จิตรกรรมป๊อปอาร์ตล้านนาว่าด้วยเรื่องเพศวิถีอันหลากหลายของโอปอ-กฤษฎางค์ อินทะสอน

ครั้งแรกที่เราเห็นภาพวาดจิตรกรรมลายเส้นสไตล์ล้านนาที่ไม่เหมือนใครของ โอปอ-กฤษฎางค์
อินทะสอน
ศิลปินหนุ่มจากเชียงรายวัย 30 ปี ด้วยสีสันรุนแรงฉูดฉาด
บวกกับตัวละครผู้ชายในภาพที่มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เปิดเผยให้เห็นอวัยวะเพศได้ชัดเจน
แถมด้วยองค์ประกอบรายล้อมภาพทั้งตัวอักษรล้านนายึกยือ เสื้อผ้าอาภรณ์แบบทางเหนือ ทั้งหมดก็ตรึงสายตาเราให้หยุดนิ่งและมองหาความหมายของมัน

ไม่ต่างจากเด็กทั่วไปที่โตมาในยุคที่เราได้ดูการ์ตูนทั้งจากฝรั่งและญี่ปุ่น
โอปอเองก็เริ่มต้นหัดวาดภาพจากมังงะ
อนิเมะ ที่ชื่นชอบจนเลือกเรียนปริญญาตรีที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และใช้การ์ตูนผสมเข้าในงานศิลปะของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เขามีโอกาสหยิบจับงานโฟล์กอาร์ตล้านนาครั้งแรกจากวิชาจิตรกรรมล้านนาซึ่งดันทำได้ดี
ฝีมือเข้าตาอาจารย์จนได้ช่วยทำงานวิจัย ลอกแบบภาพจิตรกรรมล้านนาโบราณเป็น archive เก็บไว้
แต่เมื่อเรียนจบก็ไม่ได้สนใจลงลึกด้านนี้ต่อ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นตอนที่โอปอมาศึกษาต่อปริญญาโทที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับภาพสไตล์การ์ตูนที่เป็นเพียงความชอบ
แต่ไม่มีตัวตนของเขาผสมอยู่ พอได้ลองทบทวน โอปอพบว่าตัวเองเติบโตมากับวัฒนธรรมล้านนาตั้งแต่เด็ก
มีพ่อเป็นสล่ารับเหมาสร้างวัด ทำให้ตัวเขาคุ้นเคยกับงานปั้นลายไทย
ส่วนความสนใจเรื่องลายผ้าทอก็มาจากฝั่งยายที่ทำอาชีพทอผ้า ความเข้าใจเรื่องตัวอักษรล้านนาก็รับมาจากคุณปู่ที่อ่านออกเขียนได้
การพบว่ามีสิ่งที่สั่งสมมาตลอดแต่มองข้ามมันไปทำให้โอปอลองหยิบวัตถุดิบเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นงานที่มีเอกลักษณ์

ศิลปะล้านนาที่โอปอใช้เป็นแรงบันดาลใจคือจิตรกรรมฝาผนังแบบชาวบ้านที่มีลายเส้นตวัดๆ
ไม่ค่อยเนี้ยบ คล้ายกับศิลปะแบบนาอีฟ (Naive Art) แต่ตัวละครในภาพแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้าชัดเจนจนเหมือนว่ามีชีวิต
ต่างจากจิตรกรรมฝาผนังในวัดในวังที่เราคุ้นกันซึ่งเป็นผลงานช่างหลวงที่เส้นจะคมกริบมากกว่า
ในช่วงแรกโอปอลองสร้างงานศิลปะโดยรักษาลายเส้นหนักๆ สีแดงชาด สีน้ำเงินอุลตร้ามารีนแบบโบราณไว้อย่างเข้มข้นก่อนจะพัฒนาเรื่อยมาโดยใส่ตัวตนอีกด้านที่โตมากับการ์ตูนต่างประเทศ
อย่างเซเลอร์มูน สตาร์วอร์ส หรือซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ ที่เป็นความทรงจำในวัยเด็กมาผสมผสานได้ลงตัวขึ้น

ว่ากันที่เนื้อหา ค่อนข้างชัดเจนว่าโอปอตั้งใจสื่อสารเรื่องเพศวิถีที่หลากหลายเป็นหลัก ในผลงานแรกๆ
โอปอใช้ภาพผู้หญิงเป็นแทนตัวตนลึกๆ ของตัวเองที่เก็บซ่อนอยู่เพื่อพูดถึงความเก็บกดของเกย์ที่เปิดเผยตัวตนในสังคมไม่ได้
ซึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของโอปอและคนรอบข้าง บางงานเขาวาดสีฝุ่นลงบานประตูไม้หรือหน้าต่างเก่าๆ
แบบล้านนาที่พับเปิดปิดได้ สื่อถึงการเปิดเผย-ปิดบังตามที่ตั้งใจ แต่เมื่อสังคมไทยเริ่มยอมรับการมีอยู่ของเพศที่สามมากขึ้น
ในนิทรรศการแสดงผลงานล่าสุด ‘Welcome
to Opal’s World’ ก็มาโฟกัสถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตามทำให้ศิลปะของโอปอหลุดออกจากการเป็นตัวแทนเกย์เพียงอย่างเดียว

“ทุกอย่างที่ทำคือตัวเราทั้งหมดเลยทั้งเทคนิคที่สื่อว่าเรามีสองวัฒนธรรมเติบโตมาในตัวอย่างคู่ขนาน
เรื่องราวก็หยิบจับมาจากอะไรก็ได้ที่เราชอบหรือมีประสบการณ์ร่วมมาสร้างสรรค์เป็นงานตัวเองได้อย่างอิสระ
ตอนนี้เราสนุกกับการพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ การสร้างสีสันให้สังคม อนาคตก็อยู่ที่ว่าเราจะเจอเนื้อหาอะไรที่ประทับใจและรู้สึกกับมันอีก”
โอปอตอบแล้วปล่อยให้เราเดินเข้าไปในโลกสีสดใสของเขาที่คำว่าเพศไม่มีขอบเขตอีกต่อไป

นิทรรศการ ‘Welcome to Opal’s World’ จัดแสดงที่ Number 1 Gallery ซอยสีลม 21 จนถึงวันที่ 26
พฤศจิกายนนี้

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์ และ กฤษฎางค์ อินทะสอน

AUTHOR