BIG Co-working Space : โคเวิร์กกิ้งสเปซพันธุ์แท้ที่คิดทุกเม็ดมาเพื่อคนทำงาน

นอกจากนั่งจุ้มปุ๊กที่ออฟฟิศ การได้เปลี่ยนที่นั่งทำงานคือความสนุกอย่างหนึ่งสำหรับเรา บรรยากาศใหม่ๆ ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกที่จะเหมาะต่อการทำงาน นั่งคาเฟ่นานก็เกรงใจต้องสั่งน้ำ จะลุกไปเข้าห้องน้ำทิ้งคอมพิวเตอร์ไว้จะเป็นอะไรมั้ย ฯลฯ จุดติดขัดเหล่านี้อาจทำให้ความคิดที่กำลังไหลลื่นสะดุดก็ได้

เร็วๆ นี้เราได้รู้จักโคเวิร์กกิ้งสเปซแห่งใหม่เป็นเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันย่านพระราม 9 ชื่อ BIG Co-working Space ที่ทุกคนต้องทึ่งในไซส์อันใหญ่โต เมื่อมองสเปซเผินๆ อาจรู้สึกเฉยๆ เพราะมันช่างเต็มไปด้วยความโล่ง แต่พอได้ฟังแนวคิดเบื้องหลังจากเจ้าของอย่าง วนิก มโนมัยพิบูลย์ แล้วก็ต้องเปลี่ยนใจ เพราะทุกรายละเอียดในโคเวิร์กสเปซสไตล์อินดัสเทรียลแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการคนทำงานอย่างแท้จริง

BIG ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ความใหญ่โต

“ผมทำงานการเงินมา 20 ปี และมีธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับ financial technology ด้วยก็เลยได้เห็นวัฒนธรรมใหม่ที่เหล่าคนทำงานสตาร์ทอัพ คนทำเทคโนโลยีด้านการเงิน แล้วก็โปรแกรมเมอร์นั่งทำงานอยู่ด้วยกัน เราเลยคิดว่าอยากสร้างที่นึงที่เป็นชุมชนของเราเอง เหมือนเป็นโต๊ะใต้ตึกคณะที่พอหมดเวลาเรียนทุกคนจะมาเจอกัน คุยกัน เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรม sharing economy ที่ยุคสมัยเราต้องการมากขึ้นทั่วโลก” วนิกเกริ่นอย่างน่าสนใจ

พอคิดได้แบบนั้นเขาจึงอยากเปลี่ยน warehouse ขนาดใหญ่ที่เดิมเคยเป็น garage หรือโชว์รูมแบรนด์มอเตอร์ไซค์ ให้เป็น garage ของสตาร์ทอัพ เกิดเป็นคำว่า Business Innovation Garage หรือ BIG นั่นเอง

“การาจหรือโรงรถคือที่ที่เราได้สร้าง ลองนึกถึง สตีฟ จอบส์, บิลล์ เกตส์ หรือสตาร์ทอัพต่างๆ ที่ก็เริ่มทำในการาจ คอนเซปต์ของเราจึงเป็นคำว่า build bond boost สร้างคือ build ส่วน bond หมายถึงคอนเซปต์โต๊ะใต้ตึกที่ทำให้คนมาสร้างคอนเนกชั่นกัน สุดท้ายคือ boost ที่หมายถึงการที่เรามีชุมชนคนทำงานให้มาสร้างการก้าวกระโดด มีพื้นที่ห้องประชุมสัมมนาที่ทำให้คนได้มาอัพเลเวล”

ความโปร่งโล่งแบบที่สมองต้องการ

BIG Co-working Space มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 2,000 ตร.ม. ไม่รวมลานจอดรถที่ไม่ต้องกลัวเต็ม (เพราะมันเคยเป็นสนามฝึกซ้อมบิ๊กไบค์มาก่อน) ฉะนั้นข้อดีอย่างแรกเลยคือความโล่งโปร่งแบบที่หาไม่ค่อยได้จากที่อื่น แต่แค่ความใหญ่จะตอบโจทย์อะไรการทำงานได้

วนิกอธิบายว่ามีงานวิจัยยืนยันชัดเจนว่าเมื่อคนเราทำงานใช้ความคิด เราต้องการพื้นที่ที่เปิดโล่งให้ไอเดียฟุ้งกระจาย และเมื่อเปิดโล่งแล้ว พื้นที่ใช้สอยที่มีความหลากหลายจึงสำคัญมาก

ที่นี่เลยมีทั้งโซนห้องโถงใหญ่ตรงกลางที่เป็นเหมือน common area จะนั่งไหนก็ตามสบายไม่มีแย่งกัน ถ้าใครอยากได้พื้นที่กึ่งส่วนตัวก็เข้าไปนั่งในบ้านน้อยได้ (เราลองมาแล้วชอบมาก) มีห้องประชุมหลากไซส์หลายบรรยากาศให้เลือก มีโซนสวนกลางแจ้งปูหญ้าเทียมที่มีแม้กระทั่งเก้าอี้ชายหาดหรือเปลญวนให้นอน จุดที่เราชอบอีกอย่างคือการดีไซน์เพิ่มทางลาดและเอาลิฟต์เก่าสำหรับขนรถมาอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้วีลแชร์เข้ามาใช้ได้ทุกส่วน

“แสงธรรมชาติหรืออากาศธรรมชาติทำให้ความคิดสร้างสรรค์เราดีขึ้น พอมู้ดแอนด์โทนหรือบรรยากาศของพื้นที่ทำงานเราเปลี่ยนไป มันจะเปลี่ยนมายด์เซ็ตที่เราใช้ทำงานด้วย นี่คือเหตุผลที่เราสร้างความหลากหลายในพื้นที่ทำงานตรงนี้”

ออกแบบลึกถึงรายละเอียด

BIG มีแก่นการออกแบบเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และแก่นนี้ก็สะท้อนผ่านสิ่งของแทบทุกชิ้นที่อยู่ในพื้นที่ ไล่ตั้งแต่แสงไฟแบบ daylight ที่สร้างความรู้สึกแอคทีฟในการทำงาน หรือตัวอย่างที่ชัดเจนมาก เช่น โต๊ะรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูที่วนิกตั้งใจออกแบบใหม่ ให้นั่งแล้วได้บรรยากาศเหมือนโต๊ะเรียนหนังสือสมัยเด็ก แถมยังเอามาต่อกันให้เกิดรูปทรงใหม่ๆ ได้ตามจำนวนคนนั่งและความต้องการ

ไม่เพียงรูปร่างรูปทรง โต๊ะนี้ถูกคำนวณมาให้มีระยะความกว้างที่เหมาะสม ไม่เล็กไปจนวางคอมพิวเตอร์และของอื่นๆ ไม่ได้ ไม่ใหญ่ไปจนทำให้คนห่างเหินและยากจะสร้าง bond ต่อกัน แต่พอมาเป็นบ้านน้อยที่เอาไว้นั่งทำงานแบบกึ่งส่วนตัว ความกว้างโต๊ะจะออกแบบให้แคบลงเพื่อให้เกิดบรรยากาศใกล้ชิดมากขึ้น ขณะที่เพดานเปิดโล่งให้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ถูกปิดกั้น

ทุกอย่างที่อยู่ในพื้นที่ทำงาน ทีมงานยังตั้งใจออกแบบให้เคลื่อนย้ายได้เพื่อให้ผู้มาใช้บริการสร้างพื้นที่ทำงานที่เหมาะสมกับทีม เช่น ถ้าอยากสร้างพื้นที่ส่วนตัวในโถงใหญ่ก็แค่เอากระดานมากั้นเป็นฉากและใช้คุยงานได้เลย หรือเคลื่อนย้ายบ้านน้อยที่ปกตินั่งได้ 4 คนมาต่อกันก็เกิดเป็นห้องประชุมขนาด 8 คนได้แล้ว

ของพื้นฐานที่คนทำงานต้องการต้องมี

คนทำงานต้องการอะไรบ้างคงไม่มีใครรู้ดีเท่าคนทำงานด้วยกัน ด้วยความที่เจ้าของอย่างวนิกและทีมเป็นสายเทคโนโลยีที่ใช้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นประจำอยู่แล้ว พวกเขาจึงรู้ดีว่าตัวเองต้องการของอำนวยความสะดวกพื้นฐานอะไรบ้าง พอสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาจึงจัดเต็มของจำเป็นต่างๆ ตั้งแต่กระดานไวท์บอร์ด จอทีวี เครื่องดื่มทั่วไปที่ให้บริการไม่อั้น (มีชามะนาวสำหรับคนไม่กินกาแฟด้วย) สำหรับการจัดประชุมที่ต้องการฉายสไลด์หรือกิจกรรมฉายภาพยนตร์ ที่นี่ยังมีเลเซอร์โปรเจกต์ที่ฉายขึ้นผนังขนาดใหญ่ยักษ์ได้ด้วย

ความพิเศษที่เราประทับใจมากคือเก้าอี้สตูลทรงกล่องที่ใช้เป็นล็อกเกอร์เก็บของมีค่าได้ในตัว ถ้าจะไปกินข้าวก็แค่ขอกุญแจมาล็อกไว้ ป้ายจองโต๊ะที่บอกคนอื่นๆ ว่าเดี๋ยวจะกลับมานั่ง เครื่องพรินต์ที่มีระบบยืนยันตัวตนก่อนจะพิมพ์เอกสารได้ ห้องประชุมแบบที่มีฉนวนกันเสียง รวมถึงห้องน้ำภายนอกที่มีห้องอาบน้ำสำหรับบางคนที่อาจไปออกกำลังกายมาหรือเดินทางมาโดยขี่จักรยาน

สุดท้าย ของจำเป็นอีกอย่างของคนทำงานคือ ‘สมาธิ’ ที่นี่จึงไม่เปิดเพลงคลอเหมือนคาเฟ่ วางตัวเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซพันธุ์แท้ที่ไม่ปะปนกับพื้นที่ใช้งานอื่นๆ เพื่อให้ทุกคนได้มีสมาธิในการทำงานอย่างแท้จริง แต่ถ้าอยากพักผ่อนก็แค่เดินออกไป NOXX Café ที่อยู่ข้างกันได้เลย

เพื่อนบ้านที่พร้อมต่อยอดงานของเรา

นอกจากพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซให้คนทำงานหลากหลายสายเข้ามาใช้ ที่นี่ยังมีโซนออฟฟิศให้เช่า ทำให้เกิดเป็นชุมชนบริษัทรุ่นใหม่ที่พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ตลอด วนิกยกตัวอย่างว่าที่นี่มีทั้งบริษัททำ chatbot ทำระบบ AI หรือบริษัทช่วยจัดตั้งสตาร์ทอัพ เมื่อมีความต้องการอะไรก็ร่วมมือกันได้ เช่นกันกับคนทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่ที่สามารถทำความรู้จักกันไว้เพื่อต่อยอดทางการงาน

เรานึกเปรียบเทียบถึงอาคารออฟฟิศสมัยเก่าที่แต่ละบริษัทจะอยู่แยกกันเป็นชั้น ที่นี่เองก็คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ส่วนแบ่งกั้นนั้นได้สลายหายไป กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนมาใช้ร่วมกันอย่างสบายใจจนเกิดความคุ้นเคยกัน

“ถามว่าพื้นที่การทำงานร่วมกันแบบนี้มันสำคัญอย่างไร ผมมองว่าโลกยุคเป็นยุคของการ collaborate นวัตกรรมของโลกยุคนี้คือการต่อยอดความสำเร็จจากโลกยุคเก่า การจะขึ้นไปอีกระดับได้ต้องอาศัยคนร่วมมือกันคิด การที่เอาความคิดแค่จากอุตสาหกรรมเดียว หน่วยงานเดียว มันไม่พอแล้ว มันต้องมีการร่วมมือช่วยเหลือกัน พื้นที่แบบนี้ทำจะให้เกิด human touch เกิดเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันและช่วยกันพัฒนา” วนิกสรุป

ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

AUTHOR