Queer Playlist : 7 ศิลปินเควียร์และผลงานของพวกเขาที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก

ท่ามกลางเพลงรักระหว่างเธอและเขาที่เกลื่อนกลาดชาร์ตเพลงทั่วทุกสารทิศ เหล่าศิลปินยุคใหม่ผู้ไม่จำกัดตัวเองอยู่ในกรอบของหญิงหรือชายแบบทวิลักษณ์ (non-binary) กำลังช่วยกันสร้างปรากฏการณ์ในวงการดนตรีผ่านผลงานเพลงที่บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า เขารักเขา เธอรักเธอ และสมการอื่นๆ อีกมากมายเกินจะไล่เรียงได้หมด queer music

ต่อไปนี้คือ 7 ศิลปินเควียร์และผลงานที่ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักและยอมรับในกลุ่มนักฟังเพลงทั่วโลก-ไม่ว่าจะเควียร์หรือไม่เควียร์ก็ตาม


01 Kehlani – Honey

เมื่อขึ้นไปรับรางวัล Rule Breaker Award บนเวที Billboard Women in Music 2017 นักร้องสาวผิวสีน้ำผึ้งอย่าง Kehlani ได้กล่าวสุนทรพจน์ไว้ว่า “การเป็นที่ยอมรับจากการแหกกฎในแง่บวกเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับฉัน เพราะตลอดอาชีพศิลปินของฉัน ฉันเปิดเผยเรื่องนี้มากๆ ฉันห้ามตัวเองไม่ได้จริงๆ ฉันต้องพูดมันออกมา”

‘การแหกกฎ’ ที่นักร้องวัย 22 ปีพูดถึงคือการครวญเพลงเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง อย่างในเพลง Honey ซึ่งมีท่อนหนึ่งร้องว่า

All the pretty girls in the world

But I’m in this space with you

เคห์ลานีให้สัมภาษณ์กับ MTV ไว้ว่า “ฉันได้เป็นตัวเองที่ลื่นไหลทั้งในดนตรีของฉันด้วย ไม่ใช่แค่ในชีวิตจริงเท่านั้น”

นอกจากนี้ ในมิวสิกวิดีโอ Honey เธอยังเลือกนักแสดง androgynous มาแสดงเป็นคนรักในบทเพลงของเธออีกด้วย

ที่เล่ามาบางอย่างอาจเป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่สำหรับคนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยเชื่อมโยงกับบทเพลงหรือมิวสิกวิดีโอไหน รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้คงมีคุณค่าทางใจไม่เล็กไม่น้อยเลย


02 Troye Sivan – Bloom

หลังจากประสบความสำเร็จกับอัลบั้มเดบิวต์ Blue Neighborhood เมื่อปี 2015 มาปีนี้ ศิลปินเชื้อสายออสเตรเลียอย่าง Troye Sivan ก็เริ่มทยอยปล่อยซิงเกิลต่างๆ (ซึ่งน่าจะนำทางสู่อัลบั้มที่ 2) ออกมาแล้ว โดยเริ่มจากเพลงที่เหมาะกับการแดนซ์มากที่สุดตั้งแต่เขาทำมาอย่าง My My My! ตามมาด้วย The Good Side และล่าสุดกับ Bloom ซึ่งฟังอย่างไรก็ไม่มีทาง ‘เกี่ยวกับดอกไม้ร้อยเปอร์เซ็นต์’ อย่างที่เจ้าตัวยืนยัน

I need you to tell me right before it goes down

Promise me you’ll hold my hand if I get scared now

Might tell you to take a second baby slow it down

You should know I, you should know I, yeah I boom, I bloom just for you.

จากเนื้อเพลงที่ยกมา เหล่าแฟนเพลงและนักวิจารณ์ดนตรีต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นักร้องวัย 22 ปีกำลังร้องเพลงเกี่ยวกับเซ็กซ์ของเกย์แน่นอน แถมเป็นมุมมองจาก ‘ฝ่ายรับ’ ที่มักจะโดนเหยียดอยู่บ่อยครั้งแม้กระทั่งในหมู่ของชายรักชายด้วยกัน

อันที่จริงทรอยเปิดเผยตัวมาตั้งแต่ก่อนจะเดบิวต์เป็นนักร้องว่าเขาเป็นเกย์ ความจริงใจนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ความนิยมของเขาพุ่งสูงขึ้นในหมู่แฟนๆ แต่ยังเปิดโอกาสให้เขาได้เป็นกระบอกเสียงให้กับชาว LGBT ทั่วโลกอีกด้วย

Bloom ไม่ใช่เพลงแรกที่ทรอยพูดถึงประสบการณ์ของชาวเกย์ แม้เพลงในอัลบั้มแรกของเขาจะไม่เอ่ยเรื่องชายรักชายออกมาตรงๆ ผ่านถ้อยคำ แต่ก็บอกเล่าผ่านวิชวลของมิวสิกวิดีโอ และอีกเพลงสำคัญอย่าง Heaven ก็พูดถึงการ come out ที่กลั่นออกมาจากใจของเด็กหนุ่มอย่างแท้จริง

ด้วยความจริงใจและกล้าหาญที่สื่อผ่านบทเพลงของเขา ในปี 2016 และ 2017 ทรอยได้รับรางวัลจากเวที GLAAD ซึ่งยกย่องเซเลบริตี้ที่สนับสนุนการเรียกร้องสิทธิของชาว LGBT โดยครั้งล่าสุดเขากล่าวสุนทรพจน์ไว้ว่า “รางวัลนี้ยิ่งใหญ่กว่าผมมาก ชั่วขณะนี้เป็นเวลาของการเป็นที่รับรู้และการมีภาพแทน เรื่องราวและผู้คนที่เราเห็นในสื่อเป็นตัวกำหนดมุมมองที่เรามีต่อโลกรอบตัว การได้เห็นตัวเองในภาพของความเป็นปกติ การยอมรับ และความสวยงาม เป็นสิ่งสำคัญที่สุด”



03 Mykki Blanco – I’m In A Mood

ก่อนวงการฮิปฮอปจะยอมรับศิลปิน LGBT (มากขึ้น) อย่างทุกวันนี้ Mykki Blanco คือหนึ่งในบุคคลผู้บุกเบิกหมวดหมู่ใหม่อย่าง queer rap และถางทางให้เหล่าเควียร์แรปเปอร์มาตั้งแต่ปี 2012 ผ่านอัลบั้มมิกซ์เทป Cosmic Angel: The Illuminati Prince/ss และ Gay Dog Food มาจนถึงอัลบั้มทางการ Mykki ที่เพิ่งปล่อยเมื่อปี 2016

แต่ถึงจะได้รับการยกย่องจากสื่อและศิลปินคนอื่นๆ ในฐานะเควียร์แรปเปอร์ มิกกี้ก็ไม่สบายใจที่ถูกแปะป้ายหรือจัดลงกล่องใดกล่องหนึ่ง เพราะเขารู้ว่าตัวเองมีความลื่นไหลทางเพศ ภายในช่วงชีวิตใต้แสงไฟ มิกกี้เคยเปลี่ยนผ่านจากเกย์สู่ทรานส์เจนเดอร์ และจากทรานส์เจนเดอร์กลับสู่เกย์มาแล้ว

“การเป็นเกย์ทำให้ฉันถูกกลั่นแกล้งและทรมานมาตั้งแต่ไหนแต่ไร” มิกกี้เล่าย้อนถึงตอนที่เธอคิดจะแปลงเพศ “ฉันเคยมีช่วงที่คิดว่า การเป็นผู้หญิงนั้นง่ายดายกว่าการเป็นเกย์ โดยเฉพาะการเป็นเกย์ที่อ้อนแอ้นเหมือนผู้หญิง ซึ่งทำให้ฉันโดนทำร้าย เพราะในชุมชนของเกย์คาดหวังให้คุณต้องแข็งแรง ต้องแมนพอ”

แต่สุดท้ายมิกกี้ก็ตระหนักว่าการแปลงเพศไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาสำหรับเขา นั่นทำให้ทุกวันนี้เรายังเห็นเขาในลุคที่เป็นทั้งหญิงและชายในคราวเดียวด้วยผมบลอนด์ยาวสลวย เมคอัพ และแรปอันดุดัน อย่างเช่นในเพลง I’m In A Mood ซึ่งมิกกี้อธิบายว่า “ฉันพยายามดึงสุนทรียะในการแต่งหญิงของฉันออกมา สุนทรียะแบบเกย์ที่คล้ายผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันก็แมนและสตรีทมากๆ”


04 Hayley Kiyoko – Girls Like Girls

ก่อนหน้านี้หลายคนอาจรู้จัก Hayley Kiyoko ในบทบาทนักแสดงเด็กจาก Disney Channel แต่ในปี 2015 เธอแนะนำตัวเองต่อชาวโลกใหม่อีกครั้งในฐานะนักร้องนักแต่งเพลงมากฝีมือ โดยบทเพลงที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักคือ Girls Like Girls ซึ่งบอกเล่าความรู้สึกและประสบการณ์ของเธอในฐานะเลสเบี้ยนอย่างจริงใจและเรียบง่าย

Girls like girls like boy do, nothing new เธอว่าอย่างนั้น

เฮย์ลีย์เคยอธิบายที่มาที่ไปของเพลงนี้ไว้ว่า มันเกิดจากความคับข้องใจที่เธอไม่สามารถสร้างสรรค์ดนตรีที่เชื่อมโยงกับผู้คนได้อย่างที่ต้องการ

“ฉันมักใช้คำว่า ‘you’ และ ‘them’ แต่ไม่เคยใช้ ‘her’ เลย” เธอเล่า “ฉันชอบผู้หญิง และฉันอยากร้องเพลงเกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่แค่จะพูดประโยคนั้นออกมาดังๆ ก็เป็นเรื่องยากสำหรับฉันแล้ว”

แต่ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนนักแต่งเพลงอย่าง Lily May Young ในที่สุดเฮย์ลีย์ก็เข็นเพลง Girls Like Girls ออกมาจนได้ และเป็นเพลงนี้เองที่สร้างที่ทางให้เธอในวงการดนตรี รวมทั้งสร้างพื้นที่แห่งการยอมรับให้เหล่าคนฟังที่อาจจะรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่มีใครเข้าใจ

“ตั้งแต่เล็กจนโต ฉันเห็นเซเลบริตี้ LGBT ที่อายุมากกว่าฉันมากๆ แล้วฉันก็สงสัยว่า หรือฉันต้องรอจนอายุเท่านั้นก่อนถึงจะมีความสุขได้ ฉันไม่มีคนต้นแบบที่ฉันสามารถเชื่อมโยงได้เลย” ศิลปินวัย 27 ปีเล่า นั่นเป็นสาเหตุที่เฮย์ลีย์อยากจะเป็นคนต้นแบบคนนั้นให้กับเด็กๆ ในวันนี้ “ดนตรีของฉันยืนยันกับพวกเขาว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว ว่าความรู้สึกของพวกเขาถูกต้องแล้ว ว่าพวกเขาดีพอ และจะพบกับใครสักคนที่จะรักพวกเขากลับ”


05 Frank Ocean – Bad Religion

Frank Ocean คืออีกหนึ่งศิลปินจากแวดวงฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีที่เปิดเผยตนว่าเป็นเกย์ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยในปี 2012 ก่อนที่เขาจะปล่อยสตูดิโออัลบั้มแรกในชีวิตอย่าง Channel Orange แฟรงก์ได้บอกใบ้เรื่องเพศวิถีของตนผ่านเว็บบล็อกส่วนตัวว่า “4 ฤดูร้อนที่แล้ว ผมพบคนๆ หนึ่ง ตอนนั้นผมอายุ 19 และเขาก็เช่นกัน เราใช้เวลาฤดูร้อนนั้นและฤดูร้อนถัดมาด้วยกันเกือบทุกวัน…”

อีกทั้งเพลง Bad Religion ในอัลบั้มแรกนั้นยังช่วยยืนยันสถานะชายรักชายของแฟรงก์ด้วยท่อนหนึ่งที่ร้องว่า

I can never make him love me

Never make him love me

ต่างจากมิกกี้ที่เราพูดถึงไปแล้วด้านบน แฟรงก์ โอเชียนเป็นศิลปิน LGBTQ จากแวดวงฮิปฮอปที่เป็นที่รู้จักในกระแสเมนสตรีมมากกว่า เป็นเครื่องยืนยันว่าการเปิดตัวว่ารักเพศเดียวกันไม่ได้ทำให้ความนิยมชมชอบในตัวศิลปินคนหนึ่งลดลง และในกรณีของแฟรงก์ การเปิดตัวยิ่งทำให้เขาเป็นที่รักมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำไป

แม้โดยพื้นฐานแล้วแฟรงก์จะเป็นคนที่เก็บตัวและไม่ค่อยออกสื่อ แต่บทเพลงว่าด้วยความเควียร์ของเขายังคงเส้นคงวา อย่างเมื่อปีที่แล้วแฟรงก์ได้ปล่อยซิงเกิล Chanel ซึ่งมีเนื้อเพลงว่า


My guy pretty like a girl


And he got stories to tell

เช่นนี้ ในอนาคตเราคงได้เห็นบทเพลงที่บอกเล่าประสบการณ์ของชาว LGBT จากเขาอีกแน่นอน


queer music


06 Janelle Monáe – PYNK

แม้ศิลปินวัย 32 ปีจะเพิ่งเปิดตัวในฐานะเควียร์ไม่นานมานี้ แต่ที่ผ่านมาแฟนเพลงต่างรู้ดีว่าเธอเรียกตัวเองว่าไบเซกชวล และหลายๆ บทเพลงของเธอก็สอดแทรกเนื้อหาและเรื่องราวของ LGBT เอาไว้ อย่างเพลง Q.U.E.E.N. ซึ่งปล่อยออกมาเมื่อปี 2012 ก็มีท่อนหนึ่งที่ร้องว่า

Am I a freak because I love watching Mary?

ในปี 2018 จาแนลล์กลับมาพร้อมกับอัลบั้มใหม่ Dirty Computer และซิงเกิลแรกอย่าง Pynk ซึ่งเป็นเพลงที่พูดถึงช่องคลอดอย่างตรงไปตรงมา แถมในมิวสิกวิดีโอเธอยังสวมกางเกงที่หน้าตาเหมือนช่องคลอดไม่มีผิด

“ฉันอยากให้เด็กหญิง เด็กชาย คนที่ไม่เรียกตัวเองเป็นหญิงหรือชาย เกย์ เสตรท หรือเควียร์ที่กำลังรับมือกับเพศวิถีของตัวเอง กำลังรับมือกับการโดนแบน การโดนกลั่นแกล้งเพียงเพราะจริงใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ได้รู้ว่าฉันเข้าใจพวกคุณ” จาแนลล์กล่าว “อัลบั้มนี้สำหรับพวกคุณ ขอให้ภูมิใจ”


07 Kim Petras – Heart To Break

แม้คนส่วนใหญ่จะสนใจ Kim K แต่เราอยากแนะนำให้รู้จัก Kim Petras นักร้องสาววัย 25 ปีซึ่งเป็นที่รู้จักจากเพลงป๊อปทำนองสนุกอย่าง I Don’t Want It At All และ Heart To Break

แต่ก่อนจะเป็นที่รู้จักในฐานะป๊อปสตาร์ ตอนอายุเพียง 12 ปี คิมเคยตกอยู่ท่ามกลางแสงไฟในฐานะบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศในขณะที่อายุน้อยที่สุดในโลก (มีข่าวลือว่าเด็กอายุ 4 ขวบทำลายสถิตินั้นไปแล้ว แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจริงหรือไม่)

อย่างไรก็ดี ในบทสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดกับ HuffPost คิมบอกว่าอยากให้คนสนใจงานเพลงของเธอมากกว่าสถานะหญิงข้ามเพศ (transwoman)

“ฉันไม่อยากใช้ตัวตนของฉันเป็นเครื่องมือ ฉันไม่เคยแต่งเพลงที่เล่าเรื่องทรานส์เจนเดอร์อย่างเฉพาะเจาะจง จริงอยู่ที่มันเป็นส่วนสำคัญซึ่งทำให้ฉันเป็นฉันทุกวันนี้ แต่ฉันคิดว่าดนตรีเป็นเรื่องของความรู้สึกและแฟนตาซี มันไปไกลกว่าเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี

“ฉันตกหลุมรักดนตรีจริงๆ และหวังว่าเมื่อผู้คนมองมาที่ฉัน พวกเขาจะเห็นงานเพลงของฉันรวมทั้งทุกสิ่งที่ฉันเป็น เพราะบางครั้งผู้คนก็อยากจะจำกัดกรอบให้คุณเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วห้ามคุณเป็นอย่างอื่น”

คิมกล่าวด้วยว่า เธอยังคงสนับสนุนชุมชน LGBT อยู่เหมือนเดิมดั่งที่ทำมาตลอด “แต่เป้าหมายสูงสุดของฉันคือการพิสูจน์ว่าทรานส์เจนเดอร์คนหนึ่งสามารถเป็นที่รู้จักในฐานะอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่เป็นทรานส์เจนเดอร์เพียงอย่างเดียว”

อ้างอิง billboard.com, billboard.com, huffingtonpost.com, independent.co.uk, intomore.com, intomore.com, mashable.com, numero.com, papermag.com, pitchfork.com, thump.vice.com

ภาพประกอบ ปัญญวัฒน์ พิทักษวรรณ

AUTHOR