นักเขียนมีวิธีเขียนเปิดบทความเป็นร้อยแปดพันกระบวนท่า แต่ฉันกำลังใช้วิธีนี้–วิธีที่พูดกับคนอ่านอย่างพวกคุณตรงๆ ถ้าเทียบเทคนิคกับศาสตร์การแสดงคงคล้ายกับ ‘การทำลายกำแพงที่สี่’ (breaking the fourth wall)
เพราะนี่คือวิธีที่ Amadiva หรือ ออม–ปัถวี เทพไกรวัล สื่อสารกับฉันและกลุ่มคนดูรอบเดียวกันในค่ำคืนที่พวกเรานั่งห่างกันไม่ถึงสองเมตรบนชั้น 5 ของ Secret Storey บาร์ขนาดจิ๋วในซอยสุขุมวิท 24
“คุณพี่จาก a day ใช่ไหมค้าาา มากับใครค้าาา” เธอในชุดประดับเพชรระยับพูดออกไมค์
“แฟนค่าาา” ฉันตอบพร้อมควงแขนคนข้างๆ
“ฉันอยากมีผัวบ้าง แต่ไม่แซวเยอะดีกว่า เพราะ a day เขามีอำนาจเหนือฉันอยู่ตอนนี้ เดี๋ยวเขาไม่เขียนถึง” เธอตีแผ่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้มีแพลตฟอร์มอยู่ในมือและผู้สร้างสรรค์งานศิลปะแบบสบายๆ ก่อนเปลี่ยนไปพูดทักทายคนอื่นที่ทยอยเดินเข้ามาแบบออกไมค์เช่นกัน
ฉันฟังแล้วก็ได้แต่ขำ พลางนึกสงสัยว่า จริงๆ แล้วโชว์เริ่มหรือยัง เพราะจากประสบการณ์ (ที่ออกตัวก่อนว่าก็ไม่มากนัก) ในการดูละครเวทีหรือแดร็กโชว์ นักแสดงมักจะไม่มารอต้อนรับขับสู้คนดูอย่างที่ออมกำลังทำ
บทเพลงเริ่มบรรเลงระหว่างคนดูจับจองที่นั่งและสั่งอาหารเครื่องดื่ม เธอเปลี่ยนมาแซวตัวเอง “นี่เขาเปิดเพลงเฮาส์ ซึ่งแปลว่ากูไม่ควรอยู่ตรงนี้ ควรไปเตรียมตัว”
แล้วเธอก็เดินออกไปดังว่า แต่แป๊บๆ ก็กลับเข้ามาแนะนำตัวแล้วเริ่มต้นร้องเพลง
ฉันสงสัยอีกครั้ง โชว์เริ่มจริงๆ แล้วใช่ไหม
ออมไม่ตอบ แต่ทำให้ดู
‘ออม’ หรือ ‘Amadiva’
ออมในคราบ Amadiva เริ่มต้นจากการย้อนเล่าเรื่องผลงานเก่าๆ ของตัวเอง เรื่องแรกคือ ปลาสีรุ้ง ที่เธอรับบทเป็น Miss Ariel เงือกสาวรักคุด (ซึ่งโด่งดังมาก รีสเตจหลายครั้งมาก อย่างฉันเองก็ได้ดูเวอร์ชั่นรีสเตจแบบสบายๆ ในร้านเหล้าแห่งหนึ่ง) เรื่องถัดมาคือ ฤายังจะนกแม้โลกจะสลาย ที่เธอแปลงร่างเป็น Miss Carter ผู้อยู่ในคุมขังของระบบปฏิบัติการน้อง
ทั้งสองเรื่องนั้นออมทั้งเขียนและกำกับเอง หากแต่เลือกที่จะบอกเล่าผ่านคาแร็กเตอร์และเส้นเรื่องที่ชัดเจน ผิดกับเรื่องนี้ที่อาจไม่ได้มีเส้นเรื่องหลัก และเป็นชีวประวัติของตัวเองแท้ๆ แต่เธอกลับวางใจให้เพื่อนสนิทอย่าง โอ๊ต–ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ เป็นผู้เขียนบทให้
นี่คือเส้นแบ่งแรกที่เธอละเลงจนพร่าเลือน ชีวประวัติ (biography) ที่ถูกเขียนโดยคนอื่น แต่ออมก็มา ‘แสดง’ เอง เล่าเอง ร้องเอง ราวกับเป็นอัตชีวประวัติ (autobiography)
และขณะที่ฉันเพลิดเพลินกับการแสดงของ Amadiva แดร็กควีนสายการละครที่มาโชว์พลังเสียงและยักย้ายสะโพกอย่างเย้ายวนในเพลงแจ๊ส ก็มีจุดที่เธอนั่งลงแล้วเปิดใจว่า หลังจากเข้าร่วมเป็นแคสต์เมมเบอร์ของ Drag Race Thailand Season 1 เธอก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นและได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายๆ เจ้า แล้วจู่ๆ วันหนึ่งเธอก็ค้นพบว่า คำถามที่ว่า ‘Amadiva เป็นแดร็กควีนแบบไหน’ กับ ‘แล้วตัวจริงออมเป็นคนแบบไหน’ มันมีคำตอบเดียวกันนี่นา
แล้วตอนนี้ฉันกำลังอยู่กับ ‘ออม’ หรือ ‘Amadiva’ กันแน่
ในยุคที่คนเราคุ้นชินกับรายการเรียลลิตี้มากขึ้นและเข้าใจแล้วว่าคำว่าเรียลลิตี้ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างต้อง ‘เรียล’ เสมอไป การแสดงนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่าในเรื่องจริงมีเรื่องแต่งและในเรื่องแต่งมีเรื่องจริง คนดูถูกกระตุกให้หลุดออกจากความเป็นเรื่องแต่งตั้งแต่ในช่วงแรกที่ออมออกมาปรากฏกายทักทายคนดู และถูกกระตุกอีกเรื่อยๆ ระหว่างการแสดงที่บางขณะเธอก็แชร์ว่า จริงๆ ถ้าไม่เลือกแสดงแบบนี้ เธอจะแสดงแบบไหนได้อีก หรือเธอจะขยี้ดราม่าให้สุดกว่านี้ได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ เพราะอะไร
หรือที่ฉันตลกที่สุดก็ตอนที่เพชรกระเด็นหลุดจากคอสตูมขณะเธอกำลัง let her whole body talk บนแคตวอล์กแคบๆ ออมหยิบมันขึ้นมา แล้วเล่าเรื่องการลงทุนซื้อเพชรมาทำเสื้อผ้าของแดร็กควีนให้ฟังอย่างหน้าตาเฉย ฉันว่าถ้ามันแพงขนาดนี้ ช็อตนี้คงไม่ได้อยู่ในบทหรอก แต่เธอก็ ‘แสดง’ ต่ออย่างแนบสนิทไปกับบทที่เตรียมมา
แต่เมื่อฉันปล่อยใจไปกับเสียงเพลงและเรื่องเล่า คำถามที่ว่าคนตรงหน้าคือ ‘ออม’ หรือ ‘Amadiva’ ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป
ถ้าเขาเกลียดงานเรา เขาจะเกลียดเราไหม
“อยากเลิกเป็นแดร็กควีน” ออมหรือ Amadiva สารภาพกับคนดูระหว่างการแสดง แต่นั่นเป็นเพียงคำสรุปง่ายๆ บนยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะหลังจากโชว์จบลงและคนดูแยกย้าย ในห้องที่เหลือเพียงทีมงาน ออมสารภาพเพิ่มกับฉันว่า “เราไม่รู้หรอกว่าอยากออกจริงหรือเปล่า คงเหมือนคนพูดว่าอยากลาออกแต่ก็ไม่ได้จะลาออก ถ้าออกแล้วจะเอาอะไรแดก แต่ความคิดที่อยากจะลาออกมันก็จะกลับมาเรื่อยๆ แหละ ดูเป็นคนยุคเราเนอะ”
ฉันฟังแล้วคิดตาม ลองเทียบกับประสบการณ์ตัวเองและตั้งข้อสังเกตว่า ที่เลิกไม่ได้ ลาออกไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเมื่อมองลึกลงไปถึงสาเหตุที่อยากเลิก อยากลาออก จริงๆ แล้วรากของปัญหาอาจพันเกี่ยวซ้อนทับกับตัวตนจนไม่อาจใช้กรรไกรตัดฉับออกได้โดยที่ตัวเองไม่เจ็บ
สำหรับ Amadiva เธอรู้สึกว่าเธอไม่ใช่แดร็กควีนแบบที่ทุกคนจะชอบ “as an artist เราใส่ตัวเองลงไปในงานเยอะมาก และเรามีสไตล์ที่เราชอบอยู่ แม้ในวงการแดร็กเขาจะพูดกันตลอดว่า แดร็กจะเป็นแบบไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ฟรีมาก แต่เราฟรีแล้วเป็นคนทุเรศ เอะอะมะเทิ่ง ใส่เสื้อในกางเกงในวิ่งไปวิ่งมา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนชอบ ไม่ใช่สิ่งที่คนอยากดู คนส่วนใหญ่อาจจะมีภาพแดร็กควีนว่าต้องสวย ผมใหญ่ แต่นั่นไม่ใช่เรา แต่ถ้าเราไม่ทำแบบนั้น เราอาจไม่มีงานทำก็ได้นะ”
กระนั้นหนทางในการแก้ไขไม่ได้มีแค่ ‘โอนอ่อน’ หรือ ‘ต่อต้าน’ ภาพจำของสังคม หรือต่อให้เลือกสักทางแล้วก็ใช่ว่าจิตใจตัวเองจะยอมรับได้เสมอไป
“มันก็มีโมเมนต์ที่เรารู้สึกว่า โอเค งานเราไม่ใช่สำหรับทุกคน เราเป็นสายอัลเทอร์เนทีฟหน่อยๆ แต่มันก็มีโมเมนต์ที่ถามตัวเองว่า จริงๆ เราก็พยายามสวยได้หรือเปล่า ถ้าไปงานที่ต้องสวยก็ทำได้นี่ แต่เราก็สวยได้ไม่เท่าคนอื่นอยู่ดี แล้วเรายังสำรวจตัวเองต่ออีกว่า เราอยาก perform แบบนี้จริงๆ เหรอ เพราะเวลาลองสวยแล้วรู้สึกไม่เป็นตัวเองตลอดเลย เราจะสวยแล้วพยายามฉีกไปตลกเสมอ แต่จริงๆ การจะตลกได้ก็ต้องสวยก่อน คนถึงจะยอมให้เราตลก” ออมแชร์กระบวนการคิดอย่างเปิดอก
“เรามักถามตัวเองว่า ทำไมกูไม่เหมือนชาวบ้านเขาวะ เราเป็น outcast อยู่แล้วในฐานะแดร็กควีน นี่เรายังจะเป็น outcast ใน outcast อีกเหรอ แต่สุดท้ายคำถามที่ hit เรา hard ที่สุดคือ ถ้าเขาเกลียดงานเรา เขาจะเกลียดเรา as a person ด้วยไหมวะ”
ฉันถามออมว่ามีคำตอบให้คำถามนั้นหรือยัง เธอส่ายหน้า “เมื่อกี้เราก็ไม่มีคำตอบให้นะ ที่จบแบบนั้น คนดูบางคนอาจจะรู้สึกว่าทิ้งคนดู แต่เราจะทิ้ง”
I’m in love with my future
“ละครเรื่องนี้เริ่มจากชีวิตเราพัง ปีนี้เรานั่งเฉยๆ มานานมาก แล้วจู่ๆ มันก็มีเรื่องแย่เกิดขึ้น ในปีที่เรานั่งเฉยๆ มันไม่ควรแย่ปะ มันไม่ได้ทำอะไรเลยนะ” ออมเล่าย้อน
“เรานั่งร้องไห้ รู้สึกว่าชีวิตเศร้าจัง ร้องเสร็จเราลุกขึ้นมา เออ งั้นทำงาน ทำละครแล้วกัน เราอยากบันทึกหมุดหมายตรงนี้ไว้ว่า ตอนนี้ที่เราอายุ 27 เรารู้แล้วว่าบางปัญหามันแก้ไม่ได้ เมื่อก่อนเราเป็นคนที่ ไม่ได้ เราจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแก้มัน แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่า แก้ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป เดินออกมาทำอย่างอื่น เฮลตี้กว่าปะวะ”
หลังจากตามติดชีวิตช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาของเธอ (เท่าที่เจ้าตัวยอมให้รู้น่ะนะ) มาเป็นเวลากว่าชั่วโมงครึ่ง ออมร้องเพลงสุดท้าย เป็นเพลงป๊อปที่พลิกมวลอารมณ์ที่เพลงแจ๊สก่อนหน้านี้บิลด์มาทั้งหมด ราวกับเป็นสัญลักษณ์ของการตื่นรู้ในวัย 27 แล้วเธอก็เดินออกจากห้องไป ง่ายๆ แบบนั้น เรียบง่ายและละลายเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่งเหมือนตอนที่เธอเดินเข้ามา
บางคำถามและบางปัญหาร่วมของเจเนอเรชั่นนี้ที่เธอชวนคิดยังคงลอยเท้งเต้งอยู่ในอากาศ แต่ฉันรู้สึกได้ถึงสิ่งสิ่งหนึ่งที่ส่งตรงมาถึงใจ นั่นคือความหวัง
แม้ไม่รู้แน่ชัดว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นยังไง แต่เมื่อเธอเดินออกไป ฉันรู้ว่าชีวิตจะไปต่อ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตเธอ ชีวิตฉัน ชีวิตใครก็ตามที่เจอกับปัญหาที่ดูไร้ทางออก
ชีวิตจะไปต่อ
ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจาก Yellow Channel
I’m a Diva คืนนั้น.ฉัน.ดิว่า ยังจัดการแสดงอีกหลายรอบ ทั้ง 29 ตุลาคม 1, 5-8 พฤศจิกายน เวลา 20:00 น.
บัตรราคา 600/650 บาท จองได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Nakornrath Theatre Company หรือโทร. 087-622-9235