เป้าหมายของ รติ พันธ์ุทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กับการทำให้ความคิดสร้างสรรค์กลับมาเซ็กซี่ผ่านงาน Adman Awards & Symposium

ตามความเข้าใจคนทั่วไป Adman Awards & Symposium เป็นงานมอบรางวัลของคนโฆษณา แต่คนจัดงานอยากให้เป็นมากกว่านั้น

Adman Awards & Symposium 2022 จะจัดวันที่ 7 – 8 ธ.ค. 2022 ที่สามย่าน มิตรทาวน์ แอดแมนเป็นงานใหญ่ จัดตั้งแต่ พ.ศ. 2547 แทนที่งาน TACT Awards ซึ่งเป็นงานมอบรางวัลโฆษณาโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนนี้แอดแมนจึงถึอเป็นงานรางวัลด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

รติ พันธ์ุทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน อยากให้แอดแมนเชิดชูความคิดสร้างสรรค์ในทุกวงการ ซึ่งตรงกับเทรนด์โลกและเทศกาลระดับสากลที่ขยายเรื่องนี้ให้ไปสู่แวดวงอื่น นอกวงการโฆษณา 

แอดแมนปีนี้กลับมาจัดงานแบบเจอหน้ากันอีกครั้ง เช่นเดียวกับอีเวนต์อีกหลายสิบงานที่จัดซ้อนทับกันเต็มไปหมด ด้วยจำนวนงานและอัลกอริธึมอาจทำให้บางคนไม่เห็นแอดแมนในหน้า feed แต่ถือว่านี่เป็นงานใหญ่สำหรับคนรักความคิดสร้างสรรค์ บรรยากาศดี แค่มาเดินเล่นในงานก็ถือว่าคุ้ม การได้พบ คุย และฟังคนเก่งๆ เล่าเรื่องกระตุ้นให้หัวใจของวงการนี้คึกคักอีกครั้ง

เราชวนรติมาเล่าเรื่องแอดแมน ทั้งที่มาในอดีต และทิศทางที่จะมุ่งไปในอนาคต รวมถึงสิ่งที่สมาคมฯ พยายามทำเพื่อสนับสนุนให้คนทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ไม่ว่าคุณจะทำงานโฆษณาหรือไม่ก็ตาม

Adman จัดต่อจาก TACT Awards งานแจกรางวัลโฆษณาที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และมีเลี้ยงโต๊ะจีนด้วย

เราคิดว่าโฆษณาไทยตอนนั้นเหมือนเดินอยู่บน red carpet ทุกอย่างยิ่งใหญ่ งานที่ดังมากยุคนั้นคือโฆษณาโทรศัพท์มือถืออีริคสันตกอยู่ในรู (งานชื่อว่า Street เผยแพร่ พ.ศ. 2540) เทศกาลโฆษณา adfest กำลังเกิดขึ้นพอดี เราเลยทำ Adman เป็น local show เพื่อจะส่งต่อไปในเทศกาลระดับภูมิภาค แล้วก็ไปเมืองนอก นี่คือจุดกำเนิดของแอดแมน 

มันถูกสร้างขึ้นมาเนื่องจากเมืองไทยยุติการจัด TACT Awards เขาก็จัดกันไป แล้วก็ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ พอเลิกปุ๊บเมืองไทยก็ไม่มี award show สมาคมก็เลยตั้งงาน Adman ขึ้นมาใหม่ 

ความจริงแล้วงานมีส่วนให้รางวัลโฆษณาดีเด่น กับซิมโพเซียม แต่ดูเหมือนว่าคนจะจำงานนี้ที่รางวัลมากกว่า

ต้องยอมรับว่าช่วงเกิดใหม่ๆ น้ำหนักของงานไปอยู่ตรงการให้รางวัลซะเยอะมาก ซิมโพเซียมมีอยู่แค่สองช่วงเล็กๆ ส่วนแรกเป็นของนักเรียนนักศึกษา ยุคนั้นเราหมุนเวียนกันให้แต่ละมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ สมาคมสนับสนุนในแง่ของวิทยากร ถ้าจำไม่ผิด ชื่องานคือ เส้นทางนอกตำรา เน็ตเวิร์กเขาก็ไปชวนนักเรียนมาฟัง ส่วนที่สองหนังสือ brandage เขาก็รับไปทำ เกี่ยวกับผู้ประกอบการ ดังนั้นเนื้อหาของซิมโพเซียม ​ณ วันนั้นมันมีอยู่แค่นั้น นี่ก็คือฟอร์แมตที่มันเกิดขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่วันแรกเมื่อ 18 ปีก่อน 

ด้วยความที่เราอยู่ในเอเจนซี่แบบโอกิลวี่มาก่อน มีโอกาสได้ทำงานกับ Barry Owen (ผู้กำกับโฆษณา) หรือพี่กรณ์ (กรณ์ เทพินทราภิรักษ์) ที่ทำโฆษณาไทยประกันชีวิตมาตั้งแต่วันแรก ผมอยู่ในสมาคมฯ ตั้งแต่เกิดงานแอดแมน วันหนึ่งผมจัดงานแล้วชวนพี่กรณ์มาพูด มันให้แรงบันดาลใจเราว่ามนุษย์พวกนี้เป็นเหมือนคลังสมอง เรื่องราวของพวกเขาควรเอามาถ่ายทอด เราคิดว่าด้วยความเป็นสมาคมวิชาชีพ เรื่องของ knowledge sharing น่าจะทำเป็นกิจกรรมให้คนในวงกว้างได้รับรู้ 

รางวัล Cannes Lions ตัวแรกที่เมืองไทยได้คือโฆษณาสิงห์โดย แบรี่ โอเว่น เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เชื่อหรือไม่ว่าตอนนั้นไม่มีใครรู้จัก ถ้วยรางวัลไม่รู้ไปอยู่ไหน แบรี่ก็เสียไปแล้ว ของพวกนี้เรารู้สึกว่าน่าจะรักษาและถ่ายทอดให้ดีกว่านี้

ทำไมแอดแมนต้องร่วมงานกับมหาวิทยาลัย สำคัญอย่างไร

ยุคสมัยนี้ เรื่องของความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่คนเห็นคุณค่าในวงกว้าง ไม่ใช่โฆษณาอย่างเดียว งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การคิด product concept, marketing concept หรืองานศิลปะก็เชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น ตราบใดที่เราต้องการจะไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผมว่านี่คือแก่นสำคัญ 

อีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องความมั่นคงของอุตสาหกรรมโฆษณาในอนาคต วันนี้เราต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้คิดว่างานโฆษณาคืองานในฝัน เราอยากทำให้เรื่องของความคิดสร้างสรรค์หรืออุตสาหกรรมโฆษณากลับมาเซ็กซี่เหมือนสมัยก่อน เราเชื่อว่าการผลิตคนคือเรื่องสำคัญ เราก็ต้องไปคุยกับอาจารย์ในสถานศึกษา ถ้าเขาไม่อัพเดตวิธีคิดใหม่ๆ เครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ก็ไม่มีวันสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ เป็นลูกโซ่ 

ในฐานะสมาคมวิชาชีพซึ่งไม่ได้แสวงหาผลกำไร สิ่งที่เราควรทำคือ ทำยังไงให้เกิด knowledge sharing หรือการกระจายความรู้ ทั้งกับผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน คนทำงานสายวิชาการ อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา นอกจากนั้นคือทำยังไงที่เราจะ inspire creativity สร้างแรงบันดาลใจด้วยความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นสองคีย์เวิร์ดที่ผมรับไม้ต่อจากพวกพี่ๆ ในสมาคม กิจกรรมด้านเผยแพร่ความรู้จะเป็นรูปแบบของการฝึกสอนเพื่อให้ไปถึงเด็ก ส่วนซิมโพเซียมเราทำเพื่อให้เนื้อหาไปถึงวงกว้าง แม้กระทั่งการให้รางวัลในหมวดอย่าง creativity for sharing (รางวัลที่ให้กับงานความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่นอกวงการโฆษณา) ก็เป็นส่วนของกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้คนเห็นว่านี่คือคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์

คุณอยากให้แอดแมนปีนี้เป็นอย่างไร

ในฐานะผู้จัด ผมอยากให้กิจกรรมในงานเป็นประโยชน์ที่จับต้องได้ ไม่จำเป็นต้องทำงานโฆษณาก็เข้าใจได้ ส่วนซิมโพเซียม ผมคุยกับน้องๆ ที่มาช่วยงานว่าเนื้อหาต้องเป็นแบบที่คนทั่วไปเสพได้ มาฟังแล้วคนเห็นประโยชน์ 

ข้อสองคือ ฝันว่าอยากให้คนมาเยอะๆ เพราะผมรู้สึกว่างานมีประโยชน์จริงๆ อยากให้คนได้มาเห็น การมอบรางวัลอาจเป็นงานในกลุ่มเฉพาะของเอเจนซี่แต่ส่วนนิทรรศการของงานรางวัลควรเป็นสิ่งที่นักเรียนและนักศึกษาได้มาเห็นว่างานดีเป็นยังไง 

ช่วงหลังคนมองว่าวงการโฆษณาไม่เซ็กซี่เหมือนเมื่อก่อน หลายคนคิดว่าฉันไม่ต้องทำโฆษณาก็ได้ถ้าอยากทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์

ความไม่เซ็กซี่เป็นเรื่องระยะสั้น ผมยังเชื่อว่า ตราบใดที่มีการสื่อสารการตลาด คอนเทนต์และไอเดียยังคงอยู่  และเป็นสิ่งที่แอดแมนพยายามจะบอก เพียงแต่วันนี้วิธีการทำงานเปลี่ยนไป ไอเดียต้องดีและแม่นยำพอที่จะเรียกร้องความสนใจได้  

ผมพยายามพูดกับหลายๆ คนว่าในโลกของการค้าขาย การมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีเป็นเนื้อแท้ช่วยให้การค้าขายและทำธุรกิจประสบความสำเร็จ ในแง่ของ what to say หรือกลยุทธ์ว่าเราจะพูดกับใคร ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ดีๆ และกลยุทธ์ที่เฉียบคม เราต้องยอมรับว่าวิธีการนำเสนอเปลี่ยนไปตามโลก สมัยก่อนเราทำหนังโฆษณาทีวี 1 เรื่อง 60 วินาที งานออนแอร์ไป 2 ปี ชีวิตแฮปปี้ วันนี้กลายเป็นคลิปสั้น 3 วัน 7 วัน เลิก อันนี้ช่วยไม่ได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการและช่องทางที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของคนในยุคนั้น 

ในอดีตวงการโฆษณาเคยโดนมองแบบนี้มั้ย 

เคยมีมาเป็นระยะ แต่มันพิสูจน์ได้ว่าอย่างไรเสียความคิดสร้างสรรค์คือหัวใจ เหมือน a day จะอยู่ในรูปเล่มหรือออนไลน์ คอนเทนต์หรือสิ่งที่นำเสนอก็ยังสำคัญ แม้กระทั่งผู้นำเสนอก็อาจจะต้องเปลี่ยน เพราะวิธีการนำเสนอในรูปแบบเดิมอาจจะถูกมองว่าโบราณ ไม่เข้าหู ต้องหาวิธีใหม่

คงเหมือนเรื่อง brand royalty เคยมีคนบอกผมว่า brand royalty ไม่มีอีกแล้ว ผมบอกว่าจริงเหรอ คนยังมีความรู้สึกว่านี่คือแบรนด์ของฉัน ใส่สิ่งนี้แล้วจะสวย กินสิ่งนี้แล้วจะเท่ ผมว่ามันยังอยู่นะ นั่นคือ royalty หรือเปล่า เพียงแต่ brand choice  มีให้เลือกเยอะกว่าเดิม 

หลายครั้งเราเห็นคนที่คิดว่า ไม่ต้องสนใจ branding แล้ว ทำแคมเปญเอามันอย่างเดียว สนุกเข้าว่า ผมว่าก็มีหลายแบรนด์ที่พอไปทางนั้นก็เจอปัญหาเหมือนกัน บางทีเราเห็นว่างานนี้ไม่น่าจะใช่คาแรกเตอร์ของแบรนด์นี้ นี่คือเรื่องแบรนด์ดิ้งซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอยู่ 

ต้องยอมรับว่าเสน่ห์ของงานไทยในภาพรวมจางหายไป งานของเราที่ไปถึงคานส์หรือ international awards น้อยลง ครีเอทีฟบ้านเราที่ไปร่วมงานก็เห็นได้ชัดว่างานไทยไม่เท่เท่าเมื่อก่อน เรื่องนี้เป็นโจทย์ในระยะกลางและระยะยาวว่าจะมีงานดีๆ ออกมาได้อย่างไร อาจจะเป็น disruption ที่แท้จริงของวงการ ผมยังตอบไม่ได้ว่าพวกเราปรับตัวสู่วิธีใหม่และโลกใหม่ของการทำโฆษณาหรือยัง แต่รู้สึกได้ว่าเป็นปัญหาที่รอเราอยู่ในอนาคต 

ถ้าหัวใจของแอดแมนส่วนหนึ่งคือรางวัล เวลาเราให้รางวัลใคร มันจะทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างไร

เหตุผลหนึ่งที่เราขอการสนับสนุนจาก CEA (Creative Economy Agency สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ องค์การมหาชน) ในการทำ archive หรือเว็บไซต์รวมงานที่ได้รางวัล คือทำอย่างไรที่จะให้งานพวกนี้มีโอกาสไปสร้างแรงบันดาลใจคนในวงกว้าง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมาเห็นงานนิทรรศการที่แอดแมน ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าไปดูว่ารางวัลแอดแมนคืออะไร เราก็เลยทำ archieve เอาไว้ ด้วยความหวังว่าใครก็สามารถเข้าไปดูได้ งานที่ผ่านการตัดสินมาอย่างหนักหน่วง น่าจะเป็นประโยชน์ เป็นตัวอย่างที่ดีกับรุ่นใหม่ 

ผมพยายามหาวิธีการแพร่กระจายงานพวกนี้ออกไป ให้คนเห็นในวงกว้างๆ ในเว็บจะระบุไปเลยว่างานนี้ไปถึงไหน เช่น ได้รางวัลที่ adfest, Spikes Asia หรือคานส์ เราจะบันทึกไว้หมด รวมถึงอันดับ ranking ของครีเอทีฟเมืองไทย เราเริ่มต้นมาได้สองปีแล้ว ในอนาคตคงเพิ่มเติมข้อมูลให้เป็นประโยชน์ในการค้นคว้าต่อไป 

ที่ผ่านมาสมาคมฯ ทำงานร่วมกับเอเจนซี่อย่างไร 

ผมกล้าพูดได้ว่าเราเป็นสมาคมที่ใกล้ชิดกันมากนะครับ ในคณะกรรมการมีคนจาก 10-15 เอเจนซี่ เจอกันทุกเดือน ทุกไตรมาสเราจะประชุมเรียกว่า agency head meeting ผู้นำของเอเจนซี่ที่เป็นสมาชิกทั้งหมดจะถูกเชิญมาเจอกัน นอกจากนี้ก็มีเรื่อง pitch fee ซึ่งเราก็เป็นตัวกลาง สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราต้องคุยกันตลอดเวลา 

ตอนที่สมาคมฯ ออกมาพูดเรื่อง pitch fee ดูมีทั้งคนเห็นด้วย และคนที่เข้าใจไปอีกแบบ คุณช่วยขยายความอีกครั้งได้มั้ย ทำไมสมาคมฯ ต้องพูดเรื่องนี้

สมัยก่อน คุณเชื่อมั้ยว่าเคยมีเคสที่แบรนด์เรียกเอเจนซี่สิบกว่าเจ้าในการพิช ผมว่าสิ้นเปลืองมาก อย่าลืมนะว่าเอเจนซี่ที่ไป pitching หนึ่งครั้ง มันคือการลงทุน ไหนจะเวลาของคน ค่าใช้จ่ายในการทำรีเสิร์ช ค่าครีเอทีฟ แล้วผมก็ไม่คิดว่าค่าพิชจะครอบคลุมค่าใช้จ่าย ไม่มีทาง

เราต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมามีลูกค้าบางประเทศที่เรียกพิชเพื่อจะช้อปไอเดีย บางทีก็อยากเปลี่ยนเอเจนซี่ที่ทำงานด้วย ไหนๆ ไอเดียตันแล้วลองเรียกเจ้าอื่นมาหน่อยซิ เผื่อจะคิดอะไรแปลกๆ มีแม้กระทั่งขู่เอเจนซี่รายปัจจุบันว่าถ้าเกิดเธอทำงานไม่ดีฉันจะพิช คนอื่นกลายเป็นตัวประกอบเต็มไปหมด แล้วเขาจะได้อะไร ผมว่ามันไม่แฟร์

​เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีกติกา pitch fee เพื่อหวังว่าอย่างน้อยที่สุด การจะเรียกพิชสักครั้งนึงควรอยู่ภายใต้เหตุและผลที่สมควร มีความชัดเจนจริงจังกับการพิช เท่านั้นเอง 

คุณคิดค่าพิชอย่างไร

ถ้าแบรนด์เอาแค่ strategic proposal รายละ 50,000 บาท ถ้าคุณจะเอา full campaign pitch มี creativity ครบทุกด้าน 100,000 บาท ซึ่งอย่างที่ผมบอก จะห้าหมื่นหรือหนึ่งแสนมันไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เอเจนซี่ลงไปหรอก แต่อย่างน้อยทำให้ลูกค้าคิดว่าแทนที่จะเรียก 8 เจ้า ฉันก็เหลือแค่ 3 หรือ 4 แข่งกัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม นั่นคือหัวใจของการ pitching 

ตั้งแต่มีกติกานี้ คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมั้ย

ตัวเลขที่ proof ได้คือ จำนวนเอเจนซี่ต่อหนึ่งพิชเฉลี่ยประมาณ 2.7 เจ้า เป็นแบบนี้มาสิบกว่าปี ถือว่าโอเค 

คนไม่ค่อยรู้ว่ากติกานี้ตั้งมานานแล้ว

ช่วงหลังคนเร่ิมลืม ปีนี้เลยลุกขึ้นมาประกาศอีกทีนึง ความจริงไม่ได้มีอะไรใหม่เลยครับ เนื้อหาเหมือนเดิม เพิ่มเติมอยู่ 2-3 ข้อ ข้อหนึ่งคือ ถ้าพิชแล้วไม่เลือกใครเลย มีนะ พิชเสร็จแล้ว 3 เดือนไม่ตัดสินใจ ผมก็บอกว่าถ้าไม่ตัดสินใจใน 3 เดือนแปลว่าคุณแพ้ ทุกคนเอาเงินไปให้หมด 

อีกเคสคือ ได้คนชนะเรียบร้อย ไม่ได้เงินพิชตามกติกา แต่นั่งรออยู่ 1 ปีงานไม่เกิด ซวยมากกว่าคนที่แพ้อีก เราก็เลยบอกว่าถ้าคุณเลือกคนชนะได้แล้ว เราจะยังไม่คืนเงินค่าพิชให้จนกว่าคนชนะจะได้ทำงาน อันนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ต้องบอกว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เลวร้ายอย่างนั้นหรอก แต่มนุษย์ตุกติกก็มีทุกสังคม

บางคนอาจเข้าใจผิด คิดว่าสมาคมฯ ทำเรื่องนี้เพื่อหาเงิน

เราตั้งเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อหวังให้เกิดความเป็นธรรม ในกระบวนการสรรหาเอเจนซี่พาร์ตเนอร์ นั่นคือหัวใจ เราไม่ได้ตั้งใจจะมากำไรหรือขาดทุนกับเรื่องแบบนี้ ประการที่สอง เราออกมาเพื่อบอกว่าค่าธรรมเนียมนี้ไม่ใช่ค่าลิขสิทธิ์นะครับ นั่นหมายความว่าถ้าเอเจนซี่ ก ไก่ พิชแล้วแพ้ ไม่ได้แปลว่าแบรนด์ได้งานนั้นไปนะ เรื่องนี้เรามีกรมทรัพย์สินทางปัญญารับรองว่านี่คือ intellectual property ของเอเจนซี่ ถ้าตราบใดไม่ชนะ คุณไม่ได้ซื้อ แปลว่าไม่ใช่ของคุณ 

อีกส่วนเล็กๆ ที่เพิ่งทำเสร็จไปคือ ผมถือโอกาสแถมวิธีตัดสินงานด้วย สมมติคุณเรียกเอเจนซี่มา 4 เจ้า คุณจะตัดสินจากอะไร บอกได้ไงว่าเจ้านั้นดีกว่าเจ้านี้ เราให้จุดที่ควรจะพิจารณาเป็นข้อ แบรนด์ไป weight score กันเอง 

อีกส่วนที่เราพยายามจะผลักดัน คือเรื่องของการบรีฟ ยุคนี้หลายคนบรีฟไม่เป็นนะ เราก็ให้ guideline ในการบรีฟ เพราะเราคิดว่าการบรีฟที่ดีคือจุดตั้งต้นของงานที่ดี งานที่ดีมันต้องมาจากบรีฟที่ดี เป็นงานที่สมาคมฯ เห็นว่าช่วยทั้งสองฝ่าย ลูกค้าบรีฟดี ได้งานดี เอเจนซี่ได้บรีฟที่ดีก็ทำงานแม่น 

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอยากให้ความสัมพันธ์ระหว่างเอเจนซี่กับลูกค้าราบรื่นที่สุด เราเป็นตัวกลางเพื่อเอเจนซี่กับลูกค้าจะได้ไม่ต้องห่วงว่า ยังไม่ทันได้ทำธุรกิจกันเลยก็ทะเลาะกันไปเรียบร้อยแล้ว 

กลับมาเรื่องงานแอดแมน ตอนนี้ความคิดสร้างสรรค์กระจายตัวไปอยู่ทุกวงการ คุณอยากให้แอดแมนพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ที่กว้างกว่านี้มั้ย 

ปีนี้จะได้เห็น เราจะให้รางวัลในฝั่ง entertainment ด้วย หมายความว่าคนในวงการที่ทำงานเกี่ยวกับเพลงหรือภาพยนตร์อยู่ในหมวดใหม่ที่จะเกิดขึ้น เราจะขยายออกไป ไม่ใช่เฉพาะงานที่เรียกว่าเป็น marketing communication อย่างเดียว 

สิ่งที่เราเริ่มปีที่แล้วคือ เราให้รางวัล craft ไม่ว่าจะเป็นหมวดย่อยไหน ผู้ได้รับรางวัลจะเป็น prodcution house ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตงาน จากเดิมที่เอเจนซี่ได้รับ ถือว่าเราไปสู่อีกยุคหนึ่ง แล้วพอให้รางวัลผู้ผลิต เราก็เปิดกติกาช่องนึงว่า ถ้างานของคุณไม่ใช่งานโฆษณาไทยก็เอามาแข่งได้ เพราะเราต้องการโปรโมตว่าประเทศไทยคือ production hub บริษัทจากมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาใช้บริการจากพี่สุรชัย (สุรชัย พุฒิกุลางกูร จาก Illusion CGI Studio) ต่อ (ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับจาก Phenomena) เต้น (สีหบุตร ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้กำกับจาก Triton) ใครต่อใครเยอะแยะเต็มไปหมด ถือว่าเราให้บน craftmanship เป็นการเปิดมุมมองของแอดแมนให้กว้างขึ้น

เอเจนซี่ชอบบ่นว่างานไทยไม่หลากหลาย วนอยู่แค่ไม่กี่หมวด แอดแมนช่วยได้มั้ย 

แนวทางของเราคือ เราจะจัดหมวดรางวัลให้ตรงกับเทศกาลมอบรางวัลระดับสากล เขามียังไงเราก็จะมีแบบเดียวกัน เพื่อหวังผลในการส่งงานต่อ นี่คือทางที่เราทำได้ แต่ปริมาณงานจะเข้ามาในหมวดมากน้อยขนาดไหน เกรงว่าเราจัดการตรงนั้นไม่ได้ ขึ้นอยู่กับลูกค้าและเอเจนซี่

ตอนนี้เรามีหมวด entertainment เพิ่มเข้ามา เมืองนอกก็มี หรือหมวดอย่าง for good เมืองนอกก็มี จะมุ่งไปทางเรื่อง sustainable development แต่แอดแมนมี creativity for sharing เป็นของเราเอง หมวดนี้เกิดขึ้นตอนคุณป๋อม (กิตติ ไชยพร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ มานะ) มาช่วยกับผม จำได้วันนั้นเรานั่งคุยกันเล่นๆ ว่า ศักดาทุบตึกเป็นใคร Copywriting เก่งชิบเป๋งเลย เป็นการจุดประกายที่ทำให้เกิดรางวัลที่ให้กับภาคประชาชน 

รางวัลชุดแรกๆ ที่ได้จะมีเพจ คุณยายแกะกล่อง เป็นคุณยายกับหลานถ่ายคลิปแกะกล่องรีวิวสินค้า YouTube ช่องของบังฮาซัน โครงการ The Mask Pepsmear ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกรด จังหวัดกำแพงเพชร เวลาตรวจ หมอก็อาย คนไข้ก็อาย คุณหมอเลยจับหน้ากากใส่หน้าทั้งหมอและคนไข้ นี่คือ creativity อย่างธรรมชาติมากเลยนะ งานแบบนี้ที่เราอยากให้รางวัล อย่างน้อยให้คนได้เห็นความคิดใหม่ๆ สร้างแรงบันดาลใจดี


Adman Awards & Symposium 2022 มีไลน์อัพเวทีสนทนาโดยตัวตึงแห่งยุคกว่า 30 Sessions มาในธีม Shift Happens ในวันที่โลกเปลี่ยนไป ความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องปรับตาม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://admanawards.com/symposium/speakers

ซื้อบัตรแบบ Early ก่อนที่ราคาจะ Shift ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/13931/admansymposium2022

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ