จากความสดใสหลังภัยสงคราม สู่เสื้อผ้าของปัญญาชน Marimekko แบรนด์ผ้าพิมพ์จากฟินแลนด์

Marimekko คือแบรนด์สัญชาติฟินแลนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักจากลวดลายผ้าพิมพ์ของดอกอูนิกโกะ (unikko) สีสันสดใสที่มักจะปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ตาม tote bag เดรส และไอเทมอื่นๆ ของแบรนด์ ไม่แปลกที่หลายคนจะจดจำและตกหลุมรัก Marimekko จากลวดลายดอกไม้ที่สดใสนี้ 

แต่ประวัติศาสตร์แบบไหนกันล่ะที่หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังความสดใสนี้ แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้แบรนด์ผ้าพิมพ์ขนาดเล็กในเมืองเฮลซิงกิกลายเป็นแบรนด์ระดับโลก ถึงขนาดที่คนดังอย่าง Jacqueline Kennedy และ Georgia O’Keeffe ยังเป็นแฟนคลับ นี่คือเรื่องราวของ Marimekko แบรนด์ผ้าจากฟินแลนด์ที่กลายเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลก

เดรสของแมรี่

ย้อนกลับไปในปี 1912 Armi Airaksinen ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกที่คาเลเรีย จังหวัดเล็กๆ ในฟินแลนด์ที่ในเวลาต่อมาจะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ในสายตาของเพื่อนๆ อาร์มีเป็นเด็กมีไหวพริบและรู้จักเอาตัวรอด อย่างที่เธอเคยเล่าว่า “ฉันเอาชีวิตรอดจากช่วงเวลาของการผนวกรวมกับสหภาพโซเวียตมาได้ด้วยเสื้อกันฝนหนึ่งตัวและหน้ากากกันแก๊สพิษรั่วๆ หนึ่งอัน” 

ชีวิตในวัยเด็กของอาร์มีไม่ได้สวยสดงดงามนัก ภายใต้สภาวะสงครามและความรุนแรงรอบตัว ครอบครัวของอาร์มีตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดและอพยพมาอยู่ที่เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ในปัจจุบัน

อาร์มีตัดสินใจเรียนต่อด้านการออกแบบสิ่งทอที่ Central School of Applied Arts ในเมืองเฮลซิงกิ เป็นที่นี่เองที่อาร์มีได้รู้จักกับศิลปะสไตล์ Bauhaus ที่ได้กลายเป็นอิทธิพลสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่างๆ ของเธอ อาร์มีเรียนจบในปี 1935 โดยที่ในปีเดียวกันนั้นเธอก็ได้แต่งงานกับ Viljo Ratia นายทหารหนุ่มผู้ไม่เพียงจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นคู่ชีวิตเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจคนสำคัญในเวลาต่อมา

ชีวิตคู่ของอาร์มีและวิลิโยเริ่มต้นได้เพียงไม่นาน โลกก็ผันผ่านเข้าสู่สงครามโลกอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นสงครามโลกครั้งที่สองนี่เองที่ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับอาร์มีอย่างรุนแรงจากการสูญเสียพี่น้องสองคนไปในระหว่างการปะทะกันระหว่างฟินแลนด์และรัสเซีย สงครามโลกครั้งที่สองยังส่งผลให้อาร์มีหันมาให้คุณค่ากับสิ่งง่ายๆ เล็กๆ รอบตัว แทนที่จะไปสนใจสิ่งหรูๆ แพงๆ 

หลังจากที่สงครามสิ้นสุด วิลิโยตัดสินใจลาออกจากกองทัพและนำเงินที่มีมาซื้อโรงงานผ้าน้ำมัน Printex ก่อนที่ในปี 1949 อาร์มีจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัทและเปลี่ยนชื่อเป็น Marimekko ในอีกสองปีให้หลัง ชื่อที่ความหมายของมันคือ ‘เดรสของแมรี่’ (Mary’s dress)

ความรักในรากเหง้า

บรรยากาศของฟินแลนด์ในช่วงหลังสงครามนั้นอบอวลไปด้วยความปรารถนาต่อความหวังและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่สดใส ซึ่ง Marimekko เองก็ถือเป็นตัวละครสำคัญที่มุ่งมั่นจะพลิกฟื้นฟินแลนด์ให้กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง Marimekko ก็มุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกสดใสจากโปรดักต์ของแบรนด์ 

ภาพของอาร์มีที่บ้านพักตากอากาศกับพนักงานคนอื่นๆ ของ Marimekko

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ฟินแลนด์ยังคงมีชนักปักหลังจากสงครามเป็นการต้องจ่ายค่าปฏิกรรมให้กับสหภาพโซเวียต อัตคัดทางทรัพยากรของประเทศสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านผลิตภัณฑ์ของ Marimekko ณ ตอนนั้นที่มักจะใช้วัตถุดิบราคาประหยัด และผ้าฝ้ายราคาถูกเป็นส่วนใหญ่ 

ต่อมาในปี 1953 อาร์มีก็ได้จ้างศิลปินรุ่นใหม่มาร่วมทีม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Vuokko Eskolin-Nurmesniemi ศิลปินผู้ที่จะถูกจดจำในฐานะผู้ออกแบบลวดลายคลาสสิคสารพัดลายให้กับแบรนด์ รวมถึง Jokapoika ผ้าพิมพ์ลายทางที่ส่งให้ชื่อของ​ Marimekko เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา

Marimekko
ลาย Jokapoika

laird borrelli-persson บรรณาธิการแห่งนิตยสาร Vogue เล่าว่า “ลวดลายผ้าพิมพ์ของ Marimekko สะท้อนให้เห็นความเป็นชนบทและวิถีชีวิตแบบชาวสลาฟที่อาร์มีเติบโตขึ้นมา อาร์มีให้ความสำคัญกับรากเหง้าของเธอเป็นอย่างมาก” กล่าวได้ว่า ธรรมชาติและความมีอิสรเสรีคือหัวใจของแบรนด์ โดยที่แม้ว่าลวดลายเหล่านี้จะอบอวลด้วยกลิ่นอายแบบชนบทเพียงใด หากแบรนด์ก็ได้ผสานวิธีดีไซน์แบบสมัยใหม่ซึ่งช่วยส่งให้ลวดลายของ Marimekko โดดเด่นขึ้นมา

เพียงไม่กี่ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท Marimekko ก็กลายเป็นแบรนด์ที่โด่งดังสุดๆ ในฟินแลนด์ ก่อนจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศอื่นๆ ในยุโรป และสหรัฐอเมริกาในท้ายที่สุด

ยูนิฟอร์มสำหรับปัญญาชน

Marimekko เดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกาในปี 1959 ผ่านร้าน Design Research ของ Benjamin Thompson สถาปนิกชาวอเมริกัน หนึ่งปีก่อนหน้า เบนจามินได้เดินทางไปงาน Brussels World’s Fair นิทรรศการแสดงสินค้าครั้งใหญ่ในกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นที่นี่เองที่ทอมป์สันก็ได้รู้จักกับเสื้อผ้าของ Marimekko เป็นครั้งแรกและรู้สึกถูกชะตาในทันที

ทอมป์สันตัดสินใจสั่งเสื้อผ้าของ Marimekko ไปขายในห้างสรรพสินค้าของเขาในรัฐแมสซาชูเซตส์ และแนะนำให้ลูกค้าชาวอเมริกันได้รู้จักแบรนด์ภายใต้นิยาม ‘เสื้อผ้าที่จะช่วยปลดปล่อยร่างกายและจิตใจ’ ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า นักศึกษาหญิงจากวิทยาลัยแรดคลิฟฟ์ (ซึ่งถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในภายหลัง) ได้พากันคลั่งไคล้เสื้อผ้าของ Marimekko เป็นอย่างมาก

Marimekko
Marimekko ที่ร้าน Design Research, Harvard Square, 1972

 Eugenia Sheppard นักเขียนสายแฟชั่นได้บันทึกไว้ว่า “มีนักศึกษาหญิงวิทยาลัยแรดคลิฟฟ์กว่าร้อยๆ คนจับจ่ายเสื้อผ้าของ Marimekko และพากลับไปให้บรรดาแม่ๆ ที่บ้านดูกัน” ซึ่งก็เป็นนักเขียนคนเดียวกันนี้เองที่ได้นิยาม Marimekko ว่าเป็น ‘ยูนิฟอร์มสำหรับเหล่าปัญญาชน’ (a uniform for intellectuals) “เพราะเสื้อผ้าของ Marimekko นั้นเหมาะสำหรับผู้หญิงที่อยากจะลืมไปว่ากำลังสวมใส่เสื้อผ้าอะไรอยู่” ยูจีเนียเล่าเสริม

ในสหรัฐอเมริกา Marimekko ถูกรับรู้ในฐานะเสื้อผ้าที่ออกแบบเพื่อการใช้งานและความคล่องแคล่ว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม Marimekko ถึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักศึกษาหญิงในวิทยาลัยชั้นนำ และเหล่าปัญญาชนในสังคมที่กำลังท้าทายกับค่านิยมอเมริกันที่กดทับผู้หญิงเสมอมา “เสื้อผ้าควรจะถูกออกแบบเพื่อที่ผู้สวมใส่จะสามารถเคลื่อนที่ วิ่ง กระโดด หรือนั่งได้อย่างอิสระ” Annika Rimala หนึ่งในดีไซเนอร์คนสำคัญของแบรนด์กล่าว 

เป็นการท้าทายกับค่านิยมของเสื้อผ้าผู้หญิงรัดรูปแบบเดิมๆ ที่คอยแต่จะสร้างความอึดอัดให้กับผู้สวมใส่อยู่เสมอนี่เอง ที่ส่งผลให้ผู้หญิงหัวก้าวหน้าในสังคมอย่างนักเคลื่อนไหวเรื่องผังเมืองอย่าง Jane Jacobs และศิลปินเฟมินิสต์อย่างจอร์เจีย โอคีฟต่างก็ชื่นชอบเสื้อผ้าของ Marimekko เช่นเดียวกับสตรีหมายเลขหนึ่งอย่างแจ็กเกอลีน เคนเนดี้

Marimekko
จอร์เจีย โอคีฟในเดรส Marimekko

จากดอกอูนิกโกะถึงการส่งต่อเสื้อผ้าแบบชาวฟินแลนด์

ถึงตรงนี้บางคนอาจกำลังสงสัยว่า แล้วลายดอกอูนิกโกะอันเป็นภาพจำของแบรนด์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันล่ะ

เป็นในปี 1964 ที่ Maija Isola หนึ่งในดีไซเนอร์คนสำคัญของแบรนด์ได้ออกแบบลวดลายนี้ขึ้นมา โดยไม่สนใจว่า เจ้าของบริษัทอย่างอาร์มีจะไม่ได้ชื่นชอบลวดลายดอกไม้สักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ไมยาเลือกจะใช้สีที่ร้อนแรงอย่างฮอตพิงค์ และส้มแทนเจอรีน ที่ไม่เพียงจะขับเน้นความสดใสให้กับลวดลายนี้ แต่ยังเข้ากับรสนิยมทางศิลปะของช่วงเวลานั้นที่โน้มเอียงไปในทางป็อปอาร์ตได้เป็นอย่างดี ซึ่งพออาร์มีได้เห็นลวดลายที่ไมยาออกแบบมา แม้ว่ามันจะเป็นลายดอกไม้ แต่อาร์มีก็ไม่ได้มีปัญหา กลับยินดีและนำลวดลายของดอกอูนิกโกะไปพิมพ์บนผืนผ้าทันที

Marimekko
ภาพ Marimekko ในนิตยสาร Life ช่วงกลางปี 60s

“สำหรับผู้หญิงในยุค 1960s น่ะ ผืนผ้าของ Marimekko ได้ช่วยนำแสงสว่างและความเรียบง่ายมาสู่ชีวิต” Sarah Campbell หนึ่งในดีไซเนอร์ชาวอังกฤษย้อนเล่าความทรงจำในอดีต “ความมีชีวิตชีวาของลวดลายต่างๆ ได้สร้างนิยามใหม่ให้กับลวดลายแบนเรียบที่ดีไซเนอร์ออกแบบขึ้นมา ซึ่งเมื่อมันไปปรากฏบนเสื้อผ้า ก็คล้ายว่าเราจะมองเห็นได้ถึงปลายนิ้วที่กำลังเคลื่อนไหวของศิลปินขณะกำลังวาดลวดลายเหล่านี้”

Marimekko ไม่ได้ร่วมงานแค่กับศิลปินชาวฟินแลนด์เพียงอย่างเดียว เพราะในเวลาต่อมา แบรนด์ก็ได้ไปร่วมงานกับศิลปินชาวญี่ปุ่นอย่าง Katsuji Wakisaka จนออกมาเป็นอีกหนึ่งลวดลายคลาสสิกอย่าง Kalikka ซึ่งก็สะท้อนความสนุกและขี้เล่นได้เป็นอย่างดี หรือกระทั่งในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ที่เราได้เห็น Marimekko กระโดดไปร่วมงานกับแบรนด์ร่วมสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Uniqlo, Converse หรือล่าสุดกับแบรนด์กีฬาอย่าง Adidas

Marimekko
Marimekko x Converse Fall/Winter 2013

เสน่ห์อีกอย่างที่ทำให้แบรนด์ยังคงเป็นที่รักอยู่เสมอคือ ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เพราะไม่เพียงแค่แบรนด์จะพยายามให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายธรรมชาติ และหันมาใช้ใยผ้าที่ย่อยสลายได้มากขึ้นเท่านั้น ในวาระที่แบรนด์มีอายุครบ 70 ปี Marimekko ก็ได้ปล่อยแคมเปญอย่าง ‘Pre-loved’ ซึ่งคือการหยิบเอาเสื้อผ้าของแบรนด์ในอดีตกลับมาขายอีกครั้ง โดยหัวใจสำคัญของแคมเปญนี้คือการตอกย้ำวัฒนธรรมของชาวฟินแลนด์ที่คนรุ่นแม่จะส่งต่อเสื้อผ้าอันเป็นที่รักให้กับรุ่นลูก นอกจาก Pre-loved จะสะท้อนให้เห็นค่านิยมชาวฟินแลนด์ในการดูแลรักษาเสื้อผ้าเป็นอย่างดีเพื่อจะส่งต่อให้กับคนอีกรุ่นหนึ่งแล้ว แคมเปญนี้ยังสื่อสารว่า แม้ว่าแบรนด์จะก่อตั้งมาแล้วกว่า 70 ปี แต่ก็ไม่เคยลืมประวัติศาสตร์ของตัวเอง เช่นเดียวกับที่อาร์มีเองก็ไม่เคยลืมรากเหง้าสลาวิชในตัวเธอเลย

Marimekko
Marimekko Pre-loved

ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับชาวฟินแลนด์หลังสิ้นสุดสงคราม ไปจนถึงการเป็นเสื้อผ้าที่นิยามความเป็นปัญญาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่า Marimekko คือหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่มีเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Marimekko จะกลายเป็นแบรนด์ที่ต้องตาโดนใจผู้คนนับล้านๆ ทั่วโลก

AUTHOR