The Converse Campus Beat: การเจอกันของ 2 วงอินดี้ชวนฝัน YEW x LANDOKMAI กับโปรเจกต์สลับเพลงกันคัฟเวอร์

ใครบางคนเปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า “วง YEW คือบาร์ที่อาจขายวิสกี้ภายใต้ไฟสีส้ม แต่วง LANDOKMAI คือบาร์ที่เสิร์ฟค็อกเทลหลากสี”

หากจะต้องเลือก 2 วงดนตรีมาจับคู่กัน สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นเคมีอะไรบางอย่างตรงกัน ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องสามารถเติมเต็มกันและกันได้

YEW วงดนตรีอินดี้ที่มีสมาชิก 5 คน ประกอบด้วย ทิ้ว-ปรัชญ์ ปานพลอย (ร้องนำ), แดน-นรุตม์ จุฑาศานต์ (กีตาร์), พี-วรพัทธ์ การะเกตุ (กีตาร์), เจด-เจษฎา ทวีศรี (เบส), และ ทรัพย์-สหธรรม เมฆแดง (กลอง) และ LANDOKMAI วงดนตรีของสองสาว ได้แก่ อูปิม-ลานดอกไม้ ศรีป่าซาง (ร้องนำ) และ แอนท์—มนัสนันท์ กิ่งเกษม (กีตาร์) 

สองวงดนตรีอินดี้เคยฝากผลงานเพลงจนกลายเป็นไวรัลด้วยกันอย่าง ‘ลมแล้ง’ จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพราะนอกจากจะมีสไตล์เพลงวินเทจและพื้นเพทางดนตรีจากดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลเหมือนกันแล้ว ทั้งสองวงยังมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะหยิบเรื่องราวใดมาถ่ายทอดก็ยังคงน้ำเสียงในแบบของตัวเองอย่างมีเอกลักษณ์ 

ทั้งคู่โคจรมาเจอกันอีกครั้ง โดยเป็นหนึ่งคู่วงดนตรีที่มาคอลแลบกันในโปรเจกต์ The Converse Campus Beat จาก Converse All Stars ที่นำ 5 วงดนตรี และ 5 นักดนตรีไทย มาสร้างสรรค์ดนตรีแบบใหม่ๆ โดยร่วมมือกับศิลปินค่าย Whattheduck และเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาสาขาดนตรีไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ นำผลงานศิลปินที่มีอยู่ก่อนหน้ามาแต่งเติมซาวนด์ดนตรีไทยเข้าไป ตามความเชื่อของ Converse All Stars ที่ว่าการร่วมงานกันของคนต่างสายงานสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ขณะเดียวกันทุกคนล้วนได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว

การกลับมาเจอกันครั้งนี้จึงเหมือนกับเป็นภาคต่อของเพลง ‘ลมแล้ง’ เราชวนทั้งคู่มาพูดคุยถึงเรื่องราวเบื้องหลังของเพลง ‘หมวกเมฆสีรุ้ง’ ในเวอร์ชัน LANDOKMAI และ เพลง ‘Tsuki’ ในมุมของ YEW ไปจนถึงเส้นทางที่ไม่ได้ราบรื่นเหมือนท้องฟ้าในวันแดดจ้า แต่เป็นเหมือนวันที่พายุพัดเข้ามาเป็นระลอก ก่อนจะจากไปและทิ้งให้เมล็ดพันธุ์ค่อยๆ เติบโตขึ้นอีกครั้ง

LANDOKMAI กับการตีความ ‘หมวกเมฆสีรุ้ง’ ในมุมที่แอบเศร้า

ที่มาที่ไปของการมาคอลแลบกันระหว่าง LANDOKMAI และ YEW ครั้งนี้ 

แอนท์: เริ่มต้นเลยเราได้เข้าร่วมโปรเจกต์ของ Converse แล้วเขาให้โจทย์มาว่าให้นำผลงานของวงที่คอลแลบกัน อย่าง LANDOKMAI คอลแลบกับ YEW แล้วให้เลือก 1 เพลงของ YEW มา cover ในเวอร์ชัน LANDOKMAI โดยที่มีเงื่อนไขคือต้องใส่เครื่องดนตรีไทย 1 เครื่อง พวกเราก็เลือกเพลง ‘หมวกเมฆสีรุ้ง’ มา 

ทำไมถึงเลือกเพลงหมวกเมฆสีรุ้ง

แอนท์: น่าจะเป็นเพลงที่เราฟังแล้วพอมองภาพออกว่ามันจะออกมาเป็นยังไงด้วย คือถ้าไปเลือก ‘กังฟูบอย’ ชูปีดูปีดู คงนึกไม่ออก (หัวเราะ) แต่ว่าน่าลองนะ มันท้าทายดี

อูปิม: ความท้าทายคือเราจะทำยังไงให้เวอร์ชันของเราเป็นเวอร์ชันที่ไม่ได้ทำให้เพลงเขาแย่ลง รู้สึกว่าการเอาผลงานเพลงคนอื่นมา แล้วต่อยอดมันควรจะทำให้มันอยู่ในมาตรฐานที่อยู่ในความคาดหวังของคนฟัง แล้วก็ศิลปิน YEW ด้วย 

ดีไซน์เพลง ‘หมวกเมฆสีรุ้ง’ ไว้ว่าน่าจะเหมาะกับดนตรีไทยแบบไหน

อูปิม: ตอนแรกตั้งใจว่าจะเอาเป็นสะล้อ แต่ไปๆ มาๆ สรุปได้เป็นขิม เพราะขิมมันมีความฮาร์ป 

แอนท์: คือตอนแรกยังไม่ชัวร์ว่าเป็นขิม แต่ในโปรแกรมทำเพลงเราก็หาดนตรีที่เป็นดนตรีไทยมาก่อน แล้วลองใส่ขิมดูก่อน ปรากฏว่ามันเวิร์กมากเลย เพราะเพลงของเรามันมีฮาร์ปซ่อนอยู่ พอเป็นขิมมันดูแบบไม่ต้องทำอะไร มันลงตัวไปเลย

ทั้งสองวงพอต้องมาทำงานร่วมกันรู้สึกยังไงบ้าง

แอนท์: โห เหมือนเจอกันมาทั้งชีวิต (หัวเราะ) เราเพิ่งคุยกันว่า พักหลังนี้เราจะเจอกันบ่อยเกินไปหรือเปล่า จริงๆ แล้วพวกเรากับ YEW อยู่ในคณะเดียวกัน คือดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ซึ่งพี่ๆ เขาอายุมากกว่าเราแค่ปีเดียว ทำให้เวลาสมัยเรียนก็เจอกันตลอดอยู่แล้ว เป็นกลุ่มเดียวกัน แล้วก็มีเพลงลมแล้งซึ่งเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของ LANDOKMAI กับ YEW ต่อมาก็เป็นงานนี้ที่ได้ร่วมงานกัน 

นอกจากเรียนที่เดียวกันแล้ว มีอะไรอีกไหมที่ทั้งสองวงนี้มีเหมือนกัน

แอนท์: น่าจะเป็นเพลงที่ฟัง รู้สึกว่าทั้ง 2 วง จะมีความชอบฟังอะไรวินเทจเหมือนกันทั้งพี่ทิ้ว พี่พี แล้วแอนท์กับปิมจะชอบฟังเพลงที่มีความวินเทจ มันไม่ได้เหมือนกันเลยซะทีเดียว กลิ่นมันต่างกัน แต่ว่าน่าจะชอบอะไรเก่าๆ เหมือนกัน

พอทำเพลงของอีกฝ่ายทำให้เราได้รู้จักอีกฝ่ายมากขึ้นไหม

อูปิม: เข้าใจมุมมองของพี่ทิ้วเพลงนี้อยู่ เราเคยคุยเรื่องเนื้อเพลง ดนตรีตลอดอยู่แล้ว

แอนท์: เราเข้าใจมันมาตั้งแต่แรก แล้วนำมาต่อยอด ไม่รู้นะว่าเป็นแค่คณะเราไหม แต่เขาจะชอบนัดมาเจอกัน แล้วคุยกันว่าเขียนประมาณนี้ อัปเดตกันตลอด เลยทำให้รู้ว่าคนนี้เขียนเพลงมาจากอะไร รู้สึกแบบไหนอยู่ เพลงนี้เหมือนเขานำคำพูดของแฟนเขามาต่อยอดเป็นเพลงหมวกเมฆสีรุ้ง พอมันเข้าใจทุกอย่างแล้ว แล้วเพลงมันเลยออกมาเหมือนเล่าเรื่องหนึ่ง

เขินไหมที่ต้องร้องเพลงด้วยเนื้อเรื่องคนอื่น

อูปิม: มันเขินไหมเหรอ (ยิ้มกว้าง) มันไม่เขินค่ะ เพราะว่ามันน่ารัก แต่มันไม่เชิงว่า อุ้ย ร้องแล้วเขินจัง แต่มันจะเป็นฟีลแบบ มันอบอุ่นหัวใจจัง พี่ทิ้วเป็นคนอบอุ่นมาก โรแมนติกในแง่ความสัมพันธ์

เวลาร้องมีการตีความในแบบของเรายังไง

อูปิม: ปิมรู้สึกว่ามันจะมีท่อนหนึ่ง ท่อน verse ที่พี่ทิ้วจะร้องว่า “หลังเมฆบนนภา เป็นหยดน้ำช่างงดงาม” รู้สึกว่าท่อนนี้อยากทำคัลเลอร์ใหม่ อย่างเพลงที่ YEW ทำ มันจะเป็นคอร์ดสว่าง อบอุ่น สดใสหน่อย ปิมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วท่อนนี้มันสามารถจะพิศวงได้นิดหน่อย ก็เลยไปเปลี่ยนคอร์ด แล้วก็เปลี่ยนวิธีการร้องใหม่ให้ดูขมขึ้นนิดหนึ่ง

คุณชอบเรื่องเศร้าในชีวิตมากเป็นพิเศษเหรอ

อูปิม: รู้ตัวอีกทีปิมกลายเป็นคนที่ชอบอะไรแบบนั้น เมโลดีสดใส แต่พูดเรื่องที่เศร้ามากๆ อยู่ หรือพูดเรื่องที่แฮปปี้มาก แต่เมโลดีเศร้า มันกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ LANDOKMAI ก็เลยรู้สึกว่าเพลงนี้มันอบอุ่นหัวใจมากๆ อยากเพิ่มคัลเลอร์ แต้มสีอื่นเข้าไปนิดหนึ่ง แค่รู้สึกว่ารีเลตกับมันได้ดีกว่า ไม่ใช่ชีวิตเศร้ามากนะ แต่แค่การบอกเล่าเรื่องที่มันขมๆ มันรู้สึก touch มากกว่าการจะมาบอกใครสักคนว่า วันนี้มีความสุขมากเลย กับ วันนี้เจ็บหัวใจมากเลย เศร้ากับเรื่องบางอย่าง เลยรู้สึกว่าปิมพรีเซนต์ด้านนี้ออกมาได้ดีกว่า 

เนื้อเพลง LANDOKMAI ที่มักจะพูดถึงช่วงเวลาของวัยรุ่น ในวันที่พวกคุณเติบโตขึ้นเรื่องราวในเนื้อเพลงจะเปลี่ยนไปด้วยไหม

อูปิม: มันเป็นไปไม่ได้ที่คนๆ หนึ่งจะหยุดอยู่ในวัยหนึ่ง เหมือนเจ้าชายน้อย สำหรับตัวเองสัมผัสได้ถึงการเขียนเพลงของตัวเอง ช่วงเวลาเขียนเพลงคือช่วงเวลาที่เราต้องทำความเข้าใจ ความรู้สึก ความคิดตอนนั้น เราก็ต้องกลั่นกรองออกมา ก็รู้ได้เลยว่าช่วงเวลาที่โตขึ้น เราไม่สามารถกลับไปเขียนเนื้อเพลงที่ช่างฝันเหมือนแต่ก่อนได้ คือปิมก็ยังชอบความช่างฝันอยู่ แต่เหมือนเป็นความช่างฝันที่ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อเท่าเมื่อก่อน

แอนท์: ถ้าเป็นเมื่อก่อน เพลง ‘Please be true’ มันจะมีความถ้าฉันมีเวทมนตร์ฉันจะเสกดาวพร่างพรายให้เธอ (อูปิมหัวเราะ) แล้วพอโตขึ้นมาถึงจุดหนึ่งแล้ว เวลาเขียนเพลงรักก็ไม่ได้พูดถึงอะไรที่เหมือนสมัยก่อน

มีเหตุการณ์ไหนที่เปลี่ยนให้คุณกลายเป็นคุณในวันนี้

อูปิม: สมัยเด็ก ปิมเป็นคนที่ไม่ค่อยคิดมาก ปล่อยตัวเองล่องลอยไปกับความฝันมากกว่าความจริง ฉะนั้นก็เลยไม่ค่อยได้ทุกข์ใจอะไรมาก เราไม่ค่อยเจอเรื่องที่ต้องกระแทกใจ ต้องใช้ความคิด คราวนี้พอเราได้เจอจุดเล็กๆ ที่แบบ เฮ้ย นี่คือรสชาติของความทุกข์เหรอเนี่ย กลายเป็นว่าชอบ มันดูเหมือนเราเป็นมนุษย์ขึ้นนิดหนึ่ง (หัวเราะ) อาจจะเกี่ยวไหม ที่เพลง LANDOKMAI ตอนนี้ปิมชอบที่จะพูดถึงจุดเล็กๆ ในวัยเด็กนั้น 

แอนท์: มันจะมีจุดหนึ่งที่รู้สึกว่า เราเป็นคนมั่นใจในตัวเองมากอยู่ช่วงหนึ่งในชีวิต แต่พอโตมาถึงจุดหนึ่งที่ผ่านอะไรมาหลายๆ อย่างแล้วได้มองกลับไปมองตัวเองตอนนั้น รู้สึกแหยงตัวเองตอนนั้นมาก ทำไมกูมั่นใจอะไรขนาดนั้นวะ แบบว่า กูเข้าใจคนทั้งโลกได้ไงอะ พอมันผ่านความรู้สึกที่มันดาวน์มากๆ มันทำให้เข้าใจคนที่เขาเศร้ามากๆ แล้วก็เข้าใจคนที่มีความสุขมากๆ เช่นกัน พอโตขึ้น range ความเข้าใจคนอื่นมากขึ้น จากเหตุการณ์หลายๆ อย่าง 

มีเรื่องอะไรที่ถ้าย้อนกลับไป เลือกที่จะไม่ทำสิ่งนั้นไหม

อูปิม: อืม (คิดนาน) มันมีเยอะเต็มไปหมดเลย แต่สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรที่รู้สึกอยากกลับไปแก้จริงๆ เพราะว่าชอบที่ได้มีความทรงจำกับมัน กลับไปนึกก็จะแบบ ขำดีว่ะ ถ้าเราไม่เคยมีเรื่องที่น่าอายเลย เราจะกลายเป็นคนยังไงก็ไม่รู้ (ยิ้ม) 

ในมุมของ LANDOKMAI ที่ผ่านมามีบทเรียนอะไรที่ได้เรียนรู้ไหม

แอนท์: มันจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านหลายๆ อย่างมากกว่า เริ่มช่วงแรกเลย คือตอนที่เราทำด้วยตัวเอง เราจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่ 1-100 สเต็ปต่อมา เริ่มมีค่าย ค่ายเริ่มมีบทบาท เราก็เริ่มใกล้จะลงตัวแล้ว โควิดเข้ามา ทลายอีกครั้ง จนเฟสล่าสุดน่าจะเป็นช่วงที่เราปรับตัวได้กับทุกอย่าง ทั้งโควิดที่ผ่านไปแล้ว ค่ายที่ทำงานด้วยกัน วิธีการทำงาน วิธีการทำเพลงของเราเอง ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่ดูพริ้วที่สุดแล้ว

อูปิม: อ๋อ แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราสามารถจบงานด้วยตัวเองได้ (เสียงภูมิใจ) 

ความตั้งใจแรกที่ทำ LANDOKMAI จนถึงตอนนี้ยังเป็นแบบเดิมอยู่ไหม

แอนท์: คำถามนี้ไม่เคยมีใครถามเลย แต่จริงๆ มันก็เป็นประมาณนี้ สิ่งที่เราคิดไว้

อูปิม: มันดีมากกว่าที่เราเคยคิดไว้อีก ในยุคนี้เรารู้สึกว่าเวลาเรามองศิลปินรุ่นพี่ เราจะเป็นได้ไหม เราจะทำได้ไหมถ้าเราไปอยู่ในจุดนั้น จนตอนนี้รู้สึกว่ามัน ว้าว เราเองก็ทำได้นะ แต่เราก็จะมีความฝันที่มากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มันดีแล้ว แต่เราก็อยากจะตั้งใจทำไปเรื่อยๆ ให้มันดีขึ้น

YEW การเติบโต และความเข้าใจมุมของคนที่ถูกรัก ในเพลง ‘Tsuki’

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ The Converse Campus Beat เกิดขึ้นได้ยังไง

ทิ้ว: โปรเจกต์นี้จะเน้นเอาเครื่องดนตรีไทยมาผสมเป็นหลัก โจทย์แรกเขาจะพยายามให้เครื่องดนตรีที่มีความเป็น traditional ไทยมาผสม แนวที่พวกเราทำอยู่ก็จะออกแนวสากลทั่วไป แต่อยากให้โชว์ความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งวงเราเลือกพิณ

ตัดสินใจยังไงในการเลือกใช้เครื่องดนตรีไทยอย่างพิณเข้ามาใส่ในเพลง

ทิ้ว: เพราะรู้สึกว่ามันมีความเป็นเครื่องสาย แต่ตอนแรกคิดว่าอาจจะให้เป็นเสียงเพอร์คัสชัน เสียงกลอง ตะโพน กลองแขก แต่คิดว่าถ้าให้มันเป็นโน้ตด้วยก็คงต้องใช้พวกเครื่องสาย 

ทรัพย์: ได้น้องที่คณะดุริยางคศิลป์ เอกดนตรีไทย มาเล่นให้

ทำไมการคอลแลบครั้งนี้ถึงเลือกเพลง ‘Tsuki’

ทิ้ว: ผมเป็นคนคุยกับวงว่าจะเอาเพลง ‘Tsuki’ เพลงนี้ผมเคยไปร่วมแต่ง สาเหตุหนึ่งที่เลือกเพราะอยากตีความในแบบฉบับของตัวเองด้วย หลักๆ จะตีความจากดนตรี ให้มันมีความเป็นแบบฉบับวง YEW มากขึ้น ถ้าว่ากันตามตรงดนตรีของวง LANDOKMAI จะมีความเป็นจังหวะวอลซ์ (Waltz) หน่อย แต่เราจะทำให้มันมีความเกากีตาร์มากขึ้น ใส่คอร์ดให้มีความหม่นขึ้น

เพลงนี้ทิ้วเองก็มีส่วนร่วมแต่ง แล้วการเอากลับมาเรียบเรียงใหม่ คุณทำยังไงให้มีตัวตนของตัวเองอยู่ด้วย

ทิ้ว: ตอนที่ฟังเพลง ‘Tsuki’ ผมรู้สึกว่าคนทั่วไปจะมองว่าฝ่ายที่แอบชอบเป็นฝ่ายเดียวที่รู้สึก เนื้อหาเพลงจะพูดว่า “เก็บเธอเอาไว้ข้างใน รู้สึกแค่ไหนต้องหยุดไว้” จะเป็นเหมือนคนๆ หนึ่งที่ภายนอกดูไม่รู้สึกอะไร แต่จริงๆ ข้างในรู้สึกมากๆ แล้วผมมองว่าพอได้อีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นตัวผู้ชาย ผมก็ได้เติมเต็มและได้บอกบางอย่างว่าอีกฝ่ายก็รู้สึกเหมือนกัน พอมาลองทำผมก็รู้สึกว่าเป็นการได้เติมอีกคนเข้าไป

เพลงนี้แตกต่างจากการทำเพลงอื่นๆ ของ YEW ไหม

ทิ้ว: มันต่างตรงที่เราผสมค่อนข้างเยอะ มีทั้งรูปแบบที่เป็นอัลบั้มเก่าและอัลบั้มใหม่ YEW มันมีความเกากีตาร์บ้าง ความเป็นร็อกด้วย ผมรู้สึกว่าเพลงนี้มันผสมได้ และได้โอกาสทำสิ่งที่อยากจะประกบกันกับเพลง LANDOKMAI ได้เป็นการทดลอง

เพื่อนๆ พอได้วัตถุดิบจากทิ้วมาแล้ว แต่ละคนเข้ามาแจมกันยังไง

พี: พอทิ้วส่งเนื้อร้องมาให้ ประมาณจบฮุคหนึ่ง หลังจากนั้นเราก็มานั่งคุยกัน สิ่งแรกที่ได้ฟัง ผมก็จะนึกก่อนว่าที่ทิ้วถ่ายทอดมามันมีมุมไหน แล้วหลังจากนั้นผมจะนึกเป็นภาพ ว่าเพลงนี้คนฟังคนนี้อยู่ที่ไหน เขาอยู่ในที่สว่างที่มืด แล้วเขามองเห็นอะไร แล้วทำเมโลดีออกมาตามนั้น ถ้าคนอื่นฟังแล้วมองเห็นไม่เหมือนกันก็เปลี่ยน หาไปจนกว่าจะเจอว่าคนฟังเพลงนี้จะต้องรู้สึกแบบนี้ พอโตขึ้นมันก็เจอความรู้สึกมากขึ้น มันก็ช่วยเรื่องอะไรแบบนี้ หลังๆ ทำดนตรีให้มันได้เห็นมู้ดชัดๆ มาก

รู้สึกยังไงที่ได้เอาเพลงมาสลับกันร้องด้วย

ทิ้ว: ผมรู้สึกว่ามันเป็นสตอรี่ที่ต่อจาก ‘ลมแล้ง’ ในการถ่ายทอดของนักร้องสองคน ผมเองก็เป็นคนที่อยู่โรงเรียนเดียวกับอูปิม ร้องตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เหมือนได้กลับมาทำโปรเจกต์อะไรร่วมกัน ก็แฮปปี้

ความเหมือนหรือความแตกต่างของ LANDOKMAI เป็นยังไง

ทิ้ว: ถ้าพูดถึงความเหมือน ผมว่าภาษาเราคล้ายกัน ผมมองว่าวง LANDOKMAI เป็นวงสาวน้อยช่างฝัน จะมีคำของเขา บรรยากาศ ท้องฟ้า ธรรมชาติ ซึ่ง YEW ก็มีตรงนั้นเหมือนกัน ที่ตัวผมถนัดในการแต่งแบบนั้น สิ่งที่เหมือนคือเรื่องเนื้อเลย ถ้าเรื่องดนตรีผมมองว่ามีอะไรที่เหมือนกันอยู่

พี: ในช่วงที่ผมไปโปรดิวซ์ให้ ถามว่าต่างไหมก็ต่าง ช่วงนั้นผมพยายามทำให้น้องไปในทางวินเทจไวบ์อย่างเดียว แต่ผมรู้สึกว่าต่างกันตรงที่น้องมันมีความช่างฝันกว่า ภาพมันจะมีความ psychedelic กว่า มีความลอยๆ กว่า

ทิ้ว: เหมือนร้านบาร์ ถ้า YEW กินวิสกี้ ใต้ไฟสีส้ม แต่ของ LANDOKMAI อาจจะมีค็อกเทลหลายสีกว่า

พี: อาจจะมี smoke ด้วย (หัวเราะ)

ทั้งความเหมือนและความต่างมีส่วนช่วยอะไรในการคอลแลบกันครั้งนี้บ้างไหม

ทิ้ว: ไม่ยากครับ เพราะมันมีความคล้ายกัน แต่สิ่งที่ผมเรียบเรียงครั้งแรกเลยคือเรื่องทางคอร์ด ของ YEW จะเป็นวงที่คอร์ดไม่ได้ถี่ ไม่ได้เปลี่ยนแต่ละท่อน แต่ LANDOKMAI จะเปลี่ยนไปตามเมโลดี มันอาจจะต้องเป็นสิ่งที่เราต้องเรียบเรียงให้มีความเป็น YEW ขึ้น ปรับแปลงคอร์ดให้ช่องว่างมันยืดขึ้นหน่อย ด้วยความที่ผมชอบให้คอร์ดมันไหลยาวๆ ไม่ได้ยากมาก

ถ้าไม่นับเรื่องการทำงาน YEW กับ LANDOKMAI สนิทกันมากขนาดไหน

พี: แน่นแฟ้น (ทุกคนหัวเราะ) ก็เป็นวงที่เวลาทำเพลงอะไรก็ปรึกษากันตลอด เหมือนแก๊งเดียวกัน เวลาทำเพลงมันมีความรสนิยม ไลฟ์สไตล์ ฟังเพลงก็คล้ายๆ กันก็แชร์กัน เป็นน้องที่สนิทมาก

ทิ้ว: เป็นกลุ่มแก๊งเราที่ ม.มหิดล เป็นรุ่นเรารุ่นน้อง ก็ค่อนข้างจะใกล้กันเลย พวกวง YEW, Dept, Sherry, LANDOKMAI หรือ Television Off จะเป็นแบบอยู่ด้วยกันตลอด โตมาด้วยกัน คุยกัน ดูคอนเสิร์ต หรือการสอบ Small Ensemble ซึ่งมันคือชั่วโมงสอบรวมของทุกแขนง ก็จะอยู่ด้วยกัน 

เจด: มันก็จะมีกลุ่มเด็กที่รวมตัวกัน อยากทำเพลงว่าจบออกไปแล้วมีผลงานของตัวเอง พวกเด็กที่ไม่รออาจารย์สอน ฉันทำของฉันเอง ก็จะเป็นกลุ่มพวกนี้ที่อยู่ด้วยกัน

ที่ผ่านมาตัวคุณตอนสมัยเรียนกับตอนนี้แตกต่างไปมากแค่ไหน

ทรัพย์: จริงๆ ของผมไม่ค่อยต่างอะไรเยอะ ช่วงมหาลัยเราก็ใช้ชีวิต เริ่มมีงานเล่น พอโตมาต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ตัวเองมากขึ้น ถ้าในเรื่องการทำเพลง โตขึ้นเรายิ่งเห็นอะไรมากขึ้น เหมือนความที่เราใส่อะไรลงไปในเพลงน้อยลง เรารู้ว่าต้องใส่อะไร ไม่เหมือนเด็กๆ ที่กูมีสกิลนะ อยากเอาอันนู้นอันนี้มาโชว์

เจด: รู้สึกว่าตอนเรียน เราไม่อยากยอมรับ แต่ต้องยอมรับเลยว่ามันสะดวกกว่าตอนนี้ เพราะมันค่อนข้างมีการวางแบบแผนไว้อย่างชัดเจนว่าตื่นมาต้องทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ยิ่งตอนจบใหม่ๆ คือเคว้ง ชีวิตช่วงแรกๆ จะค่อนข้างไม่ค่อยมีระเบียบเท่าไหร่ ตอนเรียนมันคิดไม่ได้หรอก แต่พอเรียนจบแล้วมันต้องพยายามมีวินัย มีระเบียบกับตัวเองจริงๆ ต่อให้เราจะไม่ชอบคำนี้แค่ไหน แต่ว่ามันต้องใช้ชีวิตอะ สุดท้ายมันเป็นสิ่งที่ต้องมี เราก็ต้องพยายามสร้างโครงสร้างที่โอเคกับเรา 

พี: ของผมมันได้รับความเข้าใจ มุมมอง ความเข้าใจของเจนที่มันโตขึ้น ตอนที่เราเรียนเราก็ไม่เข้าใจความรู้สึกของคนวัยทำงานว่ารู้สึกยังไง พอผ่านเรื่องราวเยอะขึ้น ก็ทำให้เราเข้าใจว่าการสร้างมู้ดของเพลงมันตรงกับความรู้สึกของคนฟังมากน้อยแค่ไหน เราสามารถคิดได้หลากหลายมุมมากขึ้น

ทิ้ว: ผมมีเรื่องงานกับชีวิต เรื่องชีวิตก็เป็นเรื่องการแบ่งความรู้สึกที่อยู่อาศัย บางทีผมเป็นคนเชียงใหม่ แล้วพอยิ่งโตขึ้น เรายิ่งรู้สึกว่าบ้านมันสำคัญมากขึ้น ตอนเรียนหนังสือก็เข้าใจได้ว่าเราต้องเรียนแล้วกลับบ้าน แต่พอต้องเรียนจบ ต้องใช้ชีวิตจริงๆ เราต้องมองรอบตัวมากขึ้น มองเรื่องบ้าน เรื่องคนรัก เหมือนเป็นวัยนี้ที่ผมได้เรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่าตอนมัธยมหรือมหาลัย 

ส่วนเรื่องเพลงก็เหมือนกัน มันทำให้เรามองคนกว้างขึ้น ตอนแต่งเพลงแรกๆ เราฟังแล้วรู้สึกว่าเราชอบ แล้วก็ปล่อย มันก็ดีนะ แล้วมันก็ดัง มีคนรู้จักคนชอบเยอะ พอโตขึ้นเราเริ่มศึกษาว่าไอ้สิ่งที่ทำให้ชอบมากขึ้น ฟังเพลงลมแล้งที่เรากลับมานั่งคิดว่าทำไมคนชอบฟัง ผมรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ผมโตขึ้นในเรื่องการมองคนอื่นว่าเขารู้สึกยังไงกับการฟังเพลงเรา ไม่ใช่แค่เราแต่งแล้วชอบไม่ชอบ

ด้วยความที่วง YEW เป็นวงที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย ผ่านมาหลายปีอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้วงยังอยู่ด้วยกัน

ทรัพย์: เงิน…ล้อเล่นๆ (ทุกคนหัวเราะ) ผมว่ามันต้องมีความเข้าใจกันและกัน และความยืดหยุ่นซึ่งกันและกัน 

ทิ้ว: ผมว่าความเชื่อที่แต่ละคนเชื่อว่าสิ่งที่ทำมันจะพาไปทางไหน เชื่อว่าคนนี้ที่เขาอธิบายหรือวางไว้มันจะเป็นอย่างที่คุณคิดไว้นะ ซึ่งก็ต้องทำให้เข้าใจตรงกัน

พี: ความเชื่อมันยากเหมือนกัน รู้สึกว่าถ้าผ่านตรงนี้ไปไม่ได้มันจะลำบากมาก เพราะถ้าคนหนึ่งทำมาแล้วคิดแบบนี้ แล้วอีกคนรู้สึกว่ามันไม่ใช่ว่ะ มันจะเริ่มมีความ ทำแบบกูสิ ผมว่าไอ้ด่านนั้นยาก 

แล้วความเชื่อของวงตอนนี้คืออะไร

ทรัพย์: ผมเชื่อในตัวเพื่อนนะ ผมอาจจะไม่ใช่คนที่เซียนทางดนตรี ในแง่การทำหลายๆ องค์ประกอบ เพื่อนๆ ก็พาโตไปในสเต็ปต่อไป ทำไมจะไม่เชื่อละ เพราะมันก็พาผมมาอยู่ตรงนี้แล้ว

พี: ของผมจริงๆ ไม่ได้เชื่ออะไรเลย ทำในแบบที่ตัวเองชอบ ทุกคนโอเค แฮปปี้ ไม่ได้ต้องรู้สึกว่าเราจะอยากอยู่ในจุดไหน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แค่ต้องทำให้ชอบที่สุด แล้วก็อยู่กับทีม อยู่กับวง ก็แฮปปี้แล้ว

เจด: ถ้าตอบตอนนี้คงคล้ายๆ ทรัพย์ ก็คงต้องเชื่อเพื่อน แล้วก็คล้ายๆ ที่ทรัพย์พูดว่ามันก็คือเพื่อนที่พากันจับมือจนถึงทุกวันนี้ เราอยู่กับเขา เขาพาเรามาถึงตรงนี้ได้ เราก็ช่วยกันให้ไปกันต่อได้

ฟังดูมีความยากและอุปสรรคอยู่เหมือนกัน แล้วเหตุผลอะไรที่ทำให้ยังคงทำวงนี้ต่อ

พี: ผมชอบ ผมทำแล้วสำเร็จตามที่ชอบ มันน่าจะเหมือนกับทุกอาชีพ ทำไปเรื่อยๆ แล้วทุกอย่างมันก็พัฒนาขึ้น ตั้งแต่ทำเพลงมา ไม่เคยบอกว่าทำเพลงง่ายเลย มันยากขึ้นทุกๆ เพลง สุดท้ายมันมีอะไรที่ท้าทาย ผมชอบอะไรแบบนั้น ไอ้เรื่องเงินที่พูดมันคือปัจจัยรอง มันก็แค่พูดในชีวิตจริงว่าต้องกินต้องใช้ แต่ผมก็ยอมที่จะไม่ทำอะไรเลย อยู่เพื่อทำงานตรงนี้ ถามว่าเงินเยอะไหม มันก็ไม่ได้เยอะ ผมมาชั่งน้ำหนักกับความสุขกับปัจจุบันแบบนี้มากกว่า

ทรัพย์: คนดูเขามาดูเราต่อก็ทำให้เรามีกำลังใจ จริงๆ ผมเคยดูคนอื่นสัมภาษณ์ ผมก็คิดนะว่าเขาพูดไปอย่างนั้นเปล่าวะ พอเจอกับตัวเองจริงๆ มันเติมเต็มตัวเองจริงๆ โอเคเราทำงาน แล้วเราชอบนั่งดูไอจีวงตัวเอง ตั้งแต่เวลาเล่นเสร็จจะถ่ายกับคนดู เราก็เห็นจากก้อนเล็กๆ ค่อยๆ ใหญ่ จนแบบ เชี่ย เราโตกันขึ้นมากจริงๆ 

เจด: ถ้าให้ตอบตรงๆ คือถ้าไม่ทำดนตรีก็ไม่รู้จะทำอะไร ทั้งชีวิตหมกมุ่นอยู่กับเกม หนัง ดนตรี เอาเป็นว่าช่วงมหาวิทยาลัย ผมก็หมกมุ่นอยู่กับดนตรี เอาเป็นว่าถ้าไม่ทำดนตรีก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ทำดนตรีมันยังมีความมั่นใจอยู่ว่าฉันสามารถ contribute ได้ 

ทิ้ว: ผมมองว่าสุดท้ายก็ต้องกลับมาทำดนตรี พ่อชอบบอกว่าตอนที่ผมเขวไปสอบอยากเรียนคณะอื่น อย่าง Interior (ออกแบบภายใน) ตอนนั้นพ่อผมก็งงว่าทำไมอยากไปเรียน เพราะเห็นผมเล่นดนตรีตั้งแต่ประถมแล้ว เล่นประสานเสียง ดนตรีไทย ดนตรีสากล พ่อผมก็ถามว่าถ้าสุดท้ายก็ต้องกลับมาเล่นดนตรีอยู่ดี จะเบี่ยงไปทำไม 

ผมว่าบางเรื่องมันต้องเชื่อตัวเองว่าถ้าสุดท้ายต้องกลับมาทำสิ่งนี้คุณก็ลุยไปเลย ก็รู้ว่าเรียนอย่างอื่นไว้เป็นลู่ทางให้ชีวิตได้ แต่ผมมองว่าบางสิ่งบางอย่างมันโตกับเราตั้งแต่เด็ก มันต้องมีเหตุผลสิที่ไม่ว่ายังไงคุณก็ต้องกลับมาร้องเพลง กลับมาแต่งเพลง มันก็แค่นั้น มันเหวี่ยงอะไรกลับมาไม่รู้ ก็ถือว่าโชคดีที่ทำแล้วมีคนรักและชอบในสิ่งที่ทำด้วย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ

ณัฐนิชา หมั่นหาดี

บอกกับตัวเอง รักงานให้เหมือนกับที่รักเธอ

ชัชชัญญา หาญอุดมลาภ

ช่างภาพสายกิน ที่ถ่ายรูปได้นิดหน่อย แต่กินได้เยอะมาก