Algospeak เมื่อคนสรรหาคำใหม่มาใช้หลบเลี่ยงการสอดส่องควบคุมของอัลกอริทึม

ทุกวันมีคำศัพท์ใหม่โผล่มาเรื่อยๆ นอกจากคำสแลงของวัยรุ่นเพื่อให้พวกเขาคุยเข้าใจกันได้ไม่ให้คนแก่ตามทันแล้ว บนโลกอินเทอร์เน็ตยังมีปรากฏการณ์ที่ผู้คนคิดคำขึ้นใหม่เพื่อคอยหลีกเลี่ยงการสอดส่องโดยระบบอัลกอริทึมในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

วันนี้เราอยากชวนมาสำรวจคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘Algospeak’ ภาษาพูดที่ถูกสร้างมาพลิกแพลงเพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมของระบบอัลกอริทึมบนอินเทอร์เน็ต

ฆ่าตัวตาย ก่อการร้าย ซื้อขายอาวุธ หรือเรื่องวาบหวิว: เมื่ออยากจะพูดเรื่องที่ไม่ควรพูด คนในเน็ตจึงคิดโค้ดลับขึ้นมาเพื่อให้พูดคุยได้

ผู้ใช้คนหนึ่งตั้งกระทู้ถามบน Reddit (เว็บไซต์สำหรับโพสต์แลกเปลี่ยนออนไลน์) ว่า ทำไมคนใน TikTok ถึงใช้คำว่า ‘unalive’ แทนคำว่า ‘ฆ่า’ หรือ ‘ตาย’ ผู้คนจึงเข้ามาตอบว่า เพราะว่าแพลตฟอร์มสมัยนี้มีนโยบายป้องกันความรุนแรง คนคงกลัวว่าจะโดนแบนหรือถูกระงับการใช้งานหากใช้คำที่เกี่ยวกับความรุนแรง เช่น ความตาย การฆ่าตัวตาย หรือ ฆาตกรรม จึงหาคำนี้มาแทนคำว่า ‘kill’ หรือ ‘suicide’ และบางคนก็เชื่อว่าหากวิดีโอมีคำพูดที่เป็นลบแล้วอาจจะทำให้จำนวนยอดการเข้าถึงผู้ใช้งานลดลง หรือโดนจำกัดในระบบให้คนเห็นน้อย เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยุคปัจจุบันมีนโยบายคัดกรองให้คะแนนข้อความที่ดูเป็นด้านบวกให้เข้าถึงผู้คนมากกว่า

บทความของ Wired ได้เขียนถึงปรากฏการณ์ที่ผู้คนในแอปพลิเคชั่น TikTok เลือกใช้คำว่า ‘unalive’ เมื่อพูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย เพื่อป้องกันการโดนลบจากแพลตฟอร์ม โดยยกตัวอย่างแอ็กเคานต์หนึ่งที่มีผู้ติดตามกว่า 80,000 คน โดยเนื้อหาของช่องของเธอนั้นเกี่ยวข้องกับแนวคิดที่อยากจะปลิดชีพตนเอง บอกเล่าประสบการณ์การเป็นคนไข้จิตเวช ที่น่าสังเกตคือแอ็กเคานต์นี้ไม่เคยใช้คำว่า ‘suicide’ เพียงสักครั้งเดียวเพราะกลัวว่า TikTok จะลบคลิปของเธอ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Algospeak’ โดย Algospeak ผสมมาจากคำว่า ‘Algorithm’ อัลกอริทึมหรือระบบชุดคำสั่งที่สร้างไว้ตามขั้นตอน  + ‘Speak’ การพูด การสื่อสาร 

เมื่อถูกจับตาและเซ็นเซอร์โดยระบบอัตโนมัติ คนจึงคิดค้นคำใหม่เพื่อหลบเลี่ยงระบบคัดกรองอัตโนมัติบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้พูดเรื่องที่ตัวเองพูดได้โดยไม่โดนแบน ถูกลบ หรือถูกระบบกดคะแนนการเข้าถึงลงเพราะเนื้อหาอาจสุ่มเสี่ยง 

Algospeak เกิดขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่คนในเน็ตปรับตัว และหาคำใหม่มาเพื่อทดแทนการถูกจับตาควบคุมโดยระบบอัลกอริทึมที่คอยสอดส่องควบคุมเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม มักลบข้อความอันที่ไม่ผ่านนโยบายความปลอดภัยอย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติ รวมถึงลบบัญชีผู้ใช้ที่ละเมิดนโยบายด้วย 

Algospeak เป็นอีกปัจจัยที่เกิดขึ้นจนทำให้เกิดคำใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว และทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงอย่างไวอย่างที่เราคุ้นเคยว่า หากเราไม่เล่นเน็ตสัก 1 ปีก็อาจจะตามไม่ทันแล้วว่าวัยรุ่น คนใน Twitter หรือ TikTok พูดหมายถึงเรื่องอะไรกัน เพราะใช้โค้ดลับที่กันคนนอกและระบบตรวจสอบได้โดยง่ายนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของคำว่า unalive อันหมายความตรงกันข้ามกับ alive (มีชีวิต) ไม่ได้เกิดขึ้นบน TikTok เป็นที่แรกเสียทีเดียว แต่โผล่ขึ้นมาครั้งแรกในปี 2013 โดยมีตัวละครหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Deadpool ซึ่งเป็นหนังแอ็กชั่นฮีโร่แนวเกรียนตลก ตัวละครได้ใช้คำว่า ‘unalive’ ในความหมายว่าเขาจะกำจัดศัตรูให้สิ้นซาก คำนี้อยู่มาเรื่อยๆ แต่ก็เพิ่งถูกค้นหาเพิ่มสูงในปี 2022 นี้เอง บน TikTok มีแฮชแท็ก #unalivemeplease มากถึง 9.2 ล้านครั้ง และไม่มีแฮชแท็ก #suicide ปรากฏในแพลตฟอร์มแต่อย่างใด อาจเพราะระบบได้จำกัดไม่ให้คนค้นหาพบเนื่องจากเสี่ยงมีเนื้อหาและภาพที่รุนแรง

unalive เป็นเพียงคำหนึ่งที่ถูกใช้ยกตัวอย่างบ่อยและถูกพูดถึงแพร่หลาย แต่นอกจากคำนี้ยังมีคำอื่นๆ มาทดแทนความหมายที่แท้จริง อีกมากมายที่ทำให้คนนอกอาจจะงง เช่น

  • Nip Nops หมายถึง หัวนม (Nipples)
  • Spicy Eggplant (มะเขือรสเผ็ด) หมายถึง ไวเบรเตอร์ หรือ เซ็กซ์ทอยประเภทเครื่องสั่น
  • SA หมายถึง Sexual Assaults หรือการล่วงละเมิดทางเพศ
  • Le dollar bean หมายถึง เลสเบี้ยน
  • Accountants (นักบัญชี) แปลว่า พนักงานบริการทางเพศ (Sex Workers)
  • อีโมจิรูปข้าวโพด 🌽 (corn) แทนการพูดถึงหนังโป๊ (Porn)

อีกตัวอย่างของคำประเภท Algospeak ที่เกิดขึ้นจากโควิด–19 เมื่อแพลตฟอร์มให้คะแนนคำคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับ Pandemic หรือโรคระบาดน้อย เพื่อป้องกันการส่งข่าวปลอมเกี่ยวกับโรคระบาด ผู้คนเลยคิดชื่อเล่นให้กับคำนี้ใหม่ เช่น Panini หรือ Panda Express หรือกระทั่ง ทัวร์รียูเนียนของ Backstreet Boys วงบอยแบนด์ชื่อดังในยุค 2000s

เมื่อ Facebook ประกาศที่จะแบนกลุ่มบนแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลผิดไปในเชิงต่อต้านการฉีดวัคซีนโควิด–19 กลุ่มที่มีเนื้อหาเรื่องนี้ก็เปลี่ยนคำเพื่อหนีการโดนแบนเป็น ‘dance party’ หรือ ‘dinner party’ และเรียกคนที่ฉีดวัคซีนแล้วว่าเป็นพวกว่ายน้ำ หรือ ‘swimmers’

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์นั้นมีวิธีที่สร้างสรรค์และหาทางหลบเลี่ยงการตรวจจับจากผู้มีอำนาจหรือผู้ตรวจสอบได้เสมอไม่ว่าจะเป็น Moderator ในยุคเว็บบอร์ด ก้าวผ่านมาจนการใช้ชีวิตอยู่ร่วมการตรวจจับโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ในยุคโซเชียลมีเดีย แม้กระทั่งนักการเมือง/ปัญญาชนชาวอินเดีย Shashi Tharoor ก็ได้ทวีตถึงคำนี้ว่าเป็น Word of the Day ที่น่าจับตาในยุคปัจจุบัน

ภาษาโค้ดลับเพื่อเลี่ยงการตรวจจับและควบคุมไม่ใช่เรื่องใหม่

พฤติกรรมการใช้โค้ดลับในการสื่อสารเพื่อเลี่ยงการตรวจจับโดยผู้มีอำนาจนั้นมีมานานและเกิดขึ้นในทุกสังคม เว็บไซต์ Know Your Meme ได้เปรียบเทียบเรียก Algospeak ว่าคือ Voldermorting แปลเป็นคำง่ายๆ คือ ‘กระทำการโวลเดอร์มอร์ต’ เสมือนสภาวะโลกเวทมนตร์ในนิยาย แฮรี่ พอตเตอร์ ที่เราคุ้นเคย ตัวละครต่างเลี่ยงการพูดถึงลอร์ดโวลเดอร์มอร์ตโดยจากเรียกชื่อตรงๆ เปลี่ยนไปเรียกเป็นคำว่า ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร‘ หรือ ‘ผู้ที่ไม่ควรเอ่ยนาม‘ หากสังคมปัจจุบันในโลกความจริงเราต้องกระทำการโวลเดอร์มอร์ตเพื่อเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยความกลัวไปล่วงหน้า ก็ไม่แน่ใจว่านี่สังคมอินเทอร์เน็ตหรือโลกที่น่าอยู่หรือไม่

ปรากฏการณ์ Algospeak กลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ในภาษาอังกฤษเท่านั้น และพฤติกรรมที่คนในสังคมเกิดหัวใสคิดบิดเบือนคำ สร้างโค้ดลับเฉพาะ เพื่อจะพูดในเรื่องที่พูดได้ยากก็เกิดขึ้นแพร่หลายในภาษาไทยและแท้จริงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดบนโลก เพียงแค่ปัจจุบันมีระบบอัลกอริทึมที่เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดกรองเนื้อหาบนแพลตฟอร์มที่มีมากมายและหลั่งไหลอย่างรวดเร็วเกินจะใช้การตรวจจับคัดกรองโดยมนุษย์ได้หมด และผู้ให้บริการก็หวังว่าระบบเหล่านี้จะตรวจจับได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และไม่มีอคติยิ่งกว่ามนุษย์ และเป็นการแข่งขันกันระหว่างระบบที่ฉลาดขึ้นกับความมีไหวพริบของมนุษย์ที่พยายามจะหลีกหนีการตรวจจับและการถูกกำกับในการสื่อสาร

อย่างไรก็ดีก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ระบบที่ตรวจจับคำสุ่มเสี่ยงนั้นสามารถคัดกรองและเข้าใจบริบทการใช้งานคำต้องห้ามคำหนึ่งมากแค่ไหน เช่น การพูดถึงเรื่องฆ่าตัวตายนั้น ก็สามารถมองว่าเป็นเรื่องที่ควรถกเถียงและคุยกันได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและ Awareness ในสังคม หรือกระทั่งใช้เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตัวตาย หากระบบอัลกอริทึมไม่สามารถอ่าน ‘ความจงใจ’ ของผู้สื่อสาร ก็อาจจะเลือกแบนคำนี้ไปเลย แม้จะป้องกันคนเจอภาพที่เนื้อหาสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง เมื่อระบบที่ไม่แม่นยำมากพอ เลือกกรองหยาบๆ ก็อาจจะเป็นการคัดกรองเนื้อหาและความรู้เกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ให้โดนลดคะแนนหรือถูกลบหายไปจนค้นหาไม่พบไปด้วยซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

พฤติกรรมการใช้โค้ดลับเพื่อสื่อสารเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์ มีอีกชื่อเรียกคือ ภาษาแบบอีสป หรือ Aesopian Language คือการใช้คำที่ดูเป็นคำทั่วไปแต่แท้จริงมีความหมายเป็นโค้ดลับเพื่อสื่อสารบางเรื่องและกันคนนอกไม่ให้ฟังแล้วเข้าใจได้ทันที แต่คนในรู้กันว่าพูดถึงเรื่องอะไร ยิ่งถ้าคำต้องห้ามถูกทดแทนด้วยคำธรรมดาทั่วไปมากแค่ไหน ก็ยิ่งยากกับระบบที่จะคัดกรองออกได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ตัดเอาเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปด้วย การเปรียบเทียบกับนิทานอีสปเพราะนิทานอีสปคือเรื่องเล่าที่ดูไร้พิษภัย แพร่หลายทั่วไป คนจำนวนมากรู้จักและเคยได้ยิน โดย Aesopian นั้นมีต้นตอมาจากภาษารัสเซียคำว่า ezopovski ซึ่งคือคำเดียวกันในภาษารัสเซีย

แม้ Algospeak ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีปัจจัยเพิ่มเติมคือระบบอัลกอริทึมที่พยายามพัฒนาตัวเองให้ทันไหวพริบของมนุษย์  ปรากฏการณ์นี้ทำให้เราทุกคนได้ร่วมเป็นพยานที่เห็นภาษาบนโลกเปลี่ยนแปลงไว หรือดิ้นได้ในความเร็วที่ไวกว่าเดิม แม้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องสุ่มเสี่ยง แต่ก็อาจเป็นปกติของมนุษย์ที่อยากรู้อยากเห็น ทำให้เราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ และด้านมืดของมนุษย์ที่ปรับตัวหนีการสอดส่องได้เสมอ Algospeak จึงกลายเป็นเกมหนูไล่จับแมวระหว่างระบบควบคุมกับผู้คนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น อินเทอร์เน็ตที่ใสสะอาดปลอดภัย 100% คงไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่ายได้เร็วๆ นี้ และที่สำคัญ ทำให้เห็นว่า นอกจากนี้ยังตั้งคำถามว่าเราต้องการโลกอินเทอร์เน็ตที่คอยคัดกรองเรื่องลบ เรื่องร้าย ให้หายไปจากโลก หรือตัดสินใจแทนเราในทุกสิ่งว่าสิ่งใดควรไม่ควร โดยไม่เชื่อใจให้เราใช้วิจารณญาณของเราในการรับรู้ แสดงออก และสื่อสาร จริงๆ หรือ

อ้างอิง

Are TikTok Algorithms Changing How People Talk About Suicide? | WIRED

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ksmac

Ordinary person who’s trying to do non-ordinary work.