“พรุ่งนี้เราจะเป็นอย่างประเทศไทย” ศิลปะว่าด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่จุดเชื้อไฟให้กรีซล้มเผด็จการ

ช่วงปีนี้เราได้เห็นบรรยากาศการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องจากบรรดานักเรียนนักศึกษา คนรุ่นใหม่ และประชาชนที่มากด้วยความคิดสร้างสรรค์ เปี่ยมอารมณ์ขัน เต็มไปด้วยพลังและความกล้าหาญในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอันแท้จริง จนกลายเป็นจุดสนใจของสื่อต่างประเทศมากมาย รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั่วโลก 14 ตุลาฯ

การชุมนุมเหล่านี้ทำให้เราอดนึกถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ไม่ได้ 

นอกจากนักเคลื่อนไหว ยังมีศิลปินผู้หนึ่งที่บันทึกแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของไทยที่ว่านี้ลงในผลงานศิลปะของเขาเช่นกัน

14 ตุลาฯ

ผลงานนั้นมีชื่อว่า And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.) (2016) โดยศิลปินชาวไทย อริญชย์ รุ่งแจ้ง จัดแสดงเป็นครั้งแรกในมหกรรมศิลปะที่เปรียบเสมือนโอลิมปิกของศิลปะร่วมสมัยอย่าง documenta ครั้งที่ 14 ในปี พ.ศ. 2560 จัดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

อริญชย์ รุ่งแจ้ง เป็นศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้เคยได้รับการคัดเลือกให้ร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง Venice Biennale มาแล้วในปี พ.ศ. 2556 โดยผลงานศิลปะของเขามักเป็นการผสมผสานแนวทางศิลปะแบบคอนเซปต์ชวลเข้ากับเรื่องราวธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน สังคม การเมือง เรื่องราวในประวัติศาสตร์ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน ผู้คน และสภาพแวดล้อมรอบตัว

And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.) ก็เช่นกัน งานชุดนี้ประกอบด้วยภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบติดบนแผ่นไม้จำนวน 17 ชิ้น และวิดีโอความยาว 25 นาที ที่หลอมรวมความทรงจำส่วนตัวของศิลปินกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยและกรีซเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียนและลุ่มลึก ทำให้อริญชย์กลายเป็นหนึ่งในศิลปินเอเชียที่น่าจับตาที่สุดคนหนึ่ง

เขาตระเวนสัมภาษณ์ผู้คนและค้นคว้าเอกสารต่างๆ ที่นำเสนอความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองอันซับซ้อน รวมถึงสำรวจความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้คนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ก่อนพัฒนาเป็นภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้ นำเสนอภาพที่คัดลอกมาจากหน้าหนังสือพิมพ์และวิดีโอของ 2 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองใน 2 ประเทศที่เกิดขึ้นห่างกันเพียงหนึ่งเดือน นั่นคือการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารไทยในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการกรีซในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ โดยนักศึกษาสถาบันเอเธนส์โปลีเทคนิคในวันที่ 17 พฤศจิกายนปีเดียวกัน

14 ตุลาฯ
14 ตุลาฯ

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นักศึกษาและประชาชนกว่า 5 แสนคนออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนจะเดินขบวนประท้วงบนถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นำไปสู่คำสั่งรัฐบาลให้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามระหว่างวันที่ 14 ถึง 15 ตุลาคมจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก

ยังไงก็ตาม เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นการลุกฮือของประชาชนครั้งแรกที่เรียกร้องประชาธิปไตยได้สำเร็จ ถือเป็นการรวมตัวของประชาชนมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยและได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ ทำตาม เช่น เหตุการณ์ลุกฮือเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ แน่นอนว่าเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาชาวกรีซชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการด้วย นำไปสู่การล้อมปราบจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ในที่สุดระบอบเผด็จการก็ถูกโค่นล้ม

14 ตุลาฯ

“จุดเริ่มต้นของผลงานชุดนี้คือเราได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะ documenta ครั้งที่ 14 โดยมีธีมหลักของงานคือ ‘Learning from Athens’ พอได้รับจดหมายเชิญเราก็เดินทางไปที่กรุงเอเธนส์เพื่อหาจุดเชื่อมระหว่างบริบทของพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่กับบริบทของสถานที่ที่จะไปแสดงงาน ใช้ข้อมูลเป็นงานเขียนที่พูดถึงการเมืองท้องถิ่นของประเทศไทยกับกรีซที่คล้ายคลึงกันในแง่การเป็น Self-Colonization (อาณานิคมปกครองตนเอง)” อริญชย์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของผลงานตอนเรามีโอกาสได้พบกัน

“พอไปถึง เรามีโอกาสได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในกรีซเพื่อศึกษาความเป็นมาเกี่ยวกับพื้นที่และหาความเป็นไปได้ของพื้นที่แสดงงาน หนึ่งในสถานที่ที่เราไปคืออนุสรณ์สถานต่อต้านเผด็จการที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเดินขบวนประท้วงของนักศึกษาสถาบันโปลีเทคนิคในเอเธนส์ ก่อนกลับผู้นำชมถามเราว่ามาจากประเทศอะไร พอเราบอกว่ามาจากประเทศไทยเขาก็เข้ามากอดเราแล้วบอกว่า “รู้ไหมว่าประเทศไทยเป็นแรงบันดาลใจให้เดินขบวนประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นมา” แล้วก็พาไปดูหอจดหมายเหตุที่มีหนังสือพิมพ์กรีซที่เอาเหตุการณ์เดินขบวน 14 ตุลาคมในประเทศไทยและเหตุการณ์ 17 พฤศจิกายนในกรีซ มาเปรียบเทียบกัน พาดหัวข่าวว่า ‘Tomorrow we will become Thailand.’ (พรุ่งนี้เราจะกลายเป็นอย่างประเทศไทย)

“เราเอาประโยคนี้มาปรับใช้เป็นธีมของงานชุดนี้ว่า ‘Learning from Thailand’ เล่นกับประเด็นที่ว่าในขณะที่เราศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และการเมืองการปกครองจากกรีซ (ที่เป็นต้นกำเนิดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย) ในทางกลับกัน กรีซก็เรียนรู้เรื่องเหล่านี้จากประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

“ภาพที่วาด เราคัดลอกมาจากหนังสือพิมพ์และภาพถ่ายของเหตุการณ์ 14 ตุลาคมของไทยและ 17 พฤศจิกายนของกรีซ นอกจากนี้ งานชุดนี้ยังมี installation video ที่ผสมวิดีโอบันทึกภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคมกับภาพและเสียงบันทึกความทรงจำส่วนตัวของคนไทยและกรีซที่มีส่วนในเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งสอง เช่น บุญช่วง เด่นดวง ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2555 หลานสะใภ้ของเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2534 ที่รัฐบาลมอบหมายให้ร้องเพลงเกลี้ยกล่อมคอมมิวนิสต์ให้ออกจากป่าในช่วงยุคสงครามเย็น ไปจนถึงผู้นำชมชาวกรีซที่เราพบที่อนุสรณ์สถานต่อต้านเผด็จการ ความทรงจำเหล่านี้เป็นส่วนผสมระหว่างประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์ส่วนตัว เช่นเดียวกับงานของเราที่เป็นเรื่องของความทรงจำส่วนตัวและส่วนรวม

“ปกติเวลาเราพูดถึงการเมือง เรามักจะพูดถึงแต่การเมืองภายในและมองข้ามปัจจัยภายนอกที่เข้ามามีผลกระทบ แต่ถ้าดูสองเหตุการณ์นี้เราจะเห็นว่าปัจจัยภายนอกที่เข้ามาแทรกแซงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของกรีซกับไทยนั้นคล้ายคลึงกันเพราะช่วงเวลานั้นเป็นยุคของสงครามเย็นที่มีอำนาจจากสองขั้ว คือฝั่งคอมมิวนิสต์กับฝั่งเสรีนิยมที่ส่งผลกระทบเบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมืองในหลายประเทศด้วย” 

then there were none

ในสายตาของคนดู งานศิลปะชุดนี้ของอริญชย์ไม่เพียงถ่ายทอดการต่อสู้ทางการเมืองแต่ยังถอดรื้อความหมายของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ให้อำนาจการเล่าเรื่องแก่รัฐชาติเพียงผู้เดียว กระทั่งท้ายที่สุดเรื่องเล่านั้นก็ถูกเรียกว่าประวัติศาสตร์

งานชุดนี้ปักหมุดหมายในพื้นที่สำคัญของโลกศิลปะ ทำให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนไทยที่ส่งแรงกระเพื่อมไปยังประเทศอื่นๆ ในโลก ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจและท้าทายอย่างยิ่งว่างานศิลปะร่วมสมัยที่ได้แรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวในช่วงปีนี้จะส่งแรงกระเพื่อมไปยังที่ใดในโลกได้บ้าง


And then there were none (Tomorrow we will become Thailand.) (2016) โดยอริญชย์ รุ่งแจ้ง จัดแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ documenta ครั้งที่ 14 ในปี พ.ศ. 2560 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในพิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์กรีก Benaki Museum และคาดว่าจะจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum) ในอนาคต 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน อริญชย์ รุ่งแจ้ง

AUTHOR