AIR YOU CAN EAT แคมเปญที่เตือนว่า PM 2.5 ยังไม่หายไปโดยเล่าผ่านอาหารแบบ Chef’s Table

ต้นปี 2018 ประเทศไทยตื่นตัวเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในวงกว้างเป็นครั้งแรก ประเด็นนี้ทำให้ทุกคนต้องโหลดแอพ AirVisual ติดเครื่อง แห่กันซื้อเครื่องกรองอากาศ ต้องเช็กค่าฝุ่นก่อนออกกำลังกาย ไม่ได้รู้สึกว่าหมอกในเมืองเป็นเรื่องสวยงามอีกต่อไป

ประเด็นนี้ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างตื่นตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี จำนวนการพูดคุยเรื่องนี้ลดลง แต่ความรุนแรงของปัญหายังคงเท่าเดิม

ปัญหามลพิษทางอากาศ เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ สมมติว่าถ้าเราไม่ได้พูดถึง PM 2.5 กันอีก ละเลยเรื่องนี้มากเกินไป เราจะเผชิญปัญหานี้ซ้ำๆ แบบไม่มีวันจะกลับมาดีขึ้นได้อีกเลย 

การจะกลับมาเล่าปัญหานี้ให้คนรับรู้ว่ามันร้ายแรงแค่ไหนไม่ใช่เรื่องง่าย ในวันที่สังคมมีหลายปัญหาให้พูดถึง 

PM 2.5

AIR YOU CAN EAT คือความพยายามของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ Studio Dialogue ที่อยากเล่าปัญหาให้คนตระหนักด้วยวิธีใหม่ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างสาขา และเล่ามันผ่านอาหารจากเชฟมืออาชีพ

เรานัดพบกันที่ร้านวรรณยุค ในโครงการ 515 Victory ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อทุกคนมาพร้อม ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เริ่มเล่าที่มาของโครงการนี้ให้ฟัง รวมถึงความร้ายแรงของ PM 2.5 ที่ไม่น้อยลง กลับกันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

สสส

“แคมเปญ AIR YOU CAN EAT อยากทำให้ฝุ่นเล็กๆ เป็นเรื่องที่มองเห็นและจับต้องได้ ผ่านการตีความองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ผ่านเมนูอาหาร 4 เมนู จากเชฟผู้เชี่ยวชาญอาหารไทย เราอยากสร้างประสบการณ์ร่วมที่ดึงเมนูอาหารมาทำให้เป็นสื่อการเรียนรู้สะท้อนปัญหาที่เข้าใจง่าย ชวนร่วมคิด วิเคราะห์ ที่ก่อให้เกิดภาพจำ อารมณ์ ความรู้สึกร่วม ที่นำไปสู่การตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น เป้าหมายคือเพื่อคืนอากาศสะอาดกลับคืนสู่ปอดคนไทยให้เร็วที่สุด” ชาติวุฒิ กล่าว

ชาลี เกเดอร์

เชฟที่คิดค้นเมนูอาหารวันนี้ คือ ชาลี กาเดอร์ เชฟผู้เชี่ยวชาญและหลงใหลในวัฒนธรรมอาหารไทยอีสาน Studio Dialogue ร่วมคิดคอนเซปต์และ Execution ชวน Konggreengreen หรือ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ Influencer สายสิ่งแวดล้อมมาเล่าเรื่องเบื้องหลังจานอาหารให้เราฟัง

เมนูฝุ่นตลบ
เมนูฝุ่นตลบ อีกมุม

เมนูแรกคือ เมนูฝุ่นตลบ เป็นเนื้อกุ้งและปูที่ตกแต่งด้วยงาขี้ม่อน ผงแกงไตปลา หลน ปลาร้า น้ำตาล และใบชะมวง เชฟต้องการเล่าเรื่องอันตรายของฝุ่นเมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ จานนี้จึงเติมเครื่องปรุงกลิ่นฉุนจนแสบจมูก เมื่อตักเข้าปากคำแรก รสสัมผัสของขนาดวัตถุดิบที่แตกต่างกัน จะทำให้คุณเข้าใจถึงขนาดของฝุ่นพิษแต่ละชนิดที่มีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น PM 2.5 หรือ PM 10 ได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ส่วนผสมทั้งหมดก็คัดเลือกมาจากทุกภาคของประเทศไทย สะท้อนไปถึงสถานการณ์ฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ได้กระจุกแค่ในเมืองใหญ่อย่างเดียว

meal 2

เมนูที่สองคือ เมนูปลาลุยควัน จานนี้มีไอเดียในการนำเสนอเพิ่มขึ้น เริ่มจากการเสิร์ฟปลาตัวใหญ่พร้อมกับควันและมีก้อนเกลือเกาะอยู่เต็มตัว เชฟจะเอาหินก้อนใหญ่มาทุบก้อนเกลือให้แตกออก เผยให้เห็นเนื้อปลาด้านใน

meal 2.2

ฝุ่นผงจากก้อนเกลือเปรียบเปรยกับ PM 2.5 ที่มาจากสาเหตุต่างๆ ซึ่งเมื่อเราทุบจนแตกละเอียด ก็จะพบกับปลาที่ซ่อนอยู่ด้านใน จากนั้นเชฟจะนำเนื้อปลากลับมาเสิร์ฟพร้อมข้าว น้ำพริก และผัก เมื่อรับประทานจะรู้สึกได้ถึงความเค็มจากเกลือที่แทรกซึมเข้าไปในเนื้อปลา บอกเล่าเป็นนัยว่าความเค็มก็เหมือนฝุ่นขนาดเล็กที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด และก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของคุณได้

meal 3
meal 3.2

เมนูที่สามชื่อว่า ห้าคำ ห้าระดับ เมนูนี้นำเรื่อง AQI หรือค่าคุณภาพอากาศ 5 ระดับที่เราคุ้นเคยมาทำให้เห็นภาพและรู้สึกมากขึ้น บนจานจะมีอาหารเป็นก้อน ซึ่งประกอบด้วย พายกรอบ มูสตับบด มัลเบอร์รี่ ชีสมันเชโก เทอร์รีนหมูบด เมื่อลองชิมจะพบว่าแต่ละชิ้นจะให้ความรู้สึกกลืนง่ายยากแตกต่างกัน เป็นการเล่าว่าอากาศแต่ละระดับถ้าเราหายใจเข้าไปจะรู้สึกอย่างไร สัมผัสของอาหารที่ต่างกันเป็นการเล่าเรื่องนี้ได้น่าสนใจและรู้สึกมากกว่าการดูแค่ตัวเลขอย่างเดียว

meal 4
meal 4.2

เมนูสุดท้าย สโมคสวีท เป็นขนมหวานที่เล่าวิธีแก้ปัญหาฝุ่น บนจานจะเป็นเมอแรงค์กาบมะพร้าวรมควัน ทำเป็นแผ่นคล้ายโฟมสีเทาบางๆ มีชั้นของขนมเปียกปูนสดอยู่ด้านล่าง วิธีกินคือเราต้องราดกะทิร้อนๆ บนเมอแรงค์จนอ่อนยวบ การราดกะทิเป็น symbolic บอกว่าการแก้ปัญหาฝุ่นที่เราคิดว่ายาก แก้ไม่ได้ แท้จริงแล้วสามารถทำได้ด้วยการปรับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อรวมกันทำก็มีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน 

air 10

ก่อนหน้าจะมาร่วมงาน เราจินตนาการไว้ก่อนว่าอาหารคงเน้นที่การเล่าด้วยภาพมากกว่ารสชาติ แต่เมื่อได้ชิมก็พบว่าอาหารอร่อยทุกจาน แถมยังตกแต่งได้สวย เล่าเรื่อง มีเมสเสจที่อยากบอกซ่อนอยู่ทั้งหมด แม้จะรู้สึกเสียดายที่อาหารเซ็ตนี้อาจไม่ได้ทำขายในวงกว้าง แต่อย่างน้อยการได้มาชมวิธีเล่าเรื่องฝุ่นรูปแบบใหม่ ก็จุดประกายให้เราได้ไอเดีย และอยากบอกต่อแคมเปญนี้ เพื่อไม่ให้เรื่องฝุ่นถูกกลืนหายไปจากโซเชียลมีเดีย

ในแคมเปญนี้ สสส. และ Studio Dialogue ยังทำแอพพลิเคชั่นใหม่ขึ้นมาชื่อ Airvisible ภายในจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่ตั้งใจทำเพื่อเล่าเรื่องให้คนเห็นภาพที่สุด เพราะสาเหตุหนึ่งที่คนไม่ได้รู้สึกถึงปัญหานี้ เพราะเรามองไม่เห็น เมื่อเนื้อหาถูกทำด้วย visual ที่น่ามอง ข้อมูลครบ แชร์ต่อไม่ยาก เป็นการเล่าเรื่องอย่างครบถ้วนจริงๆ

เรามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่นมลพิษได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยที่สุด เราสามารถค้นหาข้อมูลเบื้องต้นของปัญหานี้ได้ที่ Facebook : ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ และ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/

AUTHOR