A Big Idea That Stuck หนังโฆษณาซูเปอร์ฮีโร่แบบไทยๆ ที่เราคิดถึง

เทศกาลความคิดสร้างสรรค์แห่งเอเชีย Spikes Asia 2022 เพิ่งจบไปไม่นาน แม้ปีนี้งานโฆษณาจากประเทศไทยจะไม่ได้รางวัลเยอะเท่าปีก่อน แต่ผลงานที่ลงแข่งขันก็น่าสนใจทุกตัว 

หนังโฆษณาไทยเรื่องหนึ่งที่ได้รางวัล Bronze หมวด Film และน่าจับตาสำหรับเราคือ A Big Idea That Stuck ของแบรนด์กาวอเนกประสงค์ Weber Super Glue โดยเอเจนซี่ Yell Advertising 

หนังเรื่องนี้เคยได้รางวัลจากงาน Epica Awards มาก่อน เป็นหนังโฆษณาขายกาวที่ล้อเลียนหนังซูเปอร์ฮีโร่และใส่องค์ประกอบแบบไทยๆ เข้าไปอย่างลงตัว มีรสชาติแบบหนังโฆษณาไทยยุคก่อนที่โดดเด่นเรื่องอารมณ์ขันเฉพาะตัว งานแบบนี้หาดูได้ยากในยุคที่แบรนด์เชื่อมั่นใน Influencer มากกว่า Idea 

เราชวนสองคู่หู Creative Director Duo ผู้อยู่เบื้องหลังงานชิ้นนี้ เซาท์-พีรดนย์ คงภักดี และ แม็ก-วิษณุพร วัฒนจัง มาเล่าเบื้องหลังหนังโฆษณาที่ทั้งปั่นและแฝงอารมณ์ขันที่ไม่ได้เห็นมานานในหนังโฆษณาไทยยุคนี้ 

มนุษย์ตุ๊กแก Begins

พีรดนย์: Weber Super Glue คือกาวเหมือนกาวตราช้าง บ้านเรามันมีเจ้าตลาดอยู่แล้ว แม้แต่ชื่อก็เอาไปหมดลูกค้ารู้สึกว่าอยากจะชูจุดเด่นให้เขายืนขึ้นมาได้เพื่อที่จะสู้กับคู่แข่งที่เป็นเจ้าตลาด แต่ว่าจะทำยังไงดีให้คนจำ ซึ่งเขาให้โจทย์เรามาว่าเขามีตุ๊กแก มันคือเวเบอร์กาวตราตุ๊กแก อารมณ์เป็นเหมือนมาสคอตของเขาอยู่ 

วิษณุพร: เราคิดว่าเล่ายังไงดี กาวก็เหมือนกันหมด จะทำยังไงให้คนรู้สึกว่ากาวเราดีกว่า ก็เลยหาอินไซต์ ทำยังไงให้คนรู้สึก ตอนนี้คนกำลังฮิตอะไรนะ เราก็เลยคิดว่าถ้างั้นทำอะไรเพี้ยนๆ กันมั้ยที่คนชอบและสนใจ เราไปเจอว่าคนกำลังชอบดูคลิปสั้นๆ ที่ตัดมาจากหนังแอ็กชั่นหรือหนังซูเปอร์ฮีโร่

พีรดนย์: มันอยู่ในช่วงฮีโร่มาร์เวลบูมมากๆ เราก็รู้โปรแกรมฉายคร่าวๆ ว่าเดี๋ยวหนังเรื่อง Spider-Man: No Way Home จะเข้า ช่วงใกล้หนังมาเรื่องสไปเดอร์แมนจะกลับมาบูมอีกครั้งแน่นอน เราเคยคิดนานแล้วว่าอยากทำหนังซูเปอร์ฮีโร่แบบไทยๆ ถ้าเจอสินค้าไหนที่จับลงได้ กูเอาแน่ 

พอเรารู้ว่าข้อดีของสินค้ามีเยอะมาก เราเลยตีความว่าให้ข้อดีต่างๆ เปลี่ยนเป็นพลังของซูเปอร์ฮีโร่ แล้วนำเสนอมันออกมาในหนังโฆษณา มันมีความกวนตีน ตลก แล้วก็ใส่องค์ประกอบที่เราชอบลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมุมกล้อง เราได้ reference มาจากหนังของเควนติน ทารันติโน หลายอย่าง เราอยากได้หนังที่เราชอบก่อน ทีนี้เรารู้สึกว่าถ้าลูกค้าเกิดทะลึ่งชอบขึ้นมาจะดีแค่ไหน 

ปกติเวลาขายงาน เรากับน้องๆ ในทีมจะเตรียมไว้ 3 ทางเลือกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกที่เซฟ ตรงประเด็น ขายของ ทีนี้มันจะบ้าขึ้นไปทีละสเต็ป ไอเดียมนุษย์ตุ๊กแกอยู่อันดับสุดท้ายเลย แต่ว่ามัน ทางที่ลูกค้าชอบกับทางที่ครีเอทีฟชอบร่วมกัน

หนังโฆษณาที่เห็นสินค้าทุกช็อต

วิษณุพร: เราตั้งใจคิดว่าพลังซูเปอร์ฮีโร่จะไปอยู่ตรงไหน แบบไหนที่ลูกค้าจะซื้อ เลยคิดว่าทำเป็นกาวติดกับนิ้วไปเลย เพราะลูกค้าจะคิดว่าทำยังไงให้คนเห็นสินค้ามากที่สุด หนังจะดำเนินเรื่องว่าพลังกาวมันออกมาจากนิ้ว ทุกฉากก็จะมีนิ้วนี้ เราก็มีจุดขายว่าหนังฮีโร่นี้คนดูจะเห็นโปรดักต์ทุกซีน 

พีรดนย์: ไอเดียนิ้วมันมาจากหนัง Avengers: Endgame มันจะมีฉากหนึ่งที่ Doctor Strange ชูนิ้วขึ้นมา บอก Iron Man ว่ามีทางเดียวเท่านั้นจากหนึ่งในสิบสี่ล้านทางที่จะชนะ Thanos เราปิ๊งไอเดียนี้ขึ้นมา เรื่องนี้ลูกค้าไม่ได้เรียกร้องด้วยนะครับว่าอยากจะเห็นสินค้าทุกฉาก พวกเราเป็นคนที่พยายามคิดขึ้นมา ถ้าหนังเรามันสนุกด้วยและเห็นสินค้าทุกฉากด้วยก็จะดี เอาสินค้านี่แหละมาทำให้เป็นพลังวิเศษไปเลย 

หนังซูเปอร์ฮีโร่ทุนต่ำที่สนุก

พีรดนย์: ตอนถ่ายมีปัญหาหลายขั้นตอนเหมือนกัน ตั้งแต่งบประมาณ ความจริงมีหลายฉากที่เราอยากให้เกิดขึ้น เช่น มีฉากจับโจร โชว์สมรรถภาพของกาว พองบมีจำกัดก็ต้องหาวิธีเล่า มันเลยกลายเป็นการเล่าผ่านหน้าหนังสือพิมพ์แทน เราพยายามให้หนังยังเล่าเรื่องและคงองก์ 1 2 3 ให้อยู่ในซีนเดิมให้ได้ 

เราตีความว่า มันเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ทุนต่ำ กึ่งๆ หนังล้อเลียน เราก็ใส่ความพิเศษในบริบทของมันลงไป สิ่งที่หนังมีคือความแปลก จับคู่กับบริบทความเป็นไทย แล้วก็หาอะไรที่เป็นอินไซต์ของคนไทยเข้าไป เช่น มีฉากหนึ่งที่พระเอกใช้กาวติดจานกระเบื้อง แบบที่เราเคยได้จากสวนสนุก หรือคาแรกเตอร์แม่ที่ชอบเม้าท์กับป้าข้างบ้าน ความไม่ตกใจ เราจะมีคำถามว่าถ้าแม่มีลูกเป็นซูเปอร์ฮีโร่ มีกาวออกจากนิ้ว แกจะเป็นยังไงวะ สรุปคือแกไม่ตกใจ ให้ซ่อมของในบ้านเพิ่มด้วยซ้ำ 

วิษณุพร: เหมือนคนเป็นลูกทำดีแค่ไหน สุดท้ายแม่ก็แค่ เออ แล้วยังไงต่อ (หัวเราะ)

พีรดนย์: มันเป็นการผสมผสานสิ่งที่เราชอบ ตอนที่วาดสตอรี่บอร์ดเราเซ็ตธีมขึ้นมาว่า ช่วงแรกๆ อยากจะเปิดด้วยหนังแนวสยองขวัญ อยากให้หนังมันค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ 

ฉากตุ๊กแกยากมาก ตอนแรกอยากให้เป็นตุ๊กแกจริงเพราะอยากให้ดูเป็นหนังสยองขวัญ แต่พอไปขายลูกค้าเขาบอกว่าน่ากลัวไป สุดท้ายเราต้องมาออกแบบตุ๊กแกเป็นสิบๆ แบบก่อนที่จะสร้างเป็นตัวโมเดลที่สามารถขยับปากได้

วิษณุพร: เราไปรีเสิร์ชด้วยว่าตุ๊กแกแบบไหนที่น่ารัก ตอนถ่ายจะเหมือนหนัง Jaws ที่ฉลามจะเป็นกลไก ทีมโปรดักชั่นก็จะขยับกันอยู่ข้างหลังฉาก

พีรดนย์: ฉากที่มีช้าง เราจงใจหยิกๆ แกมหยอกกับเขาซะหน่อย แม้แต่ copy ฉากสุดท้าย ลูกค้าก็ทะลึ่งตามเรา เราก็ใช้ไปเลย ‘เวเบอร์ ซุปเปอร์กลู กาวหนึบพลังช้าง’ หรือฉากมนุษย์ตุ๊กแกใช้นิ้วเดียวดึงช้างขึ้นมาจากน้ำ ของเราหนึบกว่า ความจริงแกนของหนังคือขายสินค้าตัวเอง การหยอกเป็นน้ำจิ้มเล็กๆ น้อยๆ ที่เราหยอดลงไป 

หนังโฆษณาที่นานแล้วไม่ได้ดู

พีรดนย์: เราชอบหนังโฆษณายุคเก่า หลายงานของเราก็จะมีความเป็นหนังตลกโบ๊ะบ๊ะแบบยุคนั้นอยู่ ผมว่าตอนนี้มันถึงยุคที่หนังทุกเรื่องต้องมีพรีเซนเตอร์ KOL หรือ Influencer มันเหมือนต้องมีหน้ามีตาของแบรนด์คนนี้ แล้วมันเป็นการแย่งชิงไปหมด

วิษณุพร: พรีเซนเตอร์จะมีแฟนติดตาม มันทำให้แบรนด์มั่นใจว่าเราจะได้ engagement ด้วย

พีรดนย์: มันไม่ได้สร้างภาพจดจำเหมือนหนังสมัยก่อน เราเคยมีหนังแบบ ‘ไอ้ฤทธิ์กินแบล็ค’ โดยไม่ต้องมีพรีเซนเตอร์เป็นคนดังมาจากไหน แต่เราทำให้คนจำ key massage ของเราให้ได้ว่าคืออะไร ผมว่าตรงนั้นมันยังเป็นเสน่ห์ของงานโฆษณาอยู่ แต่มันเป็นเรื่องของยุคสมัย โฆษณาแบบนี้ก็ยังมีออกมาเรื่อยๆ แต่มันไม่ได้ไปไกลเหมือนสมัยก่อนแล้ว

ก่อนหน้านี้เราชอบทำหนัง เราก็รู้สึกว่าการดูหนังโฆษณาก็เหมือนเราดูหนังเล่าเรื่องเรื่องหนึ่ง ผมรู้สึกว่าถ้าหนังโฆษณายังเล่าเรื่องได้แบบนั้น มีโอกาสได้ทำ ก็เป็นเรื่องดี ความจริงหนังขายสินค้าหรือพรีเซนเตอร์เราก็ทำเหมือนกัน มันอยู่ที่บรีฟด้วย อย่างที่ผมบอกว่าเวลาขายงานเรามีทางเลือกให้ วิธีการคนละแบบ เราจะมีทางเลือกให้ลูกค้าเสมอ 

ตอนที่หนังได้รางวัลเราก็ดีใจ ครีเอทีฟบ้านเยลล์ไม่ค่อยทำงานเพื่อรางวัลอย่างเดียว พวกเราอยากทำงานที่ออกสู่สายตาคนดู งานที่มันเห็นผลจริงๆ ลูกค้า approve ทุกอย่างมากกว่า 

วิษณุพร: การที่หนังสำเร็จ มีคนชอบ มันตอกย้ำว่าสิ่งที่เราคิดเป็นไปได้ ถ้าเราพยายามมากพอ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย