ความหวังบนผนังกับความฝันบนโปสเตอร์

เมื่อช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมามีข่าวเศร้า ราเควล เวลช์ เสียชีวิตด้วยวัย 82 ปี แต่ดูจะไม่ค่อยเป็นข่าวในบ้านเรานัก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปสงสัย เพราะต้องยอมรับกัน ถึงวันนี้หากจะมีใครจดจำเธอได้ อย่างน้อยก็ต้องผ่านโลกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ปี เพราะเธอคนนี้คือหนึ่งในเซ็กซ์ซิมโบลและสัญลักษณ์ของการสวมใส่บิกินีที่เริ่มเฟื่องฟูในยุค 60

แต่ถ้ายังผ่านฤดูกาลกันไม่มากขนาดนั้น คนรุ่นนี้หรือรุ่นน้าที่เคยดู ‘The Shawshank Redemption’ หนังในดวงใจของใครหลายคนจากปี 2537 และเพิ่งวนกลับมาฉายทางฟรีทีวีไปเมื่อปีก่อน คงน่าจะคุ้นตาเธอผู้ล่วงลับกันได้จากภาพโปสเตอร์บนฝาผนังคุกของ ‘แอนดี’ (ทิม ร็อบบินส์) ชายที่โดนข้อหาฆ่าภรรยากับชู้จนถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต

ตลอดทั้งเรื่องซึ่งต้องการสื่อสารถึงวันเวลาที่ผ่านไปในคุกของแอนดี มีโปสเตอร์ถูกผลัดเปลี่ยนบนผนังหลังกรงขังอยู่หลายใบ แต่รูปสำคัญที่สุดตามท้องเรื่อง คือภาพสาวหุ่นงามยืนตระหง่านเหม่อมองฟ้าในชุดบิกินีขนสัตว์ เป็น ‘ภาพจำ’ ของราเควล เวลช์ จาก ‘One Million Years B.C.’ เมื่อปี 2509 เพราะมันถูกนำมาใช้เป็นทางออกไปสู่อิสรภาพของแอนดีในตอนท้ายเรื่อง

ส่วนภาพอื่นก่อนหน้านั้น-ตรงนั้น ในตอนเริ่มต้นที่แอนดีเพิ่งเข้ามาอยู่ในคุกได้ไม่นาน ใบแรกที่ถูกนำขึ้นประดับคือภาพของ ริตา เฮย์เวิร์ท จาก ‘Gilda’ หนังดังของเธอเมื่อปี 2489 และเรื่องนี้ที่บทหนังดัดแปลงจากเรื่องของ สตีเฟน คิง ก็มีชื่อดั้งเดิมว่า ‘Rita Hayworth and The Shawshank Redemption’ โปสเตอร์ของดาราสาวจึงมีความสำคัญมาตั้งแต่ยังเป็นนิยาย

และเมื่อหนังต้องการเล่าผ่านเวลาที่เคลื่อนไปอีก หลังจากเฮย์เวิร์ทยังเป็นโปสเตอร์ขาวดำ เป็นอีกภาพที่คนทั้งโลกจดจำเช่นกันเมื่อนึกถึง มาริลีน มอนโร นั่นคือช็อตที่เธอกำลังโดนลมจากใต้ฟุตพาทพัดจนประโปรงเปิดใน ‘Seven Years Itch’ เมื่อปี 2498

นับตั้งแต่ใบแรกที่เป็นภาพของเฮย์เวิร์ท ตามมาด้วยมอนโร จนถึงใบสุดท้ายที่เป็นภาพสีของเวลซ์ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นช็อตจากภาพยนตร์ที่สร้างให้พวกเธอเป็นไอคอนและไอดอลของความเซ็กซี่จากแต่ละยุคสมัยในสไตล์ต่างกันไป

ใน Gilda เฮย์เวิร์ทแสดงเป็น ‘กิลดา’ ตามชื่อเรื่อง สาวอันตรายจากหนังฟิล์มนัวร์ที่สะท้อนความมืดดำในจิตใจมนุษย์ และนอกจากจะเป็นดาราดังด้วยรูปลักษณ์อันยั่วยวน ในยุคสมัยของเธอ เฮย์เวิร์ทยังมีอีกสถานะที่เรียกว่า ‘สาวพินอัพ’ หรือสาวตามป้ายโฆษณา รวมทั้งโปสเตอร์ที่เน้นความเซ็กซี่ไปจนถึงกึ่งเปลือย ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลก และมักนิยมถูกนำไป ‘pin-up’ หรือปัก-แปะขึ้นไปบนผนัง ทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าหรือเป็นสมบัติเอาไว้ดูคนเดียว เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการโชว์ความงามของนางแบบ โดยมีทั้งแบบรูปวาดและภาพถ่าย อาจเป็นแค่ภาพวาดของสาวในจินตนาการ ภาพที่เซตถ่ายขึ้นเพื่อขายสินค้า และภาพจากหนังอย่างเช่นภาพนี้ของเฮย์เวิร์ทบนผนังคุกของแอนดี   

แต่ในขณะที่ ราเควล เวลช์ ไม่เป็นที่รู้จักของคนยุคนี้ ทั้งที่อยู่ในยุคสมัยใกล้กับปัจจุบันมากกว่า ในบรรดาสามสาวบนผนังคุกของแอนดี มาริลีน มอนโร น่าจะโด่งดังข้ามเวลายิ่งกว่าใคร เธอต่างจากเฮย์เวิร์ทกับเวลช์อย่างสิ้นเชิง และถึงจะมีภาพระดับเปลือย แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นเพราะใส่บิกินีอย่างเวลช์ เธออาจมีความงามสไตล์สาวผมบลอนด์เหมือนเฮย์เวิร์ท แต่ก็ไม่ได้ดูลึกลับน่าค้นหาหรือเอกโซติกแบบนั้นเลย

ตลอดทั้งชีวิตของมอนโร เธอถูกสร้างให้เป็นคนสวยไร้เดียงสาและขี้เล่น ภาพที่โดนลมหอบจนกระโปรงเปิดแต่ไม่ได้เอียงอายด้วยตกใจ แต่กลับหัวเราะร่ารับกับเหตุการณ์ เป็นจริตหญิงสาวในแบบทั้งน่ารักและเย้ายวน ภาพนี้บนผนังคุกแอนดี จึงเป็นภาพแทนของมอนโรที่ชัดเจนที่สุดช็อตหนึ่ง

มอนโรจากไปตั้งแต่ปี 2505 แต่ภาพนี้ยังมีให้เห็นถึงอิทธิพลกันเรื่อยมา กลายเป็นแรงบันดาลใจในงานศิลปะและแฟชั่นมากมาย และหากย้อนไปเมื่อราวทศวรรษที่ 2520 สมัยยังมีการพิมพ์โปสเตอร์ดาราต่างประเทศจำหน่ายในบ้านเรา โดยมักวางขายอยู่ตามตลาดนัดหรือแผงข้างถนน ภาพนี้รวมทั้งภาพอื่นๆ ของมอนโร กลับยังมีพิมพ์ออกมาขายเคียงไปกับบรรดาดาราสาวในช่วงทศวรรษนั้น ซึ่งน่าจะเป็นยุคเฟื่องฟูของพวกเธอๆ เหล่านี้บนโปสเตอร์ในบ้านเรา

วัฒนธรรมหรือรสนิยมในการนำภาพดาราต่างประเทศหรือ ‘ดาราฝรั่ง’ แบบที่คนไทยเรียกมาแปะผนัง น่าจะเริ่มแพร่หลายภายหลังการพิมพ์ระบบออฟเซตเริ่มพัฒนา สามารถแยกสีและขนาดได้ยิ่งกว่าเดิม ตามโรงพิมพ์ต่างๆ จึงมีการพิมพ์โปสเตอร์ออกมาขายกันอยู่หลายเจ้า แต่เอาจริงเอาจังและนมนานที่สุด คงเป็นโรงพิมพ์ หสน.ห้องภาพสุวรรณ ผู้ผลิตนิตยสาร ‘สตาร์พิกส์’ และ ‘ดาราภาพ’ ย่านบางขุนพรหมที่พิมพ์โปสเตอร์แบบนี้ขายมาตั้งแต่เมื่อกว่า 60 ปีก่อน จากนั้นจึงเริ่มพิมพ์ภาพนักร้อง วงดนตรี การ์ตูนดิสนีย์ และอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยมีโลโก้ SP พิมพ์อยู่บนโปสเตอร์ของโรงพิมพ์นี้ทุกใบ    

ไดแอน เลน, ตาตัม โอนีล, โอลิเวียร์ ฮัตซีย์, เมลิสา กิลเบิร์ต ฯลฯ คือตัวอย่างของโปสเตอร์ดาราสาวที่โรงพิมพ์นี้เคยพิมพ์ออกมาในช่วงปลายทศวรรษที่ 2510 จากนั้นที่เห็นกันบ่อยเพราะคงได้รับความนิยมนำไปปิดฝาบ้านกันมาก ในความทรงจำไม่เห็นใคร นอกจาก บรูค ชีลด์ส, ฟิบี เคตส์ และ โซฟี มาร์โซ

ในภาพที่เป็นโปสเตอร์ของพวกเธอ นอกจากไม่ใช่แค่ภาพหรือช็อตจากหนังเหมือนดารายุคก่อนหรือในคุกของแอนดี และยังเป็นภาพในสไตล์แฟชั่น สวมใส่เสื้อผ้าหลายชิ้น ไม่ใกล้เคียงกับสาวพินอัพ อย่างไรก็ดี ถ้าไปตรวจดูกัน ทั้งสามสาวก็ไม่ใช่จะห่างไกลจากความเซ็กซี่เสียทีเดียว  

ในฐานะดาราหรือนักแสดง บรูค ชีลด์ส ไม่ได้มีผลงานมากมายอะไรนัก เพราะหนังที่เธอเล่นส่วนใหญ่ไม่ใช่หนังทำเงิน แต่ก็มีชื่อพอสมควรในตลาดต่างประเทศจากหนังเด่นของเธออย่าง ‘The Blue Lagoon’ (2523) กับ ‘Endless Love’ (2524) ซึ่งมีทั้งภาคต่อและรีเมก โดยเฉพาะเรื่องแรกเป็นหนังที่มีพล็อตว่าด้วยหนุ่มสาวที่เติบโตขึ้นมาด้วยกันบนเกาะร้าง ราวกับอดัมกับอีฟอะไรทำนองนั้น มันจึงมีความเซ็กซี่อยู่พอสมคววร แต่ที่ฮือฮามากกว่าคือ ‘Pretty Baby’ (2521) หนังเรื่องที่ 2 ของเธอที่รับบทเป็นเด็กหญิงวัย 12 ขวบที่เติบโตขึ้นมาในซ่องกับคุณแม่เป็นโสเภณี

นอกจากนั้นยังมีอีกภาพของ บรูค ชีลด์ส ที่โด่งดังในฐานะนางแบบซึ่งเธอเป็นมาตั้งแต่เด็ก และไม่แน่ใจว่าในบ้านเราเคยมีใครพิมพ์เป็นโปสเตอร์หรือไม่ คือภาพครั้งที่เธอเป็นพรีเซนเตอร์บนบิลบอร์ดและโปสเตอร์ให้กับโฆษณากางเกงยีน คาลวิน ไคลน์ เมื่อปี 2523 แต่ด้วยวัยเพียง 15 ปีกับคำโฆษณาล่อแหลมที่บอกว่าไม่มีอะไรคั่นระหว่างเธอกับ ‘คาลวิน’ ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สำหรับเด็กหญิงวัยแค่นั้น

ส่วน ฟีบี เคตส์ ด้วยมีเชื้อสายทั้งจีน ฟิลิปปินส์ และรัสเซีย เธอจึงมีความสวยแปลก และน่าจะถูกใจชาวเอเชียอย่างหนุ่มสาวในบ้านเรา จึงทำให้มีภาพของเธอพิมพ์ออกมาขายหลายอริยาบท ตั้งแต่ระดับพอร์เทรตไปจนถึงฟิกเกอร์เต็มตัว ผลงานเด่นสร้างชื่อของเธอก็คือ ‘วิมานรัก’ หรือ ‘Paradise’ (2525) ซึ่งมีพล็อตคล้ายกับ The Blue Lagoon ของ บรูค ชีลด์ส เพียงแต่ย้ายจากเกาะไปอยู่กันกลางทะเลทราย และออกจะใจถึงกว่ามาก เพราะผลงานเรื่องอื่นในเวลานั้น ทั้ง ‘มหา’ลัยวัยหวาน’ หรือ ‘Private School’ (2526) และ ‘ลองรัก’ หรือ ‘Fast Time at Ridgemont High’ (2525) หนังวัยรุ่นสองเรื่องเด่นของเธอก็ล้วนแต่มีช็อตชวนใจเต้นตึกตัก โดยเฉพาะเรื่องหลังที่เธอลงทุนเปลือยอกแบบจะจะจนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในฉากเปลือยที่น่าจดจำที่สุดในทุกการจัดอันดับ

และสำหรับ โซฟี มาร์โซ อีกคนที่ฮิตพิมพ์เป็นโปสเตอร์ในยุคนั้น ในบรรดาทั้งหมดที่อ้างอิงกันมา น้องคนนี้ (ในตอนนั้น) ออกจะแตกต่างจากทุกคน ทั้งไม่ได้เป็นสาวอเมริกัน แต่เป็นสาวน้อยจากฝรั่งเศสผู้น่ารักแบบสาวมัธยม โดยโด่งดังมาจาก ‘La Boum‘ (2523) หนังเรื่องแรกที่ทำเงินถล่มทลาย แต่จากภาพของสาวน้อยแบบในเรื่องนี้หรือบนโปสเตอร์ก็ค่อยเลือนไป เมื่อ ‘Happy Easter’ (2527) เข้ามาฉายในบ้านเรา นับแต่นั้นน้องหนูจาก La Boum ก็กลายเป็นอดีต เพราะเธอมีช็อตเปลือยอกให้ชมราวกับจะบอกว่า “หนูโตเป็นสาวแล้ว” และจากสิ่งที่เห็น ผู้ชมที่ว่าก็น่าจะเชื่อ

ทุกวันนี้แม้จะยังมีโปสเตอร์ของเธอเหล่านี้วางขายอยู่ที่โรงพิมพ์ของสตาร์พิกส์ในราคาไม่ต่างจากวันวานนัก แต่ในบรรดาโปสเตอร์ที่พิมพ์ออกมา ภาพของพวกเธอก็ไม่ใช่ประเภทโปสเตอร์ที่ขายดิบขายดี แผงที่ขายโปสเตอร์ตามตลาดนัดหรือข้างถนนก็มีเหลือไม่มาก บนผนังห้องใครในปัจจุบันจึงยากจะมีภาพแบบนี้กันอีก พร้อมกับวัฒนธรรมการปิดโปสเตอร์ดาราที่ชื่นชอบซึ่งน่าจะลดน้อยตามไปด้วย

‘กดดันและเวลา’ คือสิ่งที่ The Shawshank Redemption บอกผ่านคำบรรยายของเพื่อนร่วมคุก (มอร์แกน ฟรีแมน) เมื่อแอนดีเงยหน้ามองโปสเตอร์ของ ริตา เฮย์เวิร์ท จุดเริ่มต้นของความหวัง แล้วแผนของเขาก็ดำเนินไปจนถึงโปสเตอร์ของ ราเควล เวลช์ ส่วนผู้คนยุคหนึ่งกับโปสเตอร์ของพวกเธอที่เลือกมาแปะผนังคงไม่ได้มีความหมายอะไรขนาดนั้น เป็นเพียงความงามอีกประการที่เคยมีอยู่จริง ไม่ต่างจากรูปดอกไม้ ทิวทัศน์ หรือภาพสีสันสดใสตามถนนรนแคมที่เหมือนจะไร้สาระ เป็นแค่ความสวยที่มีไว้ให้ชื่นใจ ด้วยภาพใบใหญ่ของ ‘นางในฝัน’

แต่ก็ยังมีคนเขียนเป็นวรรคเป็นเวรได้จนมาถึงบรรทัดนี้   


ขอบคุณ คุณสุชาติ เตชศรีสุธี เอื้อเฟื้อข้อมูล

เรื่องและภาพ: สืบสกุล แสงสุวรรณ

AUTHOR