หมวกเบเรต์ปักลวดลายทรงข้าวหลามตัด หมวกทรงดอกไม้ปักลายดวงอาทิตย์และไข่นกกระทาบนสายคาด นี่คือฝีมือการปักของนักเรียนกะเหรี่ยง โรงเรียนบ้านตะโกล่าง จังหวัดราชบุรี
กระเป๋าสะพายข้างทรงคล้ายภูเขาปักลายตีนไก่และพรรณไม้ กระเป๋าใบจิ๋วที่ย่อส่วนย่ามใบใหญ่ของชาวกะเหรี่ยงที่ปักลายใกล้กัน นี่ก็เป็นฝีมือของชาวบ้านกะเหรี่ยง ชุมชนห้วยเกษม อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
แม้ต่างสถานที่ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากวัฒนธรรมพื้นเมืองที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นของชาวกะเหรี่ยง และจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์เดียวกัน
‘Youngyao’ คือแบรนด์แฟชั่นเจ้าของผลงานดังกล่าว โดยจุดเริ่มต้นของพวกเธอมาจากโปรเจกต์ Social and Cultural Innovation Lab ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยดีไซเนอร์ 4 คน เบล–วริศรา วรรณวงศ์ไพศาล, ปอนด์–พาขวัญ เลี้ยงศรี, แตงโม–ธนนาฏ สุจิภิญโญ และ บาส–นวรัตน์ สีสังข์ พ่วงด้วยที่ปรึกษา อาจารย์น้อง–วรนุช ชื่นฤดีมล และ อาจารย์อีฟ–นันทนา บุญลออ ที่จากการลงพื้นที่พวกเธอได้มีโอกาสไปเห็นชาวกะเหรี่ยงโชว์สกิลปักลายลงบนผ้าทอกะเหรี่ยงแท้ๆ จนเกิดเป็นไอเดียตั้งต้นของแบรนด์
“ชาวกะเหรี่ยงไม่ได้อาศัยอยู่แค่เชียงใหม่หรือเชียงราย แต่พวกเขากระจายอยู่หลายพื้นที่ รวมถึงจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ อย่างเพชรบุรีและราชบุรี หลายคนอาจคิดว่ารู้จักชาวกะเหรี่ยงดีแล้ว แต่จริงๆ อาจไม่ได้รู้ดีขนาดนั้น เราเลยอยากเป็นสื่อกลางให้คนได้เรียนรู้วิถีชีวิตและความสามารถที่มีมากกว่าภาพจำใส่ห่วงรอบคอ”
นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่เรื่องทั้งหมดเป็นยังไง คำบอกเล่าของพวกเธอรออยู่แล้วในบรรทัดถัดไป
จุดเริ่มต้น Youngyao ที่อยากพาแฟชั่นกะเหรี่ยงเติบโต
อย่างที่กล่าวไปว่า Youngyao คือผลงานในหลักสูตรการเรียนภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แต่แท้จริงแล้วที่มากกว่านั้นคือแกนหลักของวิชาที่คณาจารย์มุ่งหวังให้เกิดการเผยแพร่และพัฒนาวัฒนธรรมอันหลากหลายในสังคม ผ่านสินค้าที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้
และนั่นเองจึงเป็นที่มาในขั้นต้นที่พวกเธอเลือกชาวกะเหรี่ยง
“ด้วยความที่มหาวิทยาลัยเรามีแคมปัสอยู่บริเวณสวนผึ้งอยู่แล้ว เราเลยได้ลงพื้นที่และเห็นวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงในชุมชนอยู่บ่อยๆ และเล็งเห็นไอเดียที่จะเอามาสอนนักศึกษาให้ทำผลิตภัณฑ์กับชุมชนเหล่านี้ ทั้งเรียนรู้กระบวนการผลิต ออกแบบ รวมถึงพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นจะขายได้จริงในท้องตลาด เพื่อทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเรามาช่วย ไม่ได้มาแค่ครั้งคราว” อาจารย์น้องอธิบายถึงจุดแรกเริ่ม ก่อนที่อาจารย์อีฟจะเสริม
“จุดประสงค์ของเราคือต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องความหลากหลายของชีวิต คนกะเหรี่ยงเขาก็เป็นคนไทยเหมือนกับเรา เพียงแต่เขาอาจขาดโอกาสในการเข้าถึงอะไรหลายๆ อย่าง เราเลยอยากให้นักศึกษาของเราได้ไปเจอและเรียนรู้พวกเขาเพิ่มมากขึ้น”
จากความตั้งใจแรกเริ่มนั้น ผู้ที่รับไม้ต่อจากอาจารย์ทั้งสองคือเหล่านักศึกษา และพวกเธอก็เล่าให้เราฟังถึงขั้นตอนต่อจากนั้น
“พวกเราได้ลงพื้นที่ไปคุยกับน้องๆ กะเหรี่ยง แล้วน้องก็พูดกับเราเองว่าเขาไม่มีโอกาส หลายคนเลยที่อยากลองสร้างงานแฟชั่นของตัวเองจากวัฒนธรรมรอบตัว แต่พวกเขาไม่มีความรู้ บางคนจึงต้องไปทำงานอื่นเพราะต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว
“จากภาวะที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เด็กในชุมชนกะเหรี่ยงไม่ได้สานต่อวัฒนธรรมจากพ่อแม่ เช่น มีลุงคนหนึ่งตีเม็ดเงินเก่งมาก แต่รุ่นลูกอาจจะทำไม่ได้แล้ว หรือบางบ้านเก่งเรื่องลายปักธรรมชาติมาก แต่รุ่นหลานน้อยคนที่ทำได้ เราเลยต้องเข้าไปเป็นตัวกลางจัดทำโครงการนำช่างตัดเย็บที่เป็นอาสาสมัครของเราเข้าไปสอนเขาแทน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นสิ่งที่คนในครอบครัวสานต่อเอง”
จากจุดเล็กๆ ตรงนั้น เบล ปอนด์ แตงโม และบาส ได้เห็นทั้งข้อดีและปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา เพราะการจ้างงานชาวกะเหรี่ยงที่ฝึกทักษะมาแล้วกลับมีค่อนข้างน้อย สาเหตุเพราะผู้จ้างไม่ได้ผลิตทั้งปี แต่นั่นเองที่ทำให้ทั้งสี่คิดสร้างบางอย่างให้กับชุมชนกะเหรี่ยงเพื่อให้พวกเขามีรายได้มากขึ้นและมาจากชุมชนร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ผ้าทอ เม็ดเงิน และการปัก
ไอเดียในการทำแบรนด์เพื่อชุมชนเลยเกิดขึ้นในตอนนั้น
เอกลักษณ์กะเหรี่ยงที่น่าหลงรัก
เมื่อได้ไอเดีย ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการหาข้อมูล เหล่านักศึกษาจึงลงพื้นที่ไปสัมผัสชีวิตของคนกะเหรี่ยงให้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่พวกเธอพบเจอก็กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดี
“ทุกการสนทนากับคนในชุมชนกะเหรี่ยงจะไม่ใช่แค่การคุย ถามมาตอบไป แต่เราอยากละลายพฤติกรรมพวกเขาเพื่อให้สนิทกับเรา จะได้เปิดใจแชร์เรื่องราวให้เราฟังได้ ซึ่งเราก็ต้องจริงใจกับเขาก่อนด้วยการแชร์ชีวิตของเราให้ฟัง
“การทำงานมันจึงง่ายขึ้นเพราะเราสนิทกันเร็ว อย่างเราถามพี่ๆ กะเหรี่ยงชุมชนห้วยเกษมว่าเรากำลังสนใจแฟชั่นแบบนี้ พี่มีความเห็นยังไงบ้าง ส่งรูปไปให้เขาว่าแบบนี้สวยไหม ลายนี้โอเคไหม เพื่อแลกเปลี่ยนความชอบของกันและกัน” ปอนด์ผู้รับหน้าที่เป็น researcher ประจำทีมเล่าให้เราฟัง
เพื่อให้ได้อินไซต์ของชาวกะเหรี่ยงมากที่สุด นอกจากการพูดคุยทีมเลยต้องไปดูให้รู้ว่าเขามีวัฒนธรรมอะไรกันบ้าง ซึ่งสิ่งที่เห็นคือความเก่งกาจในการปักเย็บ
“ลายปักของเขาจะมีทั้งลายตีนไก่ ลายพืชพรรณ ดอกไม้ต่างๆ ที่อยู่รอบๆ บ้าน รวมไปถึงลายไข่กบ แมงมุมน้ำ เสือ หรือไก่ป่าที่เป็นสัตว์ประจำบ้าน แฝงไปด้วยความสิริมงคลจากการเคารพธรรมชาติของพวกเขา” แตงโม คอนเทนต์ครีเอเตอร์ประจำทีมบอก ก่อนที่อาจารย์อีฟจะเสริมเรื่องความพิเศษของผืนผ้า
“ผ้าทอกะเหรี่ยงถ้าไม่ได้ลงไปเห็นกับตาจะไม่รู้เลยว่ากลไกมันซับซ้อนมาก ตอนพวกเราไปดูยังแอบคิดว่าเขาทำได้ยังไงนะ เทคนิคที่เขาทำคือ ‘กี่เอว’ ที่ใช้แค่ไม้ กระบอกไม้ไผ่ และท่อแป๊ป มาทำเป็นเครื่องทอที่เชื่อมกับการขยับร่างกาย ไม่ใช่การนั่งทื่อๆ แล้วทอ พวกเขามีจังหวะการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ดัดเอว โยกตัว ซึ่งแต่ละจังหวะเส้นด้ายจะตึงพอดีและทำให้ผ้าเนื้อแน่นมาก”
นอกจากการปักลายและการทอผ้าที่คนนอกมองว่าเจ๋ง พี่น้องชาวกะเหรี่ยงยังมีการทำเม็ดเงินเป็นลายพระอาทิตย์ (หรือบางคนก็มองเป็นดอกพิกุล) ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง ทีมได้ลงไปเห็นการทำเม็ดเงินของชาวบ้านที่พิถีพิถันตั้งแต่ลนไฟจนได้ที่แล้วนำมาตัดเป็นแท่ง ก่อนจะใช้ค้อนตีเป็นเม็ดเล็กๆ และเอาเหล็กแหลมเสียบเข้าไปตรงกลางให้เกิดรู ซึ่งวัฒนธรรมที่ว่ามาทั้งหมดนั้นยากที่จะเห็นได้ตามเมืองหลวง
จุดนี้เองที่ทำให้ทีมเห็นความเป็นไปได้เข้าให้แล้ว
คราฟต์ความกะเหรี่ยงกับคนเมืองเข้าด้วยกัน
“ภาพจำเก่าที่ทำให้คนเมืองรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่ค่อยซื้อสินค้ากะเหรี่ยงกันคือสีฉูดฉาดและดีไซน์โปรดักต์ที่ใช้ได้ยาก แต่พวกเรา 4 คนในฐานะดีไซเนอร์ที่ลงไปคลุกคลีกับชาวกะเหรี่ยงเลยอยากแก้ภาพตรงนี้
“เราเลือกหยิบแรงบันดาลใจรวมถึงวิถีชีวิตมาใส่ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมีโจทย์สำคัญว่าคนรุ่นเราต้องอยากซื้อแล้วใช้จริง” เบล โปรเจกต์เมเนเจอร์ผู้ดูแลภาพรวมและโปรเจกต์ทั้งหมดเป็นหลักบอกเรา และจากความคิดนั้น ผลิตภัณฑ์จึงเกิดขึ้นตามมา
‘Youngyao x pkakrong’ ผลงานของ ‘เบล’ ที่ออกแบบหมวกเบเรต์ เธอได้แรงบันดาลใจจากหมวกทรงคล้ายๆ กันที่เด็กในชุมชนกะเหรี่ยงใส่ไปโรงเรียน โดยปักลวดลายบนผ้าทอกะเหรี่ยงเป็นทรงข้าวหลามตัด ซึ่งเป็นฝีมือของเด็กๆ กะเหรี่ยง โรงเรียนบ้านตะโกล่าง จังหวัดราชบุรี
‘Youngyao x Summersun’ ผลงานของ ‘แตงโม’ ที่ออกแบบหมวกทรงดอกไม้ทรงแปลกตาด้วยผ้าทอกะเหรี่ยง เธอได้แรงบันดาลใจมาจากการลงพื้นที่เดินป่าในชุมชนและเล็งเห็นว่าอากาศร้อนๆ แบบนี้ควรมีหมวกปีกกว้างที่กันแดดได้จริง และเธอก็เพิ่มรายละเอียดน่ารักๆ ด้วยสายคาดหมวกที่ปรับมาผูกผมได้เก๋ๆ ที่ออกแบบลายปักพระอาทิตย์และไข่นกกระทาโดยนักเรียนกะเหรี่ยง โรงเรียนบ้านตะโกล่าง จังหวัดราชบุรี และตัดเย็บด้วยฝีมือช่างวัยเกษียณ
‘Youngyao x แป๋นแป๋น’ ผลงานของ ‘ปอนด์’ ที่ออกแบบกระเป๋าใบจิ๋ว ซึ่งย่อส่วนมาจากย่ามกะเหรี่ยงทรงตูดช้างใบใหญ่ ทำให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่มักมีกระเป๋าใบเล็กไว้ใส่ธนบัตร การ์ด หรือกุญแจรถ โดยปอนด์เลือกให้ชาวกะเหรี่ยงชุมชนห้วยเกษม จังหวัดเพชรบุรี เป็นคนปักลายดอกไม้ถี่ๆ ลายจุด และลายตีนไก่ ซึ่งต้องใช้ความละเอียดสูง พร้อมเพิ่มดีเทลตรงปลายกระเป๋าเป็นการถัก macramé และร้อยเข้ากับเม็ดเงินกะเหรี่ยง
‘Youngyao x Phukhao’ ผลงานของ ‘บาส’ ที่ออกแบบกระเป๋าทรงคล้ายภูเขา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเทือกเขาตะนาวศรี จังหวัดราชบุรี โดยสามารถเปิด-ปิดได้จากด้านบน และกันของหล่นด้วยกระเป๋าเล็กๆ ข้างในอีกชั้น ด้านนอกเป็นผ้าทอกะเหรี่ยงที่ปักลายตีนไก่ผสมกับลายดอกไม้ เน้นสีส้มและเขียวที่ดึงจากสีดินและสีพืชชนิดต่างๆ โดยชาวกะเหรี่ยงชุมชนห้วยเกษมใช้เทคนิคการปักลายยึกยักหรือเรียกว่าปักแบบลูกโซ่ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญเฉพาะตัว
We are the Young(yao) generation
นอกจากเรื่องความสร้างสรรค์ในผลิตภัณฑ์ แบรนด์ไม่ได้วางตัวเองให้ขายสินค้าแฟชั่นเพียงอย่างเดียว แต่วางโพสิชั่นตัวเองเป็นนักเล่าเรื่องที่อยากส่งต่อวัฒนธรรมน่าอนุรักษ์ ผสานกับไอเดียใหม่ๆ ให้คนหลายเจเนอเรชั่นเข้าถึงได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
“เราวางแผนกันทุกเดือนว่าจะโพสต์อะไรดีในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ต้องคิดว่าคอนเทนต์แบบไหนเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากที่สุด ทั้งเขียนเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่ของคนกะเหรี่ยง วัฒนธรรมผ้าทอ และเครื่องเงินที่เราลงไปเห็นหรือสัมภาษณ์มาเพื่อให้แบรนด์เข้าถึงง่าย มันเหมือนน้ำซึมบ่อทรายให้คนเมืองเริ่มมองเห็นและอยากรู้จักกะเหรี่ยงมากขึ้นทุกวันๆ” แตงโมบอกเราด้วยความตั้งใจ
“เรายังอยากเป็นตัวกลางสื่อสารวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงผ่านการร่วมงานกับศิลปิน อย่างตอนนี้เราร่วมงานกับคุณ proudfa ศิลปินที่สนใจเรื่องสังคมและพร้อมซัพพอร์ตคนกะเหรี่ยง ออกคอลเลกชั่นพิเศษเป็นผ้าอเนกประสงค์ปักลายกะเหรี่ยงที่สามารถผูกเป็นย่าม ทำเป็นผ้าโพกหัว มัดเป็นเสื้อ หรือวางเป็นของแต่งบ้านก็ได้” บาสในฐานะผู้ประสานงานบอกเรา
ก่อนจากกัน ทีมยังย้ำตอบกับเราอย่างมุ่งมั่นว่าพวกเธอจะไม่หยุดสื่อสารวัฒนธรรมอันดีงามของคนกะเหรี่ยงแน่ และในอนาคตจะพยายามเปิดรับอาสามัครคนนอกให้เข้าร่วมโปรเจกต์ หรือร่วมเป็นดีไซเนอร์ออกแบบลายเจ๋งๆ ให้แปลกใหม่และทันสมัยมากขึ้น
เราจึงพอสรุปได้ว่า แบรนด์ Youngyao เป็นอีกหนึ่งมือที่มาช่วยร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงที่เริ่มเจือจางไปตามกาลเวลาได้อย่างดี และยังเป็นเสียงสะท้อนต่อสังคมว่าถ้าคนหันมาสนใจคนกะเหรี่ยงและเชื่อว่าพวกเขาเป็นคนเท่ากัน คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสได้ทำตามความสามารถมากกว่าที่เป็นอยู่เป็นแน่
ไม่ใช่แค่เย็บปักถักทอเสื้อผ้า แต่พวกเขาเป็นทุกสิ่งอย่างที่อยากเป็นได้