ภูเก็ตมีโอ้เอ๋ว ไต้หวันมีอ้ายอวี้ ของหวานแฝดคนละฝาที่กินที่ไหนก็ชื่นใจเหมือนกัน

Highlights

  • โอ้เอ๋ว คือชื่อของหวานขึ้นชื่อของภูเก็ตที่เป็นที่พูดถึงในช่วงที่ผ่านมาจากซีรีส์เรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ  ซึ่งมีตัวเองชื่อโอ้เอ๋วและมีฉากหลังเป็นเมืองภูเก็ต
  • ขนมชื่อแปลกนี้มีลักษณะเป็นวุ้นใสโปะหน้าด้วยเกล็ดน้ำแข็ง น้ำเชื่อมสีแดง และผลไม้ ในไต้หวันเองก็มีขนมคล้ายๆ กันเรียกว่าอ้ายอวี้ หรือที่คนไทยเรียกว่าวุ้นกบ เพียงแต่คนไต้หวันชอบกินวุ้นนี้กับเครื่องดื่มมากกว่า
  • ในเมืองไทยเองก็เพิ่งมีร้านวุ้นกบมาเปิดเหมือนกัน ใครดู แปลรักฉันด้วยใจเธอ แล้วอยากลองกินโอ้เอ๋ว จะลองกินวุ้นกบก่อนก็ได้ไม่ว่ากัน

‘โอ้เอ๋ว’ ศัพท์เสียงแปลก แปลกทั้งเสียงวรรณยุกต์ที่ชวนให้รู้สึกเหมือนเป็นคำอุทาน (ส่วนตัวเราตอนเห็นครั้งแรกนึกถึงคำว่า ‘โอ้เอ้’ ผสมกับ ‘โธ่เอ๋ย’) แปลกทั้งความหมายของคำที่ถ้าไปเปิดพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ ก็คงหาไม่เจอ

คำนี้กระจายอยู่ทั่วไทม์ไลน์อยู่ช่วงหนึ่ง คือช่วงที่ซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ออกฉาย ตัวเอกในเรื่องชื่อโอ้เอ๋ว อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตซึ่งมี ‘ขนมโอ้เอ๋ว’ เป็นของหวานขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของจังหวัดเหมือนกัน จนถึงตอนนี้เราก็ยังเห็นคนพูดถึงโอ้เอ๋วผ่านหน้าไทม์ไลน์เป็นระยะ เรายังไม่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้เพราะหาดูในไต้หวันไม่ได้สักที (แต่คิดว่าตัวเองพอจะรู้เรื่องราวคร่าวๆ ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์จากการเห็นผ่านหน้าไทม์ไลน์) ส่วนโอ้เอ๋วของจริงที่ภูเก็ตก็ยังไม่เคยได้ไปชิมแต่เห็นผ่านไทม์ไลน์ของคนที่ไปตามรอยซีรีส์ที่ภูเก็ตเหมือนกัน

ครั้งแรกที่เห็นภาพขนมโอ้เอ๋วของจริงเราอดเอ๊ะในใจไม่ได้ เพราะทั้งหน้าตาทั้งชื่อเรียกมันช่างคล้ายกับอะไรบางอย่างที่เห็นได้ทั่วไปในไต้หวัน โอ้เอ๋วของภูเก็ตหน้าตาเป็นวุ้นใสสีอ่อนโปะหน้าด้วยน้ำแข็งไส น้ำแดง และผลไม้ต่างๆ พูดแล้วก็อยากกินเอง ส่วนขนมของไต้หวันที่เราว่าคล้ายๆ กันคือ ‘อ้ายอวี้’ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่าน้ำวุ้นกบนั่นเอง

พอเริ่มมีคำถาม เราก็เริ่มค้นที่มาของทั้งโอ้เอ๋วและอ้ายอวี้ว่าสรุปแล้วมันเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง 

แล้วก็ได้คำตอบว่า อ้าว! มันคือสิ่งเดียวกันนี่นา

โอ้เอ๋ว

โอ้เอ๋วของภูเก็ต | ภาพจาก phuketcity.go.th

โอ้เอ๋ว

อ้ายอวี้ของไต้หวัน | ภาพจาก test.pure-taiwan.info

โอ้เอ๋ว มีชื่อภาษาจีนว่า 薁蕘 อ่านแบบจีนกลางได้ว่า อวี้หราว Yù ráo แต่ถ้าออกเสียงแบบภาษาฮกเกี้ยนอ้างอิงตามเว็บไซต์ itaigi—พจนานุกรมภาษาฮกเกี้ยนออนไลน์ของไต้หวัน จะออกเสียงว่า เอ้อเกย๋อ ò-giô (เสียงควบ กย) ซึ่งใกล้เคียงกับโอ้เอ๋วที่เราเรียกกัน ส่วนอ้ายอวี้แบบไต้หวันเขียนด้วยตัวอักษร 愛玉 ออกเสียงแบบจีนกลางว่า Ài yù แบบฮกเกี้ยนหรือภาษาไต้หวันว่า อ้ายหยก ài-gio̍k-

ส่วนตัวละครโอ้เอ๋วใน แปลรักฉันด้วยใจเธอ ดูเหมือนจะเขียนชื่อ 欧儿 (จีนตัวย่อ) หรือ 歐兒 (จีนตัวเต็ม) ออกเสียง โอวเอ่อ Ōu er ฉีกออกไป ถ้าเป็นคนดูที่อ่านซับไตเติลภาษาจีนก็อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงความเชื่อมโยงของชื่อของตัวละครกับของหวานขึ้นชื่อชนิดนี้

วุ้นอ้ายอวี้หรือโอ้เอ๋วเป็นวุ้นที่ได้จากเมล็ดของผลมะเดื่อชนิดหนึ่ง สำหรับเมนูโอ้เอ๋วในภูเก็ต ว่ากันว่าเริ่มจากชาวจีนฮกเกี้ยนที่ได้รับอิทธิพลมาจากเกาะปีนัง ส่วนทางไต้หวันมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่ย้อนไปได้ไกลที่สุดคือหนังสือ ประวัติศาสตร์ทั่วไปของไต้หวัน (台灣通史) โดยเหลียนเหิง (連橫) ตีพิมพ์ปี 1921 บันทึกไว้ว่าวันหนึ่งในรัชสมัยฮ่องเต้เต้ากวังแห่งราชวงศ์ชิง (ปี 1820-1850) อากาศร้อนอบอ้าว พ่อค้าชาวเมืองไถหนานที่เดินทางมายังเขตภูเขาของเมืองเจียอี้เกิดกระหายน้ำขึ้นมาเลยแวะวักน้ำในลำธารดื่มระหว่างทาง เขาพบว่าน้ำในลำธารให้ความรู้สึกเย็นสดชื่นกว่าที่ไหนๆ พอลองสังเกตดู จริงๆ แล้วความลับอยู่ที่เมล็ดของพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณนั้นซึ่งตกลงมายังลำธารทำให้เกิดเป็นเนื้อวุ้นที่ให้ความรู้สึกเย็นสดชื่นต่างหาก

พ่อค้าผู้นั้นลองเก็บเมล็ดที่ว่านั้นกลับบ้านไปทดลองทำวุ้น แช่เย็น และลองเติมน้ำเชื่อมดูก็มีรสชาติดี สุดท้ายเขาก็เลยทำวุ้นชนิดนี้ให้ลูกสาวอายุ 15 ออกไปขาย ตัวลูกสาวเองชื่อ ‘อ้ายอวี้’ ด้วยความที่เป็นของใหม่ในสมัยนั้น คนยังไม่รู้จักว่าพืชชนิดนี้คืออะไรก็เลยเรียกชื่อวุ้นนี้ว่า ‘วุ้นอ้ายอวี้’ ตามชื่อสาวคนขายวุ้นไปด้วย 

ภาพจาก yangui.com.tw

ปัจจุบันชาวไต้หวันก็ยังนิยมกินวุ้นอ้ายอวี้อยู่ โดยส่วนมากจะอยู่ในฐานะเครื่องดื่มมากกว่าของหวาน โดยเสิร์ฟวุ้นใสมาในแก้วกับน้ำเลม่อนเย็นๆ หาซื้อได้ตามไนต์มาร์เก็ตหรือร้านเครื่องดื่มท้องถิ่น หรือเสิร์ฟกับน้ำเชื่อม น้ำแข็ง และผลไม้ แม้จะหายากกว่าแต่ก็พอมีบ้างเช่นกัน (เท่าที่เรารู้คือที่ร้านชิงสุ่ยถัง (清水堂) เมืองไถหนาน) ส่วนที่ไทยก็หาทานได้ที่ภูเก็ต ดูเหมือนส่วนมากจะใช้น้ำเชื่อมสีแดง ทำให้หน้าตาต่างจากที่ไต้หวันอยู่บ้าง 

ล่าสุดเราก็ได้ยินมาว่ามีร้านน้ำวุ้นกบแบบไต้หวันไปเปิดในกรุงเทพฯ แล้ว และเพราะโอ้เอ๋ว อ้ายอวี้ และวุ้นกบคือสิ่งเดียวกัน คนกรุงเทพฯ คนไหนอยากลองกินโอ้เอ๋ว ลองเริ่มจากการสั่งน้ำวุ้นกบมาดื่มก็ได้เหมือนกัน


อ้างอิง

itaigi.tw

kmweb.coa.gov.tw

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ