‘เธอกับฉันกับฉัน’ เบื้องหลังความรักและการเติบโตของผู้กำกับฝาแฝด วรรณแวว – แวววรรณ

ตลอดการสนทนายาวนาน ประโยคที่ผุดขึ้นมาในหัวเราตลอดเวลาคือ ทำไมฝาแฝดตรงหน้าถึงมีความสัมพันธ์ที่รู้ใจกันขนาดนี้นะ 

‘เธอกับฉันกับฉัน’ ผลงานหนังเรื่องล่าสุดจากค่าย GDH ของผู้กำกับฝาแฝด เรื่องราวที่ว่าด้วยความรัก ความสัมพันธ์ครอบครัว และการเติบโตในยุค Y2K ของแฝดสาววัยรุ่นคู่หนึ่งกับบรรยากาศต่างจังหวัด กลายเป็นที่พูดถึงในทุกหน้าไทม์ไลน์ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ปล่อย Trailer ออกมา แน่ละ ใครจะทำหนังฝาแฝดได้ดีกว่าฝาแฝดเองจริงไหม ?

หลายคนอาจคุ้นเคยชื่อของ วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ในผลงานหนังสารคดีและหนังสือ ‘WISH US LUCK ขอให้เราโชคดี’ รวมถึงเป็นผู้กำกับและร่วมเขียนบทให้กับทีมของค่าย Nadao Bangkok ในหลายผลงาน เช่น ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ‘Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ’ และ มิวสิกวิดีโอระดับร้อยล้านวิวอย่างเพลง ‘รักติดไซเรน’ ที่ฮิตติดหูวัยรุ่นทั่วประเทศ ทั้งหมดเป็นหลักฐานยืนยันถึงฝีมือการทำงานพวกเธอได้เป็นอย่างดี

ด้วยประสบการณ์มากมายและความหลงใหลในเรื่องเล่า มาคราวนี้พวกเธอมารับหน้าที่ผู้กำกับหนังใหญ่ครั้งแรกในเรื่องที่พวกเธออินมากที่สุดคือเรื่องฝาแฝด ซึ่งนับเป็นก้าวใหม่และหมุดหมายที่สำคัญในชีวิตของทั้งสองคน

ความน่าสนใจคือ นี่เป็นหนังแฝดของไทยที่ฉีกกรอบเดิมๆ ไม่ตบตี ไม่มีผี หรือวิญญาณ แต่เป็นโลกของแฝดในแบบที่มีอยู่จริง พวกเธอว่าอย่างนั้น

โจทย์ใหม่ครั้งนี้เต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะเป็นผลงานแรกแทบจะทุกฝ่ายเบื้องหลัง ทั้งการกำกับครั้งแรกของทั้งคู่ การโปรดิวซ์ครั้งแรกของ ‘โต้ง’ – บรรจง ปิสัญธนะกูล การแสดงหนังครั้งแรกและรับบทฝาแฝดของ ‘ใบปอ’ – ธิติยา จิระพรศิลป์ รวมถึงการทำงานหนังเรื่องแรกของทีมโปรดักชันดีไซน์ ทั้งหมดนี้นับเป็นงานโหดหินสำหรับพวกเธอทั้งสองคน 

เบื้องหลังของหนังและเรื่องราวชีวิตบนเส้นทางผู้กำกับของพวกเธอจะเป็นอย่างไร  

มาฟังคำตอบของ ‘เธอ’ กับ ‘เธอ’ ได้ในบรรทัดถัดไป

ความเหมือนที่แตกต่าง 

ถึงแม้ว่าพวกเธอทั้งสองจะเกิดเวลาไล่เลี่ยกัน หน้าตาคล้ายกัน และเติบโตมาในครอบครัวเดียวกัน แต่นิสัยและความสนใจของพวกเธอก็ไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว

วรรณ : เราเป็นฝาแฝดที่ค่อนข้างตัวติดกัน ใส่เสื้อผ้าด้วยกัน นอนห้องเดียวกัน แววจะเป็นมีความ manager มีความช่างวางแผนมากกว่า ในขณะที่เราก็จะสนใจการถ่ายรูป อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีมากกว่า เราเรียนโรงเรียนเดียวกันแต่แม่จะชอบจับแยกให้อยู่คนละห้อง ตอนเรียนเราก็เลือกคนละสาย แววเรียนวิทย์ เราเรียนศิลป์ พอเข้ามหาลัยแววเรียนเศรษฐศาสตร์ เราเรียนนิเทศ 

แวว : เราก็เป็นหนึ่งในวัยรุ่นไทยที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เราก็เลยเลือกสายวิทย์เพราะเพื่อนเลือก เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์เพราะเก่งเลข แต่พอเรียนจบได้ไปทำงานตรงสายก็รู้สึกว่าไม่ชอบ รู้สึกว่าตอนไปทำหนังกับไอวรรณสนุกกว่า ก็เลยตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทด้านมีเดียอาร์ตแล้วกลับมาทำงานสายนี้ แต่วรรณก็ชัดเจนเลยว่าอยากจะเอาตัวเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ส่วนเราก็ได้เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพราะว่าตามมันมา

วรรณ : เราสองคนจะอยู่ด้วยกันตลอด แต่มีช่วงที่ห่างกันนานสุดคือแววไป work and travel 3 เดือน แล้วก็จะมีช่วงที่แต่ละคนไป experience คนละอย่าง 

แวว : เราไม่เคยใช้ชีวิตห่างกันแบบแยกกันอยู่เลย เพราะสุดท้ายเราจะกลับมานอนห้องเดียวกัน 

โลกของแฝดที่เรียลลิสติก

เมื่อพูดถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ ทั้งแววและวรรณเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น จนเราเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นจากแพสชันของสองผู้กำกับล้วนๆ

วรรณ : พอเราทำซีรีส์มาประมาณนึงแล้ว เราก็รู้สึกอยากทำหนัง หลังจากจบซีรีส์เรื่อง Great Men Academy เราก็เริ่มคุยกันเองว่าถ้าทำหนังจะทำเรื่องอะไร เราอยากเลือกท็อปปิกที่เรามี material อยู่ในตัว สามารถดึง element ต่างๆ มาจากตัวเราเองได้ก็เลยนึกถึงฝาแฝด 

เราอยากพูดเรื่องการเติบโตของฝาแฝด ฝาแฝดมันจะเหมือนเป็นวงกลมที่ซ้อนทับกัน เราอยากจะเล่าถึงทางแยกของเขา จากวงกลมที่ซ้อนทับกันกลายเป็นวงกลมที่อินเตอร์เซกกัน 

แวว : ตอนเด็กๆ เราก็จะมีเรื่องของฝาแฝดที่เล่าให้กันฟังไปมา พอโตขึ้นก็สับสนว่าเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องของแกหรือมันเป็นเรื่องของฉันนะ มันจะมี experience ที่ลื่นไหลกันไปกันมาอยู่ เราก็เลยอยากเอามาใช้ในหนัง

วรรณ : พอเราคิดว่าจะทำเรื่องแฝดก็มานั่งเปิดหนังแฝดที่มี ทำไมมันมีแต่แบบฟิคชั่นวะ ไม่ก็เป็นแฝดที่เกลียดกันมาก คนนึงเรียบร้อยมาก คนนึงร้ายมาก นี่โตมาด้วยกันปะเนี้ยทำไมนิสัยถึงต่างกันอะไรขนาดนี้ หรือไม่ก็ต้องมีความหลอนๆ โรคจิตนิดๆ ไปทางน่ากลัว เราก็เลยรู้สึกว่าอยากจะนำเสนอโลกของแฝดที่เรียลลิสติกมากขึ้น โลกของแฝดในแบบที่มีอยู่จริง 

สองแฝดนักเล่าเรื่องสู่เรื่องเล่าของยูกับมี

อย่างที่รู้กันว่า พวกเธอมักจะนำแง่มุมในชีวิตและประสบการณ์ของตัวเองมาเล่าผ่านภาพด้วยวิธีการที่ต่างกันไป ซึ่งครั้งนี้ก็ได้นำความทรงจำในวันวานของตัวเองมาเล่าผ่านภาพยนตร์เรื่องแรกของทั้งสอง

วรรณ : ตอนเด็กๆ แม่เราจะส่งเราไปเรียนบ้านยาย บ้านยายเราก็จะเป็นร้านของชำที่ห่อของขวัญแบบในหนัง วารีการค้าที่แปะอยู่บนร้านก็คือชื่อยาย ตอนเด็กๆ เราก็จะได้ฝึกห่อของขวัญ มันเป็นบรรยากาศเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคิดถึงก็เลยเขียนขึ้นมา 

ด้วยความที่แม่เราก็เป็นคนอีสาน เราทั้งคู่ก็เหมือนยูกับมีเลย คือเราฟังภาษาอีสานออกหมดแต่เราพูดไม่ได้ เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วคนอีสานที่เชื้อสายจีนก็มีอยู่เยอะนะ คนที่เติบโตมาแบบคนอีสานห้องแถวค้าขาย เราก็เลยเลือกนำเสนออีสานเฉดที่เรารู้จัก 

แวว: จริงๆ แล้ววัยเด็กเราอยู่ที่ชัยภูมินะไม่ใช่นครพนม แต่ถ้าไปถ่ายในเมืองใหญ่ๆ แบบนั้นมันก็จะไม่พีเรียดแล้ว เราชอบนครพนมในความมิกซ์ มันมีความเวียดนาม จีน ไทย ปนๆ กันอยู่ โทนี่เป็นลูกครึ่งอีกมันก็เลยเป็นความมิกซ์ culture มิกซ์ภาษาไปหมด 

วรรณ : แล้วเราเอาอินไซต์ของการเลี้ยงลูกแฝดมาใช้ด้วย อย่างเช่นเรื่องค่าใช้จ่ายเยอะ ในยุคนั้นหลายคนก็ยังสร้างเนื้อสร้างตัวกันอยู่ ก็เลยคิดว่าเรื่องเงินน่าจะเป็นคอนฟลิกสำหรับครอบครัวที่มีลูกแฝด 

แวว : ในชีวิตจริงเราก็ไม่ได้มีเรื่องอะไรแบบนี้หรอก แต่เราก็รู้สึกว่าลูกทำหน้าที่เป็นเหมือนกาวระหว่างพ่อกับแม่ 

วรรณ : จริงๆ คำว่ากาวระหว่างพ่อแม่ มันเกิดขึ้นในครอบครัวพวกเรามาก่อนหน้านี้ เวลาที่พ่อแม่ทะเลาะหรือมีปัญหากัน เราทั้งสองคนเหมือนต้องเป็นเซนเตอร์คอยสมานจนกว่าเขาจะยอมดีกัน 

Y2K is back!

ด้วยความที่หนังเรื่องนี้มีความพีเรียดผนวกกับงานภาพที่สวยสะดุดตา บวกกับความบังเอิญของกระแส Y2K ที่หวนกลับมา ทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างมาก

วรรณ : แรกเริ่มในบทมันเป็นปัจจุบัน เราก็อยากจะพีเรียดแต่ยังหาเหตุผลไม่ได้ (หัวเราะ) คือเราอยากจะพีเรียดไปในวัยตัวเองด้วย ก็นึกย้อนกลับไปว่าช่วงนั้นมีอะไรบ้าง Y2K ก็เป็นอีกปีนึงที่มีคนบอกว่าโลกจะแตกว่ะ 

แวว : ก็เซอร์อยู่นะ มีข่าวว่าโลกจะแตก (หัวเราะ)

วรรณ : ตอนนั้นเราประมาณ ม.3-4 ช่วงนั้นข่าวสารอะไรมันก็ไม่เหมือนทุกวันนี้ สมัยนั้นมันก็ไม่รู้หรอกอะไรจริงไม่จริง ก็เป็นการพูดต่อๆ กัน มันเป็นยุคที่แบบคนใช้ซีดีแล้วนะแต่ก็ยังมีคนเล่นเทป บางคนก็เล่นอินเทอร์เน็ตแล้วแต่บางคนคือกูยังไม่เคยมีคอมฯ เลยในชีวิต 

แวว : เป็นช่วงกลางเก่ากลางใหม่ เป็นความคร่อมๆ หัวเลี้ยวหัวต่อว่าเราจะเข้าสู่ความไฮเทคหรือว่ายังโลว์เทควะ 

วรรณ : ตอนเด็กๆ พี่ชายก็พยายามอธิบายนะว่า Y2K คืออะไร แต่เราก็ไม่เข้าใจ (หัวเราะ) ตอนนั้นเรายังไม่มีอีเมลด้วยซ้ำ แต่อย่างพี่ชายเราที่โตกว่าหน่อยก็จะมีอีเมลแล้ว เข้าใจแล้วว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร จำได้ว่ามีคนอ่านหนังสืออะไรสักอย่าง แล้วสิ้นปีแม่ก็กักตุนน้ำเปล่า ซึ่งแต่ละบ้านก็จะไม่เหมือนกัน

แวว : เออใช่ แล้วเราก็เคยถามเพื่อนด้วยว่าตอนนั้นแกทำอะไร เพื่อนบอกว่านอนรอดูว่าโลกมันจะแตกไหม มีคนไปต่อคิวถอนเงินจากธนาคาร เพื่อเมกชัวร์ว่าแบบเงินในบัญชีกูยังอยู่ใช่ไหม ถ้าเกิดระบบคอมฯ มันรวนอะไรแบบนี้ 

วรรณ : เราเพิ่งมาเข้าใจแบบจริงๆ จังๆ ว่า Y2K คืออะไรตอนเรารีเสิร์จเขียนบท เรารู้สึกว่ามันเป็นฉากหลังที่ไปด้วยกันกับความไม่รู้อนาคตของตัวละคร

ทุกอย่างต้องเบิ้ลสอง

ลำพังทำหนังครั้งแรกก็ว่ายากแล้ว การหานักแสดงฝาแฝดตรงตามคาแร็กเตอร์ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นทั้งคู่จึงตัดสินใจเลือกที่จะทำให้นักแสดงเพียงคนเดียวมีแฝดขึ้นมา แน่นอนว่ากระบวนการทำงานของทุกฝ่ายงอกขึ้นเป็นสองเท่าตัว

วรรณ : ความงานงอกคือนักแสดงที่ต้องเล่นเป็นสองบท ถึงแม้เป็นการถ่ายผ่านไหลก็ตาม ถ่าย split frame ก็ต้องเล่นสองรอบ แล้วมันก็จะมีฉากโดนตัวที่เราต้องใช้เทคนิคแบบแสกนหน้า ซึ่งตอนแรกเราก็นึกว่าเดี๋ยวซีจีเขาก็ประมวลหน้าออกมาเองแหละ ไม่ ยากกว่าเดิม (หัวเราะ) 

เพราะถ้ามีการจับตัวกันเกิดขึ้นเราจะใช้บอดี้ของแสตนอินแล้วเอาหน้าของใบปอมาแปะ ซึ่งเทคนิค face scan ก็จะมีอยู่บ้างประปราย เช่น ตอนปั่นจักรยานกอดกัน ตอนแย่งผ้าห่ม ตอนขี่มอเตอร์ไซค์ ตอนซบกันบนรถเมล์ ด้วยความที่เทคนิคเหล่านี้มันยากก็จะมาน้อย แต่มาในจุดที่อยากจะโชว์ 

แวว : งานงอกต่อมาก็คือทีมเสื้อผ้า เพราะแทนที่จะทำชุดเดียวให้ยูกับมีเลยก็ไม่ได้ ทุกชุดต้องเบิ้ลสอง ด้วยความที่มันเป็นพีเรียด เขาก็ขนเสื้อผ้าแบบที่มีในยุคนั้นมาให้เลือกจากเสื้อผ้ามือสอง ปัญหาคือมันมีขายแค่ตัวเดียว เราก็ต้องเลือกแล้วให้เขาตัดออกมาเป็นสองตัวเพราะต้องสับชุดไปมาตลอด

อย่างการตัดต่อก็ยากนะ เพราะไทม์ไลน์มันจะไม่ได้ง่ายแค่แบบมีภาพกับเสียงแล้วจบ แต่มันจะเป็นภาพ ภาพ เสียง เสียง ซึ่งการจะขยับแต่ละทีมันแบบรวนไปหมด แก้นิดเดียวก็สะเทือนไปทั้งหมด ในขั้นตอนโพสโปรดักชันก็ต้องปรับสีผิวหมดเลย เพราะน้องน้ำแข็งที่เป็นแสตนอินขาวกว่าใบปอมากๆ เป็นผิวขาวชมพู แต่ใบปอเป็นขาวเหลือง ก็ต้องมาปรับสีผิวให้ใกล้เคียงกับใบปอ

วรรณ : พี่คนตัดบอกว่าเวลาตัดซีนที่มี split frame ต้องใช้เวลาเบิ้ลในการตัด เพราะต้องพยายามซ่อนเสียงแสตนอิน มีร่างแรกที่เราเคยคอมเมนต์ว่ามันดูออกว่าแบบแฝดจัดตั้ง รู้ว่าแบบน้องสองคนนี้เขามาเล่นเบิ้ลไม่ใช่แฝดจริงๆ พี่เขาก็เลยต้องพยายามซ่อนตะเข็บเหล่านั้น อย่างเช่น ตัดเฉพาะโมเมนต์ที่ interact กันนะ โมเมนต์ไหนที่แบบเริ่มหลุดๆ แล้วไม่เอา เพื่อให้ไม่รู้สึกว่าคือคนเดียวกัน

ความเป็นทีมเวิร์ก

จากความยากและความท้าทายมากมายที่เราได้รับฟัง ตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นทุกอย่างมาได้คงเป็นความรู้ใจระหว่างพวกเธอทั้งสอง รวมถึงทีมเวิร์กที่ดีของทีมงานทุกฝ่ายที่ไม่มีอีโก้ต่อกัน 

วรรณ : ด้วยความที่เราเติบโตมาในครอบครัวที่เห็นว่าพ่อแม่ทำสื่อมาตลอด มันก็จะมีช่วงท้ายๆ ของนิตยสารครัวที่เราเข้าไปช่วยพ่อในฐานะ art director เราก็จะแบ่งหน้าที่กัน แววก็จะดูแลฝั่งคอนเทนต์วิดีโอ ส่วนเราก็จะดูในฝั่งฝ่ายศิลป์กับกองบก. 

พวกเราโตมาแบบทำงานร่วมกันตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นการมาทำงานร่วมกันในการทำหนังเราก็แค่ทำเหมือนที่เคยทำมา ซึ่งทุกครั้งที่เขียนบทเราก็มักจะเถียงกันอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นการเถียงเพื่ออยากจะเอาชนะ 

แวว : เราเคยถามน้องผู้ช่วยผู้กำกับว่าเวลาเห็นเราเถียงกันรู้สึกอึดอัดบ้างไหม เพราะเราเถียงกันแรงเหมือนคนทะเลาะกัน (หัวเราะ) แต่น้องบอกว่าเวลาเห็นเราเถียงกันเหมือนคนเถียงกับตัวเอง มันไม่ใช่การโต้วาทีที่เถียงคนละฝั่งเพื่อโน้มน้าวให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่มันเหมือนเป็นกระบวนการเถียงกับตัวเองเพื่อหาทางออกมากกว่า

วรรณ : ถ้าพูดถึง process การแบ่งงาน ก็จะไม่ได้ตายตัวว่าใครต้องทำอะไร มันจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เกิดการยื่นไม้ให้กันหน้างาน แต่ถ้าเป็นงานครีเอทีฟ เขียนบท หรือการคิดช็อตก็จะทำร่วมกัน แต่ถ้าเป็นงานเทคนิค บรีฟนักแสดง หรืองานเลือกเสื้อผ้า ที่มันสามารถแบ่งพาร์ทแล้วไปตัดสินใจในฐานะผู้กำกับก็กระจายกันได้ 

แวว : ซึ่งพอยื่นไม้ให้กันแล้ว ด้วยความที่เราค่อนข้างเห็นไปในทิศทางเดียวกันก็เลยมีความไว้ใจ มันก็น่าจะตัดสินใจในสิ่งที่เราอยากได้เหมือนกันแหละ

วรรณ : แต่ถ้าพูดในมวลรวมเราก็รู้สึกว่ามันมี magic ของความแบบการทำหนังครั้งแรกอยู่ เรารู้สึกว่าทีมงานทุกคนทุ่มเทและตั้งใจ ในอีกมุมนึงคือพอทุกคนไม่ได้แบบคร่ำหวอดในวงการอะไรเบอร์นั้นมันเลยพร้อมที่จะช่วยกันแบบไม่มีอีโก้เท่าไหร่ 

แวว : ตอนแรกเราก็กังวลเหมือนกันว่าทุกคนใหม่หมดเลย เราก็ใหม่ นักแสดงก็ใหม่ แถมยังมีแฝดคนเดียวอีก มันดูยากไปหมดจะไหวไหมนะ แต่ว่าพอมาทำงานจริงๆ แล้วรู้สึกว่ามันเป็น combination ที่ดี ซึ่งก็จะมีช่วงแรกๆ ที่เราต้องคอยตัดสินใจให้กับทุกแผนก ช่วงพรีโปรดักชันก็มีวันที่เราคุยกับวรรณว่าเรามาทำงานสบายๆ ไหม หมายถึงว่าเราก็ให้เขาทำเลย นี่มันงานกลุ่มทุกคนต้องช่วยกันแบกไม่ใช่เราแบกอยู่คนเดียว

วรรณ : ตั้งแต่วันนั้นเราก็รู้สึกว่าเราทำงานแบบสบายใจ สบายตัวมากขึ้น ทีมจะเสนออะไรมาเราโอเคหมด อาจจะเป็นเพราะว่าเราก็ผ่านยุค Y2K มาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราเก็ตสิ่งเดียวกัน เราก็รู้สึกว่าเออดีอะ มีคนช่วยคิด

แวว : พอ input ของทีมมันได้ถูกดึงออกมาใช้ ก็จะทำให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นของเขาด้วยเหมือนกัน เราก็คอยดูภาพรวม คอยเลือกในสิ่งที่เขาอยากให้เลือก ไม่ใช่ว่าจะใช้วิธีนี้ได้กับทุกงานนะ แต่มันดันมาเจอทีมที่แบบคิดเห็นตรงกัน มองเห็นหนังไปในทิศทางเดียวกันด้วย

คอมฟอร์ตโซนของกันและกัน

ระหว่างการสนทนาเราสังเกตเห็นว่ามีหลายครั้งที่พวกเธอทำท่าทางเหมือนกัน ตอบคำถามออกมาพร้อมกันแบบคนรู้ใจ คงจะดีไม่น้อยถ้าเราเติบโตมามีคนที่อยู่เคียงข้างกัน เป็นทั้งพี่น้อง เพื่อนคู่คิด และคอมฟอร์ตโซนของกันและกันอย่างพวกเธอทั้งสองคน         

วรรณ : ตอนเด็กไม่ชอบเลยที่ชื่อวรรณแววกับแวววรรณ เราจะรู้สึกอายเวลาถูกประกาศหน้าชั้นเรียนเพราะจะกลายเป็นจุดสนใจ เราไม่ชอบเป็นจุดเด่น แต่พอโตขึ้นมาก็รู้สึกว่าชื่อเราก็ดีนะ เท่ดี เรารู้สึกว่าฝาแฝดมันมีความเป็นทั้งเพื่อน ทั้งพี่น้อง ข้อดีคือมีคนคอยแชร์ความคิดตลอด เราไม่เคยต้องจดไดอารีบันทึกชีวิตตัวเอง เพราะเหมือนเรามีคนเล่าให้ฟังอยู่แล้ว ถ้าทำงานบางอย่างคนเดียวก็จะเป็นเลเวลคนธรรมดา แต่ว่าพอทำด้วยกันแล้วรู้สึกว่าเก่งขึ้นมา (หัวเราะ) 

แวว : มันไม่ใช่ productive แต่ effective มากขึ้น การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าทำคนเดียว งานที่เราได้รวมร่างกันมันจะออกมาดีเสมอ

วรรณ : มันอาจจะเป็นเพราะว่าแบบมันเหมือนมีสองหัวช่วยกันคิด มีการเบาซ์ไอเดียกันไปมา มีคนที่คอยคอนเฟิร์มไอเดียของเราอยู่ เราไม่เคยทำงานกำกับคนเดียวเลย

แวว : แล้วถ้าต่อไปต้องกำกับคนเดียวล่ะ ?

วรรณ : ถ้าถามว่าทำได้ไหมเราว่าได้ แต่ก็จะไม่ค่อยมั่นใจ เพราะเราคุ้นเคยกับการมีคนให้ถกไอเดียต่างๆ ทุกครั้งที่ถกมันก็เกิดสิ่งใหม่ บางทีอยู่คนเดียวมันนึกไม่ออก เรารู้สึกว่าการมีอีกคนหนึ่งยืนอยู่ข้างๆ มันทำให้เราอุ่นใจ เป็นคอมฟอร์ตโซนของกันและกัน

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ