ใครจะคิดว่าเปลือกกาแฟเหลือทิ้งจากการผลิตจะถูกแปรรูปเป็นเครื่องดื่มนวัตกรรมใหม่ที่ได้จากการหมักยีสต์เข้ากับน้ำผึ้ง จนได้ของเหลวรสหอมหวานที่ควงคู่มากับความซ่าแบบธรรมชาติ บรรจุลงขวด แปะฉลากแบรนด์ Castown เครื่องดื่มคราฟต์โซดาดีกรีรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่ใครหลายคนดื่มแล้วไม่พลาดที่จะบอกต่อ
หากมองเป็นแค่เครื่องดื่มหวานๆ เย็นๆ ราคาของซอฟต์ดริงก์ขวดนี้อาจสูงกว่าใครเพื่อน แต่พอได้ฟังที่มาและแนวคิดธุรกิจสุดคราฟต์ที่คิด ‘เพื่อทุกคน’ ของ บอม-รัฐศรัณย์ พีรพงศ์เดชา founder ผู้หลงใหลกาแฟและคราฟต์เบียร์ และ เติ้ง-พนัญไชย กล่ำกล่อมจิตต์ co-founder ผู้ดูแลการตลาด เราเชื่ออย่างลึกๆ ว่าคุณจะต้องอยากจิบและชื่นชมรสคราฟต์โซดาของพวกเขาไม่ต่างจากเรา
เรื่องราวจากภูเขาสู่เมืองในขวดเย็นเจี๊ยบพร้อมรินลงแก้วแล้ว ขอให้จิบอย่างภาคภูมิใจและมีความสุข Cheers!
Cascara is coming to town
บอม: Castown เริ่มจากปัญหา สิ่งแรกที่สะกิดสายตาทุกครั้งเวลาไปสวนกาแฟบนดอยคือเปลือกกาแฟที่กองอยู่บนพื้น ทีแรกคุณลุงเจ้าของสวนบอกจะเอาไปทำปุ๋ยใส่ต้นไม้เลยไม่คิดอะไร สัปดาห์ต่อมาเรากลับขึ้นไปอีก ก็ยังเจอมันกองอยู่ที่เดิมแต่สภาพเริ่มเน่าเหม็น แมลงเริ่มตอม คุณลุงบอก “ยังไม่มีคนจัดการเอาไปทิ้ง ถ้าเหม็นเดี๋ยวลุงจะฉีดลงไปในน้ำให้” น้ำก็เน่าต่อสิครับ (หัวเราะ)
เรารู้สึกว่าเกษตรกรเขามีปัญหา ไม่ใช่แค่ปัญหานี้ แต่การเก็บเมล็ดกาแฟต้องมีการจ้างงานในทุกกระบวนการที่เรารู้สึกว่ามันไม่คุ้มเลย เดินขึ้นเขาเฉยๆ เรายังเหนื่อยเลย ลองนึกถึงคนที่ต้องเดินขึ้นเดินลงเก็บเมล็ดกาแฟแลกกับค่าแรงกิโลกรัมละ 6 บาท หลังเก็บมาปุ๊บ ต้องเอามาแยกเปลือก เอามาตาก จบเป็นกรีนบีนขายให้พ่อค้าคนกลางที่ราคากิโลกรัมละ 120 บาท ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้เราดื่มกาแฟแก้วละ 80 แก้วละ 100 สุดท้ายคือเงินไม่ได้อยู่ที่เกษตรกรเลย
เราคงเปลี่ยนราคาของเมล็ดกาแฟในตลาดไม่ได้ เลยคิดว่าจะเอาเปลือกกาแฟที่เหลือพวกนี้ไปทำอะไรได้บ้าง อย่างน้อยก็ลดปัญหาที่มันเน่าเหม็นลง พอเสิร์ชดูก็เจอว่าเกษตรกรที่ยุโรปเขาเอาเปลือกตากแห้งชงเป็นชาร้อนเรียกว่า Cascara เราก็ลองทำดู รสชาติใช้ได้เลย แต่ถ้าจะทำขายจริงๆ คงสู้ชาที่ขายกันทั่วไปไม่ได้ แถมบ้านเราเมืองร้อนคนคงไม่ขยันกินชาขนาดนั้น วิธีนี้คงช่วยอะไรได้ไม่มาก เลยคิดโจทย์ใหม่คือน่าจะทำเป็นเครื่องดื่มที่คนไทยดื่มง่ายและดื่มได้บ่อย
เราเป็นคนทำคราฟต์เบียร์อยู่แล้วก็เอาพื้นฐานที่มีมาดีไซน์รสชาติ ทำให้มีฟองและซ่าเหมือนซอฟต์ดริงก์ที่ดื่มแล้วสดชื่น แถมไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมาก แค่ใส่ยีสต์ลงไปสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นวิธีที่เกษตรกรสามารถทำเองได้สบายๆ เลย
ไอเดียที่โอบอุ้มชาวสวนกาแฟอินทรีย์
บอม : กาแฟคือธุรกิจหลักของประเทศไทย แต่ถ้ารายได้พื้นฐานไม่แน่น ในภายภาคหน้าธุรกิจนี้ก็อาจได้รับผลกระทบ วันที่เราตัดสินใจทำ Castown เราอยากเสริมฐานให้แน่น ให้คนด้านล่างและด้านบนอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรโดนกดราคาลง คนกลางก็รวยเอาๆ ต้องไม่ใช่แบบนั้น
สวนกาแฟที่เราทำงานด้วยที่บ้านแม่ตอนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เขาปลูกกาแฟแบบอินทรีย์ วิธีนี้เมล็ดที่ได้จะไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ ราคาที่ได้ก็ไม่ต่างอะไรกับกาแฟที่ปลูกแบบใช้ยาเลย เราไม่รู้หรอกว่าชาวสวนที่มีความคิดดีๆ จะท้อเมื่อไหร่ เพราะทำไปก็ได้เท่าเดิม Castown เลยเลือกใช้เปลือกกาแฟจากสวนที่ปลูกแบบอินทรีย์เผื่อให้คนรอบข้างที่เข้ามาเห็นจะได้ฉุกคิดตรงนี้ด้วย
เปลี่ยน (ว่าที่) ขยะให้กลายเป็นเงิน
บอม : คนอาจจะเข้าใจว่าเราเอาขยะมาทำเป็นคราฟต์โซดา จริงๆ เปลือกกาแฟที่ถูกทิ้งจะเอากลับมาใช้ไม่ได้แล้วนะ หลังจากเก็บและแยกเปลือกกับเมล็ด เราต้องเอาเปลือกมาอบและตากให้เร็วเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่สะอาดที่สุดก่อนเอามาแปรรูป หมายความว่าเราไปสร้างงานให้เขา จริงๆ แค่เราขนเปลือกกาแฟออกไปชาวบ้านก็ดีใจแล้วครับ (หัวเราะ) เราดีใจมากที่ตอนนี้หมู่บ้านแทบไม่มีเปลือกกาแฟกองพะเนินบนพื้นเลย มีแต่ถูกเอาไปตากบนผืนผ้าใบอย่างสวยงาม
เติ้ง : มีสวนกาแฟติดต่อเรามาเยอะ ต้องบอกก่อนว่าตัวเปลือกกาแฟต้องผ่านขั้นตอนเยอะเหมือนกัน ถ้ามีโอกาสเราคงขึ้นไปหาถึงที่แล้วนั่งคุยกัน เรามี ตาม (นครินทร์ มานะบุญ) co-founder อีกคนประจำอยู่บนดอย ให้ความรู้กับชาวบ้านว่าทำยังไงถึงจะขายเปลือกให้เราได้ อย่างแรกต้องปลูกแบบอินทรีย์ สองคือต้องคงรูปเปลือกให้สมบูรณ์แล้วเอาไปตากให้แห้ง
เหตุผลของความคราฟต์
เติ้ง : กระบวนการแปรรูปก็ต้องสร้างรายได้ เราเลยเลือกที่จะใช้แรงงานคนในการผลิตวันละ 30 ลัง สร้างงานและสอนงานให้คนที่มาช่วยงานเราด้วย ถ้า Castown เลือกใช้วิธีแบบอุตสาหกรรม เอาเครื่องจักรมาลง สมมติราคาขายในร้านสะดวกซื้อคือ 80 บาท ไม่มีใครซื้อดื่มหรอกครับ เราก็ต้องลดต้นทุนลง ทีนี้ปัญหาก็กลับไปอยู่ที่ดอยอีก เราอาจจะเดินไปที่ดอยแล้วกดราคาเกษตรกร และถ้ามีวันนั้นเราเองก็จะแย่ เขาขายเมล็ดกาแฟก็ดีอยู่แล้ว อยู่ๆ จะไปกดราคาเปลือกลง ทิ้งให้เป็นขยะเหมือนเดิมน่าจะคุ้มกว่า
ส่วนขวดที่เราใช้บรรจุ ถ้าเราผลิตขวดเองต้องลงทุน 7-8 ล้านบาท ธุรกิจเล็กๆ ไม่มีทางเข้าถึงขวดแบบฝาจีบได้เลย เราทำ Castown เพื่อลดขยะบนดอยแต่กลับมาเป่าขวดเพิ่มขยะในเมืองอีกคงไม่ดีแน่ๆ เราเลยใช้ขวดที่มีอยู่แล้วมารียูส ก็ต้องจ้างงานคนล้างขวด แกะฉลากเก่า แปะฉลากใหม่อีก รูปทรงขวดที่ฟรีฟอร์มมากๆ ก็สร้างความแตกต่างให้แบรนด์เราด้วย กลายเป็นผลพลอยได้แบบนั้นไป
แนวคิดการตลาดแบบพอเพียงไปด้วยกัน
เติ้ง : คนที่ติดต่อเรามา 80% คือคนที่อยากเป็นตัวแทนขาย สะท้อนให้เห็นเลยว่าทุกวันนี้คนในสังคมไทยพยายามหาช่องทางสร้างรายได้ เราไม่ได้โทษเขานะ แต่เรารู้สึกว่าสังคมเราน่าเป็นห่วง คนดิ้นรนวิ่งหาการลงทุน บางคนไม่มีหน้าร้านแต่อยากเป็นตัวแทนขายผ่านออนไลน์ ไอเดียเหมือนการขายครีมอย่างที่เราเห็น คุณอยากเป็นตัวแทนใช่มั้ย ซื้อ 10 แพ็คสิ แล้วไปหามาอีก 10 แพ็คนะ สังคมไทยมีแต่นักลงทุนแบบนี้ ถ้าเราทำแบบนั้นก็คงรวยไปนานแล้ว แต่รวยแล้วยังไงต่อล่ะ
ในขณะที่เราเป็นต้นทางยังผลิตแค่วันละ 30 ลัง เราขายแค่นี้แต่เราขายไม่มีวันหยุด เราอยากสืบสานความพอเพียงมากกว่า สิ่งที่ค่อยๆ ทำวันนี้เกษตรกรเขาได้ไปอีกกี่ปี ขวดหนึ่งขวดถูกวนใช้กี่รอบ คนส่งของ ร้านกาแฟที่รับไปขายล่ะ ลองดูว่ารายได้กระจายไปกี่ทาง ถ้าวันนึงเรามีคู่แข่งขึ้นมาในตลาดแบบนี้ก็ยิ่งดี เพราะการมีคู่แข่งแปลว่าเราเป็นกลไกในการสร้างงานให้เกษตรกรบนดอยอื่นๆ โดยอัตโนมัติ
บอม : ถ้าจะรวยเราอยากรวยไปพร้อมกับทุกคน อย่างร้านกาแฟที่รับไปขาย เขาไม่ต้องผ่านมือพ่อค้าคนกลาง เรายิงตรงให้เลยตามราคาโรงงาน ร้านจะไปบวกเพิ่มเท่าไหร่ก็ได้ ตอนนี้เรามีไลน์กลุ่มที่ชื่อน่ารักว่า Castown Family เอาไว้คุยกับลูกค้า เป็นเรื่องสนุกกว่าการทำธุรกิจแบบเดิมๆ สมมติเราทำงานอะไรอยู่ก็ถ่ายรูปส่งให้ลูกค้าดู เวลามีปัญหาก็แนะนำกัน หรือเดือนนี้เรารียูสขวดไปห้าพันกว่าขวด เราก็บอกเขาในนี้ พอใกล้เทศกาลเราตัดธงริ้ว ปรินต์โปสเตอร์ส่งไปให้เขาติดที่ร้าน พวกเราอยู่กันแบบนี้
คราฟต์โซดาที่คนไทยคิด คนไทยดื่ม และคนไทยภูมิใจ
เติ้ง : คนที่ดื่มส่วนใหญ่ตอบรับมาดีนะ บางคนเขาภูมิใจก็เอาไปโพสต์ ติดแฮชแท็ก Castown สินค้าไทย เครื่องดื่มไทย ถ้าแม่เรากินแล้วโพสต์เราว่าไม่แปลกเลยเพราะแม่คงอยากช่วยโปรโมต (หัวเราะ) แต่คนที่โพสต์มีแต่คนที่เราไม่รู้จัก เขาซื้อเพราะเขาภูมิใจในสิ่งที่เราให้กลับไปว่าคนไทยคิด คนไทยดื่ม แฮชแท็กความเป็นคราฟต์ที่เราอยากสนับสนุน นี่ไม่ใช่การตลาดแต่มันคือ social movement ยิ่งดื่มก็ยิ่งมีส่วนช่วยในการลดขยะ แถมยังได้สร้างงานให้ใครหลายๆ คน
บอม : ตอนเราทำ Castown เราอ่านแค่งานวิจัยต่างประเทศ เขาบอกว่าเปลือกกาแฟมีสาร antioxidant มีวิตามินซี ดี และอี แต่เราไม่กล้าประกาศออกมาเพราะในไทยยังไม่มีงานวิจัยรองรับจริงๆ ถ้าสมมติว่าเปลือกกาแฟดังขึ้นมา อีกหน่อยก็อาจจะมีนักวิจัยและนักพัฒนาไทยเอาเปลือกกาแฟไปทำครีมทาหน้า อาหารเสริมอะไรอีกสารพัด คงจะดีมากถ้าอยู่ดีๆ มีคนมาช่วยลดขยะบนดอย
ธุรกิจที่ (ต้อง) ไม่หยุดนิ่ง
บอม : เรามีแผนอยู่แล้วว่าอยากผลิตให้ได้วันนึงมากกว่า 30 ลัง แต่ไม่ได้เพิ่มเป็นทีละพันลังนะ เราอาจเพิ่มทีละ 3 เท่า เช่น จาก 30 เป็น 100 ลังแล้วอาจจะไม่ต้องผลิตทุกวันก็ได้ จ้างคนมาช่วยเราทำเพิ่ม ย้ายสถานที่ผลิตไปที่ที่กว้างขึ้น และตั้งใจว่าอยากให้คนเข้ามาศึกษาแต่ละกระบวนการผลิต อนาคตอาจจะเปิดสอนทำคราฟต์โซดา แล้วก็มีมุมเล็กๆ ให้คนมาชิม Castown ฟรีด้วย
เราเคยบอกว่าเราจะไม่จดสิทธิบัตร แต่พอได้รางวัลชนะเลิศกรมทรัพย์สินทางปัญญาเขาจดให้เราอัตโนมัติเลย (หัวเราะ) จริงๆ ถ้ามีคนอยากทำก็เข้ามาคุยกับเราได้ เรายินดีแนะนำให้เลย มันสนุกกว่านะถ้าบ้านเรามีคราฟต์โซดาร้อยยี่ห้อ เหมือนเวลาเราเห็นคราฟต์เบียร์หลายๆ ยี่ห้อ ยี่ห้อนี้ลองแล้ว ยี่ห้อนี้ยังไม่ได้ลอง อยากให้บรรยากาศสนุกๆ แบบนั้นเกิดขึ้น
Facebook | Castown
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์