่อถึงทั้งความขี้เล่นและความสนใจในการเมืองของเขา รวมถึงสิ่งสร้างที่เรียกว่า ‘สัญชาติอเมริกัน’ ที่เขาได้รับมาตั้งแต่เกิดต่างไปจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัวเขา

© The Andy Warhol Foundation for the Visual Arts/Artists Rights Society (ARS), New York

พ่อของวอร์ฮอลเสียชีวิตในปี 1949 และทิ้งเงินจำนวนหนึ่งไว้สำหรับส่งลูกคนสุดท้องของบ้านเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือแอนดรูว์ วอร์ฮอลานั่นเอง หลังจากเขาจบการศึกษาพาณิชย์ศิลป์จาก Carnegie Institute of Technology วอร์ฮอลตัดตัวอักษรเอในนามสกุลของตัวเองออกและใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบเพื่อย้ายไปอยู่มหานครนิวยอร์กในปี 1949 ตอนอายุเพียง 21 ปี แน่นอนว่าในแสงสีของมหานครใหญ่ วอร์ฮอลได้พบปะผู้คนที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกับเขาและเปิดทางให้เขาเดินสู่อาชีพศิลปินอย่างเต็มตัว ขณะเดียวกัน ก็ผลักดันให้เขาสามารถแสดงออกถึงเพศสภาพของตนในงานด้วย

 

ชีวิตหลากสี

หนึ่งในไฮไลต์ของงานนี้คือชุดภาพลายเส้นแนวโฮโมอิโรติกกว่า 20 รูปที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน รูปชุดนี้วาดขึ้นสำหรับนิทรรศการในช่วงปี 50s แต่ถูกปฏิเสธโดยแกลเลอรีเนื่องจากมีความล่อแหลมเกินไป อย่างไรก็ดีมันทำให้เราเห็นได้ว่าแอนดี้แสดงออกถึงรสนิยมทางเพศของเขาในงานตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น

youtube.com/tate

ประเด็นเรื่องเพศสภาพถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในห้องถัดมาที่ชื่อ ‘Sleep’ จัดแสดงผลงานวิดีโอชื่อเดียวกันจากค่ำคืนของฤดูร้อนปี 1963 ที่วอร์ฮอลตั้งกล้อง 16mm ถ่ายซูมนายแบบขณะที่เปลือยกายหลับไหล (นายแบบคือคู่รักชั่วคราวของวอร์ฮอลชื่อ John Giorno) เขาถ่ายวิดีโอกว่า 50 ม้วนและนำมาตัดต่อให้เอื่อยเฉื่อยแทบจะไร้การเคลื่อนไหวใดๆ กลายเป็นหนังยาวกว่า 5 ชั่วโมง เปลี่ยนสื่อภาพยนตร์ให้กลายเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง  ด้วยการตัดทอนการเล่าเรื่องออกไปให้เหลือเพียงการเฝ้ามองฟอร์มและแสงเงาของเรือนร่างแบบเท่านั้น

ในช่วงทศวรรษที่ 60s นี้เองที่เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมายในอเมริกาไม่ว่าจะเป็นการสังหารประธานาธิบดี John F. Kennedy, โทรทัศน์สีกลายเป็นสิ่งที่มีกันทุกครัวเรือน, ความโด่งดังของ The Beatles นำมาสู่วัฒนธรรมบูชาดาราเซเลบริตี้, การแพร่หลายของยาเสพติด ยาวไปถึงกระแสต่อต้านสงครามกับความตายอันไร้ความหมาย 

แอนดี้ วอร์ฮอล จับเอาเรื่องราวเหล่านี้มาใส่ในงานของเขา อาทิ ในงาน Elvis I and II (1964) ที่เขาเอาภาพเอลวิสจากโปสเตอร์หนังมาทำงานซิลก์สกรีนขนาดใหญ่ แบ่งเป็นสองด้านชัดเจน ด้านหนึ่งลงสีสดจี๊ดเกินธรรมชาติ ส่วนอีกด้านเป็นสีซีเปียค่อยๆ จางหายไป ตีความได้ถึงการทำซ้ำและภาพจำของซูเปอร์สตาร์ในสมัยนั้นที่ถูกปรุงแต่งและยัดเยียดให้ผู้ชมเสพจนเหมือนจะดำรงอยู่เป็นอมตะในทรงจำของผู้คน ในขณะเดียวกัน ดาราเหล่านั้นก็ยังมีกายภาพของมนุษย์ที่อจีรังและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา วอร์ฮอลยังเอาไอเดียนี้มาทำชุดภาพของ Marilyn Monroe หลังจากที่เธอเสียชีวิตในปี 1962 ด้วย

Andy Warhol – Marilyn Diptych, 1962, acrylic, silkscreen ink, and graphite on linen, two panels, 205.4 x 289.6 cm (80 7/8 x 114 in.), Tate, London

 

โรงงานและคอนเสิร์ต

อีกหนึ่งเรื่องที่วอร์ฮอลหมกหมุ่นคือวัฒนธรรมบริโภคนิยมและการผลิตทุกอย่างในโรงงาน เห็นได้จากชุดภาพที่เขาเอาผลิตภัณฑ์ที่เจอได้ในซูเปอร์มาร์เก็ตอเมริกัน อย่างซุปกระป๋องยี่ห้อ Campbell’s และลังสบู่ยี่ห้อ Brillo มาทำเป็นผลงานศิลปะที่สร้างความอื้อฉาวให้กับเขาอย่างมาก นอกจากนี้เขายังเช่าสตูดิโอกลางเมืองและตั้งชื่อมันว่า ‘The Silver Factory’ เป็นโรงงานที่เขาสร้างทั้งงานเพนต์ ภาพพิมพ์ รวมถึงงานฟิล์มที่เขาหลงใหล 

ช่วงเวลานี้ถูกจัดแสดงผ่านชุดภาพถ่าย วอร์ฮอลถูกรายล้อมไปด้วยดารานักร้อง นักแสดง ศิลปิน คนรวยไฮโซ สตูดิโอของเขากลายเป็นจุดนัดพบของทุกผู้คนที่มีชื่อเสียง (และชื่อเสีย) ในเมืองนิวยอร์กไปโดยปริยาย น่าสนใจที่ในห้องจัดแสดงที่ 5 ของนิทรรศการพูดถึงวัตถุที่เป็นตัวแทนของโรงงานในช่วงพีคของชีวิตวอร์ฮอลได้อย่างดี นั่นคือ ‘silver cloud’ หรือลูกโป่งปาร์ตี้สี่เหลี่ยมสีเงินอัดก๊าซฮีเลียม มันเจิดจรัสสะท้อนแสงชวนฝัน ในขณะเดียวกันก็ไร้น้ำหนัก เบาหวิว และล่องลอยในอากาศอย่างไม่ยี่หระ

แล้วถ้าจะพูดถึงยุคนี้แล้วไม่พูดถึงวง ‘The Velvet Underground’ ที่วอร์ฮอลไปช่วยปั้นและเป็นผู้จัดการวงด้วยก็กระไรอยู่ ในนิทรรศการจึงมีการจำลองบรรยากาศการแสดงสด ‘Exploding Plastic Inevitable’ ปี 1966 ที่วอร์ฮอลจัดให้วงมาเล่นควบคู่กับการฉายภาพยนตร์ของเขาเป็นแบ็กกราวนด์ให้คนดู กลายเป็นแบบฉบับของการนำเสนอดนตรีมาจวบจนปัจจุบัน

ภาพถ่ายโพลารอยด์ที่วอร์ฮอลถ่ายเซเลบริตี้เอาไว้

© Foto: Museo Picasso Málaga / © The Andy Warhol Foundation for the Visual Arts, Inc./VEGAP, Málaga, 2018

The Velvet Underground & Nico 

Valerie

ในฤดูร้อนปี 1968 นักเขียนเฟมินิสต์ Valerie Solanas ย่างก้าวเข้ามาใน Factory ของวอร์ฮอลและเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล ทั้งสองขึ้นลิฟต์ตัวเดียวกันไปชั้น 6 แล้ววาเลรีก็ควักปืนออกมายิงเขาเข้าที่ลำตัวใต้แขนข้างขวา กระสุนทะลุอวัยวะสำคัญหลายส่วนในร่างยกเว้นหัวใจของเขา ตำรวจมองว่าการพยายามฆ่าครั้งนี้มีสาเหตุมาจากที่วอร์ฮอลปฏิเสธบทภาพยนตร์ของวาเลรีโดยเธอบอกว่าวอร์ฮอลขโมยไอเดียของเธอไป

ในห้องที่ 7 ของนิทรรศการเล่าเหตุการณ์นี้ด้วยภาพถ่ายของ Richard Avedon อันน่าสะพรึง แสดงให้เห็นร่างกายปูดโปนหลังการผ่าตัดของแอนดี้ที่เต็มไปด้วยแผลเป็นจากมีดผ่าตัดลากยาวข้ามจากท้องถึงหน้าอก

หลังจากเหตุการณ์นี้ เขาเริ่มมีอาการหวาดระแวงเวลามีคนอยู่รอบๆ และใช้เวลาหลายปีก่อนที่เขาจะกลับเข้าสังคมอีกครั้ง

Mao (1972)

 

ผู้ชายที่พยายามเป็นผู้หญิง

ห้องจัดแสดงต่อมาแสดงผลงานหลังจากที่วอร์ฮอลกลับมาสร้างงานอีกครั้ง ซึ่งหลายชุดโด่งดังระดับตำนาน เช่น ภาพประธานาธิบดีเหมา เจอ ตุง หรืองานชุด ‘Ladies and Gentlemen’ (1975) เป็นชุดงานที่วอร์ฮอลถูกจ้างโดย Luciano Anselmino นักขายงานชาวอิตาเลียนให้ทำรูป drag queen จากคลับ The Gilded Grape ย่าน Greenwich village 14 คน หนึ่งในนั้นมี Marsha P. Johnson ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อจลาจล Stonewall Riot ที่เรียกร้องสิทธิให้ชาว LGBTQ+ ด้วย 

“ฉันสงสัยนะว่าอะไรยากกว่ากันระหว่าง หนึ่ง ผู้ชายที่ต้องเป็นผู้ชาย สอง ผู้ชายที่ต้องเป็นผู้หญิง สาม ผู้หญิงที่ต้องเป็นผู้หญิง หรือสี่ ผู้หญิงที่ต้องเป็นผู้ชาย ฉันไม่รู้คำตอบที่แน่นอนหรอก แต่เท่าที่ดูมาหลายประเภทฉันรู้ว่ากลุ่มที่บอกว่าตัวเองต้องทำงานหนักที่สุดคือผู้ชายที่พยายามเป็นผู้หญิง” วอร์ฮอลกล่าวไว้ในหนังสือ The Philosophy of Andy Warhol (From A to B and Back Again) ที่เขาเขียนเอง

Ladies and Gentlemen (1975)

 

ชายในวิกสีเงิน

เมื่อยุค 80s มาถึง กลายเป็นว่าแอนดี้มีสถานะเป็นดาราเสียเอง ใบหน้าของเขากับวิกสีเงินเป็นที่จดจำในฐานะ ‘ยี่ห้อ’ ของศิลปะแบบป๊อปอาร์ต ในช่วงท้ายของนิทรรศการมีงาน ‘Self Portrait’ (1987) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปถ่ายใบหน้าของวอร์ฮอลขนาดใหญ่สีแดงบนพื้นหลังดำจ้องตรงมาที่กล้องอย่างอาจหาญต่างกันลิบลับกับนักวาดภาพขี้อายผู้หลบอยู่หลังลายเส้นและภาพดาราจากนิตยสารในตอนต้น สายตาของเขาในภาพนี้แสดงถึงวุฒิภาวะ ความพร้อมที่จะเผชิญกับโลกและความตาย

ภาพนี้ถ่ายเพียงหนึ่งปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต

© 2020 The Andy Warhol Foundation for the Visual Arts, Inc. / Licensed by DACS, London

ห้องสุดท้าย บนฝาผนังสีดำมะเมื่อมขนาดยักษ์ปรากฏภาพผลงาน ‘60 Last Suppers’ แปะไว้ทั่ว นี่เป็นงานที่วอร์ฮอลเอาภาพชื่อดังของดาวินชีมาสกรีนซ้ำๆ เปิดโอกาสให้ผู้ชมใคร่ครวญพวกมันประหนึ่งการเพ่งภาวนาตามศาสนารูปแบบหนึ่ง ถือเป็นการเลือกผลงานจบโชว์ที่น่าสนใจเพราะภาพนี้หลอมรวมสิ่งที่แอนดี้สนใจไว้ด้วยกัน ทั้งรูปเคารพบูชา, ความโด่งดัง, การทำซ้ำ, ภาพผู้ชายที่อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม และความตาย ประหนึ่งเป็นการมองกระบวนการของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนจะต้องผ่าน ไม่ว่าจะโด่งดังหรือร่ำรวยเพียงใดก็ตาม

 

เมื่อดูโชว์จบแล้วเราหวังว่าทุกคนคงไร้ข้อกังขาว่าทำไมแอนดี้ วอร์ฮอล จึงเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทรงพลังที่สุดในศตวรรษที่ 20 จากลูกของครอบครัวคนอพยพ เขาสร้างอัตลักษณ์และกอปรตัวเองเข้าไปเป็นตัวแทนของความฝันอเมริกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

ในศตวรรษที่ 21 แนวคิดของศิลปินคนนี้ก็ยังมีอิทธิพลกับพวกเราอย่างไม่เสื่อมคลาย (อาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ) ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวที่ว่า “ในอนาคตพวกเราทุกคนจะโด่งดังระดับโลกกันคนละ 15 นาที” ซึ่งกลายมาเป็นนิยามของความหมกหมุ่นกับชื่อเสียงแบบไวรัลในปัจจุบัน อีกทั้งในช่วงนี้ที่เราต้องจ้องจอมอง ‘ภาพเสมือน’ ของสิ่งต่างๆ ก็ชวนกลับมาตั้งคำถามตามวอร์ฮอลเรื่องศิลปะและการทำซ้ำด้วย

ตอนนี้ก็เหลือเพียงการรอลุ้นกันว่าเราจะได้เห็นงาน ‘ของจริง’ ชิ้นไหนกันบ้างในวันเปิดของนิทรรศการ Andy Warhol : Pop Art ที่กรุงเทพฯ แอบกระซิบจากที่เราเห็นมาส่วนหนึ่งว่ามีงานชิ้นเด็ดๆ ชวนว้าวพียบไม่แพ้ที่ลอนดอนเลย

ระหว่างนี้ก็ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจไว้เสพศิลป์ด้วยกันในวันปลอดโควิดนะ

AUTHOR