ใครฆ่าพะยูนไม่รู้ แต่ ‘Amazing Dugong’ คือพะยูนช่วยซักผ้าพลังชาวตรัง เพื่อทะเลตรังและพะยูนไทย

Highlights

  • 'Amazing Dugong' คือตัวช่วยซักผ้ารูปพะยูนที่เกิดจากไอเดียของชาวสวนยางสหกรณ์บ้านคลองโตน พัฒนา จำกัด อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง ที่อยากก้าวผ่านจากการขายน้ำยางดิบ พวกเขาผลิตและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ว่าโดยมี 'กอล์ฟ–ยิ่งยศ แก้วมี' หุ้นส่วนร้านกาแฟในย่านเมืองเก่าของตรังคอยช่วยเหลือและดูแลด้านการตลาด
  • นอกจากวางแผน สอน และร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งทำให้ชาวสวนยางลืมตาอ้าปากได้ กอล์ฟยังตั้งใจอยากให้พะยูนยางนี้เป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้คนทั้งจังหวัด และหากเป็นไปได้ เขาอยากให้พะยูนยางฝูงนี้แหวกว่ายในใจคน ให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • ฝูงพะยูนที่ว่านี้จะแหวกว่ายไปไกลแค่ไหน ตามอ่านได้ต่อจากนี้

ในช่วงอาทิตย์ที่ ‘มาเรียม’ จากไป นอกจากภาพและวิดีโอประมวลความน่ารักของมันจะอัดแน่นเต็มหน้าฟีดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขึ้นมาให้เราพบเห็นและดึงความสนใจจากความเศร้าไปได้ เห็นทีจะเป็นภาพพะยูนยางหลากสีสันที่วางเรียงขนาบข้างกับกล่องสกรีนลายว่า ‘Amazing Dugong’ นวัตกรรมใหม่ในการซักผ้า

ประโยชน์ของ laundry ball หรือลูกบอลช่วยซักผ้าโดยทั่วไปคือ การเข้าไปซอกซอนไม่ให้ผ้าพันกัน ปล่อยให้มันเสียดสีจนผ้าที่ต้องการซักสะอาดขึ้น และหากใช้ซักหรือทำความสะอาดจนพอใจ เจ้าบอลยางก็ยังสามารถนำมาใช้บีบนวดคลายความเมื่อยล้าให้ผู้เป็นเจ้าของได้ดี

หากฟังเพียงผิวเผิน ใครหลายคนอาจมองว่าตัวช่วยซักผ้าอย่าง Amazing Dugong คงมีประโยชน์เพียงแค่นั้น 

แต่หากย้อนดูให้ลึกลงไป ภายใต้หน้าตาและรูปร่างที่น่ารักของมัน เจ้าปลาพะยูนช่วยซักผ้าฝูงนี้กลับมีนัยสำคัญซุกซ่อนอยู่ 

เป็นนัยสำคัญที่ กอล์ฟ–ยิ่งยศ แก้วมี พยายามสื่อสารให้ทั้งคนในและคนนอกจังหวัดรับรู้และเข้าใจ

พะยูนช่วยซักผ้าจากพลังของชาวบ้าน

“ชาวบ้านเริ่มต้นด้วยหนี้” กอล์ฟเริ่มต้นเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง บอกให้ฟังถึงนัยข้อแรกของการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านคิดและทำขึ้นกว่าปี นั่นคืออยากให้ชาวสวนยางมีรายได้

Amazing Dugong เกิดขึ้นจากชาวสวนยางอย่างสหกรณ์บ้านคลองโตน พัฒนา จำกัด ซึ่งมีอาชีพหลักคือการทำยางแผ่นมาอัดก้อนขาย แต่อย่างที่รู้กันว่าสถานการณ์ราคายางไม่ค่อยสู้ดีมาพักใหญ่ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านจึงขาดรายได้ เนื่องจากหากขายยางอัดก้อนไปก็มีแต่จะขาดทุน นั่นเองเป็นจุดที่ทำให้ชาวบ้านเริ่มต้นเปลี่ยนตัวเอง ออกไอเดียคิดทำผลิตภัณฑ์ที่มียางพาราเข้าไปเป็นส่วนผสม สุดท้ายเลยออกมาเป็นลูกบอลช่วยซักผ้าที่มีรูปร่างหน้าตาเป็นพะยูน สัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง

สู่การสื่อสาร สร้างอิมแพกต์ในใจคน

อาจด้วยความตั้งใจจะผลิตขึ้นเป็นของฝาก ชาวบ้านจึงก้าวเท้าเดินเข้ามาหากอล์ฟ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของร้านกาแฟในย่านเมืองเก่าของตรังชื่อว่า ‘ทับเที่ยง โอลด์ทาวน์’ ร้านกาแฟในโรงกลึงเก่า ที่นอกจากจะมีรูปเก่าของตรังเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ศึกษา เขายังตั้งใจจะสื่อสารเรื่องการอนุรักษ์เมืองผ่านร้านนี้ ปรับชุมชนให้กลับมามีชีวิต มีการเชื่อมโยงกันระหว่างวัย นอกจากนี้เขาและเพื่อนยังตั้งปณิธานว่าจะสนับสนุนลูกหลานชาวตรังที่กลับมาอยู่บ้าน มาช่วยพ่อแม่ทำกิจการ อาหาร ขนม หรืออะไรที่สามารถรักษาของเดิมไว้ แล้วก็นำไปต่อยอดได้แบบไม่มีเงื่อนไข

“เพราะร้านเราก็มีเจตนา มีความคิดที่จะทำอะไรอย่างนี้อยู่แล้วเลยรับมา แต่เรามองว่าถ้าเขาเอามาฝากขายตามร้านกาแฟอย่างนี้มันคงไปไหนไม่ได้ไกลเหมือนเดิม เราเลยขอเข้ามาพัฒนาการตลาดเอง”

โดยความตั้งใจของกอล์ฟนี่จะต้องไม่ใช่การตลาดแบบซื้อมาขายไป แต่เขาอยากสร้างอิมแพกต์บางอย่างให้เกิดขึ้นในใจคน 

Amazing Dugong จึงไม่ใช่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ชาวสวนยางลืมตาอ้าปากได้ตามความตั้งใจแรก แต่ยังทำให้คนทั้งจังหวัดได้เชื่อมโยงถึงกันและเป็นจุดเริ่มต้นให้คนภายนอกตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล

เชื่อมโยงคนตรังนา ตรังเล และตรังหลาด

“คนตรังจะชอบแบ่งเป็นหมู่ มีชื่อเรียกคนในแต่ละพื้นที่ชัดเจน เช่น ตรังนา ตรังเล ตรังหลาด การทำตลาดให้ Amazing Dugong แบบนี้ นอกจากจะได้สื่อสารไปยังคนภายนอกแล้ว จึงเหมือนได้ทำให้คนในแต่ละพื้นที่มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น” กอล์ฟซึ่งเป็นคนตรังหลาดแสดงความคิดเห็นเสริมขึ้นมาขณะบอกเล่าถึงวิธีการทำตลาดในแบบของตัวเอง เพราะเมื่อคนตรังนาทำผลิตภัณฑ์ออกมาวางจำหน่าย นอกจากจะได้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา มีเงินเลี้ยงปากท้องแล้ว รูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นปลาพะยูนยังเป็นเหมือนไอคอนของคนตรังเล คนทางนั้นจึงสามารถนำไปจำหน่ายต่อ และกระแสของมาเรียมในช่วงนี้อาจทำให้คนทั่วไปนึกขึ้นได้ว่าสิ่งแวดล้อมทางทะเลก็กำลังแย่เช่นเดียวกัน 

เพื่อให้คนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทะเล ด้วยเหตุนี้ Amazing Dugong จึงหักรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือ รณรงค์ และอนุรักษ์ ทะเลด้วย โดยในการขาย 2 รอบก่อนหน้านี้หักรายได้ชิ้นละ 2 บาท เพื่อนำไปบริจาคให้กับองค์กรที่ดูแลมาเรียม ส่วนรอบล่าสุดก็หักรายได้ออกเซตละ 10 บาท มอบให้กลุ่มทำความสะอาดทะเลตรัง ทำกิจกรรมอนุรักษ์ทะเล

“เราคิดว่าถ้าบ้านของมาเรียมหรือทะเลมันดี ชายหาดจะดีตาม และทุกอย่างก็จะดีขึ้นทั้งหมด การที่เราทำแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะได้ประโยชน์แค่กับคนตรังนา ตรังเล แต่มันได้กับทุกคน แม้กระทั่งสัตว์เองก็ได้ด้วย”


ให้เป็นงานที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

แน่นอนว่าลูกบอลซักผ้าที่เขาดูแลคิดวางแผนการตลาดให้นี้สามารถสร้างอิมแพกต์ในใจคนซื้อ จนยอดสั่งจอง ยอดซื้อ ทั้ง 3 รอบที่เปิดมา ครบจำนวนการผลิตในเวลาอันรวดเร็ว แถมยังดูเหมือนจะส่งออกไปยังคนแทบทุกจังหวัด

แต่หนึ่งในคนที่เขาหวังว่าจะสร้างอิมแพกต์มากที่สุดคือตัวผู้ผลิตอย่างชาวบ้านเอง

“เชื่อไหมว่ามันเคยมีช่วงหนึ่งที่ยางกิโลกรัมละ 40 บาท แต่ทองคำราคา 200 บาทด้วยนะ” กอล์ฟย้อนเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ราคายางไทย ก่อนจะย้อนตั้งคำถามกับเรา

“ตอนนี้ที่ทองคำราคา 20,000 บาท ยางมันควรจะราคาถึง 1,000 บาทสิ ใช่ไหม แต่มันก็ยังคงราคา 30 บาท ราคาแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ ฉะนั้นเราก็เลยเห็นแล้วว่ายางมันเป็นอัตราถดถอย รัฐจะให้ส่งเสริมปริมาณ ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก สุดท้ายมันก็โดนคนไปกดราคาอยู่ดี เพราะเราไม่ใช่ผู้ผลิตในระดับสอง เราเป็นแค่ผู้ทำ raw material ให้เขา เราไม่ได้แปรรูป เราเลยคิดว่ามันถึงยุคที่ต้องนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปแล้ว ต้องสร้างเศรษฐศาสตร์การยางขึ้นมาใหม่ ต้องมีนวัตกรรม

“ตอนนี้เจ้าของสวนยางต้องเอาเงินที่ได้จากการขายยางไปซื้อข้าวกิน ซึ่งมันไม่ใช่ ถ้าเป็นสมัยก่อนหรือในบางพื้นที่ ยางเขาเก็บเอาไว้เป็นกำไรนะ แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นเงินค่าข้าวกับเงินใช้หนี้หมดแล้ว มันก็แทบไม่ต่างกับชาวนาที่ปลูกข้าวแล้วกินข้าวตัวเองไม่ได้เพราะต้องส่งขายหมด

“เราจึงพยายามจะสะสมความเชื่อให้ชาวสวนยางเชื่อว่ามันมีทางรอดอยู่ ทำให้เขาเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของเขามันไปได้ไกลกว่าที่คิด พยายามบอกให้ชาวบ้านพาลูกหลานเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก เพราะคนรุ่นต่อไปเขาอาจจะมีไอเดียที่ดีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สร้างสรรค์และยั่งยืนมากขึ้นกว่านี้ก็ได้”

ปลูกจิตสำนึกที่ดีให้คนในอนาคต

นอกจากทำให้ชาวสวนยางอยู่รอด ชาวเลและคนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกสิ่งที่กอล์ฟตั้งใจใช้ Amazing Dugong เป็นเครื่องมือในการสื่อสารคือ การปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับคนในอนาคต 

“เรามองว่าหากครอบครัวหนึ่งมีแม่ซื้อผลิตภัณฑ์นี้ไปใช้ที่บ้าน แล้วเข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร ลูกที่ใช้ตามก็น่าจะได้รับการปลูกฝังเรื่องนี้ไปด้วย ลูกชาวสวนยางเห็นแม่ทำงานนี้ทุกวัน เขาก็คงซึมซับและกลับมาช่วยทำ ลูกชาวเลเห็นแม่ขายพะยูนซักผ้าอยู่ที่บ้าน เขาเองก็คงจะตระหนักถึงความสำคัญของท้องทะเลได้

“พะยูนยางอันนี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ให้ทุกคนหันมามองสิ่งต่างๆ ร่วมกัน มันคล้ายกันกับมาเรียมนั่นแหละ เพียงแต่เราไม่มีทางได้เจอมาเรียมทุกวันอีกแล้ว และที่จริงเราก็ไม่ควรได้เจอมันทุกวันด้วย ฉะนั้นเราก็คิดว่างั้นก็มาเจอกับพะยูนยางอันนี้ดีกว่าไหม นำมันมาอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วค่อยๆ ลองเปลี่ยนพฤติกรรม ค่อยๆ หันมาดูแลสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

“ของแบบนี้เริ่มทำจากน้อยไปหามากก็ได้ เพราะเราไม่อยากให้มันเป็นแค่กระแส บางคนมาร้องห่มร้องไห้ว่ามาเรียมตาย แต่สุดท้ายเข้าร้านกาแฟก็ยังใช้พลาสติกเหมือนเดิม ลืมหิ้วแก้วจากบ้านไปเติมน้ำเหมือนปกติ” 

“การตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ดี และเราว่ามันสามารถปรับใช้ได้กับทุกสิ่งรอบตัว ไม่ต้องยึดติดกับทะเลมากเกินไปก็ได้ เราว่ามันเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวได้ทั้งหมด อย่างถ้าเป็นคนเมืองก็อาจจะลุกขึ้นมาดูแลคลองผดุงกรุงเกษม ดูแลคลองแสนแสบ ลองจินตนาการโดยเอาพะยูนของเราไปตั้งก็ได้ว่า หากมันว่ายในน้ำจืดได้จริงๆ สภาพน้ำคลองแบบนั้นมันจะว่ายได้จริงไหม

“เคยมีหลายคนถามมาเหมือนกันว่าถ้ามาเรียมตายแล้ว Amazing Dugong จะยังขายได้ไหม สำหรับเรา เราคิดว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับมาเรียมเพียงอย่างเดียว มันเกี่ยวข้องกับชาวสวน เกี่ยวข้องกับทะเล เกี่ยวข้องกับสวนยาง เกี่ยวข้องกับความเป็นตรัง เราจึงเอาตัวนั้นมาสื่อสาร”

“มันต้องทำให้เจ้าบ้านรู้คุณค่าของตัวเองก่อน ถ้าเขารู้คุณค่าแล้วก็มีโอกาสที่จะรักษาสิ่งต่างๆ ต่อไปได้ หรือถ้าไม่ใช่เขาเองที่เป็นคนมาดูแล ก็อาจจะเป็นคนรุ่นลูกที่เห็นสิ่งต่างๆ มาตั้งแต่ตอนนั้นกลับมาดูแลรักษามันก็ได้”


ขอบคุณรูปจาก Amazing Dugong

AUTHOR