เมื่อ 5 ปีที่แล้ว หลายคนคงมีโอกาสได้รับชมซีรีส์เรื่อง ‘One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ’ และตกหลุมรักกับความไม่สมบูรณ์ภายในครอบครัว ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว ซีรีส์เรื่องนี้ได้นำเสนอบทบาท ‘แม่’ ในมุมมองใหม่ให้แก่สังคม ว่าแม่ก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่อาจจะผิดพลาดหรือผิดหวังได้เช่นกัน
ครั้งนี้ ‘แคลร์-จิรัศยา วงษ์สุทิน’ เจ้าของผลงานซีรีส์วัยรุ่นน้ำดี ผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เต็มตัวครั้งแรก แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปคือ เธอยังคงพยายามนำเสนอเรื่องราวของ ‘ผู้หญิง’ ในมิติที่หลากหลายและสมจริง
‘แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่าง เ ร า’ เป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของ ‘เด็กผู้หญิง’ ที่เติบโตมาด้วยกันในแฟลตตำรวจ จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านวัย พวกเธอจึงได้รับรู้ว่า ชีวิตจริงของผู้ใหญ่นั้นแตกต่างจากภาพฝันที่เคยวาดไว้ในวัยเด็ก ซึ่ง ‘ชนชั้นและฐานะ’ กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘แอน’ กับ ‘เจน’ ค่อยๆ มีระยะห่างที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งที่พวกเธอไม่ได้ต้องการเช่นนั้น
ปัจจุบัน สื่อบันเทิงประเภท Girl Love กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในไทย แต่จุดแข็งที่โดดเด่นของภาพยนตร์เรื่อง ‘FLAT girls’ คือการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศในมิติที่แตกต่าง โดยเล่าถึงกระบวนการค้นหาตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศของเด็กคนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความสับสนและไม่มั่นใจ พร้อมทั้งฉายให้เห็นถึงความเจ็บปวดจากการเติบโต ปัญหาในครอบครัว ความเหลื่อมล้ำ สภาพความเป็นอยู่ในแฟลตตำรวจ และคุณค่าการเป็นผู้หญิงตามบรรทัดฐานของสังคมไทย ผ่านตัวละครชนชั้นรากหญ้า ซึ่งไม่ได้มีทางเลือกในชีวิตมากนัก

แฟลตเกิร์ล
โจทย์ตั้งต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้คืออะไร?
เราเคยทำหนังสั้นและซีรีส์มาแล้ว การกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวจึงเป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำคัญ (Milestone) ในชีวิต ซึ่งเราไม่เคยเห็นภาพยนตร์เรื่องไหนเล่าถึง ‘ลูกตำรวจ’ และ ‘แฟลตตำรวจ’ มาก่อน จึงอยากถ่ายทอดประสบการณ์ของเด็กผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในแฟลตตำรวจ ผ่านผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก
ทำไมต้องเล่าถึงชีวิตของ ‘เด็กผู้หญิง’ ในแฟลตตำรวจ?
ภาพยนตร์ส่วนใหญ่มักนำเสนอโลกตำรวจในด้านการทำงาน การสืบคดี หรือระบบราชการต่างๆ แต่หลายคนอาจไม่คาดคิดว่า สิ่งเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึง ‘ครอบครัวของตำรวจ’ ด้วยเช่นกัน
‘เด็กผู้หญิง’ ในแฟลตตำรวจถือเป็นตัวแทนของเรา เนื่องจากประเด็นนี้สร้างจากชีวิตจริง ทำให้เราเข้าใจความคิดและประสบการณ์ในฐานะ ‘ลูกตำรวจ’ ได้มากกว่าบทบาทอื่นๆ โดยความทรงจำที่ตราตรึงใจมากที่สุดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกตำรวจคนอื่นๆ ที่เติบโตด้วยกันมา
ประสบการณ์ไหนใน ‘แฟลตตำรวจ’ ที่ทำให้คุณอยากถ่ายทอดออกมาเป็นหนัง?
ประสบการณ์เกี่ยวกับเพื่อนสนิทวัยเด็กซึ่งเคยพูดคุยกันว่า “ในอนาคต เราจะซื้อบ้านหลังใกล้กัน อยากอยู่กับพวกมึงตลอดไป” แต่เมื่อเติบโตขึ้น เส้นทางชีวิตของแต่ละคนกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย อยู่ๆ เพื่อนที่เคยตีแบดและเล่นด้วยกันทุกวันก็ย้ายออกจากแฟลตตำรวจ หรือบางคนตัดสินใจหยุดเรียน และสร้างครอบครัวของตัวเอง
การได้เห็น ‘ความจริง’ ของชีวิต ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมชีวิตของพวกเราจึงเป็นแบบนั้น อะไรทำให้อนาคตของพวกเราแตกต่างจากภาพที่เคยวาดฝันไว้ในวัยเด็ก
นอกจากนี้ มิติด้านสถานที่ยังมีความน่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากแฟลตตำรวจกลับไม่ได้มีแค่ ‘ตำรวจ’ แต่บางครอบครัวแอบเข้ามาอยู่อาศัยอย่างไม่ถูกต้อง เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพื้นที่ กลุ่มคนเหล่านั้นก็จะตกหล่นออกไป
แม้สิ่งที่พวกเขาทำจะผิดกฎหมาย แต่เรากลับรู้สึกเห็นใจ เพราะในกรุงเทพค่อนข้างแออัด และคนที่สามารถเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองหลวงมีเพียงคนรวยเท่านั้น

สำหรับคุณ ‘แฟลต’ คือตัวแทนของอะไร?
แฟลตคือ ‘บ้าน’ ที่ตัวละครคิดว่า อยากจะอยู่ที่นี่ตลอดไป แม้บ้านหลังนี้จะเป็นเพียงห้องขนาดเล็กภายในตึกก็ตาม แต่วันหนึ่งตัวละครเหล่านี้ก็ต้องสละบ้านของตัวเองไป เพราะพวกเขาไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง และในท้ายที่สุด ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อหาที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
จุดไหนที่ผู้คนเริ่มแยกย้ายออกจากแฟลตตำรวจ?
หลากหลายเหตุผลมาก เพราะพื้นเพแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ในกลุ่มเพื่อนของเรา ทุกคนไม่ได้แยกย้ายกันอย่างฉับพลัน แต่ค่อยๆ หายหน้าหายตาไปทีละคน บางคนย้ายออกไปเพราะพ่อเกษียณอายุ ขณะที่เพื่อนบางคนย้ายตามครอบครัว เนื่องจากพ่อได้รับคำสั่งให้ไปทำงานที่อื่น บางคนก็ตัดสินใจย้ายออกไปเองหลังเรียนจบ บางคนต้องย้ายออก เพราะพ่อที่เป็นตำรวจเสียชีวิต หรือบางคนเข้ามาอยู่อาศัยอย่างไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น
แฟลตตำรวจไม่ใช่สังคมที่ทุกคนจะชื่นชอบ เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นชุมชนที่ใกล้ชิดกัน ทำให้มีคนอื่นจับจ้องการเติบโตของเราตลอดเวลา ทุกวันของเด็กแฟลตเปรียบเสมือน ‘วันรวมญาติ’ หากมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น แน่นอนว่า เรื่องนั้นจะถูกพูดถึงในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก จึงไม่แปลกอะไร ถ้าจะมีใครย้ายออกเพราะไม่ชอบที่นี่

เรา
หนังเรื่องนี้สร้างจากชีวิตจริงของคุณ แล้วมีตัวละครที่คล้ายคลึงกับคุณไหม?
แฟลตตำรวจเป็นชุมชนที่สะท้อนถึงการเหมารวม หรือ Stereotype บทบาททางเพศของชายหญิงอย่างชัดเจน เช่น ผู้ชายทำงานหาเงินให้ครอบครัว ส่วนผู้หญิงเป็นแม่บ้านเลี้ยงดูลูก ทำให้ภาพความหลากหลายไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไรนัก
แต่การเรียนโรงเรียนหญิงล้วน ทำให้ตัวละคร ‘เจน’ (รับบทโดย แฟร์รี่ กิรณา)ได้มองเห็นความเป็นไปได้เรื่องเพศมากขึ้น เมื่อโลก 2 ใบนี้แตกต่างกัน ทำให้เจนเติบโตมาด้วยความไม่แน่ใจ นำไปสู่ความสงสัยที่ว่า ต้องเป็นผู้หญิงแบบไหนจึงจะดีพอ?
ตัวละคร ‘เจน’ จึงคล้ายคลึงกับตัวตนของเรามากที่สุด เนื่องจากเป็นตัวแทนของเด็กผู้หญิงที่สับสนเรื่องรสนิยมทางเพศ รวมถึงมีรูปลักษณ์และบุคลิกภายนอก ซึ่งแตกต่างจากกรอบมาตรฐานความงามของผู้หญิงตามที่สังคมกำหนดไว้
เจนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ในทางกลับกัน ‘พี่แอน’ (รับบทโดย เอินเอิน ฟาติมา) คือผู้หญิงที่ดีพร้อมทุกอย่าง และเป็นผู้หญิงในแบบที่(สังคมบอกว่า)ควรจะเป็น ทั้งสวย เก่ง และขยัน เจนชื่นชอบพี่แอน โดยไม่รู้ว่าความชอบนั้นคือรูปแบบไหน ชอบแบบชื่นชม หรือชอบในเชิงโรแมนติก เมื่ออาตอง (รับบทโดย บอย ปกรณ์) เข้ามามีบทบาทในความสัมพันธ์นี้ ทำให้เจนไม่เข้าใจว่า ความรู้สึกที่ไม่อยากถูกแย่งความสนใจไปคืออะไร
“พี่ไม่เห็นอยากอยู่ที่นี่ไปตลอดเลย กลัวไม่ได้ออกไปมากกว่า” จุดตั้งต้นของไดอะล็อกนี้มีที่มาจากอะไร?
ตอนเด็กๆ เราจะรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้อยู่แฟลตที่นี่ เพราะทำเลอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มองเห็นพลุได้ชัดและบ่อยมาก รวมถึงเติบโตท่ามกลางเพื่อนวัยเดียวกัน จึงนับเป็นชีวิตวัยเด็กที่สนุกและแตกต่างจากเพื่อนที่โรงเรียน
แต่เมื่อโตขึ้นกลับตั้งคำถามว่า ‘ทำไมพี่คนนั้นยังอยู่ที่นี่?’ เพราะเราเคยมองว่า พี่คนนั้นจะต้องประสบความสำเร็จ ได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่ หรือมีชีวิตที่ดีกว่านี้ อย่างที่เคยพูดคุยกันตอนเด็กๆ การที่ชีวิตของหลายคนลงเอยด้วยการอยู่ที่แฟลตตำรวจนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันทำให้เราฉุกคิดได้ว่า การออกไปอาจจะยากกว่าการได้อยู่เสียอีก
ทุกคนเคยมีความฝันว่าจะมีชีวิตที่ดี มีเงินซื้อบ้าน และเลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ชีวิตยังมีปัจจัยและเงื่อนไขอีกมากมายที่อาจรั้งตัวเราไว้ ทำให้ความฝันไม่อาจเกิดขึ้นจริง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวละคร ‘แอน’ ด้วยเช่นกัน แฟลตตำรวจเปรียบเสมือนอุปสรรคที่ฉุดรั้งแอนไม่ให้ไปถึงฝั่งฝัน

One Year คือความสัมพันธ์ของแม่-ลูกสาว แล้ว ‘FLAT girls’ คือความสัมพันธ์แบบไหน?
ไอเดียตั้งต้นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนในแฟลต เพราะเราอยากบันทึกความทรงจำและมิตรภาพไว้ในภาพยนตร์ โดยถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่เด็กวัยรุ่นเคยพบเจอ ผ่านมุมมองและเรื่องราวของ ‘เด็กแฟลต’ ในกรุงเทพฯ
บทบาทของ ‘แม่’ และ ‘ผู้หญิง’ ในแฟลตตำรวจเป็นอย่างไร?
คนอื่นอาจจะมองว่า ทุกคนในแฟลตเหมือนกัน เช่น เป็นตำรวจเหมือนกัน เป็นเมียตำรวจเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น ทุกคนพยายามจะอยู่สูงกว่าคนอื่นในสังคม ผู้หญิงที่อยู่ในแฟลตตำรวจต่างพยายามที่จะมีที่ทางและคุณค่าในตัวเอง หลายคนเป็นแม่บ้านซึ่งไม่ได้ทำงานอื่น จึงต้องพยายามมีอำนาจและยกตัวเองให้เหนือกว่าคนอื่นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตกแต่งบ้านให้ดูดีที่สุด อวดว่าลูกตัวเองเรียนเก่งกว่า หรือสวยกว่า
การสร้างคุณค่านั้นผูกโยงกับปัจจัยภายนอก ไม่ใช่การสร้างคุณค่าภายในตัวเอง เนื่องจากในฐานะเมียตำรวจ แม่ และแม่บ้าน สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ความรับผิดชอบของเธอที่ต้องดูแลให้ดีที่สุด ทั้งการเลี้ยงลูก และจัดการงานบ้าน
สิ่งที่พวกเธอมี มันมีแค่นี้ ผู้หญิงทุกคนจึงพยายามทำหน้าที่ของ ‘แม่และแม่บ้าน’ ให้ดียิ่งกว่าการดูแลตัวเองเสียอีก
จากผลงานต่างๆ ทำไมจึงสนใจเรื่องผู้หญิง?
ส่วนหนึ่งคงเพราะเป็นผู้หญิงมั้ง แต่อีกเหตุผลคือ เราโตมาด้วยการเห็น ‘ผู้หญิงในสื่อ’ ไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลายมากเท่าในชีวิตจริง สื่อยุคหนึ่งนำเสนอ ‘ตัวละครหญิง’ ผ่านสายตาของเพศชาย (Male Gaze) โดยให้พวกเธอเป็นเพียงองค์ประกอบที่สนับสนุนเส้นเรื่องของตัวละครชาย ผ่านบทบาทการเป็นแม่เป็นเมีย ในทางกลับกัน เรื่องราวที่แท้จริงของผู้หญิงกลับถูกมองข้าม
หากสื่อสามารถนำเสนอภาพของผู้หญิงได้อย่างหลากหลาย ผู้ชมอาจเข้าใจถึงความเป็นไปได้ในขอบเขตที่กว้างขึ้น เพราะผู้หญิงสามารถเป็นอะไรก็ได้ หรือทำอะไรก็ได้ตามที่พวกเธอต้องการ เราจึงอยากเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงในมิติที่หลากหลาย

‘FLAT girls’ ถือเป็นหนังแนว Girl Love ไหม?
เราชัดเจนในตัวเองมาตลอดว่าเป็นเกย์ และมีความสนใจในภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องราวของ LGBTQ+ โดยไม่ได้มองว่าสื่อบันเทิงเหล่านี้ต้องถูกจำกัดอยู่ในหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่ง แต่เป็นเพียงเรื่องราวของตัวละครที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเช่นนั้น
สำหรับเรื่อง ‘แฟลตเกิร์ล’ เราไม่ได้ตั้งต้นว่าจะสร้างหนังแนว Girl Love เพียงแต่ต้องการเล่าเรื่องของตัวละคร LGBTQ+ ที่กำลังค้นหาตัวเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าคำนิยามของสื่อประเภท Girl Love หมายถึงการมีตัวละครหญิงที่รักกัน ‘แฟลตเกิร์ล’ ก็ถือเป็นหนังแนว Girl Love
ในช่วงเวลาที่ซีรีส์ Girl Love ของไทยกำลังเป็นที่นิยม จุดแข็งของ ‘FLAT girls’ ที่โดดเด่นและแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ คืออะไร?
จุดมุ่งหมายหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่การขายความโรแมนติกเพียงมุมเดียว แต่ต้องการนำเสนอในหลายมิติ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘ความรักกับเงิน’ รวมถึงเรื่องชนชั้นฐานะ ครอบครัว และบริบทสังคม ซึ่งแตกต่างจากซีรีส์รักวัยรุ่นทั่วไปที่มักเน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร อีกทั้งยังเล่าผ่านตัวละครที่เติบโตมาในแฟลตตำรวจ ซึ่งค่อนข้างเป็นชนชั้นรากหญ้ามากกว่าชนชั้นกลาง เราคิดว่า มุมมองแบบนี้อาจไม่ได้ถูกนำเสนอมากนักในซีรีส์ Girl Love ของไทย

ชั้นห่าง
ทำไมจึงอยากนำเสนอประเด็นเรื่อง ‘ชนชั้นและฐานะ’?
ตอนเด็กเคยคิดว่า ความรักเป็นเรื่องง่าย แค่รักกันก็น่าจะอยู่ด้วยกันได้แล้ว เมื่อก่อนไม่ค่อยเข้าใจเวลาเห็นคนเลิกกัน แต่เมื่อโตขึ้น เราเริ่มตระหนักได้ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์มีปัจจัยมากมาย โดยเฉพาะเรื่อง ‘เงินและความเป็นอยู่’ ที่มักเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในความสัมพันธ์
เราชอบเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ แต่เราไม่ได้อยากพูดถึงความรักเพียงแค่มิติด้านความรู้สึก แต่อยากถ่ายทอดความสัมพันธ์ในมิติที่ลึกซึ้งกว่านั้น
ทําไมเลือกนำเสนอเรื่องราวของ ‘ชนชั้นรากหญ้า’ ต่างจากซีรีส์หรือหนังเรื่องอื่นที่เล่าถึงชนชั้นกลาง?
เพราะเราเองก็เป็นหนึ่งในคนชนชั้นรากหญ้า และเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน แต่ในช่วงเวลาหนึ่ง สื่อบันเทิงกลับไม่ค่อยพูดถึงคนที่อยู่ในระดับเดียวกับเรา เช่น ตอนเด็กๆ เวลาดูละครหรือหนัง เราแทบไม่เคยเห็นตัวละครอาศัยอยู่ในแฟลตเลย แต่มักจะมีบ้านหลังใหญ่โต จนทำให้เรารู้สึกแปลกแยกจากตัวละครเหล่านั้น
เราเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่มีห้องนอนส่วนตัว นอนกับพ่อแม่มาตลอด ดังนั้น แค่มีบ้านเป็นห้องแถว เราก็คงดีใจแล้ว เพราะเราเคยคิดว่า สิ่งที่ถ่ายทอดในละครหรือหนัง คือมาตรฐานปกติของสังคม จนเมื่อโตขึ้นจึงได้รู้ว่า ความเป็นจริงแล้ว คนที่มีบ้านขนาดใหญ่แบบในละครมีจำนวนน้อยมาก ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด แต่กลับไม่ค่อยมีใครส่องแสงไปถึงพวกเขา
ในเมื่อเราเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น และมีโอกาสได้ทำอาชีพนี้ เราจึงอยากเล่าเรื่องของคนที่มีชีวิตแบบเดียวกัน รวมถึงคนที่ลำบากกว่าเรา เพราะพวกเขาสมควรถูกพูดถึง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

คุณคิดว่า ‘ความรักเป็นแค่เรื่องของคนมีเงิน’ ไหม?
ในช่วงหนึ่งเคยรู้สึกแบบนั้น เราเคยผ่านจุดที่ลำบาก และมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมาก่อน ซึ่งมันยากจริงๆ ที่จะมีความรักในสถานะแบบนั้น การมีความรักแทบจะเป็น Privilege เลย นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องตัวตนด้วย เมื่อตัวเราไม่พร้อม เราจึงไม่กล้าให้ใครเข้ามารักเรา เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอสำหรับใครเลย เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาแค่ด้านไลฟ์สไตล์ หรือค่าใช้จ่ายในการเดต แต่กระทบไปถึงความรู้สึกภายใน
ความรักคงไม่ใช่แค่เรื่องของคนมีเงินหรอก แต่คนมีเงินสามารถมีความรักได้ง่ายกว่า และมีปัญหาด้านความสัมพันธ์น้อยกว่ามาก เพราะปัญหาส่วนใหญ่แก้ไขได้ด้วยเงิน เช่น รักทางไกล คนที่มีเงินสามารถเดินทางไปหากันได้ง่าย แต่สำหรับคนไม่มีเงิน การได้เจอกันเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์โดยตรง
สำหรับคุณ ชั้นห่างระหว่าง ‘เด็ก’ และ ‘ผู้ใหญ่’ คืออะไร?
ตอนเป็นเด็ก ทุกอย่างดูเป็นไปได้ และเต็มไปด้วยความหวัง แม้จะพบเจอความเจ็บปวดและความลำบากในการเติบโต แต่เรายังเชื่อว่า วันหนึ่งทุกอย่างจะลงตัวเอง แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่มีใครมาคอยควบคุมเรา แต่เงื่อนไขชีวิตกลับควบคุมเราแทน เราอาจมีอิสระที่จะรักใครก็ได้ ในขณะเดียวกัน เราก็มีความรับผิดชอบมากมาย ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์นั้นอาจจะไปต่อไม่ได้อยู่ดี อีกทั้ง ตอนเด็กๆ ยังมีพ่อแม่เป็นที่พึ่งพิง แต่เมื่อโตขึ้น เราถูกมองเป็นคนหนึ่งคนที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง รวมถึงอาจต้องดูแลคนอื่นด้วย

ระหว่าง(ทาง)
จากบทพูด “ไม่ต้องเป็นพี่แอนตลอดเวลาก็ได้” แล้วมีช่วงเวลาที่คุณไม่อยากเป็นตัวเองไหม?
หลายครั้งเราก็รู้สึกแบบนั้น เช่น มิติครอบครัว เราเคยเผชิญกับการแยกทางของพ่อแม่ ซึ่งแน่นอนว่า ครอบครัวของเราไม่ใช่ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกอยู่กันพร้อมหน้า ตามที่สังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ ทำให้เราในช่วงวัยรุ่นเคยคิดว่า ทำไมเราไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น ส่วนมิติเรื่องเงิน เราก็เคยตั้งคำถามว่าทำไมพ่อแม่ไม่มีมรดกหรือกิจการที่บ้านรองรับ เพราะเราต้องรับผิดชอบเรื่องภายในบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเป็นภาระที่หนักสำหรับเด็กคนหนึ่ง
เมื่อโตขึ้นและมีโอกาสได้ทำหนัง เรากลับรู้สึกขอบคุณประสบการณ์เหล่านั้น เพราะทำให้เราเข้าใจชีวิต ได้สัมผัสกับความเจ็บปวดและความรู้สึกที่หลากหลาย ส่งผลให้เราไม่มองมนุษย์คนอื่นเป็นแค่สีขาวหรือดำ เนื่องจากทุกคนมีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน
อยากให้ผู้ชมได้รับบทเรียนอะไรกลับไปจากหนังเรื่องนี้?
ถ้าพูดในมุมของสังคมและการเมือง เราอยากฉายแสงให้กับคนที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในสื่อบันเทิง ไม่ใช่เพียงตำรวจชั้นผู้น้อยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างระบบที่ไม่เป็นธรรม แต่ครอบครัว ภรรยา และลูกของพวกเขาก็ได้รับผลกระทบเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งสภาพแวดล้อมแบบนี้นับเป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อการเติบโตของเด็กที่จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า เราจึงอยากให้ตัวละครของหนังเรื่องนี้ เป็นตัวแทนของเด็กวัยรุ่นที่ต้องต่อสู้ทั้งการเติบโตของตัวเอง รวมถึงดิ้นรนท่ามกลางข้อจำกัดทางครอบครัวและสังคมไปพร้อมกัน
ส่วนประเด็นความหลากหลายทางเพศ ณ วันนี้ สังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น เช่น การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่เรามองว่า สื่อมักนำเสนอความหลากหลายทางเพศโดยเน้นผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ ทั้งที่ความเข้าใจในตัวเองของเด็กคนหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่ต้องผ่านความสับสน ความเจ็บปวด และการค้นหาตัวตน ดังนั้น การนำเสนอความหลากหลายทางเพศในมิตินี้ผ่านสื่อบันเทิง อาจช่วยให้พ่อแม่ ครอบครัว และสังคมเข้าใจเด็กเหล่านี้มากขึ้น