ธรรมชาติชีวิตในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของ ตูน Bodyslam

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ a day with a view นิตยสาร a day 166 มิถุนายน 2557

“มันเป็นธรรมชาติ”

อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน Bodyslam มักเอ่ยประโยคนี้ปิดท้ายประโยคเมื่ออธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสุข ความทุกข์ ความผิดหวัง สมหวัง สุขภาพ ความสัมพันธ์ หรือจะกล่าวว่า เขาใช้ประโยคนี้กับทุกเรื่องในชีวิตก็ไม่ผิดนัก

จากนักเรียนชั้นมัธยมที่ชื่นชอบในการร้องเพลง ทะเลดนตรีได้นำพาเรือเล็กอย่างเขาล่องลอยมาไกลเกินกว่าจะจินตนาการถึง จากวงดนตรีในค่ายเล็กที่จับใจคนเฉพาะกลุ่ม เติบโตกลายเป็นหนึ่งในศิลปินวงร็อกที่มีคนรู้จักมากที่สุดในประเทศ

ซึ่งชื่อเสียงและการยอมรับที่ได้มาหาได้เกิดจากโชคชะตาหรือจับพลัดจับผลู ผลงานเพลงที่บรรจุความตั้งใจไว้ในทุกๆ คำร้อง ทำนอง ไล่เรียงตั้งแต่อัลบั้ม Bodyslam, Drive, Believe, Save My Life และ คราม รวมถึงทัศนคติส่วนตัวต่างหากที่ทำให้เขาก้าวมายังจุดจุดนี้-จุดที่ใช่ว่าศิลปินทุกวงจะมาถึง

รางวัลศิลปินกลุ่มร็อกยอดเยี่ยม, เพลงร็อกยอดเยี่ยม และอัลบั้มร็อกยอดเยี่ยม จากหลากเวที โดยเฉพาะเวทีสีสันอวอร์ด ซึ่งตัดสินโดยคณะกรรมการที่เป็นกลุ่มคนฟังเพลงชนิดเข้มข้นยืนยันถึงคุณภาพผลงานของเขาได้เป็นอย่างดี

บทสนทนาหลายครั้งรวมเวลาหลายชั่วโมงระหว่างเราบอกว่าความคิดและทัศนคติของเขาในวันนี้มีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ก็มีบางอย่างที่ยืนหยัดไม่สั่นคลอน แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน เขาก็อธิบายเหตุผลด้วยประโยคทำนองเดียวกัน

“มันเป็นธรรมชาติ”

1

“ขึ้นมาเลยครับ เดี๋ยวพาเข้าไป”

เจ้าของมอเตอร์ไซค์เอ่ยเมื่อผมบอกชื่อบุคคลที่นัดหมายไว้

ผมวาดขาขึ้นยานพาหนะสองล้อตามคำชวน ช่างเป็นระบบการรักษาความปลอดภัยที่น่ารัก เป็นมิตร เพียงถามสั้นๆ ว่ามาหาใครก็ยอมเปิดทาง แถมอาสาขี่รถพาไปส่ง

ระหว่างที่ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ผมคิดถึงวันที่พบเจอเขาครั้งแรกเมื่อกว่า 12 ปีก่อน ที่สถานศึกษาแห่งหนึ่ง เขายืนอยู่บนเวทีในฐานะศิลปินอินดี้หน้าใหม่ ส่วนผมยืนอยู่ด้านล่างในฐานะผู้ชื่นชม เฝ้ามอง วันนั้นหากเอ่ยชื่อเดียวกันนี้ออกไปให้ใครได้ยินอาจต้องเสียเวลามานั่งอธิบายกันหลายนาทีว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน ตรงกันข้ามกับวันนี้ นาทีนี้

มีใครบ้างไม่รู้จัก ตูน บอดี้แสลม

วันนี้เป็นวันซ้อมใหญ่ก่อนที่ ‘genie fest 16 ปีแห่งความร็อก’ คอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 16 ปี ค่าย genie records จะระเบิดความมันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเขา-ในฐานะศิลปินเบอร์หลักของค่าย ย่อมเป็นหนึ่งในไฮไลต์อย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อถึงที่หมาย สองล้อหยุดนิ่ง ผมกล่าวขอบคุณผู้มาส่งด้วยรอยยิ้มและก้าวเท้าไปยังจุดหมาย ท่ามกลางเหล่าศิลปินร่วมค่าย ผมมองเห็นเขาในอิริยาบถผ่อนคลายรอเวลาขึ้นเวที

“ตามสบายเลยนะครับ ไม่ต้องเกรงใจ” ตูนเอ่ยอย่างป็นกันเองด้วยน้ำเสียงสุภาพเมื่อพบเจอ

นี่เป็นนิสัยส่วนตัวของเขาที่ใครหลายคน ไล่ตั้งแต่รุ่นพี่ที่เขาเคารพ พีอาร์ค่ายที่สังกัด คนขับรถ หรือแฟนเพลง ต่างระบุตรงกัน นั่นคือเขาเป็นคนนอบน้อม ถ่อมตัว ทั้งที่โดยโปรไฟล์แล้วเขาสามารถวางตัวมีเกราะมีกรอบโดยที่ทุกคนเข้าใจ

ระหว่างที่นั่งคุยกันหลังเวที เขายกมือไหว้ผู้อาวุโสที่เดินผ่านไปมาอย่างเป็นปกติสลับกับการลุกไปถ่ายรูปกับกลุ่มแฟนเพลงที่บังเอิญผ่านมาพบ ไม่ใช่เพียงครั้งนี้ ทุกครั้งเมื่อมีใครเข้ามาขอถ่ายรูป เขาไม่ลังเลที่จะโผเข้าหาด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่มีทีท่ารำคาญ ไร้อัตตาในแบบที่ร็อกสตาร์หลายคนมีติดตัว

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกอบรมมาจากโรงเรียนสอนศิลปินที่ไหน และเหนืออื่นใด ผมไม่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะบอกสอนกันได้หากคนคนนั้นไม่ได้มีพื้นฐานความเชื่อเช่นนั้น

“ผมคิดอย่างนี้ เราชอบที่ได้ทำเพลง ทำดนตรี และเมื่อเราทำเสร็จ แล้วเปิดให้คนฟังเพื่อให้เขาชอบ ให้เขารัก สมมติเขารักเพลงเรา รวมถึงเขารักตัวเรา แต่สุดท้ายเรากลับเลือกที่จะปลอมตัว เดินหนีเขา หรือไม่ยินดีที่เขาเข้ามาหาเรา ผมว่ามันเป็นตรรกะที่ผิด

“ผมพยายามไม่ใช้ชีวิตเหมือนที่คนเขาคิดว่าเราต้องเป็นอย่างนั้น ผมก็ยังใช้ชีวิตปกติ ทุกวันนี้แถวบ้านทุกคนจะเห็นผมใส่กางเกงบอลไปซื้อของในเซเว่นฯ ไปอุ่นเกี๊ยวน้ำ ซื้อ สตาร์ซอคเก้อร์

ในวันที่ยังไม่มีใครรู้จักเป็นอย่างไร วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น

หลังบทสนทนาสั้นๆ เรานัดหมายพบเจอกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าที่บ้านของเขา เมื่อถึงเวลา ตูนก้าวขึ้นเวทีพร้อมกับศิลปินร่วมค่ายโดยที่ผมเฝ้ามองเขาผ่านจอมอนิเตอร์ด้านล่าง

เพลงแรกที่ศิลปินทุกคนร่วมร้องเป็นเพลงของเขา เครื่องเสียงทำให้เพลงเพลงเดิมดูเข้มขลังขึ้น เพลงนั้นมีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า

‘ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน หกล้มคลุกคลานเท่าไหร่ มันจะไปจบที่ตรงไหน แต่จะยังไงก็ต้องไปให้ถึง’

2

“คนไม่รู้ไม่เห็นนึกว่าผมไม่เคยล้ม ไม่เคยพลาด แต่ความจริงมันสะบักสะบอมนะ”

เขาเอ่ยประโยคนี้ระหว่างที่เราพูดคุยถึงชีวิตที่ผ่านมาในบ้านของเขา

ตูนอยู่บ้านหลังนี้มากว่า 5 ปี โดยพื้นเพเขาเป็นคนสุพรรณบุรี เกิดที่นั่น โตที่นั่น ก่อนชีวิตจะหักเหต้องย้ายมาเรียนต่อชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ และปักหลักลากยาวจนถึงตอนนี้

“ตอนนั้นร้องไห้ตลอดเพราะคิดถึงบ้าน เราไม่เคยต้องออกจากบ้านมาใช้ชีวิตคนเดียวแบบนี้ ขึ้นรถเมล์กลับบ้านคนเดียวก็มีเหงาบ้าง”

แทบจะเป็นบทบัญญัติของลูกผู้ชายในช่วงวัยมัธยมที่หากหลงรักดนตรีต้องจับกลุ่มฟอร์มวง เขาเองก็เช่นกัน ด้วยความที่ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กจากการปลูกฝังอ้อมๆ ของพ่อซึ่งชอบฟังเพลงและอ่านหนังสือดนตรี เขาจึงยึดตำแหน่งร้องนำประจำวง พอมีวงดนตรีโลกการฟังของเขาก็กว้างและลึกขึ้น จากที่ฟังเพียงเพลงป๊อปง่ายๆ เขาเริ่มฟังเพลงมากขึ้นและยากขึ้นโดยการแนะนำของเพื่อนร่วมวง

“มันทำให้เราก้าวเข้าไปอีกขั้นหนึ่งในความหลงใหล รักมันโดยค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปไม่รู้ตัว”

เมื่อได้ยืนร้องเพลงที่ชอบโดยมีเพื่อนและเครื่องดนตรีห้อมล้อม ช่วงชีวิตที่โดดเดี่ยวในเมืองกรุงสำหรับเขาจึงกินเวลาไม่นานนัก

แม้จะจับสามล้อกับเพื่อนไปห้องซ้อมดนตรีสม่ำเสมอ อัดกันอยู่ในห้องแคบๆ 7-8 คน อย่างไม่รู้วันคืน แต่เมื่อถามถึงความฝันในเส้นทางสายดนตรีเขากลับปฏิเสธรวดเร็วคล้ายมันเป็นเรื่องเหลวไหล-เพ้อฝัน

“มันเป็นไปไม่ได้เลย ความฝันที่จะออกอัลบั้มในตอนนั้นมันไกลมาก ตอนนั้นเราไม่เก่งด้วย ในจังหวะแรกที่พวกผมเริ่มเล่นดนตรีกันมันไม่มีความคิดว่าจะต้องไปออกเทป จะต้องดัง จะต้องเป็นนักดนตรีมืออาชีพต่อไปในอนาคต มันไม่มีเลย เราแค่สนุกกับดนตรีของเราเท่านั้น

“เหมือนพักเที่ยงลงไปเตะบอล ก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะเป็นนักบอลทีมชาติ” เขาเปรียบเปรยเห็นภาพ

ในบ่ายวันหนึ่งขณะที่สวมเครื่องแบบนักเรียน โรงเรียนได้จัดคอนเสิร์ตขนาดย่อมขึ้นโดยมีศิลปินที่เป็นศิษย์เก่ามาเล่นบนเวที ศิลปินวงนั้นมีนามว่า โมเดิร์นด็อก

ไม่ต้องถามว่าเขาอยู่นั่งอยู่ในห้องเรียนหรือยืนอยู่หน้าเวที-เป็นอันรู้กัน

“ตอนนั้นพี่ป๊อดก็สุดของเขา ลงไปนอนดิ้นทุรนทุรายร้องเพลงบนพื้น อยู่ดีๆ ก็ปีนเสาเวที ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเปิดโลกการแสดงบนเวทีของผม ที่เคยดูในทีวีแต่ก่อนนักร้องต้องยืนร้องด้วยแอคชั่นน้อยๆ โยกได้นิดหน่อย แต่พอได้เห็นพี่ป๊อดเล่นวันนั้นแล้วมันพาเราไปไกลเลยนะ ตั้งแต่วันนั้นมาเรารู้สึกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากการแสดงสดของโมเดิร์นด็อก”

การแสดงสดที่ทำให้คนในวงกว้างได้ยินชื่อ อาทิวราห์ คงมาลัย เป็นครั้งแรก คือเวที Hotwave Music Awards ครั้งที่ 1 ในฐานะนักร้องนำวงละอ่อน จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

“ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรเยอะ แค่หวังประสบการณ์จากการประกวด อยากทำอะไรสนุกๆ ก็ทำ ผมว่ามันเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่จะใช้พลังงานล้นเหลือในตัวเองก่อนที่จะคิดอะไรเสมอ ไม่ได้วางแผนอะไรยาวๆ รู้แค่เดี๋ยวก็ต้องเอนทรานซ์ เรียบจบแล้วสมัครงาน”

สิ้นคำประกาศผลของพิธีกรบนเวทีชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อละอ่อนคว้ารางวัลชนะเลิศในปีนั้นไปครอง

“การประกวดชนะครั้งนั้นทำให้เราได้ก้าวขาเข้ามาในดินแดนของคนที่ทำงานดนตรีจริงๆ เปิดประตูให้เราได้เข้ามาอยู่ค่าย Music Bugs ได้เจอพี่เอก (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) ได้เข้ามาเจอรุ่นพี่วงดนตรีที่เก่งๆ ในมิวสิคบั๊กส์ตอนนั้นอย่างเช่น Friday, Big Ass เป็นประตูให้เราได้เข้ามาเจอคนเหล่านี้และทำให้เรามีวันนี้”

ละอ่อน คืออัลบั้มที่ต่อยอดมาจากการประกวดครั้งนั้น อัลบั้มนี้ทำให้เขาได้รู้จักการทำเพลงแบบมืออาชีพ ได้เข้าห้องอัด ได้ไปแคมปัสทัวร์ ได้ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตเล็กๆ-ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ

“ตอนนั้นเหมือนเข้าห้องเรียนไปเรียนรู้ ทำด้วยความไม่รู้ เราต้องขอบคุณช่วงเวลาที่ได้ทำละอ่อน ถึงมันไม่ได้ประสบความสำเร็จในตัวมันเอง แต่ก็เป็นงานที่สอนเราในการทำงานชิ้นใหญ่ขึ้นในวันหน้า เรารู้แล้วว่าถ้าเราได้มีโอกาสทำอัลบั้มอีกครั้งหนึ่ง เราจะต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง เราจะล้อเล่นกับมันไม่ได้แล้ว เราจะไม่มีทางเปลี่ยนชื่อวงได้เป็นครั้งที่ 2”

“ทุกวันนี้พอกลับไปฟังอัลบั้มละอ่อนแล้วรู้สึกยังไง” ผมถาม

“ผมจะไม่เปิดฟังเอง ผมเขิน” เขาตอบแล้วนั่งอมยิ้ม “เขินเหมือนเราเปิดอัลบั้มรูปเก่าๆ ของตัวเองแล้ว เห็นตัวเองแต่งชุดโดราเอมอนนั่นแหละ นึกออกไหม ตอนนั้นเราเป็นเด็กอายุ 18-19 ปี พูดเรื่องอะไรประมาณนั้น เสียงเราประมาณนั้น ดนตรีประมาณนั้น คงคล้ายๆ กับการใส่เสื้อผ้า ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเราคิดว่ามันเท่ที่สุด เราแต่งตัวได้ดีที่สุดตอนนั้นแล้ว แต่กลับไปดูอัลบั้มรูปเมื่อ 20 ปีที่แล้วเราก็หัวเราะกับตัวเองอยู่เสมอ เหมือนเป็นธรรมชาติของคนที่โตขึ้นนั่นแหละ

“เขินอายแต่ไม่ได้ละอายนะ มันภูมิใจด้วยซ้ำ”

3

แม้จะเรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แต่เขากลับรู้สึกมีความสุขยามยืนร้องเพลงมากกว่ายืนว่าความบนบัลลังก์

หลังตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะแยกย้ายจากวงละอ่อนซึ่งรวมตัวเฉพาะกิจเพื่อประกวดตอนเรียนปี 2 เขาจึงคิดโปรเจกต์วงดนตรีใหม่เพื่อรองรับความฝันบนเส้นทางดนตรีที่เริ่มก่อตัวอย่างหนาแน่นโดยได้ เภา-รัฐพล พรรณเชษฐ์ มือกีตาร์จากวงละอ่อนมาร่วมกันตั้งต้นปลุกปั้น ก่อนที่ ปิ๊ด-ธนดล ช้างเสวก มือเบสวงเดียวกันจะมาสมทบภายหลัง

เขาแบ่งเวลาในชีวิตช่วงที่ยังศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยทำเพลงสะสมไว้หวังผลักดันให้โปรเจกต์นี้เสร็จสิ้นเป็นอัลบั้ม เมื่อเรียนจบเขาปฏิเสธที่จะหางานเพื่อมุ่งมั่นกับงานนี้เต็มตัว

เป็นเวลา 2 ปีเต็มหลังเรียนจบที่เขาไม่มีรายได้จากงานประจำ

“ปีแรกที่จบจากมหาวิทยาลัยเราไม่มีงานประจำทำ ต้องทำทุกอย่างเพื่อหล่อเลี้ยงให้ก้อนความฝันในการทำอัลบั้มแรกไปสุดทางให้ได้ แล้วมีรุ่นพี่ทำงานเป็นสจ๊วตอยู่เขาก็ต้องการคนด่วนก็เลยมาถามเราว่าอยากไปมั้ย เราก็โอเค เป็นสัญญาระยะสั้น 3-6 เดือน ไม่ใช่พนักงานประจำ มันเป็นไฟลต์ต้องไปประจำที่อินเดีย”

พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินคนอื่นอาจมีเพียงกระเป๋าสัมภาระ แต่เขาต้องแบกกีตาร์ไปที่ต่างๆ ด้วยเพื่อไม่ให้การทำเพลงต้องสะดุด

หลังจากหมดสัญญาระยะสั้นกับสายการบินเขากลับมาทำเพลงเต็มตัว โดยอาศัยเล่นดนตรีกลางคืนเพื่อหารายได้หล่อเลี้ยง จนแล้วจนรอดอัลบั้มก็ไม่คลอดสักที เนื่องจากค่ายต้นสังกัดยังไม่เคาะอนุมัติให้เดินหน้าเข้าห้องอัด ทำให้เขาต้องรอต่อไป

“ตอนนั้นเรากดดันมาก คือเราจบนิติฯ จุฬาฯ ถ้าเลือกทำงานออฟฟิศคงได้เงินเดือน คงเลี้ยงพ่อแม่ได้ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ความกดดันมันยิ่งเยอะขึ้น ในบางทีเราก็รู้สึกไร้สาระกับตัวเองจริงๆ ว่าทำไมวะเขาส่งให้เราเรียนเพื่อที่เรียนจบก็ทำงานส่งเงินกลับไป ไปช่วยดูแล ซัพพอร์ตบ้าง แล้วในช่วงนั้นเศรษฐกิจที่บ้านแย่มากอยู่แล้วด้วย ไม่ได้จะมาใช้ชีวิตลอยลมอย่างนี้ได้ สิ่งที่เราทำมันยิ่งเห็นแก่ตัวเข้าไปใหญ่

“ช่วงที่เรียนแล้วทำเพลงไปด้วยยังไม่เป็นไร เพราะเรารู้สึกว่ายังมีหลักคือการเรียนให้เรายึด แต่พอช่วง 2 ปีที่เราออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เรียนจบแล้วไม่ได้ทำงานประจำ ดนตรีคือหลักยึดของเรา เราทุ่มเทไปกับมันมาก แล้วเรารู้สึกว่าเดโม่ที่เรามีในมือน่าจะเพียงพอให้เราได้ต่อยอด เข้าห้องอัด ออกอัลบั้มได้แล้วแต่ก็ไม่ได้ออกสักที” เดโม่ที่เขามีอยู่ตอนนั้นไล่เรียงรายชื่อได้ประมาณนี้

ทางของฉันฝันของเธอ, อากาศ, ย้ำ และ งมงาย

“ตอนนั้นคิดไหมว่าจะทนถึงเมื่อไหร่” เขานิ่งคิดหลังได้ยินคำถาม

“มีอยู่วันหนึ่งเราตัดสินใจว่าจะยอมแล้ว ถ้าหลังจากวันนี้เขาไม่ให้เราออกอัลบั้มเราจะยอมแพ้แล้วไปหางานทำ มันหมดไฟ ท้อแท้ ผมว่าผมทำทุกอย่างแล้วจริงๆ เท่าที่ทำได้ในตอนนั้น” เขาเล่าทิ้งจังหวะ คล้ายกำลังเรียบเรียงความทรงจำเป็นประโยค

“วันนั้นเรานัดประชุมที่มิวสิคบั๊กส์ก่อนเข้าประชุมเราจะไปนั่งร้านกาแฟที่อยู่ใกล้ออฟฟิศกัน มีผม มีพี่อ๊อฟ (พูนศักดิ์ จตุระบุล) ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ให้บอดี้สแลม มีทีมเขียนเนื้อเพลงที่คอยช่วยกัน ก็คุยหาทางออกว่าเมื่อไหร่จะได้ทำ สุดท้ายมันไม่มีทางออกในโต๊ะประชุมนั้น ผมเลยเดินจากร้านกาแฟกลับมาที่ออฟฟิศแล้วเคาะประตูห้องเพื่อขอคุยกับพี่เอกธเนศซึ่งเป็นผู้บริหารค่าย

“จำได้ตอนนั้นประมาณห้าโมงเย็น ไม่ได้เข้าไปด้วยอารมณ์เดือดดาลนะ เพราะว่าพี่เอกก็เป็นพี่ชายที่แสนดี ให้โอกาสให้กับเรา ซึ่งในมุมของการดูแลค่ายเราก็ต้องเข้าใจว่าเขาต้องคิดถึงในแง่ของตัวเลขต่างๆ แต่วันนั้นคือเราไม่ไหวแล้ว เราแค่ตั้งใจจะเข้าไปเล่าว่ามันเกิดอะไรกับชีวิตเราบ้าง อยากไปพูดให้พี่เขาฟังว่าชีวิตเราเป็นยังไง เราเล่าทุกเรื่อง ประมาณ 3 ชั่วโมง ที่บ้านผมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผมไม่ไหวแล้วครับ แค่อยากให้ทำเป็นอัลบั้มแค่นั้นเอง เล่าจนตัวเองร้องไห้ จากที่พี่เอกนั่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของโต๊ะ สุดท้ายพี่เขาก็มานั่งข้างๆ มาปลอบเรา

“พี่ขอโทษ พี่ให้ตูนทำอัลบั้ม”

ประโยคนี้ในวันนั้นของธเนศ วรากุลนุเคราะห์ คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนรู้จัก Bodyslam

“ความสำเร็จของอัลบั้มแรกที่คิดไว้คือให้ออกมาเป็นแผ่นซีดี มีหน้าปกที่สวยงาม ข้างในมีชื่อเรา มีเครดิต มีรูปเราอยู่ มีเพลงเพราะๆ ที่เราตั้งใจนำเสนอ กลับไปบ้านให้พ่อแม่เห็นว่า 2 ปีที่เราไม่ได้ทำงานประจำ นี่แหละ มันอยู่ในนี้ มันไม่ใช่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ มีอะไรให้เขาจับต้องได้ มีสตางค์ซื้อข้าว มีสตางค์ให้พ่อให้แม่ นี่แหละคือความสำเร็จของผมในการทำบอดี้สแลมชุดแรก แค่นี้จริงๆ เพราะมันเหนื่อยมามากแล้วกับการผลักดันทำจนเสร็จได้”

ภายใต้สังกัดมิวสิคบั๊กส์ เขามีผลงานทั้งหมด 2 อัลบั้ม คือ Bodyslam และ Drive มีเพลงฮิตที่แฟนเพลงยังคงจดจำและร้องตามได้เมื่อเขาเล่นบนเวทีแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน

“ย้อนกลับไปมองตัวเองในวันนั้น วันที่ไม่ได้ออกอัลบั้มสักที คุณชอบอะไรที่สุด” ผมถามชายตรงหน้าในวัย 35

“ชอบเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ใส่กางเกงบอล เสื้อยืดซ้ำๆ สวมรองเท้าผ้าใบแบกเป้ นั่งรถเมล์ มองลงมาที่ถนน มีความฝันว่าถ้าเรามีรถมือสองสักคันไปไหนมาไหนคงดีนะ เดินขึ้นเรือด่วน ใส่หูฟัง เดินฮัมเพลง อยู่กับเพลงได้ทั้งวันทั้งคืน หน้าสิวๆ มันๆ หน่อย ไปนอนบ้านพี่ๆ วงบิ๊กแอสบ้าง กลับไปนอนบ้านป้าบ้าง นอนบนพื้นห้องประชุมที่มิวสิคบั๊กส์บ้าง มีสตางค์กินข้าวบ้าง ไม่มีบ้าง แต่มีความสุขกับมัน นี่พูดแล้วขนลุกเลย ถ้าเป็นตอนนี้อาจจะทนอะไรไม่ได้นานขนาดนั้นก็เป็นได้ มันอยู่ในวัยที่กล้าได้กล้าเสีย มุทะลุมาก อยากกลับไปตอนนั้นมาก อยากกลับไปเป็นคนนั้น คิดแล้วไฟลุกท่วมเลย

“ผมชอบชีวิตในช่วงนั้นมาก บางวันผมชอบมากกว่าตอนที่หลายๆ คนบอกว่าผมประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้อีก”

4

วันที่เราคุยกัน ช่วงค่ำเขามีคิวจะต้องเข้าไปซ้อมดนตรีกับเพื่อนร่วมวงที่ตึกแกรมมี่ ย่านอโศก

เปรียบเทียบวันนี้กับวันแรกที่เดินเข้าตึกเขาเปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน จากที่ใฝ่ฝันอยากมีรถมือสอง วันนี้เขามีรถคันโตเป็นของตัวเองพร้อมคนขับคอยรับส่ง จากนักร้องที่เป็นที่ชื่นชอบของคนเฉพาะกลุ่ม วันนี้เขากลายเป็นนักร้องที่เดินไปไหนก็มีแต่คนตะโกนเรียกชื่อ ผลงานของเขาจับใจกลุ่มคนได้อย่างกว้างขวาง ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มคน

ที่เห็นกับตาในช่วงไม่กี่วันที่เราพบกันนั้นมีตั้งแต่เด็กนักเรียนไปจนถึงผู้สูงวัยที่ดูภายนอกคงเดาไม่ออกว่าติดตามผลงานของเขาเช่นเดียวกัน

หลังหมดสัญญากับมิวสิคบั๊กส์ วงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 ประการ

หนึ่ง-มีการปรับเปลี่ยนสมาชิกภายในวงโดยได้มือกีตาร์อย่าง ยอด-ธนชัย ตันตระกูล และมือกลองอย่าง ชัช-สุชัฒติ จั่นอี๊ด เข้ามาเสริมหลังจากที่เภา มือกีตาร์คนเดิมเดินจากวงไป สอง-เขาตัดสินใจพาวงเดินตามรอยเท้ารุ่นพี่อย่างบิ๊กแอสเข้ามาอยู่ใต้ชายคาจีนี่เร็คคอร์ดสในเครือแกรมมี่ และอยู่ยาวมาจนถึงตอนนี้ มีผลงานด้วยกัน 3 อัลบั้ม คือ Believe, Save My Life และ คราม

จากค่ายเล็กมาสู่ค่ายยักษ์ใหญ่ ใครหลายคนคงคิดว่าเขาต้องแบกรับแรงกดดันมหาศาล ไม่ว่าจะทั้งจากค่ายหรือแม้กระทั่งจากความคาดหวังส่วนตัว แต่เขากลับส่ายหน้าปฏิเสธ

“ไม่มีความเครียดเลย ไม่ได้เก๋าอะไรด้วยนะ แค่เราไม่คิดกดดันแค่นั้นเอง แล้ววิธีการทำงานหรือแม้กระทั่งทัศนคติก็ยังเหมือนตอนอยู่ค่ายเดิมคือเราทำด้วยตัวเอง ตัดสินใจหลายๆ อย่างด้วยทีมเล็กๆ ของเรา แต่งเพลงจากความสนุก เลือกที่จะร้องแต่เรื่องที่เรารู้สึก เรื่องข้างในเราในขวบปีนั้นๆ ที่เราเชื่อ ที่เปลี่ยนไปคงเป็นวิธีการโปรโมต เพลงของเราได้ไปอยู่ในช่องทางที่มันหลากหลายขึ้น จากเราไม่เคยออกทีวีเลยก็ได้ไปออกทีวี จากคนที่มีแต่คนฟังเพลงเราไม่เคยเห็นหน้า ในอัลบั้ม Believe ก็มีคนเห็นหน้าเรา

เป็นจังหวะที่ดีที่เราได้มาอยู่ในค่ายใหญ่ในช่วงเวลานั้น วงได้ทำงานหนักใน 2 อัลบั้มแรก ได้เข้ามาในแบบที่พอมีเครดิตติดตัวมาบ้าง ถ้าอัลบั้มแรกเราได้มาอยู่ค่ายใหญ่เลยผมว่าอาจไม่ดีเท่าเราได้ทำจากค่ายเล็กๆ มาทีละเล็กทีละน้อย สะสมประสบกาณ์ในตัวเองมาก่อน จาก 1 มา 2 เราได้เพิ่มพูนความรู้ความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาอัลบั้มที่ 3 เหมือนเราสุกงอมพอดี”

แม้อัลบั้มแรกภายใต้สังกัดใหม่จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแต่ใช่ว่าจะมีเพียงเสียงชื่นชม ระหว่างทางเขาต้องพบเจอกับคำสบประมาทไม่น้อย ซึ่งเขาชาชินเสียแล้วกับถ้อยคำเหล่านี้-ถ้อยคำที่เขาได้ยินมาตั้งแต่ก่อนจะมีอัลบั้มด้วยซ้ำ

“ผมชอบนะ แรงลบ แรงดูถูกถากถาง คำติฉินนินทา คำว่าร้ายที่มากระทบกับใจเรา จงใจทำให้เราเจ็บปวด ผมไม่ได้โต้ตอบกลับคำเหล่านั้นทันที ผมเก็บ แล้วกดไว้ ที่ผ่านมามีคนดูถูกว่าผมทำไม่ได้หรอก มาร้องเพลง มาอยู่แกรมมี่ ไม่มีทางสำเร็จหรอก เอาเลย ผมไม่เถียงอยู่แล้ว แต่ผมจำ

“ได้ครับ เจอกู (หัวเราะ) คือเราไม่ได้มีความคิดก้าวร้าว เราเพียงใช้มันเป็นพลัง เหมือนน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากซากพืชซากสัตว์เน่าเปื่อยที่ทับถม ผ่านกาลเวลา ในตอนแรกเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้หรอก มันเน่าเหม็น อีกล้านปีถึงจะเอามาใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนโลกใบนี้ คงคล้ายๆ กัน เรื่องเน่าเสียที่เข้ามากระทบตัวเรา คำดูถูกถากถาง ความเศร้าหมอง ความพ่ายแพ้ ความหดหู่ พอเราเก็บไว้จนเวลาทำหน้าที่ของมัน บ่มเพาะ สุดท้ายสิ่งนั้นมันกลายเป็นพลังงานให้เรา จนเป็นเราทุกวันนี้”

แล้วชื่อเสียงที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตไปไหม-ผมสงสัย

“ก็เห็นโลกเยอะ ได้ไปเล่นในที่ที่เราไม่คิดว่าจะได้ไป ได้เล่นในเวทีที่ใหญ่ขึ้น ได้มีคอนเสิร์ตที่ชื่อ Bodyslam Believe Concert ที่ขายบัตรเป็นของตัวเอง บัตรขายหมดเกลี้ยง ทำให้รู้ว่าเราก็ทำแบบนี้ได้ด้วยนะ มีแฟนเพลงเราเยอะขนาดนี้เลยเหรอ

“มีโมเมนต์หนึ่งที่ผมรู้สึกมีความสุขคือ ตอนลงจากเวทีแม่ก็เข้ามากอดแล้วบอกว่า แม่เชื่อแล้วว่าลูกทำได้”

5

หนวดเคราบนใบหน้าเขาในวันนี้ขับให้เขาดูต่างจากศิลปินป๊อปร็อกวัยใสเมื่อครั้งวันวานคล้ายกับเป็นคนละคน หากนำปกอัลบั้มแรกของบอดี้สแลมมาวางเทียบกับปกซิงเกิลล่าสุด เราอาจสงสัยว่า ใช่นักร้องนำคนเดียวกันจริงหรือเปล่า

นอกเหนือจากเรื่องของกายภาพ เขาว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจนคือเรี่ยวแรงที่เริ่มถดถอยสวนทางกับวันและวัยที่เพิ่มขึ้น ที่เคยกระโดดโลดเต้นบนเวทีได้เป็นชั่วโมงโดยที่ยังรู้สึกสนุกอยู่ ตอนนี้ผ่านไปเพียงครึ่งโชว์ก็มีเหนื่อยหอบ

“ผมเคยกระโดดข้ามกลองชุด จากข้างหลังกระโดดข้ามหัวพี่ชัชลงมาข้างล่างได้นะ แต่ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าผมจะทำได้หรือเปล่า”

ไม่ใช่เตรียมตัวมาไม่ดีหรืออ่อนซ้อม จากสิ่งที่เพียรทำยืนยันว่าเขาคือหนึ่งในศิลปินที่ดูแลตัวเองได้ดีที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งทุกวันเป็นกิจวัตร ขับรถไปตีปิงปองที่ยิมใกล้บ้านในวันที่ช่วงเช้าพอมีเวลา เตะฟุตบอลในอาทิตย์ที่ไม่มีคิวงาน หากแต่เรี่ยวแรงที่หดหายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครหลบเลี่ยงได้

มันเป็นธรรมชาติ-เขาว่าอย่างนั้น

“เรารู้สึกว่าเวลานั้นมาถึงเราแล้วนะ ที่เราเคยเห็นนักกีฬาหรือนักดนตรีที่พออายุเยอะขึ้นเขาจะบาลานซ์ชีวิตอีกแบบ ด้วยพลังที่น้อยลง แต่ในพลังที่น้อยลงของคนเหล่านั้นที่ผมเฝ้ามอง มันก็มีอะไรมาแทนที่ ด้วยเรื่องของมันสมองก็ตาม นิ่งขึ้น ไม่ได้มุทะลุเหมือนเดิม ได้ใช้แรงสมองมากขึ้น แทนที่เราจะไปข้างหน้าด้วยพลังกายอย่างเดียว เป็นเรื่องที่เราจะออกแบบชีวิตเราต่อไปยังไงกับสิ่งที่ธรรมชาติให้กับเรามากกว่า”

“แล้วที่เคยบอกว่ายอมตายบนเวทีได้ ยังคิดยังเชื่ออย่างนั้นอยู่ไหม” ผมถามเพื่อทบทวนความเชื่อเมื่อครั้งก่อน

ใช่ ผมเชื่อแบบนั้นอยู่ ผมเป็นคนชอบพูดคำว่าตายบ่อยมาก ซึ่งไม่ดีเลย คนรอบข้างก็รู้สึกกับมันว่าทำไมผมเป็นแบบนี้ แต่ไม่รู้สิ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความสุขนะ ที่เราได้เต็มที่กับอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิตจนเรายอมที่จะให้ชีวิตกับมันได้”

เหตุการณ์ที่ยืนยันคำพูดนั้นเกิดขึ้นที่ผับแห่งหนึ่ง ในขณะที่กำลังยืนโยกหัวร้องเพลง อกหัก อยู่บนเวที อยู่ๆ เขารู้สึกเจ็บที่สะบักหลัง จนต้องล้มลงไปนอนร้องกับพื้นเวทีด้วยความทรมาน แฟนเพลงข้างล่างเวทียังคงตะโกนโห่ร้อง คิดว่านั่นเป็นท่วงท่าในการแสดงของเขา คงไม่เป็นปัญหาถ้านั่นเป็นเพลงสุดท้ายในการโชว์คืนนั้น หากแต่เขาต้องฝืนยืนขึ้นร้องต่ออีกเกือบชั่วโมง เขารู้ถึงอาการผิดปกติของร่างกายเมื่อโยกคอแล้วรู้สึกชาที่ปลายเท้า แต่ก็ฝืนร้องจนจบโชว์

คืนนั้นเขาถูกหามส่งโรงพยาบาลและพบว่าตัวเองป่วยด้วยโรคกระดูกคอทับเส้นประสาท

“พอรู้ตัวว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาต มันเป็นช่วงที่ดาวน์สุดของชีวิตเลย ในช่วงนั้นของชีวิตมันหนักมากนะ เราไม่มีทางอยู่กับรถเข็น กับเตียงนอนได้แน่ๆ แล้วมันเป็นช่วงที่ผมกำลังจะมีคอนเสิร์ต BODYSLAM LIVE IN คราม พอดี ต้องตัดสินใจว่าจะเล่นไหม หรือจะแคนเซิล หรือจะเลื่อนมันไปก่อน คือค่ายเขาลงทุนไปหลายล้านแล้ว เราต้องตัดสินใจ ในช่วงเวลานั้นมีคนให้กำลังใจผมเยอะมาก แล้วมีคนคนหนึ่งที่ผมจำสิ่งที่เขาสอนผมในวันนั้นได้

“ในช่วงที่ผมยังตัดสินใจไม่ได้ว่าเดินหน้าคอนเสิร์ตต่อไปหรือแคนเซิลดี ก็มีสายจากคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม โทรมาหาผม บอกว่า ตูนไม่ต้องสนใจเลยนะว่าแกรมมี่จะเสียหายเท่าไหร่หรือจะขาดทุน ดูแลตัวเองให้ดีที่สุดก่อน เอาสุขภาพตัวเองเป็นตัวตั้ง เขาสอนผมว่าชีวิตคนเราก็เหมือนเลขหนึ่ง มีแรง มีพลัง มีความสามารถ จะต่อท้ายเลขศูนย์ไปอีกกี่ตัวก็ได้ แต่ตราบใดก็ตามถ้าเลขหนึ่งตัวนี้ไม่แข็งแรง ถ้าเลขหนึ่งวันใดวันหนึ่งมันล้มลง เลขศูนย์ที่เราตั้งใจทำมามันก็จะไม่มีค่า ไม่มีความหมายเลย ผมรู้สึกว่าเราโชคดีจังที่เราได้อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ที่ดีๆ อย่างเขา จากวันนั้นก็สอนอะไรผมเยอะเหมือนกัน แต่สุดท้ายด้วยความเป็นผม อย่างที่บอกว่าผมตายบนเวทีได้น่ะ ผมไม่มายด์ ผมตัดสินใจขึ้นเวที

“เรามีห้าหกสิบเราก็ใส่หมด ตอนนั้นไม่คิดอะไร คิดแค่คอนเสิร์ตวันนั้น มันใหญ่ที่สุดในชีวิตเราแล้ว เป็นอีกหลักไมล์ของเรา เราอยากเต็มที่กับมัน เราก็มีแค่นี้ในตอนนั้น เราก็ให้หมด”

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน BODYSLAM LIVE IN คราม คอนเสิร์ตใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาดำเนินไป ท่ามกลางผู้ชมเต็มความจุสนามกว่า 65,000 คน นอกจากทีมงานหลังเวทีแล้วไม่มีใครรู้ว่ามีรถพยาบาลแสตนบายด์พร้อมปฏิบัติการทุกนาที

จนเพลงสุดท้ายจบลง

6

เรานั่งคุยกันที่โต๊ะไม้นอกตัวบ้านซึ่งเป็นโต๊ะตัวเดียวกับที่เขาใช้นั่งประชุมตั้งต้นอัลบั้มใหม่

อัลบั้มที่มีชื่อว่า ดัม-มะ-ชา-ติ

ผมเป็นคนชอบเขียน จดบันทึก เขียนไดอารี่ หรือว่ามีไอเดียก็จะจดใส่สมุด กระดาษโน้ต แล้วพอย้อนกลับมาอ่าน จะสังเกตว่าในช่วงขวบปีหลังๆ ไม่ว่าผมจะเขียนเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะบ่น จะชม จะเล่า แต่บรรทัดสุดท้ายผมชอบลงท้ายด้วยประโยคว่า เรื่องราวเหล่านี้คงเป็นเรื่องธรรมดาหรือ เป็นเรื่องธรรมชาติ’ อยู่เสมอเลย แล้วเรารู้สึกว่าเราชอบคำนี้ คำว่าธรรมดา กับคำว่าธรรมชาติ พอไปต่อยอดกับทีมแล้วมีน้องคนหนึ่งเขามีความรู้เรื่องภาษาสันสกฤต เขาเลยถามว่าทำไมไม่ใช้คำ ดัม-มะ-ชา-ติ เรารู้สึกว่าฟังดูดี ฟังดูแล้วให้ความหมายที่มันไม่ใช่คำว่าธรรมชาติที่ทุกคนนึกถึงอย่างป่าเขาลำเนาไพร เราเลยเลือกคำนี้เพื่อแทนสิ่งที่ผมรู้สึกในช่วงเวลาของชีวิต ทุกอย่างมันเป็นเรื่องธรรมชาติ

“เนื้อหาในอัลบั้มจะวนเวียนอยู่กับชีวิตของคนอายุ 35 คนหนึ่ง พูดเรื่องความรักบ้าง ชีวิตบ้าง เรื่องนามธรรมบ้าง เรื่องบ้านเมืองบ้างนิดหน่อยแต่ไม่ได้ลงลึกไปด้านใดด้านหนึ่ง คล้ายๆ เวลาเราอ่านนิตยสารรายสัปดาห์สักเล่มที่สนุก มีหลายๆ คอลัมน์ มีการเมือง มีเศรษฐกิจ มีฟีลกู๊ด มีทำอาหาร แต่รวมๆ มันก็เป็นหนังสือที่บอกความเป็นวงดนตรีวงนี้ ในแง่ของดนตรี ในแง่ของความรู้สึกนึกคิด”

ตอนนี้อัลบั้มได้เคลื่อนที่จากโต๊ะประชุมไปสู่ห้องอัดและผ่านกระบวนการมิกซ์เสียงจนเสร็จสิ้นเรียบร้อย รอเพียงวันที่เสียงเพลงจะเดินทางไปให้ผู้คนที่สนับสนุนพวกเขามาตลอดได้ยิน ได้ฟัง

“ผมมีความสุขมากที่อัลบั้มนี้สำเร็จ ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการภูมิใจกับมันมาก จะเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดที่พวกเราจะทำได้ในชีวิตการเป็นนักดนตรีของพวกเรา 5 คน”

ในแง่คุณภาพ อัลบั้มนี้ถือเป็นอัลบั้มแรกที่พวกเขาเลือกที่จะมิกซ์เพลงในต่างแดน โดยได้ Mix Engineer ระดับโลกอย่าง Mike Fraser ที่ผ่านการมิกซ์ให้วงดนตรีชื่อดังอย่าง Metallica หรือ Aerosmith มาร่วมงาน

“เราอยากทำให้ดีที่สุดการมิกซ์เสียงเป็นในกระบวนการที่สำคัญมากของการทำเพลงแต่ละอัลบั้ม เราคิดว่าอยากทำให้เต็มที่ทุกกระบวนการ เลยเลือกคนมิกซ์ที่มีฝีมือจริงๆ ถึงจะใช้ทุนสูงหน่อย แต่เราอธิบายกับค่ายได้ว่าเราทำไปด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งมันก็ออกมาดีกว่าที่คิดจริงๆ”

เป็นที่รู้กันในวงการว่ามือมิกซ์คิวทองอย่าง Mike Fraser นั้นไม่ได้ตอบรับร่วมงานกับทุกศิลปิน ก่อนที่จะตกลงกันได้วงจึงต้องส่งโปรไฟล์ผลงานที่ผ่านมา โชว์ที่ผ่าน ไปทางอีเมลเพื่อประกอบการพิจารณา

ใช่ว่ามีเงินอย่างเดียวแล้วเขาจะทำให้-ตูนว่าอย่างนั้น

หลังจากพิจารณาจากผลงาน มิกซ์ เอนจิเนียร์ชาวแคนาเดียนคอมเมนต์กลับมาสั้นๆ-ได้ใจความ

Good band

7

หากมองมองเพียงภายนอก, ตอนนี้เขามีแทบทุกอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง รางวัล เงินทอง บ้าน รถ คนที่เขารัก คนที่รักเขา

“แล้วทุกวันนี้ยังหลงเหลือความฝันอะไรอีกไหม” ผมถามถึงความต้องการภายใน

“ผมมีความฝันอย่างหนึ่ง คือผมฝันอยากเป็นวัยรุ่นตลอดเวลา อยากอายุ 60 – 70 แล้วยังมีวงบอดี้สแลมอย่างนี้อยู่ ยังใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ยังมีแรงหัวเราะ นั่งยิ้ม คุยกัน นั่งกินข้าว ถึงวันเกิดใครก็มากินเค้กเป่าเทียนกัน สุขบ้าง เศร้าบ้าง มีปัญหาก็ช่วยกันแก้ไข เดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตแล้วยังมีแรงกระโดดโลดเต้น และไม่ใช่แค่ออกทัวร์แล้วเล่นเพลงเก่า อยากให้ 60 -70 แล้วทำงานใหม่ที่มีคนอายุ 18 – 19 อินอยู่ ยังได้พลังงานจากลุงๆ พวกนี้ น่าจะดีที่เรายังสื่อสารกันได้ไม่ใช่กลายเป็นคนแก่ขี้บ่นในสายตาเขา ผมไม่ชอบเลยเคยเห็นคนแก่ขี้บ่นในทีวีที่พออายุประมาณหนึ่งแล้วจะมีทัศนคติอีกแบบ สำเร็จมาเยอะไงครับ เขาก็มีสิทธิ์แหละ แต่บางทีมันไม่สื่อสารกับวัยรุ่นแล้ว ไม่ได้พูดเรื่องเดียวกันแล้ว ไม่ได้ส่งพลังงานให้กันแล้ว”

“แต่อายุ 60 – 70 ยังอยู่บนเวทีมันฝืนธรรมชาตินะผมแย้ง

“มันเป็นธรรมชาติ เพราะการฝืนธรรมชาตินั้นเป็นธรรมชาติของคนส่วนน้อย คนแก่ที่อายุ 100 ปีมาวิ่งมาราธอนเราก็เห็นอยู่เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ Rolling Stones อายุ 60 – 70 แก่ๆ เหี่ยวๆ เขายังดูมีพลังอยู่เลย นั่นก็เป็นธรรมชาติ ตอนเช้าๆ ไปวิ่งกับผมสิ คนแก่วิ่งแซงผมนะ นี่เป็นธรรมดาเลย เราต่างหากที่มองของคนหมู่มากแล้วเรียกว่าธรรมชาติ เราผลักตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้น เรามีกรอบความคิดว่า 60 ต้องนั่งนิ่งๆ อยู่บ้านแต่ผมมองเห็นธรรมชาติของคนกลุ่มเล็กๆที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมชาติ ทำไมเราไม่ไปอยู่ตรงนั้น”

ดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำบอกผมว่าใกล้เวลาที่เขาต้องออกไปซ้อมกับเพื่อนร่วมวง ผมถามคำถามสุดท้ายก่อนเราแยกย้าย-จากกัน

“คิดว่าทุกวันนี้ดนตรีตอบแทนคุณอย่างสมน้ำสมเนื้อหรือยังกับที่ทุ่มเทชีวิตไป”

หลังคำถามเขาเหม่อมองไปยังนอกบ้าน นั่งนิ่ง ครุ่นคิด

“ทุกวันนี้ถ้าคิดเป็นตัวเงิน ผมไม่ได้รวยอะไร แต่มันมากกว่าที่ผมคิด หรือแม้แต่กระทั่งจะจินตนาการถึง ในวันที่เราเริ่มต้นตอน ม.3 ม.4 ไม่มีวันไหนหรอกที่คิดว่าดนตรีจะตอบแทนเราขนาดซื้อบ้านได้ ใช้หนี้ที่บ้านได้ อาจเนื่องด้วยเราไม่เคยตั้งโจทย์เป็นเงินมาก่อน เราเลยคิดว่ามันมากเกิน เราคิดแค่ว่าอยากใช้ชีวิตอยู่กับดนตรีไปได้ตลอดรอดฝั่ง มีเงินพอที่จะมาเจือจุนซื้อปัจจัย 4 ให้เราก็พอ

“ในแง่ของตัวเลขมันเกินจริงไปเยอะ แต่ในแง่ของชีวิตดนตรีพาสิ่งที่มีค่ากว่าตัวชื่อเสียง เงินทอง มาให้เรา คือการได้รู้จักใครหลายคนในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดเท่าที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะพาเข้ามาในชีวิตเราได้ คนดีๆ สักคนสองคนที่เรียกได้ว่าเป็นพี่น้องกัน พร้อมที่จะอยู่ด้วยกันในวันที่ลำบาก นี่มันดีกว่าชื่อเสียงเงินทองอีกนะ เรารู้แล้วว่าในวันที่เราป่วยใครจะพาเราไปหาหมอ สมมติเรามีเงินมากมายแต่ไม่มีตรงนี้ผมก็ไม่เอา มีเงินพอใช้ อยากกินอะไรก็ได้กิน ได้เดินทาง มีพี่ๆ อยู่ใกล้ๆ รู้ใจ เจอกันทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เตะฟุตบอล กินข้าวกัน

“มีความสุขจะตาย ไม่ต้องโดดเดี่ยว”

AUTHOR