ล้วงความลับจาก External HDD ของ ‘ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต’ นักตัดต่อในตำนาน

Highlights

  • ‘อาร์ม–ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต’ คือมือตัดต่อที่น่าจับตามอง เพราะคว้ารางวัลสุพรรณหงส์ สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม มาแล้วถึง 4 ครั้งในเวลาเพียง 6 ปี
  • เพราะ ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ’ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่เขาตัดต่อใกล้จะลงจอ และออริจินอลซีรีส์เรื่องแรกของไทยใน Netflix อย่าง 'เคว้ง' ก็เป็นผลงานของเขา ไม่รอช้า เราขอคว้าตัว External HDD คู่กายของเขามาพูดคุยกันถึงการทำงานในวันที่ชลสิทธิ์เติบโตขึ้นกว่าเก่าเลยแล้วกัน
 

อาร์ม–ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต คือมือตัดต่อรุ่นใหม่ที่ฝากผลงานลำดับภาพยนตร์ไว้หลายเรื่อง หลังภาพยนตร์เรื่อง Mary Is Happy, Mary Is Happy ของเต๋อนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ส่งให้เขาแจ้งเกิดในฐานะลำดับภาพยอดเยี่ยม รางวัลสุพรรณหงส์ ฝีมือของเขาก็พัฒนายิ่งขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ, แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว, พรจากฟ้า, ฉลาดเกมส์โกง และ Homestay คือรายชื่อภาพยนตร์ที่นักตัดต่อมือรางวัลคนนี้เข้าไปมีส่วนร่วม และแน่นอนว่าเขาคว้ารางวัลสุพรรณหงส์สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมกลับมาได้อีกถึง 3 ครั้ง

ในปีนี้นอกจากจะมีผลงานที่ใกล้ลงจออย่าง ‘ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ ’ ภาพยนตร์จากผู้กำกับคนสนิทอย่างนวพลแล้ว เขายังขึ้นแท่นเป็น series editor ในออริจินอลซีรีส์เรื่องแรกของไทยใน netflix อย่างเคว้ง ด้วย

แม้จะอยากพูดคุยกับเขาถึงเส้นทางการตัดต่อที่เติบโตขึ้นมากแค่ไหน แต่เห็นตารางงานที่แน่นเอี้ยดของเขาเราก็ต้องขอยอมแพ้ แล้วแอบไปนัดแนะกับ Extermal HDD คู่กายของเขาดีกว่า 

ไม่แน่สิ่งที่ External HDD เล่าวันนี้ อาจเป็นสิ่งที่อาร์มเองก็ไม่ทันสังเกตเห็นมาก่อนเหมือนกัน

แนะนำตัวและเล่าให้เราฟังหน่อยว่าคุณและชลสิทธิ์มาเจอและร่วมงานกันได้อย่างไร

ผมและชลสิทธิ์เพิ่งมาร่วมงานกันได้ไม่นานเองครับ เอาจริงๆ แล้วผมก็ยังไม่ค่อยสนิทกับเขาเท่าไหร่ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเรื่องที่ผมเล่าวันนี้คุณจะได้อะไรกลับไปหรือเปล่า (หัวเราะสุภาพ) ถ้าให้พูดตรงๆ คือผมมารับช่วงทำงานต่อจากลูกพี่ครับ เขาเป็น External HDD คู่ใจของชลสิทธิ์เลย ทำงานกับชลสิทธิ์มานานตั้งแต่สมัยเรียน หนังเรื่องไหนที่ว่าดังหรือสร้างชื่อให้ชลสิทธิ์เขาก็ช่วยมาหมด แต่เสียดายครับ ตอนทำหนังเรื่อง Homestay อาการแกไม่ค่อยจะดี เจ็บออดๆ แอดๆ อยู่ตลอด สุดท้ายแกเลยเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่น่ะครับ แต่ถึงผลวินิจฉัยจะบอกว่าแกเสียชีวิตแล้ว ชลสิทธิ์ก็ยังไม่ยอมแพ้นะครับ ส่งลูกพี่ไปรักษาตัวที่อเมริกาตั้งสองครั้งสองครา หวังกู้ชีวิตและข้อมูลของลูกพี่ได้ แต่สุดท้ายก็หมดหวังครับ เขาเลยตัดใจรับผมมาทำงานตั้งแต่ตอนนั้น

 

ดูเหมือน External HDD อย่างพวกคุณสำคัญกับชลสิทธิ์มาก

ครับ ผมคิดว่าเขาน่าจะเพิ่งรู้ตัวว่าพวกเราสำคัญก็ตอนเสียลูกพี่ไปแล้ว

ถ้าอย่างนั้นลองโอ้อวดหน่อยได้ไหมว่าคุณจำเป็นกับเขาแค่ไหน และคุณช่วยเหลือเขาอย่างไรบ้างในการทำงานแต่ละครั้ง 

โห ผมไม่กล้าโอ้อวดหรอกครับ แต่เท่าที่ร่วมงานกันมาผมคิดว่าถ้าขาดผมไปชลสิทธิ์ก็คงแย่เหมือนกันนะ (หัวเราะ) คือเขาเป็นนักตัดต่อที่จริงจังและสนใจเรื่อง visual & sound เวลาดูหนังเขาก็จะชอบสังเกตเสียงต่างๆ ในเรื่องว่าใช้เสียงแบบไหน แอมเบียนต์เป็นยังไง ใช้เพลงอะไร อย่างหนังของ เดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับที่เขาพูดถึงอยู่บ่อยๆ มีวิธีการทำหนังแบบคิดเรื่องเสียงเยอะ เขาชอบหนังแบบนั้น เวลาทำงานของตัวเองก็เลยชอบให้คัตติ้งกับซาวนด์มันเข้ากัน ทีนี้มันเลยส่งผลให้เขาชอบโหลดพวกสกอร์ โหลดเสียงซาวนด์เอฟเฟกต์มาฝากให้ผมดูแลอยู่บ่อยๆ เวลาทำงานเขาก็จะเสิร์ชหาเสียงจากผมไปใช้ เรียกได้ว่าเราตัวติดกันเลยครับ อยู่ข้างกันตลอด ถ้าวันไหนเขาลืมเอาผมไป งานตัดต่อก็ไม่มีเสียง

จะว่าไปตอนที่ลูกพี่เสียนี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลย เพราะในตัวลูกพี่นี่เต็มไปด้วยไฟล์เสียงคร่ำครึ ไฟล์เสียงหากินของชลสิทธิ์ทั้งนั้น เขาใช้จนชำนาญ จนเวลาใช้แต่ละครั้งแทบจะเป็นออโต้โหมดไปแล้ว ใช้บ่อยจนพี่ๆ ในวงการภาพยนตร์แซวเลยครับว่าเดี๋ยวต้องมีเสียงที่ใช้ประจำมาแน่นอน 

พอลูกพี่จากไป เหมือนเขาก็ต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วย ช่วงแรกๆ ผมได้ยินเขาบ่นกับตัวเองบ่อยๆ เลยว่า “ไม่เป็นไร นี่คือการรีเซตตัวเอง” (หัวเราะ) แต่สุดท้ายเขาก็ปล่อยวางเสียงพวกนั้นได้แหละครับ ซีรีส์เรื่อง เคว้ง เลยถือเป็นจุดรีเซตของเขา และเป็นเรื่องที่เดบิวต์ผมด้วยครับ

การตายของลูกพี่ทำให้เขาเลิกวางเสียงแบบออโต้มากขึ้น คิดมากขึ้นว่าจะเอาเสียงอะไรมาผสมกันได้บ้างเพื่อแอมเบียนต์ที่ดี รวมทั้งยังพยายามหาเสียงใหม่ๆ มาทดแทนเสียงเก่าที่จากไปพร้อมลูกพี่มากขึ้นด้วย

ล่าสุดเขาได้เป็น series editor ในซีรีส์เรื่อง เคว้ง ด้วยนี่นา การทำงานในตำแหน่งนั้นเขาต้องทำอะไรบ้าง 

การเป็น series editor มันเหมือนการกำกับคัตติ้งครับ คือมีหน้าที่ดูเรื่องการตัดต่อว่า episode editor ทำมากลมกล่อมหรือยัง ถ้าตัดต่อแบบนี้ ใช้เสียงหรือสกอร์นี้แล้วจะเวิร์กจริงๆ ใช่ไหม

 

แล้วคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อเพื่อนร่วมงานของคุณได้รับตำแหน่งนี้

ผมมองว่าเจ๋งอยู่นะครับ มันท้าทายอยู่เหมือนกันเพราะเขาก็ไม่เคยทำซีรีส์มาก่อนเลย เคว้งทำให้เขาค้นพบว่าการทำซีรีส์ยากมาก เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการตัดต่อเยอะมากด้วย เพราะซีรีส์มันทั้งกว้างด้วยนานด้วย มันเหมือนทำหนังยาว 5-6 ชั่วโมงเลย และการเป็น series editor ก็บังคับให้เขาต้องนั่งดูภาพรวมการตัดต่อ ดูดีเทลว่าอันไหนควรเล่าไม่ควรเล่า ตรงไหนสามารถตัดออกไปได้ หรือตรงไหนจะทำให้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้น การดูภาพรวมแบบนี้มันก็ช่วยเขาในการทำงานครั้งต่อๆ ไปอยู่เหมือนกัน

ชลสิทธิ์เคยบอกว่าการเรียนรู้ว่าจุดไหนคือจุดที่พอดีในการตัดต่อ บางทีมันยากกว่าการใช้โปรแกรมเยอะเลย และถึงจะเรียนรู้ยังไงพอไปตัดต่ออีกงานหนึ่งมันก็จะไม่เหมือนกัน ทำ เคว้ง เสร็จมาทำ ฮาวทูทิ้ง มันก็คนละแบบเลย บางวิธีใช้ด้วยกันไม่ได้ ก็ต้องคิดหาวิธีใหม่ในการตัดต่ออยู่ดีครับ

คือในทางทฤษฎีมันจะคล้ายๆ กัน ไม่ค่อยต่างกันหรอก สมมติตัดซีนคุยกันมันก็ออกมาประมาณนี้แหละ ก็ตัดให้มันสมูทที่สุด แต่หนังมันจะมีวิธีของมันครับ เช่น ฉลาดเกมส์โกง กับ Homestay ก็คนละอย่าง ถึงจะมีซีนทริลเลอร์เหมือนกัน แต่ตัดออกมาแล้วก็ไม่เหมือนกัน อย่างพี่โอ๋ (ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ–ผู้กำกับ Homestay) เขาเน้นกล้อง เน้นเฟรมการเลื่อนกล้อง แต่พี่บาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ–ผู้กำกับ ฉลาดเกมส์โกง) เขาเน้นคัตติ้ง คิดเป็นจังหวะ มันไม่เหมือนกัน อย่างมะลิลา มีซีนที่พระเดิน เขาก็คิดว่าไอเหี้ย จะตัดยังไงดีให้มันสนุก เลยลองทำแบบให้พระเดินๆ อยู่แล้วตัดฟึ่บให้เข้าไปเป็นช็อตพระยืนเลย มันก็ตกใจดี 

หนังเรื่องหนึ่งมันจะมีจังหวะเสียง จังหวะภาพ มีอะไรบางอย่างที่เป็นของมันอยู่ เราควรค้นพบอะไรที่เป็นของหนังเรื่องนั้นให้ได้ (ยิ้ม) 

ชลสิทธิ์มีวิธีการค้นพบทางของหนังแต่ละเรื่องอย่างไร

ไม่มีเทคนิคหรอกครับ เขาแค่อินกับมัน ช่วงที่ตัดต่อหนัง ไม่ว่าเขาคิดถึงอะไรอยู่มันก็จะเกี่ยวโยงกับหนังหมดเลย ฟังเพลง ฟังสกอร์ก็จะเฮ้ย อันนี้น่าเอาไปใช้ได้ เพลงนี้ดีเอาไปผสมในหนังได้ไหม เป็นเรื่อง into the work ด้วยแหละครับ จมและกระโดดไปกับงาน

 

ทั้งๆ ที่จำนวนฟุตเทจก็มหาศาล เขารู้ได้อย่างไรว่าควรตัดไปในแนวทางไหน 

ลองทำครับ ถ้าชลสิทธิ์ไม่ตัดเองก็จะให้ episode editor มาตัดก่อนแล้วเขาจะดูว่าแบบไหนเวิร์กกว่ากัน เอาจริงก็พูดยากนะ มันเหมือนว่าทำๆ ไปก็รู้เองมากกว่า จะเข้าใจวิธีการไปเอง งานแต่ละชิ้นจะมีทางของมัน ทำๆ ไปจะเข้าใจว่า อ๋อ ต้องเป็นแบบนี้ ต้องใช้วิธีนี้ อย่าง เคว้ง ก็จะตัดออกมาให้คล้ายๆ ว่าจะรู้เรื่องแต่ก็ไม่รู้เรื่อง มันต้องไม่คอมพลีตในสักซีน ต้องมีความ mysterious บางอย่างแฝงอยู่ อาจเพราะมันเป็นวิธีเล่าเรื่องแบบซีรีส์ด้วย เขาต้องตัดให้คนอยากดูต่อไปเรื่อยๆ ลุ้นว่าตัวละครจะพูดอะไร ซึ่งมันแตกต่างกับหนังที่จะคอมพลีตไปทีละซีน

ว่าแต่เขารู้สึกเคว้งคว้างตอนตัดบ้างหรือเปล่า

(หัวเราะ) เคว้งแค่วันแรกๆ เพราะไม่มีอะไรให้ทำครับ เราสองคนดันไปเริ่มงานในวันที่เขาถ่ายกันอยู่พอดี ฟุตเทจยังไม่มาเลยไปนั่งว่างๆ กัน แต่หลังๆ แม่งไม่มีเวลาให้คิดอะไรเลยเว้ยครับ ทำงานกันไม่ได้หยุดเลย แรกๆ เขาวางแผนไว้ว่าเข้าไปทำงานตอนบ่ายแล้วเลิกสามทุ่ม หลังๆ คือเข้าบ่ายแล้วเลิกตีห้า เพราะมีเรื่องให้ทำเยอะมาก แป๊บเดียวก็อ้าว จบวันแล้ว แต่งานยังไม่เสร็จเลย ไม่มีเวลามาเคว้งแล้วครับ ตอนนั้นคิดแค่ต้องทำให้เสร็จ 

 

ทั้งๆ ที่งานก็เดือดขนาดนี้ ลองคิดแทนหน่อยได้ไหมว่าเพราะอะไรเพื่อนร่วมงานของคุณถึงรักการตัดต่อขนาดนี้ อะไรคือความสนุกของมัน

ผมว่าคงเป็นเพราะการตัดต่อมันเหมือนเราสร้างหนังขึ้นใหม่ได้เรื่องหนึ่งเลยครับ เรายังไม่รู้ว่าหนังจะออกมาเป็นแบบไหนจนกระทั่งตัดเสร็จ ผมว่าความสนุกอยู่ตรงนั้น เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพอนำสิ่งต่างๆ มาประกอบกันแล้วมันจะออกมาเป็นอย่างนี้ๆ ได้ สนุกตรงเวลาทำให้หนังมันเวิร์กได้นี่แหละ การได้คิดเทคนิคดีเทลในเรื่อง ตรงนี้ต้องมีเพลง ตรงนี้ต้องเงียบ ตรงนี้ต้องตัดทิ้งไปเลย พอพิชิตได้มันก็สนุก

มันเป็นทั้งงานที่แก้ไขปัญหา และก็เป็นทั้งงานครีเอทีฟด้วย ทีมอาจคิดมาว่าซีนนี้ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถ่ายมาแล้วผู้กำกับอาจจะบอกว่ามันไม่ได้อย่างที่คิดว่ะ เขาก็ต้องแก้ให้มันได้ ถ้าแก้ได้มันก็สนุก หรือทีมอาจถ่ายมาดีแล้ว และเขาทำให้มันเวิร์กขึ้นได้อีก มันก็สนุกเหมือนกัน

 

แล้วเขาเคยคิดอยากเบนสายไปทำอย่างอื่นในสายงานภาพยนตร์แบบจริงๆ จังๆ บ้างหรือเปล่า

ไม่ถึงกับเบนสายหรอกครับ แต่ผมว่าเขาก็น่าจะอยากลองเขียน อยากทำหนังของตัวเองอยู่เหมือนกัน เห็นพูดมาหลายปีแล้วน่ะครับ แต่คงติดปัญหาที่ว่าพอคิดเรื่องไปเรื่อยๆ แล้วมันยังไม่ค่อยคลิก และอาจจะเพราะเขายุ่งอยู่ด้วยครับ (หัวเราะ) 

 

หรือเพราะเขามองว่าจะทำหนังทั้งทีก็ต้องทำชิ้นมาสเตอร์พีซออกมาเลย 

ไม่น่าจะคิดแบบนั้นนะครับ (ยิ้ม) ความคิดนั้นเขาคิดแค่ตอนครั้งแรกที่ได้ทำหนังเลยครับ ตั้งแต่สมัยเรียน อันนี้แค่เหมือนคิดแล้วยังไม่เสร็จ เหมือนเล่าให้ตัวเองฟังแล้วตัวเองยังไม่ชอบเลย ทำออกมาแล้วใครจะชอบ คงต้องรอจนกว่าเขาจะเจอสิ่งที่คิดแล้วชอบก่อน  

มีเรื่องหนึ่งที่เราสงสัยมานาน เขาทำหนังมาตั้งหลายเรื่อง แถมยังเปลี่ยนแนวไปเรื่อยๆ ด้วย คุณรู้หรือเปล่าว่าการรับงานแต่ละชิ้น ชลสิทธิ์คิดและตัดสินใจจากอะไร

เขาจะถามก่อนว่าใครกำกับ คือไม่ได้ซีเรียสอะไรนะครับ แต่ถ้าเป็นคนที่รู้จักกันอยู่แล้วก็จะรับง่ายขึ้น เพราะก็สนิทกัน ทำงานด้วยกันได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เขาจะดูที่เนื้อหา ขอให้เล่าเรื่องให้ฟังว่าหนังเกี่ยวกับอะไร ที่ต้องเป็นแบบนี้เพราะเขาเคยรับโดยที่ไม่คิดอะไรแล้วเจอคนที่ไม่ค่อยคลิก เวลาทำงานด้วยมันก็ทรมานใจทั้งเขาและเรา เพราะเราไม่เข้ากัน แต่ก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้น้อยนะครับ เขาน่าจะเข้ากับคนง่ายด้วยมั้ง 

 

เอกลักษณ์ในการตัดต่อของชลสิทธิ์คืออะไร เขาถนัดแนวไหนมากกว่ากัน

ไม่รู้เลย คิดว่าไม่มี (หัวเราะเสียงดัง) มันแล้วแต่ช่วงด้วยครับ อย่างช่วงนี้เขาตัดแนวทริลเลอร์ ดาร์กๆ ดราม่า ติดกันหลายเรื่องมาก ทั้ง ฉลาดเกมส์โกง, Homestay, เคว้ง แต่จริงๆ เขาก็ทำได้หมดนะ ทำให้ได้หลายๆ แบบมันก็ดีกว่า อย่างโฆษณา KBank ที่ทำกับพี่เต๋อก็เป็นแนวตลก และอีกเหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะโปรดิวเซอร์อย่างพี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์), พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) คงเห็นว่าเขาทำแนวจริงจังแล้วเวิร์กกว่าก็เป็นไปได้ครับ

 

แล้วในกระบวนการทำงานในแต่ละครั้งชลสิทธิ์เริ่มต้นยังไง

ก็ให้ผู้กำกับเล่าเนื้อเรื่องให้ฟังนี่แหละครับ ไม่ได้เลือกงานนะครับ แต่แค่อยากรู้ จะได้เตรียมตัวว่าต้องทำอะไรบ้าง และการถามว่าใครเป็นผู้กำกับส่วนหนึ่งก็เพราะจะได้รู้ด้วยว่าเขาจะต้องทำงานกับใคร จะได้หาข้อมูลว่าเขาเคยทำหนังแนวไหน ทำเรื่องอะไรมาบ้าง 

ถ้ารับงานมาแล้วก็พยายามหาเวลามานั่งคุยกันกับผู้กำกับถึงหนังเรื่องนั้น ว่าอยากได้มู้ดแบบไหน คิดหรือต้องการอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า อย่างพี่บาสเขามีมู้ดที่เขาอยากได้เลย จะส่งเพลงมาให้ฟัง คิดว่าฉากนี้น่าจะเป็นแบบนี้ แต่อย่างพี่โอ๋เขาก็จะไม่ได้คิดมู้ดไว้มากเท่าไหร่ เขาทำหนังจากคอนเทนต์มากกว่า ก็จะเล่าให้ฟังว่าฉากนี้คิดมายังไง ทำไมถึงเป็นอันนี้ อย่างตอนทำ ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง หนังเกี่ยวกับสืบ นาคะเสถียร เขาก็มีแฟ้มมาเปิดให้ชลสิทธิ์ดูเลยครับ 

ซึ่งทั้งสองแบบก็เหมือนกันตรงที่ยังไงชลสิทธิ์เขาก็ยังเสนอไอเดียของตัวเองได้เสมอนะครับ ผู้กำกับส่วนใหญ่เขาก็โอเพ่นแหละ ไม่ได้ล็อกไว้ หรือเคร่งว่าต้องตัดต่อให้ออกมาแบบไหนมากขนาดนั้น ถ้าอันไหนทำแล้วมันดีกว่าเขาก็เอา แต่ก็ต้องลองให้ดูก่อน หลังๆ ชลสิทธิ์เลยไม่ค่อยพูดแล้ว ทำให้เห็นเลยดีกว่า (หัวเราะ)

 

แล้วการเป็นนักตัดต่อมือรางวัลทำให้เพื่อนร่วมงานของคุณกดดันในการทำงานหนังเรื่องต่อๆ ไปหรือเปล่า เขาข้ามผ่านความกดดันนั้นได้ยังไง

กดดันแค่แรกๆ แหละ หลังๆ ไม่ค่อยกดดันแล้วครับ พอได้รางวัลมาเยอะๆ เขาจะชอบคิดหาวิธีเล่าให้มันออกมาดี ออกมาใหม่ แต่เหมือนมันพยายามเกินไปจนฝืนอะครับ (หัวเราะ) 

จริงๆ แล้วไม่มีใครทำดราฟต์แรกแล้วออกมาดีเลยหรอกครับ ไม่มีเลยบนโลกนี้ ดราฟต์แรกเป็นเหมือนหายนะ เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามันจะดีหรือไม่ดี เพราะก็ยังไม่เคยเห็นภาพรวมของหนังมาก่อน แต่เขาก็จะพยายามอยู่อย่างนั้น ขอเวลาเพื่อให้งานออกมาเนี้ยบที่สุด ซึ่งที่จริงคือแค่ต้องทำให้เสร็จก่อนอะครับ หลังจากนั้นค่อยมานั่งคิดด้วยกันกับทีมก็ได้ หลังๆ พอรู้แบบนี้เขาก็เริ่มกดดันน้อยลง 

 

เอาจริงๆ ตอนเริ่มอาชีพนี้เขาเคยคิดไว้หรือเปล่าว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้

ไม่ได้คิดเลยครับ คือเขารู้นะว่าถนัดตัดต่อ แต่ไม่ได้ตั้งใจเป็นนักตัดต่ออาชีพ มีบริษัทตัดต่อเป็นของตัวเองอะไรแบบนั้น ก็อยากทำหนังแหละครับ คิดแค่ว่าอยากทำหนัง แต่หนังอะไรก็ได้เลยนะ ถ้าไม่ใช่หนังของตัวเองเป็นหนังคนอื่นก็ได้ คือเวลาทำงานเขาจะมีความ involve เยอะ ชอบไปเกี่ยวข้อง ไปนั่งคุยกับพี่ๆ ที่ทำงาน ไปดูทุกขั้นตอน ดูเสียง ดูคนอื่นเขาทำงาน เหมือนเขาอยากทำงานกับคน อยากคิดกับงานเยอะๆ มันสนุกอะครับ เพลิน แต่ไม่ได้คิดนะว่าจะต้องได้รางวัล ต้องไปตัดหนังจีดีเอช เขาไม่ได้คิดเลย การงานที่เข้ามามันเป็นเพราะพอได้ตัดหนึ่งเรื่อง งานก็เข้ามาเรื่อยๆ มากกว่า

และผมว่าทุกคนที่เขาทำงานด้วยเขาไม่ได้คิดถึงอะไรแบบนี้เลยเหมือนกัน พี่วรรณ พี่เก้ง พี่บาส พี่โอ๋ เขาก็แค่คิดให้หนังมันดีอย่างเดียว ชลสิทธิ์ก็เป็นคนอย่างนั้น เขาลงมือทำด้วยความคิดแค่ว่าอยากให้หนังมันเวิร์ก คิดถึงปัจจุบัน มีอะไรให้ทำก็คิดตรงนั้นไปเลย

ในการตัดต่อ ดูเหมือนว่าเขาต้องเปิดรับและยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น ส่วนตัวแล้วเขาเป็นคนแบบนั้นอยู่แล้วไหม

(นิ่งคิด) ก็รับนะ แรกๆ ก็มีแหละครับ ความคิดว่าจะได้เหรอวะ ฟังคอมเมนต์มา เขาก็แอบคิดว่ามันไม่เวิร์กหรอก แต่พอลองแล้วก็พบว่า เออ มันก็ดีเหมือนกันนี่หว่า ก็ลองทำดูก่อน แต่งานแบบนี้มันก็ไม่ใช่ว่าเขาจะมาแก้งานหรือออกความเห็นใส่ชลสิทธิ์ได้แค่ฝ่ายเดียวนะครับ ชลสิทธิ์ก็ออกความคิดได้เหมือนกัน มันเหมือนมาคุยกัน ช่วยกันทำให้ออกมาดีที่สุดมากกว่า มันเป็นงานหลายๆ คน เป็นงานกลุ่มอะครับ ถ้าชลสิทธิ์ทำคนเดียวก็ไม่เวิร์กทั้งหมดหรอก มันยากมากที่จะทำคนเดียวแล้วเวิร์กทั้งหมด เพราะคนหนึ่งคนมันก็เห็นบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน บางทีผู้กำกับก็ไม่เห็นอันนี้ แต่ชลสิทธิ์เห็น มันคือการช่วยกันอย่างที่บอกแหละครับ

 

จากการเฝ้ามองชลสิทธิ์ในเส้นทางการตัดต่อ คุณคิดว่าเขาเปลี่ยนไปมากแค่ไหนในการทำหนังแต่ละครั้ง

อย่างที่บอกว่าผมเพิ่งมาทำงานกับเขาได้ไม่นาน แต่จากที่ทำเรื่อง เคว้ง ด้วยกันก็พอสังเกตได้ว่าเขาโตขึ้นนะครับ (น้ำเสียงภูมิใจ) กระบวนการระหว่างทำงานทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เยอะเลย อาจเพราะรูปแบบการทำงานมันใหญ่ขึ้นมากด้วย เขาเป็นคนดูทีม editor มีพี่จิม (โสภณ ศักดาพิศิษฏ์) มาดูแลเขาอีกที มีโปรดิวเซอร์ฝั่งไทย โปรดิวเซอร์ฝั่งครีเอเตอร์ โปรดิวเซอร์ฝั่ง netflix มันมีแฟกเตอร์จากหลายฝั่งจนบางเรื่องมันก็นอกเหนือจากสิ่งที่เขาคิดไปมาก เขาอาจคิดถึงแค่ซีรีส์ แต่บางคนคิดไปมากกว่านั้น เช่น มีบาง element ที่ต้องตัดออกเพราะมันเซนซิทีฟกับคนบางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในไทย ตอนนั้นเขาก็คิดว่า ‘เหรอวะ’ แต่สุดท้ายก็คิดว่าอาจจะจริงก็ได้ 

หลังๆ ตอนทำงานมันเลยเป็นแนวดูๆ กันก่อนก็ได้ ไม่แน่ใจแต่ก็ลองดูก่อน ถ้าลองแล้วไม่เวิร์กจริงๆ ก็ค่อยเอาออก ลองดู ทำให้รู้เลยดีกว่า เพราะถ้ามันไม่เวิร์กเราและเขาก็จะเห็นไปด้วยกัน กลัวเสียดายด้วย เพราะทางที่ไม่ได้ลองมันอาจจะเวิร์กก็ได้ เพราะงั้นก็ลองไปเหอะ ทำแค่สิบนาที แต่อาจจะดีไปสิบปี ก็ลองดูก่อน อย่างแรกๆ เขาไม่ค่อยกล้าลอง เพราะกลัวเสียของเก่าที่ทำไป แต่ตอนนี้เขากลับคิดว่าเออ ลองดูดีกว่าว่ะ สุดท้ายแล้วแบบไหนเราก็ทำเหมือนกัน มันคือสิ่งที่เราทำอยู่ดี

 

เขารู้สึกยังไงที่บางทีการเป็นนักตัดต่อก็ไม่ได้รับการจดจำขนาดนั้น เป็นคนเบื้องหลัง เพราะถ้าหนังสนุกส่วนมากคนดูก็จะชมฝ่ายอื่น ไม่ได้คิดถึงนักตัดต่อ 

ก็ภูมิใจอยู่ดีนะครับ ยังไงมันก็เป็นงานเรา เราเป็นส่วนหนึ่งในงานนั้น ผมว่าทุกคนรู้สึกเหมือนกันหมดเวลาหนังมันออกมา ตากล้องก็ภูมิใจ เพราะภาพเขาอยู่ในหนังทั้งเรื่อง ชลสิทธิ์ก็เป็นเหมือนกัน เขาก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังแต่ละเรื่อง 

ทุกวันนี้เขามีเป้าหมายอย่างไรในชีวิตและเส้นทางนักตัดต่อนี้

ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีงานอินเตอร์เข้ามาเรื่อยๆ นะ แต่ถ้าอนาคตมีมาอีกเขาก็ไปทำได้ เขาไม่ได้ปิดตัวเองครับ ถ้ามีให้ทำก็ดี ถ้าไม่มีให้ทำก็ไม่เป็นไร 

จริงๆ ทำงานในไทยมันเซฟกว่าในแง่ที่คุยกันรู้เรื่อง วัฒนธรรมเหมือนกัน คุยเรื่องเดียวกัน และก็สนิทกัน ยังไงมันก็แฮปปี้อยู่แล้ว อย่างตอนทำ เคว้ง นี่ชลสิทธิ์ก็มีความเสียวๆ นิดหนึ่งนะ เพราะมันไม่ใช่เซฟโซนของเขาน่ะ มันเป็นการทำงานที่ใหม่หมดเลย ไม่รู้เลยว่าอะไรคืออะไร ต้องมานั่งเป็น series editor คืออะไรวะ นั่งโซฟาดูคัตติ้งคนอื่นคืออะไร ไม่เคยทำ ก็เหมือนไปทำให้รู้ เพราะไม่มีอะไรจะเสียแล้ว (หัวเราะ) มันก็สนุกดี พอทำ เคว้ง เสร็จเขาก็พูดว่า “เออ กูทำอะไรก็ได้แล้วล่ะ” มันเป็นแบบนั้นแหละครับ เดี๋ยวมันก็มีทางไปของมันเอง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด