Ouen-jouei การฉายหนังรอบพิเศษที่คนดูกรี๊ด ตะโกน และโบกแท่งไฟได้เต็มที่

Highlights

  • คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องสำนึกต่อส่วนรวมมาก ในโรงหนังยิ่งต้องเงียบเข้าไว้เพื่อไม่ให้รบกวนผู้ชมคนอื่น แต่ไม่ใช่กับการดูหนังรอบ 'โอเอ็นโจเอ' (Ouen-jouei) ที่ให้ผู้เข้าชมกรีดร้อง ตะโกน ตบมุกพูดแซวตัวละครในหนังได้อย่างเต็มที่ จะแต่งคอสเพลย์มาก็ได้ ถือพัดหรือแท่งไฟสีๆ มาโบกกันได้อย่างอิสระ
  • ในแง่ของผู้จัด ข้อดีของการจัดรอบฉายพิเศษแบบนี้คือ การทำให้สายสัมพันธ์กับแฟนๆ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แถมยังเพิ่มรายได้อีกเพียบเพราะคนที่มาดูรอบนี้ส่วนมากคือคนที่ดูรอบปกติแล้วทั้งนั้น อยู่ๆ สามารถเพิ่มจำนวนรอบคนที่มาดูหนังในโรงหนังได้มากขึ้นในยุคที่คนติดการดูหนังออนไลน์
  • แต่การดูแบบนี้ก็มีข้อเสียเช่นกัน ความฟินพาอินจนเกินงามทำให้หนังบางเรื่องต้องระงับการฉายรอบพิเศษแบบนี้มาแล้ว เพราะปัญหาพฤติกรรมก่อกวนสร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนร่วมโรง

ใครๆ ก็ชื่นชมญี่ปุ่นเรื่องมารยาทและจิตสำนึกต่อส่วนรวม

เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เลยไม่เคยคิดว่าจะได้เจอการกรีดร้องโหวกเหวกในโรงหนังอย่างไร้การยับยั้งชั่งใจใดๆ

เหตุเกิดตอนไปดูหนังเรื่อง กินทามะ (ภาคคนแสดง) พอตัวละครหนุ่มหล่อโผล่หน้าออกมา สาวๆ ก็กรี๊ด หันซ้ายก็หวีด แค่หันหลังก็ยังส่งเสียงแซว ไม่อยากจะคิดเลยว่าฉากถอดเสื้อจะขนาดไหน แค่ฉากเรียบง่ายอย่างการกินข้าว พวกนางก็ตะโกนใส่จอด้วยเสียงเล็กแหลมรัวต่อเนื่องว่า “หิวหรอ” “อิ่มหรือยัง” “อร่อยไหม” “กินอีกสิ” บางทีก็พูดแทรกตัวละครจนได้ยินแต่เสียงพวกนาง ดูหนังไม่รู้เรื่อง ที่แย่คือไม่ได้เป็นแค่คนเดียว เป็นกันนับสิบ! และเป็นแบบนี้ต่อเนื่องตั้งแต่หนังเริ่มฉายจนนาทีที่ 20 ที่เราตัดสินใจยอมทิ้งเงินค่าตั๋ว 1,800 เยนออกไปแสวงหาความสงบข้างนอก เพราะมั่นใจว่าเดอะแก๊งแรงดีไม่มีแหบ ต้องเป็นแบบนี้ไปจนหนังจบแน่นอน

ตอนจำใจออกจากโรงนี่กะวีนเหวี่ยงเต็มที่ แต่โชคดีที่เช็กก่อนและพบว่า จริงๆ แล้วคนที่ผิดคือฉันเอง 

เพราะรอบที่หลงเข้าไปดูคือสิ่งที่เรียกว่า ‘โอเอ็นโจเอ’ (Ouen-jouei) โอเอ็น แปลว่า เชียร์ โจเอ แปลว่า ฉาย สรุปคือนี่เป็นรอบที่อนุญาตให้แฟนๆ กรีดร้อง ตะโกน ตบมุกพูดแซวตัวละครในหนังได้อย่างเต็มที่ จะแต่งคอสเพลย์มาก็ได้ ถือพัดหรือแท่งไฟสีๆ มาโบกกันได้อย่างอิสระ 

เรามันด้อยปัญญา น่าจะฉุกใจถึงความผิดปกติตั้งแต่เห็นทุ่งแท่งไฟสีลูกกวาดสุกสกาวอยู่โรงอันมืดมิด

จุดประสงค์หลักของการฉายแบบนี้คือ การให้กำลังใจตัวละครต่างๆ ในเรื่อง เพราะปกติดูหนังในโรงต้องเงียบ รักษาความสงบของส่วนรวม แม้ฉากจะหวาดเสียว ต่อสู้ลุ้นระทึกแค่ไหนก็ได้แต่อดทนอดกลั้นไว้ในใจ ยิ่งหนังหรือแอนิเมะที่มีตัวละครหนุ่มสาวหลากสไตล์ให้เลือกกรี๊ดตามอัธยาศัย คนดูก็ยิ่งฟิน ฉากนี้ดีพี่เขาดูเท่ น้องเขาดู cute คนดูก็ได้แต่จิกเบาะกันเงียบๆ แต่รอบโอเอ็นโจเอจะเปิดโอกาสให้เหล่าติ่งได้ระบายความอัดอั้นกันเต็มที่ 

เว็บไซต์ withtheater เล่าว่าต้นกำเนิดของโอเอ็นโจเอคือ แอนิเมะสาวน้อยแปลงร่างพรีเคียวที่เข้าโรงฉายในปี 2007 ผู้จัดแจกแท่งไฟให้เด็กๆ ที่มาชมเพื่อใช้ชูให้กำลังใจพรีเคียวในฉากที่สาวๆ ตกอยู่ในอันตราย (จะมีเสียงตัวละครให้คิวในโรง พวกเด็กๆ ก็จะพร้อมใจกันชูไฟขึ้นมาโบกเชียร์ “กัมบัตเตะๆ” (สู้ๆ) กันไป) แต่แอนิเมะที่ประสบความสำเร็จในการฉายแบบนี้อย่างท่วมท้นจนทำให้โอเอ็นโจเอเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ เรื่อง King of Prism by PrettyRhythm ซึ่งเป็นแอนิเมะเกี่ยวกับกลุ่มไอดอลชายหนุ่มตามหาฝัน รอบพิเศษมีคนดูเป็นหมื่น บางคนดูซ้ำมากกว่า 50 รอบ เพราะตอบโจทย์ความอยากมีส่วนร่วมของคนดูได้ตรงจุด 

asahi.co.jp

kinpri.com

puritirizumu.wikia.com/wiki/King_of_Prism

จากวันนั้นถึงวันนี้ มีหนังอีกหลายเรื่องที่ขอจัดรอบพิเศษกับเขาบ้าง เช่น วันพีซ, โคนัน ยอดนักสืบรุ่นจิ๋ว, Shin Godzilla, Frozen (เพราะคนอยากร้องเพลง Let it Go ไปพร้อมกับตัวละคร) และล่าสุด Bohemian Rhapsody ที่ข่าวรายงานว่าโรงหนังแทบจะกลายเป็นมินิคอนเสิร์ตย่อมๆ เลยทีเดียว บางครั้งอาจมีเซอร์วิสให้แฟนๆ เพิ่ม เช่น คลิปสัมภาษณ์ดารานักแสดงที่เปิดให้ดูแทนโฆษณาทั่วไปก่อนฉายหนัง หรือฉากที่อนุญาตให้หยิบมือถือขึ้นมาถ่ายภาพนิ่งหรือวิดีโอได้ เติมความฟินความอินกันเข้าไปอีก

ในแง่ของผู้จัด ข้อดีของการจัดรอบฉายพิเศษแบบนี้คือ การทำให้สายสัมพันธ์กับแฟนๆ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แถมยังเพิ่มรายได้อีกเพียบเพราะคนที่มาดูรอบนี้ส่วนมากคือคนที่ดูรอบปกติแล้วทั้งนั้น อยู่ๆ สามารถเพิ่มจำนวนรอบคนที่มาดูหนังในโรงหนังได้มากขึ้นในยุคที่คนติดการดูหนังออนไลน์ ถือเป็นทางออกที่ไม่เลวของผู้ประกอบการ แต่รอบพิเศษนี้ก็ใช่ว่าจะจัดได้บ่อยๆ หรือใช้ได้ผลกับหนังทุกเรื่อง โดยทั่วไปเต็มที่ก็โรงละ 1 วัน เพราะถ้าฐานแฟนคลับไม่แน่นพอ จัดแล้วแป๊ก คนกรี๊ดน้อยก็จ๋อยกันไปอีก อย่างโคนันภาคภาพยนตร์ตอนล่าสุดที่เพิ่งฉายไปเมื่อหน้าร้อนปีนี้ (Detective Conan: Zero The Enforcer) เป็นอีกตัวอย่างที่ไม่ได้จัดรอบโอเอ็นเพื่อกระตุ้นยอดขาย เพราะเขาจัดรอบกรี๊ดพิเศษหลังหนังเข้าฉายไปเกือบ 2 เดือน เพื่อเป็นการขอบคุณแฟนๆ ที่ภาคนี้ฮิตเป็นพลุแตก ครองรายได้อันดับหนึ่ง 7 สัปดาห์ซ้อนชนะหนังฟอร์มยักษ์อย่าง The Avengers

conan-movie.jp

ส่วนข้อเสียใช่ว่าจะไม่มี เปิดโอกาสให้ปลดปล่อยอารมณ์กันขนาดนี้ มีหรือจะไม่เตลิด บางครั้งถึงกับมีการเตือนผู้ชมก่อนว่า โอเอ็นโจเอนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกและรักสงบ เพราะคงจะไม่ได้ยินเสียงพูดในหนังและบรรยากาศจะโป๊งชึ่งเหมือนอยู่ในคอนเสิร์ต (ซึ่งถ้าเป็นหนังเพลงแล้วร้องเพลงไปด้วยกันมันก็โอเคอยู่) แต่ความฟินพาอินจนเกินงามทำให้หนังบางเรื่องต้องระงับการฉายรอบพิเศษแบบนี้มาแล้ว เพราะปัญหาพฤติกรรมก่อกวนสร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนร่วมโรง ทั้งๆ ที่กฎกติกานั้นแสนเรียบง่าย เชียร์ได้ กรี๊ดได้ ชูแท่งไฟได้ แต่อย่าถ่ายรูปหรืออัดคลิป อย่ายืน อย่าโบกพร็อพบังหน้าคนอื่น และอย่าสปอยล์หนังคาโรง!

แม้เราจะได้อยู่สัมผัสรอบฉายพิเศษนี้ไม่นาน แต่ก็โดนที่ว่ามาครบถ้วนโดยไม่ทันตั้งตัว คัลเจอร์ช็อกในช็อก เข้าใจเลยว่าทำไมโคนันคุงถึงเขียนไกด์ไลน์แนวทางการเข้าชมรอบพิเศษละเอียดถึงขั้นช่วยคิดบทพูดในแต่ละซีนไว้ในเว็บไซต์ทางการของหนัง เพราะนอกจากจะช่วยเตรียมตัวให้ผู้ไปกรี๊ดอยู่ในลู่ทางที่เหมาะควร ยังช่วยให้คนที่อยากไปสังเกตการณ์ได้เตรียมใจด้วย 

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราชอบข้อควรระวังในการเข้าชมข้อหนึ่งที่เว็บไซต์ withtheater แนะนำมาก

‘การดูหนังรอบโอเอ็นโจเออาจทำให้สะเทือนใจ’

ความสะเทือนใจในที่นี้ไม่ได้มาจากความรำคาญหรือความตกใจเหมือนของเรา แต่เป็นความผิดหวังที่ตัวละครหรือฉากที่เราชอบไม่มีคนเชียร์เยอะเท่าตัวอื่น หรือกรี๊ดผิดจังหวะ ยิงมุกแป๊กๆ อยู่คนเดียวจนเกิดความเขินเกิ้มในความมืด ที่สำคัญยามที่ตัวละครที่เราชอบโดนโห่หรือด่าทอ อื้อหือ จะไฝว้กันในโรงก็ใช่ที่ ได้แต่เจ็บนะแต่ไม่แสดงออก โคนันคุงถึงกับต้องเขียนไว้ในไกด์ไลน์ด้วยว่า กรุณางดใช้คำพูดที่ทำร้ายหัวใจโคนันแฟมิลี่ท่านอื่นๆ ในโรง

ไหนๆ ก็เป็นรอบพิเศษที่ผู้จัดตั้งใจให้มาถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ให้กับตัวละครและหนังที่ชื่นชอบ เราก็อย่าทำร้ายกันเองในชีวิตจริงดีกว่าเนอะ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา