สนทนาหน้าเลนส์กับกล้องที่เคียงบ่าเคียงไหล่ช่างภาพ ‘Addcandid’ มือแชะภาพทีเผลอ

Highlights

  • แอ๊ด–พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ 'Add Candid' คือช่างภาพผู้มีชื่อในการถ่ายภาพแคนดิดหรือภาพถ่ายทีเผลอ เขาเคยเป็นทั้งช่างภาพอิสระ ช่างภาพประจำตัวอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการภาพให้หลายสำนักข่าว และจัดนิทรรศการเดี่ยวมาแล้วหลายครั้ง
  • เร็วๆ นี้ แอ๊ดกำลังจะมีหนังสือใหม่กับสำนักพิมพ์ a book เราจึงชวนกล้อง Leica M-System กล้องประจำตัวของเขา มาคุยกันเรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานและมุมมองของแอ๊ดกันสักตั้ง

อาจแปลกสักหน่อยที่วันนี้เราไม่ได้พาคุณไปคุยกับคน แต่ขอพาไปพูดคุยกับกล้องถ่ายรูปมาดเข้มสีดำขลับอย่างเจ้า Leica M-System กล้องคู่ใจของช่างภาพแคนดิดสายตาเหยี่ยวอย่าง แอ๊ด–พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือที่รู้จักกันในแวดวงช่างภาพว่า Addcandid

แอ๊ดคือช่างภาพมืออาชีพที่ผ่านสนามด้านการถ่ายภาพมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพอิสระ ช่างภาพประจำตัวอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาเคยรับตำแหน่งบรรณาธิการภาพให้หลายสำนักข่าว ทั้งยังมีชื่อเรื่องการถ่ายภาพแคนดิดหรือการถ่ายภาพทีเผลอ ที่ผ่านมาแอ๊ดเคยจัดนิทรรศการภาพถ่ายของตัวเองมาหลายครั้ง ส่วนปัจจุบันเขาเป็นหนึ่งในห้าช่างภาพไทยที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์กล้อง Leica ในตำนาน

ก่อนจะไปสนทนาหน้าเลนส์กับกล้องของแอ๊ดหรือที่เราแอบตั้งชื่อให้ว่า ‘หนุ่มเข้ม’ กล้องตัวเก่งแอบกระซิบให้ฟังว่าแอ๊ดกำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่กับสำนักพิมพ์ a book ชื่อ A(dd)-perture บทบันทึกเบื้องลึกเบื้องหลังความคิดของเขาก่อนลั่นชัตเตอร์

ในฐานะที่เป็นดวงตาที่สามของแอ๊ดมาเนิ่นนาน เราเชื่อว่ากล้องถ่ายรูปตัวนี้คงรู้จักตากล้องหนุ่มดีกว่าใคร และวันนี้เขาก็ยินดีเล่าเรื่องราวการทำงานร่วมกับแอ๊ด พร้อมบรรยากาศหลังเลนส์ที่สะท้อนทัศนคติและวิธีคิดในการถ่ายภาพ

ขอเตือนคุณไว้ก่อนว่า ระหว่างอ่านบทสัมภาษณ์นี้อย่าได้เผลอเชียวนะ เพราะเจ้าหนุ่มเข้มอาจจะกดชัตเตอร์แชะภาพเผลอๆ ของคุณเมื่อไหร่ก็ได้ 

แต่ถ้าคุณยินดีให้หนุ่มเข้มลั่นชัตเตอร์ภาพทีเผลอเพื่อเก็บความทรงจำไว้ในกล้อง ก็เชิญอ่านบทสัมภาษณ์นี้แบบเผลอๆ เพลินๆ ได้เลย

 

ช่วยแนะนำตัวหน่อยว่าคุณกับคู่หูพบเจอกันได้ยังไง

แอ๊ดเริ่มถ่ายรูปครั้งแรกตอนยังเป็นเด็กชายตัวกะเปี๊ยกอยู่ชั้นประถม กล้องคู่ใจของเขายังเป็นน้องดำตัวน้อยที่กอดคอคล้องไหล่กันไปทุกที่จนเรียนจบมหาวิทยาลัยและเข้าวัยทำงาน พวกเขาเริ่มทำงานที่แรกด้วยกันตั้งแต่ยุคฟิล์มสไลด์จนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ตอนนั้นเองที่ผมเข้ามาทำงานกับเขา เพราะความเข้ามือและเข้าใจความคิดของแอ๊ดมากกว่ากล้องตัวเก่า

 

ในฐานะที่คู่หูของคุณเป็นนักเรียนสถาปัตย์มาก่อน เขามักจะหยิบคุณขึ้นมาบันทึกภาพสถานที่แบบไหนเป็นพิเศษ

แน่นอน เขามักจะหยิบจับผมขึ้นมาบันทึกเหตุการณ์และสิ่งรอบตัว นอกจากภาพผู้คนแล้ว เขามักจะบันทึกภาพความเป็นไปของบ้านเมือง ตึกรามบ้านช่อง อาคารต่างๆ ในมุมที่แปลกออกไป เหมือนที่เขาพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ‘แอ๊ดถ่ายภาพในมุมของคนจบสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เป็นสถาปนิก’

 

หลายต่อหลายครั้ง คู่หูคุณมักจะบอกว่าเขาไม่ได้เป็นคนเลือกสถานที่ถ่ายรูป แต่สถานที่ก็เลือกเขาด้วย ทำไมคู่หูคุณถึงคิดแบบนั้น

ผมว่าเขาอาจจะเบลอเพราะนอนน้อยตั้งแต่เรียนคณะสถาปัตย์มั้งครับ (หัวเราะ) ล้อเล่นนะครับ เขามองว่าการถ่ายภาพคือโชคอย่างหนึ่ง เพราะสถานที่ที่เราได้ไปนั้นคงอยู่กับที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่บรรยากาศรอบๆ สถานที่เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ภาพที่ถ่ายวันนี้ก็คือภาพของวันนี้ ภาพที่ถ่ายพรุ่งนี้ แม้จะเกิดขึ้นในสถานที่เดียวกันก็ไม่มีทางเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วแม้แต่สถานที่เองก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา นี่แหละคือเสน่ห์ของภาพถ่ายที่คู่หูผมคิด

 

คู่หูของคุณมักจะบอกเสมอว่ากล้องถ่ายรูปคือเครื่องบันทึกภาพเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่ภาพนิ่ง คุณเห็นด้วยกับเขาไหม

ใช่แล้ว ผมช่วยแอ๊ดบันทึกภาพเคลื่อนไหวผ่านความทรงจำของเราทั้งคู่ และเราหยุดดูเหตุการณ์นั้นพร้อมกันผ่านภาพนิ่งที่เขาเลือกกดชัตเตอร์ 

 

ในฐานะที่คุณเป็นเหมือนดวงตาที่สามของแอ๊ด มวลบรรยากาศภาพแบบไหนที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ

แอ๊ดเคยบอกว่าแสงในแต่ละประเทศมีองศาไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของแต่ละประเทศที่ทำให้แอ๊ดหลงรักแสงแดด

 

ความสนุกของการแอบแชะภาพทีเผลอหรือภาพแคนดิดคืออะไร ทำไมคู่หูของคุณถึงได้ติดใจนัก

ความสวยงามและความเป็นธรรมชาติของตัวแบบ ในฐานะกล่องดำบันทึกภาพ ผมรู้สึกว่าเรากำลังบันทึกประวัติศาสตร์เล็กๆ เลยนะ ทั้งแบบที่ถูกถ่ายและท่าทางการกระทำของเขา ณ เวลานั้น มันเป็นสิ่งที่ย้อนกลับไปทำไม่ได้ นั่นคือเสน่ห์ที่พวกเราหลงใหล

 

 

คุณปกป้องคู่หูยังไงบ้าง เวลามีคนไม่ยอมให้ถ่ายหรือไม่พอใจที่โดนแอบถ่าย

มองหน้าและให้กำลังใจมัน รู้ว่ามันเอาตัวรอดได้ แต่ถ้าเอาเข้าจริง ก็วิ่งดิครับ!

 

เสี่ยงขนาดนี้ทำไมยังยอมไปไหนมาไหนกับแอ๊ดตลอด

เพราะมันไม่เคยบอกผมก่อนเลยว่าวันนี้จะพาไปไหน (หัวเราะ)

 

ถามในฐานะกล้องถ่ายรูป ทำไมคุณถึงชอบแอบถ่ายคนทีเผลอกันนะ 

เราชอบดึงคาแร็กเตอร์ของคนที่เราถ่ายออกมา ถึงแม้มันจะเป็นการถ่ายแบบแคนดิด แต่เรารู้สึกว่าภาพมันมีชีวิต และถึงแม้มันจะเป็นภาพนิ่งแต่เราสามารถรับรู้เรื่องราว อารมณ์ ของคนในภาพได้

 

ในฐานะที่ซี้กันมานาน คุณคิดว่าลายเซ็นในภาพถ่ายของคู่หูคุณคืออะไร

ถ้าจะให้ผมเปรียบ ผมว่าลายเซ็นในภาพถ่ายของแอ๊ดก็คล้ายๆ กับลายเซ็นที่แอ๊ดเซ็นในเอกสารราชการจริงๆ คือยาว มีครบทุกตัวสะกดในชื่อ-นามสกุล ไม่ได้ลดทอนหรือเพิ่มเติมอะไรให้ดูซับซ้อน ก็เหมือนรูปถ่ายของเขาที่พยายามบอกถึงตัวตน สิ่งที่เขาชอบ

 

 

ที่ผ่านมา แอ๊ดทำงานมาหลายแบบ ทั้งเป็นช่างภาพอิสระ เป็นบรรณาธิการภาพให้สำนักข่าว หรือแม้กระทั่งทำงานกับนักการเมือง สำหรับคุณ คุณคิดว่าเขาเป็นช่างภาพประเภทไหน

แอ๊ดเป็นช่างภาพประเภทที่เก็บประวัติศาสตร์ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่รู้หรอกว่าจะเรียกภาพของตัวเองว่าเป็นแบบไหน เพราะเขาถ่ายภาพทั้งชีวิตผู้คน เมือง รอยยิ้ม ความสุข ความเศร้าของผู้คนมากมาย ที่สำคัญคือเขาสามารถเล่าให้ทุกคนฟังถึงเหตุการณ์ในภาพถ่ายของตัวเองได้ไม่รู้จบ

 

พูดมาขนาดนี้ ถ้างั้นช่วยเล่า ‘ภาพจำ’ ที่สุดแสนจะประทับใจระหว่างคุณทั้งสองให้เราฟังหน่อย

ตอนนั้นแอ๊ดมันรอจังหวะถ่ายภาพขณะที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หันหน้ามาคุยกับคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ขณะเดินทางไปประชุม G-20 ในความทรงจำ ภาพนั้นมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอบอวลอยู่ในภาพ 

หลายๆ ครั้ง แอ๊ดเลือกจะจำภาพนั้นด้วยดวงตา สมอง และหัวใจ มากกว่าจะกดชัตเตอร์ มันแอบมาบอกทีหลังว่าโฟกัสไม่ทัน (แหม เกือบจะหล่อแล้วเชียว)

 

คุณกับคู่หูเพิ่งมีนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยว ‘Sense of Place’ ตอนต้นปีด้วยกัน ความสนุกของการทำงานในครั้งนั้นคืออะไร

ความสนุกคือเรื่องราวระหว่างการเดินทาง เพราะมันไม่เคยบอกผมล่วงหน้าเลยว่ามันจะไปไหนบ้าง ผมรู้แค่ว่าแอ๊ดจะบรรจงจัดกระเป๋ากล้อง ซึ่งเกือบทุกครั้งจะเปลี่ยนกระเป๋ากล้องก่อนออกจากบ้านอีกรอบ โดยการจัดกระเป๋าให้ผมแต่ละรอบนั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เมืองที่จะไป ลักษณะการเดินทาง และความปลอดภัย แอ๊ดจะคิดเยอะมากว่าในแต่ละเมือง แต่ละงานที่จะไป ผมเหมาะกับเลนส์ช่วงไหน เรื่องนี้เขาจะนั่งเลือกและตัดสินใจจนนาทีสุดท้ายก่อนออกจากบ้านแทบทุกครั้ง

ความสนุกคือเราทั้งคู่เดินทางขึ้นเขาลงห้วย ข้ามทวีป นั่งเรือเป็นวัน บางเมืองโจรเยอะ ผมก็นอนค้างในเป้บ้าง บางเมืองปลอดภัย มันก็ใช้ผมซะจนตัวดำ อ้อ ลืมไปผมหล่อดำคมเข้มอยู่แล้ว 

 

 

ได้ข่าวว่าเร็วๆ นี้คู่หูของคุณกำลังจะออกหนังสือกับ a book ในฐานะที่คุณคือกล้องคู่ใจ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าคอนเซปต์หนังสือเกี่ยวกับอะไร และเราจะได้เห็นอะไรบ้าง

หนังสือชื่อ A(dd)perture เป็นเรื่องราวการเดินทางถ่ายภาพของผมกับแอ๊ดในช่วงเวลาหลายปี มีเหตุการณ์ตื่นเต้นที่ต้องแก้ไขเฉพาะหน้ากันไป เบื้องหลังสิ่งที่แอ๊ดคิดก่อนกดชัตเตอร์

 

คุณและคู่หูช่วยกันเล่าเรื่องผ่านภาพเพื่อตีพิมพ์ลงหนังสือ เราอยากรู้ว่ามีวิธีการทำงานกันยังไง คัดเลือกรูปจากอะไร

เราทั้งคู่เลือกรูปจากเหตุการณ์และเรื่องราวที่เราประทับใจจากการเดินทางถ่ายภาพในช่วงเวลาหลายปี

 

ตื่นเต้นไหมที่รูปจากกล้องอย่างคุณจะได้ตีพิมพ์ในหนังสือ ความรู้สึกมันต่างจากการได้จัดนิทรรศการไหม

ตื่นเต้นและรู้สึกดีมากที่ได้ร่วมงานกับ a book สำนักพิมพ์ที่แอ๊ดติดตามผลงานมานาน การตีพิมพ์หนังสือกับ a book นั้นต่างจากการทำนิทรรศการอยู่มากนะ เพราะเรื่องราวในหนังสือคือการเล่าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการถ่ายภาพก่อนจะมาเป็นภาพที่แสดงในนิทรรศการ

 

ในฐานะเพื่อนซี้ปึ้กที่คล้องคอไปไหนมาไหนกับแอ๊ดทุกที่ การถ่ายภาพเติมเต็มคุณสองคนยังไงบ้าง

ในฐานะกล่องดำบันทึกภาพที่เป็นเสมือนอวัยวะที่ 33 ของแอ๊ดนั้น ผมมีความสุขที่ได้เก็บภาพ ณ ชั่วขณะหนึ่งของชีวิตผู้คน ความเป็นไปของเมือง เมื่อวันเวลาผ่านไป เราได้ย้อนกลับไปดูภาพถ่ายเก่าๆ เราจะพบว่าบุคคลในภาพ สภาพเมือง บรรยากาศต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปหมด แต่ความทรงจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยังชัดเจนเสมอ เพราะแม้เราจะย้อนเวลาไม่ได้ แต่เราบันทึกช่วงเวลาได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!