เบื้องหลังการนำอัลบั้ม Tilly Birds มาออกแบบเป็นรถไฟฟ้า BTS โดย Visionary

การโปรโมตผลงานเพลงของวงดนตรีทุกวันนี้เล่นท่าปกติกันไม่ได้อีกแล้ว แต่ละค่ายเพลงและศิลปินต้องสรรหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้เนื้อหาสดใหม่ ขับเน้นคุณภาพของงานดนตรีไปสู่ผู้ฟังในวงกว้างได้มากขึ้น วิธีการโปรโมตอัลบั้มล่าสุด It’s Gonna be OK ของ Tilly Birds ก็เช่นเดียวกัน นอกจากการทำเนื้อหาในโลกออนไลน์ที่สมาชิกวงถนัด พวกเขายังหาทางต่อยอดขยายไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ คอลแลปส์ร่วมกับศิลปินนอกวงการเพลงที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน 

ในช่วงประชุมหารือการทำงาน ค่าย Gene Lab ได้มีโอกาสพูดคุยกับรถไฟฟ้า BTS ถึงการโปรโมตศิลปินโดยใช้พื้นที่ของสถานีและตัวรถไฟฟ้าเป็นเครื่องมือ ในที่สุดวงแรกที่ได้โอกาสทำโปรเจกต์นี้ก็คือ Tilly Birds โดยโจทย์ของงานกำหนดให้ชัดเจนขึ้น เป็นการออกแบบรถไฟฟ้าให้มีสไตล์ของวงได้อย่างเต็มที่

การออกแบบภาพรวมได้บริษัทออกแบบภาพชั้นนำอย่าง VISIONARY มาช่วยดูแล โดยมี อ๋อง-วุฒิกร เอกรัตนสมภพ มาเป็นหัวหน้าทีม และมีครีเอทีฟอย่าง หนึ่ง-อัศวิน พานิชวัฒนา มาช่วยดูแลด้านไอเดีย “เราออกแบบรถไฟฟ้าทั้งขบวน อยากให้คนถืออัลบั้มนี้ของ Tilly Birds มาขึ้นรถไฟฟ้า แล้วจะรู้สึกว่ามันคือเนื้อหาเดียวกัน” อ๋องเล่าภาพรวมของตัวงาน

ทันทีที่ได้รับโจทย์ VISIONARY มีทางเลือกที่หลากหลาย พวกเขาได้แรงบันดาลใจจากรถไฟของอเมริกายุค 80 ซึ่งดูมีความเป็นอนาคต ทันสมัย และใช้วัสดุที่มีความมันวาว ดูเข้ากับ key visual บนปกอัลบั้มของวงเป็นอย่างดี 

จากนั้นพวกเขาทดลองออกแบบรถไฟหลายรูปแบบ ทั้งการออกแบบทั้งขบวน หัว ท้าย ทุกแบบต้องสะท้อนความแข็งแรง สวยงาม เท่ แต่ยังมีความเป็น Tilly Birds อยู่ สุดท้ายมาจบที่การออกแบบบางส่วนของรถไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เน้นการออกแบบในบริเวณของตู้โดยสารอย่างเต็มที่

เมื่อย่างก้าวเข้าไปด้านใน เราจะเห็นภาพที่เป็นเหมือน key visual ของอัลบั้มมาตีความใหม่ นำ source ที่มีมาขยายและออกแบบให้เข้ากับพื้นที่ เว้นส่วนที่นั่งและหน้าต่างอย่างลงตัว มีการดัดแปลงภาพจากอัลบั้มเพื่อให้ตัวรถยังมีเนื้อหาที่ไปในทางเดียวกันกับอัลบั้ม ที่สำคัญคือ ตอนนี้สถานีรถไฟฟ้าบางแห่งมีการออกแบบ sound design และติดตั้งหน้าจอดิจิทัล immerse รูปแบบใหม่ยาว 45 เมตร เมื่อรถไฟฟ้า Tilly Birds มาถึงสถานีเหล่านี้ จะมีการเล่นเพลงในอัลบั้มและขึ้นกราฟิกที่ใช้คอนเซปต์เดียวกับตัวรถ สอดประสานกันอย่างลงตัว เหมือนเรากำลังอยู่ในสถานีแห่ง Tilly Birds อย่างที่ทีมออกแบบตั้งใจ

“เราเลยอยากให้มันเท่ สุดๆ ไปเลย ทุกอย่างจะขยายจากความเป็น Tilly Birds เช่น นำโลโก้มาขยายความ ใช้ artwork มาดัดแปลง ที่เหลือก็ออกแบบฟังก์ชั่นตามพื้นผิววัสดุ พยายามออกแบบในส่วนที่หลอกสายตาคนได้ ให้มันดูเหมือนเป็นรถไฟฟ้าแห่งอนาคต” วุฒิกรเล่าเบื้องหลังเพิ่มเติม

เรื่องหนึ่งที่ทีมตั้งใจออกแบบแต่เสียดายที่ไม่เกิดขึ้นจริง คือการออกแบบพื้นขบวนรถไฟฟ้าให้เป็นลู่วิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในซิงเกิลดังของอัลบั้มนี้ วุฒิกรเล่าว่าเขาออกแบบให้เส้นลู่วิ่งมีแค่ 3 เส้น ถ้ามากกว่านี้จะดูไม่เหมือนลู่วิ่ง ออกแบบลักษณะเส้นสายให้ดูตอบโจทย์ที่สุด แม้สุดท้ายกราฟิกนี้จะถูกปรับไปอยู่ด้านบนเพดานแทน แต่ก็สะท้อนความตั้งใจของทีมงานที่อยากให้แฟนเพลง Tilly Birds เห็นรถไฟฟ้าขบวนนี้แล้วยิ้มกับมันมากที่สุด

ขอบคุณรูปภาพจาก GMM GRAMMY และ Tilly Birds

AUTHOR