The Woman with a Camera ภาพสตรีทของหญิงสาวที่ถ่ายทอดความจริงแฝงด้วยอารมณ์ขัน

“การถ่ายภาพสตรีทเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีตรงหน้าเท่านั้น ทุกครั้งเรารู้สึกว่านั่นคือโอกาสเดียว”

ปูเป้–จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพสตรีทหญิงวัย 25 ปี ให้คำนิยามการถ่ายภาพสตรีทที่แตกต่างจากการถ่ายภาพทั่วไป ซึ่งผู้ถ่ายไม่สามารถควบคุมภาพที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นได้ แม้กระทั่งการแต่งภาพหลังการถ่ายเพื่อให้ภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับวงการภาพสตรีท ทำให้สามารถวัดความเก๋าเกมของช่างภาพที่ถ่ายภาพนั้นได้

ถ้าคุณเห็นภาพสตรีทของปูเป้แล้วอดยิ้มไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เราเชื่อว่าหลายๆ คนที่เห็นภาพของปูเป้ต่างมีอาการเช่นนี้ เพราะเธอสอดแทรกความขบขันลงในภาพจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความประทับใจให้กับต่างชาติมาแล้ว จากเวทีระดับโลกอย่าง Brussels Street Photography Festival, EyeEm Street Photography Awards 2016 และล่าสุด StreetFoto San Francisco 2017 ที่เข้ารอบถึงสองรายการด้วยกัน

ฝีมือการลั่นชัตเตอร์ของเธอมีความโดดเด่นและฉายแววในสถาบันที่เธอศึกษาต่อที่นิวยอร์กอย่าง International Center of Photography (ICP) งานทีสิสของเธอเป็นเพียงงานเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้ลงนิตยสาร The New Yorker รวมถึงนิตยสาร pdn ร่วมกับเพื่อนในรุ่นอีกสองคน

“ถ้าอยากเก่งก็ต้องฝึก สำหรับเราความเก่งมีทางเดียวคือต้องฝึกและไม่มีทางลัดอื่น ต้องทำไปเรื่อยๆ ล้มเหลวบ้าง ทำได้บ้าง แล้วก็เรียนรู้” เธอเชื่อว่าหนทางของการพัฒนาคือความกล้าที่จะล้มซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการฝึกฝน และนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนให้ผลงานก้าวต่อไปข้างหน้า บทสนทนาต่อจากนี้ยืนยันกับเราว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือความบังเอิญ

ในวงการภาพสตรีทมีช่างภาพผู้หญิงเยอะไหม

น้อยมาก  มีไม่กี่คนบนเว็บไซต์ Street Photo Thailand อย่างทิพวัลย์ เกตุสมบูรณ์, ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ แต่ละคนเป็นช่างภาพสตรีทที่มีลักษณะต่างกัน ทิพวัลย์เป็นช่างภาพสตรีทสายสารคดี ซึ่งช่างภาพสายสารคดีกับสตรีทมีจุดกึ่งกลางร่วมกันอยู่ ส่วนผ้าป่านหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับงานจัดแสดงภาพสตรีทต่างๆ

ส่วนที่นิวยอร์ก เราเรียนหลักสูตร General Studies in Photography ในสถาบัน International Center of Photography (ICP) เป็นคนเดียวที่ถ่ายภาพแบบสตรีท จริงๆ ช่างภาพสตรีทผู้หญิงที่เมืองนอกก็มีน้อยเหมือนในไทย

เริ่มถ่ายภาพสตรีทเมื่อไหร่

หลังจบจากภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราบังเอิญเห็นกรุ๊ป Street Photo Thailand ในเฟซบุ๊ก พอเข้าไปนั่งดูรูป เรารู้สึกว่าทุกคนโพสต์รูปสวยดี น่าสนใจ ทุกเดือนจะมีการรวมรูปเด็ดๆ แล้วทำเป็น e-Magazine แต่ละรูปเจ๋งมาก เราอยากถ่ายแบบนั้นบ้าง การถ่ายรูปสวยๆ อย่างภาพแนว Landscape ส่วนใหญ่ในเมืองไทยจะเน้นไปที่อุปกรณ์ แต่เรามีแค่กล้องและเลนส์หนึ่งตัว แล้วการถ่ายภาพแบบสตรีทคือรูปแบบที่เราสามารถถ่ายได้ ใช้ไอเดียเป็นหลัก พอเริ่มถ่ายแล้วสนุกดี ตอนนั้นในกรุ๊ปมี Project 365 ที่ให้สมาชิกโพสต์รูปสตรีททุกวัน พี่ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ เป็นหนึ่งคนในที่เล่น เราติดตามดูรูปเขาทุกวันก็ เฮ้ย! ทำไมคนนี้เก่งจัง รูปของพี่เขาดีมากจนเรากลายเป็นแฟนคลับ ตามไปเวิร์กช็อปกับพี่เขา แล้วหลังจากนั้นก็ถ่ายรูปสตรีทมาตลอด พี่ทวีพงษ์เป็นแรงบันดาลใจที่ใหญ่มากสำหรับเรา

ทำไมเลือกเล่าเรื่องด้วยการถ่ายภาพมากกว่าการทำหนัง ในเมื่อมหาวิทยาลัยที่เรียนมาก็เน้นด้านทำหนัง

จริงๆ เรายังชอบทำหนังมาก แต่ว่าการทำหนังมันใช้พลังงานสูง เราทำหนังคนเดียวไม่ได้เพราะต้องมีทีมงาน นักแสดง และตากล้อง อาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน การที่หนังดีหรือไม่ดีมันขึ้นอยู่กับคนหลายคนมาก เราเป็นคนที่ไม่กล้าสั่งคนทำให้ควบคุมอะไรยาก การถ่ายรูปสตรีทเราสามารถควบคุมได้ง่ายกว่า ส่วนใหญ่มาจากความคิดเราเอง แต่ก็ยังอยากทำหนังอยู่นะ ยินดีที่จะไปออกกองช่วยคนอื่น เพราะว่าการทำหนังก็คือการเล่าเรื่องแล้วเราเป็นคนชอบเล่าเรื่อง จริงๆ เราไม่ได้เรียกตัวเองว่าช่างภาพนะ เราเป็นนักเล่าเรื่องมากกว่า ด้วยความที่เข้าใจวิธีการเล่าเรื่อง ทำให้สามารถทำงานในรูปแบบไหนก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องถ่ายรูปอย่างเดียว สามารถเขียนเล่าเรื่องหรือทำหนังก็ได้

วิธีถ่ายภาพสตรีทของคุณเป็นอย่างไร

เราจะมองหาหลักสามสิ่งในภาพ คือ สี เส้น (กราฟิก) และเรื่อง ถ้ามีหนึ่งในสามอย่างนี้เราจะเริ่มสนใจถ่าย แต่ถ้ามีไม่ครบเราจะรู้สึกว่าภาพไม่น่าสนใจ บางครั้งเราจะเดาเหตุการณ์ว่าอาจมีเรื่องที่ดีแล้วก็หามุม มันจะยากตรงที่เราต้องคิดในเสี้ยววินาทีนั้น ไม่งั้นเรื่องนั้นจะหายไป เช่น สุนัขกำลังกัดกัน เราจะทำยังไงให้จัดองค์ประกอบภาพได้ดีภายในวินาทีนั้น ทักษะนี้มาจากการหมั่นฝึกฝนถ่ายภาพ

เวลาที่เราเดินเข้าใกล้ subject หรือคนก็จะทำเป็นไม่สนใจสิ่งนั้น ถ้าเราอยากมองหรือหาตำแหน่งโฟกัสจะใช้หางตาเหลือบดูปฏิกิริยาว่าเป็นบวกหรือลบ มีท่าทียังไง ถ้าเขาไม่พอใจเราจะทำเป็นถ่ายอย่างอื่น บางทีความไม่สมบูรณ์แบบก็ทำให้ภาพสตรีทดูสวยได้ มีครั้งหนึ่งเราเดินข้ามถนนนำหน้าคนใส่ชุดมาสคอตกล้วย จนเหลือแค่โอกาสสุดท้ายเราเลยเอี้ยวตัวหันหลังไปถ่ายช็อตเดียว เปรี้ยง! เชื่อมั้ยรูปนั้นองค์ประกอบ มุมมอง ดีและน่าสนใจมากๆ

ความท้าทายของการถ่ายภาพสตรีทคืออะไร

คุณไม่รู้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะคาดเดาอะไรไม่ได้ คือ ณ ตอนที่กำลังถ่ายรูปอาจเป็นรูปธรรมดา แต่วินาทีถัดมาอาจเป็นรูปที่ได้รางวัลเลยก็ได้ อย่างรูปที่ซานฟรานซิสโก ถ้าไม่มีเด็กวิ่งออกมาก็ไม่เข้ารอบหรอก หรือถ้าวินาทีนั้นคนไม่ยืนแยกกันก็จะไม่ได้รูปช็อตนั้น มันคือความท้าทายของเราที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะเราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด บางทีเหตุการณ์นั้นเกิดแค่เสี้ยววินาทีเดียวแล้วเราจะถ่ายทันไหม ก็ต้องมาดูองค์ประกอบในรูปด้วยว่าดีหรือเปล่า ถ้าถ่ายทันรูปนั้นก็อาจเป็นรูปที่ได้รางวัล

ภาพสตรีทต้องการความจริงขนาดไหน

พี่ทวีพงษ์เคยพูดกฎเหล็กไว้ว่า ‘ไม่เอาเข้าและไม่เอาออก’ หมายถึงไม่ใช้โปรแกรมตกแต่งภาพเพื่อเพิ่ม subject อะไรลงไปในภาพหรือลบสิ่งที่เราไม่ต้องการออก นี่เป็นกฎเหล็กของช่างภาพสตรีท รวมถึงห้ามจัดฉากตอนถ่ายไม่ว่าจะขยับใบไม้หรือทำให้ subject นั้นๆ หยุดเพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการ ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้เมื่อไหร่คือผิด แต่จะมีคนกึ่งจัดฉากเหมือนกันนะ เช่น สมมติว่าเรากำลังจะถ่ายนกแต่อยากให้นกบินก็ส่งเสียงกระแอมใส่ หรืออยากถ่ายสุนัขก็เอาขนมมาดึงความสนใจ แต่เราไม่เคยทำนะ รู้สึกผิดกับตัวเอง

การเป็นช่างภาพสตรีทผู้หญิงมีข้อจำกัดอะไรบ้าง

ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีสำหรับเราคือ ภายนอกเราดูเป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์ดี มีวันหนึ่งเราถ่ายรูปเด็กที่นิวยอร์ก พ่อแม่เขาพอเห็นว่าเป็นผู้หญิงก็ยอมให้ถ่าย แต่รุ่นพี่เราเป็นผู้ชายเล่าให้ฟังว่าเคยไปถ่ายรูปเด็กเหมือนกันแต่พ่อแม่เขาปรี่เข้ามาถามว่าถ่ายอะไร ไม่ให้ถ่ายนะ ส่วนข้อเสียคือ เราไม่กล้าออกไปถ่ายรูปตอนกลางคืนหรือที่เปลี่ยวๆ คนเดียว และเรื่องสรีระร่างกาย บางครั้งเวลาต้องใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีน้ำหนักเยอะเราไม่สามารถแบกได้ หรือถ้าแบกได้ก็จะเคลื่อนตัวช้ากว่าผู้ชาย แต่ช่างภาพผู้หญิงที่เก่งๆ เขาจะมีผู้ชายคอยแบกอุปกรณ์เหล่านี้ให้ ถ้าเปรียบคือ ผู้ชายเสมือนมือ ส่วนช่างภาพผู้หญิงคือตา

คุณพอจะบอกได้ไหมว่ารูปที่ดีสำหรับคุณเป็นอย่างไร

ตอนเรียนที่นิวยอร์ก คำถามแรกที่ครูจะถามคือดูแล้วรู้สึกอะไร เทคนิคการวิจารณ์ของเขาจะมีอยู่สามอย่าง หนึ่ง ดูแล้วเห็นอะไรก่อน สมมติว่าถ่ายเลือดมา หนึ่งคือ เห็นเลือด สอง เรารู้สึกยังไงกับเลือด เลือดในรูปนั้นเป็นอย่างไร อาจจะดูน่ากลัวหรือถ้าเลือดปลอมก็จะกลายเป็นตลก และสาม มีเรื่องราวหรือเบื้องหลังที่ลึกกว่านั้นไหม เราอยากให้คนรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้นรูปที่ดีเมื่อสื่อสารออกไปมันต้องสร้างอิมแพกต์ให้คนที่เห็นได้

นอกจากความตลกแล้ว คุณยังถ่ายทอดอะไรลงในภาพ

อารมณ์ ไม่เฉพาะกับภาพสตรีทเท่านั้น อย่างรูปในงานแต่งหรือพรีเวดดิ้งถ้าเราถ่ายแบบเซตทุกอย่าง ไฟ ฉาก แม้กระทั่งท่าโพสต์ของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ภาพที่ออกมาจะไร้ชีวิตชีวา คือภาพสมบูรณ์แบบก็จริงแต่เวลามองภาพเราไม่ได้รู้สึกว่าทั้งคู่รักกัน ขณะที่บางภาพไม่ได้สมบูรณ์ ท่ายืนสบายๆ ชุดมีจุดที่ยับบ้าง แต่อารมณ์ของเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวที่สื่อออกมามันทำให้เรารู้สึกถึงอารมณ์ของภาพได้

1 ปีที่เรียนที่นิวยอร์กคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

เมืองนี้สนับสนุนให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องพยายามทำตัวเองให้เป็นเหมือนคนอื่น เพราะจริงๆ เราเป็นคนที่โง่เทคนิคแต่เน้นเรื่องราว เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ปกติเวลาทำภาพส่งงานจะมีคนที่ทำไซส์เล็กบ้าง ไซส์ใหญ่บ้าง ตัดรูปแล้วแปะบ้าง เราเลยลองส่งด้วยวิธีพรินต์รูปลงแผ่นใส ที่จำได้แม่นคือครูพูดว่า ‘Don’t kill your photo!’ คุณกำลังทำลายรูปภาพของตัวเอง เพราะรูปเราเรื่องราวแข็งแรงมากพอที่จะไม่ต้องใช้วิธีการเพื่อช่วยเล่าเรื่อง วันนั้นเป็นวันที่ทำให้เรากลับมานั่งคิดกับตัวเอง ในเมื่อเราไม่เก่งเทคนิค แต่ถ้าเราทำให้ภาพมีเรื่องราวที่แข็งแรงได้มาก สิ่งนั้นน่าจะทำให้เรามั่นใจขึ้น และความมั่นใจจะทำให้เราไม่เขวไปตามคนอื่น สุดท้ายพองานได้รับการยอมรับ เราจะรู้สึกว่าการเป็นตัวของตัวเองดีที่สุดแล้ว

จุดแข็งอะไรในตัวที่ผลักดันให้คุณก้าวไปไกลระดับโลก

จุดแข็งที่สำคัญที่สุดคือเราเป็นคนสู้ ไม่ยอมแพ้ แพ้ใครก็ได้แต่อย่าแพ้ตัวเอง ตอนมาอยู่นิวยอร์กเราขยัน คิดว่าต้องทำให้เต็มที่แล้วเราจะไม่เสียใจทีหลัง ถึงไม่สำเร็จแต่ก็ได้เรียนรู้แล้ว วันต่อไปก็ทำใหม่ อาจจะด้วยทัศนคติแบบนี้ที่ทำให้งานของเราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจุดแข็งด้านการถ่ายภาพคือเราสามารถเล่าเรื่องราวและสื่ออารมณ์ได้ดี

ปี 2016 รูปภาพของคุณเข้ารอบ 20 ภาพสุดท้ายการแข่งขัน EyeEm Street Photography Awards สาขา The Street Photographer ซึ่งเป็นเวทีเดียวกับทวีพงษ์ คุณรู้สึกอย่างไร

ตื่นเต้น แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองอยู่ในระดับเดียวกันกับพี่เขา เราไม่เคยมองว่าตัวเองเทียบกับเขาได้ เขาเก่งกว่าเรามากๆ ต่อให้เข้ารอบเวทีเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่า แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่าใคร บางงานเราส่งไปแล้วไม่เข้าก็มี เหมือนแข่งกับตัวเองมากกว่า เพราะมีหลายคนที่เพิ่งถ่ายรูปแล้วงานได้เข้ารอบก็มี การส่งประกวดเป็นเรื่องของกรรมการด้วย

จุดเปลี่ยนในชีวิตของคุณคืออะไร

ตอนงานทีสิสของเรา ทุกคนในคลาสพูดว่าคนที่มาดูเขาไม่สนใจงานหรอก อย่าคาดหวัง ถ้าอยากให้คนสนใจต้องเป็นภาพถ่ายดาวหางจริงๆ เราทำไม่ได้หรอก แต่เรากลับมีคำถามในหัวตลอดว่าไม่ได้จริงเหรอ ไม่อยากเชื่อ เพราะลึกๆ เราค่อนข้างต่อต้านความคิดนั้น คิดว่าทีสิสเป็นโอกาสเดียว คือโอกาสที่ทำให้ทุกคนเห็นว่าเราทำได้ มันมีครั้งเดียวจริงๆ ทุกการพรีเซนต์ การวิจารณ์งาน การเรียนทุกเทอมทุกคาบที่ผ่านมา มันคือแค่จังหวะนี้ ถ้าเราไม่เต็มที่ก็จะมาเสียใจทีหลัง แล้วถ้าสุดท้ายทำได้ดี เต็มที่กับมัน จนสุดท้ายแล้วเราดีใจนะที่ตัวเองเต็มที่กับงานทีสิส เพราะทั้งนิตยสาร The New Yorker และ pdn ลงงานของเรา

การถ่ายภาพสตรีทให้อะไรกับคุณ

บางครั้งคนอื่นมักถามเราว่าถ่ายภาพไปทำไม ไม่รวยหรอก เราก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่าการถ่ายภาพสตรีทมันไม่ได้เงิน ต่อให้ได้เงินก็ไม่รวย แต่เราลองกลับมาคิดว่าประเด็นของความรวยคืออะไร ทำไมคนถึงอยากรวย หรือการที่คนอื่นบอกว่าต้องรวยเพราะเขาเอาเงินไปซื้อบ้าน ซื้อเสื้อผ้า ซื้อรถ หรือเปล่า สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นความสุขของพวกเขา แต่เราเองกลับไทยไปก็ไม่ได้ซื้อบ้านใหม่ แค่ต้องการมีเงินออมไว้ยามฉุกเฉิน คำตอบของความสุขเราจึงต่างออกไป ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ขอแค่ได้ถ่ายรูป ได้ทำทุกครั้งเลือดยังสูบฉีด ความตื่นเต้น หรือแพสชั่นที่เราได้รับเมื่อไปถ่ายตามขบวนพาเหรดต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือความยั่งยืนสำหรับเรา

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ดีที่สุดและเติมเต็มชีวิตสำหรับเราคือการรู้ว่าตัวเองรักอะไร อยากตื่นมาทุกวันเพื่อใช้ชีวิตทำสิ่งนั้น เราอยากออกไปถ่ายรูป ถ้าวันไหนที่ไม่ได้ออกจากบ้านก็จะนั่งดูงานคนอื่น งานตัวเอง หรืออะไรก็ได้ที่เป็นภาพถ่าย เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับเรา กว่าเราจะพบความรักในสิ่งหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนชีวิต มันหาไม่ได้ง่ายๆ


ภาพ จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต และ กันต์รพี โชคไพบูลย์