“ตัดสินใจในทางที่เราจะภูมิใจกับตัวเอง” จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ

ถ้าใครโตมาในยุคที่เมื่อยและบอล วง Scrubb ยังไม่ดังเปรี้ยงปร้าง
จำได้ว่าเป้ อารักษ์ เคยเป็นสมาชิกมือกีตาร์ในวง Slur
หรือถ้าใหม่ขึ้นมาหน่อย ก็ต้องเคยฟังเพลงเนื้อร้องอินเตอร์ทำนองเพราะๆ
ของวง Part Time Musicians คงไม่มีใครไม่รู้จักคลื่นวิทยุที่เป็นเหมือนเพื่อนซี้เด็กแนวสมัยนั้นอย่าง
Fat Radio แน่นอน

แต่ถ้าอ่านย่อหน้าข้างต้นแล้วงงๆ เราขอเกริ่นสั้นให้เข้าใจ
Fat Radio คืออดีตคลื่นวิทยุตัวอ้วนที่นำเสนอเพลงนอกกระแสของวงดนตรีหน้าใหม่ แถมยังเป็นตัวตั้งตัวตีจัด Fat Festival เทศกาลดนตรีสุดยิ่งใหญ่ที่จับศิลปินทั้งดังและยังไม่ดังมาไว้มากที่สุดต่อเนื่องถึง
12 ครั้งก่อนวันที่ต้องปิดตัวลงในปี 2556 ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ แล้วกลับมาใหม่ด้วยทีมงานเกือบจะเป็นชุดเดิมในเดือนเมษายน
2557 ในรูปแบบวิทยุออนไลน์ชื่อ Cat Radio (คุ้นแล้วใช่ไหม?) โดยมี จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ ชายผู้อยู่คู่ Fat
Radio มาตลอดเป็นผู้ชุบชีวิตขึ้นใหม่ด้วยความตั้งใจเดิม แถมยังเดินหน้าจัดมหกรรมดนตรีประจำปีขึ้นสู่ปีที่ 3 แล้วในปีนี้ชื่อ ‘Cat Expo 3D’ ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่
5 – 6 พฤศจิกายน ที่ลุมพินีสแควร์

ฟังแล้วแทบไม่ต่างไปจากวันที่ Fat Radio ยังอยู่ เช่นเดียวกับความตั้งใจของจ๋องและทีมงานที่บอกเราว่าทุกครั้งก็ไม่คิดอะไรมากไปกว่าแค่อยากให้คนที่มางานมีความสุขกลับไปทั้งคนฟังและศิลปิน
เป็นสิ่งเดียวที่คิดมาตั้งแต่เริ่มจัด Fat Festival ครั้งแรกในปี
2544 จนถึงวันนี้กว่า 15 ปีก็ยังทำสิ่งนี้อยู่ แม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อหรือกลุ่มคนฟังไปบ้างแล้ว
แต่ตราบใดที่จุดยืนของทีมงานยังเหมือนเดิม เขาก็จะไม่เริ่มเข้าสู่บทเรียนที่สอง

“ผมแค่อยากทำอะไรแถวๆ
ที่บางคนมองไม่เห็น แต่เราดันมองเห็น ซึ่งก็ภูมิใจกับงานที่ทำมาตลอดนะ ตอน Fat Festival ครั้งแรกนี่ชัดมาก
เงินก็ได้ รางวัลก็ได้ เดินไปมีคนบอกว่าเท่ด้วย แม้ว่าสิ่งที่เราทำจะไม่เคยฮิตสักอย่าง
และไม่ได้มีอิทธิพลต่อโลกขนาดนั้น ทำโรงหนังที่ไม่ค่อยมีคนดู
ทำรายการวิทยุที่ไม่ค่อยมีคนฟัง แต่มันช่วยสร้างอะไรบางอย่าง
และโชคดีที่ทั้งทีมก็คิดแบบเดียวกันว่าไม่มีอะไรดีกว่าก้มหน้าก้มตาทำไปเรื่อยๆ”

เราสงสัยว่าแล้วในวันที่ Fat Radio ใกล้จะต้องยุติการออกอากาศ หลังจากที่จ๋องตัดสินใจลาออกนำลูกน้องทุกคน
เขามีคำตอบในใจอยู่แล้วหรือเปล่าว่ายังไงก็ต้องทำมันต่อไป

“การไม่มี Fat Radio ไม่สำคัญเท่ากับการไม่มีสิ่งที่
Fat Radio ทำ มันเป็นแค่ยี่ห้อหนึ่ง
แต่ไอเดียและจิตวิญญาณเราไม่สามารถเลิกมันได้ ในเมื่องานยังไม่เสร็จก็ทำมันต่อไปสิ”
ชายผู้ก่อตั้งและรับหน้าที่ผู้บริหารคลื่นแมวในตอนนี้บอกกับเรา “เหมือนพวกเราได้ข้อสรุปกันในวันที่เรียกประชุมทีมงานทั้งหมดนั้นเลยว่าเราจะทำกันต่อนะ
แต่ขอเวลาตั้งหลักนิดนึง เป็นคำถามที่พวกเราตอบกันเร็วมาก
แทบไม่ได้คิดอะไรเลย”

“ผมไม่ได้รู้สึกเฟลกับตัวเองอะไรนะ
มันไม่พอใจตัวเองอยู่แล้วในฐานะที่เราเป็นคนดูแลมันได้ไม่ดี
แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นความล้มเหลวของเรา การทำ Fat
Radio ภายใต้บริษัทมีปัจจัยที่ผมควบคุมไม่ได้อยู่มากเกินไป พอเงินที่หามาได้กับเงินที่ต้องใช้ไม่สัมพันธ์กัน
ก็เริ่มเดือดร้อนคนรอบตัวที่มาช่วยเรามากเกินไป
เพื่อนหรือซัพพลายเออร์ไม่ได้เงินอย่างที่ควรจะได้ พนักงานเริ่มไม่ได้เงินเดือนแต่ยังทำต่อเพราะรักในงานตรงนี้และเห็นว่าผมยังสู้อยู่
ซึ่งส่วนตัวผมรู้สึกเกรงใจคนรอบตัวจังเลย เลยคิดว่าพอดีกว่า”

“แต่จนถึงนาทีนี้ก็ไม่เคยรู้สึกว่าการตัดสินใจครั้งนั้นผิดเลยสักวันเดียว
มองย้อนกลับไปก็รู้ว่ามันถูกมากกว่าผิดแน่ๆ” จ๋องตอบแล้วเล่าเพิ่มว่าทุกวันนี้ที่สถานการณ์ผลักให้เขาต้องรับผิดชอบบริหาร
Cat Radio เต็มๆ
ก็ทำให้สบายตัวกับการตัดสินใจของตัวเองมากขึ้น แม้จะยังมีปัญหาเรื่องการหาเงินทุนลำบากอยู่บ้างก็ตาม

“ตัดสินใจในทางที่เราภูมิใจกับตัวเองมากที่สุดนั่นแหละ
เราอยากเป็นคนแบบไหน อยากจดจำตัวเองแบบไหน อยากรู้สึกกับตัวเองยังไงก่อนนอน
ก็ขอให้มีกำลังใจพอที่จะตัดสินใจได้อย่างนั้นก็แล้วกัน”

ถ้าตัดสินใจไปอย่างนั้นแล้ว
จะถูกหรือผิด จะดีหรือไม่ ก็เป็นตัวเราที่พอใจตัวเองทั้งหมดอยู่ดี

www.thisiscat.com

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR