เมื่อปวดร้าว ไม่สมหวัง หรือเหน็ดเหนื่อย การฟังบทเพลงที่โปรดปรานคือหนทางหนึ่งในการปลอบประโลมใจที่ได้ผลที่สุด
หลังจากรวบรวมหลากเพลย์ลิสต์จาก a team และคนหลายวงการ เราก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่าคนทำงานวิชาการเขามีเพื่อนสนิทเป็นบทเพลงไหนกัน นั่นจึงทำให้เราติดต่อสอบถามนักวิชาการและอาจารย์ที่รู้จักถึงเพลงที่ชอบของแต่ละคน
นี่คือเพลย์ลิสต์รวบรวมเพลงโปรดของคนทำงานสายวิชาการจำนวน 8 คน แน่นอนว่านอกจากความไพเราะของบทเพลงที่ทำให้เราอยากตามไปฟังต่อแล้ว เหตุผลเบื้องหลังความชื่นชอบนั้นล้วนผูกพันกับเรื่องราว ประสบการณ์ และความสนใจอื่นๆ ด้วย
ถ้าอยากรู้ว่ามีเพลงอะไรบ้าง เราชวนให้คุณเพิ่ม volume ขึ้นอีกหน่อยแล้วเปิดเพลงคลอไปด้วยกัน
ถนอม ชาภักดี
ศิลปิน นักวิจารณ์ศิลปะ และอาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
Dance Me to the End of Love – Leonard Cohen
“ชอบฟอร์มของเพลงที่เหมือนกับเราอยู่ในพื้นที่การแสดงและมองดูชีวิตที่ร่ายรำของมนุษย์ ซึ่งที่สุดแล้วมันก็มีวันเลิกราแต่ขอให้ฉันได้เห็นเธอร่าเริงและร่ายรำไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจนกว่าความรักจะร่วงโรย ท่วงทำนองที่เนิบช้าแต่ขืนขัดกับเวลาที่เร่งรีบ เหมือนกับการถูกล็อกดาวน์แต่หัวใจยังโบยบินร่ายรำและแม้รู้ว่าจะมีวันที่จางหาย เสียงของโคเฮนเป็นเสียงแหบที่มีมนตร์เสน่ห์ เหมือนเสียงบ่นระคนกับกวีนิพนธ์”
ธนสักก์ เจนมานะ
นักวิจัยและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Talking at the Same Time – Tom Waits
“เพลงเกือบทั้งหมดของ Tom Waits ถูกขับร้องด้วยเสียงคำรามแหบๆ ต่ำๆ อันเป็นเอกลักษณ์ แต่เพลงบัลลาดเพลงนี้เขาตัดสินใจร้องด้วยเสียง falsetto สมมติตนเป็นคนหนุ่มที่ก่นด่าชีวิตในยุคเศรษฐกิจห่วยแตกอย่างสง่างาม”
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในประเทศฟินแลนด์
Unexpected – Stoondio
“เมื่อครูถูกคาดหวังให้เป็นผู้จัดการศึกษาผ่านสื่อใหม่ๆ มากมายภายใต้เวลาอันจำกัด ต้องรีบเรียนรู้และจัดการด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด
เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเริ่มเรียนไปพร้อมกับลูกๆ เด็กๆ ที่บ้าน แต่ยังมีงานที่ต้องทำ จะเลือกสักทางก็ไม่ได้ ทำสองอย่างพร้อมกันก็แทบจะเป็นไปได้ยาก
เมื่อเด็กๆ ถูกจับมานั่งอยู่หน้าจอประเภทต่างๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง สลับกับการทำแบบฝึกหัดและกิจกรรมด้วยตัวเอง ต้องพึ่งพาการจัดการตนเองที่สูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต เด็กบางคนเพิ่งมีเปิดเทอมครั้งแรกก็ต้องมาเจอสถานการณ์นี้ ต้องปรับตัวเข้ากับชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่ แล้วยังเจอชีวิตการเรียนที่แตกต่างออกไปอีก
ทุกฝ่ายพยายามเต็มที่เพื่อเดินทางผ่าน ‘ความมืดมัวอันไม่เป็นดังใจ’ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าวันพรุ่งนี้หรืออีก 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นยังไง ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง อาจตกอยู่ในภาวะที่ทำ ‘รอยยิ้มหล่นหาย’ ระหว่างทางบ้าง อยากบอกว่าธรรมดาที่สุดเลย นี่คือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ เราทำเต็มที่มากขึ้น แต่คาดหวังความสมบูรณ์แบบจากทุกคนให้น้อยลง
การแบ่งปันกำลังใจและความเอื้ออาทรให้กันจำเป็นเหลือเกิน
และการเดินทางครั้งนี้อาจพาหลายคนไปพบกับความหมายของการเรียนรู้ในแบบของตนเอง ว่าสุดท้ายแล้วความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง”
ประจักษ์ ก้องกีรติ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
In a Sentimental Mood – John Coltrane
“ชอบเพลงนี้เพราะมันเพราะแบบเหงาๆ มีอารมณ์ห่วงหาอาวรณ์ ฟังครั้งแรกตอนต้องอยู่คนเดียวช่วงหน้าหนาวที่ติดลบ 20 องศาสมัยไปเรียนต่อที่อเมริกา เลยนึกถึงเพลงนี้อยู่บ่อยๆ”
วริตตา ศรีรัตนา
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Us (Feat. ROCKY RIVERA, KLASSY & FAITH SANTILLA) – RUBY IBARRA
“เพลงนี้เป็นเพลงฮิปฮอปที่เนื้อร้องมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาตากาล็อก เนื้อหาของเพลงคือปลุกใจสตรีชาวฟิลิปปินส์ที่ปกติถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดขี่ และถูกตราหน้าว่าไร้ค่า ให้ภาคภูมิใจในความเป็นหญิงแกร่งแล้วร่วมลุกขึ้นสู้เพื่อขับไล่ ‘บรรดาหมูที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’
“ชอบเพราะเพลงนี้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งดูเตร์เตและอาคีโน หลายครั้งพวกฝ่ายซ้ายมักจะมองระบอบดูเตร์เตว่าตอบโจทย์ความเป็น ‘รากหญ้า’ แต่มักจะลืมว่ายังมีคนที่ถูกกดทับภายใต้คำว่า ‘รากหญ้า’ อยู่หลายทอดหลายระดับ นี่คือปัญหาที่ฝ่ายซ้ายยังแก้ไม่ได้
“ส่วนชาวไทยเวลาพูดถึงผู้หญิงฟิลิปปินส์สิ่งที่เดียวที่รู้จักคือนางงามหรือครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียน ประวัติศาสตร์อะไรไม่สนใจ ประเทศอยู่ใกล้กันนิดเดียวแต่ไม่รู้เรื่องการต่อสู้ทางการเมือง (ที่ผู้หญิงมีส่วนสำคัญมาหลายศตวรรษ) ส่วนสังคมฟิลิปปินส์ก็มักมองว่าผู้หญิงจะต้องออกมาพิมพ์เดียวกับมาเรีย คลารา ซึ่งเป็นตัวละครจากงานเขียนโดยวีรบุรุษของชาติเขา เป็นตัวละครที่เคร่งศาสนา ยินดีอยู่ภายใต้ระบอบชายเป็นใหญ่ ไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้
“Us เป็นเพลงแรกที่เปิดทุกเช้าเพื่อปลุกใจก่อนเริ่มทำงานมาพักใหญ่แล้ว เลือกเพลงนี้เพราะภูมิใจที่เกิดเป็นผู้หญิงและถือสัญชาติไทย-ฟิลิปปินส์ สายเลือดฟิลิปปินส์ฝั่งครอบครัวยายขึ้นชื่อว่าเป็นครอบครัวที่สตรีเป็นใหญ่ ตัวเราสืบเชื้อสายจากตระกูลที่มีแต่ผู้หญิงที่เข้มแข็ง ฝั่งไทย-จีนของย่าก็ใช่ย่อย ย่าและยายอายุยืนมาก ยายอายุจะครบหนึ่งศตวรรษแล้ว ผ่านสงครามโลก ผ่านการทนเฝ้ามองบ้านเมืองตัวเองถูกเผาทำลายโดยทหารญี่ปุ่นและอเมริกัน ยายยังเล่าให้ฟังว่าเมื่อเกิดสงครามแต่ละครั้ง พ่อของยายจะให้ผู้หญิงที่บ้านรีบหนีไปก่อนปิดบ้านเสียอีก เพราะถ้าถูกจับเมื่อไหร่ก็ถูกข่มขืนแน่นอน ยายหรือที่เราเรียกว่า ‘โลลา’ คนนี้ยังตามอ่านงานวิชาการของเราทุกชิ้นที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แถมความเป็นอดีตครูใหญ่ของโรงเรียนชนบทอะนะ ก็มิวายให้ฟีดแบ็กด้วย พูดได้เลยว่าทุกวันนี้เวลาเขียนงานวิชาการจะคิดถึงยายเป็นผู้อ่านหลัก
“เป็นเฟมินิสต์ที่เบื่อเวลาฟังเพลงแรปกับฮิปฮอป (เป็นแฟนเพลงแนวนี้) แล้วมักเจอนักร้องที่ร้องเพลงที่มีเนื้อหาเหยียดเพศ บรรยายผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศไร้สมอง เป็นสินค้าให้ช่วงชิง เป็นของประดับให้สะสม เบื่อเวลาเจอพวก ‘เบียว’ แอนตี้เฟม คิดว่าตนคูลที่เหยียดเพศ เคยท้าให้มาหาเพื่อมานั่งคุยแต่ก็ไม่มีใครกล้าสักที ติดตามศิลปินชาวฟิลิปปินส์กลุ่มนี้มานานพอสมควร พอฟังเพลงนี้ครั้งแรกก็โดนเลย ขอแบ่งปันให้ทุกท่านได้ฟังกัน แต่ฟังอย่างเดียวไม่พอ ขอให้ดูมิวสิกวิดีโอด้วย ทำดีมาก
“ท่อนที่ชอบมาก เพราะคล้องจองและความหมายดีคือ “At ang tapang ko gaya ng inay, at halimaw na ang sumasabay” แปลแบบเพื่ออรรถรสและเสียงคล้องจองว่า “ความหาญกล้าฉันมาจากแม่ และแน่แท้จากผีปีศาจ”
คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
นักวิจารณ์ภาพยนตร์และอาจารย์พิเศษด้านภาพยนตร์
eight (feat. SUGA of BTS) – IU
“เป็นเพลงที่ฟังบ่อยมากในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มันมีความขัดแย้งในตัวเองสูงมาก คือทำนองสดใสน่ารัก เอ็มวีก็เป็นแอนิเมชั่น แต่พอรู้แบ็กกราวนด์ก็จะรู้ว่าเพลงมันเศร้ามาก เพราะไอยูพูดถึงเพื่อนๆ ของเธอที่ตายจากไป (ด้วยการฆ่าตัวตาย) ทั้งจงฮยอนวง SHINee และซอลลี่ อดีตวง f(x)
เพลงนี้เป็นเพลง ‘ซีรีส์อายุ’ ของไอยู ตอนอายุ 23 เธอทำเพลง Twenty-three ว่าด้วยการโตเป็นสาว อายุ 25 ออกเพลง Palette พูดถึงตัวเองที่มีวุฒิภาวะมากขึ้น ส่วนเพลง eight เป็นการสะท้อนชีวิตของเธอตอนอายุ 28 (นับแบบเกาหลี) เป็นปีที่มีแต่ความสูญเสีย
อย่างไรก็ดี เนื้อหาในมิวสิกวิดีโอจะเป็นไอยูกดบันทึกความทรงจำของตัวเอง และตอนท้ายๆ ของเพลงเธอจะร้องว่า “แม้ว่านี่จะเป็นฝันร้าย ฉันก็ไม่อยากตื่นเลย” มันก็เป็นคำตอบว่าทำไมคนเราถึงหมกมุ่นกับความสูญเสีย การเลิกรา หรือความตาย แม้ว่ามันจะเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม”
ภาวิน มาลัยวงศ์
อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไกลเท่าเดิม – ไฮดรา
“เราโตมาในยุค 90s ตอนนั้นชื่นชมดนตรีที่แปลกใหม่ของวงไฮดรา ชอบฟังแล้วก็ร้องตามได้เกือบทุกเพลงในอัลบั้ม ‘อัศเจรีย์’ ถึงตอนนี้ก็ยังเข้าไปฟังในยูทูบเสมอ สถานการณ์ปัจจุบันทำให้นึกถึงเพลง ไกลเท่าเดิม มากเป็นพิเศษ เพราะต้องอยู่ห่างกับครอบครัวที่ต่างจังหวัดและไม่ได้เจอกับเพื่อนนานเลย จนผ่านมาหลายเดือนแล้วเราก็ยังรักษาระยะห่างทางสังคมกันต่อไป บางครั้งอดคิดทบทวนไม่ได้ว่า เราเว้นทางเดินเผื่อใคร
วิกฤตโควิด-19 ทำให้พบเจอ new normal หลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น วิธีการรับมือแก้ไขบางสถานการณ์ก็ชวนให้ใส่เครื่องหมาย !!!!!!!!! ยาวไปด้วยความอัศจรรย์ใจอย่างไม่รู้สิ้นสุด พอสังคมตั้งคำถามก็ได้คำตอบไม่ชัดเจน วกไปวนมา จนเหนื่อยใจไม่อยากทวงถาม ได้แต่หวังว่าจะสามารถมองหาสิ่งใหม่เจอก่อนจะสาย เป็นเพลงที่แนะนำให้ฟังเลย ท่วงทำนองเศร้าๆ ช่วยเยียวยาอารมณ์ได้ดี”
ธีระพล อันมัย
อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Comfortably Numb – Pink Floyd
“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผมฟังเพลงนี้บ่อยที่สุด ฟังทีไรก็รู้สึกพรึงเพริด โบยบินและเคว้งคว้างไปตามเสียงเพลงที่ Pink Floyd เรียบเรียงอย่างหยดย้อย
บทเพลงเริ่มต้นด้วยเสียงดนตรีและเสียงร้องอันหลอนและเยียบเย็นของ Roger Waters (คนเขียนคำร้อง) ในบทคุณหมอ ขณะที่เมโลดี้ของเพลงก็โอบอุ้มความขุ่นมัวของเสียงร้อง
จนกระทั่งเข้าสู่ท่อนร้องที่สองที่ David Gilmour (คนเขียนทำนอง) เพลงกลับมีพลังด้วยเมโลดี้ที่พวยพุ่งไต่ระดับสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ชอบโซโลกีตาร์ของเดวิด กิลมอร์ ในเพลงนี้ ขณะเดียวกันก็รู้สึกหม่นหมองกับคำร้องที่เหมือนตัดพ้อต่อชะตากรรมที่คนไข้พยายามสื่อสารกับหมอแต่ไม่สำเร็จ ประมาณว่าพูดแต่ไม่มีเสียง ฟังแต่ไม่ได้ยิน
บางทีคนเราอาจเจ็บป่วยเพราะความฝันวัยเยาว์มันป่นสลาย บางทีความเจ็บปวดข้างในก็ไม่สามารถอธิบายให้ใครเข้าใจได้ อย่าว่าแต่หมอเลย บางทีตัวเราเองก็บอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร
ในยามหม่นหมอง เพลงนี้ขยี้ซ้ำความหมองเศร้า ในยามเงียบเหงา เพลงนี้ปลดปล่อยเราด้วยความหนักหน่วงและว่างโหวง โซโลกีตาร์ท่อนจบโหยเศร้าเอาถึงตาย
ในยามคิดอะไรไม่ออก ผมต้องเอาเพลงนี้มาฟังแล้วแหกปากร้องตามสุดเสียง บางทีก็บอกไม่ได้ว่าทำไม”