เปิดเรื่องราวบิ๊กเซอร์ไพรส์จาก a day 16 เล่ม โดย a team junior 16 รุ่น

เพราะความเข้มข้นของการฝึกงานคือการได้ลงมือทำจริง นอกจากการได้ฝึกทำคอนเทนต์ออนไลน์และเล่มนิตยสารกับพี่ๆ ชาว a team แล้ว ทุกปีน้องๆ ในโครงการฝึกงาน a team junior จะได้ลงสนามทำนิตยสารตัวเอง 1 เล่มด้วย

ตั้งแต่ขั้นตอนคิดประเด็น เสนอไอเดีย สัมภาษณ์ ขุดคุ้ยหาข้อมูล ถ่ายภาพ ไปถึงสร้างสรรค์วิดีโอโปรโมต อาจบอกได้ว่าระหว่างการทำงาน ‘อะไรที่ไม่เคยเห็น จะได้เห็น’ มักเกิดขึ้นกับชาว a team junior ตลอด อย่างเช่นเรื่องราวเบื้องหลังที่เกิดขึ้นในช่วงการทำ a day ทั้ง 16 เล่มจากชาว a team junior 16 รุ่นต่อไปนี้

ใครสนใจทำงานสายคอนเทนต์ และอยากฝึกฝนความเก่งมาก กล้ามาก เราเปิดโอกาสให้เหล่านิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป อายุตั้งแต่ 18-28 ปี มาฝึกฝนทักษะการเล่าเรื่อง ร่วมสัมผัสประสบการณ์สุดเข้มข้นตลอดระยะเวลา 3 เดือนกันเลย 

สมัครร่วมโครงการ a team junior 17 ได้ตั้งแต่วันนี้ – 4 มกราคม 2563 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ adaymagazine.com/apply-a-team-junior-17 

 


a day ปีที่ 4 ฉบับที่ 45 เดือนพฤษภาคม 2547
ภาพปก : โตแล้วไปไหน
ออกแบบ : ทรงพล จั่นลา

1. หลังจากอุดม แต้พานิช เคยส่ง a dom เข้ายึด a day ไปเมื่อเล่ม 34 นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ a team ไม่ได้ทำ a day อีกครั้ง เพราะต้องปล่อยสนามนี้ใน a team junior 1 ลงฟาดแข้งแทน

2. FYI: เมื่อก่อน a team junior คือโครงการที่นิตยสาร a day เปิดโอกาสให้นิสิต-นักศึกษาไม่จำกัดสถาบันและชั้นปี สมัครเข้ามาเพื่อคัดเลือก 16 ชีวิตสุดท้ายมาเรียนรู้วิธีการผลิตนิตยสารทุกขั้น ทุกตอน ทุกตำแหน่งช่วงซัมเมอร์ และปล่อยให้ทำ a day ฉบับเต็มแบบขายจริง 1 เล่มถ้วน! (แต่ตอนนี้ไม่จำกัดอายุและไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นนักศึกษาเท่านั้นแล้วนะ)

3. จากใบสมัครจำนวนหลักพัน คัดกันแบบข้นเคี่ยวจนได้บรรณาธิการ 1 ตำแหน่ง ผู้ช่วยบรรณาธิการ 1 ตำแหน่ง กองบรรณาธิการ 7 ตำแหน่ง อาร์ตไดเรกเตอร์ 2 ตำแหน่ง ช่างภาพ 2 ตำแหน่ง พิสูจน์อักษร 2 ตำแหน่ง และฝ่ายผลิต 1 ตำแหน่ง มา 1 ทีม

4. ทำเอาคนล้นออฟฟิศจนไม่รู้จะล้นยังไงแล้ว!

5. ใครผ่านไปผ่านมาออฟฟิศ a day ช่วงนั้น จะเห็นเหล่าจูเนียร์ปูเสื่อล้อมวงประชุมอยู่ลานดาดฟ้าแทน

6. งานวัด, หุ่นยนต์, แม่บ้าน, D.I.Y, นักรักในสิ่ง, สนามเด็กเล่น, เด็กออทิสติกส์, minimize, คู่, มือสอง, ผี, ความเชื่อแปลกๆ, นักรบ, สี และอีกมาก คือธีมเมนคอร์สที่ทีมนี้นำเสนอ

7. ผล: ไม่ผ่าน!!!

8. “ความยากที่สุดของการทำเล่มจูเนียร์คือทำอย่างไรให้น้องคิดได้เองโดยที่ไม่ครอบงำ แต่ก็เป็นไปในทางของ a day พอน้องคิดมาแล้วมันไม่ผ่าน เราก็ไม่สามารถให้ผ่านหรือบอกได้เลยว่าทำอย่างนั้นสิ ต้องรอให้เข้าใจเอง คิดออกมาได้เอง” ครูใหญ่ชื่อวชิรากล่าว

9. แต่สุดท้าย ‘จูเนียร์’ ก็ทำธีม ‘จูเนียร์’ สมชื่อ

10. ส่วน a day with a view ที่ถกเถียงกันอยู่เกือบเดือน ก็สรุปกันได้ว่า คนทำนิตยสารสมัครเล่นจะเข้าไปขอวิชาจากนักทำนิตยสารมืออาชีพด้วยการสัมภาษณ์วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี ที่มีวาระครบรอบ 20 ปีพอดิบพอดีด้วย

11. อาจจะเป็นการสัมภาษณ์ที่วุ่นวายที่สุดในวงการนิตยสาร ด้วยเพราะมีผู้สัมภาษณ์ถึง 15 คน!

12. หลังจากจบซีซั่นแรก เหล่า a team junior ต่างแยกย้ายกันไปเรียนต่อและทำงาน ส่วนใหญ่อยู่ในนิตยสารระดับท็อปหลายหัว บางคนถึงกับเปิดหัวนิตยสารเป็นของตัวเอง

13. อดีตกองบรรณาธิการของเล่มคือ จิราภรณ์ วิหวา ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระเจ้าของผลงาน ทานยาหลังอาหารแล้วดื่มน้ำตามมากๆ, สนธิสัญญาฟลามิงโก และเจ้าของคอลัมน์ มณฑล จิราภรณ์ ใน adaymagazine.com และจิรณรงค์ วงษ์สุนทร อาร์ตไดเรกเตอร์ของเล่ม ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการศิลปกรรม The Cloud​


a day ปีที่ 5 ฉบับที่ 58 เดือนมิถุนายน 2548
ภาพปก :
ปฏิทิน 365 วันพลิกโลก
ออกแบบ : a team junior 2

1. ลูกทุ่ง, ความฝัน, ความเชื่อ, คู่, สอง, กวี, ผี, วอลท์ ดิสนีย์, ตัวร้าย, how to, ชีวิตริมถนน, กลางคืน, ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์, power of word ฯลฯ คือธีมเมนคอร์สที่ a team junior รุ่น 2 เฝ้าเพียรนำเสนอและถูกยิงทิ้งทุกครั้งไป

2. หลังกลับไปสมานแผลทุกวัน a team junior ก็สามารถเสนอธีมผ่านได้สำเร็จ นั่นคือธีม 365 วัน โดยไอเดียแรกนั้น คือเล่าเป็นเกร็ดสนุกๆ ว่าวันนี้ ในตอนนั้น เกิดอะไรขึ้นในโลกใบนี้

3. กิจกรรมชินตาจึงเป็นการเอาวันที่หาได้มาเสนอแล้วถูกยิงร่วงไปทีละวันสองวัน จูเนียร์บอกว่า ช่างเป็นภาพที่บั่นทอนกำลังใจยิ่งนัก

4. ดังนั้น กว่าจะได้มาซึ่งวันที่ซิปถือกำเนิด, วันที่ถนนวันเวย์สายแรกของโลกเปิดใช้บริการ, วันที่เวทีมวยราชดำเนินประเดิมมวยคู่แรก, หรือวันที่แฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ขายได้ห้าหมื่นล้านชิ้น ฯลฯ ก็ถูกรวบรวมเอาไว้จนครบ 366 วันนั่นแล พวกเขาทำเกินความตั้งใจมา 1 วัน เพราะดันใส่วันที่ 29 กุมภาพันธ์มาด้วย!

5. การรับสมัคร a team junior รุ่นนี้แตกต่างจากรุ่นแรกตรงที่ไม่มีการรับสมัครบรรณาธิการและผู้ช่วยบรรณาธิการ แต่รับกองบรรณาธิการทั้งหมด 9 ชีวิต และจะมาคัดเลือกบรรณาธิการหลังจากได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลา 2 เดือนก่อน แต่จากการซุ่มดูเชิง ซีเนียร์ก็ได้ประกาศสองผู้นำไว้คานอำนาจกัน นั่นคือ ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์ และ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่เพื่อนๆ เรียกกันว่าบอกอบีหนึ่ง และบอกอบีสอง ตามลำดับ

6. ปัจจุบันไชยณัฐเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดระหว่างประเทศของบริษัทเครือซีเมนต์ไทย บินไปบินมาระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ และเพิ่งออกพ็อกเก็ตบุ๊กชื่อ เล็ตซึโก ซารารีมัง ในชื่อบองเต่า ส่วนนวพลนั้น นอกเหนือจากเป็นคอลัมนิสต์ให้แมกกาซีนหลายหัว รวมทั้ง adaymagazine.com เขาทำหนังสั้นและหนังยาวอย่างจริงจังจนพาตัวเองไปเทศกาลหนังเบอร์ลินได้

7. แต่นอกเหนือจากหน้าที่ตามตำแหน่ง จูเนียร์ทีมนี้มีการข้ามสายพันธุ์ในการทำงาน บ่อยครั้ง เช่น กองบรรณาธิการโจนัท-ปารัณ เจียมจิตต์ตรง มักไปช่วยช่างภาพถ่ายรูป, พิสูจน์อักษรแยม-วสุวี พรศิริโกศล ผันตัวเป็นกองฯ ช่วยเขียนต้นฉบับ, และอีกหนึ่งกองบรรณาธิการปอ-ศุภศิริ ศุภคุณ ก็ต้องรับหน้าที่อาร์ตไดเรกเตอร์มือสามในช่วงปิดเล่ม แถมยังรับหน้าที่ทำภาพประกอบทั้งหมดให้ ปกปฏิทินเปลี่ยนโลกที่เห็น ก็ฝีมือเขาล่ะ แต่นวพลฝากบอกมาว่า ภาษาจีนด้านหน้า เขาเป็นคนเขียนนะ


a day ปีที่ 6 ฉบับที่ 71 เดือนกรกฎาคม 2549
ภาพปก :
ตลาดนัดจตุจักร
ออกแบบ : a team junior 3

1. และแล้ว a team junior รุ่น 3 ก็ได้อวดผลงานสู่สายตาประชาชี แม้ว่าจะล่าช้าไปกว่าสองเล่มรุ่นพี่ที่ออกในเดือนมิถุนายน เพราะพวกเขาต้องหลีกทางให้ a day 70 กัปตันซึบาสะ ที่อยู่ในอาการ ‘รอไม่ได้’ เพราะตอนนั้นกำลังจะมีแข่งบอลโลก และการ์ตูนเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้คนญี่ปุ่นอยากไปแข่งบอลโลก ถ้าไม่รีบเล่าตอนนั้นก็ต้องไปอีก 4 ปีเลย

2. แต่ถ้าจะให้เผากันตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า เล่ม ซึบาสะมาช่วย 15 ชีวิตนี้ไว้ต่างหาก เพราะถ้าต้องออกเดือนมิถุนายนจริงๆ ก็เห็นจะปิดเล่มกันไม่ทัน เพราะธีมที่พวกเขาเลือกทำคือธีมสวนจตุจักร ที่เปิดแค่วันหยุดสุดสัปดาห์ พวกเขาจึงมีเวลาหาข้อมูลกันเพียงเดือนละ 8 วันเท่านั้นเอง

3. เมื่อเทียบกับจูเนียร์รุ่นพี่และรุ่นน้อง พวกเขานับเป็น a team junior รุ่นแรกที่เสนอธีมเมนคอร์สเพียงครั้งแรกก็ผ่านเลย ในขณะที่รุ่นอื่นๆ ต้องต่อสู้ฟาดฟันกันเป็นแรมเดือน

4. ด้วยความที่เป็นตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันจึงบรรจุอะไรไว้มากมาย จะเลือกอะไรมาเล่า คัดอะไรออกก็ดูจะยากไปซะหมด คิดหลายตลบ สลบไปก็หลายรอบ พวกเขาก็เดินมาบอกว่า อยากจะทำจตุจักรในแง่จุดรวมของความฝันสำหรับคนที่อยากมีกิจการและได้อวดผลงานของตัวเอง นอกนั้นก็สะท้อนธรรมชาติของสวนจตุจักรตามประสาอ่านแล้วอิน

5. ร้านรวงโดดเด้งเป็นอีกอย่างที่พวกเขาต้องคัดสรรจากทั้งหมด 26 โครงการ และที่นำเสนอกันอย่างออกนอกหน้าที่สุด เห็นจะเป็นร้านไอติมของน้องจอย ที่พวกเขาจั่วหัวพร้อมลงรูปเบ้อเร่อว่า ‘ร้านนี้แม่ค้าน่ารักที่สุด’ แต่กว่าจะขอสัมภาษณ์น้องจอยได้นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะคุณแม่น้องจอยหวงมาก ทางกองฯ จึงต้องใช้แผนสอง ส่งหญิง-ยศธร ศรีโรจนันท์ เลขากองฯ จอมคล่องแคล่วไปเจรจาและสัมภาษณ์แทน งานนี้จึงเรียบร้อยลงได้

6. และแน่นอน อุปสรรคไม่มีสุดสิ้น หลังจาก อาร์ตไดฯ นิติกรณ์ ทองคร้าม เลย์เมนคอร์สทั้งหมดเสร็จโดยใช้เวลาทั้งสิ้นไป 4 วัน 4 คืนถ้วน อาร์ตไดฯ วรรวิสาข์ อินทรครรชิต ก็ลากไฟล์ทั้งหมดลง Recycle Bin แถมกู้คืนไม่ได้อีกต่างหาก

7. อุปสรรคสุดท้ายก็คือ ปก ไอเดียมากมายมีมาให้ยิงทิ้งยิงขว้างตลอดเวลา แล้วพี่ๆ ซีเนียร์ก็มักจะตอบกลับด้วยวรรคทองว่า “มันไม่สวยว่ะ” สุดท้าย ปกรวมของเด็ดจากจตุจักรก็ดูจะลงตัวที่สุด แต่กว่าจะได้ของแต่ละชิ้นมาก็กลายเป็นเรื่องยุ่งยากเกินปกติ เช่น ปลาทองทำท่าจะตาย หมาตื่นตระหนกตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งไอติมที่หาทางกันอยู่นานว่าจะเก็บมาถ่ายที่สตูดิโอยังไงไม่ให้ละลาย สุดท้ายก็ปั่นกันเองกับมือ

8. ขออัพเดตว่าตอนนี้ a team junior รุ่นนี้ทำอะไรกันอยู่บ้าง เริ่มที่ศิวะภาค เจียรวนาลี Creative Director บริษัท Daypoets, กตัญญู สว่างศรี ผันตัวไปเป็นนักแสดงเดี่ยวไมโครโฟนและเปิดบริษัทของตัวเองชื่อ A Katanyu​, วีรภา ดำสนิท เจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊ก SMEs projects, วิชุดา เครือหิรัญ ผู้สร้างคอนเทนต์หลากหลายแพลตฟอร์ม เล็กบ้างใหญ่บ้างออกมาในรูปแบบบทสัมภาษณ์ นิตยสาร เว็บไซต์ นิทรรศการไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ


a day ปีที่ 7 ฉบับที่ 82 เดือนมิถุนายน 2550
ภาพปก : เลโก้รูปจตุคามรามเทพ
ออกแบบ : ทรงพล จั่นลา
ภาพประกอบ : พสุ สิงห์อุสาหะ

1. เริ่มต้นที่ธีมเมนคอร์สเป็นอย่างแรก สิ่งที่พวกเขาเสนอทั้งหมดทั้งสิ้นคือ คนบ้า / คนตาบอด / การ์ตูนไทย / Google / พยากรณ์อากาศ / วิกฤตและหายนะ / ก่อนนอน / ข้างถนน / เปาบุ้นจิ้น / มือสอง / บุฟเฟต์ / รถเมล์ / บอยแบนด์ / วิวัฒนาการของวัยรุ่น! แม้ว่าธีมตาบอดจะเข้าตา เพราะเราก็อยากทำมานานแล้วเหมือนกัน แต่ด้วยเหตุผลว่ามันเป็นเรื่องเชิงให้ความรู้ความเข้าใจในโทนเดียวกันกับเล่มมุสลิมมากไปหน่อย น้องๆ เลยอดทำกันไปโดยปริยาย สุดท้ายก็ได้ธีมของเล่นมาช่วยชีวิต!

2. เมื่อตกลงทำเรื่องนี้ ห้องเล็กๆ บนดาดฟ้าก็กลายเป็นร้านขายของเล่น เพราะแต่ละวัน เหล่าจูเนียร์จะขนของเล่นมาอวดกัน คนโน้นมีไอ้นั่น คนนั้นมีไอ้นี่ พอไปสัมภาษณ์ใครทีเขาก็จะยกของเล่นชิ้นนั้นชิ้นนี้เป็นของกำนัล แต่ของที่ฮือฮาที่สุดคงหนีไม่พ้นที่พี่ปู-พรหมมา หนูสุวรรณ นักสะสมของเล่นตัวยงยกให้ เพราะมันเป็นไวเบรเตอร์ลายม้าลาย แถมเลือกระบบสั่นได้หลายระดับ!

3. แต่ที่น่าปรบมือให้ ตรงที่ a team junior รุ่นนี้ไม่ได้มองของเล่นเป็นแค่เครื่องเตือนความทรงจำ บันทึกความหลังหอมหวานแค่อย่างเดียว แต่พวกเขาหยิบเรื่องนี้มาแตกต่อได้อย่างครบถ้วน แต่ก็ใช่ว่าเมนคอร์สฉบับนี้จะหนาหนักวิชาการดั่งทีสิสปริญญาโท เพราะพวกเขาหยิบกิมมิกเกี่ยวกับของเล่นมา ‘เล่น’ กันอย่างสนุกสนาน เช่น ตุ๊กตากระดาษอินเทรนด์ที่ได้เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กองบรรณาธิการจูเนียร์มาเป็นนายแบบชุดตุ๊กตาให้ ซึ่งชุดที่ว่าก็เช่น ชุดเด็กเรนปีกสยาย ชุดเด็กดีใส่เสื้อเหลือง ชุดเด็กแนวเสื้อลาย หรือชุดเด็กบี้ เดอะสตาร์ ที่ใส่จริง ถ่ายจริง ทุกชุด

4. ความคร่ำเคร่งที่สุดของธีมสุดสนุกนี้คือการคิดปก หลายไอเดียที่ออกมาอย่าง หนังสือที่กลายเป็นกระดานเล่นเกมได้ (ตกไป เพราะใครจะเอาไปเล่นจริงๆ ล่ะ) แพ็กของเล่น ถูกซีลพลาสติกไว้ (ทำไม่เหมือนจะไม่เวิร์ก) บาร์บี้นาตาลี-ภราดร (จะไปล้อเขาทำไม!) ของเล่นบุกเมือง (ธรรมดาไปหน่อย) ฯลฯ (ไม่ผ่านทั้งสิ้น)

5. จนจูเนียร์-ซีเนียร์เปิดวงสนทนาว่าด้วยจตุคามฯ ที่เล่นกันไม่เลิกซะทีเลยอยากจะเอาขึ้นปกตามกระแสกับเขาบ้าง แต่ถ้าเอาขึ้นกันตรงๆ ก็จะเหมือนเกินไป เลยลองติดต่อน้องโค้ช ด.ช.พสุ สิงห์อุสาหะ แชมป์ต่อเลโก้แห่งประเทศไทยมาสร้างจตุคามรุ่นเล่นไม่เลิกเนื้อเลโก้ให้

6. ไปหาน้องเขาที่บ้านแล้วพบว่ากำลังนั่งคำนวณออกแบบต่อกันอยู่พอดี เราก็เลยเข้าไปช่วยต่อฐานสีเหลืองๆ ด้วย แต่ต่อได้นิดเดียว น้องโค้ชก็ทำตัวเหรียญเรียบร้อย!


a day ปีที่ 8 ฉบับที่ 94 เดือนมิถุนายน 2551
ภาพปก : หนังสือพิมพ์
ออกแบบ : a team junior 5

1. วาระประจำปีกลับมาอีกครั้ง a team junior 5 จึงได้ฤกษ์ปฏิบัติการ และทุกอย่างก็เป็นไปตามขนบเดิมๆ ธีมมากมายที่พวกเขาถูกยิงตกไป ไม่ว่าจะเป็นละครเวที, สำเร็จรูป, D.I.Y, แบรนด์ไทย แต่ธีมที่จูเนียร์ทั้งทีมเสียดายและเสียใจจนน้ำตาตกในไปหลายวันคือธีม ‘เจ้าขุนทอง’ ที่เสนอจากความทรงจำอันงดงามในวัยเด็กกันเลยทีเดียว

2. แต่เมื่อตกลงปลงใจกันที่ธีมหนังสือพิมพ์ ก็มานั่งคุยกันระหว่างซีเนียร์และจูเนียร์ว่า เอาให้สุดๆ กันไปข้างเลยดีไหม “สุดยังไงพี่” น้องถาม “ทำหนังสือพิมพ์ไปเลย!” ดังนั้น อย่าตกใจว่าทำไมเล่มนี้บางจัง เมนคอร์สหายไปไหน เพราะมันกลายเป็นหนังสือพิมพ์เล่มจริงไปแล้ว

3. เราได้เข้าเยี่ยมแท่นพิมพ์หนังสือพิมพ์แทบทุกหัวในประเทศไทยเพื่อแนะนำตัว (อย่างกับ ประกวดนางงาม) และขอคำแนะนำต่างๆ นานา รวมทั้งข้อมูลทั้งหมดที่นำมาใช้ในเมนคอร์สเล่มนี้ เราใช้เวลาเถียงนาน 1 ชั่วโมง กับการพาดหัวข่าวว่าจะใช้ นสพ. หรือ น.ส.พ. ดี จนต้องให้ฝ่ายพิสูจน์อักษรมาสงบศึกด้วยการบังคับใช้ น.ส.พ. (แก้ทั้งเมนคอร์ส เพราะใช้ผิดเยอะมาก)

4. ส่วนภาพเซ็นเซอร์บนหน้าปกนั้น เอามาจากฟอร์เวิร์ดเมลภาพสยอง ซึ่งเป็นรูปคนถูกตัดคอขาดจริง อาร์ตไดเรกเตอร์ทำภาพไปสยองขนลุกไป เพราะนั่งทำกันตอนตีสามของวันปิดเล่ม (ว่าแต่ โมเสกจนไม่เห็นขนาดนั้น จะเอาภาพจริงมาทำทำไม!)

5. กิจกรรมสุดยากที่แม้แต่พี่ๆ a team ก็ไม่เคย ทำมาก่อน นั่นคือการเขียนให้พอดีกับพื้นที่ซึ่งทางหนังสือพิมพ์เขาคำนวณกันเป็นคอลัมน์นิ้ว ดังนั้น กว่าที่เนื้อหาจะลงเมนคอร์สพอดิบพอดีกับเนื้อที่หนังสือพิมพ์ กองบ.ก. ต้องทะเลาะกับอาร์ตไดเรกเตอร์กันโขมงโฉงเฉง เพราะอาร์ตไดฯ ก็บอกว่าให้ตัดคำออก ส่วนกองบ.ก. ก็ให้บีบฟอนต์แทน ทะเลาะกันไปมา ในที่สุด อาร์ตไดฯ ชนะ

6. แต่น่าเสียใจที่ในที่สุดแล้วก็ไม่มีชัยชนะอย่างแท้จริง เพราะหลังจากที่ปรู๊ฟครั้งแรกจากโรงพิมพ์มาถึง สิ่งที่ตะลึงคือเจอภาพการ์ตูนใหญ่เต็มหน้าหนังสือพิมพ์ นั่นเพราะเราไม่เคยจัดหน้า บนกระดาษ A1 มาก่อน จึงไม่แม่นเรื่องสัดส่วน พอมานั่งจัดพื้นที่ใหม่ ก็เหลือที่จนคิดเสียดายเนื้อหาที่ตัดไปยิ่งนัก


a day ปีที่ 9 ฉบับที่ 106 เดือนมิถุนายน 2552
ภาพปก : ถนนข้าวสาร Backpacker Town
ออกแบบปก : a team junior 6

1. เล่มนี้ a team Junior 6 ไปถนนข้าวสารบ่อย แต่ก่อนหน้านี้เกือบได้เปลี่ยนเส้นทางไป พระราม 9 คาเฟ่ . น้องจูเนียร์อินกับธีมตลกคาเฟ่เป็นพิเศษ แต่ที่ตกไปเพราะพี่ๆ ห่วงว่าการสัมภาษณ์ตลกรุ่นใหญ่อาจจะยากเกินไปสำหรับน้องๆ สุดท้ายเลยมาจบที่ทำเล่มถนนข้าวสาร

2. เราไม่ได้มองข้าวสารเป็นที่กิน ดื่ม เที่ยวของฝรั่ง แต่เป็นศูนย์รวมนักเดินทางที่ทุกคนต้องมาแล้วไปต่อที่อื่น เป็นหนึ่งในสามศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ของโลก

3. จูเนียร์หลายคนเพิ่มความอินด้วยการไปพักแรมย่านถนนพระอาทิตย์ซึ่งเดินมาข้าวสารได้ไม่ยาก ข้อดีคือเราจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของถนนสายนี้ตลอด 24 ชั่วโมง

4. ด้วยความอยากให้คนอ่านแล้วรู้สึกเหมือนเดินถนนข้าวสารจากปากซอยไปท้ายซอย ช่างภาพเลยจัดองค์ประกอบในเรื่องทุกหัวข้อมาถ่ายบนถนนข้าวสารจริง

5. พูดเรื่องโฮสเทลก็ไปยืมเตียงโฮสเทลมาวางถ่ายกันกลางข้าวสาร อ่านแล้วเหมือนเดินไปจริง

6. หน้าเปิดคอลัมน์ main course เราให้คนหลายเชื้อชาติมายืนถ่ายภาพทีละคน แล้วนำรูปมาต่อกันเหมือนถ่ายด้วยกันจริงๆ สะท้อนความหลากหลายทางเชื้อชาติของผู้คนบนถนนสายนี้ ชาวต่างชาติในข้าวสารถ่ายรูปง่ายมาก ให้ความร่วมมือสุดๆ

7. เราทำข้าวสารในช่วงสงกรานต์พอดี เลยถ่ายบรรยากาศงานสงกรานต์ในข้าวสารแบบทุ่มสุดตัวแต่เช้า แต่ด้วยปัจจัยไม่เอื้ออำนวยหลายอย่าง สรุปว่าภาพชุดนี้ทั้งหมดไม่ได้ใช้เลย

8. a day diary ให้คนที่ใช้ชีวิตในข้าวสารเขียน เพราะเราอยากรวมเรื่องราวหนึ่งวันดีๆ ที่เกิดขึ้นบนถนนข้าวสารให้ชาว a day ได้อ่านร่วมกัน

9. จูเนียร์รุ่นนี้ได้ดิบได้ดีในวงการขีดเขียนหลายคน จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ นักเขียนเจ้าของผลงาน เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, The Fairly Tale of Underfox, รักเขาเท่าทะเล และล่าสุด เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day, วัชรพงศ์ แหล่งหล้า บรรณาธิการศิลปกรรมนิตยสาร a day, เอื้อบุญ จงสมชัย อดีตบรรณาธิการออนไลน์ adaymagazine.com, ศิริภัสสร ศิริไล ฝ่ายศิลปกรรมที่อัมรินทร์พริ้นติ้ง, พวงสร้อย อักษรสว่าง นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ นคร-สวรรค์


a day ปีที่ 10 ฉบับที่ 118 เดือนมิถุนายน 2553
ภาพปก : Once Upon A Tale
ออกแบบ : team junior 7

1. เรื่องเล่าแบบแรกๆ ที่เรารู้จักคือ นิทานมันเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่และมีคุณค่าทั้งในแง่การเป็นเรื่องเล่าที่เราผูกพันในวัยเยาว์ การเป็นเรื่องต้นทางของสื่อบันเทิงหลายแขนงและเป็นงานเขียนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เมื่อน้องจากโครงการ a team junior 7 เสนอว่าอยากทำเล่มนิทาน เราก็ให้ผ่านแบบไม่ลังเล

2. น้องจูเนียร์รุ่นนี้อินกับนิทานเร็วมาก เพราะสมาชิกคนหนึ่ง วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย เรียนสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แถมยังอินกับเรื่องนิทานไม่น้อย

3. แหล่งข้อมูลสำคัญของเล่มนี้คือ ‘ห้องสมุดนิทาน’ ใน มศว ที่ทีมงานนัดไปอ่านนิทานที่นั่น นอกจากนี้เรายังได้เจอของเล่นที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนทำสื่อที่เกี่ยวข้องกับเด็กด้วย

4. เราได้รู้ว่านิทานไม่จำเป็นต้องสดใสเสมอไป แต่ผู้เขียนสอดแทรกประเด็นเข้มข้นได้ในรูปแบบที่เป็นมิตรกับเยาวชน

5. คอลัมน์ main course เราเล่าเรื่องทั้งหมดด้วยการเขียนเป็นนิทาน 1 เรื่อง มีภาพสีน้ำนุ่มนวลและตัวอักษรขนาดใหญ่สำหรับให้เด็กอ่านเหมือนนิทานของจริงเป๊ะ

6. นักอ่านบางคนคงรู้ดีว่านิทานส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยได้รับการดัดแปลงจากเทพนิยายของจาค็อบ และ วิลเฮล์ม กริมม์ นักวิชาการชาวเยอรมันผู้รวบรวมนิทานพื้นบ้านในศตวรรษที่ 19 อีกคนคือ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน นักเขียนชาวเดนมาร์ก เนื้อหาดั้งเดิมโหดร้ายและมืดมน เราเลยตั้งประเด็นว่าทำไมนิทานยุคนี้ต้องถูกปรับให้เหมือนหนัง feel good และมันสะท้อนอะไรต่อการสร้างสรรค์วรรณกรรมชนิดนี้

7. อีกบุคคลที่ให้ข้อมูลด้านการเขียนเนื้อหาเป็นนิทานคือ รศ.เกริก ยุ้นพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางคนจำเขาในฐานะผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์ ที่พระนครศรีอยุธยามากกว่า

8. อีกเรื่องที่คนทำสนใจคือ นิทานไทยเราเปรียบเทียบให้เห็นว่านิทานที่แต่งในยุคปัจจุบันกับนิทานโบราณต่างกันยังไง และปัจจัยอะไรทำให้นิทาน 2 ยุคแตกต่าง เปรียบเทียบให้เห็นทั้งในเชิงสังคมและวัฒนธรรม เช่น เราเปรียบเทียบความโหดของเรื่อง นางสิบสอง กับ Grimm’s Fairy Tales ว่าเหมือนกันยังไง

9. ความท้าทายของการเล่าเรื่องนิทานไทยคือการเล่าเป็นกลอน นักเขียนต้องตรวจฉันทลักษณ์ให้แม่น ขณะเดียวกันก็ต้องเล่าใจความให้ครบและตรงประเด็น

10. เรื่องนิทานไทยเราได้ที่ปรึกษาอย่าง รศ. ดร.ศิราพร ณ ถลาง และ รศ.สุกัญญา สุจฉายา จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยให้ข้อมูล

11. ภาพประกอบ เราเน้นให้ออกมาเหมือนนิทานจริงๆ ทั้งรูปแบบและจังหวะการวางภาพแทรกเนื้อหา กองบรรณาธิการต้องกำหนดจำนวนคำให้พอดีกับตำแหน่งที่ศิลปกรรมวางไว้

12. คอลัมน์ a day with a view (คอลัมน์สัมภาษณ์ที่ปัจจุบันย้ายมาอยู่ใน adaymagazine.com) เล่มนี้ เราสัมภาษณ์ เกียรติสุดา ภิรมย์ หญิงสาวผู้สร้าง เจ้าขุนทอง รายการสำหรับเด็กที่ดังที่สุดในไทย

13. นอกจากจะได้เห็นหุ่นตัวละครใน เจ้าขุนทอง ของจริง ได้ถ่ายภาพเกียรติสุดากับหุ่นที่เธอสร้าง เรายังได้รู้แนวคิดเบื้องหลังรายการนี้บางอย่าง เช่น เพลงรายการที่ทุกคนท่องได้ แท้จริงแล้วต้องการพูดเชิงให้กำลังใจเด็กว่าหนูไม่ได้เติบโตมาอย่างแปลกแยกโดดเดี่ยว มีเพื่อนพ้องมากมายอยู่เคียงข้าง


a day ปีที่ 11 ฉบับ 130 เดือนมิถุนายน 2554
ภาพปก : ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา

1. ตามธรรมเนียมที่เราให้น้องฝึกงาน 15 ชีวิตลุยทำนิตยสารของตัวเองเป็นประจำทุกปี กว่าจะได้ธีมประจำเล่มก็แทบไม่มีรุ่นไหนผ่านมาได้แบบหืดยังไม่ทันขึ้นคอ และปีนี้ดูจะโหดจริงเพราะถึงขนาดได้รับฉายาว่า ‘รุ่นร้อยเมน’

2. โชคดีที่ไอเดียเรื่องละไมอย่าง ‘ชมรม’ แวบขึ้นมาในสมองระหว่างเดอะแก๊งบางส่วนยืนเมาท์บนบีทีเอส พอเสนอ บ.ก. ทรงกลดอย่างเป็นงานเป็นการถึงสอบผ่าน ได้เริ่มงานกันสักที

3. แก่นเล่มนี้พูดถึงการรวมตัวของคนที่หลงใหลคลั่งไคล้ในสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าจะเล่าให้สนุกก็ต้องอาศัยชมรมแปลกๆ มาเป็นตัวแทนสักหน่อย พอลองไล่เสิร์ชหาในอินเตอร์เน็ต แม้แต่คนทำก็ได้เปิดโลกว่าเมืองไทยมีชมรมน่าสนุกมากกว่าที่คิดตั้งเยอะ เช่น ชมรมคนรักปลาทอง ชมรมผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ ชมรมสุนทรียแห่งการฟัง อะไรอย่างเงี้ย

4. สิ่งที่น่าจะยากอย่างการนัดรวมตัวสมาชิกชมรมจำนวนมากมาถ่ายภาพประกอบร่วมกันกลับไม่ยากเท่าไหร่เพราะเขาเต็มใจกันอยู่แล้ว สิ่งที่ยากดันเป็นการเดินสายออกไปสัมภาษณ์ตั้งหลายจังหวัด

5. ส่วนช่างภาพสายต่างจังหวัดก็ต้องใจหายวาบตอนนั่งรถโฟร์วีลลงเขาหลังถ่ายรูปคนเล่นร่มร่อนเสร็จ เพราะถ้าคนขับหักพวงมาลัยไม่ทันนี่มีเฉียดเหว!

6. เรื่องตลกคลาสสิกมากที่พี่ๆ ยังเก็บมาเล่าสู่กันฟังจนทุกวันนี้มีอยู่ว่า

7. ปลายฝน จันทร์ปัญญา สมาชิกอาร์ตไดเรกเตอร์ฝันร้ายขณะนอนหลับอยู่ใต้โต๊ะหลังทำงานดึกดื่นว่า นิติพัฒน์ สุขสวย บรรณาธิการภาพของ a day เดินมาคอมเมนต์ว่าปกชมรมเชียร์ที่ถ่ายสมาชิกชมรมแต่งชุดยอดมนุษย์แบบจัดเต็มนี่ไม่ผ่าน เพราะสื่อสารไม่ชัดว่านี่คือฉบับชมรม ต้องเปลี่ยนใหม่

8. พอเธอตื่นมาก็รีบเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนฟัง แล้วคนรอบตัวก็มีอันต้องระเบิดเสียงฮาเพราะนั่นน่ะเรื่องจริง ไม่ใช่แค่ฝัน!

9. สุดท้ายปกที่เข้ารอบชนะเลิศคือภาพประกอบชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวนิชย์ หรือหมอหม่อง

10. ความเหน็ดเหนื่อยทุกอย่างหล่อหลอมให้เด็กๆ แข็งแกร่ง สมาชิกหลายคนของรุ่นเติบโตเป็นบุคลากรที่ดีในวงการ เช่น ศศิวรรณ โมกขเสน ที่เคยทำงานอยู่ที่ Khaosod English, กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ อดีตกองบรรณาธิการของนิตยสารวรรณกรรม Writer, ธารริน อดุลยานนท์ นักเขียนฟรีแลนซ์ที่ฝากผลงานไว้กับสื่อหลายหัวทั้ง a day, The Cloud, greenery เป็นต้น, ปีติชา คงฤทธิ์ อดีตกองบรรณาธิการที่ผันตัวมาเป็นนักวาดภาพประกอบของ a day และ ศกุนตลา แย้มปิ๋ว ทีมบรรณาธิการ The Cloud


a day ปีที่ 13 ฉบับ 154 เดือนมิถุนายน 2556
แบบปก : อินทัช เสริมสุขเจริญชัย
ถ่ายภาพ : a team junior 9

1. สิ่งที่เด็กทุกรุ่นต้องผ่านคือสมรภูมิการเสนอธีมเล่มให้ลุล่วงด้วยดี แต่ a team junior รุ่น 9 ดูจะอาการหนัก เสนอมากี่ธีมก็ยังไม่ผ่านสักที

2. ระหว่างก้มหน้าคิดจ๋อยๆ เด็กๆ ก็ปิ๊งไอเดียว่าทำเรื่องรองเท้ากันดีไหม พอเสนอกับพี่ๆ ก็ได้ยินเสียงสวรรค์เป็นครั้งแรกในรอบเดือนว่ามาทางนี้แหละน่าจะเวิร์ก

3. ชาวa team junior เริ่มคิดโครงเรื่องรองเท้ามาเสนอกันอย่างจริงจัง ทีแรกตั้งใจจะเล่าถึงรองเท้าของคนแต่ละสายอาชีพที่มีความโดดเด่นต่างกันไป แต่คิดไปคิดมาก็เปลี่ยนใจ ขยายขอบเขตเนื้อหามาเล่าเรื่องชุดยูนิฟอร์มให้รู้แล้วรู้รอด เพราะน่าจะสนุกกว่ากันเยอะ แล้วธีมเครื่องแบบก็เสนอผ่านด้วยประการฉะนี้

4. เรามองว่าเครื่องแบบเป็นชุดที่ทุกคนล้วนเคยเกี่ยวข้องในชีวิต แต่ความใกล้ตัวทำให้เรามองข้ามรายละเอียดน่ารู้บางอย่างไป คอลัมน์ main course เรื่องยูนิฟอร์มจึงอยากเจาะเรื่องราวของเครื่องแบบ 20 ชุดที่ทำให้เรารู้ว่าแต่ละชุดมีความหมายและมีรายละเอียดน่าสนุกเต็มไปหมด

5. ในบรรดายูนิฟอร์มที่คัดเลือกมา ชุดพนักงานโรงภาพยนตร์ลิโด้สีเหลืองสดใสถูกเสนอเป็นชื่อแรกๆ แต่ก็ต้องตกรอบเพราะรายละเอียดฟังก์ชันชุดสู้ชุดอื่นๆ ไม่ได้

6. ความท้าทายของธีมนี้มีตั้งแต่การวุ่นติดต่อประสานงานหน่วยงานต่างๆ ทั้งเอกชนและราชการ การออกเดินทางไปหาใครต่อใครเพื่อสัมภาษณ์ขอข้อมูล เช่น เข้าป่าไปหาเจ้าหน้าที่พิทักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ลงใต้ไปหาคณะมโนราห์เพื่อเล่าเรื่องชุดมโนราห์

7. อันที่จริงเรื่องชุดมโนราห์ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเดินทางไกล แต่เพราะเผลอนัดสัมภาษณ์อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัยทักษิณโดยไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลาต่างหาก!

8. ในส่วนงานโปรดักชันถ่ายทำ ต้องบอกว่าเป็นรุ่นที่ ‘เล่นท่ายาก’

9. เด็กๆ ออกแบบภาพประกอบเป็นภาพชุดยูนิฟอร์มที่มีคนสวมแต่รีทัชร่างคนออกให้เหลือแค่หุ่น ฉากหลังเป็นพื้นสีสดใส วิธีการคือคนที่เป็นแบบต้องนอนแอ็กท่าที่พื้นให้ช่างภาพถ่ายรูปจากมุมท็อป

10. การนอนแอ็กท่าบนพื้นให้สวยและดูเนียนเหมือนยืนอยู่นั้นทำให้เกิดความเมื่อยตามกล้ามเนื้อใช่ย่อย ดีไม่ดีอาจตะคริวกิน ชาว a team และ a team junior จึงใช้วิธีขอยืมชุดมาใส่ถ่ายเองด้วยความเกรงใจ แต่เครื่องแบบบางชุดก็มีกฎห้ามคนที่ไม่ใช่เจ้าของชุดใส่เด็ดขาด เช่น ชุดแอร์โอสเตส ชุดทหารเรือ เราจึงต้องรบกวนให้เจ้าของชุดช่วยมานอนเป็นแบบบนพื้นให้ถ่ายรูป ทั้งที่รู้แก่ใจว่าสุดท้ายจะต้องถูกรีทัชออก


a day ปีที่ 14 ฉบับ 167 เดือนกรกฎาคม 2557
ภาพปก : ไอศครีม
ภาพถ่าย : a team junior 10

1. เรื่อง Delivery ซึ่งว่าด้วยการขนส่งสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตแบบแปลกๆ ที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน เช่น วิธีส่งยีราฟ วิธีส่งตัวด้วงทางไปรษณีย์ เกือบจะเป็นธีมที่น้องฝึกงาน a team junior รุ่น 10 ได้ทำแล้ว

2. คิดโครงกันเสร็จสรรพก็มุ่งหน้าไปเสนอ บ.ก. ด้วยความหวัง แล้วทุกอย่างก็พลิกผัน! บ.ก. ทรงกลดชี้แนะว่าเรื่องนี้อาจยากเกินไป ให้ล้มธีมนี้เสียเถิด

3. เพื่อไม่ให้การทำงานล่าช้า ธีมที่ตกรอบตั้งแต่การเสนอครั้งแรกๆ จึงถูกปลุกขึ้นชีพมาอีกครั้ง นั่นคือเรื่องไอศกรีม

4. เด็กๆ ดีใจมากเหมือนได้ยินเสียงสวรรค์เพราะใจจริงแล้วอยากทำเรื่องนี้กันทุกคน แค่ได้ยินว่าจะได้ไปตะลุยหาข้อมูลตามร้านไอศกรีมก็ออกอาการหน้าบานกันทั้งกอง

5. คอนเซปต์เล่าเรื่องเวอร์ชันผ่านการอนุมัติจากพี่ๆ คือทำให้ผู้อ่านได้รู้จักไอศกรีมมากยิ่งขึ้นในมุมของอาหารที่ใครกินก็มีความสุข

6. เรียกว่าเผชิญความท้าทายในงานโปรดักชันกันถ้วนหน้า ตั้งแต่การถ่ายรูปไอศกรีมที่ละลายอย่างรวดเร็วเมื่อเจอแสงไฟ อยากได้ช็อตลูกกลมสวยก็ไม่ได้ อยากได้ช็อตละลายก็ดันละลายไม่สวย กว่าจะได้ภาพที่ดีต้องขนมาถ่ายซ่อมกันไม่รู้กี่เทคในสตูดิโอที่เซ็ตขึ้นมาเองเพื่อประหยัดงบ

7. เด็กๆ จึงต้องแก้สถานการณ์ด้วยการทำไอศกรีมปลอมแบบ DIY แต่ถ่ายออกมาสวยเหมือนของจริงเป๊ะ

8. ในหัวข้อ ‘มีอีกไม้’ ที่อยากเล่าเรื่องไม้ฟรีที่มีสีแดงแต้มอยู่ปลายไม้เสียบไอศกรีม กว่าจะได้รูปแท่งไอศกรีมหลอดที่ใสพอจะเห็นสีแดงก็ไม่ง่ายเอาซะเลย ขนาดใช้น้ำเปล่าทำเป็นน้ำแข็งทรงไอศกรีมก็ยังออกมาขุ่นไม่เหมือนที่คิดไว้

9. โชคยังดีเพราะมีผู้ปกครองของหนึ่งในสมาชิกเป็นเจ้าของโรงน้ำแข็ง น้องๆ จึงรีบโทรไปขอคำปรึกษาจนสุดท้ายก็หาวิธีทำออกมาจนได้ (ปาดเหงื่อ)

10. “เล่มนี้จะไม่มีคำผิด!” คือประโยคที่น้องฝ่ายพิสูจน์อักษรประจำเล่มทั้งสองพร่ำบอกตลอดการฝึกงาน แต่พอตีพิมพ์ออกมา พวกเธอก็ถึงกับน้ำตาร่วงเมื่อพบคำผิดตั้งแต่หน้าเปิดคอลัมน์ ส่วนจะเป็นคำไหนขอเชื้อเชิญไปจับผิดกันเอาเอง


a day ปีที่ 15 ฉบับที่ 181 เดือนกันยายน 2558
แบบปก : วราพร พลเยี่ยม
ภาพถ่าย : a team junior 11

1. ตามธรรมเนียมของน้องฝึกงาน กว่าธีมอาหารริมทางจะได้รับการอนุมัติ น้องๆ ก็โดนรุ่นพี่ ‘ยิง’ จนพรุน

2. เวลานั้นมีธีมคู่แข่งอีกสองเรื่องได้แก่ กล้องฟิล์ม และ zine (หนังสือทำมือ) แต่สาเหตุที่พี่ให้ธีมเรื่องนี้ผ่านก็คือ นี่เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน ถ้าน้องๆ ทำน่าจะสนุก ทั้งยังเป็นการแนะนำตัว a day ยุคใหม่ที่สนใจเรื่องเมืองมากขึ้น

3. ส่วนสาเหตุที่น้องๆ อยากทำเป็นเพราะความตะกละและความอยากออกไปเที่ยว (ฮา) แต่พอทำจริงก็พบว่าการออกทำงานนอกสถานที่มันไม่ง่ายขนาดนั้น!

4. นอกจากจะได้ไปหาข้อมูลนอกออฟฟิศสมใจอยาก ชาวกองฯ ทุกคนยังได้อัพสกิลตีซี้กับพ่อค้าแม่ค้าเพื่อหาข้อมูลมาเล่าอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

5. หนึ่งในนั้นคือพ่อค้าขายผลไม้ใน RCA ที่กอง บ.ก. สาวไปคุยขอข้อมูลบ่อยจนโดนจีบแบบขำๆ (เพราะแฟนพี่เขานั่งถือมีดปอกมะม่วงอยู่ข้างๆ)

6. การค้างออฟฟิศคืนแรกของชาวจูเนียร์ไม่ใช่เพราะมีงานค้างหรือต้องปิดเล่ม แต่เป็นการรวมตัวแบ่งสายออกไปตลาดยามเช้า

7. ระหว่างทำเล่มนี้เป็นช่วงที่ตู้เย็นประจำห้อง a day เต็มบ่อยสุด เพราะออกไปสัมภาษณ์พ่อค้าแม่ค้าทีไร เป็นต้องซื้อของกินก่อนขอคุยทุกที

8. พีกที่สุดเห็นจะเป็นเฮียนพ เจ้าของโรงงานหมูปิ้งที่ให้หมูปิ้งเสียบไม้มาหลายแพ็ก เราพี่น้องเลยได้กินหมูปิ้งประกอบการปิดเล่มไปหลายวัน

9. ของกินในตู้เย็นอื่นๆ ที่ไม่คิดว่าจะได้พบยังมีซูชิ 5 บาทหน้าประหลาด (ลูกชิ้นแองกรี้เบิร์ดและโดราเอมอน) แมลงทอด จนถึงเครปป้าเฉื่อยของแท้ ที่ทั้งช่างภาพและกอง บ.ก. ต้องไปต่อคิวขอคุยและขอเครปกลับมาชิม

10. หลังปิดเล่ม พวกเราจึงต้องทำการ ‘ล้างตู้เย็น’ กันครั้งใหญ่ ทว่าสิ่งที่ล้างไม่ไหวก็คือน้ำหนักตัวของทุกคนที่พุ่งขึ้นในอัตราผกผันกับเวลานอน

11. จากตอนแรกที่คิดว่าจะเล่าเฉพาะความสนุกของอาหารริมทางที่คนไม่เคยรู้ บ.ก. ทรงกลดก็เสนอหลังได้อ่านต้นฉบับว่า ถ้าลองเล่าเรื่องอาหารริมทางในแง่มุมจริงจังบ้าง น่าจะทำให้เล่มนี้มีเนื้อหาครบถ้วนขึ้น

12. แล้วความท้าทายก็ตามมา เพราะการเล่าความขัดแย้งของร้านอาหารริมทางและข้อกฎหมายให้ไม่เอนเอียงจนเกินไปเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หลังวางแผงแล้วเนื้อหาบางส่วนลงไปอยู่ในโลกโซเชียล a day เล่มนี้จึงได้รับทั้งก้อนหินและดอกไม้

13. งานนี้กว่าจะค้นฟ้าคว้าดาวจนได้รถกับข้าวสีแดง เด็กๆ ต้องตามหาและใช้พลังคอนเนกชันส่วนตัวสุดแรงเกิด จนสุดท้ายเราก็ได้รถกับข้าวพร้อมผักสดๆ ส่งตรงจากตลาดไท


a day ปีที่ 17 ฉบับที่ 193 เดือนกันยายน 2559
แบบปก : ณภัสนันท์ สิรินดาศุภสิริ
ภาพถ่าย : a team junior 12

1. ด้วยความที่ชาว a team junior รุ่น 12 เข้ามาพร้อมการเกิดขึ้นของเว็บไซต์ adaymagazine.com จึงอาจเรียกได้ว่าน้องๆ รุ่นนี้คือรุ่นที่งานเข้ารุนแรงอย่างกับพายุดีเปรสชัน (บางคนก็ depressed จนน้ำตาหยดแหมะ) เพราะต้องออกไปทำงานมาลงเว็บไม่เว้นแต่ละวัน พอรวมกับงานเล่ม Bangkok’s 100 Hidden Places ที่ต้องอาศัยพลังมหาศาลแล้ว ยิ่งทำให้เวลาในการทำเล่มตัวเองเหลือน้อยเข้าไปใหญ่ รู้ตัวอีกที อ้าว! นี่ถึงเวลาทำเล่มตัวเองแล้วเหรอคะพี่!

2. ก่อนจะได้ทำเรื่องผ้า ธีมที่เข้ารอบและเกือบเริ่มทำแล้วคือเรื่อง ‘รถ’ แต่ก็ประหนึ่งรถเบรกเอี๊ยดในจังหวะเกือบฝ่าไฟแดง เมื่อคุณครูก้องของเด็กๆ ถามว่า ทำไมเราต้องเล่าเรื่องรถ เล่าไปเพื่ออะไร จะบอกอะไรคนอ่าน แล้วไม่สามารถหาคำตอบที่เหมาะสมได้

3. พี่ๆ จึงนำธีมผ้าที่เคยตัดตกไปมาช่วยกันปัดฝุ่นใหม่ ด้วยมุมมองจากคุณครูก้องว่าผ้ามีบริบทให้พูดหลากหลาย น่าจะทำเป็นเล่มที่มีสีสันได้ กลายเป็นธีมประจำเล่มของชาวอะทีมจูเนียร์รุ่น 12 ในชื่อสุดหวิวว่า ‘เปลื้องผ้า’

4. เป็นรุ่นแรกที่มีตำแหน่ง video creator เลยเกิดรายการ a team junior weekly เพื่อบันทึกภาพการทำงานของชาว a team junior 12 ไว้อย่างเข้มข้น รับชมได้ทาง adaymagazine.com

5. เพื่อความแน่นของข้อมูล เด็กๆ ต้องลงพื้นที่ไปแหล่งตลาดผ้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพอย่างพาหุรัดถึง 8 ครั้ง ไปบ่อยจนอาบังบางร้านจำหน้าได้ แถมยังได้ไปคุยกับคนที่เกี่ยวกับผ้าหลากหลายแบบ ตั้งแต่นักสะสมผ้าราคาแพง สาวทอผ้า ร้านอาม่าในพาหุรัด ไปจนถึงร้านแฟชั่นเก๋ๆ กลางสยามแสควร์ เพื่อให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นใคร เราล้วนต่างใช้ชีวิตผูกพันกับ ‘ผ้า’

6. กลับมาที่ออฟฟิศ สองสาวอาร์ตไดเรกเตอร์ต้องร้องไห้หนักมาก เมื่อพบว่าผ้าที่ต้องเอามาใช้เป็นภาพเล่าเรื่องไม่มีขายแบบเศษผ้า ทั้งที่ต้องการใช้แค่ขนาดฝ่ามือเดียว

7. วิธีแก้ไขคือ เสียสละตัดจากบ้าน หรือถ่ายรูปแล้วคร็อปภาพมาใช้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องลงทุนซื้อเป็นหลาแล้วตัดมาใช้ในขนาดจัตุรัสเล็กๆ ให้ช้ำใจเล่น

8. แต่ผ้าที่อยู่บนตัวของ เหมย-ณภัสนันท์ สิรินดาศุภสิริ นางแบบปกประจำเล่มไม่ต้องซื้อ เพราะมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมป์ ซึ่งมีสินค้าผ้าทออยู่แล้วมีน้ำใจให้เรายืมมาใช้ได้ฟรี

9. สัมภาษณ์ใหญ่ในเล่มนี้กับ เปอร์-สุวิกรม อัมระนันท์ ทำเอาช่างภาพของรุ่นปลื้มไม่หยุดเพราะได้ถ่ายภาพพิธีกรในดวงใจ แถมได้บริการไปซื้อพาราเซตามอลมาให้หลังเขาบ่นปวดหัวระหว่างการสัมภาษณ์

10. ที่น่ากรี๊ดคือหลังแลกไลน์ไว้ส่งรูปให้ คุยกันไปคุยกันมา เธอก็ได้ไปทำงานที่บริษัทของเปอร์ในท้ายที่สุดด้วยล่ะ


a day ปีที่ 18 ฉบับที่ 205 เดือนกันยายน 2560
ภาพปก : ดวง
ออกแบบ : นักรบ มูลมานัส

1. หลังเกิดการปฏิวัติสมาชิกทีมครั้งใหญ่ใน a team ทำให้เหล่า a team junior 13 ต้องระเห็จระเหิญเดินทางไปมาเพื่อทำคอนเทนต์ลงทั้ง adaymagazine.com และตัวเล่มกันจนอยู่ออฟฟิศไม่พร้อมหน้าสักที

2. พออยู่พร้อมหน้าได้ ก็ได้เวลาต้องเสนอธีมเล่ม

3. a night, ความเศร้า, นักพากย์, แกลเลอรี่ ฯลฯ คือหัวข้อที่น้องๆ นำมาเสนอพี่ๆ และโดนยิงตกไป (แต่ a night ก็พัฒนากลายมาเป็นธีมเล่ม 210 ได้ในที่สุด) ต่อมา น้องๆ เสนอเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือยีนส์กับดวง ซึ่งจูเนียร์รุ่นนี้สู้เพื่อหัวข้อดวงแบบสุดใจ เพราะคิดว่าได้ทำเล่มกันเองทั้งทีก็อยากทำเรื่องที่สนุก ท้าทาย เลยเจองานยากเต็มๆ เพราะเรื่องดวงมีเนื้อหาที่กว้างใหญ่ไพศาล ยากที่จะเล่าออกมาให้น่าเชื่อถือ ไม่หลักลอย

4. เพื่อให้อินกับเรื่องดวงมากขึ้น จูเนียร์รุ่นนี้เลยคลุกคลีกับกิจกรรมทุกอย่างเกี่ยวกับดวงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตั้งแต่ไปไหว้พระ ดูดวงหลากหลายรูปแบบ ทำนายฝัน ซื้อหวย เสี่ยงเซียมซี ซื้อหนังสือหวยมาอ่าน ซื้อไพ่ยิปซีมาเล่น เรียนรู้ศาสตร์การดูดวงหลากแขนงด้วยตัวเอง

5. ระหว่างไปดูดวงหัวนม หมอดูท่านนั้นก็เปิดหัวนมให้ดูเฉยเลย

6. หนึ่งในกองบ.ก.จูรุ่นนี้รับผิดชอบเรื่องโหงวเฮ้ง หลังจากศึกษาข้ามวันข้ามคืน เขาก็ลองมาเปิดโต๊ะดูดวงโหงวเฮ้งในออฟฟิศให้พี่ๆ ทุกคนรวมถึงบอสในตอนนั้นอย่างศิวะภาค เจียรวนาลี

7. ไพ่ยิปซีที่ซื้อมาตอนนั้น จนตอนนี้พี่ๆ ก็ยังใช้ดูดวงกันเองทุกเดือนเลยนะ

8. เล่มนี้มีใบเซียมซีแทรกไว้ด้วยนะ แทรกไว้เล่มละใบ มีทั้งหมด 13 ใบ และใบที่ 13 จะไม่เหมือนใบอื่นๆ

9. หลังจากอาร์ตไดทั้ง 3 ของจูรุ่นนี้พยายามเสนอปกกันอย่างขันแข็ง แต่ก็ถูกยิงตกไปทั้งสิ้น เพราะเรื่องดวงเป็นหัวข้อที่ตีภาพออกมาให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดได้ยาก บวกกับเวลาที่งวดเข้ามาทุกที ซีเนียร์เลยลงความเห็นว่าให้นักวาดภาพประกอบทำปกให้เลยดีกว่า เลยได้นักรบ มูลมานัส นักวาดภาพประกอบสายคอลลาจ มาช่วยทำภาพปกให้

10. ณัชชยา เมธากิตติพร พิสูจน์อักษรประจำจูรุ่นนี้ใฝ่ฝันอยากเป็นจูเนียร์โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก ต้องตา จิตดี a team junior 11 ที่ปัจจุบันทำวง plastic plastic เมื่อณัชชยาได้ปรู๊ฟบทความจากต้องตา เธอเลยกรี๊ดสลบไปเลย

11. เป็นรุ่นที่สำเร็จการศึกษาจากจูเนียร์แล้วมาทำงานที่ a day ต่อเยอะที่สุด รวม 5 คน


a day ปีที่ 19 ฉบับที่ 217 เดือนกันยายน 2561
แบบปก :
19TYGER
ภาพถ่าย : a team junior 14

1. ถ้าถามว่า a team junior 14 โดดเด่นเรื่องอะไรที่สุด ข้อแรกที่ต้องพูดถึงก็คือ ‘จำนวน’ นั่นเอง เพราะในปีนี้นอกจากจะมีการเพิ่มจำนวนในแต่ละฝ่ายแล้ว ยังมีตำแหน่งใหม่แกะกล่องอย่าง secretary และ online content manager มาเสริมทัพ พอนับดูแล้วจึงได้มาทั้งหมด 20 คนถ้วน!

2. ด่านแรกที่ทั้ง 20 ชีวิตต้องเผชิญคือ a day 214 ฉบับ 100 Bangkok’s Unhidden Places ที่ใช้ทรัพยากรคนอย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะเราได้ระดมกำลังจูเนียร์จากทุกตำแหน่งลงสำรวจพื้นที่ในย่านต่างๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อซอกแซกหาสถานที่น่าสนใจมานำเสนอพี่ๆ กันแบบวันต่อวัน แม้แต่ชาวปรู๊ฟและชาวอาร์ตก็ได้ลงพื้นที่เหมือนกันนะ!

3. ด่านที่โหดหินที่สุดคือการเสนอธีมเล่ม หลังจากน้องๆ ตบตีไอเดียกันพักใหญ่ก็สรุปว่าเอาเรื่องแรปมาเสนอพี่ๆ และเป็นจูเนียร์รุ่นที่ 2 ที่เสนอธีมเล่มผ่านฉลุยในรอบเดียว แต่กว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะเล่าแรปในแง่มุมไหนดีก็กินเวลาไปเกือบเดือน จนได้คำว่า The Rise of Thai Rap  มาเป็นแก่นเรื่อง

4. เป็น a team junior รุ่นแรกที่มี บ.ก.ประจำรุ่นเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์

5. ภาพการทำงานกับเล่มแรปที่ทุกคนจินตนาการถึงคงหนีไม่พ้นการเข้าไปสัมภาษณ์ในสตูดิโอ ห้องอัดเสียง และถ่ายบรรยากาศการขึ้นแสดงสดตามเวทีหรือปาร์ตี้ต่างๆ แต่พอเอาเข้าจริงสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกินความคาดหมายของทุกคนไปมาก เพราะเรื่องแรปๆ ดันไปแอบอยู่ตามโรงเรียน หอสมุด หรือแม้แต่โรงละครแห่งชาติ

6. น่าจะเป็นจูเนียร์รุ่นที่มีประวัติเจ็บป่วยโชกโชนที่สุด มีตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่ อาหารเป็นพิษ หรือแม้กระทั่งโดนหมากัดฉีดยาสิบเข็ม!

7. ว่ากันว่าหน้าแนะนำตัวจูเนียร์เป็นหน้าที่คนเปิดอ่านเยอะที่สุดหน้าหนึ่ง ทุกคนจึงยอมเล่นใหญ่โดยการนั่งรถไปถึงโรงเกลือมาร์เก็ต นครปฐม เพื่อหาชุดสำหรับถ่ายรูปแนะนำตัว!

8. ในโค้งสุดท้ายของการปิดเล่ม แม้ว่าจะส่งต้นฉบับให้โรงพิมพ์ไปแล้ว แต่จิรเมธ คูไพริน พิสูจน์อักษรประจำรุ่นก็เกิดนิมิตขึ้นในชั่วโมงต่อมา ขณะที่กำลังอาบน้ำอยู่ที่บ้าน ว่ายังมีคำผิดที่ยังไม่ได้แก้อยู่อีกหนึ่งจุด! เคราะห์ดีที่สามารถโทรมาบอกให้แก้ได้ทันอย่างเฉียดฉิว

9. เมื่อจบโครงการ จูเนียร์ทั้ง 20 ชีวิตต่างก็ได้พัฒนาฝีมือกันสมใจ ซึ่งนอกจากจะฝึกฝนในตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองแล้ว หลายคนยังจับพลัดจับผลูได้ทดลองงานในตำแหน่งอื่นเป็นของแถม เช่น เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล ตำแหน่งช่างภาพได้ทดลองถอดเทปในตอนที่ขาดแคลนแรงงาน ส่วนนวภัทร์ นาวาเจริญ กองบรรณาธิการ ก็ได้แสดงฝีมือตัดต่อวีดิโออีกต่างหาก เรียกได้ว่า multi-tasking กันแบบสุดๆ


a day ปีที่ 20 ฉบับที่ 229 เดือนกันยายน 2562

แบบปก : บูรณิจฉ์ คุ้มไพโรจน์

ถ่ายภาพ : a team junior 15

1. เข้าสู่ปีที่ 15 daypoets จึงเล่นใหญ่ด้วยการผุดโปรเจกต์ daypoets society ให้ทุกบริษัทในเครือเปิดรับคนรุ่นใหม่เข้าฝึกงาน ฉะนั้นนอกจาก a day แล้ว ในตึกเดียวกันยังมีเหล่าจูเนียร์จาก a day BULLETIN, The Momentum และ a book มาสมทบอย่างคึกคัก

2. นี่คือ a team junior รุ่นแรกที่ต้อนรับทั้งนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดอายุ

3. เพราะเหตุนี้เองรุ่นนี้จึงมี บ.ก.ที่อายุเยอะที่สุด (26 ปี) และมีผู้ช่วย บ.ก.อายุน้อยที่สุด (19 ปี) ห่างกันถึง 7 ปี!

4. ยังเป็นรุ่นแรกที่พี่ให้เราเลือกได้ว่าจะทำนิตยสาร คอนเทนต์ออนไลน์ อีเวนต์ หรือทำทั้ง 3 อย่างเลยก็ได้ถ้าไหว

5. หลังจากที่คุยกันอย่างเข้มจ้น มติของรุ่นก็เป็นเอกฉันท์ว่ามาเป็น a team junior ทั้งทีก็ต้องทำ a day ของตัวเองสักเล่มสิ

6. ช่วงเสนอธีมเล่มน่าจะเป็นการนำเสนอที่เป็นท้อไม่แพ้รุ่นไหน เพราะเสนอไป 5 รอบ ไม่ผ่านทั้ง 5 รอบ ธีมที่ถูกเสนอไปมีทั้งความตาย, ตัวร้าย, เด็กสมัยโน้น, เวสป้า, มายากล, ภาพฟิล์ม, sex education ฯลฯ

7. สุดท้ายเมนคอร์สที่พี่ๆ a team ลงความเห็นตรงกันว่าน่าจะแมตช์กับความสนใจที่หลากหลายและทำได้ในกรอบระยะเวลาอันจำกัดคือ The Collectors

8. งานหินคือการเฟ้นหาเหล่านักสะสมจากทั่วฟ้าเมืองไทยมาลงในเล่ม เกือบ 100 ชื่อที่ถูกเสนอถูกคัดให้เหลือ 25 ชื่อด้วยเกณฑ์ที่ว่า คนคนนั้นต้องเป็นตัวจริงของการสะสมสิ่งนั้น หรือมีความพิเศษบางอย่างที่โดดเด่นกว่าคนอื่น

9. นำมาซึ่งประโยค ‘พี่ว่าพี่สุดปะ?’ จากการสัมภาษณ์ของหนึ่งในกอง บ.ก.และนักสะสมท่านหนึ่ง ซึ่งกลายมาเป็นประโยคติดปากของการฝึกงานครั้งนี้ไปโดยปริยาย

10. a team junior 15 สุดแค่ไหนเห็นได้จากช่วงใกล้ปิดเล่มที่ทุกคนช่วยกันแบบไม่แคร์ตำแหน่งใดๆ มีโมเมนต์ที่ชาวอาร์ต ชาวปรู๊ฟ หรือแม้กระทั่งช่างภาพ มาช่วยชาวกองฯ ถอดเทป ในขณะที่ชาวกองฯ ได้ไปช่วยชาวอาร์ตวาดการ์ตูนในเล่ม!… น้องว่าน้องก็สุดอยู่นะ

a day ปีที่ 21 ฉบับที่ 242 เดือนตุลาคม 2563

แบบปก : สุชานาถ กิตติสุรินทร์

ถ่ายภาพ : a team junior 16

 

1.​ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ a​ team​ junior 16​ หลายคนใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าจะได้ฝึกงานหรือไม่ พี่ๆ a team จึงตัดสินใจเลื่อนการฝึกงานออกไปหนึ่งเดือน จากเดิมที่ต้องมาเยือนออฟฟิศกันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม กลายเป็นว่าต้องขยับมาเป็นเดือนมิถุนายนแทน แถมต้องลากยาวการฝึกงานไปจนถึงเดือนกันยายน ทำให้มีคนที่ไม่สะดวกมาร่วมโครงการจนสมาชิกรุ่นนี้เหลือ 14 คน จาก 15 คน

2.เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่าช่วงการเสนอ main course ของเล่มตัวเองเป็นด่านที่ยากที่สุด ชาว a team junior 16 ขอยืนยันว่าจริง! เพราะสมาชิกทุกคนต้องระดมหัวคิดกันเพื่อให้ได้ประเด็นที่ถูกต้องตามเวลาและสถานการณ์สังคม ทำเอาแต่ละคนตกอยู่ในภาวะเห็นอะไรอยู่ในห้องก็เสนอไปเรื่อยๆ​ อย่าง​ ดอกไม้​ แจกัน​ ท้องฟ้า​ จนมาถึงเส้นผม​ เพราะหนึ่งในกองบรรณาธิการเป็นทายาทธุรกิจอุปกรณ์เสริมสวย

3.​ แต่ใครจะรู้ว่าเรื่องใกล้ๆ นี่แหละที่ทำให้กลายมาเป็นเมนคอร์ส เมื่อสมาชิกในทีมลงความเห็นว่าอยากพูดเรื่อง ‘ผม’ เพราะน่าจะเข้ากับการเรียกร้องเรื่องสิทธิทรงผมที่นักเรียนทั่วประเทศลุกขึ้นมาพูดได้ ระหว่างเสนอ main course ประเด็นนี้ยังพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นเรื่อง hair ที่ไม่ใช่แค่เส้นผม แต่รวมถึงเส้นขนทุกส่วนบนร่างกายของเรา​เพื่อสื่อถึงสิทธิและเสียงในร่างกายของทุกคน 

4.เพราะเรื่องราวของเส้นขนของมนุษย์มีร้อยแปดพันเก้า แถมยังผูกพันกับความเชื่อของคนมายาวนาน โครงเล่ม Hair จึงต้องพัฒนาตลอดการทำเล่ม ตัดเรื่องนี้ออกบ้าง หยิบเรื่องนู้นเพิ่มเข้ามาบ้าง และเพื่อความชัวร์ในตรรกะและข้อมูล ทั้งพี่ๆ a team และน้องๆ ต่างก็ต้องโทรปรึกษากับอาจารย์หลายแขนง เช่น ปรัชญา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ พร้อมๆ การเปิดตำราจากห้องสมุดไปมากกว่าสิบเล่ม

5.จากการรีเสิร์ชและสอบถามข้อมูลกันอย่างหนักหน่วงจนแทบหลั่งน้ำตา อัลกอริทึมในอินเทอร์เน็ตเลยขึ้นโฆษณาตั้งแต่อุปกรณ์ทำผมไปจนถึงคอร์สกำจัดขนให้พวกเราและพี่ๆ a team ตลอดการฝึกงาน

6.อีกขั้นตอนของการทำงานที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับผมและขนของชาวจูเนียร์ 16 ให้คนในทีมฟัง เพื่อสรรหาเรื่องที่น่าสนใจและเพื่อให้ทุกคนคุ้นชินกับการพูดเรื่องขน (โดยเฉพาะในที่ลับ) บอกเลยว่าช่วงแรกๆ แต่ละคนมีความเขินอายกันบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการคุยกันอย่างเปิดเผยจนกลายเป็นการแชร์ประสบการณ์กันอย่างสนุกสนาน

7.ถ้าใครคนหนึ่งบอกว่าคนเราต้องมีครั้งแรกเสมอ บอกได้เลยว่าชาว a team junior 16 มี ‘ครั้งแรก’ จากการทำเล่มเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการได้คุยกับภิกษุณีองค์แรกของไทยผ่านวิดีโอคอล, หนึ่งในสมาชิกเป็นแบบถ่ายภาพนู้ดประกอบในเล่ม, การดูหนังโป๊เพื่อทำภาพประกอบอย่างลับๆ ในร้านกาแฟ แถมยังฟอกและย้อมขนรักแร้​เป็นสีชมพูบานเย็นด้วย!

8.มีเรื่องตลกที่ทำให้ชาวจูเนียร์ก็แทบไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองต้องทำคือ ระหว่างช่วงเวลาปิดเล่มสุดเดือด อยู่ๆ สมาชิกตำแหน่ง visual designer ก็ติดปัญหาการรีทัชรูปภาพขนหน้าแข้งที่ต้องนำมาใช้ในหน้าแรกของ main course วัชรพงศ์ แหล่งหล้า บรรณาธิการศิลปกรรมของ a day จึงให้ กรกช เจียมสง่า หนึ่งในกองบรรณาธิการน้องเล็กของทีมโกนขนหน้าแข้งของตัวเองด้วยการถ่ายรูปใหม่ 

9.ส่วนคนมีประสบการณ์ ‘ครั้งแรก’ แล้วช้ำใจที่สุดน่าจะเป็น ณัฐพล ทองประดู่ หัวหน้ากองบรรณาธิการ เพราะในดราฟต์แรกของปก ชาวจูเนียร์มีไอเดียว่าอยากได้รูปนายแบบย้อมขนรักแร้สีชมพูเพื่อแสดงถึงการมีสิทธิเหนือเส้นขน และหลังจากตกลงกันว่าณัฐพลจะได้เป็นผู้เสียสละย้อมขนรักแร้เพื่อเป็นแบบปก เขาต้องใช้เวลาถึง 2 วันในการแปลงโฉมขนรักแร้ให้เป็นสีชมพูบานเย็นด้วยการกัดสี 1 คืนและใช้เวลาย้อมสีอีก 1 วัน (ที่ณัฐพลบอกว่า “แสบมาก!”) แต่เมื่อชาวอาร์ตได้ใคร่ครวญกันอีกครั้ง ก็พบว่าไอเดียภาพปกที่เป็นขนรักแร้สีชมพูนั้นไม่ได้สะท้อนเมสเซจสำคัญของเล่มเท่าที่ควร จึงถูกปัดตกไป

10.ยังไม่หมด! เพราะหลังจากที่น้องๆ จูเนียร์และพี่ๆ สรุปกันแล้วว่าปกจะเป็นภาพคนชูแขนขึ้นเห็นขนรักแร้ จึงทำให้ สุชานาถ กิตติสุรินทร์ รองบรรณาธิการของชาวจูเนียร์ 16 ปุ๊บปั๊บรับโชค กลายมาเป็นแบบบนปกทันที เบื้องหลังของภาพนี้คือ สุชานาถต้องนอนยกแขนบนเก้าอี้พับนานกว่า 8 ชั่วโมงเพื่อต่อขนรักแร้ให้ยาวจนถักเปียได้  และออกมาเป็นภาพสวยงามบนปกอย่างที่เราเห็น

AUTHOR