ครั้งสุดท้ายที่ได้ลงมือจับกระดาษและพู่กันมาวาดรูปคือเมื่อไหร่ ฉันก็ไม่แน่ใจนัก
แต่เมื่อมีโอกาสได้มาวาดรูปกับ ป่าน–ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือ juli baker and summer ทั้งที ฉันก็ไม่รีรอ รีบตกปากรับคำอย่างว่องไว แม้ว่าฉันจะไม่ใช่แฟนคลับแถวหน้าของป่าน แต่ก็คอยติดตามและชื่นชมลายเส้นสีสันสดใสของเธอมาหลายปี
Rainbow People: Portrait Painting with juli baker and summer คือชื่อเต็มๆ ของงานวันนี้ ที่ชวนให้พวกเราจับคู่กันมาวาดรูปพอร์เทรตด้วยสไตล์ naive art ตามแบบฉบับของป่านนั่นเอง
อุปกรณ์ศิลปะถูกวางไว้รออยู่แล้วเมื่อพวกเราไปถึง ฉันมองกระดาษและเฟรมผ้าใบเรียบกริบตรงหน้าแล้วก็เกิดประหม่าขึ้นมาเล็กน้อย เพราะมันดูจริงจังกว่าที่ฉันจินตนาการไว้มากโข
กิจกรรมเริ่มต้นอย่างสบายๆ ด้วยการแนะนำตัวสมาชิกทั้ง 20 คน นั่นทำให้ฉันรู้ว่าพวกเราเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายสูงทีเดียว ตั้งแต่เด็กน้อยวัยประถมที่จับคู่กันมาพร้อมคุณแม่อีกคู่ หรือคู่เพื่อนสนิทที่เป็นนักเรียนศิลปะโดยตรง ไปจนถึงคู่คุณน้าที่ออกตัวไว้ว่าไม่มีหัวด้านนี้เอาเสียเลย
“ขอให้ทุกคนที่เคยวาดรูปมาก่อน แกล้งลืมไปว่าเคยเรียนอะไรมา”
นั่นคือคำขอร้องที่ป่านบอกกับเราทุกคน ซึ่งช่วยให้ฉันคลายความกังวลที่มีในตอนแรกไปได้ไม่น้อย เพราะป่านบอกว่าอยากให้พวกเราวาดรูปโดยใช้ความรู้สึก และเริ่มจากสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงอธิบายถึงข้อดีของสีอะคริลิกที่เราจะใช้กันในวันนี้ ซึ่งสามารถทาทับได้ง่าย เหมาะกับคนที่เริ่มหัดวาดรูป และยังเป็นสีชนิดโปรดของป่านเองอีกด้วย
รูปที่ 1 ชาร์โคล + สิ่งที่เห็นตรงหน้า
ก่อนที่จะไปถึงการวาดรูปจริงบนเฟรมผ้าใบ พวกเราเริ่มจากแบบฝึกหัดง่ายๆ เป็นการอุ่นเครื่อง ป่านบอกให้เราทุกคนยืนขึ้นพร้อมถือแท่งชาร์โคลบางๆ เอาไว้ในมือ ยืดตัวตรง จรดปลายชาร์โคลไว้กับกระดาษแผ่นบางบนโต๊ะ แล้วเริ่มวาดสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า หากได้ลองจินตนาการภาพท่าทางที่เกิดขึ้น (หรือดูจากภาพประกอบ) ก็น่าจะรู้สึกได้ถึงความยากลำบากของการวาดภาพด้วยท่านี้อย่างแน่นอน
เสียงกรี๊ดเบาๆ ของสมาชิกทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่สลับกันดังขึ้นเป็นระยะ เมื่อแต่ละคนไม่สามารถควบคุมเส้นขยุกขยิกในกระดาษตรงหน้าได้อย่างใจนึก ผลงานในกระดาษของฉันประกอบไปด้วยครัวซองต์ กล่องกระดาษทิชชู่ และเก้าอี้สนามเบี้ยวๆ ตัวหนึ่ง
เราใช้เวลากับกิจกรรมนี้ไม่มากนัก จากนั้นป่านจึงเฉลยให้ฟังว่า ที่ต้องให้ทำแบบนี้ก็เพื่อให้เราทุกคนได้หลุดออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ ก่อนเป็นอันดับแรก ไม่อย่างนั้นทุกคนก็คงจะเริ่มวาดจากท่านั่งที่ถนัดและคุ้นชิน
รูปที่ 2 ชาร์โคล + คู่ที่มาด้วยกัน
เมื่อถึงคิวของกระดาษแผ่นต่อมา เราก็ยังคงอยู่กับชาร์โคลแท่งเดิม ปลายนิ้วของฉันเริ่มดำด้วยผงถ่าน ในขณะเดียวกันพวกเราก็เริ่มชินกับสัมผัสและน้ำหนักของเจ้าแท่งชาร์โคลในมือมากขึ้นกว่าเดิม
คราวนี้ป่านบอกให้เราหันหน้าไปมองคู่ที่มาด้วยกัน สังเกตองค์ประกอบทีละส่วนบนหน้าของเขา และถ่ายทอดลงบนกระดาษ แต่มีกฎอยู่ข้อหนึ่งก็คือห้ามมองกระดาษ
ฉันและเพื่อนที่มาด้วยกันเริ่มวาดอย่างสบายๆ เราทั้งสองคนต่างก็เคยวาดรูปด้วยวิธีคอนทัวร์เช่นนี้มาก่อนแล้วจึงไม่ตื่นเต้นมากนัก และเตรียมใจพร้อมรับความเบี้ยวที่จะเกิดขึ้นในกระดาษอย่างแน่นอน
แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน
เมื่อฉันวาดไปได้ครู่หนึ่ง อยู่ๆ สัมผัสของชาร์โคลในมือก็เปลี่ยนไป ฉันจึงหยุดชะงักเล็กน้อย จนเพื่อนที่อยู่ตรงข้ามแอบก้มมองกระดาษของฉันและหัวเราะออกมา เพราะชาร์โคลในมือดันลากยาวเกินขอบกระดาษ ทิ้งรอยดำเป็นทางไว้บนโต๊ะไม้สีอ่อน ป่านที่เดินผ่านมาเห็นเข้าพอดีก็อดหัวเราะตามไม่ได้ ก่อนจะแซวจนได้ยินกันไปทั้งห้องว่า “แอบเหลือบมองบ้างก็ได้นะคะ ไม่งั้นเดี๋ยววาดเกินกระดาษ”
รูปที่ 3 พู่กัน + สีอะคริลิก + เพลง
กระดาษแผ่นที่สามของพวกเรามีความหนามากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่เปลี่ยนมาเป็นพู่กันและสีอะคริลิก คราวนี้ป่านไม่ได้บอกให้พวกเราวาดสิ่งของหรือบุคคล แต่กลับหยิบลำโพงพกพาสีแดงแปร๊ดออกมา และเปิดเพลงให้เราฟังแทน
เพลงนั้นไม่มีเนื้อร้อง ทำให้คนฟังสามารถตีความได้อย่างเป็นอิสระ จังหวะเร็วและสม่ำเสมอของทำนองทำให้ฉันนึกถึงแสงระยิบระยับบนคลื่นน้ำทะเล จึงตัดสินใจบีบสีน้ำเงิน เขียว และขาวออกจากหลอดเพื่อวาดภาพในหัวออกมา ตามด้วยพระอาทิตย์รูปทรงเลมอนที่ชวนให้รู้สึกถึงฤดูร้อนที่สดชื่น
เมื่อทุกคนวาดเสร็จเรียบร้อย เราจึงเห็นว่าเพลงเพลงเดียวที่เปิดนั้น ได้ถูกตีความไปคนละทิศคนละทางจนหาจุดร่วมแทบไม่ได้ ป่านเรียกให้บางคนลุกขึ้นอธิบายภาพของตัวเอง สมาชิกรุ่นเล็กของเราวาดภาพนักดนตรีผู้บรรเลงเพลง ในขณะที่บางคนก็เลือกใช้เทคนิคการระบายสีตามจังหวะเพลง
รูปที่ 4 พู่กัน + สีอะคริลิก + คู่ที่มาด้วยกัน
มาถึงภาพสุดท้ายของกิจกรรม เราทุกคนหยิบเฟรมผ้าใบออกมาวาง คราวนี้คือการผสมโจทย์ที่สองและสามเข้าด้วยกัน กลายเป็นภาพของคู่ตัวเอง ที่วาดด้วยพู่กันและสีอะคริลิก
ฉันสัมผัสได้ว่าการ exercise ในรูปก่อนๆ ทำให้พวกเราผ่อนคลายกับการวาดมากขึ้น และไม่ได้กังวลถึงเรื่องขั้นตอนสักเท่าไหร่นัก ฉันและเพื่อนเลือกที่จะวาดโครงหน้าด้วยชาร์โคลก่อน ซึ่งแม้ว่าขั้นตอนจะเหมือนกับรูปที่ 2 ไม่มีผิด แต่พวกเราก็ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกจักจี้และหลุดหัวเราะอยู่บ่อยๆ เวลาต้องหันมาจ้องหน้ากันอยู่ดี
เมื่อถึงเวลาที่ต้องลงสี ฉันปล่อยให้จินตนาการทำงานมากขึ้น นึกถึงสีที่เหมาะกับคนข้างๆ ก่อนจะลงมือผสมสีและระบายตามที่เห็น (อยู่ในใจ) ผลที่ออกมาคือภาพคนที่มีผิวสีเขียว ผมสีน้ำเงิน เสื้อสีแดง และแขนสีเหลือง มองรวมๆ แล้วดูสดใสสมตัวทีเดียว
ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรม แต่ละคู่ที่วาดเสร็จทยอยถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก ฉันแอบมองอยู่เงียบๆ จึงเห็นว่า แต่ละภาพที่ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของคนสนิทล้วนมีเสน่ห์เฉพาะตัว แม้ว่าทั้งหมดนั้นจะไม่ใช่ภาพที่ใกล้เคียงกับหน้าตาของเจ้าตัวเลยสักนิด แต่ถ้ามองภาพนั้นผ่านกรอบความสัมพันธ์ของคนสองคนแล้วละก็ ฉันเชื่อว่าทุกภาพต่างถ่ายทอดออกมาได้เหมือนจริงตามความรู้สึกของผู้วาดที่สุด อย่างที่จูลี่ได้บอกไว้กับเราแต่แรกว่า ให้วาดออกมาจากความรู้สึกและสิ่งที่เราเห็น
ท้ายที่สุดพวกเราทุกคนจึงได้ภาพที่มีความจริงใจเป็นส่วนประกอบหลัก ติดไม้ติดมือกลับบ้านกันถ้วนหน้า
