ANATOMY OF UNIFORMS ประวัติความเป็นมา 10 เครื่องแบบ

เราสวมเสื้อผ้ากันทุกวัน

นอกจากปกปิดร่างกายและให้ความอบอุ่น เหตุผลที่ชุดต่างๆ มาหมุนเวียนอยู่ในตู้เสื้อผ้าของพวกเรา อาจเป็นเพราะความชอบในดีไซน์ สี หรือรายละเอียดต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาให้ตรงกับรสนิยม

แต่ในช่วงชีวิตไม่ว่าสั้นหรือยาว เราทุกคนย่อมเคยเกี่ยวข้องกับชุดที่เกิดมาด้วยเหตุผลพิเศษกว่านั้น

ยูนิฟอร์ม หรือ เครื่องแบบ คือชุดที่ว่า

ในความหมายตามพจนานุกรม เครื่องแบบ มีความหมายว่า เครื่องแต่งกายที่กำหนดให้แต่งเหมือนๆ กันเฉพาะหมู่คณะใดคณะหนึ่ง

ในความหมายของพวกเรา เมื่อมองให้ลึกกว่าเรื่องกฎระเบียบ เครื่องแบบไม่ใช่แค่เรื่องของความเหมือนหรือการบอกความเป็นพวกเดียวกัน หากแต่กินความหมายในมิติหลากหลาย ระหว่างที่เราปฏิบัติหน้าที่บางอย่าง เสื้อผ้าก็มีภารกิจของตนเองในการสนับสนุนบทบาทและการทำงานทั้งในแง่กายภาพและจิตใจ

เรื่องราวที่ว่าอาจซ่อนอยู่ใต้ผืนผ้าหรือเม็ดกระดุม แต่ความเคยชินทางสายตาอาจทำให้เรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป

a team junior รุ่นที่ 9 อยากพาคนอ่านไปสำรวจเรื่องของยูนิฟอร์มที่เป็นมากกว่าเสื้อผ้า ผ่านประวัติความเป็นมาและ 10 เครื่องแบบที่เราอยากให้คุณรู้จัก บางชุดอาจเป็นเพื่อนใหม่ที่ได้รู้จักกันครั้งแรก บางชุดอาจเป็นเพื่อนเก่าที่ทั้งคุ้นกายและคุ้นตา แต่ทุกชุดล้วนมีแง่มุมที่จะทำให้เรามองยูนิฟอร์มในความหมายลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม

ไม่ว่าคุณจะยังใส่ยูนิฟอร์มอยู่หรือไม่ ครั้งต่อไปที่ได้เห็นชุดเหล่านี้ เราน่าจะตอบคำถามได้ดีขึ้น

ว่าคุณค่าของยูนิฟอร์ม ที่มากกว่าความหมายในพจนานุกรมนั้นคืออะไร


ชุดสาวยาคูลท์
ชุดพนักงานขายในความทรงจำ

เสียงกระดิ่งยานพาหนะคู่ใจ กับยูนิฟอร์มแบบคลาสสิกของสาวยาคูลท์ กลายเป็นภาพลักษณ์ของบริษัทยาคูลท์มากกว่าตัวสินค้าเองซะอีก

ไม่ต้องเสียเวลาบรรยายว่ายูนิฟอร์มของสาวยาคูลท์เป็นอย่างไร ชุดนี้เป็นภาพจำชนิดที่มองปราดเดียวก็รู้

ยูนิฟอร์มสีเดียวกับยาคูลท์คือไอเดียของคุณประพันธ์ เหตระกูล ผู้ก่อตั้งบริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด และคุณประพินพร เหตระกูล ภรรยาของคุณประพันธ์ โดยเฉพาะการออกแบบให้ปกเสื้อ แขนเสื้อ แถบกระดุม และกางเกงเป็นสีน้ำตาลเข้ม เพราะระหว่างจัดส่งยาคูลท์ไปถึงบ้านทุกคนย่อมต้องเจอเหงื่อไคลและสิ่งสกปรก แนวคิดนี้จึงกลายเป็นยูนิฟอร์มของสาวยาคูลท์เมืองไทยกว่า 43 ปีแล้ว

ยาคูลท์เกิดที่ประเทศญี่ปุ่น และเคยใช้พนักงานผู้ชายเป็นคนส่งขายยาคูลท์มาก่อน แต่ในปี ค.ศ. 1963 ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นพนักงานหญิงสาว เพราะในอดีตลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน ความเป็นมิตรและน่าไว้ใจของผู้หญิงส่งยาคูลท์ทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจมากกว่า จุดเปลี่ยนนี้ทำให้ยาคูลท์ขายดีขึ้นและเพิ่มยอดขายในหลายๆ บ้าน การขายแบบสาวยาคูลท์จึงพ่วงไปในทุกๆ ประเทศด้วย

ยูนิฟอร์มสาวยาคูลท์ทั่วโลกแตกต่างกันในเรื่องสีและลักษณะของชุด แม้แต่ในญี่ปุ่น ชุดยาคูลท์ก็ปรับเปลี่ยนหลายครั้ง เพื่อปรับภาพลักษณ์องค์กรและสาวยาคูลท์ให้ทันสมัยมากขึ้นตามกาลเวลา ชุดสาวยาคูลท์ในบางประเทศต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสภาพอากาศ เช่น หากอากาศหนาวก็จะสวมเสื้อแขนยาว หรือมีออปชันเสริมเป็นผ้าพันคอ หากอากาศร้อนก็จะใส่เป็นเสื้อแขนสั้นและหมวกกันแดด

สาวยาคูลท์ของประเทศเกาหลีใส่เสื้อสูทแขนยาวสีเบจ กางเกงสแล็ก ขายาวสีน้ำตาล หมวกสีเดียวกับเสื้อ มีผ้าพันคอและถุงมือสีขาวเพราะอากาศหนาว และนิยมใช้รถเข็นมากกว่าจักรยานเพราะสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเนินเขา ส่วนชุดสาวยาคูลท์ประเทศมาเลเซียนั้นต้องใส่เสื้อ สีขาว กางเกงอะไรก็ได้ พร้อมหมวกแก๊ปสีส้มและมีคำว่ายาคูลท์เป็นจุดเด่นของหมวก

แม้ชุดของสาวยาคูลท์ในหลายๆ ประเทศจะแตกต่างกันเพียงใด สาวยาคูลท์ทุกสัญชาติต้องมีอุปกรณ์ช่วยขายอย่าง Shipper ใบใหญ่ เป็นถังใส่ยาคูลท์หลังรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ หรือรถเข็น และ Carry Bag กระเป๋าถือบรรจุยาคูลท์ออกเดินเท้าที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ต่างกันที่การออกแบบเท่านั้น

เราสงสัยว่าเวลากว่า 43 ปี ทำไมชุดของสาวยาคูลท์ในประเทศไทยถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย คุณโบว์–กนกพรรณ เหตระกูล ลูกสาวของคุณประพันธ์ เล่าว่า

“ประเทศอื่นๆ เขามีการเปลี่ยนยูนิฟอร์มไปเรื่อยๆ แต่เราไม่คิดเปลี่ยน เพราะแม้แต่เด็ก 3 ขวบเห็นปราดเดียวก็บอกว่า “พี่ยาคูลท์ขวดนึง” แค่นี้ทำให้รู้แล้วว่าชุดนี้มันเป็นเอกลักษณ์ เด็ก 3 ขวบยังรู้เลยว่าเราคือใคร  มันเป็นใบเบิกทางที่ดีมาก เราไม่ควรเปลี่ยนชุดอีกเลยเพราะภาพจำชุดนี้เป็นเอกลักษณ์ของบริษัทที่แข็งแรงมาก”

ในแง่ภาพลักษณ์ไม่เปลี่ยน แต่คุณภาพของชุดมีการพัฒนาตลอดเวลา เนื้อผ้าของชุดสาวยาคูลท์ไทยถูกส่งไปวิจัยไกลถึงประเทศญี่ปุ่น ปัจจัยคืออากาศร้อนอบอ้าวของเมืองไทย บริษัทจึงเลือกใช้ผ้าที่ช่วยให้น้ำจากเหงื่อไคลระเหยอย่างรวดเร็ว เนื้อผ้านิ่มใส่สบายเพราะสาวยาคูลท์ต้องใส่ชุดนี้ทั้งวัน แต่สีของชุดที่เหมือนสีของยาคูลท์ต้องคงเดิมไว้เสมอ ปัจจุบันสาวยาคูลท์มียูนิฟอร์ม 3 ชุดต่อปี เสื้อมีให้สาวยาคูลท์เลือกได้ตามใจ และบริษัทจะให้ผ้า 3 ชิ้นเพื่อตัดกางเกงตามไซส์ของตัวเอง นับว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาเรื่องไซส์ที่เยอะเกินไปด้วย

การใส่ชุดสาวยาคูลท์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะสาวยาคูลท์ก็ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ ต้องผ่านการอบรม การสอบพูดหน้าชั้น สอบเขียน สอบความรู้เรื่องสารอาหาร โภชนาการ สิ่งที่สาวยาคูลท์ทุกคนต้องรู้จริง คือสิ่งที่หยิบยื่นให้ผู้บริโภค และชุดนี้ก็เป็นเหมือนตัวแทนของบริษัทที่คอยดูแลสุขภาพของผู้บริโภคทุกคน

แต่ไม่ว่าสาวยาคูลท์ทั่วโลกจะสวมใส่ชุดแบบไหน หากสินค้าไม่ดีต่อผู้บริโภคแล้ว คงไม่มีใครจดจำ


ชุดเชฟ
ชุดของผู้เสิร์ฟความสุขด้วยอาหาร

ไอร้อนระอุจากเตา มีดส้อมนานาที่เรียงราย ซุปเดือดปุดๆ ในหม้อ ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการทำอาหารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้สร้างความอร่อย ชุดขาวมิดชิดแสนเนี้ยบไม่เพียงปกป้องพวกเขาจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น แต่ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เชฟและห้องอาหารดูมีระดับน่าเชื่อถือ

ก่อนหน้าจะมาเป็นชุดเชฟปัจจุบัน ชุดเชฟมีตำนานเรื่องที่มาน่าสนุกหลายเรื่อง เช่น ในยุคกลาง เชฟได้รับอิทธิพลจากชุดสีดำของนักบวชนิกายกรีกออร์ธอดอกซ์ จึงเลือกสวมเครื่องแต่งกายและหมวกทรงสูงคล้ายกัน แต่ใช้สีเทาเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงสถานะของตนเอง บ้างก็ว่าในสมัยหนึ่งของจักรวรรดิอัสซีเรีย เชฟใส่หมวกทรงสูงแสดงถึงอำนาจคล้ายมงกุฎของกษัตริย์ เพื่อเป็นการแสดงความใกล้ชิดต่อราชวงศ์ แต่ไม่ว่าตำนานที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร การสวมหมวกเพื่อเก็บเส้นผมไม่ให้ร่วงลงมาบนอาหารก็กลายเป็นกฎปฏิบัติของเชฟมายาวนาน

จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 ‘ราชาแห่งเชฟ’ Marie-Antoine Carêême ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้บุกเบิกการครัวสมัยใหม่ และปรับปรุงเครื่องแบบเชฟให้มีมาตรฐานความสะอาด โดยเลือกใช้สีขาวเป็นสีเครื่องแบบและออกแบบหมวกทรงสูงให้มีรอยพับ 100 รอย สื่อถึงวิธีการนำไข่มาทำอาหารได้ถึง 100 แบบ

ปัจจุบันโรงแรมและภัตตาคารต่างๆ เป็นผู้กำหนดเครื่องแบบเชฟในสังกัดตนเอง เครื่องแบบเชฟแต่ละที่จึงแตกต่างกันไป มีการประยุกต์ใช้สีอื่นๆ หรือลดทอนส่วนประกอบของเครื่องแต่งกายลง เช่น หมวกทรงสูงของเชฟไม่จำเป็นต้องมีรอยพับเยอะเท่าเดิมอีกต่อไป แต่เน้นฟังก์ชันช่วยเก็บเส้นผมและดูดซับเหงื่อ หมวกเชฟบางคนทำจากกระดาษเพราะมีน้ำหนักเบา ช่วยแก้ปัญหาการคันจากการแพ้การลงแป้งในผ้า ไม่ใส่ผ้าพันคอ หรือเชฟในห้องอาหารลอร์ดจิมส์ โรงแรมโอเรียนเต็ล จะใส่เครื่องแบบสีดำ เนื่องจากต้องทำอาหารหน้าเตาปิ้งย่างที่มีเขม่าควันเลอะเทอะ

ชุดเชฟเป็นสวัสดิการที่โรงแรมหรือภัตตาคารจัดหาให้แก่เชฟที่ถูกบรรจุเข้าครัว เชฟจะได้รับชุดที่ตัดตามขนาดตัวราว 3-4 ชุดต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเพราะแต่ละวันเชฟต้องใช้ยูนิฟอร์มถึง 2 ชุด เปลี่ยนเช้า-เย็น ไม่เช่นนั้นชุดที่เลอะคราบอาหารจะส่งกลิ่นติดตัวผู้สวม อีกทั้งยังไม่ถูกสุขอนามัยและทำให้ห้องอาหารมีภาพลักษณ์ติดลบ ดังนั้นโรงแรมจึงเป็นผู้รับผิดชอบความสะอาดของชุดเชฟ ทันทีที่เปลี่ยนไปใส่ชุดใหม่ ชุดขาวตัวเดิมจะถูกส่งไปที่ห้องซักรีดทันที ชุดเชฟจึงต้องทำจากผ้าฝ้ายเนื้อหนาที่ทนทานต่อการซักทุกวัน เมื่อเกิดรอยเปื้อนบนชุดสีขาวก็สามารถใช้น้ำยาฟอกขาวกัดผ้าได้โดยไม่เป็นรอยด่าง ทำให้ชุดเชฟดูใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ

สำหรับเชฟระดับหัวหน้าโรงแรมหรือภัตตาคารอาจลงทุนสูงกว่าเพื่อยูนิฟอร์มที่มีคุณภาพมากขึ้น เนื้อผ้าที่ใช้ตัดยูนิฟอร์มอาจเคลือบ    สารกันไฟหรือใช้เนื้อผ้าที่ให้สัมผัสนุ่มสบาย โดยอายุการใช้งานของชุดเชฟอยู่ที่ประมาณ 1-2 ปี ก่อนที่ผ้าจะหมองและบางลงจนฉีกขาดง่ายในที่สุด

ชุดเชฟมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากนับจากอดีต ส่วนหนึ่งเพราะชุดเชฟแบบนี้สามารถป้องกันเชฟจากอันตรายในห้องครัวได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือติดตาคนทั่วโลกมานานนับศตวรรษ

จริงอยู่ว่าพ่อครัวที่ดีอาจทำอาหารจานเด็ดได้โดยไม่ต้องพึ่งหมวกทรงสูงหรือเสื้อกระดุม 2 แถว แต่ภาพจำที่ดูสะอาดตาและเป็นมืออาชีพช่วยยกระดับหน้าตาของห้องอาหารให้ดูมีคุณภาพ ส่งผลให้ลูกค้าไว้วางใจในรสมือเชฟมากขึ้น

คุณสมบัติของเชฟจึงไม่ใช่เพียงแค่ทำอาหารเก่ง หนึ่งในกฎเหล็กของนักสร้างความอร่อยคือ การรักษาความสะอาดและสวมยูนิฟอร์มที่เอี่ยมอ่อง

เชฟชายต้องตัดผมสั้น เชฟหญิงห้ามทาเล็บ เครื่องประดับทุกประเภทเป็นของต้องห้ามในห้องครัว ในกรณีที่เชฟต้องออกนอกห้องครัวไปพูดคุยต้อนรับแขก ไม่ว่าจะพบเจอความร้อนและคราบมันมากแค่ไหน เครื่องแต่งกายก็ต้องดูดีเรียบร้อยเสมอ

เพราะสิ่งที่เชฟเสิร์ฟให้ลูกค้าไม่ใช่เพียงความอิ่มท้อง แต่คือความอิ่มอกอิ่มใจในคุณภาพชีวิต


เครื่องแบบปกติขาวของนายทหารเรือชั้นประทวน
ชุดกะลาสีสีขาวสะอาดแห่งราชนาวี

ชุดกะลาสี หนึ่งในเครื่องแบบของทหารเรือ เป็นชุดข้าราชการที่โดดเด่นเป็นภาพจำที่สุด

ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ชุดกะลาสีถูกดัดแปลงและใช้ในหลายมิติ ตัวละครดังในการ์ตูน ป๊อปอายส์ และ เซเลอร์มูน คือพรีเซ็นเตอร์ชุดกะลาสีในสื่อบันเทิง โรงเรียนญี่ปุ่นนำลักษณะชุดมาปรับใช้เป็นเครื่องแบบนักเรียนหญิง ชุดสไตล์นาวียังลามไปถึงคอลเลกชันของร้านเสื้อชื่อดัง เหล่านี้คือตัวอย่างความโด่งดังจนเป็นภาพจำของชุดกะลาสี ซึ่งไม่เคยหายไปตามกาลเวลา

ชุดทหารเรือนั้นมีความคล้ายคลึงกันมากในทุกประเทศ ต่างจากชุดทหารบกและทหารอากาศที่อาจแตกต่างกันไป ชุดที่เป็นสากลนี้มาจากอิทธิพลของประเทศอังกฤษที่เรืองอำนาจในสมัยก่อน

สำหรับประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย หรือ ‘เสด็จเตี่ย’ ของทหารเรือทุกนาย ได้ไปเล่าเรียนศึกษาวิชาการทหารเรือมาจากที่นั่น เมื่อกลับมาจึงได้จัดระเบียบกองทัพเรือไทย รวมถึงนำชุดกะลาสีมาเป็นเครื่องแบบของทหารเรือไทยด้วย

ชุดทหารเรือมีความหลากหลายกว่าที่เราคิดมาก ชุดกะลาสีที่เราเห็นเป็นเพียงชุดของนายทหารชั้นประทวนหรือชั้นจ่าและพลทหารเท่านั้น แต่หลักๆ แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ชั้นยศอะไรก็จะมีเครื่องแบบปกติขาว เครื่องแบบปกติกากี และเครื่องแบบกันหนาวสีกรมท่าไว้ใช้เวลาไปทำงานต่างประเทศ เหตุผลที่ต้องมีชุดหลากหลายก็เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานและสภาพอากาศ

ชุดกะลาสีมีทั้งสีขาวและสีกากี เวลาเข้าเวรบนเรือจะใช้ชุดเครื่องแบบสีกากี เพราะเมื่ออยู่บนเรือเสื้อผ้าจะเปียกน้ำหรือเหงื่อไคลบ่อย พอแห้งปุ๊บก็จะเกิดขี้เกลือขึ้นบนเสื้อ สีกากีจะช่วยพรางไม่ให้เสื้อดูสกปรกเกินงาม

ชุดกะลาสีสีขาวจึงเป็นชุดที่เอาไว้ใส่ในวันพิเศษเท่านั้น เช่น วันครบรอบวันสวรรคตของเสด็จเตี่ย วันที่เรือแล่นผ่านสถานที่ที่เคยมีการ สู้รบเกิดขึ้น อาทิ เกาะช้างที่เคยมีการรบกับฝรั่งเศสในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเวลาเข้าท่าที่ต่างประเทศก็จะต้องเปลี่ยนเป็นชุดขาวให้ดูสง่างามและเป็นการให้เกียรติสถานที่ เพราะตามธรรมเนียมของทหารเรือ ถือว่าเรือรบเป็นเหมือนอาณาจักรของประเทศนั้นๆ ชุดขาวที่ใช้ในโอกาสพิเศษจึงต้องดูแลรักษาให้ดูดีอยู่เสมอ

กองทัพเรือจะมีกำหนดการแต่งชุดประกาศแจ้งให้ทหารเรือทุกชั้นยศแต่งกายได้อย่างมีระเบียบ ส่วนเหตุผลว่าทำไมทหารเรือไม่ค่อยแต่งตัวฟิตๆ เหมือนทหารอื่นๆ สำหรับคนบนเรือที่ต้องทำงานในพื้นที่จำกัดหรือปีนป่ายขึ้นที่สูง เสื้อผ้าที่ใส่แล้วคล่องตัวเป็นสิ่งจำเป็น หากใส่เสื้อพอดีตัวสุดๆ ก็จะพานอึดอัดไปกันใหญ่

เสื้อของทหารเรือมีรายละเอียดที่สำคัญอยู่มาก อย่างแรกคือชั้นยศ สำหรับชุดกะลาสีนั้น ชั้นยศจะบอกไว้ที่ข้างแขนซ้าย หากมีบั้งเดียวหมายถึงจ่าตรี 2 บั้งหมายถึงจ่าโท 3 บั้งหมายถึงจ่าเอก ตามลำดับ

เหนือขึ้นไปคือเครื่องหมายบอกพรรคเหล่าที่ทำงานอยู่ เช่น หากเป็นนายทหารทำงานธุรการก็จะมีเครื่องหมายเหล่าทหารสารบรรณที่เป็นเหล่าขนนกไขว้กัน หากเป็นนายทหารทำงานบนเรือที่อยู่แผนกเดินเรือก็จะมีเครื่องหมายเหล่าสามัญซึ่งเป็นรูปพังงา เครื่องหมายเหล่าอื่นๆ ก็มี เช่น เหล่าปืนใหญ่ เหล่าตอร์ปิโด เหล่าทุ่นระเบิด

เหนือกระเป๋าที่อกซ้ายบนชุดกะลาสีจะมีเครื่องหมายแพรแถบสีแทนเหรียญที่ได้จากการปฏิบัติงานซึ่งแต่ละนายจะมีต่างกัน และจะมีเครื่องหมายความสามารถอื่นๆ ติดเหนือแพรแถบได้อีกชั้นตามหลักสูตรที่เรียนมา เช่น เครื่องหมายความสามารถนักทำลายใต้น้ำ เป็นรูปฉลามขาว 2 ตัวโต้คลื่นหันหน้าเข้าหาสมอและธงไตรรงค์ ฉลามขาวในเครื่องหมายคือการบ่งบอกถึงความเป็นเจ้าทะเล

ชุดกะลาสียังแฝงเรื่องราวการใช้ชีวิตของทหารเรือที่มีขนบธรรมเนียมยาวนาน คนที่ทำงานบนเรือจะมีนกหวีดเรือติดตัว เป่าแล้วเสียงคล้ายโลมา อุปกรณ์ตัวจ้อยนี้มีไว้ประกาศคำสั่งต่างๆ ให้ทหารดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามระเบียบ เพราะเมื่ออยู่บนเรือคงไม่สามารถตะโกนบอกข่าวสารแข่งกับเสียงคลื่นได้ เวลาไหนจะตื่นนอน กินข้าว เข้านอน จะมีสัญญาณนกหวีดสื่อสารบอกให้รู้ทั่วกัน สมัยเรียนจึงมีการฝึกและท่องจำจังหวะของนกหวีดด้วยว่าเสียงแบบนี้มีความหมายว่าอะไร

ชุดของทหารเรือมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ตามกาลเวลา แต่เอกลักษณ์ที่เราจำติดตาอย่างปกหลังก็ไม่เคยเลือนหายไป รวมทั้งความหมายต่อจิตใจของทหาร เพราะเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเห็นคนสวมเครื่องแบบนี้ก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่คือเหล่าพรรคพวกพี่น้องที่จะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยรวมถึงทรัพยากรมีค่าทางทะเลของประเทศอย่างดีที่สุด

ให้สมเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งราชนาวี


ชุดผู้บังคับบัญชาลูกเสือวิสามัญเหล่าเสนา
ชุดของทูตแห่งความดีที่มีพี่น้องทั่วโลก

“ลูกเสือคือทูตแห่งความดี”

นี่คือนิยามของลูกเสือจากปากอาจารย์สายัณห์ ต่ายหลี ผู้บังคับบัญชาลูกเสือวิสามัญ ผู้ยึดหลัก ‘Service’ หรือการบริการ ทั้งตัวเอง ครอบครัว และสังคม ของลอร์ด เบเดน โพเอลล์ หรือ บี-พี ผู้ให้กำเนิดกิจการลูกเสือโลกชาวอังกฤษ

ชุดลูกเสือจึงเปรียบเสมือนเครื่องแบบของทูตแห่งความดี ทุกเครื่องหมายที่ประดับบนชุด มีไว้เตือนใจเหล่าทูตทั้งหลายให้มีหัวใจของนักบริการอยู่ตลอดเวลา

แรกเริ่มชุดลูกเสือมีขึ้นเพื่อบอกความเป็นหมู่คณะและสร้างความภูมิใจ จะได้ผลักดันให้บรรดาลูกเสือทั้งหลายหมั่นทำความดี แลกกับเครื่องหมายและตราต่างๆ กุศโลบายที่ซ่อนไว้ภายใต้เครื่องหมายเหล่านั้นคือการตอกย้ำให้เหล่าลูกเสือไม่ลืมหน้าที่และความรับผิดชอบต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น

ชุดลูกเสือไทยซึ่งได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ได้อิทธิพลมาจากชุดลูกเสือแห่งราชอาณาจักร และไม่ได้มีแค่ชุดสีกากีที่เราคุ้นตากันเท่านั้น ชุดลูกเสือมีรูปแบบแตกต่างกันออกไปตามเหล่า เหล่าที่ว่าคือผู้อุปถัมภ์กิจการลูกเสือในสังกัดของตัวเอง มีทั้งหมด 3 เหล่า คือ เหล่าเสนา เป็นเหล่าของลูกเสือในชุดสีกากีที่เราพบเห็นชินตา เหล่าอากาศ ใส่เครื่องแบบสีเทาเข้มเหมือนชุดทหารอากาศผู้อุปถัมภ์ และเหล่าสมุทร อันมีผู้อุปถัมภ์คือเหล่าราชนาวี เครื่องแบบมีทั้งสีกากีและขาวลักษณะคล้ายกะลาสี จุดสังเกตคือหมวกแบบกะลาสีทำด้วยผ้าและผ้าผูกคอสามเหลี่ยมสีดำ

องค์ประกอบของชุดลูกเสือที่ครบถ้วนจะต้องมีของ 7 ชิ้นสำคัญเหมือนกันทั่วโลก คือ หมวก เสื้อ กางเกงหรือกระโปรง เข็มขัด ผ้าผูกคอ ถุงเท้า และรองเท้า ส่วนเครื่องหมายและตราสัญลักษณ์พิเศษนอกเหนือจากนี้มีเพื่อแสดงยศหรือความสามารถพิเศษของลูกเสือรายนั้น

เครื่องหมายวูดแบดจ์ มีลักษณะคล้ายไม้ท่อนย่อส่วน ใช้ห้อยคอเพื่อแสดงการผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือพิเศษ เรื่องราวของวูดแบดจ์เกิดจากมิตรภาพระหว่างท่านลอร์ดบี-พีและหัวหน้าเผ่าซูลูในทวีปแอฟริกา เมื่อท่านลอร์ดได้รับกระดูกสัตว์อันแสดงถึงความกล้าหาญในการล่าของชนเผ่าซูลูเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ในครั้งนั้น ต่อมากระดูกสัตว์ดังกล่าวได้กลายร่างมาเป็นเครื่องหมายแห่งสัญญาที่มีกุศโลบายแฝงไว้ว่า เมื่อวูดแบดจ์กระทบร่างกายก็เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจเหล่าลูกเสือว่าหน้าที่รับผิดชอบของตนคือการบริการสังคม

ผ้าผูกคอกิลเวลล์ก็มีจุดกำเนิดที่น่าจดจำไม่แพ้กัน ผ้าพันคอเกิดจากความเอื้อเฟื้อของนายแมคคาเรล เศรษฐีชาวสกอตเเลนด์ผู้บริจาคที่ดิน 57 เอเคอร์ ให้กับสมาคมลูกเสืออังกฤษใช้สำหรับทำค่ายฝึกอบรมนาม Gilwell Park ลอร์ดบี-พีจึงนำผ้าลายสก๊อตประจำตระกูลแมคคาเรลเย็บติดเข้ากับปลายผ้าผูกคอสามเหลี่ยม เป็นสัญลักษณ์ประกอบคู่กับวูดแบดจ์เพื่อแสดงยศให้กับลูกเสือเมื่อผ่านการอบรมวิชาผู้กำกับอย่างสมบูรณ์แล้ว

การใส่เครื่องแบบที่ครบถ้วนอาจไม่ได้บ่งบอกลักษณะของลูกเสือที่ดี เพราะความหมายของลูกเสือที่ดีคือลูกเสือที่มีหัวใจเพื่อสังคม ชุดลูกเสือชาวบ้านที่มีเพียงผ้าผูกคอสีประจำจังหวัดแต่งคู่กับชุดลำลอง จึงไม่ได้แปลว่าจะมีบทบาทน้อยกว่าลูกเสือที่แต่งเต็มยศ เพียงแต่แสดงบทบาทที่แตกต่างจากลูกเสือธรรมดา อาทิ การออกลาดตระเวนตามชายแดนหรือการช่วยเหลือชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกเสือชาวบ้านทำได้เร็วและดี และเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขามีหัวใจของลูกเสืออย่างแท้จริง

ลูกเสือทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อเครื่องแบบที่ตัวเองสวมใส่ ความรับผิดชอบที่ว่าคือความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม หรือคือการทำแต่ความดีและช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ให้สมกับคำปฏิญาณที่ลูกเสือทุกคนจดจำไว้ในใจว่า

จงทำดี ตลอดชีวิต


ชุดนักแข่งรถ
ชุดคู่ใจของคนรักความเร็ว

ในบรรดากีฬาเพื่อการแข่งขัน การแข่งรถเป็นหนึ่งในเรื่องความอันตราย เมื่อชีวิตต้องอยู่ในสนามแข่ง ที่ซึ่งความเร็วและอันตรายเป็นเสมือนทั้งเพื่อนและศัตรูข้างกาย ชุดสำหรับนักแข่งรถอาชีพย่อมไม่ธรรมดา ราคาครึ่งแสนของชุดแข่งรถ นับว่าถูกมากถ้าเทียบกับชีวิตนักแข่งในสนาม

กีฬาแข่งรถในไทยเริ่มขึ้นเมื่อราวเกือบ 70 ปีก่อน โดยการนำเข้าผ่านชนชั้นสูงไทยในต่างประเทศ มีหัวเรือใหญ่คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือพระองค์เจ้าพีระ เจ้าชายนักแข่งรถผู้มีชื่อเสียงไปทั่วทั้งวงการนักแข่งรถในยุโรป ด้วยดีกรีเจ้าของรางวัลดาราทอง (BRDC Road Racing Gold Star) จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษ ถึง 3 ปีซ้อน

ในปี พ.ศ. 2480 พระองค์เจ้าพีระได้นำรถทรงแข่งเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรก รวมถึงจัดการแข่งขันขึ้น ณ ถนนราชดำเนิน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของกระแสความนิยมกีฬารถแข่งในสังคมไทยเรื่อยมาจนปัจจุบัน

ชุดนักแข่งรถเมื่อหลายสิบปีก่อนถูกออกแบบให้เป็นเสื้อและกางเกง 2 ท่อนเข้ารูป จนกระทั่งกลายเป็นชุดหมีสุดเท่ตามแฟชั่นอย่างในปัจจุบัน การพัฒนายังไม่หยุดเพียงระบบกันไฟ แต่ยังคำนึงถึงสภาพอากาศภายในห้องเครื่องอันแสนระอุ จึงมีการเพิ่มแผ่นทำความเย็นซึ่งมีกลไกเปลี่ยนเหงื่อเป็นสารกลิ่นมินต์ช่วยลดอุณหภูมิให้นักแข่งรู้สึกสบายตลอดการแข่ง

นอกจากระบบความปลอดภัย ชุดนักแข่งยังเป็นเหมือนป้ายโฆษณาที่สร้างรายรับให้กับบรรดานักแข่ง โดยเหล่าสปอนเซอร์ทั้งหลายจะนำโลโก้ของตัวเองมาจับจองพื้นที่บริเวณหน้าอกทั้งสองข้างของชุดนักแข่ง จุดที่มีราคาสูงสุดคือบริเวณบนสุดของอกด้านขวา ส่วนบนสุดของอกซ้ายสงวนไว้เป็นพื้นที่สำหรับธงประจำประเทศ

นอกจากการสนับสนุนงบประมาณในการแข่งขัน สปอนเซอร์ยังเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินใจเรื่องสีของชุดนักแข่ง โดยสีของชุดต้องเป็นสีที่เสริมให้โลโก้ของสปอนเซอร์โดดเด่นที่สุด เช่น หากโลโก้ของสปอนเซอร์เป็นสีแดง ทอง น้ำเงิน ชุดแข่งของปีนั้นจะเป็นสีดำ สีของชุดแข่งขึ้นอยู่กับปัจจัยทาง การตลาดของแต่ละทีม

เมื่อมองเรื่อยลงมายังสายคาดเอว เราจะพบกับชื่อทีมและชื่อประจำตัวของผู้สวมใส่ปักด้วยด้ายกันไฟเป็นภาษาอังกฤษชัดเจน ถัดจากชื่อคือกรุ๊ปเลือดของนักแข่ง โดยข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เพราะในระดับความเร็วมิดคันเร่งย่อมเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้ตลอดเวลา

องค์ประกอบอื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ถุงสวมหัวที่ทำจากผ้ากันไฟราคาแพง และหมวกกันน็อกที่กรอบเลนส์สามารถเปลี่ยนได้ตามสภาพอากาศในสนามแข่ง เมื่อฝนตกกรอบเลนส์จะถูกถอดเปลี่ยนจากสีปรอทเป็นสีใสเพื่อทัศนวิสัยที่คมชัดของนักแข่ง

ถัดจากหมวกกันน็อกคือ ฮาน อุปกรณ์ที่พึ่งคิดค้นขึ้นเมื่อไม่ถึง 10 ปีก่อน เพื่อเสริมความปลอดภัยอีกระดับ ฮานคือแกนล็อกบริเวณลำคอของนักแข่ง มีตำแหน่งอยู่ระหว่างหมวกกันน็อกและชุดหมี ทำหน้าที่กันคอกระแทกเมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น รถคว่ำ หรือพุ่งชนนอกสนาม

ถุงมือ ถุงเท้า ล้วนทำจากวัสดุกันไฟ แม้จะมีโอกาสเกิดไฟไหม้ขณะเกิดอุบัติเหตุเพียงน้อยนิด แต่หากเกิดขึ้นแล้วก็เป็นอันตรายถึงชีวิต ฉะนั้นวัสดุกันไฟจึงใช้กับทุกชิ้นส่วน กระทั่งรองเท้าที่นอกจากจะทำจากวัสดุกันไฟแล้ว ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างคือพื้นรองเท้าจะบางกว่าปกติ เพื่อความถนัดยามเหยียบคันเร่งนั่นเอง

ชุดนักแข่งมีการพัฒนาอยู่เสมอ เช่น ชุดแข่งรถในสนามที่มาเลเซีย มีการปรับซิปของชุดหมีให้อยู่ด้านข้างลำตัว จากที่ปกติอยู่ด้านหน้าเพื่อเพิ่มความคล่องตัวยามต้องถอดชุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทุกชิ้นส่วนอาจช่วยชีวิตเจ้าของร่างหลังพวงมาลัยได้ในยามคับขัน

สำหรับนักแข่งรถอาชีพ นอกจากพวงมาลัยที่ต้องประคองไว้ให้มั่นแล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องประคองไว้ไม่ให้หลุดลอยไปนั่นคือ ชีวิต


ชุดเจ้าหน้าที่พิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ชุดเครื่องแบบของผู้เสียสละเพื่อผืนป่าของชาติ

เจ้าหน้าที่พิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาจเป็นหน่วยงานที่คุ้นหูคนไทย แต่หากลองนึกภาพพวกเขาเหล่านี้ เราคงเห็นแค่นายทหารชุดสีเขียวผู้มีหน้าที่อยู่ไกลปืนเที่ยง ทว่าเรื่องราวของบุรุษผู้สวมเครื่องแบบนี้มีสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น เมื่อหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขาเกี่ยวโยงกับผืนป่าของคนทั้งชาติ

เดิมชุดเครื่องแบบเจ้าหน้าที่พิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นเพียงชุดลำลอง เสื้อยืด กางเกงขายาวเท่านั้น ไม่มีเครื่องแบบเฉพาะ จนถึงสมัยที่ปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ เมื่อปี 2541 เลยมีคำสั่งให้มีชุดประจำตำแหน่งเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่

เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านั้นถูกออกแบบให้คล้ายชุดทหารเพื่อสร้างความน่าเกรงขามและดูเป็นระเบียบเหมาะกับงานราชการ ส่วนรายละเอียดนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามหน่วย ในส่วนของหน่วยพิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะเป็นชุดสีเขียวลายสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรืออย่างหน่วยพิทักษ์ไฟป่านั้นจะเป็นเครื่องแบบสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีลาย

สีกับรูปแบบของชุดเป็นจุดร่วมในเครื่องแบบของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในป่าลึกทั่วโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสีของเครื่องแบบเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ในอเมริกา ที่กำหนดให้มีสีเขียวเป็นโทนหลัก ทั้งชุดทางการและชุดปฏิบัติหน้าที่โทนสีเขียวนี้ถูกคิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการพรางตัวขณะปฏิบัติงานที่ต้องอาศัยความกลมกลืนกับผืนป่า ด้านรูปแบบ ชุดถูกออกแบบมาเพื่อการเดินเท้า จึงเน้นการปกปิดด้วยเสื้อและกางเกงขายาวเพื่อป้องกันอันตรายทั้งจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและสัตว์ร้าย จากแนวคิดเดียวกันนี้ทำให้สีและลักษณะพื้นฐานของเครื่องแบบเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามีความคล้ายคลึงกันทั่วโลก

วัสดุที่ใช้ทำตัวเสื้อและกางเกงขายาว คือผ้าฝ้ายผสมไนลอน มีคุณสมบัติทนทาน กันแดดกันลมได้ดี หากมองให้ลึกถึงลายผ้า ก็จะพบลายของกวาง เก้ง นก และพืชพันธุ์หายาก อันเป็นลายเอกลักษณ์เฉพาะหน่วยที่บอกชัดเจนถึงหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าของชุด และนอกจากใช้บอกสังกัดหน่วยงานแล้ว ยังช่วยพรางตัวขณะออกลาดตระเวนเพื่อการอนุรักษ์ได้อีกด้วย

หน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือการเดินสำรวจ บันทึกข้อมูลสัตว์และพันธุ์พืชในป่าลึกเป็นระยะเวลา 10-15 วันต่อเดือน นอกจากเครื่องแบบจะสื่อสารในเชิงสัญญะแล้ว ชุดยังนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการดำรงชีพและกู้ชีวิตในสถานการณ์คับขันได้ด้วย อย่างด้านหน้าเสื้อแขนยาวลายพรางที่เป็นซิปสั้นและกระดุมต่อกัน จะมีช่องสำหรับสอดไม้คานผ่านช่องซิปและกระดุมทะลุแขนเสื้อทั้งสองข้าง ทำให้เสื้อแปลงร่างเป็น เปลสนามหามคนเจ็บออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างดี

เครื่องแบบพิทักษ์ป่าที่ดูคล้ายชุดทหารยังอำนวยความสะดวกต่อการเข้าจับกุมหรือปฏิบัติภารกิจที่ต้องแสดงอำนาจความเป็นเจ้าหน้าที่ เช่น การเข้าจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้

ที่แปลกคือ ชุดของเจ้าหน้าที่นี้ไม่มีเครื่องหมายแสดงยศเหมือน ชุดราชการอื่นๆ แต่มีเพียงเครื่องหมายบอกสังกัดหน่วยงานส่วน พิทักษ์พันธุ์สัตว์ป่าบริเวณต้นแขนด้านขวา และเครื่องหมายบอกสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ต้นแขนด้านซ้ายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่อุทิศกายและใจเพื่อปกป้องผืนป่าของทุกคนในชาติ เครื่องหมายบอกยศนั้นคงไม่ทำให้เกิดความภูมิใจได้เท่ากับการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของความรักที่จะทำเพื่อส่วนรวมทั้งต่อธรรมชาติและโลกใบนี้


ชุดช่างเช็ดกระจกตึกใบหยก
ชุดที่มีราคาถึงชีวิต

สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ มักมีคนตัวเล็กอยู่เบื้องหลังเสมอ

ตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยตั้งเด่นเป็นสง่าใจกลางเมืองกรุง แสงสะท้อนของกระจกทั้ง 1,740 บานจะดูงดงามไม่ได้ หากไม่มีคนเช็ดกระจกที่ทำให้ภาพลักษณ์ของตึกใบหยกสวยงามสะท้อนเด่นกลางเมืองหลวง อุปกรณ์หลายอย่างช่วยให้คนเช็ดกระจกทำงานได้อย่างปลอดภัย เปรียบเสมือนเครื่องแบบที่ขาดไม่ได้ เพราะความสำคัญของมันมีค่าเท่ากับชีวิต

เดิมทีชุดสำหรับคนทำงานในที่สูง ถูกดัดแปลงจากอุปกรณ์ของนักสำรวจถ้ำ แต่เดิมใช้เชือกมะนิลาผูกติดจากด้านบนของถ้ำเพื่อโรยตัวลงมา ภายหลังใช้เหล็กตะขอคล้องผูกกับแผ่นไม้กลายเป็นเก้าอี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย เชือกจะถูกบีบกับห่วงโลหะช่วยชะลอการไหลของเชือก ถือเป็นอุปกรณ์โรยตัวชิ้นแรก ซึ่งต้องใช้มือคอยควบคุมเชือกตลอด

หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนจากเชือกเส้นใหญ่มาเป็นสายเข็มขัดหนังสัตว์ ช่วยบรรเทาการรัดเอวให้เจ็บน้อยลง ต่อมาเริ่มมีการผูกแบบ Half Harness ซึ่งรัดเอวและต้นขาทั้งสองข้างแทนการใช้เก้าอี้ไม้ จะช่วยพยุงตัวในการทำงานได้ดีกว่าเดิม

จากจุดเริ่มต้นที่แสนธรรมดา ประเทศในแถบยุโรปมีการศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์ทำงานที่สูงให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเพิ่มสายรัดที่หลังและไหล่เรียกว่าชุด Full Body Harness ซึ่งกลายเป็นชุดที่ใช้ทำงานบนที่สูงมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ช่างทาสีนอกอาคาร ช่างติดตั้งป้ายโฆษณา เหล่ากู้ภัย หรือช่างขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลลึก

เชือกของคนทำงานตึกสูงมีขนาดเล็กและมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าเชือกสำหรับปีนเขา ทำให้ผูกง่าย สะดวกในการขนย้าย ทั้งยังมีอุปกรณ์ป้องกันการตกเรียกว่า Fall Arrester หรือ Rope Clamp ติดไว้กับเชือกสลิงเส้นที่สอง เจ้าตัว Fall Arrester จะทำหน้าที่ล็อกเชือกไว้แทน หากมีเหตุ ผิดพลาดจนเชือกขาดและพลัดตก

จากเดิมที่อุปกรณ์โรยตัวทำได้แค่โรยตัวลงเท่านั้น ตอนหลังถูกพัฒนาให้สามารถยกตัวขึ้นได้ด้วยการถีบเชือกเพื่อส่งแรง โดยตำแหน่งของการติดอุปกรณ์โรยตัวจะอยู่ตรงเอว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้ควบคุมเชือกตอนโรยตัวได้อย่างสมดุลที่สุด และยังมีการออกแบบอุปกรณ์เสริมสำหรับห้อยถังน้ำหรือที่เช็ดกระจก ชื่อว่า Carabiner เป็นโลหะที่ทำมาจากอะลูมิเนียมและอัลลอยที่มีความแข็งแรงและน้ำหนักเบา

การทำงานเช็ดกระจกนั้นจะทำงานเป็นทีม นอกจากช่างเช็ดกระจก ยังต้องมีคนเฝ้าเชือกซึ่งมีหน้าที่ผูกเชือกในจุดที่เหล็กเจาะฝังไว้กับพื้น และตรวจสอบปลอกหุ้มเชือกว่าเปียกน้ำหรือมีรอยขาดข้างในหรือไม่ ในระหว่างที่เชือกวิ่งผ่านมือ ถ้าส่วนไหนของเชือกชำรุดจะสะดุดมือทันที

อาชีพนี้มีการฝึกซ้อมโรยตัวเพื่อช่วยคนหมดสติบนเชือกอยู่บ่อยครั้ง โดยใช้อุปกรณ์ Carabiner ที่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 1,500 กิโลกรัม มาเกี่ยวคล้องกับคนหมดสติ พร้อมทั้งปล่อยเชือกสลิงของคนหมดสติออกและดึงเชือกสลิงขึ้นไปด้านบน ที่ต้องซ้อมอย่างนี้เพราะคนทำงานต้องเจอ อากาศร้อนและไม่มีที่กำบัง อาจทำให้หมดสติและอันตรายถึงชีวิตได้

การดูแลรักษาอุปกรณ์และเครื่องแบบเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะเชือกสลิงที่ไม่ควรลากหรือเสียดสีกับของมีคม ที่สำคัญคือห้ามโดนน้ำ ยิ่งถ้าโดนของเหลวที่มีความเป็นกรดก็อาจซึมเข้าเส้นเชือกจนเกิดการขาดจากข้างใน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน คนทำงานจึงต้องหมั่นตรวจสอบ ทำความสะอาดอุปกรณ์และเชือกอย่างน้อยเดือนละครั้ง

ในอนาคต การทำงานเช็ดกระจกยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิม ที่ต่างออกไปคงเป็นเรื่องของอุปกรณ์ที่มีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น แม้เทคโนโลยีจะก้าวไกลและอุปกรณ์ได้รับการพัฒนาให้ดีขนาดไหน สิ่งที่ต้องมีมากที่สุดในการทำงานคือ สติ เพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอจนอาจทำให้ชีวิตที่แขวนบนเส้นด้ายนั้นหล่นหายไปด้วย


ชุดมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ชุดของผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะทั่วทุกซอย

‘มอเตอร์ไซค์รับจ้าง’ เป็นหนึ่งในอาชีพที่ใกล้ชิดกับชีวิตคนกรุง มากที่สุด

ระยะใกล้ที่ว่า อยู่ในระยะประชิดบนเบาะมอเตอร์ไซค์ ไม่มียานพาหนะสาธารณะชนิดไหนทำให้เรา ‘ใกล้ชิด’ กับผู้ขับขี่ได้ถึงเนื้อถึงตัวขนาดนี้อีกแล้ว พวกเขาคือกลุ่มคนที่เราฝากชีวิตในชั่วโมงเร่งด่วนมากว่า 30 ปี

เสื้อกั๊กสีส้มสะดุดตา หรือที่เรามักเรียกกันว่า ‘เสื้อวิน’ พร้อมด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ใจ กลายเป็นภาพจำอย่างหนึ่งของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่จะมีใครรู้บ้างว่าแรกเริ่มเดิมที เสื้อวินในกรุงเทพมหานครนั้นห่างไกลจากที่เห็นเป็นอย่างมาก มีการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัยที่บ่งบอกสภาพสังคมในยุคนั้น

‘ยุคอาชีพอิสระ’

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อนที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ทั่วถึงเหมือนปัจจุบัน พอตกเย็นทางเดินในซอยต่างๆ จะเริ่มมืด ด้วยความเป็นห่วงในความปลอดภัยของเพื่อนบ้าน คนในซอยงามดูพลีที่มีมอเตอร์ไซค์จึงจัดตั้งกลุ่มอาสาทำหน้าที่รับส่งคนรู้จักเข้า-ออกซอยโดยไม่คิดเงิน

ต่อมากลุ่มนายทหารเรือในซอยงามดูพลีก็ได้ตั้งชมรมมอเตอร์ไซค์แฟลตทหารเรือขึ้นเพื่อรับส่งคนในช่วงเช้าและเย็นโดยคิดค่าบริการเพียง 2-3 บาทต่อคน ในปี พ.ศ. 2525 กองกำกับการตำรวจนครบาลได้ประกาศว่าการใช้มอเตอร์ไซค์ให้บริการขนส่งผู้โดยสารไม่ผิดกฎหมาย คนจึงหันมาประกอบอาชีพนี้มากขึ้นจนกลายเป็นอาชีพที่บูมสุดๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ด้วยความที่เป็นอาชีพอิสระ ปราศจากการควบคุมของรัฐ เครื่องแบบที่สวมใส่ในตอนนั้นจึงมีสีสันและดีไซน์แตกต่างกันไปตามแต่หัวหน้าวินจะออกแบบ มีทั้งเสื้อแขนกุด แขนสั้น แขนยาว สีสันก็ละลานตาตั้งแต่สีพื้นๆ ไปจนถึงสีสุดอลังการอย่างสีทอง ถ้าซุ้มไหนหัวหน้าวินมีหัวแฟชั่นหน่อย เสื้อวินก็จะดูเท่และเก๋ขึ้นมาอีกระดับ เรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของเสื้อวินสุดๆ แต่แล้วแฟชั่นดังกล่าวก็ต้องสิ้นสุดลงในเวลาต่อมา

‘ยุคจัดระเบียบ’

เสื้อวินมอเตอร์ไซค์ในยุคนี้จะมีแค่สีส้มและเป็นเสื้อกั๊กเท่านั้น เนื่องจากปัญหามาเฟียวินที่เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์จากผู้ขับขี่ ในปี พ.ศ. 2546 ภาครัฐจึงได้มีการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ขึ้น โดยทำให้วินรับจ้างอิสระเข้ามาอยู่ในการดูแล ด้วยการลงทะเบียนกับเขตท้องที่ และจัดทำเสื้อวินที่ถูกต้องขึ้นตาม พ.ร.บ. จักรยานยนต์สาธารณะ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเสื้อวินมอเตอร์ไซค์สีส้มที่เราคุ้นตากันทุกวันนี้

‘ยุคแจกลายเซ็น’

ด้วยความที่อาชีพนี้เป็นที่นิยม เพราะสร้างรายได้จำนวนมาก ปัญหามาเฟียวินยังคงระบาด และวินเถื่อนยังมีการก๊อบปี้เสื้อวินที่ใครก็หาใส่ และประกอบอาชีพนี้ได้ สร้างความวุ่นวายและไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร ภาครัฐจึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มลายเซ็นของผู้อำนวยการเขตและผู้กำกับ สน. พื้นที่นั้นๆ ลงไปบนเสื้อ เพื่อป้องกันการก๊อบปี้เสื้อวิน แต่เพราะวินมีจำนวนมากและกระจายตัวอยู่ในทุกเขต การดูแลจึงไม่ทั่วถึง บางวินก็ทำกันได้ไม่นานและเลิกไปในที่สุด

‘ยุคเสื้อหลากสี’

เพราะกรุงเทพฯ มีจำนวนเขตค่อนข้างมาก จึงเกิดปัญหาเรื่องเส้นทางการขับวินทับซ้อนกัน บางครั้งนำมาซึ่งความเข้าใจผิดในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจและคนขับวินด้วยกัน จึงให้แต่ละเขตไปกำหนดสีเสื้อวินประจำเขตขึ้น เช่น บางรักสีเขียว บางกอกใหญ่สีแดง แต่ด้วยจำนวนเขตที่มากถึง 50 เขต จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาสีที่ไม่ซ้ำกัน 50 สีได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดความสับสน เสื้อวินหลากสีจึงถูกยกเลิกไปในที่สุด

‘ยุค Back to Basic’

เมื่อการใช้เสื้อหลากสีไม่ประสบความสำเร็จ ทางเขตจึงให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างกลับไปใช้สีส้มตามเดิม เพราะเป็นสีที่เห็นได้ชัดเจนเวลากลางคืน แต่ที่เรายังเห็นว่ามีสีอื่นๆ อยู่ก็เพราะเขาตัดกันมาแล้ว ทางการก็เลยอนุโลมให้ใส่ทำงานได้ตามปกติ

ด้วยความที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นอาชีพที่ต้องเผชิญกับแสงแดดตลอดเวลา เนื้อผ้าที่ใช้ทำเสื้อวินจึงมีส่วนผสมของเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ทนต่อความร้อนและแสงแดด แต่ละคนจะมีเสื้อวินเฉลี่ยคนละ 2-3 ตัวเป็นอย่างต่ำ สามารถหาซื้อได้ตามร้านตัดเสื้อในราคา 250 บาท ยกเว้นเสื้อวินตัวแรกที่ไม่สามารถสั่งตัดหรือซื้อเองได้จากร้าน เพราะต้องให้เขตเป็นคนออกให้

เสื้อวินอาจไม่ใช่เสื้อที่ได้มายากเย็น ไม่ใช่เครื่องแบบที่ดูดีมีราคาเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ แต่คุณค่าที่แท้จริงสำหรับคนที่ใส่เสื้อวินคงไม่ใช่แค่การขับมอเตอร์ไซค์เป็นหรือลงทะเบียนถูกต้อง แต่คือความชำนาญเรื่องถนนหนทาง มีใจรักการบริการ ซื่อสัตย์กับตัวเองและลูกค้า อีกทั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นอันดับแรก

ระยะห่างบนเบาะมอเตอร์ไซค์ ไม่เพียงทำให้เกิดความใกล้ชิดในหน่วยความยาว แต่ยังทำให้เกิดความใกล้ชิดทางความรู้สึกว่ามีอีกหนึ่งชีวิตฝากไว้อยู่เบื้องหลัง รอให้พวกเขาส่งให้ถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ


ชุดดับเพลิงในอาคาร
ชุดปกป้องของผู้กล้าเสี่ยงชีวิตบนกองเพลิง

ทุกครั้งที่เกิดอันตราย สัญชาตญาณมนุษย์บังคับให้เราวิ่งหนี

มีเพียงไม่กี่อาชีพ ที่ต้องต่อสู้กับความกลัว วิ่งเข้าหาอันตรายเพื่อช่วยอีกหลายชีวิตที่กำลังจะสูญสิ้น ยิ่งรู้ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อความเท่ แต่เป็นวิถีชีวิตที่ต้องปฏิบัติทุกวันคืน

นักดับเพลิง คือหนึ่งในอาชีพเหล่านั้น พวกเขาไม่ได้ใช้แค่ใจ แต่ต้องมีสิ่งที่ช่วยปกป้องให้ฮีโร่ผู้นี้มีชีวิตรอด นั่นคือชุดดับเพลิงที่ถูกออกแบบ เป็นพิเศษ และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน

สมัยก่อน ชุดของนักดับเพลิงไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าปัจจุบัน เพราะนักดับเพลิงรุ่นแรกๆ ไม่เข้าไปในอาคาร ดังนั้นชุดจึงเน้นเรื่องให้ความอบอุ่นกับร่างกายและความแห้งมากกว่าการป้องกันไฟ ผ้าที่ใช้ทำเสื้อโค้ตจะ  ทำจากขนสัตว์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเสื้อแจ็กเก็ตที่ทนไฟได้มากขึ้นแทน หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้มาเรื่อยๆ เพื่อให้ทนไฟได้มากที่สุด และมีการเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ ลงในชุดมากขึ้น อาทิ ทำให้น้ำจากร่างกายระเหยออกไปได้เร็วที่สุด

นักดับเพลิงไม่ได้ทำแค่ดับไฟอย่างเดียว แต่ยังช่วยทำงานบรรเทาภัยอื่นๆ เช่น ช่วยคนที่ติดอยู่ในตึกถล่ม จับสัตว์ร้ายที่หลุดเข้ามาในบ้านพักอาศัย รวมไปถึงการป้องกันการเกิดไฟไหม้ในชุมชน

งานที่หลากหลายทำให้ชุดของนักดับเพลิงมีมากตามกัน ชุดดับเพลิงสีส้มที่เราคุ้นตา เป็นชุดสำหรับใส่ออกไปปฏิบัติภารกิจบรรเทาภัยต่างๆ การที่ต้องมีเครื่องแบบก็เพื่อให้การทำงานดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น

แต่หากพูดถึงชุดที่ใช้เวลาเกิดเพลิงไหม้ จะมีด้วยกัน 4 แบบคือ ชุดดับเพลิงนอกอาคาร ชุดดับเพลิงในอาคาร ชุดป้องกันสารเคมี และชุดป้องกันเชื้อโรคในยามที่เกิดโรคระบาด ซึ่งชุดสุดท้ายจะอยู่ที่กรมควบคุมและป้องกันโรค ไม่ได้อยู่ประจำสถานีดับเพลิงแต่อย่างใด

สำหรับนักดับเพลิงที่อยู่นอกอาคาร พวกเขามีหน้าที่ฉีดน้ำสกัดเพลิงไหม้ ชุดสีน้ำเงินเข้มที่พวกเขาใส่ทำจากวัสดุกันน้ำและกันไฟ เอาไฟมาจี้ก็ไม่ไหม้ ต้องสวมหมวกที่มีกระจกกันหน้า เพื่อป้องกันสิ่งที่อาจกระเด็นเข้าตาได้ แต่ชุดของพวกเขาไม่สามารถทนความร้อนได้สูงนัก

ส่วนนักดับเพลิงที่ต้องลุยไฟเข้าไปในตัวอาคาร หน้าที่ของพวกเขาคือการถือสายยางเข้าไปฉีดดับไฟและช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ตั้งแต่คนยันสัตว์เลี้ยง ชุดของพวกเขาจึงต้องมีการออกแบบที่พิเศษขึ้นไปอีก มีการใส่น้ำยาป้องกันไฟลงในเนื้อผ้า ชุดนี้จึงสามารถกันไฟได้หลายหมื่นองศาเซลเซียส ทำให้ชุดมีราคาสูงถึงหลักแสนและมีอายุการใช้งานจำกัด ต้องคอยตรวจสอบซ่อมบำรุงกันเป็นระยะ และเพราะมีน้ำยาเคลือบอยู่ในเนื้อผ้า ชุดของนักดับเพลิงจึงไม่สามารถซักปกติได้ ต้องส่งไปซักกับร้านที่รับซักชุดดับเพลิงโดยเฉพาะ ซึ่งราคาก็สูงมากจึงไม่ค่อยนิยมซักกันเท่าไหร่

ชุดป้องกันสารเคมี เป็นชุดที่มีคุณสมบัติพิเศษขึ้นไปอีก จะใช้เมื่อเกิดไฟไหม้ หรือมีการรั่วไหลของสารเคมี เช่น โรงงานน้ำมันไฟไหม้ ชุดจะมีคุณสมบัติช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สวมใส่สูดแก๊สพิษเข้าไป ตัวชุดเองก็กันไฟได้กว่าแสนองศาเซลเซียส แต่เพราะราคาที่สูงถึงหลักล้าน ทำให้ไม่ใช่ทุกสถานีดับเพลิงจะมีชุดนี้ประจำการอยู่

แม้ชุดดับเพลิงจะมีหลายสี แต่เวลาเกิดเพลิงไหม้จริงๆ แล้วจะเป็นสีอะไรไม่ได้มีความสำคัญเลย เพราะต้องตัดไฟฟ้าก่อนจึงจะฉีดน้ำได้ ทุกอย่างรอบตัวจึงมืดไปหมด มืดในที่นี้คือแม้แต่คนที่อยู่หน้าเรา 1 ก้าวก็มองไม่เห็น ชุดดับเพลิงจึงต้องมีแถบสีสะท้อนแสง 3 แถบ เพื่อบอกตำแหน่งให้เพื่อนร่วมผจญเพลิงรับรู้

ดูภายนอกชุดดับเพลิงเหมือนจะใส่ยาก แต่แท้จริงการสวมใส่ง่ายกว่า ที่คิด เพราะตัวชุดถูกออกแบบให้ใส่ง่ายและเร็ว เนื่องจากเวลาเกิดเพลิงไหม้นักดับเพลิงต้องไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 8 นาที เราจึงเห็นนักดับเพลิงหลายคนขนชุดไปใส่บนรถแทน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายเร็วที่สุด

ปัจจุบันชุดดับเพลิงมีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า CBRN (เคมี ชีวภาพ รังสี และนิวเคลียร์) ซึ่งจะถูกนำมาใช้กับชุดของพนักงานดับเพลิงในอนาคต เพราะนอกจากจะกันไฟได้แล้ว ยังใช้ป้องกันสารอันตรายต่างๆ ที่ผู้ก่อการร้ายนิยมใช้ได้อีกด้วย

ชุดของนักดับเพลิงที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีทั้งผลิตในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ก็ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือทางฝั่งยุโรปเสียก่อนจึงจะนำมาใช้งาน เพราะชุดที่ขาดมาตรฐานก็ไม่ต่างจากการโยนคนเข้ากองไฟ

แน่นอนว่าคงไม่มีนักดับเพลิงคนไหนยอมทำ


ชุดนักมายากล
ชุดแห่งความลับที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ฟังดูไม่น่าเชื่อใช่ไหม ที่ของเหล่านี้จะถูกซ่อนจนหมดภายในเครื่องแบบ 1 ชุด

ด้วยศาสตร์ของมายากล สิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ก็เกิดขึ้นได้ และเครื่องมือสำคัญที่นักมายากลใช้ในการสร้างความบันเทิง คือชุดนักมายากลที่มีประวัติยาวนานและมีความลับที่ต้องเก็บรักษาไว้ เป็นจรรยาบรรณที่นักมายากลทุกคนต้องยึดถือ

ที่มาของชุดมายากลสีดำ ต้องย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 5 ในยุคอียิปต์โบราณ พ่อมดกับนักมายากลคือคนคนเดียวกัน นอกจากมีความรู้เรื่องโหราศาสตร์ ยังเชี่ยวชาญเรื่องการสร้างภาพลวงตา อาทิ สามารถเสกให้คนลอยได้อย่างปาฏิหาริย์ จนใครต่อใครต่างหวาดกลัวในอำนาจเหล่านี้ พ่อมดจึงมีบทบาทในการปกครองคนและสร้างความเชื่อทางศาสนา

ยุคนั้นพ่อมดมีสถานะสูงศักดิ์ การแสดงกลถือเป็นศิลปะที่สงวนไว้ให้ชนชั้นสูงดูเท่านั้น คนทั่วไปไม่มีสิทธิ์ได้เห็น ต่อมาเมื่อพ่อมดเริ่มออกเดินทางไปกับกลุ่มชาวยิปซี ศาสตร์การแสดงกลจึงถูกเผยแพร่ในวงกว้าง เกิดนักมายากลตามพื้นที่ชุมชนต่างๆ ที่เล่นกลได้แบบเดียวกับพ่อมด แต่ไม่มีนัยของพลังอำนาจอันเร้นลับใดๆ

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1880 เริ่มมีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่า นักมายากลกับพ่อมดนั้นใช้กลเม็ดแบบเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่พ่อมดเน้นสร้างความเชื่อ ในขณะที่นักมายากลสร้างความบันเทิงและรอยยิ้มให้ผู้ชม

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักแสดงมายากลที่เล่นบนเวทีจะใส่ชุดที่ใกล้เคียงกับคนดูมากที่สุด ซึ่งก็คือชุดสูทสีดำ เพื่อให้คนดูรู้สึกว่านักมายากลมีสถานะไม่ต่างกับพวกเขา แต่กลับสร้างสรรค์มายากลออกมาได้ ชุดสูทสีดำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักมายากลทั่วโลก ที่ใช้ใส่แสดงจนถึงปัจจุบัน

ชุดนี้มีชื่อทางการว่า ชุดมีหาง (tailcoat) แบ่งได้ 2 แบบคือ ชุดสูทมีหางใช้ในเวลากลางวัน และชุดทักซิโด้มีหางใช้ในเวลากลางคืน การดูแลรักษาชุดในประเทศเมืองหนาวจะไม่นิยมซักชุด แต่จะใช้แปรงปัดเพื่อทำความสะอาดแทน

หลังจากชุดสูทมีหางกลายเป็นภาพลักษณ์ของอาชีพนักมายากลแล้ว ตัวชุดจากเดิมที่ไม่มีความลับ เริ่มมีการพัฒนาออกแบบวิธีซ่อนสิ่งของต่างๆ เข้าไปในชุดอย่างแยบยล จนชุดนักมายากลกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแสดง ทุกคนอาจเห็นชุดนักมายากลในการแสดงเพียงอย่างเดียว แต่ชุดนี้กลับถูกใช้ในการซ้อมด้วยแทบทุกครั้ง เพราะนอกจากคนใส่จะต้องเข้าใจชุดแล้ว ยังต้องแตกฉานเพื่อจะพลิกแพลงกลนั้นอีกด้วย

แม้คนจะเปลี่ยนการแต่งตัวไปตามยุคสมัย แต่นักมายากลยังใช้ชุดเดิม หากมองด้วยตาเปล่าใครจะเชื่อว่านกจำนวน 13 ตัวจะสามารถซ่อนอยู่ภายในชุดสูทสีดำอย่างไม่มีพิรุธ เสื้อนอกที่ออกแบบมาให้ข้างหน้าสั้นและข้างหลังยาว ทำให้มองดูแล้วเหมือนไม่มีที่ซ่อน แขนยาวของเสื้อสีดำสนิทช่วยในการพรางอวัยวะได้เป็นอย่างดี เสื้อกั๊กที่มีช่องสำหรับใส่ของมากกว่า 70 ช่อง นอกจากนี้ยังมีไม้แวนที่เบี่ยงเบนความสนใจ หรือการหงายหมวกเพื่อเผยนกหรือดอกไม้สร้างความตื่นเต้นให้คนดู กลไกทุกอย่างในชุดล้วนมีความลับทั้งสิ้น

กว่าจะได้ชุดนักมายากล คนแสดงกลจึงต้องกระซิบบอกรายละเอียดของกลให้กับช่างตัดชุดที่ออกแบบมาเองอย่างละเอียด โดยการตัดชุดนักมายากลในอนาคตมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปในรูปแบบที่เรียบง่าย เหมาะกับสภาพอากาศและบุคลิกผู้สวมใส่ที่สุด

เป็นที่รู้กันดีว่ากฎข้อแรกของการเป็นนักมายากลคือ ‘ห้ามเปิดเผยความลับ’ นักมายากลจึงมีหน้าที่ปกปิดความลับในชุดแสนธรรมดานี้ แม้แต่เพื่อนร่วมอาชีพด้วยกันก็ไม่ควรเปิดเผย

เพราะถ้าวันหนึ่งความลับชุดนี้ถูกเปิดเผยเมื่อไหร่ คงถึงคราวสูญสลายของอาชีพนี้


ใครอยากสัมผัสประสบการณ์ฝึกงานที่เข้มข้นทุกขั้นตอนแบบนี้ โครงการ a team junior 15 เปิดรับสมัครแล้วที่ https://bit.ly/2MMC4yl ถึง 31 มีนาคมนี้นะ

AUTHOR