E-Waste เป็นทั้งเรื่องไกลตัวและใกล้ตัวเราในเวลาเดียวกัน แค่ชื่อหัวข้อก็ดูซีเรียส แต่เมื่อมาสำรวจในบ้าน เราพบว่าอย่างน้อยต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ถูกทิ้งให้อยู่เฉยๆ อย่างน้อยหนึ่งชิ้นเสมอ
Synnex Thailand เป็นบริษัทนำเข้าสินค้าไอทีรายใหญ่ มีบริษัทแม่อยู่ที่ไต้หวัน และเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ในช่วงที่สินค้าไอทีแบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มเข้ามาทำการตลาดในบ้านเรา
เครือข่ายของบริษัทนี้ยิ่งใหญ่มาก นั่นทำให้พวกเขามีความรู้เกี่ยวกับภาพรวมของการใช้สินค้าไอทีตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ปีนี้พวกเขาพบว่าปัญหาสำคัญของโลกตอนนี้คือเรามีสินค้าไอทีที่ถูกทิ้งเยอะมาก ปีหนึ่งซินเนกซ์ขายสินค้าปีละ 20 ล้านชิ้น ของจำนวนเท่านี้ถ้าเราใช้งานเสร็จและไม่อยากใช้ต่อ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลตกรุ่นหรือใดๆ ก็ยิ่งทำให้เราสยดสยองเมื่อรู้ว่าของเหล่านี้จะกลายเป็นขยะแทบจะทั้งหมด
นั่นทำให้เกิดโปรเจกต์ชื่อว่า Swopmart แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าไอทีมือสอง เพิ่มมาตรฐานและบริการโดย Synnex จากนั้นก็คิดวิธีการสื่อสารเรื่อง E-waste หนึ่งในนั้นคือการคิดนวัตกรรมที่ชื่อ Swopbox ร่วมกับร้านขายสินค้าไอทีอย่าง TG FONE กล่องบรรจุสินค้าไอทีมือหนึ่งที่สามารถพลิกกลับด้านแล้วนำสินค้ามือสองใส่ลงไป เราสามารถส่งกล่องนี้นำมาขายกับ Swopmart ได้ด้วยวิธีที่สะดวกมาก
ไอเดียของทั้ง Swopmart และ Swopbox น่าสนใจ แต่การจะสื่อสารเรื่องนี้ออกไปไม่ง่ายนัก เราจึงชวนผู้อยู่เบื้องหลังทั้งฝั่งแบรนด์ ได้แก่ สุทธิพล ภุมรินทร์ CEO ของ Swopmart และทีมครีเอทีฟของเอเจนซี่ CJ Worx ประกอบด้วย ชโลธร นวนทอง Associate Creative Director วุฒิชัย จงสงวน Associate Creative Director อรุษ เมตตพันธุ์ Senior Copywriter อุมาวดี วิทยาประดิษฐ์ Art Director และ ชวนา กีรติยุตอมรกุล Managing Director มาเล่าไอเดียเบื้องหลังทั้งหมดให้ฟัง
กระโดดลงไปแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมไอที ในจุดที่ยังไม่มีใครทำ
Synnex เข้ามาเมืองไทยเพื่อตอบโจทย์สองข้อ หนึ่ง ในยุคที่แบรนด์สินค้าไอทีเริ่มมีจำนวนมากขึ้น เวลาแบรนด์เหล่านี้อยากเข้ามาขาย พวกเขาต้องการผู้จัดจำหน่ายหรือ Distributor ที่จะช่วยวางระบบ นำสินค้ากระจายให้กับร้านค้า เป็นเหมือนยี่ปั๊วรายใหญ่ของประเทศ
สอง เมื่อก่อนสินค้าไอทีต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปัญหาของผู้ซื้อคือถ้ามีปัญหาจะไม่มีคนซ่อม ของปลอมเยอะ ซินเนกซ์เป็นเจ้าแรกๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือจุดนี้ ถ้าคุณเดินเข้าร้านค้าสินค้าไอทีและเห็นสติกเกอร์ Trusted by Synnex นั่นแปลว่าสินค้านั้นมีบริการหลังการขายที่มีคุณภาพ
สุทธิพลเข้ามาทำงานกับซินเนกซ์ราว 2 ปีก่อน เขาเรียนจบด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เมื่อได้เข้ามาเห็นภาพรวมของอุตสาหกรรม เขาเริ่มมองว่าบริษัทที่มีส่วนดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำพัฒนาไปจุดไหนได้อีก ส่วนไหนที่ยังไม่เคยมีคนลงไปทำมาก่อน
“ปีนึงซินเนกซ์ขายของไอทียี่สิบกว่าล้านชิ้น ถ้าเราดู customer journey เมื่อสินค้าออกจากลูกค้า end user ส่วนใหญ่จะไปที่ถังขยะแน่นอน เราขายของมือหนึ่งก็จริง แต่พอเห็นปลายทางแบบนี้ เรากระโดดลงไปเล่นอะไรตรงไหนได้บ้างนะ ในระหว่างทางที่ออกจากมือ end user ไป ก่อนที่มันจะกลายเป็นขยะ ซินเนกซ์เป็นผู้นำ ดูตั้งแต่ต้นน้ำ แต่จุดนี้ยังไม่มีใครดูแลจริงจัง ผมคิดว่าเราควรกระโดดเข้าไป ทำให้ภาพรวมมันแข็งแรงขึ้นและครบทุกมิติ”
นี่ไม่ใช่โปรเจกต์ CSR แต่เป็นการสร้างและลงทุนทางธุรกิจใหม่ ซินเนกซ์จึงเข้าไปปรึกษา SCB 10X ซึ่งมีทีมเรียกว่า Venture Builder คอยมองหาบริษัทเพื่อทำโปรเจกต์ร่วมกัน
สุดท้ายพวกเขาร่วมหุ้นลงทุนทำ Swopmart แพลตฟอร์มซื้อขายของไอทีมือสอง นำจุดแข็งของซินเนกซ์เรื่องบริการหลังการขายมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่ต้องการซื้อของมือสอง
ไอเดียของ Swopmart เกิดขึ้นจริงแล้ว แต่ปัญหาคือจะทำยังไงที่จะสื่อสารไปสู่คนวงกว้างได้อย่างมีอิมแพกต์ จุดนี้เองที่ทีม CJ WORX เข้ามาร่วมในโปรเจกต์นี้
การเล่าเรื่อง E-Waste ที่ปฏิบัติได้จริงผ่าน Swopbox
ชวนามองว่าโปรเจกต์มีวิธีเล่าเรื่องสองแบบ หนึ่งคือ พูดเรื่องความพยายามขยายโอกาสให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ถ้านักเรียนซื้อของมือสองที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง ก็ช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น สองคือพูดเรื่องการจัดการ E-Waste อย่างจริงจัง
เมื่อโจทย์นี้โยนมาหาครีเอทีฟ ชโลธรบอกว่าทีมคิดวิธีการหลายแบบ มีหลายโปรเจกต์ย่อย เช่น ทำโฆษณาออนไลน์ทั้งทาง TVC และโซเชียลมีเดีย ทำสื่อหลายรูปแบบ เป้าหมายคือหาวิธีที่ช่วยลด E-Waste ได้จริง
“มันต้องเป็นไอเดียที่สร้างคุณค่าขึ้นมาได้ ทำได้จริง มีประโยชน์จริง และเป็นไอเดียที่เตะตาคนได้ ต้องบอกว่าเรื่อง E-Waste มันดูเป็นงานที่คนดี๊คนดี แต่คนจะไม่ค่อยสนใจเพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว มันไม่มีอะไรน่าสนใจ”
ในช่วงโควิด ยอดการซื้อของออนไลน์พุ่งสูงติดเพดาน รวมถึงสินค้าแนวไอที ทีมเลยคิดถึงอินไซต์ข้อนี้มากขึ้น
“น้องในทีมก็โยนไอเดียขึ้นมาว่า ทุกครั้งที่เราซื้อของใหม่มา เราจะมีของที่เหลือใช้เต็มบ้านไปหมด และยิ่งทุกวันนี้มีหลายสิ่งมาบิลด์เรา ลดราคา แปลว่าเราจะสั่ง Gadget ใหม่ๆ เต็มไปหมด เราไม่อยากบีบบังคับว่า ห้ามสั่ง หรือบอกว่าอย่าไปสั่งเลยมันจะเป็น E-Waste เมื่อใดก็ตามที่เราบังคับลูกค้า เขาจะปฏิเสธ คุณจะสั่งก็สั่งไป แต่ในฐานะแพลตฟอร์มซื้อขายของมือสอง เราจะช่วยไม่ให้ปัญหา E-Waste เกิดขึ้นได้อย่างไร”
“เราเชื่อว่าวิธีการที่ยั่งยืนที่สุดในการแก้ปัญหา คือทำให้อายุขัยของอุปกรณ์สร้างประโยชน์ได้ยาวนานที่สุด บางทีเรามีมือถืออยู่แล้ว วันหนึ่งเราซื้อมือถือใหม่ปีถัดไป ทั้งๆ ที่มือถือเครื่องเดิมยังใช้ได้อยู่ อย่างผมเองก็มีมือถือสองเครื่อง อีกเครื่องนึงก็เก็บไว้ที่บ้าน เพราะรู้สึกว่ามันเก่าแล้ว ถ้าจะไปขายมันก็คงไม่ได้เท่าไหร่ หรือจะส่งให้คนอื่นใช้ก็รู้สึกว่าเก่าเกินที่จะส่งต่อ แต่ในความเป็นจริง อีกมุมหนึ่ง มันอาจจะไม่ได้ใหม่ที่สุดสำหรับเรานะ แต่มันน่าจะใหม่พอที่จะสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้” ชโลธรเล่า
เพื่อทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์เก่าอยู่นานขึ้น ก็ต้องให้ลูกค้าขายของเหล่านั้นได้อย่างสะดวกและเร็วที่สุด ทีมจึงคิดไอเดียสร้างกล่องขึ้นมา ร่วมมือกับ TG FONE ร้านขายโทรศัพท์มือถือเจ้าใหญ่ในประเทศ ทุกครั้งที่เราซื้อของผ่าน TG FONE กล่องใส่สินค้ามือหนึ่งจะส่งมาถึงบ้าน เมื่อเปิดกล่องออก เราสามารถพลิกกล่องนั้น นำมาใส่ของเก่าของเรา ส่งให้ Swopmart เพื่อนำไปขายต่อได้เลย
Swopbox กล่องที่ชวนขายของเก่าทันทีที่ได้ของใหม่
เหมือนว่าไอเดีย Swopbox จะตอบทุกโจทย์อย่างสวยงาม แต่ยังมีหลายปัญหาที่ทีมต้องแก้อีกมาก
เมื่อของที่เราซื้อมาส่งที่บ้าน เราจะสนใจของมากกว่ากล่อง มันพร้อมจะถูกฉีกและโยนออกจากบ้านอย่างรวดเร็ว ทีมแก้โจทย์นี้ด้วยการทำให้กล่องสามารถพลิกด้านได้ ซึ่งกล่องไปรษณีย์ปกติไม่สามารถทำได้ และต้องแข็งแรงพอที่จะใช้งานอีกครั้ง
“วิธีการธรรมดาที่เคยทำกัน เราอาจสื่อสารว่าส่งของมือสองมาขายสิ สิ่งที่เราอยากทำคือ Hijack เข้าไปในโมเมนต์ของการซื้อของ คือวันที่ฉันได้ของจาก TG FONE เปิดเข้ามาปุ๊บ มีเมสเสจอยู่ข้างในที่คุยกับลูกค้าว่า วันนี้คุณได้ของมือหนึ่งใหม่มา คุณสามารถนำของเก่าส่งกลับมาขายได้เพื่อยืดอายุมัน แล้วเป็นเหตุผลที่เราอยากได้กล่องที่ต้องพลิกได้ เพราะพอกล่องคุยกับลูกค้าเสร็จ เขาสามารถพลิกและใช้งานมันได้เลย ถ้าเราเพิ่มกล่องใหม่เพื่อส่ง เหมือนเรากำลังพูดเรื่อง E-Waste อยู่ แต่เราก็สร้าง Waste ใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน”
ทีมครีเอทีฟพยายามออกแบบกล่องให้สวยสะดุดตา เหมือนตะโกนคุยกับลูกค้า เพราะต้องสู้กับพฤติกรรมที่พร้อมจะโยนกล่องทิ้งทันทีที่ได้ของใหม่
ที่สำคัญอีกข้อคือ การส่งกล่องกลับมาขายกับ Swopmart ต้องง่าย สุทธิพลใช้วิธีแนบเบอร์โทรศัพท์และช่องทางติดต่อไปบนกล่อง ถ้าคุณอยู่ในกรุงเทพฯ จะมีบริการไปรับกล่องถึงบ้าน ถ้าในต่างจังหวัดจะมีการร่วมมือกับร้านค้าสร้าง drop point เราสามารถเอากล่องไปที่จุดนั้น Swopmart ก็จะไปรับมาขายอีกที หรือท้ายที่สุด ถ้าคุณไม่ได้อยู่ใกล้จุดดรอป ก็สามารถส่งทางไปรษณีย์ได้ตามปกติ
“พยายามให้เขามีตัวเลือกเยอะที่สุด อยากให้คนส่งของมาขายได้ง่ายที่สุด” ทีม Swopbox และ Swopmart เล่าเป้าหมายของโปรเจกต์
E-Waste คือปัญหาของประเทศที่สามารถแก้ได้
ยุคนี้คนซื้อของไอทีจะมีความเชื่อว่า สินค้ามีอายุการใช้งานสั้นขึ้น เพราะต้องการให้คนซื้อของใหม่เร็วๆ
สุทธิพลมองว่า ถ้าเรากระตุ้นให้คนเอาของมือสองมาหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ทำกันอย่างจริงจัง และเป็นกระแส แบรนด์สินค้าต้นน้ำจะเริ่มเห็นความสำคัญเรื่องนี้ แม้จะมีผู้บริโภคที่อยากใช้สินค้ามือหนึ่ง มีเทคโนโลยีล่าสุดไว้ในมือ แต่การสร้างความหลากหลายให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าเสมอ
แคมเปญที่เล่าเรื่อง E-Waste มักจะพูดถึงวิธีการกำจัด ณ ปลายทาง ในมุมของวุฒิชัย เขามองว่าการสร้าง Swopbox วินวินกับทุกฝ่าย ทั้งฝั่งลูกค้าที่ได้ระบายของเก่าด้วยวิธีที่สะดวก เปลี่ยนของชิ้นนั้นให้มีมูลค่า ฝั่ง Swopmart ได้ของมาขาย ได้เล่าความคิดของฝั่งแบรนด์ที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ด้วย
“เรื่องการกำจัดมีคนพูดเยอะแล้ว ขั้นตอนมันชัดเจน แต่ถามว่าก่อนที่มันจะกลายเป็นขยะ เส้นทางของมันยาวมาก ผมว่าที่เราซื้อไอเดีย Swopbox เพราะเราไปแก้ปัญหาที่ต้นทางก่อนที่จะเป็น E-Waste คือทำยังไงให้ของเก่ามันยืดอายุการใช้งาน อาจจะเป็นการส่งต่อให้ใครก็ได้ ไม่ใช่เก็บไว้ที่บ้าน” CEO ของ Swopmart เล่า
เมื่อก่อนการมีมือถือสองเครื่องถือเป็นเรื่องผิดปกติ แต่วันนี้นอกจากจะเป็นเรื่องธรรมดา จำนวนอุปกรณ์หรือ device ที่เรามีนับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้น (ลองนับดูว่าตอนนี้คุณมีกี่ชิ้น) การสร้างระบบให้อุปกรณ์เหล่านี้มีที่ไปที่ครบวงจรมากขึ้น เป็นการช่วยประเทศแก้ปัญหานี้ไปในตัว
ตอนนี้ Swopbox ใช้งานจริงแล้ว ถ้าคุณสั่งซื้อของกับ TG FONE ได้เห็นกล่องนี้แน่นอน สิ่งที่ทีมครีเอทีฟอยากเห็นต่อคือ มีคนใช้เยอะๆ สร้างอิมแพกต์ให้เกิดในวงกว้างมากขึ้น
“เราเชื่อว่าถ้าทำออกไปแล้วผลตอบรับโอเค เราอยากจะพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ไอทีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Distributor ร้านคอมพิวเตอร์ ร้านมือถือ อยากให้ทุกคนมาร่วมกับโปรเจกต์นี้ ทางใดทางหนึ่งในอนาคต เพื่อทำให้รู้สึกว่าทุกคนสามารถช่วยลด E-Waste ได้แม้ว่าคุณจะเป็นคนขายของใหม่ก็ตาม”