“ธรรมชาติทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น” 111 Praditmanutham พื้นที่ทำงานสุดครีเอทีฟของคนทุกสายงาน

Highlights

  • 111 Praditmanutham คือโครงการ Creative Office ขนาดใหญ่ติดถนนประดิษฐ์มนูธรรมที่พัฒนาโดย KE Group ในคอนเซปต์ ‘workplace of the future หรือ ที่ทำงานแห่งอนาคต’
  • จุดเด่นของโครงการคือพื้นที่ชั้น 1 และชั้น 6 ที่ออกแบบมาให้กระตุ้นการพบปะกันของคนทำงานเพื่อสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ที่นี่ยังมีสัญญาเช่าที่สั้นกว่าออฟฟิศทั่วไป เพื่อความสะดวกของธุรกิจสตาร์ทอัพในการขยับขยายออฟฟิศได้อีกด้วย
  • โครงการนี้ได้ทีมสถาปนิกจาก Stu/d/o Architect และ YAFF Design รับหน้าที่ออกแบบโครงสร้างและตกแต่งภายใน โดยให้ความสำคัญกับการเป็น ‘ออฟฟิศ’ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ

ยุคนี้ใครๆ ก็ชอบทำงานอิสระ เห็นได้ชัดจากนโยบายเวิร์กฟรอมโฮม ที่หลายบริษัทเริ่มใช้ช่วงเกิดโรคระบาดใหม่ๆ และยังใช้จนถึงทุกวันนี้ ไหนจะกระแสของ co-working space ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ถึงจะอยู่ในสังกัดองค์กร แต่คนรุ่นใหม่ก็เข้าออฟฟิศกันน้อยลง และบ่อยครั้ง การไม่ติดอยู่ในกรอบการทำงานแบบเดิมก็ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แรงบันดาลใจสร้างได้ถ้าอยู่ถูกที่ คำถามต่อมาก็คือแล้วสถานที่ที่ ‘ถูก’ ต้องเป็นยังไง จริงอยู่ที่หลายคนอาจขอแค่ไวไฟและที่ชาร์ตแบตก็ทำงานได้ แต่จะดีกว่าไหมถ้าสถานที่ทำงานของเราให้ได้มากกว่านั้น ถ้าลองถามคนทำงานเก่งๆ หลายคนดู เราอาจพบว่าบรรยากาศการทำงานมีผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยม และถึงจะไม่อยู่ในสายงานครีเอทีฟ บรรยากาศการทำงานที่ดีก็ช่วยให้เราจดจ่อ มีสมาธิกับงานได้มากขึ้นอยู่ดี

เมื่อเร็วๆ นี้ เราได้รู้จัก 111 Praditmanutham’ โครงการ Creative Office ขนาดใหญ่บนถนนประดิษฐ์มนูธรรม ด้วยคอนเซปต์ ‘ที่ทำงานแห่งอนาคต’ ของ กวินทร์ เอี่ยมสกุลรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการแห่ง KE Group บริษัทผู้คิดค้นไอเดียสถานที่ทำงานที่อยากทลายกรอบของออฟฟิศแบบเดิมๆ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมแสนน่าเบื่อ ด้วยการสร้างพื้นที่ทำงานที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ที่ธุรกิจทุกขนาด คนทุกสายงานมาจอยกันได้ เขาจึงดึงกลุ่มคนออกแบบรุ่นใหม่ ทั้งสถาปนิกจาก Stu/d/o Architect นำทีมโดย ชนาสิต ชลศึกษ์ และนักออกแบบภายในจากทีม YAFF Design ณิชารีย์ พงษ์สมบูรณ์ และ ปิยณัฐ กิตติวรพงษ์กิจ มาช่วยกันปลุกปั้นโปรเจกต์ร่วมกัน

เบื้องหลังการสร้างที่ทำงานแห่งอนาคตเป็นยังไง ให้พวกเขาเล่าให้ฟัง

(จากซ้าย) ชนาสิต ชลศึกษ์ Senior Architect จาก Stu/d/o Architect, ปิยณัฐ กิตติวรพงษ์กิจ จาก YAFF Design, กวินทร์ เอี่ยมสกุลรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการแห่ง KE Group, สุวพัชร รอดประเสริฐ Junior Architect จาก Stu/d/o Architect, ณิชารีย์ พงษ์สมบูรณ์ จาก YAFF Design

ออฟฟิศที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคน New Gen

กวินทร์ : “ความตั้งใจแรกเริ่มของเราคืออยากสร้างพื้นที่ creative community ของคนรุ่นใหม่ สำหรับกลุ่มคนทำงานสเกลเล็ก (start-up) กลาง (scale-up) ไปจนถึงธุรกิจใหญ่ในทุกสายงาน โดยเน้นบรรยากาศการทำงานท่ามกลางธรรมชาติและให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้เช่า พวกเขาจะมีชีวิตการทำงานที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้สีเขียว มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ ตั้งแต่ห้องประชุม ฟิตเนส คาเฟ่ เลานจ์ส่วนกลาง ห้องจัดอีเวนต์ ห้องสตูดิโอ และพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดให้คนจากบริษัทเดียวกันหรือต่างบริษัทมาพบกันเพื่อร่วมสร้างไอเดียใหม่ๆ

“มองในแง่คนลงทุนและพัฒนาอสังหาฯ เราเล็งเห็นว่าถนนเส้นประดิษฐ์มนูธรรม ย่าน CDC มีกลุ่มผู้ประกอบการ SME และบริษัทที่มีศักยภาพและเป็นคนรุ่นใหม่ค่อนข้างเยอะ และยังไม่มีพื้นที่ออฟฟิศที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้จริงๆ เรามองว่านี่เป็นโอกาสในการสร้างออฟฟิศที่ตอบโจทย์เขา”

 

พื้นที่ครีเอทีฟเพื่อการพบปะและคอนเนกชั่น

กวินทร์ : “พอได้คอนเซปต์ตั้งต้น เราก็เริ่มการมองหาสถาปนิกและอินทีเรียดีไซน์ และตัดสินใจเลือก Stu/d/o Architect กับ YAFF Design มาร่วมงานเพราะเรามีความคิดและหลักการของการทำตึกนี้ที่คล้ายกัน เราต้องการสร้างโครงการออฟิศที่เป็นเอกลักษณ์ เน้น user experience หรือประสบการณ์ของผู้ใช้งานจริงๆ การออกแบบที่รวบรวมพื้นที่สีเขียว และการสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ๆ ที่จะให้แรงบันดาลใจ (inspiration), ส่งเสริมทำงานร่วมกัน (collaboration), ชีวิตการทำงานที่ดี (wellness) และสังคมสร้างสรรค์ (community) กับผู้ที่มาทำงานในตึกได้”

ณิชารีย์ : “บรีฟที่เราได้รับจาก KE คือไอเดียของ CEO ที่อยากทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของคนครีเอทีฟ ซึ่งครีเอทีฟในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงดีไซเนอร์เท่านั้น แต่วิศวกร ทนาย นักบัญชี แม้แต่พนักงานธนาคารก็สามารถทำงานแบบครีเอทีฟได้เช่นกัน ครีเอทีฟในมุมมองของ 111 Praditmanutham คือไลฟ์สไตล์การทำงานที่มีความสุขและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งส่งผลทั้งการออกแบบโครงสร้างและภายใน”

ชนาสิต : “แรกเริ่มทาง KE อยากได้ออฟฟิศสเกลเล็กๆ ที่แทรกอยู่ในหมู่มวลต้นไม้ เพราะน่าจะเคยเห็นโปรเจกต์ ‘ในป่า’ ที่เราออกแบบ ตอนคุยกันครั้งแรก โครงการจะสร้างเป็นอาคารชั่วคราวซึ่งอาจมีการรื้อถอนได้ในอนาคต แต่พิจารณาจากที่ดินแล้วรู้สึกเสียดายว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น เลยเปลี่ยนแผนมาสร้างกันอย่างจริงจัง โดยแบ่งเป็น 2 เฟสใหญ่ๆ เฟสแรกเป็นอาคารสำนักงานเนื้อที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร และเฟสที่ 2 คืออาคารทรงสูงที่จะสร้างด้านหลัง

“ในเฟส 1 มีโจทย์ว่าอยากให้มีบรรยากาศของการทำงานที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ เน้นพื้นที่ที่กระตุ้นให้เกิดการพบปะกัน เพราะคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเปิดออฟฟิศเขาอาจไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศสเกลใหญ่ที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่เน้นการทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ อันนั้นคือภาพที่เรามองตอนเราเริ่มออกแบบ

“เพราะฉะนั้นพระเอกของโครงการนี้คือพื้นที่ส่วนกลางชั้น 1 ที่คล้ายล็อบบี้ในโรงแรม ไอเดียคือล็อบบี้แบบเอาต์ดอร์ นึกภาพห้องโถงสูงๆ โล่งๆ แต่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นพื้นที่ระหว่างอาคารสองฝั่งที่มีการดีไซน์คล้ายรูปปาดเฉียงเพื่อขับความน่าสนใจของสเปซ จุดนี้เราเรียกว่าพื้นที่พบปะหรือ communal space ที่จะมีร้านกาแฟ ร้านอาหาร ออฟฟิศให้เช่าอีกเล็กน้อย เพื่อให้คนจากออฟฟิศหลายออฟฟิศมานั่งทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีบันไดที่เชื่อมโยงกับชั้นอื่นๆ“

“ถัดขึ้นไปชั้น 2-5 คือออฟฟิศที่เปิดให้เช่าหลากหลายขนาด ทั้งสำหรับออฟฟิศเล็กๆ ที่มี 2-3 คนไปจนถึงใหญ่กว่านั้น อีกหนึ่งไฮไลต์คือชั้น 6 ที่ตอนแรกคิดว่าจะเป็นร้านอาหารเหมือนชั้น 1 แต่สุดท้ายแล้วก็ตกลงกันว่า น่าจะทำเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มี co-working space ฟิตเนส และห้องประชุมที่อยู่กลางสวนขนาดใหญ่”

ทีมออกแบบจาก YAFF Design

ณิชารีย์ : “ถ้าดูจากตึกแล้ว 6 ชั้นมันเตี้ย เราก็เลยมีไอเดียว่าทำไมไม่ทำออฟฟิศให้เหมาะกับนิวเจ็นจริงๆ เพราะถ้าสังเกต คนรุ่นใหม่ต้องการแฮงเอาต์ ต้องการคอมมิวนิตี้ ถ้าเป็นแค่ร้านอาหาร มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ขนาดที่จะขับเคลื่อนธุรกิจได้ เราก็เลยพยายามคุยกันว่าเราจะทำยังไงให้คนที่อยู่ที่นี่หรือแม้กระทั่งคนนอกได้มาเจอกันมากขึ้น ได้คำตอบว่าควรทำ creative office ที่พร้อมด้วยพื้นที่ co-working space แบบให้ผู้เช่าสามารถนั่งทำงานเดี่ยวๆ ได้

“ข้อดีของออฟฟิศแบบนี้คือ สมมติว่าคุณอยากเปิดธุรกิจของตัวเอง แน่นอนว่าเริ่มจากคนเดียว แต่ทำคนเดียวจะมีเงินมาเช่าออฟฟิศเลยไหม ก็ยังไม่มี เราก็อยากเปิดพื้นที่ที่ทำให้ผู้เริ่มต้นแบบนี้มี hot desk หรือโต๊ะสำหรับนั่งทำงานของเขาก่อน แล้วถ้าเขาเริ่มมีทีมมากขึ้น 2-3 คน ก็อาจจะเริ่มขยับ แทนที่เขาจะหาที่ใหม่ เขาก็ขยับเข้ามาอยู่ในชั้น 2-5 ได้เลย

“ความแตกต่างของที่นี่กับที่อื่นคือความยืดหยุ่น เพราะที่อื่นอาจมีสัญญาต้องเช่า 3 ปีแล้วถึงย้ายได้ แต่ที่นี่ให้เซ็นสัญญากันแค่ 6 เดือนถึง 1 ปีเท่านั้น มันทำให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่เห็นว่า ถึงจะไม่มีเงินทุนเยอะ แต่มันก็เป็นไปได้ที่จะมีออฟฟิศของตัวเอง”

ปิยณัฐ : “ถ้ามองภาพรวม ที่นี่คือตึกออฟฟิศที่เป็นคล้ายๆ co-working space ขนาดใหญ่ซึ่งมีลักษณะเป็นคอมมิวนิตี้ ไม่ได้อยู่ในตึกเหมือนทั่วๆ ไป พื้นที่ชั้น 1 ด้านล่างสามารถจัดอีเวนต์ได้ ในกรณีที่คุณจะเปิดตัวสินค้าใหม่ก็สามารถชวนเพื่อนในตึกเดียวกันหรือเพื่อนข้างนอกมาฟังได้ คือด้วยฟังก์ชั่นของตึกจะกระตุ้นให้คนต้องเจอกัน ซึ่งมันเหมาะกับผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือสตาร์ทอัพมากๆ เพราะหลังโควิด ทุกคนจะต้องการโอกาสมากขึ้น และพื้นที่ที่เปิดให้คนได้เจอกันแบบนี้คือการสร้างโอกาส”

ชนาสิต ชลศึกษ์ สถาปนิกจาก Stu/d/o Architect

 

สภาพแวดล้อมสีเขียวกระตุ้นไอเดียสร้างสรรค์

ชนาสิต : “สิ่งที่เราคำนึงถึงหลักๆ ในโปรเจกต์นี้คือ user experience เราอยากให้คนที่เข้ามาใช้ตึกเราได้ประสบการณ์การทำงานที่ดี เงื่อนไขในการออกแบบข้อแรกเลยคืออยากแก้ไขเรื่องออฟฟิศซินโดรมซึ่งมาจากการที่คนทำงานในออฟฟิศที่อุดอู้ ไม่มีแสงธรรมชาติ ไม่มีโอกาสออกมาสัมผัสพื้นที่สีเขียว”

“การอยู่กับธรรมชาติทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของคนเราดีขึ้น รอบๆ ตัวอาคารจึงมีต้นไม้ที่ช่วยบังแดดให้ผู้เช่า เป็นพื้นที่สีเขียวที่ส่งผลทั้งในแง่ความรู้สึกของคนและฟังก์ชั่นในเชิงปฏิบัติด้วย นอกจากนี้เรายังเน้นย้ำเรื่องการใช้วัสดุที่เน้นความยั่งยืนอย่างหลังคาที่ไม่ใช่หลังคาคอนกรีตเก็บความร้อน ทำให้ผู้เช่าเองประหยัดพลังงานในตัว”

ณิชารีย์ : “ต้นไม้ไม่ใช่แค่องค์ประกอบหนึ่งที่เราใส่ลงไปเฉยๆ แต่เรามองมันเป็นส่วนหนึ่งของดีไซน์ อีกโจทย์หนึ่งคือเราอยากดึงแสงธรรมชาติเข้ามาให้ได้มากที่สุด เพราะจากการสำรวจ แสงสว่างธรรมชาติมันทำให้คนเราไม่ง่วง จดจ่อ และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง เราจึงเลือกใช้กระจกกันความร้อนในบางด้านของอาคารเพื่อให้ผู้ใช้สามารถรับแสง และมีแผนในอนาคตว่าอยากใช้โซลาร์เซลล์ ซึ่งอาจเป็นพลังงานที่ช่วยให้ทุกคนในตึกได้ประหยัดมากขึ้นด้วย บอกตรงๆ ว่าเราเคยออกแบบออฟฟิศมาอยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็น co-working space ในอาคารที่ไม่มีอากาศบริสุทธิ์เลย ที่นี่จึงเป็นที่แรกที่ซัพพอร์ตให้ผู้ประกอบการได้มีไลฟ์สไตล์การทำงานที่ใกล้ชิดธรรมชาติจริงๆ”

 

สถานที่ทำงานแห่งอนาคต

ชนาสิต : “ความท้าทายของโปรเจกต์นี้คือการหาตรงกลางขององค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องดีไซน์ ทุน พื้นที่ เราต้องหาจุดที่ดีเพื่อให้ตึกที่สร้างเสร็จแล้วเป็นไปตามคอนเซปต์ตั้งแต่ต้น ในขณะเดียวกันมันก็ต้องเป็นไปได้จริงในแง่ของธุรกิจ อันนี้คือสิ่งที่น่าจะท้าทายที่สุด”

ณิชารีย์ : “ในเชิงการออกแบบ เรามองว่าโปรเจกต์นี้ค่อนข้างยาว YAFF Design ได้ร่วมทำตั้งแต่ต้นปี 2019 และใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างเสร็จ ความยากคือจะทำยังไงให้ดีไซน์อินทีเรียมันใหม่ที่สุดในวันข้างหน้า และอยู่แบบไทม์เลส เป็นดีไซน์ที่อยู่แล้วมีความสุขไปยาวๆ”

ปิยณัฐ : “สิ่งที่ผมตั้งตารอที่สุดคือวันที่ตึกเสร็จ ผมอยากเข้าไปถามคนที่ใช้งานว่าสิ่งที่เราพัฒนามาทั้งหมด ไอเดียที่เราอยากให้เขาได้รับมันเป็นยังไงบ้าง เพราะผมหวังมากว่าสิ่งที่เราคิดทั้งหมดจะเกิดขึ้นจริง ผมหวังว่าจะเห็นคอมมิวนิตี้ที่ครีเอทีฟจริงๆ เกิดขึ้นในเมืองไทย และอาจส่งผลไปในวงกว้างจนทำให้สร้างภาพจำใหม่ นี่คืออนาคต อยากให้ทุกคนมาเรียนรู้ว่าเขาได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ได้”

กวินทร์ : “โดยสรุปเลยคือเราอยากเป็น workplace of the future เราเชื่อว่าเรากำลังพัฒนาอาคารให้โดดเด่นและเป็นอาคารชั้นนำของโลกที่มีดีไซน์ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน นอกจากนี้ เราอยากเป็นโครงการที่สร้างวัฒนธรรมของคนทำงานแห่งอนาคตที่มีทั้ง inspiration, collaboration, wellness, community”


โครงการ 111 Praditmanutham คือพื้นที่ทำงานของคนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มคนทำงานทุกสายงาน ธุรกิจทุกขนาด ภายใต้คอนเซปต์ Creative Office ที่พัฒนาโดย KE Group มีบรรยากาศเสมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อำนวยความสะดวกด้วยห้องประชุม เลานจ์ส่วนกลาง ฟิตเนส สตูดิโอ พร้อมสรรพไปด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ และพื้นที่ส่วนกลาง (communal space) ที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการพบปะกันระหว่างผู้คน โดยมีการบริการ (service) ที่แตกต่างเช่น สัญญาเช่าระยะสั้นและยาว และรถบัสรับ-ส่งถึงรถไฟฟ้า (ในอนาคต)

โครงการ 111 Praditmanutham เปิดให้จองแล้ว สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ 111pmt.com หรือเบอร์โทรศัพท์ 02-102-9111

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน