วันที่มี ‘แหวนมั่น’ ใส่ที่นิ้วนางข้างซ้ายอีกครั้ง

“แต่งงานแล้ว ทำไมไม่เห็นใส่แหวน” มีเพื่อนคนหนึ่งตั้งคำถาม (ที่ไม่ต้องการคำตอบ)

ได้แต่ยิ้มกลับไปให้ แทนคำตอบที่มีอยู่ในใจ

ไม่ใช่เพราะ…ไม่ชอบใส่แหวน

ไม่ใช่เพราะ…ไม่อยากป่าวประกาศว่าไม่โสดแล้ว

แต่แค่…ไม่ชอบแหวน

 

“ควรเป็นแหวนเพชรนะ”

“เอาเพชรเม็ดโตๆ เลือกน้ำดีๆ เกรด D color ไปเลยจะได้เพชรเม็ดใสๆ”

“เลือกเม็ดที่มี certificate จาก GIA ด้วย” 

“ทำตัวเรือนแบบมีเพชรเม็ดใหญ่เม็ดนึงและเม็ดเล็กๆเรียงเป็นบ่า เพราะมันช่วยขับให้เพชรเม็ดหลักดูใหญ่และสวยกว่าแหวนแบบเพชรเม็ดเดียว”

3 ปีที่แล้ว แหวนเพชรเกรด D มีใบการันตีจาก GIA ที่ราคาอยู่ในงบประมาณ พร้อมเพชรเม็ดเล็กเรียงเป็นบ่าก็ถูกเลือกมา 1 วงตามแบบที่เจ้าสาวส่วนใหญ่ชอบเลือกกัน เพื่อใช้เป็นแหวนวงที่เจ้าบ่าวสวมให้ที่นิ้วนางข้างซ้ายหมั้นหมายเจ้าสาวในพิธีสู่ขอและพิธีหมั้น ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นพิธี แหวนหมั้นที่มีเพชรส่งแสงแวววาวตอนกระทบแสงวงที่เจ้าบ่าวสวมให้วงนั้นก็ถูกเจ้าสาวคนนี้เก็บเข้ากล่อง ไม่ได้หยิบออกมาใส่โดนแสงให้ส่งประกายในชีวิตประจำวันอีกเลย 

แค่เพียงเหตุผลว่าไม่ชอบแหวนวงนั้นที่เลือกตามคนอื่นๆ เลือกกัน ทำให้หลังแต่งงานมา ไม่มีแหวนใส่ที่นิ้วนางข้างซ้ายเลย จนเพิ่งได้กลับมาใส่แหวนอีกครั้ง เป็นแหวนวงใหม่ที่ไม่ได้ซื้อ แต่ได้มาจากคอร์สเรียนทำแหวนคู่แบบวันเดียวเสร็จที่สามารถเลือกวัสดุ ออกแบบ และลงมือทำตามที่ตัวเองต้องการได้

ทองถูกเตรียมไว้ให้เพื่อทำแหวนทองเกลี้ยง 2 วง พร้อมด้วยอัลลอยสำหรับผสมเพื่อให้สีทองไม่ออกเหลืองอร่ามจนเกินไป เริ่มต้นด้วยการนำทองและอัลลอยมาหล่อรวมให้เป็นของเหลวเนื้อเดียวกัน ที่ต้องใช้ความร้อนสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้เห็นภาพการเปรียบเปรยที่ว่าการแต่งงานคือการเป็นทองแผ่นเดียวกันอย่างชัดเจนมาก เพราะการแต่งงานก็เริ่มต้นจากคน 2 คน ที่เป็นเหมือนวัสดุคนละชนิด ด้วยเติบโตและมาจากคนละที่ กว่าจะเข้ากันได้ ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีทั้งช่วงเวลาที่มีแต่รอยยิ้มฟุ้งไปทั่ว และช่วงเวลาที่ท่วมไปด้วยน้ำตา  แต่การผ่านทุกช่วงเวลาคือการผ่านเตาหลอมให้คน 2 คน กลายเป็นปึกแผ่นเดียวกัน

จากทองสีเหลืองกลมๆ แบนๆ 1 เม็ด ขนาดใหญ่กว่าเหรียญบาทนิดหน่อย และอัลลอยสีเงินวาวขนาดประมาณเท่าเม็ดสาคูอีก 16 – 17 เม็ด เมื่อโดนความร้อนก็หลอมรวมกันกลายเป็นของเหลวสีทองซีดๆ นำไปเทลงแม่พิมพ์ เมื่อทิ้งให้เย็นตัวลงก็เปลี่ยนเป็นแท่งโลหะสีเทาๆ ดำๆ เพราะมีเขม่าจับอยู่ ซึ่งหากไม่ได้หลอมเองกับมือคงไม่เชื่อว่ามันคือแท่งที่ทำจากทองจริงๆ

หลังจากนั้นนำแท่งทองที่มีรูปร่างเหมือนเหล็กเส้นที่ใช้ก่อสร้างมาตัดแบ่งเป็น 2 ส่วนเพื่อทำเป็นแหวน 2 วง ซึ่งการตัดออกเป็น 2 ส่วนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องสลับกันออกแรงเลื่อยเกือบครึ่งชั่วโมงเพื่อให้ 2 ส่วนแยกออกจากกัน เพราะวัสดุแข็งมาก เมื่อตัดแบ่งเป็น 2 ชิ้นได้แล้ว ต้องดัดปลายแต่ละด้านให้โค้งจนมาชนกัน กว่าจะดัดให้เป็นวงได้ต้องนำไฟมาลนหลายต่อหลายครั้ง เพราะทุกครั้งที่โดนความร้อน แท่งทองจะอ่อนตัวลง ดัด เคาะ ทุบ ตีได้ง่ายขึ้น จนแท่งตรงก็เริ่มกลายเป็นแท่งโค้ง แต่ยังคงบูดเบี้ยวอยู่ และความร้อนยังเป็นตัวเชื่อมให้ปลายของแหวนหลอมชนกันจนไม่เห็นรอยต่อ

แล้วในที่สุดแหวนก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างหลังถูกตะไบจนพื้นผิวแหวนเรียบเนียน และสีเขม่าเทาดำถูกขัดออกจนเห็นเป็นแหวนทองสีซีดๆ

แม้จะทำแหวนเองจนเสร็จเป็นวงแล้ว แต่แหวนที่ได้มานั้นก็ไม่ได้สวยสมบูรณ์แบบเหมือนแหวนเพชรวงที่เคยเลือกตามคนอื่นๆ จากร้านเพชรร้านทอง และยังเป็นวงที่มีทั้งส่วนบิดเบี้ยว มีส่วนหนาบ้าง บางบ้าง ไม่เท่ากัน แหวนที่ดูไม่มีมูลค่าเพราะไม่มีอัญมณีที่มีค่าประดับอย่างเพชร และบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเป็นแหวนทองกี่เปอร์เซ็นต์ แต่กลับเป็นแหวนวงที่ถูกใจที่สุด

ตลอด 7 – 8 ชั่วโมงที่ตั้งใจเรียนและลงแรงทำแหวนครั้งนี้ ไม่ได้เรียนรู้แค่วิธีทำแหวนจนเสร็จแล้วมีแหวนที่ถูกใจใส่ที่นิ้วนางข้างซ้ายกลับบ้านทั้ง 2 คน แต่กลับได้เรียนรู้ความหมายของแหวน ที่ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์แทนใจของคนมีคู่ แต่ยังเป็น แหวน ‘มั่น’ แทนความมั่นใจและมั่นคงของความสัมพันธ์ ที่ยิ่งผ่านอุปสรรคสาหัสมากแค่ไหน ยิ่งเพิ่มความแข็งแรงแน่นแฟ้นให้ความสัมพันธ์มากขึ้น เหมือนแหวนที่ยิ่งหลอม ยิ่งผ่านความร้อน ก็ยิ่งแข็ง ยิ่งแกร่ง ทั้งยังได้เรียนรู้ที่จะยกเลิกความพยายาม จะดัด จะเปลี่ยนแปลงชีวิตคู่ของตัวเองให้สวยสมบูรณ์แบบเหมือนคู่อื่น ไม่ต่างกับตอนที่พยายามเลือกแหวนเพชรให้สวยไม่แพ้แหวนที่เจ้าสาวคนอื่นๆใส่กัน

เพราะท้ายที่สุดแล้ว แหวนเพชรแวววาวสวยสมบูรณ์ก็ไม่ได้ถูกเลือกมาใส่ แต่เป็นแหวนทองเกลี้ยงเบี้ยวๆ ทำเองต่างหากที่ถูกเลือก เพราะการแต่งงานทำให้เข้าใจเส้นทางการใช้ชีวิตคู่มากขึ้นว่า มีทั้งช่วงที่โรยด้วยกลีบ และบางช่วงที่โรยด้วยหนามกุหลาบ แม้แหวนวงที่ทำเองจะไม่ได้สวยและมีมูลค่าเหมือนแหวนวงที่ใช้หมั้นหมาย แต่ก็เป็น แหวน ‘มั่น’  ที่มั่นใจในคู่ชีวิต คนที่พร้อมร่วมทุกข์ ร่วมสุข ไปด้วยกัน 

 

“แต่งงานตั้งนานแล้ว ทำไมเพิ่งเห็นใส่แหวน” เพื่อนคนเดิมตั้งคำถาม (ที่คงยังไม่ต้องการคำตอบ)

เหมือนเดิม…ได้แต่ยิ้มกลับไปให้ แทนคำตอบที่มีอยู่ในใจ

ไม่ใช่เพราะ…เพิ่งชอบใส่แหวน

ไม่ใช่เพราะ…อยากป่าวประกาศว่ามีคู่แล้ว

แต่แค่…ทุกวันที่มีแหวน (ที่เพิ่งทำเองกับมือมา) ใส่ที่นิ้วนางข้างซ้าย คือทุกวันที่อุ่นใจว่าฉันไม่ได้อยู่คนเดียวเพื่อพบความสุขและเจออุปสรรคตามลำพัง

AUTHOR