ไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก หากจะยกย่องว่า Parasite หรือ ชนชั้นปรสิต คือหนังที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ให้กับวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ในรอบศตวรรษ
ในวาระที่อุตสาหกรรมหนังเกาหลีครบรอบ 100 ปีเต็ม หนังเรื่องนี้เป็นหนังจากเกาหลีเรื่องแรกที่สามารถทะยานไปคว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) รางวัลสูงสุดของเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสมาครองได้เป็นครั้งแรก
แน่นอน Bong Joon-ho ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ได้รับคำชมล้นทะลักจากผู้ชมทั่วโลก นอกจากการสร้างรายได้ถล่มทลายภายในประเทศ หนังยังเข้าไปสร้างความฮิตระดับปรากฏการณ์ในอีกหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่บ้านเรา ที่เกิดกระแสบอกปากต่อปาก และถกเถียงกันในประเด็นสังคมจนเป็นที่พูดถึงกันมากมายในโลกออนไลน์
ไม่ใช่เครดิตที่ควรยกความดีความชอบให้แค่ผู้กำกับและนักแสดงที่เก่งกาจเท่านั้น แต่หากพูดถึงงานด้านภาพที่หวือหวาและเข้มข้นของหนังเรื่องนี้ เราจะละเลยไม่พูดถึงความสำคัญของ Alex Hong หรือ ฮง คยองพโย วัย 57 ผู้กำกับภาพของเรื่องไปไม่ได้ เพราะในภาพความขัดแย้งและความคลั่งแค้นทางชนชั้นที่แตกต่างกันอย่างดุเดือด เกิดขึ้นจากมุมมองการถ่ายทอดที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์การถ่ายทำหนังมานานกว่า 20 ปีของเขา
อเล็กซ์เคยร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังชาวเกาหลีทุกคน เริ่มทำงานมาตั้งแต่ช่วงปี 90s กำกับภาพให้หนังดังๆ มามากมายอย่าง Il Mare (2000), TaeGukGi: Brotherhood Of War (2004), Snowpiercer (2013), The Wailing (2016), Burning (2018) และล่าสุดคือ Parasite หนังที่เขายืดอกบอกเราอย่างภาคภูมิว่า ภูมิใจมากที่สุดเท่าที่ชีวิตนี้เคยทำงานกำกับภาพมา
Parasite ถูกเสนอชื่อเข้าชิง และได้รับรางวัลจากหลายเวทีทั่วโลก ล่าสุด ปีนี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม
ก่อนการประกาศผลจะมาถึงในไม่ช้า เราขอใช้ช่วงเวลาที่เขาเดินทางมาถ่ายหนังเรื่องใหม่ในไทย พูดคุยกับเขาเรื่องความคิด ชีวิต และการทำงานกำกับภาพ สิ่งที่เขารักมากที่สุดในชีวิตการทำหนัง
วันนี้ อเล็กซ์แอบกระซิบบอกเราว่า ไม่บ่อยนักที่เขาจะให้สัมภาษณ์กับสื่อ
มีอีกตั้งหลายอาชีพในวงการหนัง ทำไมถึงเลือกเป็นผู้กำกับภาพ
ช่วงมหา’ลัย ผมเรียนวิชาเศรษฐศาตร์ แต่รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเวิร์กกับตัวเองเท่าไหร่เลยลาออก เพราะจริงๆ แล้วผมสนใจเรื่องดนตรีและการถ่ายภาพมากกว่า ซึ่งในความเป็นจริง ผมเริ่มต้นอาชีพผู้กำกับภาพช้ากว่าคนอื่นๆ คือมาเริ่มงานกำกับภาพเอาเมื่อตอนอายุ 28 ปีแล้ว
ผมไม่ได้มีช่วงเวลาที่รู้สึกว่า โอ้โห ฉันจะต้องเป็น cinematographer แต่ด้วยความที่ผมรักหนังมากก็เลยลองลงมือทำดู ตอนแรกที่เริ่มทำผมยังไม่รู้หรอกว่าความสามารถของตัวเองคืออะไร แต่ก็ลองเป็น camera assistant ไปก่อน แล้วถ้าไม่เวิร์กก็แค่เลิกทำแล้วไปทำอย่างอื่น นึกออกไหม
ตอนที่ผมยังเด็ก ผมอยากท่องเที่ยวหรือแฮงเอาต์ แล้วการทำงานในอุตสาหกรรมหนังทำให้ได้ท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ผมเลยรักมุมนี้ของมัน แล้วก็รู้สึกว่า โห การเป็นผู้กำกับภาพนี่เจ๋งจังเลย (หัวเราะ)
หนังเรื่องไหนที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณมาทำงานด้านนี้
เป็นหนังอิตาเลียนยุค 60s ของผู้กำกับ Bernardo Bertolucci เรื่อง Before the Revolution (1964) และอีกเรื่องคือ The Conformist (1970) ช่วงที่อยู่อเมริกาก็ได้ไปดูหนังพวกนี้ตามโรงหนังอาร์ตเฮาส์ด้วย
คุณเรียนเทคนิคการกำกับภาพมาจากที่ไหน
ผมเรียนรู้และทดลองทำด้วยตัวเอง เพราะผมชอบดูหนังบ่อยอยู่แล้ว
หลังจากนั้นคุณเริ่มต้นงานกำกับภาพแต่แรกเลย หรือว่าทำงานอื่นๆ มาก่อน
ไม่ได้เป็นผู้กำกับภาพแต่แรก แต่เป็นผู้ช่วยกล้องที่สหรัฐอเมริกามาก่อน 4 ปี การทำงานด้านภาพทั้งสองที่นี้จะมีความแตกต่างกันอยู่ ที่เกาหลีผู้กำกับภาพทำหน้าที่ควบคุมกล้องไปด้วย ส่วนที่อเมริกาคนกำกับภาพและคนทำหน้าที่คุมกล้องจะเป็นคนละคนกัน
แล้วช่วงปี 1996 ผมเคยเป็น focus puller ให้กับ Christopher Doyle ในหนังเกาหลีเรื่อง Motel Cactus ซึ่งในตอนนั้นบง จุนโฮ ผู้กำกับเรื่อง Parasite เขาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในหนังเรื่องนั้นด้วยเหมือนกัน เราเลยได้พบกันในหนังเรื่องนั้น
ได้ยินมาว่าคุณเป็นผู้กำกับภาพชาวเกาหลียุคแรกๆ ของวงการเลย
ก่อนหน้าที่ผมจะทำอาชีพนี้ ในอดีตไม่ได้มีผู้กำกับภาพในเกาหลีมากนักครับ เรามีคนรุ่นก่อนทำหน้าที่ตรงนี้น้อยมาก แล้วก็มาเป็นคนรุ่นผม ตอนนี้ผมเลยไม่มีผู้กำกับภาพที่เป็นรุ่นพี่ แต่การแข่งขันในวงการก็สูงมากอยู่ดี เรามีการแบ่งรุ่นกันในอุตสาหกรรมหนังเกาหลี พอมารุ่นหลังๆ ก็มีผู้กำกับภาพเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นร้อยคน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีความสามารถทั้งนั้น
ทำงานมา 20 กว่าปี สำหรับคุณ ผู้กำกับภาพที่ดีต้องมีลักษณะแบบไหน
ทักษะการสื่อสารที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทั้งการสื่อสารกับผู้กำกับและทีมงานของเราทั้งหมด เพราะผู้กำกับภาพต้องสร้างสรรค์ภาพออกมาให้ตรงตามที่ผู้กำกับต้องการอย่างชัดเจนและแม่นยำ ดังนั้นการสื่อสารให้เคลียร์เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ
ในบทสัมภาษณ์ของ IndieWire คุณบอกว่าพยายามจะสร้างความแตกต่างทางชนชั้นในหนังเรื่องนี้ด้วยแสง ลองอธิบายให้ฟังเพิ่มเติมได้ไหม
ผู้กำกับบงเป็นคนที่ค่อนข้างชัดเจนในการถ่าย เขามีความต้องการชัดว่าต้องการภาพแบบไหน ซึ่งเขาจะอธิบายทุกๆ อย่างในบทหนัง และช่วงทำ pre-production ดังนั้นผมจะพูดคุยกับผู้กำกับบงเรื่องครอบครัวคนรวยและครอบครัวคนจนแบบลงรายละเอียดลึกมากๆ เพื่อทำให้ Parasite มีวิธีการถ่ายทอดภาพความแตกต่างทางชนชั้นได้อย่างชัดเจน หนึ่งในวิธีการคือลักษณะของแสงที่ใช้ในบ้านของแต่ละครอบครัว
ในบ้านของครอบครัวที่รวยจะตั้งอยู่บนเนินเขาสูง และมีหน้าต่างที่กว้างขวาง ทำให้ได้รับแสงแดดธรรมชาติเยอะมากกว่า ในขณะที่บ้านของครอบครัวยากจนจะอยู่ในพื้นที่กึ่งใต้ดิน ครึ่งหนึ่งโผล่จากพื้นดิน ส่วนอีกครึ่งอยู่ใต้ดิน แล้วมีหน้าต่างบานเดียวที่อยู่บริเวณริมถนน ทำให้ลักษณะของแสงในบ้านจะไม่ค่อยได้รับแสงแดดธรรมชาติมากนัก คือมีแสงส่องเข้ามาจำกัด ดังนั้นส่วนมากแสงในบ้านจะเป็นแสงไฟจากบนเพดานเป็นส่วนใหญ่
แล้วห้องของตัวละครที่อยู่ชั้นใต้ดินลับของบ้านคนรวยล่ะ มีการออกแบบแตกต่างออกไปยังไง
ถ้าสังเกต จะเห็นได้ชัดตั้งแต่ในชอตแรกที่ประตูชั้นใต้ดินถูกเปิดออก มันถูกออกแบบให้เป็นการถ่ายภายในชอตเดียวจบ เริ่มต้นจากแสงสีส้มอุ่นภายในบ้านคนรวย แล้วพอก้าวลงไปในห้องใต้ดินของบ้านจะค่อยๆ กลายเป็นแสงสีเขียว เพื่อทำให้เกิดความขัดแย้งกัน
การกำกับแสงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก คุณทำงานกับทีม production design ยังไง
ในแง่ของโปรดักชั่นดีไซน์ ผมทำงานกับทีมงานอย่างใกล้ชิด เพราะต้องคอยติดตามดูงานว่าเขามีการออกแบบโปรดักชั่นยังไง หลายๆ ครั้งผมต้องเป็นคนเลือกสีของฉากและพร็อพเอง อย่างเช่นในบ้านคนรวย ลักษณะของแสงที่ออกแบบและติดตั้ง จะเป็นแสงที่ตกกระทบไม่ตรง ทำให้แสงมีความนุ่มนวล และสามารถควบคุมได้ว่าจะให้เข้มหรือสว่างมากแค่ไหน ซึ่งจะมีความแตกต่างกับบ้านที่ยากจน เพราะในบ้านหลังนั้นจะใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ทั่วไปที่ส่องลงมาตรง ทำให้แสงแข็งๆ และด้าน
แม้แต่การถ่ายฉากเอาต์ดอร์ที่เป็นฉากถนน ไฟถนนทุกต้น ทุกดวง ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ แล้วเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ส่วนไฟที่อยู่หน้าบ้านคนรวยจะเป็นไฟสีขาว แต่กลับกัน ในซีนที่ตัวละครคนจนวิ่ง ช่วงที่ฝนตกและน้ำท่วม บริเวณที่เป็นย่านบ้านคนจน ไฟทั้งหมดจะกลายเป็นสีแดงขึ้น แสงทั้งหมดที่เห็นคือความตั้งใจที่เราออกแบบกันขึ้นมา
ซีนไหนที่การควบคุมแสงเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายที่สุด
ซีนงานปาร์ตี้วันเกิด เป็นช่วงที่ถ่ายทำยากที่สุด เราใช้เวลาถ่ายกันถึง 4 วัน เพราะเราอยากใช้แสงแดดธรรมชาติทั้งหมดเลย ทำให้บางครั้งพอมีเมฆมาบังแดด เราก็ต้องรอให้เมฆเคลื่อนผ่านไปก่อน พอแดดออกอีกครั้งถึงถ่ายทำต่อได้ ฉะนั้นภายในหนึ่งวันเราต้องรอแสงอาทิตย์จากธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งในทุกวันจะเริ่มถ่ายเวลา 10 โมงถึงบ่ายโมง เพราะว่าพระอาทิตย์จะสว่างและแดดกำลังออกดีที่สุด ดังนั้นทีมจะมีเวลาถ่ายทำจำกัดเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน กว่าจะถ่ายภาพได้ตามที่ต้องการ
มีอะไรที่คุณคิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายตอนถ่ายทำ Parasite อีกบ้างไหม
ความท้าทายคือการที่ผมต้องทดลองถ่ายพื้นผิวหน้าตัวละครหรือนักแสดงตอนที่บ้านพวกเขาน้ำท่วม เพราะผมอยากให้ผิวหน้าของนักแสดงแต่ละคนสามารถบ่งบอกความรู้สึกทางด้านอารมณ์ได้ด้วย ดังนั้นเราต้องทดลองหาสิ่งที่ใช่เยอะมาก เช่น ดวงตาและผิวหนังที่ปรากฏและสะท้อนออกมา
ผมต้องทดลองการถ่ายแบบโคลสอัพและลองใช้เลนส์หลายรูปแบบมากจนกว่าจะลงตัว ในแง่กระบวนการทดลองนี้เป็นเรื่องที่อธิบายยาก เพราะผมต้องใช้สัญชาตญาณในการดู ต้องลองถ่ายแบบโคลสอัพหลายๆ รอบ เพื่อดูว่าดวงตาหรือริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้านักแสดงแบบไหนที่จะให้พลังทางการแสดงออกมามากที่สุด แล้วสุดท้ายผมจึงเลือกใช้เลนส์ 65 เพราะมันให้ภาพที่แตกต่างจากเลนส์ทั่วๆ ไป โดยที่มันไม่มีความบิดเบือนหรือทำให้มิติภาพบิดเบี้ยว
นอกจากเรื่องแสงสี สถานที่ หรือระดับความสูง-ต่ำ มีแง่มุมอื่นอีกไหมที่งานด้านภาพต้องการนำเสนอความต่างของทั้งสองครอบครัว
รายละเอียดพวกนี้เป็นเรื่องของโปรดักชั่นดีไซน์ เช่น ซีนหลังจากฝนตกแล้วน้ำท่วม พอตัดภาพไปที่บ้านคนรวย จะมีช่วงแสงแดดนวลทาบทับลงไปบนใบหน้าของตัวละครแม่ที่บ้านรวย ผมอยากที่จะลองสร้างและออกแบบจังหวะของแสงในช่วงนั้นให้ประณีต เพราะว่าวันที่ถ่ายทำเป็นวันที่แสงแดดแรงมาก ผมเลยทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของตัวละครคนรวยที่สุขสบาย ซึ่งขัดแย้งกับคนจนที่เพิ่งผ่านพ้นหายนะช่วงกลางคืนมา
แล้วเรื่องของการดีไซน์ภาพให้รับรู้ได้ถึงเรื่องกลิ่นซึ่งเป็นกุญแจสำคัญหนึ่งในหนังล่ะ
กลิ่นเป็นสิ่งที่ยากที่จะนำมาเสนอ หรือถ่ายเป็นภาพออกมา ตอนแรกคุยกันว่าจะถ่ายทอดเพื่อจับประสาทสัมผัสด้านกลิ่นยังไงดี อย่างในช่วงต้นเรื่องเลยพยายามทำให้คนดูรู้สึกเรื่องกลิ่นได้ ในซีนที่ตัวละครคนจนกินข้าวกันที่บ้านใต้ดินแล้วย่างหมูในบ้าน เราโชว์กลิ่นด้วยคุณภาพของแสงและควันที่มีความเข้มขึ้น เพื่อให้คนดูไม่ได้แค่เห็น แต่ประหนึ่งเหมือนได้กลิ่นไปด้วย และนั่นเป็นซีนแรกๆ เลยที่เราอยากจะจับกลิ่นออกมาเป็นภาพให้ได้ แล้วหลังจากนั้นหนังก็มีการเปลี่ยนแปลงการนำเสนอกลิ่นไปเรื่อยๆ
ใช้กล้องกี่ตัวในการถ่ายทำ
ไม่ว่าจะไปถ่ายที่ไหนก็ตาม เราใช้กล้องแค่ตัวเดียว คิดเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับ ผู้กำกับบงจะใช้กล้องแค่นั้นเสมอ แม้แต่ในโปรดักชั่นหนังฮอลลีวูดเรื่อง Snowpiercer ก็ด้วย ใช้กล้องเดียวถ่ายชอตบายชอตตลอด ไม่ได้ใช้กล้องมากกว่านั้นเลย
บ้านที่เห็นในเรื่อง เซตขึ้นมาหรือว่าเป็นบ้านจริงๆ
เซตติ้งทั้งหมด มีแค่ส่วนตรงถนนและบันไดที่ลงไปบ้านคนจนที่เป็นสถานที่จริง แต่ว่าตัวบ้านคนรวยและคนจนไม่มีอยู่จริง เราสร้างขึ้นมาในสตูดิโอ ซึ่งเป็นการเซตฉากที่สำคัญมากๆ
อย่างช่วงน้ำท่วมบ้านคนจนไม่ใช่บ้านจริงๆ เราใช้สตูดิโอที่เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งใส่น้ำจนท่วมได้ ซีนนั้นใช้เวลาถ่ายหนึ่งวันเต็มเลย เป็นความท้าทายของนักแสดงทุกคนที่ต้องทนความหนาวให้ได้ด้วย ส่วนในบ้านคนรวยก็เซตขึ้นมา 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสวนและบ้าน ฝ่ายอาร์ตไดเรกเตอร์เป็นคนเนรมิตขึ้นมาทั้งหมด
เรารู้มาว่าแม้แต่เรื่องของเม็ดฝนในเรื่องก็มีการออกแบบให้แตกต่างกันด้วย
ใช่ เราออกแบบฝนที่ตกในบ้านทั้งสองครอบครัวให้แตกต่างกัน โดยดีไซน์ให้ฝนที่ตกในบ้านคนรวยมีความสวยงามสง่าและนุ่มนวล แต่ในบ้านของคนจน ฝนจะตกหนักห่าใหญ่ และดูแข็งด้านมาก ซึ่งส่วนนี้เป็นการทำงานร่วมกับทีมเอฟเฟกต์ด้วย เพื่อให้ได้ฝนที่ออกมามีลักษณะไม่เหมือนกัน
เวลาถ่าย Parasite ชอตแต่ละชอตถูกออกแบบมาอย่างละเอียดและชัดเจน ถ้าอย่างนั้นมีการด้นสดเกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทำบ้างไหม
โดยส่วนใหญ่ในหนังจะถูกออกแบบมาหมดแล้ว แต่มีการอิมโพรไวส์อยู่ครั้งหนึ่ง คือฉากที่ปาลูกพีชใส่หน้าคุณแม่บ้าน
คุณทำงานหนังกับผู้กำกับบงมากี่เรื่องแล้ว
3 เรื่องที่เขาเป็นผู้กำกับ คือเรื่อง Mother (2009), Snowpiercer และ Parasite ส่วนอีก 1 เรื่องคือ Sea Fog (2014) เป็นเรื่องที่ผู้กำกับบงเป็นโปรดิวเซอร์
ความสัมพันธ์ของคุณกับผู้กำกับบงเป็นยังไง เป็นความสัมพันธ์แบบเจ้านายกับลูกน้องหรือเปล่า
ผมแก่กว่าเขาครับ แต่ว่าเราเป็นเพื่อนกัน เขาเรียกผมว่าฮยอง แปลว่าพี่ชายในภาษาเกาหลี จริงๆ ผมรักการทำงานกับผู้กำกับบง ตอนที่เขากำกับนักแสดงจะตลกมากๆ (หัวเราะ) เขาชอบใช้ท่าทางสื่อสารออกมาเยอะเสมอเลย
เขาเป็นผู้กำกับคนโปรดของผม เราเป็นเหมือนเพื่อนกัน ทำงานกันมาก็เป็นสิบปี และรู้จักกันมาเกือบยี่สิบปี ตั้งแต่ช่วงปี 90s ตอนเขายังเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ และผมก็เป็นผู้ช่วยกล้อง เราทำงานด้วยกันจนไม่ต้องพูดกันมาก แต่เข้าใจกันได้ ทำให้ผมสบายใจที่จะร่วมงานกับเขา ซึ่งเขาก็บอกผมว่าเขารักภาพที่ผมถ่ายมากจริงๆ
อย่าง Song Kang-ho (นักแสดงผู้รับบทเป็นพ่อในครอบครัวยากจน) ก็มีบุคลิกหนึ่งเหมือนผู้กำกับบง เราไม่ต้องพูดกันมากเหมือนกัน เพราะรู้ใจกันดี
หลังทำ Parasite เสร็จจนได้ลงโรงฉาย คุณคิดยังไงกับประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคมเกาหลี
เราพูดเรื่องนี้กันมานานมากแล้ว ตั้งแต่ก่อนทำ Parasite เพราะใน Snowpiecer เราก็พูดถึงความไม่เท่าเทียมในหนังทั้งเรื่อง ผู้กำกับบงสนใจเรื่องนี้มาตลอด เพราะเรื่องความไม่เท่าเทียมเป็นประเด็นปัญหาในสังคมเราเสมอ
ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมคือปัญหาในประเทศเกาหลี ในฐานะศิลปินและคนทำหนัง เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งเลวร้ายที่สังคมของเรากำลังเผชิญกันอยู่
ทุกวันนี้ปัญหาก็ยังคงอยู่ ทั้งเรื่องของความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในสังคม แต่ผมคิดว่ามันกำลังเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเมื่อ 3 ปีก่อนเรามีการปฏิวัติแสงเทียน (Candlelight Protest) ที่ยิ่งใหญ่มากในย่านควังฮวามุน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนก็ตระหนักรู้เรื่องสิทธิกันมากขึ้น และมันทำให้สิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนไป
การปฏิวัติแสงเทียนที่ควังฮวามุน คุณออกไปเรียกร้องเรื่องอะไร
ขับไล่ประธานาธิบดี Park Geun-hye พวกผมอยู่ที่นั่นกันหมด บง จุนโฮก็อยู่ที่นั่นด้วย เรามาเจอกันตั้งแต่วันแรกของการประท้วง ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผมกำลังเตรียมตัวทำหนังเรื่อง Burning พอดี ขณะที่หนังเรื่อง OKJA ของผู้กำกับบงก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการตัดต่อ (หัวเราะ)
ทำไมคุณถึงออกไปประท้วง
เพราะเป็นหน้าที่ของประชาชนและพลเมือง คนทำหนังเกาหลีส่วนใหญ่ล้วนเป็นพวกลิเบอรัลกันทั้งนั้น อย่างผู้กำกับอี ชางดง หรือ Park Chan-wook เราอาจไม่ได้รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่ชัดเจน แต่ต่างก็มีมุมมองทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน
ผมยังไม่ได้พอใจในสังคมมากขนาดนั้น เพราะยังคงหวังให้สังคมเกาหลีดีขึ้นไปอีก ผมเชื่อใจคนเกาหลี เพราะว่าประเทศเราเน้นเรื่องความเสมอภาค และพวกเขาต่อสู้เพื่อให้บางอย่างในสังคมดีขึ้นเสมอ ดังนั้นในท้ายที่สุดผมหวังว่าสักวัน สังคมเราจะดีขึ้นได้จริงๆ
ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ใช่ว่านักการเมืองเพียงคนเดียว หรือศิลปินคนเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งหมดได้ แต่ช่วงเวลานี้ สังคมเรากำลังเปลี่ยนไป ด้วยผู้คนมากมายที่ร่วมลงมือไปด้วยกัน
Parasite ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนเกาหลียังไง
แน่นอน Parasite ส่งอิทธิพลกับความคิดของผู้ชมเยอะมาก เพราะคนเกาหลีเข้าไปดูหนังเรื่องนี้จำนวนมากถึง 10 ล้านคน เรามีประชากร 45 ล้านคน คิดเป็น 20-25 เปอร์เซ็นต์ของคนเกาหลีทั้งประเทศ เท่ากับว่าประชากร 1 ใน 4 ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว และด้วยความที่หนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปฏิกิริยาจากคนดูจึงมีความซับซ้อนและหลากหลาย เพราะว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เท่าเทียมกันตรงนี้ เรียกได้ว่ามีจุดร่วมบางอย่างเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องกลิ่น แม้ว่าพวกเขาจะต้องเจอกับการแบ่งแยก ความไม่เท่าเทียมเหมือนที่ตัวละครในหนังต้องเจอ แต่สุดท้ายเมื่อพวกเขาต้องเจอกับคนที่ยากจนกว่า ก็กลับมีปฏิกิริยากับคนเหล่านั้นเหมือนตัวละครคนรวย ดังนั้นถึงแม้พวกเขาจะรักหนังเรื่องนี้แค่ไหน ก็อาจยังรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่พวกเขาเป็นจริงๆ นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าหนังกำลังเปลี่ยนความคิดคน
ถ้าอย่างนั้น คุณพอใจผลตอบรับที่ได้จากคนดูหนังไหม
ตอนที่ผมและผู้กำกับบงทำหนังเรื่องนี้ เราไม่ได้คาดหวังเลยว่าจะได้ผลตอบรับขนาดนี้จากผู้คน เพราะว่าเรื่องราวเหล่านี้ค่อนข้างเป็นเรื่องที่มีความเป็นเกาหลีมากๆ ไม่คิดเลยว่าคนไทยหรือคนอเมริกันจะรัก Parasite คือมันไปเหนือกว่าความคาดหมายมากจริงๆ ผมก็ประหลาดใจมากๆ ที่คนไทยชอบ ซึ่งผมกับบงคุยกันแล้วบอกว่าพวกเราไม่รู้จริงๆ ว่าเพราะอะไรคนถึงชอบ (หัวเราะ) แต่คิดว่าความคับข้องใจในความไม่เท่าเทียมอาจเป็นความรู้สึกสามัญของคนทั่วโลก เลยทำให้ผมคิดได้ว่าสื่อภาพยนต์นั้นทรงพลังมากแค่ไหน
คุณเชื่อว่าภาพยนตร์ทรงพลังขนาดนั้นเลยเหรอ
ใช่ครับ เพราะผมรู้สึกว่าหนังสามารถทำให้เกิดการปฏิวัติหรือสร้างโฆษณาชวนเชื่อได้ เมื่อตอนเด็กๆ ผมเคยดูหนังของผู้กำกับชาวต่างชาติหลายๆ เรื่อง พวกเขาไม่ได้รู้จักผม แต่ผมสามารถเข้าใจความรู้สึกในหนัง และได้รับแรงบันดาลใจจากคนทำหนัง จากนั้นก็ได้ผลักดันตัวเอง เริ่มเปลี่ยนความคิดทีละน้อย ทำให้ผมฝันว่าอยากจะทำหนังแบบนั้น หนังที่สามารถสร้างความคิดให้กับคนอื่นได้
นอกจาก Parasite คุณยังเคยกำกับภาพให้กับ Burning หนังของผู้กำกับดัง Lee Chang-dong เขามีวิธีการทำงานด้านภาพที่แตกต่างจากผู้กำกับบงยังไง
แตกต่างกันเยอะมาก ตอนแรกผมถ่ายทำหนังเรื่อง Burning ของอี ชางดง มาก่อนที่จะมาถ่ายหนังของผู้กำกับบง ต้องมีการปรับตัวมากเหมือนกัน เพราะผู้กำกับอีใช้วิธีการอิมโพรไวส์เยอะกว่า ในสตอรีบอร์ดของเขาแทบไม่มีอะไรเลยด้วยซ้ำ คือไม่ได้มีภาพที่ชัดเจน แต่ผู้กำกับอีจะมองแล้วบอกว่าอันนี้โอเคแล้วนะ
ขณะที่เรื่อง Parasite เรามีตัวละครหลักทั้ง 8 คาแร็กเตอร์ และสองครอบครัวที่มีสถานภาพและบทบาทที่แตกต่างกัน หนังเรื่อง Parasite จึงมีหน้าที่ต้องโฟกัสและติดตามคาแร็กเตอร์เหล่านี้ ในขณะที่ Burning มันไม่ใช่เรื่องของตัวละคร แต่เป็นเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อม บรรยากาศ และอารมณ์ นั่นคือสิ่งที่เป็นเป็นจุดที่แตกต่างกัน
ทำไมผู้กำกับอีเลือกใช้วิธีการอิมโพรไวส์
อี ชางดง มีภูมิหลัง และพื้นฐานที่แตกต่าง เขาเป็นนักเขียนวรรณกรรม เคยเขียนนวนิยายมาก่อน ดังนั้นเวลาที่พูดคุยกันก่อนที่จะไปถ่ายทำ เลยต้องการจะเน้นไปที่ภาษาภาพว่าต้องการจะบอกเล่าเรื่องราว แสดงหรือสร้างอารมณ์และจินตนาการร่วมยังไง
ถ้าดูตัวบทของเรื่อง Burning พวกเขาจะมีสคริปต์บรรยายเยอะมากๆ แต่พอเป็นบทของ Parasite จะมีทิศทางตรงข้ามกันเพราะจะมีบทสนทนาที่ค่อนข้างเยอะกว่า
เรื่อง Burning ก็พึ่งพาแสงธรรมชาติระหว่างถ่ายทำเยอะเหมือนกันใช่ไหม
ใช่ เรื่อง Burning ผมและผู้กำกับอีคิดว่าถ้าไม่จำเป็น เราก็อยากจะใช้แสงธรรมชาติในหนังเป็นหลักไปเลย โดยส่วนตัวผมก็ชอบการใช้แสงธรรมชาติมากกว่า ถึงแม้ว่าบางทีก็ต้องรอแสงที่ใช่ แต่ถ้าเกิดสถานการณ์ไม่เอื้อจริงๆ ก็จะใช้การจัดแสงเข้ามาช่วย
คุณชอบวิธีการทำงานที่มีการออกแบบทุกอย่างมาเรียบร้อยแล้วแบบผู้กำกับบง หรือการด้นสดแบบผู้กำกับอี
โดยการทำงานแล้วผมชอบทั้งคู่ แต่ผมอาจจะชอบวิธีการของผู้กำกับบงมากกว่า ด้วยวัยที่ใกล้เคียงกันด้วย แต่กับตัวผู้กำกับอีจะมีวิธีการทำงานด้วยที่อาจยากในบางครั้ง
แล้วการทำงานกับผู้กำกับดังอีกคนอย่าง Na Hong-jin ในเรื่อง The Wailing (2016) เป็นยังไงบ้าง
ความยากของ The Wailing คือสคริปต์ที่ซับซ้อน ตัวบทภาพยนตร์มีความเคร่งเครียดในนั้น ในขั้นตอนการสำรวจสถานที่ถ่ายทำ ผมต้องใช้เวลาลงไปตามหาโลเคชั่นในต่างจังหวัดนานเป็นเวลาถึง 6 เดือน แล้วการถ่ายทำในช่วงแรกก็ค่อนข้างหนักหนามาก ทำให้ต้องจากบ้านมานานมากในช่วงโปรดักชั่น นั่นแหละครับ เลยกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมชอบถ่ายทำเรื่อง Burning มากที่สุด (หัวเราะ)
แต่ถ้าพูดถึงในแง่ของการทำงาน วิธีการของทั้งนา ฮงจิน กับ บง จุนโฮ มีความคล้ายคลึงกัน เพราะมีการวางแผนการ และออกแบบชอตเรียบร้อยมาก่อนแล้ว
หนังทุกเรื่องที่ถ่ายทำมาทั้งหมด คุณชอบเรื่องไหนมากที่สุด
Burning ครับ เพราะว่าอยู่ใกล้บ้านผม แล้วก็โชคดีด้วย พอเราคุ้นเคยกับพื้นที่แถวบ้าน ผมเลยหามุมที่มีความสวยงามได้ และรู้ว่าเมื่อไหร่แสงจะมาทางไหน บ้านผมที่อยู่เมืองพาจู อยู่ใกล้บ้านของอี จงซู ตัวละครพระเอกในเรื่อง ผมสามารถขับรถไปถึงได้ในเวลาแค่ 20 นาที ถ่ายเสร็จก็กลับไปนอนที่บ้านได้ทุกวัน ถือว่าการเดินทางสะดวกสบาย เลยชอบหนังเรื่องนี้ครับ
อย่างซีนสุดท้ายที่ถ่ายทำใน Burning ผมอยากให้มีหิมะตกลงมา แล้วพอตอนถ่ายหิมะก็ตกจริงๆ
มีผู้กำกับเกาหลีคนไหนที่อยากร่วมงานด้วย แต่ยังไม่มีโอกาสได้ร่วมงานกันสักทีไหม
จริงๆ ผมถ่ายให้หมดทุกคนแล้วนะ
อยู่ในวงการมา 20 ปีแล้ว มีอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำบ้าง
ผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองมีผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซ ในฐานะผู้กำกับภาพ ผมอยากทำให้ภาพที่ได้มาเพอร์เฟกต์ที่สุด แม้จะเป็นความผิดพลาดในชอตเดียว ผมก็ไม่พอใจกับมัน เพราะฉะนั้นผมอยากทำให้ในทุกๆ ชอตเพอร์เฟกต์และน่าพอใจ ซึ่งตอนนี้ผมก็ยังคงทำงานเพื่อให้ได้สิ่งนี้อยู่
เวลาเราสร้างชอตเพอร์เฟกต์ได้มันเป็นความรู้สึกเหมือนต้องมนตร์ อย่างเช่น ฉากเต้นของนางเอกในหนังเรื่อง Burning เมื่อผมสร้างชอตนั้นได้ สามารถเก็บภาพทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ ผมมองดูและ operate มัน เหมือนกับ เฮ้ย ผมทำได้แล้วว่ะ ว้าว พวกเราทำได้อีกแล้ว หรือบางครั้งตอนทำงานกับผู้กำกับบง ผมก็ว้าววว ช่วงเวลาพวกนี้ดีมาก เหมือนกับเมจิกโมเมนต์เลย
แล้วได้เรียนรู้อะไรจากการทำหน้าที่ผู้กำกับภาพบ้าง
หนังแต่ละเรื่องมีสไตล์ที่แตกต่างกัน ผมเลยต้องทำอะไรใหม่ๆ หรือแปลกออกไปเสมอ ทุกครั้งที่ทำหนังเรื่องใหม่ หนังทุกเรื่องจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ผมเรียนรู้สิ่งใหม่ในหนังทุกๆ เรื่อง และยังคงต้องมีการรีเสิร์ชอยู่เสมอ เรียกได้ว่ามีเรื่องให้ได้เรียนรู้เพิ่มอยู่ตลอดเวลา แม้มีเรื่องยากๆ ตามมาด้วย แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจในชีวิตการเป็นผู้กำกับภาพเสมอ
ผมชอบทำหนัง เวลาได้ไปออกกองถ่ายทำจะมีความสุขมากทุกครั้งที่ได้เอนจอยกับประสบการณ์ตรงนี้ ดังนั้นผมอยากจะทำงานด้านนี้ต่อไป ตราบเท่าที่คนต้องการให้ทำครับ
คุณถ่ายทำหนังที่พูดเรื่องชนชั้นกับผู้กำกับบงมาตั้ง 2 เรื่อง แล้วตัวคุณเองล่ะ คิดว่าตัวเองเป็นคนชนชั้นไหน
ชนชั้นกลางครับ
แล้วการเป็นชนชั้นกลางเกาหลีมีความลำบากยังไงบ้าง
ไม่ค่อยแน่ใจเลย อาจเพราะผมไม่มีครอบครัว เอาแต่คิดถึงเรื่องหนังและทำแต่งานลูกเดียว แถมตอนนี้ผมคิดถึงแมวสองตัวที่เลี้ยงไว้เหมือนลูกๆ ที่เกาหลีมากๆ ด้วย (หัวเราะ)
จากช่วงสงครามที่เลวร้าย และการแบนหนังของรัฐบาลเผด็จการเกาหลีใต้ในอดีต ส่งผลให้วงการหนังเกาหลีซบเซาจนถึงขีดสุด คิดว่าเพราะอะไรทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศคุณกลับมาเฟื่องฟูได้ขนาดนี้
คิดว่าเป็นเพราะทัศนคติแบบเกาหลี (หัวเราะ) คนเกาหลีรักหนัง และชอบดูหนังมากๆ เรามีผู้ชมจำนวนมากไปดูหนังและสนับสนุนหนังในโรงฉาย จึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนด้วย ทุกวันนี้วงการหนังเกาหลีดีขึ้นและเติบโตขึ้นมากๆ ในระดับโลก ทั้งๆ ที่เมื่อ 20 ปีที่แล้วสถานการณ์ในวงการเลวร้ายจริงๆ ถ้าพูดถึงการทำงาน บางครั้งพวกเราต้องทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง แถมไม่ได้ค่าแรงเพิ่ม แต่ตอนนี้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมากเพราะมีกฎให้ทำงานประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับวันที่ถ่ายทำธรรมดา และเราก็ได้ค่าตอบแทนมากขึ้นด้วย
ตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90s มีผู้กำกับเกาหลีเก่งๆ หลายคนเลย อย่างบง จุนโฮ, นา ฮงจิน, อี ชางดง และคนอื่นๆ ที่อยู่ดีๆ ก็เหมือนผุดกันขึ้นมา แม้แต่คนในอุตสาหกรรมภาพยนต์เองก็ยังงงเลยว่าผู้กำกับเก่งๆ พวกนี้โผล่กันออกมาทีเดียวได้ยังไง แถมผู้กำกับทุกคนยังชอบความท้าทาย เหมือนก้าวเดินต่อไปเพื่อค้นหาอะไรใหม่ๆ มองหาสิ่งใหม่ให้วงการอยู่เสมอ