Youth of May (오월의 청춘) อาจไม่ใช่สื่อบันเทิงกระแสหลักเรื่องแรกในเกาหลีที่หยิบเหตุการณ์ The May 18 Democratic Uprising หรือ The May 18 Gwangju Democratization Movement ขึ้นมาถ่ายทอดให้เห็นถึงความเจ็บปวดและความคับแค้นใจของคนเกาหลีใต้ เพราะในอดีตอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีเคยผลิตทั้งหนังและซีรีส์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมืองกวางจูซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมปี 1980 ทั้งรูปแบบที่เล่าอย่างตรงไปตรงมาและรูปแบบที่นำเสนอผลกระทบทางอ้อมจากเหตุการณ์จำนวนหลายสิบเรื่อง
ยกตัวอย่างหนังเรื่อง A Petal (Jang Sun-woo, 1996) หนังดราม่ากระชากความรู้สึกคนดูที่เล่าชีวิตอันปวดร้าวของหญิงสาวคนหนึ่งที่เป็นผลมาจากความโหดร้ายในอดีตจากการที่รัฐล้อมปราบประชาชนในเมืองกวางจู, A Taxi Driver (Jang Hoon, 2017) เรื่องราวของแท็กซี่ที่ตกกระไดพลอยโจนขับรถไปส่งนักข่าวต่างชาติซึ่งต้องการเข้าไปทำข่าวช่วงที่เหตุการณ์การเมืองในกวางจูคุกรุ่น หนังเรื่องนี้ยังเป็นตัวแทนที่เกาหลีใต้ส่งประกวดบนเวทีออสการ์ในปีนั้น หรือแม้แต่ซีรีส์ coming of age สุดฮิตอย่าง Reply 1988 ที่กล่าวถึงการชุมนุมใน EP.05 เมื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองปี 1980 ส่งผลต่อเหตุการณ์ 7-8 ปีให้หลัง เพราะตัวละครโบรา–พี่สาวของนางเอก เป็นแกนนำนักศึกษาที่ออกไปประท้วงต่อต้านรัฐบาลระบอบยูชิน จนเธอถูกตำรวจจับกุมในฐานะ 1 ใน 25 แกนนำนักศึกษา (ลองดูตัวอย่างลิสต์หนังบางส่วนได้ที่นี่)
ท่ามกลางเรื่องราวที่ถูกผลิตซ้ำและตีความใหม่เรื่อยๆ สิ่งที่ทำให้ Youth of May มีเสน่ห์และความน่าสนใจเฉพาะตัว ไม่เหมือนหนังและซีรีส์เรื่องอื่นที่มีฉากหลังและช่วงเวลาแบบเดียวกัน คือเรื่องราวที่กล้าจะโรแมนติกจนสุดขั้ว โดยนำเสนอรักแท้ของหนุ่มสาวที่ดำเนินไปบนการฝ่าฟันอุปสรรคที่ยากเย็นนานัปการ โดยเฉพาะกำแพงสำคัญอย่างโครงสร้างทางสังคมและชนชั้นที่เป็นสิ่งขวางกั้นความรักอันบริสุทธิ์ของพระเอกและนางเอกไม่ให้สุขสมหวังได้ง่ายๆ
ตกหลุมรักกันในเดือนพฤษภาคม
อาจเป็นความตั้งใจที่ KBS สถานีโทรทัศน์ช่องใหญ่ของเกาหลีใต้เลือกออนแอร์ Youth of May ในช่วงเดือนเดียวกันกับเหตุการณ์จริง ซีรีส์เรื่องนี้กำกับโดย Song Min-yeob ได้นักแสดงดาวรุ่ง 2 คนมารับบทนำ ได้แก่ Lee Do-hyun รับบทเป็น Hwang Hee-tae นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กับ Go Min-si ในบท Kim Myeong-hee พยาบาลสาวผู้มุ่งมั่นทำงานในโรงพยาบาลประจำเมืองกวางจูเพื่อจุนเจือครอบครัว
เรื่องราวทั้งหมดเกิดในเดือนพฤษภาคม 1980 ช่วงเวลาที่เกาหลีใต้ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ประเทศยังคงยากจนมาก ประกอบกับความข้าวยากหมากแพง ผู้คนในสังคมไม่มีสิทธิเสรีภาพ สังคมอัตคัดในทุกๆ ด้าน กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่พอดีกับการปูให้เกิดเรื่องรักต่างชนชั้นระหว่างฮีแท–ลูกชายของคนรวย ผู้มีพ่อที่มีอำนาจเหลือล้นในเมือง และมยองฮี–ลูกสาวของคนจนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวที่ขัดสนเพื่อส่งเงินไปให้พ่อที่ต่างเมือง
แม้ทั้งสองคนจะมีภูมิหลังอันแตกต่างแต่ก็ได้มาพบรักกันจากเหตุการณ์ที่พลิกผันชุลมุน ทว่าความแตกต่างสุดขั้วของพระ-นางก็สร้างปมของเรื่องอย่างแน่นหนา ไล่เรียงตั้งแต่ชนชั้น สถานะทางสังคม ระดับการศึกษา และอุดมการณ์ทางการเมืองของครอบครัว พ่อของฮีแทเป็นพนักงานรัฐระดับสูงของเมืองกวางจูที่ทำหน้าที่จับคนเห็นต่างมาสอบสวนและส่งตัวให้ทางการ ซ้ำร้ายกว่านั้นคือการที่พ่อของทั้งคู่เป็นคู่ปรับกัน ครบสูตรของเรื่องรักเมโลดราม่าที่ตัวเอกโดนกีดกัน
ท่ามกลางเหตุบ้านการเมืองของประเทศที่กำลังคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ ขบวนการนักศึกษาและแรงงานทั่วประเทศกำลังลุกฮือ หนุ่มสาวแอบใช้เวลาในช่วงฤดูใบไม้ผลิร่วมกัน ความรักของพวกเขาค่อยๆ ผลิบานไปพร้อมกับการเบ่งบานของอุดมการณ์ประชาธิปไตยในใจคน ทว่าอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือระบอบการเมืองที่ทำให้ความรักดูยากจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อฝั่งฮีแทมีพ่อเป็นเผด็จการ ขณะที่พ่อของมยองฮีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ (ซึ่งบริบทขณะนั้นคือคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ) ความรักครั้งนี้ดูไม่มีทางลงเอยกันได้เลยยกเว้นการหนีตามกันไป และถ้าหนีไม่พ้นทั้งสองคนอาจต้องแลกด้วยชีวิต
Youth of May ฉายให้เห็นภาพชีวิตของตัวละครเล็กๆ ระดับปัจเจกที่ทำให้คนดูได้เห็นว่าการเมืองส่งผลต่อชีวิตทุกคน มีหลายอย่างที่เราเลือกไม่ได้ในรัฐเผด็จการ โดยเฉพาะตัวละครฮีแทผู้ถูกพ่อปกครองด้วยวิธีแบบเดียวกับที่รัฐปกครองประชาชน รัฐบาลขณะนั้นเลือกกำจัดคนเห็นต่างอย่างรุนแรงด้วยการขังคุก ส่งไปเป็นทหาร และร้ายแรงที่สุดคือการเข่นฆ่าหรืออุ้มหาย เรื่องนี้ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขายิ่งซับซ้อนมากขึ้น เพราะนอกจากทั้งคู่จะไม่เหมาะสมกันในบริบทของฐานะ การคบกันของพวกเขาจะทำให้พ่อแม่ของแต่ละฝั่งพลอยซวยเพราะถูกรัฐจับตาและจ้องจะจัดการ เพราะฉะนั้นแม้แต่ความรักของคู่รักก็ถูกผูกไว้กับอุดมการณ์ทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้ใหญ่ และแน่นอนว่าถูกผูกไว้กับอำนาจชนชั้นปกครองที่ห้ามไม่ให้ต้นไม้แห่งความรักในเสรีภาพผลิใบ
ถ้าไม่มีประชาธิปไตยเราจะรักกันกันไม่ได้?
ในฐานะคนที่ตกหลุมรักซีรีส์แนวพีเรียดเกาหลี Youth of May ไม่ทำให้เราผิดหวังเพราะทีมผู้สร้างจะพาผู้ชมไปพบกับเสื้อผ้าหน้าผมวัฒนธรรมป๊อปและรายละเอียดทางประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจในยุค 80s แม้ผู้กำกับไม่ได้จงใจเล่าประวัติศาสตร์ทางการเมืองโดยตรง เพราะโทรทัศน์เกาหลีห้ามฉายภาพความรุนแรงเพื่อให้ชมกันได้ทุกเพศทุกวัย แต่เขาก็เผยว่าเขาตั้งใจเล่าเรื่องราวอย่างเรียบง่าย และค่อยๆ ทำให้เห็นว่าตัวละครแต่ละคนเลือกจัดการกับชีวิตยังไงเมื่อเผชิญหน้ากับการกราดยิงของทหารในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 แต่ที่เราประทับใจมากคือการคงคาแร็กเตอร์ของตัวละครที่พูดภาษาเกาหลีสำเนียงกวางจูอย่างใส่ใจในรายละเอียด และฉากหลังที่บางส่วนเป็นสถานที่จริงในประวัติศาสตร์
แม้ Youth of May จะไม่ได้เน้นเล่าภูมิหลังประวัติศาสตร์และไม่ได้กล่าวถึงชื่อของตัวละครที่มีส่วนกระทำจริงในประวัติศาสตร์การเมืองที่โหดร้าย แต่ซีรีส์ก็ฉายภาพบางๆ ของสังคมวัฒนธรรมเกาหลีเอาไว้ให้ระลึกถึงรากฐานจากอดีตผ่านอุปสรรคความรักที่เป็นผลมาจากสถานการณ์นั้น เช่น การพยายามปกปิดตัวตนและหนีการไล่ล่าจากทางการที่สะท้อนว่าเราจะลงเอยกันได้ก็ต่อเมื่อประเทศมีประชาธิปไตย หรือกระทั่งประเด็นการเปิดกว้างทางความคิดของผู้คนที่มีต่อค่านิยมเรื่องความรักต่างชนชั้น แต่สภาพสังคมที่มีการปะทะกันรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชนในปี 1980 จะไม่มีทางทำให้คุณคาดเดาได้เลยว่าความรักที่ว่าจะเป็นไปได้ไหม มากกว่านั้น ประเทศจะมีเสรีภาพได้จริงไหมและต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าจะได้รับสิทธิความเท่าเทียม เพราะในความเป็นจริงแล้วอีก 7-8 ปีให้หลังคนเกาหลียังต้องลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการอย่างต่อเนื่อง
ฉากหนึ่งที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจจนอยากหยิบมาเล่าถึงคือเหตุการณ์ที่ตัวเอกของเรื่องโดนรัฐล้อมปราบ ที่มาของมันย้อนกลับไปในปี 1961 ซึ่งเกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของ Park Chung-hee ผู้นำที่มาจากการทำรัฐประหารของทหาร ถือเป็นระยะของการรัฐประหารที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลี รัฐบาลของปาร์กจองฮีปกครองประเทศด้วยกฎเข้มงวด 18 ปีภายใต้ระบอบยูชิน รัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลดำรงตำแหน่งยาวนาน โดยไม่ต้องสนใจทั้งสิทธิเสรีภาพของคน ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญยูชินยังกลายเป็นมรดกเผด็จการที่ถูกนำมาใช้ต่อเนื่องอีกนานหลายปี
เมื่อประธานาธิบดีปาร์กจองฮีถูกลอบสังหารในปี 1979 และมีการรัฐประหารโดยกลุ่มของ Chun Doo-hwan ในช่วงธันวาคมปีเดียวกัน ประธานาธิบดีชอนเป็นตัวแปรสำคัญของรัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่ปี 1980-1988 ซึ่งเป็นแรงจูงใจทำให้ขบวนการนักศึกษาต้องออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย
ประธานาธิบดีชอนคือต้นเหตุหนึ่งของการล้อมปราบจนเกิดการนองเลือดรุนแรงที่กวางจู และเกิด Gwangju Uprising ในวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 เนื่องจากรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทำให้การนัดหมายชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายเมืองต้องล้มเลิกไป แต่ประชาชนและนักศึกษากวางจูกลับปักหลักเรียกร้องประชาธิปไตยต่อเนื่อง 10 วัน มีการปะทะต่อสู้กันอย่างรุนแรง และมีการอ้างว่าประชาชนเป็นผู้เริ่มยิงทหารก่อน โดยที่รัฐอธิบายว่าทำไปเพื่อความมั่นคงของชาติและป้องกันฝั่งเกาหลีเหนือปลุกปั่นประชาชนเกาหลีใต้ให้เป็นกบฏโดยมีฝ่ายค้านสนับสนุนให้ทุกคนลุกขึ้นมาต่อต้านภาครัฐ นำมาสู่ความสูญเสียมากมาย โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจมีผู้บาดเจ็บถึง 4,141 คน เสียชีวิตกว่า 154 คน สูญหาย 74 คนหรืออาจมากกว่านั้น เพราะมีผู้สูญหายและยังไม่สามารถบันทึกข้อมูลของผู้ร่วมเหตุการณ์ได้ครบ
ความน่าสนใจของตัวบทคือการเขียนให้ตัวละครฝั่งทหารมีชีวิตจิตใจ ไม่ได้มีทุกคนที่อยากฆ่าคนชาติเดียวกัน แต่สุดท้ายก็ต้องฆ่า นำมาสู่การขบคิดของเราเองว่าเราจะรักษาชีวิตของผู้คนหรือยอมฆ่าคนอื่นเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยและธำรงระบบที่กดขี่ตัวเองไว้
หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นอาจดูเหมือนว่าประชาชนเกาหลีพ่ายแพ้และสังคมเกาหลีใต้ก็ยังคงถูกปกครองด้วยทหารต่อไป แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์ที่กวางจูถือเป็นตัวจุดประกายให้คนเกาหลีตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคือคนเกาหลีไม่ได้สยบยอมและยังคงเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนกับการล้อมปราบประชาชนได้รับโทษ
ในปี 1993 หลังการปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตย ประธานาธิบดี Kim Young-sam ได้รื้อฟื้นเหตุการณ์กวางจูใหม่ พร้อมทั้งยกย่องให้เป็นการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่สำคัญ ผู้นำทหารในสมัยล้อมปราบประชาชนกวางจูทั้งชอนดูฮวานและโรแทวูถูกตัดสินให้มีความผิดภายหลังการลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมืองกวางจู ในปีเดียวกันนี้เองมีการก่อตั้งองค์กรมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก และปัจจุบันยังคงมีการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อในเหตุการณ์กวางจูและยังมีการเรียกร้องให้รื้อฟื้นคดีฟ้องร้องอีกครั้งแก่ผู้นำทั้งสองคน ถึงแม้จะผ่านมา 41 ปีแต่ก็ยังไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ทั้งหมด ในซีรีส์จะเห็นได้ว่ายังคงมีกลุ่มคนที่คิดว่าเหตุการณ์ในกวางจูเกิดจากพวกคอมมิวนิสต์ในเกาหลีเหนือ และสะกิดบาดแผลในความทรงจำของพระเอกอย่างฮีแท
ไม่ได้มีเพียงคำชมเท่านั้น แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ แต่เมื่อทีมงานเลือกเล่าเรื่องของตัวละครที่ไม่ได้มีอยู่ในประวัติศาสตร์จริงๆ ทำให้ชาวเน็ตเกาหลีบางส่วนวิจารณ์ว่าซีรีส์เรื่องนี้บิดเบือนข้อมูลประวัติศาสตร์ ทำให้ฉายภาพเหตุการณ์ของคนและเหตุการณ์ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ยังไงก็ตาม Youth of May เป็นหนึ่งในหนังและซีรีส์หลายสิบเรื่องที่ยังคงตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวความโศกเศร้า โหดร้าย และทารุณทางประวัติศาสตร์ให้สังคมได้รับรู้ และเป็นหลักฐานยืนยันชั้นดีในปี 2021 ว่าในสังคมที่ได้รับการชำระประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชนและพยายามหาคนผิดมาลงโทษอย่างจริงใจ จะนำมาสู่การบอกเล่าและถกเถียงเรื่องราวทางสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังทำให้เห็นว่าชีวิตของตัวละครทุกตัวที่เคยรวดร้าวในกวางจูมีบาดแผลที่ยังต้องแบกรับจนถึงปัจจุบัน ส่วนจะได้รับการคลี่คลายมากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องของคนแต่ละคน
แม้ประเทศเกาหลีใต้จะเปลี่ยนเป็นชาติที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยลำดับต้นๆ ของโลก แต่ความโหดร้ายในกวางจูยังคงถูกจารึกไว้ไม่เสื่อมคลาย สิ่งเหล่านี้คือประเด็นที่ซีรีส์มอบให้เรานอกเหนือจากเส้นเรื่องความรักของฮีแทกับมยองฮีที่ต้องเผชิญกับความกดดันทางการเมืองตั้งแต่เริ่มต้นเดือนพฤษภาคมปี 1980 ปีที่มีคนมากมายต้องสูญเสียและแม้รอดก็ต้องเจ็บปวดในส่วนลึก ทว่าทุกเสรีภาพที่ได้มาจากการกดขี่ล้วนต้องแลกด้วยเลือด น้ำตา และความตาย
ส่วนถ้ามองกันในแง่อุตสาหกรรมบันเทิง คนเกาหลีก็เก่งกาจมากพอที่พวกเขาจะหาแง่มุมทางประวัติศาสตร์มาผลิตคอนเทนต์ใหม่ที่ไม่ใช่แค่ผลิตเพื่อหาผลกำไรหรือดูเพื่อความบันเทิง แต่สังคมและผู้ชมทั่วโลกยังได้ระลึกถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญที่ลุกโชติช่วงสู่เสรีภาพของคนเกาหลีใต้
ยิ่งคิดยิ่งน่าเศร้า เพราะเมื่อมองย้อนกลับมายังเหตุการณ์ของไทยที่บันดาลใจคนเกาหลีในยุคนั้นให้แสดงพลังท้าทายอำนาจรัฐที่กดขี่อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยเรากลับไม่เคยได้รับการชำระสะสาง ยังคงมีการบิดเบือน ปกปิดข้อมูล ในขณะที่ผู้มีส่วนร่วมกระทำผิดยังคงลอยนวล ผ่านมาหลายทศวรรษประเทศไทยยังไม่เคยลิ้มรสเสรีภาพที่จะแสดงออก หรือหยิบเอาการต่อสู้และบาดแผลเหล่านั้นมาตีแผ่อย่างไร้ความกลัว หากจะให้ยกตัวอย่างในช่วงชีวิตชาวมิลเลนเนียลส์อย่างเรา เห็นจะเป็นเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน และ October Sonata รักที่รอคอย เท่านั้น
แต่ความเศร้านั้นก็เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าการต่อสู้ยังต้องดำเนินต่อไปจนถึงวันที่เสรีภาพและประชาธิปไตยที่แท้จริงมาถึง เมื่อนั้นดอกผลคงไม่ใช่แค่อิสระของการพูด การสร้างสรรค์ หรือการสื่อสาร หากเป็นความหอมหวานของชีวิตที่ทุกคนมีสิทธิเลือก อยู่บนโลกนี้ได้อย่างปัจเจก และทุกคนมีคุณค่าของความเป็นคนเท่ากัน
อ้างอิง