“ไทยเป็นชาติที่ครีเอทีฟไม่แพ้ชาติใดในโลก”
ขอบอกเลยว่าเราเชื่อในคำๆ นี้จริงๆ
เราเป็นหนึ่งในชนชาติที่มีความสามารถหยิบจับสิ่งรอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ได้ไม่แพ้ใคร
ซึ่งไอเดียเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่แปลก หรือมีประโยชน์แค่กับคนที่สร้างมัน แต่ยังมีคุณค่าและเกื้อกูลคนในสังคมที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันได้
ยกตัวอย่างง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพ
จากเมล็ดทานตะวันที่ปลูกเพื่อความสวยงาม หรือรับประทานเล่นๆ แต่วันนี้ถูก “เปลี่ยน” เป็น “ต้นอ่อนทานตะวันซูเปอร์ฟู้ดแบบไทยๆ” ซึ่งซูเปอร์ฟู้ดเนี่ยคืออาหารที่มีคุณประโยชน์สูง มีสารอาหารที่โดดเด่นเฉพาะ สำหรับต้นอ่อนทานตะวันนั้น จะมีรสชาติหวานกรอบ มีโปรตีนสูง อุดมด้วยไขมันดี และวิตามินมากมาย
(แถมทำได้ง่ายแสนง่าย แค่นำเมล็ดทานตะวันสีดำ แช่น้ำไว้
1 คืน เเล้วนำมาเพาะในกระบะดิน คอยใช้สเปรย์ฉีดรดน้ำวันละ
2-3 ครั้ง ภายใน 7-12
วัน ก็สามารถตัดมากินได้เลย)
นี่คือตัวอย่างของการนำความรู้ ควบแน่นกับความช่างสังเกต หยิบจับสิ่งของที่อยู่ในชีวิตประจำวันมาครีเอตเป็นสิ่งที่ดีกว่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่นมากขึ้น
จากน้ำมันพืชเหลือใช้ที่คนอาจจะมองว่าไม่มีประโยชน์ ก็มีคนไทยหัวใสที่เห็นความเป็นไปได้ในสิ่งนี้ “เปลี่ยน” น้ำมันเหลือใช้เหล่านี้ให้มาแทนที่น้ำมันดีเซลที่ราคาสวิงไปมาสับขาหลอกจนเดาทางไม่ถูก เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ช่วยเหลือสังคมได้ในวงกว้าง (ไม่ใช่แค่น้ำมันพืชนะ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันอะไรก็เปลี่ยนได้)
หรือถ้าลองเขยิบมาเป็นเรื่องที่สเกลเล็กและฟังดูร่วมสมัยขึ้นอีกนิด ในปัจจุบันเราได้เห็นกระเป๋า
Mini Bucket ที่มาจากการผสมผสานผ้าเข้ากับหวาย “เปลี่ยน” ภูมิปัญญาไทยให้กลายเป็น accessories
แบบโมเดิร์น โดนใจคนเจนวาย ลบล้างภาพความเฉิ่มเชยของงานจักสานแบบเดิมๆ ที่ไม่ใช่แค่สร้างรายได้ให้กับเจ้าของไอเดียที่ครีเอตมันเท่านั้น แต่ยังสร้างอาชีพให้กับเจ้าของงานฝีมือนี้ได้อย่างยั่งยืน
ถือเป็นสถานการณ์แบบเกื้อกูลกัน
นี่แค่น้ำจิ้มให้ทุกคนเห็นภาพว่าเรามีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวให้เป็นของที่มีประโยชน์ต่อคนรอบข้างได้มากมายขนาดไหน
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าการลุกขึ้นมา “เปลี่ยน” อะไรสักอย่าง ดูจะต้องใช้พลังสมอง รีดเค้นไอเดียที่โดดเด่น จนเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องของคนบางกลุ่มเท่านั้น
แต่เราขอยืนยันว่า ความครีเอทีฟอยู่ในตัวเราทุกคน และไม่ว่าใครก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ หากยังนึกไม่ออก เรามีตัวอย่างหน้าตาของการ “เปลี่ยน” สิ่งรอบตัวให้เป็นความเกื้อกูลต่อสังคมที่เราอาศัยอยู่ได้ เพียงหยอดความครีเอทีฟแบบง่ายๆ ลงไปมาแบ่งปันให้ดู ผ่านภาพยนตร์สั้น 3 เรื่อง จาก ปตท. ที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง เรารับประกันว่า หนังทั้ง 3 เรื่องนี้จะจุดแรงบันดาลใจ ให้คุณคันไม้คันมืออยากจะลงมือสร้างสรรค์ ดัดแปลง เปลี่ยนสิ่งรอบตัวให้เกิดเป็นสิ่งดีๆ กับตัวเองและคนรอบข้าง เหมือนที่เราเป็นอยู่ตอนนี้เลยล่ะ เพราะคุณจะได้รู้ว่า “อะไรก็เปลี่ยนเป็นความเกื้อกูลได้”
เรื่องที่ 1 “Mobi-Education”
แค่ชื่อก็เก๋ไก๋อะไรเบอร์นี้ แต่ที่จริงแล้ว “Mobi
– Education” คือจักรยานเก่าๆ คันหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วมันจะครีเอทีฟหรือสร้างประโยชน์ให้คนในชุมชนได้ยังไง?
ได้สิ! เพราะ
นักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS)
ของกลุ่มปตท. ทำการ “เปลี่ยน” จักรยานคันนี้ เป็นแหล่งการศึกษาเคลื่อนที่ พาตัวเองพร้อมความรู้อัดแน่นในสมอง ไปส่งต่อให้กับเด็กๆ ในชุมชน สอนภาษาอังกฤษง่ายนีสสสเดียว ไม่ว่าจะที่ไหนก็เรียนได้ ไม่ต้องมีชุด ไม่ต้องมีค่าเทอม
บางครั้งความเกื้อกูล ก็สามารถเริ่มต้นได้อย่างง่ายดายแค่นี้เอง
เรื่องที่ 2 “Co-Shopping Space”
อีกเคสที่ให้เราได้ลุ้นและตื่นเต้นตั้งแต่ได้ยินชื่อ แต่ “Co-Shopping Space” กลับเป็นแค่ “แคร่” อันหนึ่งเท่านั้น
คำถามเดิม – มันจะสร้างสรรค์หรือสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ยังไง? และอีกครั้งที่คำตอบยังคงเหมือนเดิม นั่นก็คือ
“ได้สิ” เพราะชาวบ้านได้
“เปลี่ยน” แคร่และที่ว่างในปั๊มน้ำมันให้เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน ให้ชุมชน เกษตรกร และชาวนาได้นำสินค้ามาวางจำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้คนที่ผ่านมาได้ทดลองสินค้า พบปะ อุดหนุนและช่วยเหลือเกษตรกรกัน
หนังเรื่องนี้ใช้เรื่องราวของแคร่เป็นสัญลักษณ์ของการพลิกแพลงสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีประโยชน์นักให้กลายเป็นสิ่งที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพียงแค่เรามองให้เห็นคุณค่าของมัน และใส่ความคิดสร้างสรรค์ของเราลงไป ซึ่งปตท. ก็ได้ทำให้ Co-Shopping Space เกิดขึ้นได้จริงๆ ด้วยการสร้าง “ร้านค้าประชารัฐสุขใจ
Shop” ที่รวบรวมสินค้าโอทอปจากชุมชนทั่วประเทศมาจัดจำหน่ายในปั๊มน้ำมัน ปตท. โดยปัจจุบันเรามีร้านค้าประชารัฐสุขใจ Shop กว่า 143 แห่ง
เรื่องที่ 3 “Unlimited Energy”
นี่คือการผลิตก๊าซชีวภาพไม่จำกัด จากนวัตกรรมหมูที่ขี้หอมที่สุดในโลก! แค่ชื่อก็ทำให้เราถึงกับร้องว้าว! แต่สิ่งที่ว้าวยิ่งกว่าคือความง่ายแต่ยิ่งใหญ่ในสิ่งที่ขี้หมูสามารถทำได้ เพราะแค่เราเอาขี้หมูใส่ในบ่อหมักที่ปิดสนิท และต่อท่อไปตามบ้าน มันก็จะ “เปลี่ยน” เป็นก๊าซที่สามารถแจกจ่ายให้แก่คนในชุมชนได้ แค่นี้ ขี้หมูเหม็นๆ ก็สามารถนำไปทอดไข่เจียวหอมฉุยได้ นี่สินะที่มาของชื่อ หมูที่ขี้หอมที่สุดในโลก
(ขอเสริมนิดนึงละกันว่า นี่คือเรื่องที่เราชอบที่สุด ทั้งวิธีการตั้งชื่อที่ทำให้คนต้องสนใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน รวมถึงการเปลี่ยนสิ่งที่คนไม่ได้แค่มองว่าไร้ประโยชน์คือขี้หมูที่มีกลิ่นเหม็น ให้กลายเป็นพลังงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล)
เรื่องราวทั้งหมดของภาพยนตร์สั้น 3 เรื่องจาก ปตท. นอกจากจะทำให้เรายิ้มจากอารมณ์ขันอันอบอุ่นของเนื้อเรื่อง เพลิดเพลินและสนุกไปกับไอเดียน่ารักๆ แล้ว เรายังได้เห็นความเป็นไปได้ของการแก้ไขปัญหาด้วยความครีเอทีฟในวิถีทางของเรา มันทำให้เราเห็นว่า
ในวันที่ความเกื้อกูลนั้นแห้งแล้งลงจนเรารู้สึกว่าหาได้ยากเหลือเกิน เราก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของตาน้ำ ที่จะส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับสังคมของเราได้ โดยไม่ต้องรอใครลงมือ แค่เริ่มต้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ และจิตใจที่พร้อมจะส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่คนรอบตัวของเรา
“อะไรก็เปลี่ยนเป็นความเกื้อกูลได้”