A Piece of Islamic Art คู่มือ หนังสือ โปสต์การ์ด ที่เล่าเรื่องศิลปะอิสลามฉบับเข้าใจง่ายและสวยงาม

Highlights

  • A Piece of Islamic Art คือคู่มือการทำความรู้จักศิลปะอิสลามแบบเบื้องต้นและเป็นมิตรที่สุด มาในรูปแบบบอกซ์เซตสีสันสดใส ภายในมีตั้งแต่หนังสือที่ทำหน้าที่อธิบายข้อมูล ไปจนถึงแบบฝึกหัดการขึ้นแม่ลาย
  • “ในฐานะที่เรียนศิลปะมา เคยได้เรียนพวกประวัติศาสตร์ศิลป์ตั้งแต่สมัยมัธยม ได้รู้จักทั้งศิลปะตะวันตก ทั้งของเอเชีย แต่พอตอนที่เราได้เข้าไปคลุกคลีกับศิลปะอิสลาม ก็ทำให้เราได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราถึงไม่เคยได้เรียนเรื่องศิลปะอิสลามมาก่อนเลย จากตรงนั้นเราก็เลยอยากทำทีสิสเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นของศิลปะอิสลาม เพื่อให้ทั้งตัวเราเอง และคนอื่นๆ ได้รู้จักศิลปะอิสลามเพิ่มขึ้น"
  • จากองค์ประกอบสำคัญของศิลปะอิสลามอย่างรูปทรงเลขาคณิต (geometry) ลายพรรณพฤกษา (arabesque) และอักษรประดิษฐ์ (typography) ปริมเลือกตัดทอนรายละเอียดบางส่วนออกเพื่อให้ภาพรวมของดีไซน์ดูเป็นมิตรและเข้าใจง่าย

Portfolio ของ ดนิตา ลอตระกูล (ปริม)
ชั้นปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบสื่อสาร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ชื่อผลงาน A Piece of Islamic Art

เร็วๆ นี้ เราเห็นหนังสือรูปทรงแปลกตาที่บังเอิญผ่านเข้ามาในไทม์ไลน์ เมื่อสังเกตดูดีๆ จึงเห็นเป็นรูปทรงคล้ายประตูซ้อนทับกันหลายชั้น ตกแต่งด้วยลวดลายและคู่สีสดใสสะอาดตา 

What’s Islamic Art? ประตูบานแรกสุดเขียนไว้อย่างนั้น เชิญชวนให้เราเปิดและลองเข้าไปทำความรู้จักกับศิลปะอิสลามมากขึ้นอีกสักนิด

ก่อนอื่น อย่าเพิ่งนึกถึงบรรยากาศเคร่งขรึมตามแบบฉบับสถานที่สำคัญทางศาสนาเพราะ A Piece of Islamic Art คือคู่มือการทำความรู้จักศิลปะอิสลามแบบเบื้องต้นที่สุดและเป็นมิตรที่สุดในรูปแบบบ็อกเซตสีน่ารัก ภายในบรรจุตั้งแต่หนังสือที่ทำหน้าที่อธิบายข้อมูลไปจนถึงแบบฝึกหัดการขึ้นแม่ลาย

“ในความรู้สึกเราเอกลักษณ์ของศิลปะอิสลามคือความไม่สิ้นสุด พอมองแล้วจะรู้สึกมหัศจรรย์ในใจว่าทำไมมันถึงเชื่อมต่อกันไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีจุดสิ้นสุดเลย” นี่คือคำจำกัดความจากเจ้าของผลงานอย่าง ปริม–ดนิตา ลอตระกูล นักศึกษาสาขาออกแบบสื่อสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

เสน่ห์ของศิลปะอิสลามอันไร้ขอบเขต ทั้งในแง่ของลวดลายวิจิตรที่ต่อยอดได้ไม่รู้จบ และความสวยงามที่อยู่เหนือกำแพงศาสนาทำให้นักออกแบบผู้นับถือศาสนาพุทธตั้งแต่เกิดตัดสินใจเลือกศิลปะอิสลามเป็นหัวข้อทีสิสของตัวเองด้วยความตั้งใจที่อยากจะส่งต่อความงามนั้นสู่สายตาของผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ศิลปะอิสลาม Starter Pack 

“ด้วยความที่ศิลปะอิสลามมันลึกมากและมีรายละเอียดเยอะมากเราเลยตัดสินใจเลือกถ่ายทอดเฉพาะเจาะจงไปที่จุดเด่นหรือจุดที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญจริงๆ” ปริมอธิบาย ซึ่งส่วนสำคัญที่ว่านั้นสามารถสกัดออกมาได้เป็น 4 หมวด และถูกนำเสนอผ่านเครื่องมือที่แตกต่างกันไป

1. What is Islamic Art หนังสือภาพประกอบว่าด้วยความเป็นมาของศิลปะอิสลาม ปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ไปจนถึงประเภทลวดลายที่โดดเด่น ใช้เทคนิคการไดคัตกระดาษหลากสีหลายไซส์ให้เป็นรูปประตูครึ่งบาน วางซ้อนกันถึง 4 ชั้นตามจำนวนเนื้อหา ซึ่งเมื่อเปิดอ่านก็จะพบกับความสวยงามของลวดลายแบบเต็มๆ

2. A Journey to Find Paradise ด้วยความที่ลวดลายส่วนใหญ่ในศิลปะอิสลามมักมีความหมายสื่อถึงสรวงสวรรค์ ปริมจึงเชื่อมโยงแนวคิดนี้เข้ากับสถานที่สำคัญในโลกมุสลิมจำนวน 6 แห่ง และใช้โปสต์การ์ดเป็นตัวกลางเพื่อพาทุกคนออกเดินทางไปทำความรู้จักกับสวรรค์ทั้ง 6 แบบของศาสนาอิสลาม

3. Islamic Geometry นอกจากจะรู้จักและเข้าใจศิลปะอิสลาม ปริมยังตั้งใจชวนให้ทุกคนได้ลองสร้างศิลปะอิสลามด้วยตัวเองผ่านแบบฝึกหัดการขึ้นแม่ลายเบื้องต้นชนิด step by step ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นว่า ลวดลายแต่ละแบบนั้นเริ่มต้นจากตรงไหน เชื่อมต่อไปยังจุดไหน แล้วทำไมมันจึงเป็นลวดลายที่ต่อยอดไปได้อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด 

4. Islamic Paper Folding สำหรับใครที่ไม่ถนัดวาดเขียนก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะภายในเซตนี้มีสอนการพับกระดาษตามลวดลายของศิลปะอิสลาม และเพื่อความสะดวกในการพับตาม ปริมเลือกใช้คลิปวิดีโอสตอปโมชั่นอธิบายขั้นตอนการพับโดยละเอียด

ในฐานะที่โปรเจกต์นี้เป็นการทำงานร่วมกับสถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการปริมจึงตั้งใจออกแบบให้ทั้งหมดบรรจุอยู่ในกล่องบอกซ์เซตด้วย “เราเห็นว่าทางสถาบันฯ มักจะได้ไปออกอีเวนต์หรือจัดเวิร์กช็อปเพื่อนำเสนอเกี่ยวกับศิลปะอิสลามเราก็เลยตั้งใจดีไซน์เป็นกล่องเพื่อให้เขาสามารถนำไปใช้ได้จริง”

 

ศิลปะอิสลามอยู่ตรงไหนในโลกศิลปะ

“เริ่มสนใจศิลปะอิสลามตั้งแต่ตอนไหน” เราชวนเธอย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น

“ตอนเรียนปี 2 เราบังเอิญได้อ่านบทความว่าด้วยศิลปะอิสลามในมัสยิด ซึ่งเราชอบมาก อยากไปดูด้วยตาตัวเอง แต่ด้วยความที่เราเป็นคนพุทธมันก็มีความกังวลอยู่ว่าเราจะเข้าไปได้ไหม สุดท้ายก็เลยยังไม่ได้ไปสักที”

เวลาผ่านไปร่วมปี การบ้านในวิชาถ่ายภาพตอนปี 3 ทำให้ปริมตัดสินใจไปเยือนย่านมุสลิมเป็นครั้งแรกและได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ งดงามของลวดลายที่เชื่อมต่อกันอย่างไม่รู้จบ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเสนอหัวข้อทีสิสในปีสุดท้ายของชีวิตนักศึกษาเธอจึงไม่ลังเลที่จะเลือกศิลปะอิสลามเป็นอันดับแรก

“ในฐานะที่เรียนศิลปะมา เคยได้เรียนเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ตั้งแต่สมัยมัธยม ได้รู้จักทั้งศิลปะตะวันตกและศิลปะของเอเชีย แต่พอได้เข้าไปคลุกคลีกับศิลปะอิสลาม มันทำให้เราได้ฉุกคิดขึ้นมาว่าทำไมเราถึงไม่เคยได้เรียนเรื่องศิลปะอิสลามมาก่อนเลย จากตรงนั้นเราก็เลยอยากลองทำทีสิสเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นของศิลปะอิสลาม เพื่อให้ทั้งตัวเราเองและคนอื่นๆ ได้รู้จักศิลปะอิสลามเพิ่มขึ้น”

 

ศิลปะอิสลามและการค้นคว้า

แม้สโคปของงานคือการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศิลปะอิสลาม แต่ในขั้นตอนการค้นคว้าข้อมูลเธอต้องศึกษาลงลึกเกินคำว่าเบื้องต้นไปมากทีเดียว 

“อย่างแรกที่เราเจอคือข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับศิลปะอิสลามมีน้อยมากๆ ทั้งในเว็บไซต์และในหนังสือ และส่วนมากจะเป็นบทความภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เราเลยตัดสินใจที่จะติดต่อไปที่สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งน่าจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือที่สุด”

ที่สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย ปริมได้ความช่วยเหลือจากอาจารย์วรพจน์ ไวยเวทา รวมถึงบุคลากรอีกหลายคน ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ต้องเข้า-ออกสถาบันฯ อยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ขั้นตอนการขอข้อมูล ขอคำแนะนำ ไปจนถึงการทดลองนำเวิร์กช็อปพับกระดาษไปใช้สอนจริง ทั้งหมดนี้เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลทั้งหมดถูกต้องจริงๆ เพราะปริมเองก็รู้ดีว่าศิลปะที่ผูกโยงกับศาสนานั้นย่อมละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ

“เอาเข้าจริงข้อมูลบางส่วนก็ไม่ได้ปรากฏในฐานะตัวหนังสือเพราะความรู้เรื่องศิลปะอิสลามมีรายละเอียดเยอะมาก ดังนั้นข้อมูลที่ปรากฏก็จะมีแค่เรื่องที่เป็นแก่นสำคัญ ส่วนจุดไหนที่เอาข้อมูลมาใส่เต็มๆ ไม่ได้ เราก็อาจจะใช้การสื่อสารผ่านภาพประกอบแทน” ปริมเสริม

 

ศิลปะอิสลามฉบับประยุกต์

จากองค์ประกอบสำคัญของศิลปะอิสลามอย่างรูปทรงเลขาคณิต (geometry) ลายพรรณพฤกษา (arabesque) และอักษรประดิษฐ์ (typography) ปริมเลือกตัดทอนรายละเอียดบางส่วนออกเพื่อให้ภาพรวมของดีไซน์ดูเป็นมิตรและเข้าใจง่าย

“เราคิดว่าศิลปะอิสลามอาจจะดูเข้าใจยากและเข้าถึงยากสำหรับคนนอกศาสนา เราก็เลยตั้งใจออกแบบให้เรียนรู้ได้ง่ายมากขึ้น อาศัยภาพประกอบและการจัดวางช่วยเพื่อให้เข้าใจง่ายที่สุด มีการตัดทอนและทิ้งสเปซ เพื่อให้งานมันดูไม่น่าเบื่อจนเกินไป” แต่การนำดีไซน์สมัยใหม่มาเจอกับศิลปะในศาสนาที่มีรากฐานยาวนาน นอกจากจะท้าทายแล้วก็ทำให้ปริมรู้สึกกังวลในช่วงแรก

“ตอนแรกเราไม่กล้าดีไซน์มากเท่าไหร่ด้วยความที่มันเกี่ยวข้องกับศาสนา แต่พอเราได้ไปคุยกับอาจารย์ที่สถาบันฯ ปรากฏว่าเขาให้อิสระกับงานของเราเยอะมากเลย 

“เขาอธิบายให้เราฟังว่าศิลปะอิสลามมีองค์ประกอบในการออกแบบที่สำคัญคือเราต้องเชื่อมั่นศรัทธาในหลักคิดของศาสนา และผลงานก็ควรตั้งอยู่ในบรรทัดฐานศาสนา แต่นอกเหนือจากนั้น ถ้าเรามีเจตนาที่ดี เราจะทำอะไรก็ได้” ปริมอธิบายถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยปลดล็อกในแง่การทำงานและทำให้เธอมีความกล้ามากขึ้น

“อะไรคือหลักคิดของศาสนาที่แฝงอยู่ในงานศิลปะ” เราถามต่อ

“ความเป็นเอกภาพของทุกสิ่งหรือที่เรียกว่า Tawhid ซึ่งมันอยู่ทั้งในศิลปะ วิถีชีวิต พิธีกรรม ไปจนถึงความเชื่อมั่นที่คนมุสลิมมีต่อศาสนาเลย เรื่องนี้มันถูกพูดถึงทุกสิ่งจริงๆ แต่ในพาร์ตของงานศิลปะ คือไม่ว่าจะเป็นเชปหรือฟอร์มต่างๆ เมื่อมาประกอบกันเป็นลวดลายสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” 

 

ศิลปะอิสลาม เพื่อคนอิสลาม

“นอกเหนือจากสกิลการออกแบบหรือขั้นตอนการรีเสิร์ชแล้ว สิ่งสำคัญที่เราได้รับจากงานนี้คือการที่เราได้ไปทำงานกับผู้คนภายนอกและปฏิสัมพันธ์กับเขาจริงๆ” 

แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบโดยตรงแต่ปริมเล่าต่อว่าการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนนั้นมีส่วนอย่างมากในฐานะการเป็นนักออกแบบที่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักเรียนดีไซน์อย่างเธอ

“การปฏิสัมพันธ์กับคนสำคัญมาก เพราะตัวนักออกแบบเองก่อนที่จะทำงานเราต้องหาคำตอบให้ได้ว่าความต้องการของผู้ใช้งานคืออะไร ซึ่งถ้าเรามีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดีหรือไม่เข้าใจเขาเราก็อาจจะทำงานที่ไม่ตอบโจทย์กับเขา

“ก่อนที่จะมาทำงานนี้ เราก็ทำแค่งานออกแบบโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานมากขนาดนั้นเพราะส่วนใหญ่ก็เป็นแค่โจทย์ที่เอาไว้ทำงานส่งอาจารย์ที่มหาลัย แต่นี่คืองานแรกที่เราทำงานเพื่อองค์กรจริงๆ เราได้เข้าไปคุย ไปอยู่กับเขา ทำให้เราได้รู้ว่าหลังจากนี้ถ้าเราจะไปเป็นนักออกแบบ เราก็ต้องรู้จักทำงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของเขาจริงๆ”

ก่อนจะจบบทสนทนา ปริมทิ้งท้ายกับเราถึงความตั้งใจสูงสุดที่ทำให้เธอลงมือศึกษาและปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในเรื่องศิลปะอิสลามจนออกมาเป็นโปรเจกต์ A Piece of Islamic Art ที่เราเห็น 

“ศิลปะคือสิ่งที่เยียวยาจิตใจผู้คน มันก็น่าเสียดายถ้าเราจะไม่ทำความรู้จักและส่งต่อความรู้เหล่านี้เพราะมันอาจจะทำให้ความสวยงามเหล่านี้ต้องเลือนหายไปในที่สุด”

AUTHOR