คุยกับ Amanda Nell Eu ผู้กำกับมาเลเซียรุ่นใหม่ที่สนใจหนังสยอง สัตว์ประหลาด และร่างกายผู้หญิง

ร่างกายของผู้หญิง ปีศาจ และกลิ่นคาวเลือด เหล่านี้คือวัตถุดิบต่างๆ ที่วนเวียนอยู่ในความสนใจของ Amanda Nell Eu (อแมนดา เนล อู)

เธอเกิดและเติบโตที่ประเทศมาเลเซียจนถึงวัย 11 ปี ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษอีกหลายสิบปีกระทั่งเรียนจบปริญญาโทสาขาภาพยนตร์ ถึงอย่างนั้นอแมนดาก็บอกกับเราว่า “มาเลเซียคือบ้านของฉันมาตลอด ฉันไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอังกฤษเลย”

ปัจจุบันที่อแมนดาย้ายกลับมาอยู่มาเลเซียอีกครั้งภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะทำหนังเรื่องแรกในชีวิตอย่าง Tiger Stripes ซึ่งบอกเล่าบาดแผลของเด็กผู้หญิงในผืนแผ่นดินนี้ ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือมันว่าด้วยเด็กสาวคนหนึ่งที่กลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด เด็กสาวที่ในชั่วขณะหนึ่งคือภาพแทนของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาที่วันหนึ่งได้รู้สึกว่าร่างกายของเธอเปลี่ยนรูปลักษณ์อย่างรุนแรงจนกลายเป็นปีศาจร้ายที่ใครๆ ต่างก็หวาดกลัว 

หากมองอย่างผิวเผิน นี่คือเรื่องราวน่าขนลุกของเด็กผู้หญิงที่กลายร่างเป็นสัตว์ร้าย แต่หากมองให้ลึกลงไป Tiger Stripes คือเสียงกรีดร้องของผู้หญิงต่อโซ่ตรวนมากมายที่สังคมพยายามจะเหนี่ยวรั้งให้ต้องจำยอมอยู่กับระเบียบและกฎข้อบังคับของสังคม

อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังของโปรเจกต์หนังยาวเรื่องแรกที่อแมนดากำลังพัฒนาอยู่ เราตัดสินใจส่งอีเมลหาผู้กำกับหญิงชาวมาเลเซียวัย 35 ปีคนนี้เพื่อพูดกันเรื่องโปรเจกต์ล่าสุด ชีวิตของเธอในฐานะผู้กำกับหญิง ไปจนถึงความเป็นไป ณ ตอนนี้ของวงการภาพยนตร์อิสระมาเลเซีย

ต่อไปนี้คือบทสนทนาระหว่างเรากับหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์มาเลเซียรุ่นใหม่ที่น่าจับตาที่สุดในปัจจุบัน

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณตกหลุมรักภาพยนตร์

ฉันตกหลุมรักภาพยนตร์เพราะหนังสยองขวัญ ไม่รู้ทำไมเหมือนกันนะ แต่ฉันมักจะสนใจเรื่องราวทำนองนี้อยู่เสมอ อย่างเรื่องผีๆ ฉันก็ชอบตั้งแต่เด็กๆ แล้ว รวมถึงพวกตำนานพื้นบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย แต่เป็นตอนที่ฉันอายุประมาณ 14-15 ที่เริ่มจะให้ความสนใจกับหนังสยองขวัญอย่างจริงๆ จังๆ และเริ่มกลับไปดูหนังสยองขวัญขาว-ดำและพวกหนังเงียบมากขึ้นเรื่อยๆ มันเลยทำให้ฉันตระหนักว่าจริงๆ แล้วเนื้อหาของภาพยนตร์มันหลากหลายได้มากกว่าเรื่องราวแบบภาพยนตร์ฮอลลีวูด

แต่พอมหา’ลัยฉันก็ตัดสินใจเรียนกราฟิกดีไซน์ เพียงแต่โปรเจกต์ต่างๆ ของฉันไม่ค่อยจะเกี่ยวกับกราฟิกดีไซน์สักเท่าไหร่หรอก เพราะหากไม่เป็นการถ่ายวิดีโอสั้นๆ ฉันก็มักจะทำแอนิเมชั่นไปเลย ซึ่งอาจารย์ก็มักจะถามอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมฉันไม่ไปเรียนภาพยนตร์แทนล่ะ จนพอปริญญาโทนั่นแหละฉันถึงค่อยตัดสินใจเรียนต่อด้านภาพยนตร์

Amanda Nell Eu

ทำไมคุณไม่เรียนภาพยนตร์ตั้งแต่ปริญญาตรีล่ะ

เพราะฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่าการทำภาพยนตร์จะช่วยให้ฉันอยู่รอดได้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริงนะ การทำภาพยนตร์ไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงเลย (หัวเราะ) ในแง่หนึ่ง การไปเรียนกราฟิกดีไซน์ก็เหมือนเป็นการบอกพ่อกับแม่กลายๆ แหละว่า อย่างน้อยๆ ฉันก็พอจะมีช่องทางในชีวิตที่มั่นคงอยู่บ้าง เพราะงานสายนี้มันมั่นคงกว่าจริงๆ แต่พอฉันตัดสินใจเรียนภาพยนตร์ พ่อกับแม่ก็งงๆ อยู่นะ เพียงแต่ฉันก็โตประมาณหนึ่งแล้ว พวกเขาก็เลยปล่อยไป อีกอย่างคือพวกเขาคงปลงกับความคิดแปลกๆ ของฉันแล้วแหละ (หัวเราะ)

ชีวิตส่วนใหญ่ของคุณอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งคุณก็เรียนมหา’ลัยที่นั่นด้วย ตอนที่คุณกลับมาที่มาเลเซีย คุณพบเจอความท้าทายอะไรบ้างในช่วงแรกๆ ที่ย้ายกลับมา

ตอนฉันย้ายกลับมามาเลเซียฉันยังใหม่มากๆ สำหรับวงการภาพยนตร์ที่นี่ และถึงแม้ว่าฉันจะเติบโตที่อังกฤษก็จริง แต่ฉันก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองสามารถเข้ากับสังคมที่นั่นได้ เพียงแต่พอกลับมาที่มาเลเซียฉันก็ต้องเผชิญกับอคติหลายๆ ข้ออีก บางคนมองว่าฉันไม่ใช่คนมาเลเซียเพราะฉันไปเติบโตที่ต่างประเทศ หรือบางคนก็สงสัยว่าทำไมฉันไม่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นไปเลยล่ะ ดูมีอนาคตกว่าตั้งเยอะ ซึ่งฉันก็มักจะตอบไปว่า ฉันรู้สึกดีกว่าเยอะตอนที่ย้ายกลับมาอยู่ที่นี่ เพราะว่ามาเลเซียคือบ้านของฉัน 

แต่ช่วงแรกๆ ที่ฉันกลับมา ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกอยู่เหมือนกันนะ เพราะภาษามาเลเซียของฉันก็ไม่ได้คล่องแคล่วอะไรนัก คลังคำศัพท์ก็เท่ากับเด็กอนุบาล เพียงแต่ฉันดึงดันว่าจะทำหนังที่นี่ให้ได้ จนทุกวันนี้ฉันอยู่มาเลเซียมาได้ 8 ปีแล้ว และก็ไม่คิดว่าจะย้ายไปที่อื่นอีกเพราะฉันมีความสุขดีกับที่นี่ อีกอย่างคือมุมมองในการทำหนังของฉันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะด้วย ฉันค้นพบเสียงของตัวเองที่นี่ ทั้งๆ ที่ตอนอยู่อังกฤษฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวตนของฉันจริงๆ คืออะไร ถ้าคุณอยากจะเป็นคนทำหนังมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากคุณยังไม่รู้จักตัวตนจริงๆ ของคุณเอง

ทำไมคุณถึงค้นพบเสียงของคุณที่มาเลเซียล่ะ ทั้งๆ ที่คุณก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นมาตั้งนาน

อย่างที่บอกแหละ เพราะการกลับมามาเลเซียมันคือการกลับมาบ้าน เพียงแต่ในกรณีของฉัน บ้านก็เป็นอะไรที่ใหม่มากๆ อยู่เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ลึกๆ แล้วฉันก็มั่นใจนะว่าที่นี่คือบ้านของฉันจริงๆ มันเลยเป็นความรู้สึกที่วนเวียนอย่างชัดเจนอยู่ตลอดว่าฉันจะค้นพบเสียงของตัวเองที่นี่ 

แต่พอกลับมาอยู่มาเลเซีย ฉันก็ไม่ได้เริ่มทำหนังสั้นโดยทันที ฉันน่าจะไม่ได้ทำอะไรเลยอยู่ประมาณ 3-4 ปี ถึงค่อยได้ทำ It’s Easier to Raise Cattle (2017) ซึ่งเป็นช่วงที่ฉันค้นพบจริงๆ ว่าตัวเองอยากจะทำอะไร ตอนที่ฉันเรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ ฉันเข้าใจว่าตัวเองจะต้องทำหนังดราม่า หรือไม่ก็หนังที่ต้องถ่าย long take นานๆ อะไรพวกนั้น แต่พอได้กลับมามาเลเซียฉันก็พบว่าตัวเองอยากทำหนังอะไร คำตอบของมันคือหนังสยองขวัญนั่นแหละ

Amanda Nell Eu
It’s Easier to Raise Cattle (2017)

วงการภาพยนตร์อิสระในมาเลเซียกับวงการภาพยนตร์อิสระในอังกฤษแตกต่างกันยังไงบ้างในความคิดของคุณ

มันต่างกันมากเลย ฉันคิดว่าผู้กำกับมาเลเซียรุ่นก่อนหลายๆ คนประสบความสำเร็จมากทีเดียวในการพาหนังมาเลเซียไปเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งพอฉันกลับมาแล้วได้พบกับพวกเขาเหล่านี้ฉันเลยตื่นเต้นมากๆ ที่ได้เห็นว่าวงการภาพยนตร์อิสระของมาเลเซียทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน เพราะที่อังกฤษเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ด้วยความที่วงการภาพยนตร์ที่นั่นใหญ่กว่ามาก มันเลยไม่ค่อยมีความรู้สึกใกล้ชิดกันในวงการเท่าไหร่ แล้วก็มีเรื่องของลำดับชั้นที่คุณจะต้องไต่เต้าขึ้นไปให้ได้อีกด้วย ในแง่หนึ่งฉันเลยชอบวงการภาพยนตร์อิสระที่มาเลเซียเพราะขนาดของมันนี่แหละ มันอบอุ่นกว่ามาก (หัวเราะ) เพียงแต่ปัญหาคือฉันคิดว่าวงการภาพยนตร์อิสระของเราตอนนี้กำลังหดตัวลงเรื่อยๆ มันไม่ได้เจ๋งเหมือนในอดีตแล้ว

Amanda Nell Eu

แปลว่าไม่ค่อยมีใครอยากเป็นผู้กำกับหนังอิสระเหรอ

ใช่เลย เพราะมันยากมากๆ กว่าจะได้ทุนมาก็ยากแล้ว แถมหนังเรื่องหนึ่งยังใช้เวลาทำนานมากๆ อีก แต่จริงๆ ฉันว่าก็ยังมีเด็กมาเลเซียรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อยู่นะ อย่างฉันเองก็เคยสอนภาพยนตร์ที่มหา’ลัยเลยได้มีโอกาสพูดคุยกับพวกเขาบ้าง ฉันคิดว่าเด็กๆ หลายคนยังเข้าใจว่าการเป็นคนทำหนังเป็นอะไรที่ยั่งยืนมากๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เลย

คุณมองว่าเด็กมาเลเซียในปัจจุบันอยากจะทำหนังแบบไหน

ด้วยความที่เด็กๆ รุ่นใหม่เติบโตมากับการดูเน็ตฟลิกซ์และหนังฮอลลีวูด นักเรียนส่วนหนึ่งของฉันเลยอยากจะทำหนังสไตล์เน็ตฟลิกซ์นั่นแหละ ในขณะเดียวกันฉันก็เห็นว่ามีนักทำหนังรุ่นใหม่จากฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย จากซาบาห์และซาราวักที่เริ่มจะส่งเสียงชัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเพศ ซึ่งฉันคิดว่าเป็นเรื่องดีมากๆ ที่ได้เห็นปรากฏการณ์นี้

สังเกตว่า ‘ผู้หญิง’ ดูจะเป็นเป็นจุดศูนย์กลางในหนังสั้นของคุณ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าอะไรคือประเด็นที่คุณพยายามจะสื่อสารผ่านเรื่องราวของผู้หญิงเหล่านั้น

ฉันสนใจบทบาทของผู้หญิงภายในสังคมนั่นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ร่างกายของผู้หญิง’ ไม่ว่าจะเป็นภาษากาย หรือสายตาของสังคมที่จ้องมองร่างกายของผู้หญิง ซึ่งฉันอยากจะสำรวจประเด็นเหล่านี้ภายใต้บริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมาเลเซีย ฉันเองก็เป็นผู้หญิงด้วย ประสบการณ์ของผู้หญิงจึงเป็นสิ่งที่ฉันรับรู้ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว อีกอย่างคือฉันมองว่ามุมมองเรื่องร่างกายของผู้หญิงค่อนข้างจะเป็นอะไรที่สากลนะ แม้กระทั่งในสังคมตะวันตก ผู้หญิงก็ยังต้องเผชิญกับการถูกครอบครองและความพยายามจะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของจากผู้ชายอยู่ดี 

Amanda Nell Eu

ทราบมาว่าคุณกำลังทำหนังยาวเรื่องแรกของคุณอยู่ด้วย ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม

มันชื่อว่า Tiger Stripes ฉันเรียกมันว่าเป็นหนังแนว coming of age-สยองขวัญ ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของเด็กสาวคนหนึ่งที่กำลังก้าวไปสู่การเป็นวัยรุ่นและเริ่มมีประจำเดือน ในค่ำคืนที่เธอเปลี่ยนผ่านจากเด็กสาวไปสู่วัยรุ่น ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามทำความเข้าใจกับร่างกายของผู้หญิง ทั้งร่างกายของผู้หญิงตอนที่ยังเป็นเด็กและร่างกายของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ โดยที่ฉันก็พยายามจะแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายผู้หญิงในลักษณะที่น่าสยดสยอง จนผู้คนรอบๆ ตัวเธอต่างพากันหวาดกลัวไปหมด หนังหลายเรื่องมักจะพิจารณาร่างกายของผู้หญิงที่เติบโตเต็มวัย ให้ความสำคัญกับเรือนร่างของผู้หญิงที่โตแล้วหรือเป็นผู้ใหญ่ แต่ฉันคิดว่ายังไม่ค่อยมีหนังที่พูดถึงร่างกายของเด็กผู้หญิงสักเท่าไหร่

ในฐานะที่คุณเป็นผู้หญิง คุณเจอความลำบากจากการทำงานในวงการภาพยนตร์บ้างไหม

ไม่ค่อยนะ เพราะก่อนหน้าฉัน ในวงการภาพยนตร์มาเลเซียก็มีผู้กำกับภาพยนตร์ผู้หญิงที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพอยู่ก่อนแล้ว ฉันเลยไม่ค่อยเจอความท้าทายใดๆ จากเพศสภาพของฉันเท่าไหร่ แต่นั่นจะเป็นคนละเรื่องกันเลยนะถ้าตำแหน่งของฉันไม่ใช่ผู้กำกับ แต่เป็นตำแหน่งอื่นๆ อย่างตากล้องหรือคนตัดต่อ เพราะในตำแหน่งเหล่านั้นยังมีเรื่องของการบุลลี่และเรื่องของลำดับชั้น รวมไปถึงความเป็นชายที่ยังครอบครองพื้นที่ตรงนั้นอยู่ ฉันโชคดีที่ได้เป็นผู้กำกับ เพราะด้วยตำแหน่งนี้ เสียงและความคิดเห็นของฉันจึงมักจะได้รับความเคารพมากกว่าผู้หญิงในตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งมันยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่เรายังต้องจัดการกันต่อไปในวงการภาพยนตร์มาเลเซีย แต่อย่างในกองถ่ายของฉันเอง คนในกองส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงนะ แต่จริงๆ แล้วฉันก็ไม่ได้ตั้งใจหรอก มันเป็นเรื่องบังเอิญล้วนๆ (หัวเราะ)

Amanda Nell Eu

แปลว่าในวงการภาพยนตร์มาเลเซียก็มีผู้หญิงทำงานอยู่เยอะทีเดียว

ใช่ เยอะเลยนะ โดยเฉพาะในฝั่งเมคอัพและโปรดักชั่นดีไซน์ อย่างโปรดักชั่นดีไซเนอร์ในหนังของฉันก็เป็นผู้หญิง แต่อย่างตำแหน่งตากล้องส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นผู้ชายอยู่ดี แต่ฉันรู้ว่าที่ไทยมีตากล้องผู้หญิงเก่งๆ เยอะมาก ซึ่งฉันก็หวังว่าเราจะมีตากล้องผู้หญิงมากขึ้นในสักวัน

ด้วยความที่มาเลเซียเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเชื้อชาติและศาสนา ความหลากหลายเหล่านี้กลายเป็นอุปสรรคในวงการภาพยนตร์บ้างไหม

แน่นอน มันซับซ้อนสุดๆ เลย ฉันพบว่ามันมีประเด็นการแบ่งแยกที่ใหญ่โตมากๆ อย่างพอผู้กำกับมาเลฯ ทำหนังมาเลฯ คนมาเลฯ เชื้อสายจีนบางคนก็จะรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้สร้างมาเพื่อพวกเขา เช่นเดียวกับเวลาที่ผู้กำกับมาเลฯ เชื้อสายจีนและผู้กำกับมาเลฯ เชื้อสายอินเดียกำกับหนังของพวกเขา ปัญหามันก็จะวนๆ อยู่ในลักษณะคล้ายๆ กัน ซึ่งมันน่าปวดหัวมากๆ เพราะนั่นเท่ากับว่าเรามักจะสูญเสียคนดูจำนวนหนึ่งไปเสมอพอหนังออกฉาย เพียงเพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองสามารถยึดโยงกับหนังเรื่องนั้นๆ ได้ 

มาเลเซียคือประเทศพหุวัฒนธรรม และเราต่างก็เติบโตขึ้นพร้อมๆ กับตำนานและเรื่องเล่าพื้นบ้านมากมาย มันเลยเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เรายังต้องต่อสู้กันอีกไกลเพื่อให้ได้มาซึ่งการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความขัดแย้งอยู่เรื่อยๆ นะ เพราะในมาเลเซียเราใช้ทั้งภาษามาเลเซีย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน แต่อย่างหนังของฉันก็มีทั้งเรื่องที่ตัวละครพูดภาษาจีนกับเรื่องที่ตัวละครพูดภาษามาเลเซีย

Amanda Nell Eu

คุณเคยถูกวิจารณ์ทำนองว่า ‘พูดภาษามาเลเซียยังไม่คล่องแต่ยังทำหนังพูดภาษามาเลเซียอีก’ บ้างไหม

เคยสิ แต่ฉันก็คิดแค่ว่า ‘เรื่องของมึงสิ’ (หัวเราะ) 

ไม่รู้สึกขุ่นเคืองบ้างเลยเหรอ

ไม่เลย มันก็แค่คนพูดอะไรแย่ๆ น่ะ ฉันไม่สนหรอก มันเป็นหนังไง ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องถูกวิจารณ์แน่ๆ เพียงแต่ฉันจะยอมไม่ได้เลยถ้าใครสักคนมาพูดอะไรแย่ๆ กับทีมงานและนักแสดงของฉัน พวกเขาจะว่าฉันที่เป็นผู้กำกับยังไงก็ได้ เพราะมันเป็นหนังของฉัน และเป็นเรื่องราวที่ฉันเขียน แต่นั่นแหละ ฉันก็พยายามจะบอกเด็กๆ ที่ทำงานกับฉันอยู่เสมอว่าให้เข้มแข็งเข้าไว้

อย่างคนมาเลเซียนิยมดูหนังของผู้กำกับมาเลเซียด้วยกันบ้างไหม

ไม่ค่อยนะ ยิ่งพอมีเน็ตฟลิกซ์ด้วยแล้ว ใครๆ ก็พากันดูเน็ตฟลิกซ์หมด อย่างก่อนหน้าโควิด-19 นานๆ ทีที่จะมีหนังมาเลฯ ฮิตขึ้นมาสักเรื่อง ซึ่งส่วนมากก็มักจะเป็นหนังแอ็กชั่นกับหนังผี คนมาเลฯ ชอบหนังผีมากๆ แต่มันก็เหมือนที่ฉันเล่าไปนั่นแหละว่าพอมีเรื่องของความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยว หนังมาเลฯ เลยไม่ค่อยเป็นที่นิยมในคนทุกกลุ่มเท่าไหร่

โดยส่วนตัวแล้วคุณมองอนาคตของวงการภาพยนตร์มาเลเซียหลังจากนี้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป

ฉันไม่รู้เลย ยิ่งพอมีโควิด-19 ด้วยแล้วอะไรๆ ก็ไม่แน่นอนไปหมด ฉันคิดว่าหนังมาเลฯ ทุนสูงน่าจะมีน้อยลง แต่จริงๆ ทุกคนในวงการภาพยนตร์ก็ลำบากกันหมด มีโรงหนังหลายแห่งต้องปิดตัวลงไป ฉันเลยเดาไม่ออกจริงๆ ว่าอนาคตของวงการภาพยนตร์มาเลเซียจะเป็นยังไง โควิด-19 คือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับวงการภาพยนตร์เลย

คุณคิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

ไม่มีเลย (หัวเราะ) จริงๆ ฉันคิดว่ามันคือการที่ฉันได้เล่าในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเล่า ยิ่งพอเรื่องที่ฉันอยากจะเล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ด้วยแล้ว มันเลยน่ามหัศจรรย์มากๆ เหมือนกับการได้แบ่งปันมุมมองของฉันให้กับคนอื่นๆ ฟังดูถือตัวอยู่เหมือนกันนะ แต่นั่นแหละ มันก็เป็นอะไรที่พิเศษมากทีเดียว อีกอย่างคือการได้มีโอกาสรู้จักและทำงานร่วมกับผู้คนที่วิเศษมากมายภายใต้สถานการณ์ที่กดดันสุดๆ ฟังดูซาดิสต์นะ แต่ฉันก็สนุกกับมันมากๆ (หัวเราะ) การทำหนังสักเรื่องมันใช้เวลานาน ซึ่งฉันคิดว่ากระบวนการทำงานที่ยาวนานแบบนี้แหละที่ทำให้ฉันมีโอกาสได้สนิทสนมกับคนดีๆ มากมาย หนังแต่ละเรื่องนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไป และหนังแต่ละเรื่องก็สร้างครอบครัวใหม่ๆ ให้กับฉันเช่นกัน

3 ภาพยนตร์มาเลเซียที่อแมนดาอยากแนะนำ

Perempuan, Isteri, dan Jalang (1993)

กำกับโดย U-Wei Haji Saari ผู้กำกับมาเลเซียคนแรกที่ภาพยนตร์ของเขาได้ฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ Perempuan, Isteri, dan Jalang บอกเล่าเรื่องราวของ Zaleha หญิงสาวที่หลบหนีการแต่งงานกับชายคนหนึ่งเพื่อไปแต่งงานกับผู้ชายอีกคนในภาคใต้ของประเทศไทย ด้วยความแค้น ชายหนุ่มผู้ผิดหวังในความรักไล่ล่าหญิงสาวจนพบ สังหารคนรักของหล่อนทิ้ง ก่อนจะจับหญิงสาวไปขายตัวในซ่อง เรื่องราวต่อจากนี้ของหนังคือความพยายามที่จะล้างแค้นต่อชายที่พรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากชีวิตเธอ

Flower in the Pocket (2007)

หนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์มาเลเซีย Flower in the Pocket กำกับโดย Liew Seng Tat บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งที่ปราศจากแม่ จะมีก็แต่พ่อเลี้ยงเดี่ยวที่มักหมกมุ่นอยู่กับงานของตัวเอง กับลูกชายอีกสองคนที่มักจะสร้างปัญหาอยู่บ่อยๆ ก่อนที่พวกเขาจะไปเจอสุนัขตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งที่ต่อมากลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดในชีวิตของพวกเขา นี่คือภาพยนตร์ที่ฉายภาพของคนตัวเล็กๆ ในสังคมมาเลเซียปัจจุบันได้อย่างละเอียดอ่อนที่สุดเรื่องหนึ่ง

Roh (2019)

Roh คือภาพยนตร์สยองขวัญที่กำกับโดย Emir Ezwan บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในป่าลึก อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาพบเด็กปริศนาหลงทางมาในป่าแห่งนี้ จึงตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ ให้น้ำ อาหาร และที่พักพิง เพียงเพื่อที่เด็กคนเดียวกันนี้จะตอบแทนพวกเขาด้วยการพยากรณ์ว่า สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะตายกันหมดในคืนพระจันทร์เต็มดวงที่กำลังจะมาถึง Roh คือภาพยนตร์มาเลเซียที่บ้าคลั่งและสยดสยองที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง

AUTHOR