TH Chara ฟอนต์ไทยทรงจัตุรัสอ่านง่าย เห็นชัด เพื่อความถูกใจและสายตาของผู้สูงวัย

Highlights

  • ฟอนต์ TH Chara หรือ ไทยชรา คือชุดตัวอักษรอ่านง่ายสบายตา ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาสายตายาวตามวัยในหมู่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ 
  • ไอเดียฟอนต์สำหรับผู้สูงวัยเริ่มต้นจาก ผศ.ดร.รัตนโชติ เทียนมงคล อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อนฤมิตที่ลงมือทำงานวิจัยเรื่องฟอนต์ที่เหมาะสมกับสายตาของผู้สูงอายุและส่งต่อให้กับนักออกแบบฟอนต์มืออาชีพอย่างทีม Fontcraft Studio ไปพัฒนาให้ออกมาเป็นฟอนต์จริง
  • ฟอนต์ไทยชรามีเอกลักษณ์ที่ความอ่านง่ายสบายตา จากสัดส่วนฟอนต์สี่เหลี่ยมจัตุรัส เดินเส้นสม่ำเสมอ จุดหักมุมทำมุมชัดเจน และหัวตัวอักษรมีขนาด 1:3 ของฟอนต์ช่วยให้แยกอักษรได้ง่าย

หากคุณคือคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์สอนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านใช้สมาร์ตโฟนหรือไอแพดคุณคงรู้ว่าก่อนจะไปถึงระบบการทำงานแสนซับซ้อน สิ่งแรกที่ต้องทำกลับเป็นการขยายฟอนต์ให้ใหญ่สะใจเพราะบรรดาผู้สูงวัยมักจะบ่นว่าขนาดตัวอักษรตั้งต้นเล็กไปจนอ่านไม่ออก

ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อได้รู้จักกับฟอนต์ TH Chara หรือ ไทยชรา ชุดตัวอักษรอ่านง่ายสบายตา ซึ่งออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาสายตายาวตามวัยในหมู่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ 

งานนี้การันตีคุณภาพด้วยการออกแบบที่อ้างอิงจากงานวิจัย ‘การศึกษาลักษณะฟอนต์ที่เหมาะสมต่อประจักษภาพสำหรับผู้สูงวัยในบริบทตัวอักษรไทยบนหน้าจอแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์’ โดย ผศ. ดร.รัตนโชติ เทียนมงคล อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อนฤมิต คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และยังได้นักออกแบบฟอนต์มืออาชีพอย่าง ไช้–จุติพงศ์ ภูสุมาศ และ ผิง–สุวิสา แซ่อึ่ง จากทีม Fontcraft Studio ผู้ออกแบบฟอนต์องค์กรให้กับโตโยต้า ประเทศไทย และเพจ หมาจ๋า มารับหน้าที่ในการดีไซน์และพัฒนาฟอนต์อีกด้วย

ช้าก่อน ยังไม่ต้องรีบร้อนโหลดกันตอนนี้ เพราะเราขอเชิญชวนให้เลื่อนลงไปอ่านที่มาที่ไปของฟอนต์ชุดนี้ก่อนสักนิด รับรองว่าจะต้องตื่นเต้นกับความจริงจังและตั้งใจของผู้อยู่เบื้องหลังทั้ง 44 ตัวอักษร 21 สระ 4 วรรณยุกต์ แถมด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษอีก 26 ตัว

 

เส้นผมบังภูเขา

“ย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วที่ผมเริ่มทำวิจัย ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 15% ของประชากรทั้งประเทศ ถ้าดูจากสถิติ จำนวนผู้สูงอายุของเราเพิ่มขึ้นเกือบ 4% หรือประมาณ 2 ล้านคนต่อปี นั่นแปลว่าระหว่างที่เราทำโปรเจ็กต์นี้ยอดผู้สูงอายุก็น่าจะเพิ่มขึ้นมาสัก 6-7 ล้านคนได้” ดร.รัตนโชติอธิบายถึงสถานการณ์ aged society หรือสังคมผู้สูงวัยซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

“ทุกวันนี้การรับข้อมูลข่าวสารมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ข้อมูลจำนวนมากถูกจำกัดอยู่แค่บนหน้าจอดิจิทัลเป็นสาเหตุที่ทุกวันนี้คนแก่หันมาเล่นแท็บเล็ตกันมากขึ้น”

ในฐานะอาจารย์ภาควิชานฤมิตศิลป์ ผู้รับผิดชอบการเรียนการสอนวิชา Typography ทำให้ ดร.รัตนโชติเริ่มสนใจและอยากทำการศึกษาลงลึกเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ หลังจากที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวจากแวดวงวิชาการที่พยายามปรับตัวและรับมือกับสังคมผู้สูงอายุด้วยวิธีต่างๆ อย่างการทำเนื้อหาแนะนำเรื่องการงานและการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย

“ตอนนั้นที่มหาวิทยาลัยกำลังจะมีการทำเนื้อหาดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุ มันทำให้ผมเริ่มคิดว่าบางทีเราอาจจะวุ่นวายกับเรื่องคอนเทนต์ที่เราจะนำเสนอให้ผู้สูงอายุมากเกินไป คิดแต่จะให้เขามีอาชีพ มีรายได้ จนลืมไปว่าจุดสำคัญที่จะเชื่อมต่อผู้สูงอายุสู่คอนเทนต์ได้มันคือการที่เขาต้องมองเห็นและอ่านข้อมูลชุดนี้ออกเป็นอันดับแรก

“ผมมองว่าเรื่องฟอนต์มันเหมือนเส้นผมบังภูเขา เป็นสิ่งที่จะทำให้เขาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้จริงๆ”

 

ฟอนต์แห่งชาติ 

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าประเทศไทยของเรามีการบัญญัติฟอนต์แห่งชาติไว้ทั้งหมด 13 ตัวตามโครงการเผยแพร่ฟอนต์ลิขสิทธิ์จากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเรียกง่ายๆ ก็คือบรรดาฟอนต์ฟรีที่เปิดให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั่นเอง 

แต่น่าเสียดายที่บรรดาฟอนต์แห่งชาติบางตัวมีรูปร่างหน้าตาที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้สูงวัยที่มีปัญหาสายตาเท่าไหร่นัก ดร.รัตนโชติจึงตัดสินนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับจักษุแพทย์และออกแบบการทดสอบเพื่อวัดการมองเห็นของฟอนต์แต่ละชุดบนหน้าจอแท็บเล็ตกับกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยคน 

“เราเริ่มต้นจากการศึกษาฟอนต์ทั้ง 13 แบบว่าแต่ละฟอนต์มีคุณสมบัติที่เหมาะกับผู้สูงอายุมากน้อยเพียงใดจากนั้นจึงเอาผลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อผลิตฟอนต์ที่สร้างประจักษภาพได้ดีที่สุด”

คำว่า ‘ประจักษภาพ’ ในที่นี้มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่ความถูกต้องในการอ่าน, ความเร็วในการอ่าน, ขนาดตัวอักษรที่สามารถอ่านออก ตลอดจนความสามารถในการแยกตัวอักษรคู่เหมือน อย่าง ด เด็ก และ ต เต่า

“หนึ่งใน 13 ฟอนต์ที่อ่านได้ง่ายที่สุดในพื้นที่และขนาดจำกัดคือฟอนต์ TH Fahkwang ซึ่งขนาดเล็กที่สุดที่กลุ่มตัวอย่างสามารถอ่านได้อยู่ที่ 1.6 มิลลิเมตร ในขณะที่ฟอนต์อื่นๆ จะอ่านได้เล็กที่สุดที่ 2.5 มิลลิเมตรโดยเฉลี่ย” ไช้ นักออกแบบจากทีม Fontcraft Studio กล่าวเสริมเกี่ยวกับฟอนต์ที่ครองอันดับผู้ทำคะแนนประจักษภาพสูงที่สุด และถูกนำมาต่อยอดเพื่อถอดรหัสหาคุณสมบัติความ ‘อ่านง่าย’  

 

การวิจัยของ ดร.รัตนโชติไม่ได้จำกัดอยู่ภายในขอบเขตภาษาไทยเท่านั้น แต่เขายังใช้เกณฑ์การออกแบบฟอนต์ภาษาอังกฤษมาประยุกต์กับการทำงานในครั้งนี้อีกด้วย

“ผมเลือกศึกษาจาก ADA หรือ American Disability Association ของอเมริกาเพื่อดูว่าเขามีวิธีออกแบบฟอนต์ให้กลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษยังไง แล้วนำสรีระของฟอนต์ภาษาอังกฤษมาเทียบกับฟอนต์ไทย” ดร.รัตนโชติอธิบาย ก่อนจะเล่าถึงจุดร่วมที่น่าสนใจระหว่างฟอนต์ TH Fahkwang และมาตรฐานของ ADA อย่างโครงสร้างตัวอักษรที่มีความเป็นจัตุรัส ซึ่งสัดส่วนความกว้างที่พอดีกับความสูง ทำให้อ่านได้ชัดมากกว่าตัวอักษรที่มีรูปร่างผอมสูง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีองค์ประกอบอีกหลายส่วนในฟอนต์ภาษาไทยที่ไม่สามารถอ้างอิงจากเกณฑ์ภาษาอังกฤษได้ เช่น หัวตัวอักษร ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวอักษรภาษาไทย ซึ่งทีมต้องแก้โจทย์ต่อไป

 

โจทย์ของไทยชรา

เมื่อ ดร.รัตนโชติดำเนินการทดสอบจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของทีมงาน Foncraft ที่ต้องพัฒนาฟอนต์สำหรับเหล่า ส.ว. โดยมีผลการวิจัยจำนวน 4 ข้อ เป็นโจทย์ในการออกแบบ

1.อัตราส่วนตัวอักษร ควรมีรูปร่างเป็นจัตุรัส คือมีขนาด 1:1 หรือผอมที่สุดไม่เกิน 6:10 ต่างจากฟอนต์ทั่วไปที่คนไทยคุ้นเคย ซึ่งมักจะมีรูปร่างผอมสูง และมีอัตราส่วนประมาณ 6:8 

 

2.ขนาดหัวของตัวอักษร ควรมีขนาด 1 ใน 3 ของความกว้างตัวอักษร เพราะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถแยกตัวอักษรแต่ละตัวได้ง่ายขึ้น

3.ความหนาของเส้นตัวอักษร ควรเดินเส้นสม่ำเสมอ ไม่มีจุดคอดหรือจุดหนาเป็นพิเศษ และมีความหนาเส้นเป็น 1 ใน 10 ของความกว้างตัวอักษร จะช่วยให้ตัวอักษรมีความชัดเจนไม่หนาหรือบางจนอ่านยาก

 

4.จุดหักมุมของตัวอักษร ควรทำมุมชัดเจน ไม่ใช้เส้นโค้ง เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุแยกตัวอักษรคู่เหมือนได้ยากขึ้น อย่าง ท ทหาร กับ ฑ นางมณโฑ

 

เพียงโจทย์ทั้ง 4 ข้อก็ทำให้การทำงานตกอยู่ใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขายังมองเห็นช่องโหว่ในคอนเซปต์การออกแบบที่ได้รับจึงตัดสินใจเสนอไอเดียเพิ่มเติมกลับไปยัง ดร.รัตนโชติ เพื่อให้ฟอนต์ไทยชราออกมาเนี้ยบและอ่านง่ายที่สุด

“ตัวอักษรชุดนี้ออกแบบเพื่อใช้แสดงผลบนหน้าจอเป็นหลักเราเลยเสนอให้มีการใช้เทคนิค ink trap คือการปรับความหนาเส้นเพื่อเก็บมุมตัวอักษร กับเทคนิค overshoot คือการปรับความความสูงของตัวอักษรที่มีขอบโค้ง” ผิงอธิบายว่าทั้งสองอย่างคือเทคนิคที่ใช้หลอกสายตาผู้อ่าน ทำให้ตัวอักษรดูโปร่ง และมีน้ำหนักสม่ำเสมอ โดยผู้อ่านที่ทดสอบบนแท็บเล็ตจะไม่สังเกตเห็นรายละเอียดในส่วนนี้ แต่มันจะช่วยให้พวกเขาอ่านง่ายสบายตายิ่งขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

ยังไม่หมด เพราะแค่การทำมุมตัวอักษรให้คมชัดเจนยังไม่เพียงพอที่จะแยกตัวอักษรคู่เหมือน พวกเขาจึงกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่ออุดทุกช่องโหว่อย่างสมบูรณ์แบบ

“ยกตัวอย่าง ล ลิง กับ ส เสือ หรือ ค ควาย กับ ศ ศาลา ตัวอักษรเหล่านี้ต่างกันแค่ตัวหางเท่านั้น เราเลยใช้การลากหางให้ยาวจากส่วนกลางของตัวอักษร ทำให้เวลาอ่านผู้สูงอายุจะไม่ต้องเพ่งหรือใช้ความพยายามในการอ่านมากเกินไป” ผิงอธิบาย

 

ไทยชราเพื่อวัยชรา

หลังจากที่ขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาฟอนต์จบลง เราอดสงสัยไม่ได้ว่า พวกเขาจะเผยแพร่ฟอนต์ยังไงให้ไปถึงเหล่าผู้สูงอายุ เพราะแม้ว่าฟอนต์ไทยชราจะสามารถติดตั้งลงบนสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตได้ แต่ลำพังแค่การเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายของเหล่าผู้สูงอายุ ยังไม่ต้องพูดถึงขั้นตอนการดาวน์โหลดและติดตั้งที่อาจเข้าใจยากสำหรับผู้สูงอายุบางคน

“เราได้รับการติดต่อจากทีมนักพัฒนาหลายรายที่ต้องการนำฟอนต์นี้ไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ ส่วนหนึ่งคือเขาต้องการเจาะกลุ่มผู้สูงอายุ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งทางในการกระจายฟอนต์ชราสู่ผู้สูงอายุได้มากขึ้น” ผิงเล่าถึงแนวทางอื่นๆ ที่ผู้สูงอายุอาจได้สัมผัสกับฟอนต์ไทยชราโดยที่ไม่จำเป็นต้องโหลดเอง

“ในส่วนของบุคคลทั่วไปก็มีคนสนใจเยอะอยู่ประมาณหนึ่งครับ บางคนเลือกฟอนต์นี้ไปใช้เป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาฟอนต์ด้วย” ไช้เล่าด้วยความภูมิใจก่อนเสริมต่อ

“ด้วยความที่สังคมเราก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว เราควรต้องเริ่มพิจารณาและให้ความสำคัญในรายละเอียดส่วนนี้ ฟอนต์ทั่วไปที่เราเห็นอาจเหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปก็จริงแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมการใช้งานสำหรับทุกเพศทุกวัย ในขณะที่สังคมเรากำลังมองหา universal design เราก็ต้องเติมเต็มในส่วนนี้”

เดิมทีฟอนต์ไทยชรามีแผนการพัฒนาเฉพาะตัวอักษรภาษาไทย ก่อนที่ทีม Fontcraft Studio ตัดสินใจอาสาทำฟอนต์ภาษาอังกฤษเพิ่มโดยยึดอัตราส่วนตัวอักษรแบบเดียวกัน 

“เราคุยกับทาง ดร.รัตนโชติว่า ถ้าเรามีแค่ภาษาไทยอย่างเดียวจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนสามารถนำไปใช้งานจริงได้ยากและอาจกลายเป็นอุปสรรคทำให้ฟอนต์ของเราเผยแพร่ไปได้ไม่ไกล” ผิงเล่าถึงความตั้งใจของเธอและไช้ ที่ต้องการให้ฟอนต์นี้ทำประโยชน์ให้บรรดาผู้สูงวัยได้อย่างสมบูรณ์

ถึงตอนนี้ ฟอนต์ไทยชราก็ผ่านด่านการวิจัย ออกแบบ และพัฒนามาจนเสร็จสมบูรณ์ และพร้อมให้ทุกคนได้โหลดไปใช้งานแล้ว ใครที่อยากลองพิสูจน์สรรพคุณของฟอนต์ไทยชราแบบชัดๆ กับตาตัวเอง กดตามลิงก์นี้ไปได้เลย

AUTHOR