Advertising Against Hate เปลี่ยนโฆษณาเป็นอาวุธในการต่อสู้กับความเกลียดชัง

คุณเคยทำร้ายคนไม่รู้จักบ้างหรือเปล่า?โฆษณาและอาชญากรรมความรุนแรง

มันอาจเริ่มต้นจากสายตาที่อัดแน่นด้วยอคติและการตัดสิน ลุกลามไปสู่การทำร้ายด้วยวาจา สาดคอมเมนต์ใส่กันบนโลกออนไลน์ หรือแม้กระทั่งทำร้ายร่างกายกันอย่างซึ่งหน้า

หลายครั้งที่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับคนที่เป็นเพียงคนแปลกหน้า คนที่คุณไม่เคยคุยด้วย หรืออาจจะเพิ่งได้เจอกันเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่เป็นเพราะเขาหรือเธอมีสีผิว เพศสภาพ เชื้อชาติ หรือความคิดเห็นไม่เหมือนกับคุณ

หากคำตอบของคุณคือไม่ เราดีใจและขอบคุณ ที่คุณไม่ตกเป็นเครื่องมือของ “ความเกลียดชัง” 

โฆษณาและอาชญากรรมความรุนแรง

แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลากหลายพื้นที่บนโลก (ซึ่งอาจรวมถึงประเทศเราด้วย) ที่ใช้ความเกลียดชังเป็นเครื่องมือ สร้างความชอบธรรมในการทำร้ายกันและกัน

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรูปแบบนี้ถูกเรียกว่า hate crime หรือแปลตรงตัวก็คืออาชญากรรมจากความเกลียดชัง ซึ่งเมื่อพูดถึงอาชญากรรมเหล่านี้ คนส่วนมากน่าจะนึกถึงปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ (racism) ในหมู่คนดำ เช่นกรณีของ George Floyd ที่ถูกฆาตกรรมโดยฝีมือของตำรวจผิวขาว การตายของเขานับเป็นชนวนสำคัญที่จุดประกายให้การประท้วง #BlackLivesMatter ปะทุขึ้นจนถึงจุดพีค

ขณะเดียวกัน เชื้อไวรัสโควิด–19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกก็ได้ปลุกกระแสความเกลียดชังชาวเอเชียให้รุนแรงขึ้นหลายต่อหลายเท่า อย่างกรณีที่อดีตประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐอเมริกาเรียกเชื้อไวรัสชนิดนี้ว่า “Chinese Virus” ประกอบกับความเข้าใจผิดๆ ว่าชาวเอเชียคือพาหะนำเชื้อโรค และยังเป็นสาเหตุของโรคระบาด

อคติในใจผู้คนเหล่านี้ได้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับชาวเอเชียในต่างแดน อย่างเช่นกรณีของคุณวิชา รัตนภักดี และการทำร้ายร่างกายชาวเอเชียอีกหลายคดีที่เหมือนจะเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน จนเกิดเป็นกระแส #StopAsianHate

ขบวนการต่อต้านความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในโซเชียลมีเดียหรือในหมู่นักขับเคลื่อนเท่านั้น เพราะแม้แต่ในวงการสร้างสรรค์เองก็ยังอดไม่ได้ที่จะย้อนกลับมาถามตัวเองว่า 

ในวินาทีที่ความเกลียดชังเชี่ยวกราก ความคิดสร้างสรรค์จะช่วยอะไรเราได้บ้าง?

วันนี้เราเลยขอยกตัวอย่างแคมเปญโฆษณา ที่ถูกใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้กับความเกลียดชังมาให้ดู เพื่อให้เห็นว่า เราสามารถลุกขึ้นต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ได้ และมีหลายวิธีเสียด้วย

01

Hearts
United Colors of Benetton

โฆษณาและอาชญากรรมความรุนแรง

อาจจะต้องเท้าความกันสักนิดหนึ่งว่า Benetton แบรนด์แฟชั่นจากอิตาลีที่เราคุ้นหูและชินปากนั้น มีชื่อเต็มๆ ว่า United Colors of Benetton เมื่อแปลเป็นไทยไปอีก ก็จะได้ความหมายประมาณว่า “สีสันอันเป็นหนึ่งเดียวแห่ง Benetton” ประกอบกับแนวคิดของ Luciano Benetton ที่ต้องสื่อสารภาพที่ทรงพลัง ที่สามารถกระจายไปที่ใดก็ได้ในโลก
ดังนั้นภาพโฆษณาของ Benetton จึงมักจะสื่อสารในรูปแบบภาพภาพเดียวที่ทรงพลัง กระแทกตา พร้อมเมสเซจที่มุ่งหมายจะพังทลายกำแพงของอคติ และหลวมรวมทุกเฉดสีบนโลกไว้เป็นหนึ่งเดียว

และหนึ่งในชิ้นที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างที่สุดเห็นจะเป็นงาน “Hearts” ในปี 1996 ชิ้นนี้ ซึ่งโดดเด่นด้วยวิชวลเรียบง่ายแต่สร้างอิมแพกต์มากมายโดยเฉพาะในแง่เมสเซจ
“ไม่ว่าจะสีผิวอะไร ข้างในล้วนเป็นคนเท่ากัน” ไม่แปลกที่แคมเปญนี้จะกลายเป็นที่จดจำลำดับแรกๆ ในฐานะงานที่ต่อสู้กับการเหยียดสีผิว

นอกจากนี้ก็ยังมีปรินต์แอดเด็ดๆ ออกมามากมาย ซึ่งส่วนมากล้วนถ่ายทอดผ่านเลนส์ของ OLIVIERO TOSCANI ช่างภาพคู่บุญของแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น Blanket (1990) ที่พูดเรื่องคู่รักเลสเบี้ยนต่างสีผิว แถมพวกเธอยังรับอุปถัมภ์เด็กต่างเชื้อชาติ, Priest And Nun (1991) ที่ยั่วล้อกับเรื่องศาสนาและเพศเข้ากับธรรมชาติความเป็นมนุษย์อย่างงดงาม

Blanket (1990)
Priest And Nun (1991)

ป.ล. ขอแถมอีกสักงาน ด้วย Unhate แคมเปญวินคานส์ปี 2012 ที่พูดถึงการลด ละ เลิกความเกลียดชังในระดับโลก ซึ่งโดดเด่นด้วยวิชวลชวนอึ้ง ดูแล้วต้องตะลึงในความกล้าเล่นของแบรนด์

Unhate (2012)

02

Fight the Virus, Fight The Bias
Ad Council

Ad Council คือองค์กรไม่แสวงผลกำไรของฝั่งอเมริกา ที่มีจุดมุ่งหมายในการเรียกร้องประเด็นสังคมต่างๆ มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สงครามโลก, การต่อรู้กับโรคระบาด, รณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคเอดส์ และอีกมากมาย จนมาถึงแคมเปญนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญใหญ่ “Love Has No Labels” ที่เน้นการรณรงค์ เปลี่ยนความคิด ให้คนทั้งโลกโอบรับความต่าง และมอบแต่ความรักให้ต่อกัน 

จากกระแสความเกลียดชังต่อชาวเอเชียในต่างประเทศหลังการระบาดของโควิด–19 พวกเขาหลายคนถูกไล่ให้ “กลับประเทศจีนไปซะ” เช่นกันกับที่คนผิวดำโดนไล่ให้ “กลับแอฟริกาไป”โฆษณาและอาชญากรรมความรุนแรง

บางคนถูกมองด้วยสายตารังเกียจ แม้กระทั่งถ่มน้ำลายใส่ เมื่อความเกลียดชังถูกสะสมนานวันเข้า Ad Council และชาวเอเชียในต่างแดนจึงต้องรวมตัวกันเพื่อส่งเสียง เรียกร้องให้มองพวกเขาเป็น ‘มนุษย์’ เหมือนกับคนอื่นๆ ไม่ใช่ ‘ไวรัส’ แต่อย่างใด

แคมเปญนี้ไม่ได้ออกมาพูดอย่างลอยๆ แต่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน เพื่อยืนยันว่าไม่ว่าจะชนชาติไหนก็ไม่ได้มีแนวโน้มจะเป็นต้นตอของโรคไปมากกว่ากัน ใครที่ดูโฆษณาจบแล้วสามารถตามไปทำความเข้าไปเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ lovehasnolabels.com


03

Widen the Screen
Proctor and Gamble (P&G)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แบรนด์ยักษ์ใหญ่หลายต่อหลายแบรนด์เขยิบตัวเองจากแค่การขายสินค้า หันมาพูดถึงปัญหาต่างๆ บนโลก เช่น โลกร้อน หรือปัญหาสังคมต่างๆ และ P&G ก็เป็นยักษ์ตัวหนึ่งในสนามนี้

ประเด็นหนึ่งที่พวกเขาสนใจและหยิบจับมาพูดก็คือประเด็นการเหยียดสีผิว โดยมีแคมเปญดาวเด่นอย่าง ‘The Talk’ หนังเนื้อหาจริงจังเกี่ยวกับชีวิตจริงของวัยรุ่นผิวสีชาวอเมริกัน ที่คว้ารางวัล Grand Prix จากหมวด Film Lions ในปี 2018โฆษณาและอาชญากรรมความรุนแรง

เพื่อต่อยอด พวกเขาก็สร้างสรรค์แคมเปญออกมาอีกเรื่อยๆ เช่น The Look (2019), #TalkAboutBias (2020), The Choice (2020) จนถึง Widen the Screen ซึ่งเป็นแคมเปญล่าสุด

หลายครั้งเราตัดสินคนบางคนด้วยสิ่งที่เห็นเพียงผิวเผิน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นวัยรุ่นผิวดำเดินเข้าร้านสะดวกซื้อที่เงียบเชียบ หรือชายผิวดำยืนเคาะประตูบ้านคนอื่นกลางดึก ซึ่งถ้าฉากเหล่านี้อยู่ในหนังฮอลลีวูดสักเรื่อง คงเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ซึ่งไม่แปลกเลยที่เราจะเผลอแต่งเติมเรื่องราวด้านลบในความคิดจากการเหมารวม (stereotype) โดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าลองเปิดใจอีกนิด ขยายมุมมองให้กว้างอีกหน่อย เรื่องราวอาจลงเอยไม่เหมือนที่เราคิดก็ได้

นอกจากตัวหนังยาว ยังมีแยกย่อยเรื่องราวของแต่ละคนด้วยนะ ดูเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของ P&G เลย


04

For Once, Don’t Do It
Nike

อะไรทำให้ Nike ถึงกับต้องเปลี่ยนแท็กไลน์ Just Do It ในตำนานเป็นการชั่วคราว 

จากแบรนด์ที่บอกให้เรา “ลงมือทำ” มาโดยตลอด แต่ครั้งนี้พวกเขาบอกเราว่า “อย่าทำ”

หลังการประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นกับแคมเปญ “Dream Crazy” ที่ Nike ออกตัวประกาศสนับสนุน Colin Kaepernick นักอเมริกันฟุตบอลผิวสีที่คุกเข่าลงระหว่างเพลงชาติสหรัฐฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเหยียดสีผิว

แคมเปญนั้นทำให้ไนกี้เจอกระแสต่อต้านมหาศาล แต่มันก็ตีกลับมาด้วยกระแสสนับสนุนมากล้นจนกลบความคิดเห็นลบๆ เหล่านั้นเสียสิ้น และส่งไนกี้ให้เป็นแบรนด์แถวหน้าที่ก้าวหน้าทั้งวิสัยทัศน์และจุดยืน ชนิดที่ได้ใจคนรุ่นใหม่ไปเต็มๆ

และเมื่อกระแสการแบ่งแยกยังไม่จบสิ้น พวกเขาก็ต้องสู้ต่อไป แต่ในวันนี้พวกเขาขอพลังจากพวกเราทุกคนว่า “อย่า”

อย่าเมินหน้าหนีความไม่ยุติธรรม 

อย่าทำเหมือนกับว่ามันไม่มีปัญหา 

อย่ายืนเฉยเมื่อเห็นชีวิตที่ไร้เดียงสาถูกพรากไป 

และ “อย่า” กับเรื่องอื่นๆ ที่สามารถดูได้จากโฆษณาตัวนี้


05

Mirrors of Racism
NGO Criola

พูดแบบสุภาพ นั่งพับเพียบคุยกันมาเยอะ ไหนลองมาดูแคมเปญไม้แข็งกันหน่อย

หลายต่อหลายครั้งที่เหล่านักเลงคีย์บอร์ดได้ละเลงถ้อยคำเหยียดหยาม ก่นด่าสาปแช่ง หรือแม้กระทั่งไล่คนที่แตกต่างจากตัวเองให้ไปตาย ไม่ก็ไล่ออกไปอยู่ที่อื่น (คุ้นไหม?) เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้หลบอยู่หลังหน้าจอของตัวเอง 

เหตุเกิดที่ประเทศบราซิลครับคุณผู้ชม เมื่อผู้ประกาศข่าวผิวดำของช่องโทรทัศน์เจ้าใหญ่ในประเทศถูกโจมตีด้วยข้อความเหยียดสีผิวหยาบๆ คายๆ มากมาย

แต่องค์กร NGO Criola ของบราซิลนี้จะไม่ยอมให้เรื่องราวจบง่ายๆ ที่หน้าจอ เพราะเราจะใช้เทคโนโลยีตามหาจนเจอว่า คุณพี่อยู่จังหวัดอะไรค้าาา แถมท้ายด้วยการเอาข้อความ hate speech ของคุณพี่ปรินต์แปะบิลบอร์ดขนาดใหญ่เท่าฝาบ้านไปเลยค่าาา ดูซิว่าคุณพี่จะยังพูดจาแบบนี้อยู่มั้ยน้าาา


06

Love
Honey Maid

ชาว LGBTQ+ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบและตกเป็นเป้าของอคติและความเกลียดชัง เห็นได้ชัดจากโฆษณา ‘This Is Wholesome’ ของแบรนด์แคร็กเกอร์อย่าง Honey Maid ที่ต้องการเฉลิมฉลองความเป็นครอบครัว ซึ่งหนึ่งในครอบครัวที่ถูกฉายในโฆษณานั้นก็มีคู่รักเพศเดียวกันรวมอยู่ด้วย 

ภาพคู่รักคู่นี้ได้กลายเป็นชนวนกระแสก่นด่าเกิดขึ้นว่อนอินเทอร์เน็ต ทั้งประกาศแบน บอกว่าเป็นเรื่องผิดบาป และอีกสารพัดจะด่า ชนิดที่ว่าถ้าเป็นแบรนด์ที่ทนกระแสไม่ไหวคงตัดสินใจลบโฆษณานี้ทิ้ง และออกแถลงการณ์ขอโทษไปแล้วแน่ๆ

แต่ทำไมเราต้องขอโทษกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นความผิดล่ะ?

แล้วถ้าเราตอบโต้ ‘ความเกลียดชัง’ ด้วย ‘ความรัก’ ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ลองหาคำตอบได้ในวิดีโอเคสนี้


ที่มา

canneslions.com

friendlystock.com

glocalities.com

positioningmag.com

thedrum.com

AUTHOR